สมัยการบูรณะ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก สมัยแห่งการฟื้นฟู)
สมัยการบูรณะ
1865 – 1877
ซากปรักหักพังของเมืองริชมอนด์ (รัฐเวอร์จิเนีย) อดีตเมืองหลวงของสมาพันธรัฐอเมริกา หลังสมัยสงครามกลางเมืองอเมริกา; ทาสชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกาที่เพิ่งได้รับการปลดปล่อย เดินทางมาใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งแรกใน ค.ศ. 1867;[1] ที่ทำการของสำนักเสรีชนในเมืองเมมฟิส (รัฐเทนเนสซี); การจลาจลเมมฟิส ค.ศ. 1866
รวมถึงสถานที่สหรัฐอเมริกา
ภาคใต้ของสหรัฐ
การปกครองสหพันธ์สาธารณรัฐรัฐธรรมนูญ ระบบประธานาธิบดี ได้แก่
อับราฮัม ลินคอล์น
แอนดรูว์ จอห์นสัน
ยูลิสซีส เอส. แกรนต์
รัทเทอร์ฟอร์ด บี. เฮส์
เหตุการณ์สำคัญสำนักเสรีชน
การลอบสังหารอับราฮัม ลินคอล์น
การจัดตั้งคูคลักซ์แคลน
รัฐบัญญัติการบูรณะ
การฟ้องให้ขับแอนดรูว์ จอห์นสันออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี
รัฐบัญญัติการบังคับใช้
บทบัญญัติรัฐธรรมนูญสมัยการบูรณะ
การประนีประนอม ค.ศ. 1877
← ก่อนหน้า
สงครามกลางเมืองอเมริกา
สมาพันธรัฐอเมริกา
ถัดไป →
สมัยแห่งทองคำเปลว
จิมโคร์ว
จุดตกต่ำสุดของความสัมพันธ์ทางเชื้อชาติอเมริกัน

สมัยการบูรณะ หรือ Reconstruction era เป็นยุคสมัยหนึ่งของประวัติศาสตร์สหรัฐ หลังสมัยสงครามกลางเมืองอเมริกา (ค.ศ.1861-1865) ซึ่งเริ่มตั้งแต่ค.ศ. 1865 ถึง 1877 และเป็นสมัยสำคัญของประวัติศาสตร์ด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองในประเทศสหรัฐอเมริกา การฟื้นฟู หรือ การบูรณะ ดำเนินตามรัฐสภาสหรัฐ การเลิกทาสและปิดฉากเศษซากของการแยกตัวออกจากสหรัฐของสมาพันธรัฐในมลรัฐภาคใต้ ได้มีการประกาศให้ทาสมีเสรีภาพ (เสรีชน; คนผิวดำ) และความเป็นพลเมืองที่มีสิทธิพลเมืองเท่าเทียมกับคนผิวขาว (อย่างเห็นได้ชัด) สิทธิเหล่านี้ได้รับการรับรองจากการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญข้อที่ 13 ข้อที่ 14 และข้อที่ 15 มักถูกเรียกโดยรวมว่า บทบัญญัติรัฐธรรมนูญสมัยการบูรณะ สมัยสมัยการบูรณะ ยังหมายถึงความพยายามหลักๆ ของรัฐสภาสหรัฐในการเปลี่ยนสภาพ 11 รัฐของอดีตสมาพันธรัฐอเมริกา เข้าเปลี่ยนผ่านสู่สหภาพ

หลังจากการลอบสังหารอับราฮัม ลินคอล์น ประธานาธิบดีผู้นำพรรคริพับลิกันเข้าต่อต้านระบบทาสและต่อสู้ในสงครามกลางเมือง รองประธานาธิบดีแอนดรูว์ จอห์นสันได้สืบตำแหน่งประธานาธิบดี เขาเป็นฝ่ายสหภาพที่โดดเด่นทางตอนใต้ แต่ในไม่ช้าเขากลับไปนิยมชมชอบอดีตฝ่านสมาพันธรัฐและกลายเป็นผู้นำในการต่อต้านพวกเสรีชนและพวกพันธมิตรรีพับลิกันหัวรุนแรง ความตั้งใจของเขาคือความพยายามให้รัฐทางใต้กลับมาเป็นอิสระในการตัดสินใจเรื่องสิทธิ (และชะตากรรม) ของอดีตทาส ในขณะที่คำปราศรัยสุดท้ายของลินคอล์นได้แสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์อันยิ่งใหญ่สำหรับการบูรณะ รวมถึงการเสนอให้เสรีชนมีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงอย่างเต็มรูปแบบ ส่วนจอห์นสันกับพรรคเดโมแครตยืนกรานต่อต้านวัตถุประสงค์ดังกล่าว

นโยบายสมัยการบูรณะของจอห์นสันโดยทั่วไปนั้นคว้าชัยชนะจนถึงการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา ค.ศ. 1866 แต่หลังจากนั้น 1 ปี มีการโจมตีคนผิวดำในภาคใต้อย่างรุนแรง เหตุการณ์เหล่านี้รวมถึงการจลาจลเมมฟิส ค.ศ. 1866 เดือนพฤษภาคมและการสังหารหมู่นิวออร์ลีนส์ ค.ศ. 1866 เดือนกรกฎาคม ผลการเลือกตั้งในปี 1866 นั้น พรรครีพับลิกันถือเสียงข้างมากในรัฐสภา พวกเขาจึงใช้อำนาจในการผลักดันบทบัญญัติรัฐธรรมนูญข้อที่ 14 รัฐสภาได้ใช้ระบอบสหพันธรัฐในการสร้างการคุ้มครองสิทธิเท่าเทียมกันและยุบสภานิติบัญญัติของฝ่ายกบฏ โดยกำหนดให้มีการใช้รัฐธรรมนูญมลรัฐฉบับใหม่ทั่วทั้งภาคใต้ ซึ่งสิทธิพลเมืองของพวกเสรีชน ฝ่ายริพับลิกันหัวรุนแรงในสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ผิดหวังในการที่ประธานาธิบดีจอห์นสันต่อต้านแนวทางการบูรณะของรัฐสภา พวกเขาจึงยื่นฟ้องให้ขับแอนดรูว์ จอห์นสันออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี แต่ก็พ่ายแพ้เพียงแค่คะแนนเสียง 1 เสียงของวุฒิสภา กฎหมายสมัยการบูรณะแห่งชาติฉบับใหม่ได้ปลุกเร้าความโกรธแค้นของคนผิวขาวในภาคใต้ นำมาสู่การก่อกำเนิดคูคลักซ์แคลน กลุ่มแคลนข่มขู่ คุกคาม และสังหารสมาชิกพรรครีพับลิกันและเสรีชนที่ออกมาพูด ตลอดจนอดีตฝ่ายสมาพันธรัฐด้วย รวมถึงเจมส์ เอ็ม. ฮินส์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากรัฐอาร์คันซอ ก็ถูกลอบสังหาร

รัฐบาลผสมของพรรครีพับลิกันเข้ามามีอำนาจและมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมในเกือบทุกรัฐที่เคยเป็นฝ่ายสมาพันธรัฐ สำนักเสรีชนและกองทัพบกสหรัฐ ทั้งสองมีเป้าหมายที่จะใช้เศรษฐกิจแรงงานเสรีเพื่อทดแทนเศรษฐกิจแรงงานทาสที่มีจวบจนสิ้นสงครามกลางเมือง สำนักได้ปกป้องสิทธิตามกฎหมายของเสรีชน การเจรจาสัญญาจ้างงาน และช่วยสร้างเครือข่ายโรงเรียนและโบสถ์ ชาวภาคเหนือหลายพันคนเดินทางมาภาคใต้ในฐานะครูสอนศาสนาและครูอาจารย์ เช่นเดียวกับนักธุรกิจและนักการเมืองเพื่อทำงานในโครงการฟื้นฟูสังคมและเศรษฐกิจ คำว่า "คาร์เพทแบ็กเกอร์" กลายเป็นคำเยาะเย้ยที่ใช้โจมตีผู้สนับสนุนการบูรณะซึ่งเดินทางจากภาคเหนือมายังภาคใต้

หลังได้รับเลือกตั้งในค.ศ. 1868 ประธานาธิบดียูลิสซีส เอส. แกรนต์จากพรรครีพับลิกันสนับสนุนกระบวนการบูรณะของรัฐสภา และบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกาในภาคใต้ ผ่านรัฐบัญญัติการบังคับใช้ที่เพิ่งผ่านรัฐสภามาไม่นานนัก แกรนต์ใช้มาตรการในการปราบปรามคูคลักซ์แคลน พวกแคลนกลุ่มแรกได้ถูกกวาดล้างอย่างสิ้นซากในค.ศ. 1872 นโยบายและข้อกำหนดของแกรนต์ถูกออกแบบมาเพื่อรวมการบูรณาการไว้ที่รัฐบาลกลาง สร้างสิทธิเท่าเทียม การอพยพเคลื่อนย้ายของคนผิวสี และรัฐบัญญัติสิทธิพลเมือง ค.ศ. 1875 อย่างไรก็ตาม แกรนต์ล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นภายในพรรครีพับลิกัน ระหว่างรีพับลิกันเหนือและรีพับลิกันใต้ (กลุ่มหลังมักถูกเรียกว่า "สกาลาแวก" โดยพวกที่ต่อต้านการบูรณะ) ในขณะที่กลุ่มพระผู้ไถ่คนขาว และกลุ่มบูร์บงเดโมแครตภาคใต้ ต่อต้านกระบวนการบูรณะอย่างมาก[2]

ในที่สุดการสนับสนุนนโยบายการบูรณะอย่างต่อเนื่องในภาคเหนือก็ลดน้อยลง ฝ่ายรีพับลิกันกลุ่มใหม่เกิดขึ้นโดยต้องการให้กระบวนการบูรณะยุติลงและกองทัพจะต้องถอนตัว กลุ่มใหม่นี้คือ พรรคเสรีนิยมรีพับลิกัน หลังจากเกิดเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ค.ศ. 1873 พรรคเดโมแครตได้ฟื้นตัวและสามารถเข้ามาควบคุมสภาผู้แทนราษฎรได้อีกครั้งในค.ศ. 1874 พวกเขาเรียกร้องให้ยุติสมัยการบูรณะทันที ในค.ศ. 1877 มีการเจรจาจากเหตุการณ์การประนีประนอม ค.ศ. 1877 ให้มีการเลือกพรรครีพับลิกันเป็นประธานาธิบดี อันเนื่องมาจากข้อพิพาทจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ค.ศ. 1876 จึงมีการกำหนดให้กองทัพกลางต้องถอนทหารออกจากสามรัฐที่ได้ไปประจำการอยู่ (เซาท์แคโรไลนา, ลุยเซียนา และฟลอริดา) เหตุการณ์นี้นำมาซึ่งจุดจบของสมัยการบูรณะ

นักประวัติศาสตร์หลายคนได้บรรยายถึงสมัยการบูรณะว่ามี "ข้อบกพร่องและความล้มเหลว" มากมาย รวมถึงความล้มเหลวในการปกป้องคนผิวดำเสรีชนจำนวนมาก จากความรุนแรงของคูคลักซ์แคลนช่วงก่อนค.ศ. 1871 และไม่สามารถช่วยเหลือพวกเขาจากความอดอยาก โรคระบาดและความตาย และการปฏิบัติต่ออดีตทาสอย่างทารุณโดยทหารของสหภาพ ในขณะเดียวกันก็มีการชดเชยให้แก่อดีตเจ้าของทาส แต่กลับปฏิเสธที่จะชดเชยให้แก่อดีตทาส[3] อย่างไรก็ตาม สมัยการบูรณะประสบความสำเร็จในเบื้องต้นสี่ประการ ได้แก่ การฟื้นฟูระบอบสหพันธรัฐ การแก้แค้นโดยตรงเล็กน้อยต่อภาคใต้หลังสงคราม การที่คนผิวสีสามารถเป็นเจ้าของทรัพย์สิน และการสร้างสัญชาติตลอดจนกรอบการทำงานเพื่อความเท่าเทียมทางกฎหมายในท้ายที่สุด[4][5]

การกำหนดช่วงเวลาในสมัยการบูรณะ[แก้]

ประธานาธิบดีสหรัฐในช่วงสมัยการบูรณะ
อับราฮัม ลินคอล์น แอนดรูว์ จอห์นสัน ยูลิสซีส เอส. แกรนต์ รัทเทอร์ฟอร์ด บี. เฮส์
พรรครีพับลิกัน
(พรรคสหภาพแห่งชาติ)
พรรคเดโมแครต พรรครีพับลิกัน พรรครีพับลิกัน
ประธานาธิบดี
(ค.ศ. 1861-1865)
อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขต 8
อิลลินอยส์
(ค.ศ. 1847–1849)
ชนะเลือกตั้ง ค.ศ. 1860 และ 1864
ประธานาธิบดี
(ค.ศ. 1865-1869)
อดีตรองประธานาธิบดี
(ค.ศ. 1865)
อดีตผู้ว่าการรัฐเทนเนสซี
(ค.ศ. 1853-1857)
ประธานาธิบดี
(ค.ศ. 1869-1877)
อดีตผู้บัญชาการกองทัพบกสหรัฐ
(ค.ศ. 1864-1869)
ชนะเลือกตั้ง ค.ศ. 1868 และ 1872
ประธานาธิบดี
(ค.ศ. 1877-1881)
อดีตผู้ว่าการรัฐโอไฮโอ
(ค.ศ. 1876-1877)
ชนะเลือกตั้ง ค.ศ. 1876

การบูรณะเริ่มต้นและสิ้นสุดลงช่วงเวลาที่แตกต่างกันในแต่ละรัฐ นักวิชาการโดยทั่วไปมีการกำหนดให้การบูรณะของรัฐบาลกลางเริ่มต้นในทศวรรษที่ 1860 และสิ้นสุดในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 เวลาที่ถูกกำหนดเริ่มต้นอย่างเป็นทางการมากที่สุดคือ ค.ศ. 1865 อันเป็นปีที่สงครามกลางเมืองสิ้นสุดลง[6] อย่างไรก็ตามในเอกสารสำคัญชื่อ "การบูรณะ" ของนักประวัติศาสตร์ เอริค ฟอเนอร์ [7] ได้ระบุการบูรณะในภาคใต้เริ่มต้น ค.ศ. 1863 โดยเริ่มจากการประกาศเลิกทาส โครงการทดลองพอร์ตรอยัล และการอภิปรายอย่างจริงจังเกี่ยวกับนโยบายฟื้นฟูบูรณะในช่วงสงครามกลางเมือ[8] นักประวัติศาสตร์บางคนยึดตามการกำหนดระยะเวลา ค.ศ. 1863 นี้[9] ปี ค.ศ. 1861 ก็ยังถูกกำหนดเป็นปีเริ่มต้นเช่นกัน โดยตีความว่าสมัยการบูรณะเป็นจุดเริ่มต้น "โดยทันทีเมื่อฝ่ายสหภาพเข้ายึดครองพื้นที่ของสมาพันธรัฐ" และมีวาทกรรมช่วงแรกเกี่ยวกับการทดลองด้วยนโยบายฟื้นฟูบูรณะ[10] เวลาที่สิ้นสุดสมัยการบูรณะคือ ค.ศ. 1877 เมื่อรัฐบาลสหพันธรัฐถอนกองพันสุดท้ายออกจากการประจำการในเขตภาคใต้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์การประนีประนอม ค.ศ. 1877[9] แต่นักวิชาการบางคนยังเสนอปีที่สิ้นสุดหลังจากนั้น คือ ค.ศ. 1890 เพื่อพรรครีพับลิกันล้มเหลวในการผ่านร่างกฎหมายการเลือกตั้งของรัฐบาลกลางและการรักษาความปลอดภัยแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งคนผิวดำ[10]

ภาพรวม[แก้]

ขณะที่สมาพันธรัฐกลับมาอยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพสหรัฐ ประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์นได้จัดตั้งรัฐบาลสมัยการบูรณะที่รัฐเทนเนสซี รัฐอาร์คันซอและรัฐลุยเซียนาในช่วงสงคราม รัฐบาลฟื้นฟูเวอร์จิเนียได้ปฏิบัติหน้าที่มาตั้งแต่ค.ศ. 1861 ในบางส่วนของรัฐเวอร์จิเนีย และยังดำเนินการเพื่อสร้างรัฐใหม่ คือ รัฐเวสต์เวอร์จิเนีย ลินคอล์นทดลองมอบที่ดินแก่คนผิวดำในรัฐเซาท์แคโรไลนา ในฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. 1865 แอนดรูว์ จอห์นสัน ประธานาธิบดีคนใหม่ได้ประกาศเป้าหมายสงครามเพื่อความสามัคคีของคนในชาติ และยุติระบอบทาสได้สำเร็จ และทำให้การบูรณะเสร็จสมบูรณ์ พรรครีพับลิกันในรัฐสภาปฏิเสธที่จะยอมรับเงื่อนไขอันผ่อนปรนของจอห์นสัน พวกเขาปฏิเสธและไม่ยอมรับสมาชิกใหม่ของรัฐสภา ซึ่งบางคนเคยเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสมาพันธรัฐในเมื่อไม่กี่เดือนก่อนหน้านั้น จอห์นสันแตกหักกับพรรครีพับลิกัน หลังจากได้ออกเสียงคัดค้านร่างกฎหมายที่สำคัญสองฉบับ ที่สนับสนุนสำนักเสรีชนและการให้สิทธิพลเมืองจากรัฐบาลกลางแก่พวกเสรีชน การเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา ค.ศ. 1866 ได้เปิดประเด็นเรื่องการบูรณะ ทำให้พรรครีพับลิกันได้ชัยชนะอย่างถล่มทลายในพื้นที่ภาคเหนือ และทำให้ฝ่ายรีพับลิกันหัวรุนแรงมีเสียงเพียงพอที่จะเข้าควบคุมรัฐสภาเพื่อต่อต้านการออกเสียงคัดค้านของประธานาธิบดีจอห์นสัน และเริ่มแนวทาง "การบูรณะอย่างสุดโต่ง" ของพวกเขาในค.ศ. 1867[11] ในปีเดียวกัน รัฐสภาได้ถอดถอนรัฐบาลพลเรือนในภาคใต้ และกำหนดให้อดีตรัฐสมาพันธรัฐอยู่ภายใต้การปกครองโดยกองทัพสหรัฐ (ยกเว้นรัฐเทนเนสซี ซึ่งมีพรรครีพับลิกันที่ต่อต้านจอห์นสันควบคุมไว้อยู่แล้ว) กองทัพจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่ซึ่งทาสที่เป็นอิสระมีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้ ในขณะที่คนผิวขาวซึ่งเคยดำรงตำแหน่งผู้นำภายใต้สมาพันธรัฐถูกตัดสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง และไม่ได้รับอนุญาตให้ลงสมัครรับตำแหน่ง

ในพื้นที่ 10 รัฐ ฝ่ายพันธมิตรของพวกเสรีชน เช่นกลุ่มคนผิวดำและกลุ่มคนผิวขาวเดินทางมาจากทางเหนือ ("คาร์เพทแบ็กเกอร์") และกลุ่มชาวใต้ผิวขาวที่สนับสนุนการบูรณะ ("สกาลาแวก") ได้ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลของพรรครีพับลิกันที่มาจากสองชาติพันธุ์ พวกเขานำเสนอแนวทางการบูรณะต่างๆ ได้แก่ การให้เงินทุนแก่โรงเรียนของรัฐ การจัดตั้งสถาบันการกุศล การขึ้นภาษี และการจัดหาเงินทุนเพื่อปรับปรุงงานสาธารณะ เช่น ปรับปรุงการขนส่งด้วยรถไฟและการเดินเรือ

ในทศวรรษที่ 1860 และ 1870 คำว่า "หัวรุนแรง" และ "อนุรักษ์นิยม" มีความหมายที่แตกต่างกัน "อนุรักษ์นิยม" ถูกใช้ในความหมายเชิงสัมพัทธภาพเกี่ยวกับบริบทของยุค เป็นชื่อของกลุ่ม ซึ่งมักจะหมายถึง ชนชั้นชาวไร่ ฝ่ายอนุรักษ์นิยมเรียกฝ่ายตรงข้ามคือ ฝ่ายรีพับลิกันว่าทุจริต และพยายามยุยงให้เกิดความรุนแรงต่อพวกเสรีชนและคนผิวขาวที่สนับสนุนการบูรณะ ความรุนแรงส่วนใหญ่ดำเนินการโดยสมาชิกของคูคลักซ์แคลน (KKK) ซึ่งเป็นองค์กรก่อการร้ายลับ ที่เป็นพันธมิตรอย่างใกล้ชิดกับพรรคเดโมแครตภาคใต้ สมาชิกแคลนข่มขู่และโจมตีคนผิวดำที่ต้องการใช้สิทธิพลเมืองใหม่ เช่นเดียวกับ นักการเมืองพรรครีพับลิกันในภาคใต้ที่สนับสนุนสิทธิพลเมืองนั้น เช่นกัน นักการเมืองคนหนึ่งถูกกลุ่มแคลนสังหารก่อนวันเลือกตั้งประธานาธิบดีใน ค.ศ. 1868 คือ เจมส์ เอ็ม. ฮินส์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากรัฐอาร์คันซอ ความรุนแรงแพร่หลายไปทั่วภาคใต้นำมาสู่การเข้าแทรกแซงของรัฐบาลกลางโดยประธานาธิบดียูลิสซีส เอส. แกรนต์ ในค.ศ. 1871 ซึ่งเข้าปราบปรามกลุ่มแคลน อย่างไรก็ตามสมาชิกพรรคเดโมแครตผิวขาวที่เรียกตนเองว่า "กลุ่มพระผู้ไถ่" กลับเข้าควบคุมภาคใต้แบบรัฐต่อรัฐ บางครั้งก็ใช้การทุจริตและใช้ความรุนแรงเพื่อควบคุมการเลือกตั้งในมลรัฐ ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วประเทศ ซึ่งตามมาด้วยความตื่นตระหนกในปี 1873 นำมาซึ่งชัยชนะของพรรคเดโมแครตในภาคเหนือ โครงการทางรถไฟจำนวนมากในภาคใต้ต้องถูกระงับ และก่อให้เกิดความรู้สึกคับข้องใจมากขึ้นในทางภาคเหนือ

จุดสิ้นสุดสมัยการบูรณะนั้นเป็นกระบวนการที่ง่อนแง่น และพรรครีพับลิกันสิ้นสุดอำนาจในการควบคุมแต่ละรัฐในเวลาที่แตกต่างกัน เหตุการณ์การประนีประนอม ค.ศ. 1877 ทำให้การแทรกแซงทางทหารในการเมืองภาคใต้ต้องยุติลง และพรรครีพับลิกันล่มสลายในการควบคุมรัฐบาลสามรัฐสุดท้ายของภาคใต้ ตามมาด้วยช่วงเวลาที่คนผิวขาวภาคใต้ได้ใช้คำว่าเป็น "การกู้คืน" โดยสภานิติบัญญัติของรัฐที่ถูกครอบงำโดยคนผิวขาวได้ตรากฎหมายจิมโคร์ว ซึ่งเป็นการเพิกถอนสิทธิ์ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญของคนผิวดำส่วนใหญ่ รวมถึงผู้มีรายได้น้อยชาวผิวขาวจำนวนมาก และสิทธิ์ในกฎหมายเลือกตั้งที่เริ่มต้น ค.ศ. 1890 ภาพจำในสมัยการบูรณะของสมาชิกพรรคเดโมแครตภาคใต้ผิวขาวซึ่งไม่ดีนักในสายตาพวกเขา พวกเขาจึงกำหนดระบบอำนาจสูงสุดของคนผิวขาวและพลเมืองชั้นสองสำหรับคนผิวดำ เป็ยกฎหมายที่ถูกเรียกว่า กฎหมายจิมโคร์ว

ทรรศนะสามมิติของความทรงจำในสงครามกลางเมืองที่เกิดขึ้นในสมัยการบูรณะ ได้แก่

  • ทรรศนะของ "นักปรองดอง" มีพื้นฐานมาจากการรับมือกับความตายและหายนะที่เกิดจากสงคราม
  • ทรรศนะของ "ผู้เชื่อในอำนาจสูงสุดของคนผิวขาว" เรียกร้องให้มีการแบ่งแยกเชื้อชาติอย่างเข้มงวด และดำรงไว้ซึ่งอำนาจคนผิวขาวในการครอบงำทางการเมืองและวัฒนธรรมเหนือคนผิวดำ ไม่เห็นด้วยต่อสิทธิในการเลือกตั้งของคนผิวดำ การข่มขู่และความรุนแรงเป็นวิธีหนึ่งที่ยอมรับได้เพื่อขับเคลื่อนทรรศนะแนวทางนี้
  • ทรรศนะของ "ผู้สนับสนุนการเลิกทาส" มองการแสวงหาเสรีภาพอย่างเต็มที่ ความเป็นพลเมือง สิทธิในการเลือกตั้งเฉพาะผู้ชาย และความเท่าเทียมกันตามรัฐธรรมนูญสำหรับชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกา[12]

จุดประสงค์[แก้]

สมัยการบูรณะกล่าวถึงประเด็นทั้งหลาย เช่น วิธีที่ 11 รัฐกบฏแยกตัวทางภาคใต้ได้รับสิ่งที่รัฐธรรมนูญ เรียกว่า "รูปแบบรัฐบาลของรีพับลิกัน" และได้มีที่นั่งใหม่ในรัฐสภาอีกครั้ง สถานะทางการเมืองของอดีตผู้นำฝ่ายสมาพันธรัฐ ตลอดจนรัฐธรรมนูญและสถานะทางกฎหมายของเสรีชน โดยเฉพาะในด้านสิทธิพลเมืองของพวกเขา และยังถูกพิจารณาว่ายังควรให้สิทธิ์ในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งอีกหรือไม่ ความขัดแย้งเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้ปะทุขึ้นทั่วในเขตภาคใต้[i]

การผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญข้อที่ 13 ข้อที่ 14 และข้อที่ 15 เป็นมรดกทางรัฐธรรมนูญของสมัยการบูรณะ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเหล่านี้สร้างสิทธิ์ที่จะนำไปสู่การพิพากษาของศาลสูงสุดสหรัฐในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 ซึ่งถูกทำให้ขัดข้องจากเหตุการณ์การแบ่งแยกเชื้อชาติในโรงเรียนสหรัฐ "การฟื้นฟูบูรณะครั้งที่สอง" ได้จุดประกายขบวนการเรียกร้องสิทธิพลเมือง นำไปสู่กฎหมายสิทธิพลเมือง ค.ศ. 1964 และ 1965 ที่ยุติการแบ่งแยกเชื้อชาติทางกฎหมายและเปิดหารเลือกตั้งใหม่อีกครั้งสำหรับคนผิวดำ

กฎหมายและการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่วางรากฐานสำหรับขั้นตอนการฟื้นฟูในแนวทางที่ "เรดิคัล" หรือ "สุดโต่งรุนแรง" อันนำมาใช้ตั้งแต่ค.ศ. 1866 ถึง 1871 โดยในทศวรรษที่ 1870 สมัยการบูรณะได้ให้สิทธิเสรีภาพที่เท่าเทียมกันแก่เสรีชนภายใต้รัฐธรรมนูญ และคนผิวดำมีสิทธิเลือกตั้งตลอดจนมีสิทธิ์ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สภานิติบัญญัติของพรรครีพับลิกัน เป็นการสร้างพันธมิตรระหว่างคนขาวและคนดำ ได้ก่อตั้งระบบโรงเรียนรัฐบาล และสถาบันการกุศลหลายแห่งในเขตภาคใต้ กลุ่มกองกำลังกึ่งทหารผิวขาว โดยเฉพาะคูคลักซ์แคลน (KKK) และพวกสันนิบาตขาวและกลุ่มคนเสื้อแดง ได้จัดตั้งขึ้นโดยมีจุดประสงค์ทางการเมืองเพื่อขับไล่พรรครีพับลิกัน พวกเขายังขัดขวางการจัดระเบียบทางการเมือง และข่มขู่คนผิวดำเพื่อกีดกันพวกเขาออกจากการเลือกตั้ง[13] ประธานาธิบดีแกรนต์ใช้อำนาจของรัฐบาลกลางเพื่อปิดระบบของ KKK ประสบความสำเร็จในต้นทศวรรษที่ 1870 แม้ว่ากลุ่มอื่นๆ ที่มีขนาดเล็กกว่ายังคงดำเนินการอยู่ ตั้งแต่ค.ศ. 1873 ถึง 1877 กลุ่มคนผิวขาวที่สนับสนุนการปฏิรูประบบราชการแบบเสรีนิยมคลาสสิก (เรียกตัวเองว่า "กลุ่มพระผู้ไถ่") ได้รับอำนาจรัฐทางใต้ พวกเขาประกอบตัวเป็นกลุ่มปีกบูร์บงของพรรคเดโมแครตแห่งชาติ

ในทศวรรษที่ 1860 และ 1870 บรรดาผู้นำที่เคยเป็นสมาชิกพรรควิก มุ่งมั่นที่จะสร้างความทันสมัยทางเศรษฐกิจ สร้างทางรถไฟโดยรอบ สร้างโรงงาน ธนาคารและเมือง[14] กลุ่มรีพับลิกัน "หัวรุนแรง" จำนวนมากทางตอนเหนือเป็นผู้ที่เชื่อเรื่องการมีส่วนร่วมในการเป็นพลเมืองของชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกา โดยให้สิทธิ์พวกเขาในฐานะพลเมือง พร้อมกับสิทธิในสถานประกอบการที่เป็นอิสระ คนพวกนี้ส่วนใหญ่เป็นพวกนิยมความเป็นสมัยใหม่ และเป็นพวกอดีตพรรควิกเก่า[15] "พรรคเสรีนิยมรีพับลิกัน" ในค.ศ. 1872 มีทัศนคติแบบเดียวกัน เว้นแต่ว่าพวกเขาไม่เห็นด้วยกับการทุจริตที่พวกเขาพบเห็นโดยรอบประธานาธิบดีแกรนต์ และเชื่อว่าเป้าหมายของสงครามกลางเมืองสำเร็จแล้ว การแทรกแซงของกองทัพสหรัฐจึงควรยุติได้ในทันที

การทำลายล้างภาคใต้ ค.ศ. 1865[แก้]

เศรษฐกิจของภาคใต้ถูกทำลายจากสงคราม ในภาพคือเมืองชาร์ลสตัน รัฐเซาท์แคโรไลนา บอร์ดสตรีท ค.ศ. 1865

สมัยการบูรณะนั้นต้องรับมือกับภาวะเศรษฐกิจที่ย่อยยับ สมาพันธรัฐในค.ศ. 1861 มีเมืองเล็กและใหญ่ 297 เมือง ด้วยประชากรราว 835,000 คน ในจำนวนนี้มี 162 เมือง และประชากร 681,000 คน อยู่ภายใต้การยึดครองของกองทัพสหภาพ เมือง 11 เมืองถูกทำลายหรือได้รับความเสียหายอย่างหนักจากสงคราม เช่น แอตแลนตา (เหลือประชากร 1,860 คน จาก 9,600 คน) ชาร์ลสตัน, โคลัมเบีย และริชมอนด์ (ก่อนสงครามมีประชากร 40,500, 8,100 และ 37,900 ตามลำดับ) เมืองทั้ง 11 มีประชากร 115,900 คน จากการสำรวจสำมะโนครัวประชากรใน ค.ศ. 1860 หรือคิดเป็น 14% ของเขตเมืองทางใต้ จำนวนประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองที่ถูกทำลายนั้นเป็นเพียง 1% ของประชากรในเมืองและชนบทของสมาพันธรัฐรวมกัน อัตราความเสียหายในเมืองเล็กๆ นั้นต่ำกว่ามาก มีศาลากลางเมืองจำนวนเพียง 45 แห่ง จากทั้งหมด 830 แห่ง เท่านั้นที่ถูกเผา[16]

ที่นาและฟาร์มอยู่ในสภาวะทรุดโทรม และคอกม้า ล่อและวัว ก่อนสงครามได้ถูกทำลายจนหมดสิ้น ปศุสัตว์ทางใต้จำนวน 40% ถูกฆ่าสังหาร[17] ไร่นาทางใต้ไม่มีการใช้เครื่องจักรมากนัก แต่มูลค่าของเครื่องมือและเครื่องจักรในไร่นาตามการสำรวจสำมะโนประชากรสหรัฐ ค.ศ. 1860 อยู่ที่ 81 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และลดลงถึงร้อยละ 40 ในค.ศ. 1870[18] โครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมถูกทำลายย่อยยับ โดยมีการบริการรถไฟหรือเรือล่อมแม่น้ำเพียงเล็กน้อย เพื่อขนผลิตผลและสัตว์ออกสู่ตลาด[19] ระยะทางรถไฟส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในพื้นที่ชนบท โดยมากกว่าสองในสามของรางรถไฟ สะพาน ลานขนถ่ายตู้สินค้าทางรถไฟ ร้านซ่อมและล้อขับเคลื่อน ในพื้นที่ภาคใต้ล้วนตกอยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพสหภาพ ซึ่งทำให้พวกเขาสามารถทำลายได้อย่างเป็นระบบ แม้แต่พื้นที่ที่ไม่ถูกแตะต้อง ก็ยังประสบปัญหาการขาดการบำรุงรักษาและซ่อมแซม การขาดแคลนอุปกรณ์ใหม่ๆ การใช้งานอุปกรณ์เกินขนาดอย่างหนัก และการเคลื่อนย้ายอุปกรณ์อย่างจงใจโดยฝ่ายสมาพันธรัฐขนย้ายจากพื้นที่ห่างไกลเข้าไปในเขตสงคราม จึงทำให้ระบบเหล่านั้นถูกทำลายเมื่อสงครามยุติ[16] การฟื้นฟูระบบโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบราง กลายเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกของรัฐบาลสมัยการบูรณะ[20]

การกระจายความมั่งคั่งต่อหัวประชากร ค.ศ. 1872 ภาพวาดแสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำทางรายได้ระหว่างภาคเหนือและภาคใต้ในขณะนั้น

ความเสียหายมหาศาลจากการทำสงครามของสมาพันธรัฐส่งผลกระทบอย่างมากต่อโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจภาคใต้ ความเสียหายโดยตรงของสมาพันธรัฐในด้านทุนมนุษย์ ค่าใช้จ่ายของรัฐบาล และความเสียหายทางกายภาพจากสงครามมีมูลค่ารวม 3.3 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงต้น ค.ศ. 1865 อัตราเงินเฟ้อที่สูงทำให้มูลค่าเงินดอลลาร์สมาพันธรัฐมีน้อย เมื่อสงครามสิ้นสุดลง สกุลเงินสมาพันธรัฐและเงินฝากในธนาคารมีค่าเป็นศูนย์ ทำให้ระบบธนาคารสูญเสียเกือบทั้งหมด ผู้คนต้องหันไปใช้บริการแลกเปลี่ยนสินค้า หรือพยายามหาเงินจากดอลลาร์สหภาพที่ขาดแคลนเช่นกัน การเลิกทาสในภาคใต้ทำให้เศรษฐกิจของภาคใต้ทั้งหมดจะต้องถูกสร้างขึ้นใหม่ เจ้าของไร่สวนคนผิวขาวที่สูญเสียการลงทุนมหาศาลจากทาส เหลือเงินทุนเพียงน้อยนิดที่จ่ายให้กับแรงงานเสรีชนที่ต้องเก็บเกี่ยวพืชผล เป็นผลให้มีการพัฒนาระบบการเช่าที่ดินโดยแบ่งผลผลิต ซึ่งเจ้าของที่ดินได้แบ่งแปลงไร่สวนขนาดใหญ่ออกจากกัน และปล่อยเช่าพื้นที่ทำการเกษตรเล็กๆ แก่พวกเสรีชนและครอบครัวของพวกเขา ลักษณะหลักของเศรษฐกิจภาคใต้จึงถูกเปลี่ยนจากกลุ่มชนชั้นสูงพวกผู้ดีเจ้าของทาสที่เป็นคนส่วนน้อย กลายเป็นระบบเกษตรกรรมแบบเกษตรกรผู้เช่าไร่นา[21]

การสิ้นสุดของสงครามกลางเมืองเกิดขึ้นพร้อมกับการอพยพผู้คนจำนวนมากเข้าสู่เมืองต่างๆ[22] ในเมืองต่างๆ คนดำถูกผลักไสให้ได้งานที่มีค่าตอบแทนต่ำที่สุด เช่น แรงงานไร้ฝีมือ และแรงงานภาคบริการ ผู้ชายทำงานเป็นพนักงานรถไฟ คนงานโรงกลึงและผลิตไม้แปรรูป และพนักงานโรงแรม ช่างฝีมือที่เป็นทาสจำนวนมากในช่วงแอนเทเบลลัมเซาท์ ไม่ได้ถูกแปรเปลี่ยนเป็นช่างฝีมือเสรีชนอิสระในช่วงสมัยการบูรณะ[23] ผู้หญิงผิวดำส่วนใหญ่ถูกกักขังให้ทำงานในครัวเรือน เป็นแม่ครัว แม่บ้านและพยาบาลเด็ก คนอื่นๆ ทำงานตามโรงแรม และอีกหลายคนเป็นหญิงรับจ้างซักรัด การเคลื่อนย้ายประชากรนี้ส่งผลกระทบด้านลบที่รุนแรงแก่คนผิวดำ ทำให้เกิดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจำนวนมาก[24]

ชายผิวขาวภาคใต้จำนวนหนึ่งในสี่ที่มีอายุอยู่ในช่วงวัยเกณฑ์ทหาร อันเป็นกระดูกสันหลังของแรงงานผิวขาวในภาคใต้ เสียชิวิตในช่วงสงคราม ทิ้งครอบครัวไว้ข้างหลังให้ยากจนอย่างนับไม่ถ้วน[17] รายได้ต่อหัวของคนผิวขาวชาวใต้ลดลงจาก 125 ดอลลาร์ในค.ศ. 1857 เหลือ 80 ดอลลาร์ ในปีค.ศ. 1879 ในช่วงสิ้นสุดศตวรรษที่ 19 และเข้าสู่ศตวรรษที่ 20 ภาคใต้ต้องติดบ่วงแห่งความยากจน ความล้มเหลวนี้เกิดจากสงครามและการพึ่งพาการเกษตรมาตั้งแต่คราวก่อน ซึ่งยังคงเป็นที่ถกเถียงกันในหมู่นักประวัติศาสตร์และนักเศรษฐศาสตร์[25]

การฟื้นฟูภาคใต้กลับเข้าสู่สหภาพ[แก้]

การ์ตูนล้อการเมืองแสดงภาพแอนดรูว์ จอห์นสันและอับราฮัม ลินคอล์น ในค.ศ. 1865 โดยพาดหัวว่า "The Rail Splitter (ผู้แยกราง; เป็นฉายาหนึ่งของลินคอล์นที่ถูกมองว่าเป็น The Rail Candidate) ในระหว่างซ่อมแซมสหภาพ" (จอห์นสัน): "ทำแบบเงียบๆ ลุงเอ๊บกับผมจะเย็บให้มันใกล้ชิดติดกว่าเดิม" (ลินคอล์น): "อีกไม่กี่ตะเข็บแล้วแอนดี้ สหภาพเก่าที่ดีงามจะได้รับการซ่อมบำรุง"

ในช่วงระหว่างสงครามกลางเมือง ผู้นำฝ่ายรีพับลิกันหัวรุนแรงได้โต้แย้งว่า ระบบทาสและอำนาจถือครองทาสจะต้องถูกทำลายลงอย่างถาวร ฝ่ายรีพับลิกันสายกลางเสนอว่าสิ่งเหล่านี้จะสำเร็จลงได้ง่ายทันทีเมื่อกองทัพสมาพันธรัฐยอมจำนน และรัฐทางใต้ยกเลิกการแยกตัว อีกทั้งยอมรับในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญข้อที่ 13 ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นภายในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1865[26]

ประธานาธิบดีลินคอล์นเป็นผู้นำฝ่ายรีพับลิกันสายกลางและเขาต้องการเร่งการบูรณะ เพื่อรวมชาติกลับคืนมาอย่างไม่ลำบากและรวดเร็ว ลินคอล์นประกาศสมัยการบูรณะอย่างเป็นทางการในวันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ. 1863 ด้วยแนวนโยบายแผนสิบเปอร์เซ็นต์ของเขา ซึ่งดำเนินการในหลายรัฐ แต่ฝ่ายรีพับลิกันหัวรุนแรงคัดค้าน

ค.ศ. 1864: ร่างรัฐบัญญัติเวด-เดวิส[แก้]

ประธานาธิบดีลินคอล์นแตกหักกับพวกหัวรุนแรงในค.ศ. 1864 ร่างรัฐบัญญัติเวด-เดวิส ในค.ศ. 1864 ซึ่งผลักดันโดยวุฒิสมาชิกเบนจามิน เวดจากรัฐโอไฮโอ และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเฮนรี วินเทอร์ เดวิสจากรัฐแมรีแลนด์ ทั้งสองเป็นฝ่ายหัวรุนแรง และร่างรัฐบัญญัตินี้ก็ผ่านมติรัฐสภาโดยการผลักดันของรีพับลิกันหัวรุนแรง กฎหมายนี้ออกแบบมาเพื่อให้ยกเลิกสิทธิ์ฝ่ายสมาพันธรัฐในภาคใต้ ร่างกฎหมายดังกล่าวขอให้รัฐบาลให้สิทธิ์ชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง และผู้ใดที่เต็มใจให้อาวุธเพื่อต่อสู้กับสหรัฐอเมริกาคนผู้นั้นจะถูกตัดสิทธิ์ในการลงคะแนนเสียง ร่างกฎหมายกำหนดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ที่เป็นร้อยละ 50 ของชายผิวขาว ต้องใช้ "คำสาบานที่แข็งกร้าว" โดยต้องสาบานว่าพวกเขาไม่เคยสนับสนุนฝ่ายสมาพันธรัฐ หรือเป็นหนึ่งในทหารของกองทัพสมาพันธรัฐ คำปฏิญาณนี้ยังทำให้พวกเขาต้องสาบานตนว่า จะจงรักภักดีต่อรัฐธรรมนูญและสหภาพ ก่อนที่พวกเขาจะเข้าการประชุมรัฐธรรมนูญของรัฐ ลินคอล์นคัดค้านกฎหมายนี้ ในการผลักดันนโยบาย "ไม่มุ่งพยาบาทต่อใคร" (malice toward none) ซึ่งเขาได้ประกาศในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งสมัยที่สองของเขา[27] ลินคอล์นขอให้ผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งสนับสนุนสหภาพในอนาคตเท่านั้น โดยไม่ย้อนกลับไปมองอดีต[28] ลินคอล์นใช้วิธีการยับยั้งโดยเก็บเรื่องไว้ในการคัดค้านร่างรัฐบัญญัติเวด-เดวิส ซึ่งเขามองว่าเป็นแนวทางที่เข้มงวดสุดโต่งกว่านโยบายแผนสิบเปอร์เซ็นต์[11][28][29]

หลังการยับยั้งของลินคอล์น ทำให้ฝ่ายหัวรุนแรงสูญเสียการสนับสนุน แต่พวกเขาก็ฟื้นฟูอำนาจมาได้หลังการลอบสังหารอับราฮัม ลินคอล์นในเดือนเมษายน ค.ศ. 1865

ค.ศ. 1865: กรณีพิพาทการบูรณะประเทศ[แก้]

จากนั้นในเดือนมกราคม ค.ศ. 1865 คำสั่งพิเศษภาคสนาม ลำดับที่ 15 ได้ถูกประกาศใช้ ทำให้มีการคืนที่ดินที่ถูกริบจำนวน 400,000 เอเคอร์ในรัฐจอร์เจียและเซาท์แคโรไลนา แบ่งเป็นแปลงๆ ละ 40 เอเคอร์ให้แก่ครอบครัวเสรีชนชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน ที่เพิ่งได้อิสรภาพ และสหภาพแรงงานผิวขาวทางตอนใต้ก็ได้รับด้วย

6 วันหลังจากสงครามสิ้นสุดเมื่อนายพลโรเบิร์ต อี. ลี ยอมจำนนต่อกองกำลังเวอร์จิเนียเหนือแห่งกองทัพสหภาพของประธานาธิบดีลินคอล์น

การลอบสังหารอับราฮัม ลินคอล์นในเดือนเมษายน ค.ศ. 1865 รองประธานาธิบดีแอนดรูว์ จอห์นสัน ได้กลายเป็นประธานาธิบดี พวกหัวรุนแรงมองว่าจอห์นสันเป็นพันธมิตร แต่เมื่อเขาได้เป็นประธานาธิบดี จอห์นสันกลับปฏิเสธโครงการบูรณะของพวกหัวรุนแรง เขามีความสัมพันธ์อันดีกับอดีตฝ่ายสมาพันธรัฐทางใต้และอดีตผู้ทรยศทางเหนือ เขาได้แต่งตั้งผู้ว่าการรัฐที่เป็นคนของเขาเอง และพยายามยุติกระบวนการบูรณะภายในสิ้นปี ค.ศ. 1865 แธดเดียส สตีเวนส์คัดค้านแผนการของจอห์นสันอย่างแข็งขันที่พยายามแทรกแซงให้ยุติการบูรณะ สตีเวนส์ยืนยันว่าการบูรณะจะต้อง "ปฏิวัติสถาบัน พฤติกรรมและธรรมเนียมของทางใต้...รากฐานทางสถาบันของพวกเขา...จะต้องถูกทำลายและผันเปลี่ยน หรือไม่เช่นนั้นหยาดเลือดและทรัพย์สมบัติของเราจะถูกใช้ไปโดยเปล่าประโยชน์"[30] จอห์นสันแตกหักกับพรรครีพับลิกันโดยสิ้นเชิง เมื่อเขาคัดค้านรัฐบัญญัติสิทธิพลเมือง ต้นค.ศ. 1866 ในขณะที่พรรคเดโมแครตกำลังเฉลิมฉลอง พรรครีพับลิกันก็รวมตัวผ่านร่างกฎหมายอีกครั้งหนึ่ง และเอาชนะการคัดค้านของประธานาธิบดีจอห์นสัน[31] ทไให้เป็นลักษณะของสงครามทางการเมืองเต็มรูปแบบระหว่างจอห์นสัน (ซึ่งได้เป็นพันธมิตรกับพรรคเดโมแครต) กับฝ่ายรีพับลิกันหัวรุนแรง[32][33]

นับตั้งแต่สงครามสิ้นสุดลง รัฐสภาปฏิเสธข้อโต้แย้งของจอห์นสันที่โต้ว่า เขามีอำนาจทางสงครามในการตัดสินใจว่าจะดำเนินการอะไร โดยรัฐสภาตัดสินว่า รัฐสภามีอำนาจหลักในการตัดสินใจ แนวทางการบูรณะนั้นจะดำเนินการอย่างไร เนื่องจากรัฐธรรมนูญระบุให้ สหรัฐฯ ต้องรับประกันว่าแต่ละรัฐจะมีรูปแบบการปกครองแบบสาธารณรัฐนิยม พวกหัวรุนแรงยืนกรานว่ารัฐสภาสามารถตัดสินใจในแนวทางของการบูรณะนั้นจะเป็นอย่างไร ประเด็นมีหลากหลายประเด็น ว่า ใครควรเป็นผู้ตัดสินใจ รัฐสภาหรือประธานาธิบดี สาธารณรัฐนิยมควรจะดำเนินการอย่างไรในภาคใต้ สถานะของรัฐอดีตสมาพันธรัฐควรจะเป็นอย่างไร สถานะพลเมืองของอดีตผู้นำสมาพันธรัฐควรจะเป็นอย่างไร สัญชาติและสถานะการเลือกตั้งของเสรีชนเป็นอย่างไร[34]

หลังสงครามยุติ ประธานาธิบดีแอนดรูว์ จอห์นสัน ได้คืนที่ดินส่วนใหญ่ให้แก่อดีตชาวผิวขาวที่เป็นเจ้าของทาส

ค.ศ. 1866: การบูรณะของรีพับลิกันหัวรุนแรง[แก้]

ในค.ศ. 1866 ฝ่ายรีพับลิกันหัวรุนแรงนำโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แธดเดียส สตีเวนส์ และวุฒิสมาชิกชาลส์ ซัมเนอร์ เชื่อว่าผู้ที่จอห์นสันแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ในทางภาคใต้นั้น ไม่มีความจงรักภักดีต่อสหภาพ หรือเป็นศัตรูกับฝ่ายที่จงรักภักดีต่อสหภาพ และเป็นศัตรูของพวกเสรีชน ฝ่ายหัวรุนแรงใช้หลักฐานที่เกิดการจลาจลต่อต้านคนผิวดำ ในเหตุการณ์การจลาจลเมมฟิส ค.ศ. 1866 และการสังหารหมู่นิวออร์ลีนส์ ค.ศ. 1866 ฝ่ายรีพับลิกันหัวรุนแรงเรียกร้องให้รัฐบาลกลางตอบโต้อย่างรวดเร็วและหนักแน่น และระงับการเหยียดเชื้อชาติในภาคใต้[35]

สตีเวนส์และผู้สนับสนุนมองว่าการแยกตัวออกจากรัฐ ทำให้รัฐเหล่านั้นมีลักษณะเหมือนดินแดนใหม่ ซัมเนอร์ก็ได้แย้งว่า การแยกตัวออกจากสหรัฐได้ทำลายสถานะความเป็นมลรัฐ แต่รัฐธรรมนูญยังคงขยายอำนาจและให้การคุ้มครองปัจเจกชน เช่นเดียวกับดินแดนอื่นๆ ในสหรัฐ พรรครีพับลิกันพยายามไม่ให้นักการเมืองภาคใต้ของจอห์นสัน "ฟื้นฟูประวัติศาสตร์การควบคุมพวกนิโกร" เนื่องด้วยระบบทาสถูกยกเลิก การประนีประนอมสามในห้าจึงไม่ได้ถูกนำมาใช้ในการนับประชากรคนผิวดำ หลังการสำรวจสำมะโนประชากร ค.ศ. 1870 ภาคใต้ได้รับที่นั่งผู้แทนเพิ่มเติมจำนวนมากในรัฐสภา โดยพิจารณาจากฐานประชากรที่เป็นเสรีชนทั้งหมด[ii] สมาชิกพรรครีพับลิกันในอิลินอยส์รายหนึ่ง แสดงความหวาดกลัวว่า ถ้าหากภาคใต้เพียงได้รับอนุญาตให้ฟื้นฟูอำนาจที่เคยได้รับก่อนหน้านี้ จะทำให้ "การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้แทนนั้นเป็นรางวัลสำหรับผู้ทรยศ"[36][37]

การเลือกตั้งในค.ศ. 1866 ได้เปลี่ยนสมดุลของอำนาจอย่างเด็ดขาด ทำให้พรรครีพับลิกันมีเสียงข้างมากในทั้งสองสภา และมีคะแนนเสียงมากพอที่จะเอาชนะการโหวตคัดค้านของจอห์นสัน พวกเขาจึงดำเนินการฟ้องให้ขับแอนดรูว์ จอห์นสันออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี เนื่องจากเขาพยายามขัดขวางมาตรการบูรณะที่สุดโต่งของรีพับลิกันหัวรุนแรงโดยการใช้รัฐบัญญัติการดำรงตำแหน่ง (ค.ศ. 1867) ประธานาธิบดีจอห์นสันพ้นผิดด้วยคะแนนเสียงเดียว แต่เขาก็สูญเสียอิทธิพบในการกำหนดนโยบายการบูรณะ [38] รัฐสภาของพรรครีพับลิกันจัดตั้งเขตการทหารในภาคใต้ และใช้บุคลากรกองทัพบกสหรัฐในการบริหารจัดการภูมิภาคนี้จนกว่ารัฐบาลใหม่ที่จงรักภักดีต่อสหภาพจะถูกจัดตั้งขึ้น บทบัญญัติรัฐธรรมนูญข้อที่ 14 และสิทธิของพวกเสรีชนในการลงคะแนนเสียงได้ถูกจัดตั้งขึ้น รัฐสภาดำเนินการระงับสิทธิในการลงคะแนนเสียงของอดีตเจ้าหน้าที่สมาพันธรัฐและเจ้าหน้าที่อาวุโส ประมาณ 10,000 - 15,000 คน ในขณะที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญทำให้ขาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันได้รับสัญชาติอย่างเต็มรูปแบบ และผู้ชายที่บรรลุนิติภาวะมีสิทธิลงคะแนนเสียง[39]

ด้วยอำนาจในการออกเสียงลงคะแนน เหล่าเสรีชนจึงเริ่มมีส่วนร่วมในการเมือง ในขณะที่ทาสจำนวนมากไม่มีการศึกษา คนผิวดำที่มีการศึกษา (รวมถึงทาสที่หลบหนี) ได้ย้ายลงมาจากทางเหนือเพื่อช่วยเหลือพวกเขา และเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนไปโดยปริยาย พวกเขาเลือกชายผิวขาวและผิวดำเป็นตัวแทนของพวกเขาในการประชุมรัฐธรรมนูญ กลุ่มพันธมิตรพรรครีพับลิกันของพวกเสรีชน ชาวใต้ที่สนับสนุนสหภาพ (ถูกเรียกอย่างเย้ยหยันว่า "สกาลาเวก" โดยพวกพรรคเดโมเครตขาว) และชาวเหนือที่อพยพลงมาทางภาคใต้ (ถูกเรียกอย่างเย้ยหยันว่า "คาร์เพทแบ็กเกอร์") ซึ่งบางคนเป็นชาวพื้นเมือง แต่เป็นทหารผ่านศึกของฝ่ายสหภาพ ได้รวมกันจัดประชุมรัฐธรรมนูญ พวกเขาได้สร้างรัฐธรรมนูญใหม่ของรัฐเพื่อกำหนดทิศทางของรัฐภาคใต้[40]

สิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง[แก้]

อนุสาวรีย์ตั้งเป็นเกียรติแก่กองทัพสาธารณรัฐ จัดสร้างขึ้นหลังสงคราม

รัฐสภาต้องพิจารณาถึงวิธีการฟื้นฟูสถานะและการเป็นผู้แทนในสหภาพของรัฐทางใต้ที่ประกาศอิสรภาพจากสหรัฐอเมริกา และการถอนผู้แทนของรัฐเหล่านั้น สิทธิในการเลือกตั้งของอดีตฝ่ายสมาพันธรัฐเป็นหนึ่งในสองข้อกังวลหลัก ต้องมีการตัดสินใจว่าจะยอมให้อดีตสมาพันธรัฐบางส่วน หรือทั้งหมดสามารถลงคะแนนเสียงได้ (หรือดำรงตำแหน่งทางการเมือง) ฝ่ายสายกลางในรัฐสภาต้องการให้ทุกคนมีสิทธิลงคะแนนเสียง แต่ฝ่ายหัวรุนแรงต่อต้าน พวกเขาต้องกล่าวคำสาบานที่แข็งกร้าวซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซึ่งทำให้ไม่มีอดีตสมาพันธรัฐคนใดสามารถใช้สิทธิลงคะแนนเสียงได้อย่างมีประสิทธิภาพ นักประวัติศาสตร์ ฮาโรลด์ ไฮแมน กล่าวว่า สมาชิกสภาในค.ศ. 1866 "ใช้คำสาบานเป็นปราการด่านสุดท้ายในการป้องกันไม่ให้อดีตกบฏกลับเข้ามามีอำนาจ ซึ่งเป็นแนวป้องกันที่เกื้อหนุนพวกชาวใต้ฝ่ายสหภาพและพวกนิโกรในการปกป้องตนเอง"[41]

ผู้นำรีพับลิกันหัวรุนแรง แธดเดียส สตีเวนส์ เสนอข้อกฎหมายให้อดีตฝ่ายสมาพันธรัฐทั้งหมดเสียสิทธิ์ในการออกคะแนนเสียงเป็นเวลาห้าปี แต่การผลักดันของเขาก็ไม่ประสบความสำเร็จ แต่ก็มีการประนีประนอมที่บรรลุผลทำให้ผู้นำฝ่ายพลเรือนและทหารหลายคนของสมาพันธรัฐต้องเสียสิทธิ ไม่มีข้อมูลทราบว่าผู้ที่เสียสิทธิในการออกเสียงมีทั้งหมดกี่คน แต่ก็มีผู้ประเมินว่าเป็นตัวเลขสูงถึง 10,000 ถึง 15,000 คน[42] อย่างไรก็ตาม นักการเมืองฝ่ายหัวรุนแรงได้เข้ารับตำแหน่งงานการเมืองในระดับรัฐ ในรัฐเทนเนสซีแห่งเดียว มีอดีตฝ่ายสมาพันธรัฐกว่า 80,000 คนถูกเพิกถอนสิทธิ[43]

ประการที่สองเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด คือ ประเด็นที่ว่าจะต้องรับเสรีชนจำนวน 4 ล้านคนเป็นพลเมืองหรือไม่ พวกเขาจะมีสิทธิลงคะแนนเสียงได้หรือไม่ หากมีการถือว่าพวกเขาเป็นพลเมืองสมบูรณ์ จะต้องมีการพิจารณาจัดสรรตำแหน่งผู้แทนราษฎรบางส่วนในรัฐสภาตามกำหนดกฎเกณฑ์ ก่อนสงคราม ประชากรทาสถูกนับเป็นจำนวนสามในห้าของจำนวนคนขาวที่เป็นอิสระ การให้เสรีชน 4 ล้านคนเป็นพลเมืองเต็มตัว จะทำให้ฝ่ายใต้ได้รับที่นั่งเพิ่มในรัฐสภา หากคนผิวดำถูกปฏิเสธสิทธิในการลงคะแนนเสียงและสิทธิในการดำรงตำแหน่ง ฉะนั้นจะมีแต่คนขาวเท่านั้นที่จะเป็นผู้แทนของพวกเขา คนหลายคน ได้แก่ ชาวใต้ผิวขาวโดยส่วนใหญ่ พรรคเดโมแครตเหนือ และพรรครีพับลิกันเหนือบางคน ต่อต้านการให้สิทธิแก่คนผิวดำ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งพรรครีพับลิกันมีส่วนน้อยที่ไม่เห็นด้วยกับสิทธิลงคะแนนเสียงของคนผิวดำ โดยยกประเด็นเรื่องอาจทำให้เกิดความพ่ายแพ้ของมาตรการในการออกเสียงเลือกตั้งในรัฐทางตอนเหนือส่วนใหญ่[44] บางรัฐทางตอนเหนือที่มีการลงประชามติในเรื่องการจำกัดความสามารถของประชากรผิวดำที่มีอยู่เป็นส่วนน้อยในการออกเสียงเลือกตั้ง

ลินคอล์นให้การสนับสนุนในทางสายกลาง คืออนุญาตให้คนผิวดำบางส่วนมีสิทธิลงคะแนนเสียง โดยให้สิทธิแก่ผู้ที่เป็นทหารผ่านศึกกองทัพสหรัฐ จอห์นสันก็ยังเชื่อว่าการทำหน้าที่ดังกล่าวถือเป็นรางวัลตอบแทนด้วยการให้เป็นพลเมือง ลินคอล์นเสนอให้ลงคะแนนเสียงให้กับ "ผู้ที่มีปัญญามาก และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่ต่อสู้อย่างหาญกล้าในตำแหน่งหน้าที่ของพวกเรา"[45] ในค.ศ. 1864 จอห์นสันขณะดำรงตำแหน่งผู้ว่าการรัฐได้กล่าวว่า "ชนชั้นที่ดีกว่าจะไปทำงานและเลี้ยงชีพของตน และชนชั้นนั้นควรจะได้รับอนุญาตให้มีสิทธิลงคะแนน ด้วยเหตุผลที่ว่า พวกนิโกรที่ซื่อสัตย์นั้นมีค่ามากกว่าพวกผิวขาวที่ไม่ซื่อสัตย์"[46]

เมื่อเขาได้เป็นประธานาธิบดีในค.ศ. 1865 จอห์นสันเขียนถึงวิลเลียม เอล. ชาร์คีย์ คนที่เขาได้แต่งตั้งให้เป็นผู้ว่าการรัฐมิสซิสซิปปี แนะนำว่า "หากคุณสามารถขยายสิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งไปยังทุกคนทุกสีผิวที่สามารถอ่านรัฐธรรมนูญในภาษาอังกฤษได้ และสามารถเขียนชื่อสกุลตัวเองได้ และบุคคลทุกคนทุกผิวสีที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินที่มีมูลค่าอย่างน้อย 250 ดอลลาร์ฯ และจ่ายภาษีด้วยนั้น คุณก็จะสามารถปลดอาวุธพวกศัตรู [พวกหัวรุนแรงในรัฐสภา] ได้อย่างเบ็ดเสร็จ และจะเป็นตัวอย่างให้รัฐอื่นๆ ปฏิบัติตาม"[47]

ชาลส์ ซัมเนอร์และแธดเดียส สตีเวนส์ ผู้นำฝ่ายรีพับลิกันหัวรุนแรง ลังเลที่จะให้สิทธิเสรีภาพส่วนใหญ่แก่พวกเสรีชนที่ไม่รู้หนังสือ ซัมเนอร์ต้องการความเสมอภาคที่ได้กำหนดไว้ในตอนแรก ซึ่งจะเป็นการกำหนดข้อจำกัดด้านการรู้หนังสือของคนผิวดำกับคนผิวขาว เขาเชื่อว่าเขาจะไม่ประสบความสำเร็จในการผ่านร่างกฎหมายที่ตัดสิทธิ์คนผิวขาวที่ไม่รู้หนังสือ และคนเหล่านั้นได้มีสิทธิลงคะแนนเสียงตามปกติแล้ว[48]

เสรีชนลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในนิวออร์ลีนส์ ค.ศ. 1867

ในภาคใต้ คนผิวขาวที่ยากจนหลายคนเป็นคนไม่รู้หนังสือ โดยพวกเขาไม่ได้รับการศึกษาโดยรัฐในช่วงก่อนสงคราม ตัวอย่างเช่น ใน ค.ศ. 1880 อัตราการไม่รู้หนังสือของคนผิวขาวอยู่ที่ประมาณ 25% ในรัฐเทนเนสซี, เคนทักกี, แอละแบมา, เซาท์แคโรไลนาและจอร์เจีย และมีสูงถึง 33% ในนอร์ทแคโรไลนา ซึ่งเมื่อเทียบกับอัตราของทั้งประเทศ 9% อัตราการไม่รู้หนังสือของคนผิวดำภาคใต้มีมากกว่า 70%[49] อย่างไรก็ตาม ในค.ศ. 1900 โดยเน้นที่ชุมชนคนผิวดำในเรื่องการศึกษา ปรากฏว่า คนผิวดำส่วนใหญ่ประสบความสำเร็จในการอ่านออกเขียนได้มากขึ้น[50]

ซัมเนอร์ได้ข้อสรุปในไม่ช้าว่า "ไม่มีการคุ้มครองในหลายๆ เรื่องที่สำคัญของเสรีชน ยกเว้นเรื่องสิทธิลงคะแนนเสียง" สิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญ เขากล่าวว่า "(1) เพื่อเป็นการป้องกันตัวพวกเขาเอง (2) เพื่อเป็นการคุ้มครองฝ่ายสหภาพผิวขาว และ (3) เพื่อความสงบสุขของประเทศ เราใส่ปืนคาบศิลาไว้ในมือของเขาเพราะมันเป็นสิ่งจำเป็น และด้วยเหตุผลเดียวกัน เราต้องให้สิทธิในการเลือกตั้งแก่เขา" การสนับสนุนสิทธิในการแออกเสียงเป็นการประนีประนอมระหว่างฝ่ายรีพับลิกันสายกลางและรีพับลิกันหัวรุนแรง[51]

พรรครีพับลิกันเชื่อว่าวิธีที่ดีที่สุดสำหรับผู้คนที่ได้มีประสบการณ์ทางการเมือง คือ การสามารถลงคะแนนเสียงและการมีส่วนร่วมในระบบการเมือง พวกเขาผ่านกฎหมายให้เสรีชนผู้ชายทุกคนให้มีสิทธิเลือกตั้ง ในค.ศ. 1867 คนผิวดำได้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งครั้งแรก ตลอดระยะเวลาของสมัยการบูรณะ ชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันกว่า 1,500 คน ได้เข้าดำรงตำแหน่งต่างๆ ในภาคใต้ ผู้ชายบางคนได้หนีไปทางตอนเหนือและเข้ารับการศึกษา จากนั้นเดินทางกลับมายังภาคใต้ พวกเขาไม่ได้ดำรงตำแหน่งในจำนวนที่เป็นผู้แทนตามสัดส่วนประชากร แต่พวกเขามักเลือกคนผิวขาวให้เป็นผู้แทนของพวกเขา[52] ปัญหาสิทธิเลือกตั้งของผู้หญิงได้ถูกนำมาถกเถียงแต่ถูกปฏิเสธ[53] ในที่สุดผู้หญิงก็ได้รับสิทธิในการเลือกตั้งตามการเพิ่มเติมบทบัญญัติรัฐธรรมนูญข้อที่ 19 ในค.ศ. 1920

ตั้งแต่ค.ศ. 1890 ถึง 1908 รัฐทางใต้ได้ผ่านรัฐธรรมนูญและกฎหมายของรัฐใหม่ ซึ่งกีดกันคนผิวดำส่วนใหญ่และคนผิวขาวที่ยากจนจำนวนหลายหมื่นคน จากการลงทะเบียนผู้มีสิทธิเลือกตั้งและกฎการเลือกตั้ง เมื่อมีการตั้งข้อกำหนดใหม่ เช่น การทดสอบการรู้หนังสือส่วนบุคคลของรัฐ แต่ในบางรัฐมีการใช้ "อนุมาตราคุณปู่" เพื่อให้คนผิวขาวที่ไม่รู้หนังสือสามารถออกเสียงลงคะแนนได้ [54]

คณะกรรมการสนธิสัญญาภาคใต้[แก้]

ห้าเผ่าอารยะที่ได้ย้ายไปอยู่เขตอินเดียน (ปัจจุบันคือส่วนหนึ่งของรัฐโอคลาโฮมา) ได้มีทาสผิวดำครอบครองและทำสนธิสัญญาสนับสนุนฝ่ายสมาพันธรัฐ ในช่วงสงคราม มีสงครามระหว่างฝ่ายสนับสนุนสหภาพและฝ่ายต่อต้านชาวอเมริกันพื้นเมืองที่สนับสนุนสหภาพโหมกระหน่ำอย่างหนัก รัฐสภาได้ผ่านกฎหมายซึ่งมอบอำนาจแก่ประธานาธิบดีในการระงับงบประมาณจัดสรรแก่ชนเผ่าใดๆ หากชนเผ่านั้น "อยู่ในสถานะที่เป็นปรปักษ์กับรัฐบาลสหรัฐอเมริกา...และโดยการประกาศให้สนธิสัญญาทั้งหมดที่ชนเผ่านั้นได้ทำไป ให้เพิกถอนจนสิ้นไปจากเผ่านั้น"[55][56]

กระทรวงมหาดไทยสหรัฐในฐานะที่เป็นองค์ประกอบของการบูรณะได้สั่งประชุมผู้แทนจากชนเผ่าอินเดียนทั้งหมดที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับฝ่ายสมาพันธรัฐ[57] สภาดังกล่าวซึ่งถูกเรียกว่า คณะกรรมการสนธิสัญญาภาคใต้ จัดประชุมครั้งแรกที่ฟอร์ตสมิธ รัฐอาร์คันซอ ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1865 มีผู้แทนชาวอเมริกันพื้นเมืองจำนวนหลายร้อยคนเข้าร่วมประชุม โดยเป็นผู้แทนของหลายสิบเผ่า ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า คณะกรรมการได้เจรจาสนธิสัญญากับเผ่าต่างๆ ซึ่งเป็นผลให้มีการย้านถิ่นฐานเพิ่มเติมเข้าไปยังเขตอินเดียน และมีการจัดตั้งดินแดนโอคลาโฮมาซึ่งยังไม่เป็นระบบระเบียบโดยพฤตินัย (ในขั้นต้นของสนธิสัญญา)

สมัยการบูรณะของประธานาธิบดีลินคอล์น[แก้]

เหตุการณ์เริ่มแรก[แก้]

อับราฮัม ลินคอล์น ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา คนที่ 16

ประธานาธิบดีลินคอล์นลงนามประกาศใช้รัฐบัญญัติการยึดทรัพย์สองฉบับ ฉบับแรกในวันที่ 6 สิงหาคม ค.ศ. 1861 และฉบับที่ 2 ในวันที่ 17 กรกฎาคม ค.ศ. 1862 เพื่อปกป้องทาสที่หลบหนีข้ามจากสหพันธรัฐมายังสหภาพ และเป็นการปลดปล่อยทาสทางอ้อมถ้าหากเจ้านายของพวกเขายังคงก่อการจลาจลต่อสหรัฐ กฎหมายอนุญาตให้มีการริบที่ดินเพื่อการไปตั้งถิ่นฐานจากพวกที่ยังสนับสนุนฝ่ายกบฏ อย่างไรก็ตามกฎหมายเหล่านี้มีผลจำกัด เนื่องจากได้รับการสนับสนุนไม่มากนักจากรัฐสภา กอปรกับอัยการสูงสุดสหรัฐ เอ็ดเวิร์ด เบ็ทส์ มีการบังคับใช้กฎหมายนี้อย่างไม่มากพอ[58][59][60]

ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1861 พลตรีจอห์น ซี. เฟรมงต์ ผู้บัญชาการทหารฝ่ายสหภาพของกองทัพภาคตะวันตก ประกาศกฎอัยการศึกในรัฐมิสซูรี ทำการยึดทรัพย์สินฝ่ายสมาพันธรัฐและปลดปล่อยทาสของคนพวกนั้น ประธานาธิบดีลินคอล์นสั่งการให้เฟรมงต์เพิกถอนคำประกาศปลดปล่อยทาส โดยกล่าวว่า "กระผมคิดว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่งที่...ทาสที่ได้รับการปลดปล่อยจากพวกเจ้าของทาสผู้ทรยศ พวกเขาจะเตือนไปยังพรรคพวกสหภาพภาคใต้ของพวกเขา และให้หันมาต่อต้านพวกเรา-บางทีอาจจะเป็นการทำลายโอกาสของเราที่จะแสวงหาประโยชน์ในรัฐเคนทักกี" เฟรมงต์ได้ปฏิเสธที่จะเพิกถอนประกาศปลดปล่อยทาสของเขา ประธานาธิบดีลินคอล์นจึงปลดเขาออกจากหน้าที่ประจำในวันที่ 2 พฤศจิกายน ค.ศ. 1861 ลินคอล์นเกรงกลัวว่ารัฐชายแดนจะแยกตัวออกจากสหภาพหากมีทาสได้รับอิสรภาพ ในวันที่ 26 พฤษภาคม ค.ศ. 1862 พลตรีฝ่ายสหภาพเดวิด ฮันเตอร์ ได้ประกาศปลดปล่อยทาสในเซาท์แคโรไลนา รัฐจอร์เจียและฟลอริดา ได้ประกาศว่า "บุคคลทั้งหมด...ซึ่งก่อนหน้านี้ถือว่าเป็นทาส...เป็นอิสระตลอดกาลแล้ว" ลินคอล์นรู้สึกอับอายขายหน้าจากคำสั่งนี้ เขาจึงเพิกถอนคำประกาศของฮันเตอร์และยกเลิกการปลดปล่อยทาส[61]

ในวันที่ 16 เมษายน ค.ศ. 1862 ลินคอล์นลงนามในร่างกฎหมายว่าด้วยการค้าทาสในวอชิงตัน ดี.ซี. และปลดปล่อยทาสประมาณ 3,500 คนในเมือง ในวันที่ 19 มิถุนายน ค.ศ. 1862 เขาได้ลงนามในกฎหมายห้ามการค้าทาสในทุกดินแดนของสหรัฐ วันที่ 17 กรกฎาคม ค.ศ. 1862 ภายใต้อำนาจของรัฐบัญญัติการยึดทรัพย์ และบทบัญญัติของกฎหมายบังคับ ค.ศ. 1795 เขาอนุญาตให้มีการเกณฑ์ทาสที่เป็นอิสระเข้ารับราชการในกองทัพสหรัฐ และยึดทรัพย์ฝ่ายสมาพันธรัฐเพื่อวัตถุประสงค์ทางการทหาร[60][62][63]

การปลดปล่อยทาสและการชดเชยอย่างค่อยเป็นค่อยไป[แก้]

ประธานาธิบดีลินคอล์นพยายามรักษาเขตแดนของสหภาพไว้ ในช่วงต้นค.ศ. 1861 มีการออกแบบแนวทางชดเชยการเลิกทาสแบบค่อยเป็นค่อยไปซึ่งจ่ายโดยพันธบัตรรัฐบาล ลินคอล์นต้องการให้รัฐเดลาแวร์, รัฐแมริแลนด์, รัฐเคนทักกีและรัฐมิสซูรี "นำระบบการเลิกทาสอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อให้เกิดการเลิกทาสอย่างสมบูรณ์ภายในเวลา 20 ปี" ในวันที่ 26 มีนาคม ค.ศ. 1862 ลินคอล์นพบปะกับวุฒิสมาชิก ชาลส์ ซัมเนอร์ และแนะนำให้มีการประชุมร่วมกันของสมาชิกจากสองสภาในวาระพิเศษ เพื่อหารือในเรื่องการช่วยเหลือทางด้านการเงินแก่รัฐชายแดนที่เริ่มแผนการเลิกทาสอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1862 มีการประชุมร่วมกันของสองสภา แต่ถึงกระนั้น รัฐชายแดนเหล่านั้นก็ไม่สนใจและไม่ตอบสนองต่อลินคอล์น หรือ ข้อเสนอการเลิกทาสใดๆ ของรัฐสภา[64] ลินคอล์นกล่าวสนับสนุนแนวทางชดเชยการเลิกทาสในระหว่างการประชุมบนเรือกลไฟริเวอร์ควีน ค.ศ. 1865

การอพยพถิ่นฐานอาณานิคม[แก้]

ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1862 ประธานาธิบดีลินคอล์นพบปะกับผู้นำชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน และกระตุ้นให้พวกเขาเคลื่อนย้ายตั้งถิ่นฐานในแถบอเมริกากลาง ลินคอล์นมีแผนที่จะปลดปล่อยทาสทางใต้จากคำประกาศเลิกทาส และเขากังวลว่าพวกเสรีชนจะไม่ได้รับการปฏิบัติที่ดีจากคนผิวขาวในสหรัฐอเมริกาทั้งฝ่ายเหนือและใต้ แม้ว่าลินคอล์นจะให้การรับรองว่ารัฐบาลสหรัฐฯ จะสนับสนุนและปกป้องนิคมใดๆ ที่ถูกจัดตั้งขึ้นสำหรับอดีตทาส แต่ผู้นำเหล่านั้นกลับปฏิเสธข้อเสนอในการอพยพตั้งถื่นฐานนิคม คนผิวดำที่เป็นอิสระหลายคนต่อต้านแผนการอพยพถิ่นฐานเพราะพวกเขาต้องการที่จะอยู่อาศัยในสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดีลินคอล์นยังคงยืนกรานในแผนย้ายถิ่นฐานจัดตั้งนิคม ด้วยเขาเชื่อว่าการเลิกทาสและการอพยพถิ่นฐานอาณานิคมเป็นโครงการเดียวกัน โดยในเดือนเมษายน ค.ศ. 1863 ลินคอล์นประสบความสำเร็จในการส่งชาวนิคมผิวดำไปยังประเทศเฮติ และอีก 453 คนถูกส่งไปยังจังหวัดชีรีคีในแถบอเมริกากลาง แต่ก็ไม่มีนิคมใดๆ ที่สามารถอยู่โดยพึ่งตนเองได้ เฟรเดอริค ดักลาส ชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันซึ่งเป็นนักสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองคนสำคัญของศตวรรษที่ 19 ได้วิพากษ์วิจารณ์ลินคอล์น โดยระบุว่า ลินคอล์นได้แสดงถึง "ความไม่คงเส้นคงวาทั้งหมดของเขา ความเย่อหยิ่งในชาติกำเนิดและสายเลือด การดูถูกพวกนิโกร และความหน้าซื่อใจคดของเขา" ตามทัศนะของเฟรเดอริค ดักลาส มองว่าชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันต้องการสิทธิพลเมืองและสิทธิมนุษยชนมากกว่าการจัดตั้งนิคม นักประวัติศาสตร์ไม่แน่ใจว่าลินคอล์นล้มเลิกแนวคิดการตั้งนิคมชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันเมื่อใด ตั้งแต่ปลายปี ค.ศ. 1863 หรือเขาอาจจะยังดำเนินแผนนี้ต่อไปจนถึงค.ศ. 1865[60][64][65]

การแต่งตั้งผู้ว่าการทหาร[แก้]

ฝ่ายหัวรุนแรงพยายามที่จะขัดขวางการบูรณะในรัฐสภา ซึ่งเริ่มต้นในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1862 ประธานาธิบดีลินคอล์นได้แต่งตั้งผู้ว่าการทหารในรัฐฝ่ายกบฏบางรัฐที่ยังคงอยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพสหภาพ[66] แม้ว่ารัฐเหล่านั้นยังคงไม่ได้รับการยอมรับจากฝ่ายหัวรุนแรง จนถึงเวลาที่ไม่แน่นอน การแต่งตั้งผู้ว่าการทหารจะเป็นการสร้างแนวทางการบริหารบูรณะให้อยู่ภายใต้อำนาจของประธานาธิบดี แทนที่จะอยู่ใต้ฝ่ายรัฐสภาของพวกหัวรุนแรงที่ไม่มีความเห็นใจรัฐเหล่านั้น ในวันที่ 3 มีนาคม ค.ศ. 1862 ลินคอล์นแต่งตั้งวุฒิสมาชิก แอนดรูว์ จอห์นสัน ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคเดโมแครตผู้ภักดี ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการทหาร โดยมียศเป็นนายพลจัตวาในรัฐเทนเนสซี ซึ่งเป็นรัฐสังกัดของเขา[67] ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1862 ลินคอล์นแต่งตั้งเอ็ดเวิร์ด สแตนลี เป็นผู้ว่าการทหารในรัฐชายฝั่งอย่างรัฐนอร์ทแคโรไลนา และมียศนายพลจัตวา สแตนลีลาออกในหนึ่งปีถัดมา เมื่อเขาโกรธเคืองลินคอล์น โดยเขาได้สั่งปิดโรงเรียนของคนผิวดำสองแห่งในนิวเบิร์น, นอร์ทแคโรไลนา หลังจากลินคอล์นแต่งตั้งนายพลจัตวาจอร์จ ฟอสเตอร์ เช็ปลีย์ เป็นผู้ว่าการทหารของรัฐลุยเซียนาในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1862 เช็ปลีย์ส่งผู้แทนฝ่ายต่อต้านทาสไปยังสภา ได้แก่ เบนจามิน ฟลานเดอส์และไมเคิล ฮาห์น ซึ่งได้รับการเลือกตั้งเข้าสภาในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1862 ซึ่งสภาได้ยอมอ่อนข้อและลงคะแนนเสียงให้พวกเขาในสภา ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1862 ลินคอล์นแต่งตั้งพันเอกจอห์น เอส. เฟ็ลปส์ เป็นผู้ว่าการทหารของรัฐอาร์คันซอ แม้ว่าเขาจะลาออกหลังจากนั้นไม่นาน เนื่องจากสุขภาพไม่ดี

การประกาศเลิกทาส[แก้]

การเฉลิมฉลองการประกาศเลิกทาสในรัฐแมสซาชูเซตส์ ค.ศ. 1862

ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1862 ประธานาธิบดีลินคอล์นถูกหว่านล้อมให้เชื่อว่า "ความจำเป็นทางการทหาร" เป็นสิ่งที่ต้องใช้ปะทะกับระบบทาส เพื่อที่จะทำให้ฝ่ายสหภาพได้ชัยชนะในสงครามกลางเมือง และรัฐบัญญัติการยึดทรัพย์ก็ได้ผลเพียงเล็กน้อยในการยุติระบบทาส ในวันที่ 22 กรกฎาคม เขาได้เขียนร่างประกาศเลิกทาสฉบับแรก ซึ่งปลดปล่อยระบบทาสในรัฐต่างๆ ของฝ่ายกบฏ หลังจากที่เขายื่นเอกสารเสนอต่อคณะรัฐมนตรี มีการเสนอให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงคำเพียงเล็กน้อย ลินคอล์นตัดสินใจว่า ความพ่ายแพ้ของฝ่ายสมาพันธรัฐที่เข้ารุกรานทางเหนือในยุทธการที่แอนตีแทมนั้น เพียงพอแล้วสำหรับชัยชนะในสนามรบ ที่จะทำให้เขาสามารถออกประกาศการเลิกทาสเบื้องต้น โดยให้เวลาฝ่ายกบฏ 100 วัน ในการกลับเข้ามารับใช้สหภาพ หรือ ให้ออกประกาศฉบับจริง

ในวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1863 ได้มีการออกประกาศเลิกทาสฉบับจริง โดยระบุเจาะจงถึงชื่อของ 10 รัฐ ซึ่งกำหนดให้ทาสเป็น "อิสระตลอดไป" แต่ประกาศไม่ได้ระบุชื่อรัฐเทนเนสซี, เคนทักกี, มิสซูรี, แมรีแลนด์ และเดลาแวร์ และยังไม่รวมเคาน์ตีที่มีจำนวนมากในบางรัฐ ในที่สุด กองทัพของสหรัฐได้รุกคืบเข้าสมาพันธรัฐ ทาสนับล้านก็ได้รับการประกาศเป็นอิสระ เหล่าเสรีชนหลายคนเข้าร่วมกองทัพสหรัฐและต่อสู้กับฝ่ายสมาพันธรัฐ[60][65][68] ทว่าทาสที่ได้รับการปลดปล่อยหลายแสนคนได้เสียชีวิตจากความเจ็บป่วย ทำให้เป็นการทำลายกองพันทหาร ทาสที่เป็นอิสระต้องทรมานจากไข้ทรพิษ ไข้เหลืองและภาวะทุพโภชนาการ[69]

แผนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 10% ของรัฐลุยเซียนา[แก้]

วุฒิสมาชิก
เบนจามิน เวด จากรัฐโอไฮโอ
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
เฮนรี วินเทอร์ เดวิส จากรัฐแมรีแลนด์

ประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์นกังวลในเรื่องที่ต้องฟื้นฟูรัฐสมาพันธรัฐกลับเข้าสู่สหภาพโดยเร็วหลังสงครามกลางเมือง ในค.ศ. 1863 ประธานาธิบดีลินคอล์นเสนอแผนสายกลางในการบูรณะรัฐลุยเซียนาที่ได้ยึดครองมาจากฝ่ายสมาพันธรัฐ แผนดังกล่าวเป็นการให้นิรโทษกรรมแก่กลุ่มกบฏที่สาบานตนว่าจะจงรักภักดีต่อสหภาพ แรงงานเสรีชนคนผิวดำถูกผูกมัดเป็นแรงงานในพื้นที่เพาะปลูกเป็นเวลา 1 ปี ด้วยอัตราค่าจ้าง 10 ดอลลาร์ฯ ต่อเดือน[70] มีเพียงร้อยละ 10 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งของรัฐเท่านั้นที่ต้องสาบานตนว่าจะจงรักภักดี เพื่อที่จะทำให้รัฐสามารถกลับเข้าสู่รัฐสภาของสหรัฐได้อีกครั้ง รัฐจำเป็นต้องมีบทบัญญัติการเลิกทาสในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แผนบูรณะลักษณะเดียวกันก็จะถูกนำมาใช้ในรัฐอาร์คันซอและเทนเนสซี โดยเดือนธันวาคม ค.ศ. 1864 แผนบูรณะของลินคอล์นได้รับการตราขึ้นในรัฐลุยเซียนา และสภานิติบัญญัติได้ส่งวุฒิสมาชิกสองคนและผู้แทนราษฎรห้าคน เข้าสู่ตำแหน่งในวอชิงตัน แต่รัฐสภากลับปฏิเสธที่จะนับคะแนนเสียงใดๆ ที่มาจากผู้แทนของลุยเซียนา อาร์คันซอ และเทนเนสซี ซึ่งโดยเนื้อแท้แล้วถือเป็นการปฏิเสธแผนการบูรณะสายกลางของลินคอล์น รัฐสภาในเวลานี้ถูกควบคุมโดยฝ่ายหัวรุนแรง ที่ได้เสนอร่างรัฐบัญญัติเวด-เดวิส ซึ่งกำหนดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งโดยส่วนใหญ่ของรัฐต้องสาบานตนว่าจะจงรักภักดีในรัฐสภา ลินคอล์นจึงใช้วิธีการยับยั้งโดยเก็บเรื่องไว้ต่อร่างรัฐบัญญัตินี้ และทำให้เกิดความระหองระแหงกันระหว่าง พวกสายกลาง ที่ต้องการกอบกู้สหภาพและเอาชนะสงคราม กับพวกหัวรุนแรง ที่ต้องการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเต็มรูปแบบมากขึ้นในสังคมภาคใต้[71][72] เฟรเดอริค ดักลาส กล่าวประณามแผนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 10% ของลินคอล์น ว่า เป็นสิ่งที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เนื่องจากรูปแบบวิธีการรับรัฐเข้ามาสู่สหภาพ ขึ้นอยู่กับคะแนนเสียงข้างน้อยที่ยินยอมประกาศจงรักภักดีเท่านั้น[73]

การทำให้การสมรสของทาสชอบด้วยกฎหมาย[แก้]

ก่อนปี ค.ศ. 1864 การแต่งงานของทาสไม่รับการยอมรับอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และการเลิกทาสก็ไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรต่อการแต่งงาน[22] เมื่อได้เป็นอิสระ หลายคนได้แต่งงานอย่างเป็นทางการ โดยก่อนการเลิกทาส ทาสจะไม่สามารถทำสัญญาใดๆ แม้แต่ทะเบียนสมรสก็ไม่สามารถกระทำได้ ทาสที่เป็นอิสระบางคนก็ไม่ได้ทำให้การสมรสของพวกเขาเป็นทางการตามกฎหมาย บางคนยังเป็นเพียงคู่ชีวิตอย่างไม่เป็นทางการ หรือ มีความสัมพันธ์เพียงแค่ชุมชนยอมรับได้เท่านั้น[74] การรับรองการสมรสจากรัฐได้มีการเพิ่มในส่วนของผู้ที่ได้รับการปลดปล่อย ในฐานะเป็นตัวแสดงตามกฎหมาย และในที่สุดก็ช่วยทำให้เกิดสิทธิของบิดามารดาสำหรับหมู่ทาสที่เป็นอิสระ โดยมีขึ้นเพื่อป้องกันแนวทางการส่งเด็กผิวดำไปฝึกงาน [75] โดยเด็กเหล่านี้ถูกพรากไปจากครอบครัวของพวกเขาอย่างถูกกฎหมาย ภายใต้หน้ากากลวงของ "การให้การเลี้ยงดูที่ดี และบ้านที่ดี จนกว่าพวกเขาจะบรรลุนิติภาวะในอายุ 21 ปีบริบูรณ์" ซึ่งแนวปฏิบัตินี้อยู่ภายใต้รัฐบัญญัติ ยกตัวอย่างเช่น รัฐบัญญัติผู้ฝึกงานรัฐจอร์เจีย ค.ศ. 1866[76] โดยทั่วไปแล้ว เด็กเหล่านี้ถูกใช้เป็นแรงงานที่ไม่ได้รับค่าจ้าง

สำนักเสรีชน[แก้]

ครูอาจารย์ชาวภาคเหนือเดินทางมายังภาคใต้เพื่อให้การศึกษาและให้การอบรมแก่ประชากรที่เพิ่งได้รับอิสรภาพ

ในวันที่ 3 มีนาคม ค.ศ. 1865 ร่างรัฐบัญญัติสำนักเสรีชนได้กลายเป็นกฎหมาย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากพรรครีพับลิกันเพื่อช่วยเหลือเสรีชนและผู้ลี้ภัยผิวขาว สำนักของรัฐบาลกลางนี้ถูกจัดตั้งเพื่อจัดหาอาหาร เสื้อผ้า เชื่อเพลิง และให้คำแนะนำในการเจรจาสัญญาจ้างงาน สำนักได้พยายามที่จะปรับความสัมพันธ์ใหม่ระหว่างเสรีชนกับอดีตนายจ้างของพวกเขาในตลาดแรงงานเสรี การกระทำดังกล่าว จะไม่มีการยอมตามสีผิวของบุคคล โดยมีการอนุญาตให้สำนักเช่าที่ดินที่ถูกริบไว้เป็นระยะเวลา 3 ปี และขายในส่วนที่มีชนาดไม่เกิน 40 เอเคอร์ (16 เฮกตาร์) ต่อผู้ซื้อหนึ่งราย สำนักจะหมดอายุหนึ่งปีหลังสิ้นสุดสงคราม แต่ลินคอล์นถูกลอบสังหารก่อนที่เขาจะได้ลงมือแต่งตั้งกรรมาธิการของสำนัก

ด้วยความช่วยเหลือของสำนัก ทาสที่เพิ่งได้รับอิสรภาพได้เริ่มลงคะแนนเสียง จัดตั้งพรรคการเมืองของตน และเข้าควบคุมแรงงานในหลายพื้นที่ สำนักช่วยเริ่มต้นในการเปลี่ยนอำนาจในภาคใต้ซึ่งได้เปลี่ยนความนิยมสนใจจากสมาชิกพรรคเดโมแครตในภาคใต้ ไปยังสมาชิกพรรครีพับลิกันในภาคเหนือแทน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ค.ศ. 1968 ระหว่างยูลิสซีส เอส. แกรนต์และฮอราชิโอ ซีมอร์ (ประธานาธิบดีจอห์นสันไม่ได้ถูกเสนอชื่อจากพรรคเดโมแครต) โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เป็นคนผิวดำ 700,000 คน สามารถครอบงำเสียงเลือกตั้ง 300,000 คะแนน โหวตมาทางแกรนต์

แม้ว่าจะมีผลประโยชน์ที่มอบให้แก่พวกเสรีชน แต่สำนักเสรีชนก็ไม่สามารถทำงานได้ในบางพื้นที่ เสรีชนบางคนกลัวที่จะออกไปเลือกตั้ง หรือดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือเป็นเจ้าของที่ดิน เนื่องจากมีกลุ่มคูคลักซ์แคลนแสดงคนเป็นศัตรูสำคัญของสำนักเสรีชน[77][78][79]

การสั่งห้ามการเลือกปฏิบัติว่าด้วยสีผิว[แก้]

มีการลงนามในกฎหมายอื่นๆ เพื่อขยายความเท่าเทียมและสิทธิของชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน ลินคอล์นออกกฎหมายการสั่งห้ามการเลือกปฏิบัติว่าด้วยสีผิว ในการบรรทุกขนส่งจดหมายในสหรัฐ การนั่งรถรางสาธารณะในวอชิงตัน ดี.ซี. และการจ่ายเงินแก่ทหาร[80]

การประชุมสันติภาพ กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1865[แก้]

ลินคอล์นและวิลเลียม เอช. ซูเวิร์ด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ประชุมกับตัวแทนของภาคใต้ในการพิจารณากระบวนการบูรณะที่สันติทั้งของสหภาพและสหพันธรัฐ ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1865 ที่เมืองแฮมป์ตันโรดส์ รัฐเวอร์จิเนีย ผู้แทนภาคใต้ประกอบด้วย อเล็กซานเดอร์ เอช. สตีเฟนส์ รองประธานาธิบดีสมาพันธรัฐ จอห์น อาร์ชิบอลด์ แคมป์เบลและรอเบิร์ต เอ็ม. ที. ฮันเตอร์ ผู้ว่าการรัฐเวอร์จิเนียฝ่ายสมาพันธรัฐ ชาวใต้เสนอให้สหภาพรับรองสมาพันธรัฐ และร่วมกันระหว่างฝ่ายสหภาพ-สมาพันธรัฐในการโจมตีเม็กซิโกเพื่อโค่นราชบัลลังก์ของจักรพรรดิมัคซีมีลีอานที่ 1 แห่งเม็กซิโก และเสนอแนวทางเลือกให้คนผิวดำเป็นเลือกการจำยอมเป็นทาส แทนที่จะเป็นระบบทาส ลินคอล์นปฏิเสธที่จะรับรองสมาพันธรัฐอย่างตรงไปตรงมา และกล่าวว่า ทาสที่ได้รับการประกาศเลิกทาสแล้วจะไม่มีทางกลับมาเป็นทาสได้อีก เขากล่าวว่า รัฐสหภาพกำลังจะผ่านการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญข้อที่ 13 ซึ่งจะทำให้ระบบทาสเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ลินคอล์นเรียกร้องให้ผู้ว่าการรัฐจอร์เจียถอดถอนกองทหารสมาพันธรัฐ และ "ให้สัตยาบันในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนี้ในอนาคต ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ - ถ้าพูดในอีกห้าปีข้างหน้านี้...ระบบทาสจะต้องถูกตัดสินโทษแล้ว" ลินคอล์นยังเรียกร้องให้มีค่าชดเชยการปลดปล่อยทาส โดยในขณะที่เขาคิดว่า ฝ่ายเหนือควรจะเต็มใจที่จะต้องแบ่งปันค่าใช้จ่ายแห่งเสรีภาพนี้ แม้ว่าการประชุมจะเป็นไปด้วยความจริงใจ แต่ทั้งสองฝ่ายก็ไม่ได้ทำข้อตกลงกัน[81]

ข้อถกเถียงเรื่องมรดกทางประวัติศาสตร์[แก้]

ลินคอล์นยังคงสนับสนุนแผนลุยเซียนาของเขาต่อไปให้เป็นแบบอย่างสำหรับทุกรัฐ จนกระทั่งเขาถูกลอบสังหารในวันที่ 15 เมษายน ค.ศ. 1865 แผนนี้ประสบความสำเร็จในการเริ่มต้นกระบวนการบูรณะซึ่งให้สัตยาบันในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญข้อที่ 13 ในทุกรัฐ โดยทั่วไปแล้วลินคอล์นจะอยู่ฝ่ายสายกลางและต่อสู้กับพวกหัวรุนแรง มีการถกเถียงกันอย่างมากว่า ถ้าลินคอล์นยังมีชีวิตอยู่เขาจะจัดการได้ดีเพียงใด เขาจะรับมือกับรัฐสภาในช่วงกระบวนการบูรณะที่เกิดขึ้นหลังสงครามกลางเมืองสิ้นสุดได้อย่างไร กลุ่มนักคิดทางประวัติศาสตร์กลุ่มหนึ่งให้เหตุผลว่า ด้วยความยืดหยุ่นของลินคอล์น ความเป็นปฏิบัตินิยม และทักษะทางการเมืองที่เหนือกว่าของลินคอล์น ร่วมกับรัฐสภา จะสามารถแก้ไขปัญหาสมัยการบูรณะได้ไม่ยาก แต่นักคิดทางประวัติศาสตร์อีกกลุ่มหนึ่งเชื่อว่า ฝ่ายหัวรุนแรงพยายามที่จะยื่นฟ้องให้ขับลินคอล์นออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี เช่นเดียวกับที่พวกเขาจะทำกับประธานาธิบดีแอนดรูว์ จอห์นสัน ในปีค.ศ. 1868 ซึ่งเป็นผู้สืบตำแหน่งต่อจากลินคอล์น[28][71]

สมัยการบูรณะของประธานาธิบดีจอห์นสัน[แก้]

แอนดรูว์ จอห์นสัน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา คนที่ 17

ความโกรธแค้นของชาวเหนือต่อการลอบสังหารลินคอล์น และความเสียหายอย่างมหาศาลจากสงครามนำไปสู่การเรียกร้องให้มีนโยบายลงโทษ รองประธานาธิบดี แอนดรูว์ จอห์นสัน เคยยึดมั่นในหลักการไม่ประนีประนอม และปราศรัยถึงการแขวนคอพวกสมาพันธรัฐ แต่เมื่อเขาได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อจากลินคอล์น จอห์นสันกลับมีท่าทีที่นุ่มนวลกว่ามาก โดยการอภัยโทษแก่ผู้ยำสมาพันธรัฐหลายคนและอดีตฝ่ายสมาพันธรัฐคนอื่นๆ [33] เจฟเฟอร์สัน เดวิส อดีตประธานาธิบดีสมาพันธรัฐอเมริกา ถูกคุมขังในเรือนจำเป็นเวลาสองปี แต่ผู้นำสมาพันธรัฐคนอื่นๆ ไม่ถูกลงโทษเช่นนั้น ไม่มีการพิจารณาคดีในฐานกบฏ มีเพียงคนเดียว คือ ร้อยเอกเฮนรี เวิร์ซ ผู้บัญชาการค่ายนักโทษในแอนเดอร์สันวิลล์ รัฐจอร์เจีย ถูกประหารชีวิตด้วยข้อหาอาชญากรสงคราม มุมมองที่เหยียดเชื้อชาติของแอนดรูว์ จอห์นสันในกระบวนการบูรณะ ไม่ได้รวมการให้คนผิวดำมีส่วนร่วมในรัฐบาล และเขาปฏิเสธที่จะสนใจในความกังวลของชาวเหนือ เมื่อพวกเขาทราบว่าสภานิติบัญญัติของรัฐทางใต้ได้บังคับใช้ประมวลกฎหมายผิวดำ ได้กำหนดสถานะของเสรีชนให้อยู่ต่ำกว่าพลเมืองมาก[11]

สมิธให้เหตุผลว่า "จอห์นสันพยายามที่จะต่อยอดสิ่งที่เขาคิดว่าเป็นแผนการบูรณะของลินคอล์น"[82] แมกคิทริก กล่าวว่า ในค.ศ. 1865 จอห์นสันได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งขันในพรรครีพับลิกัน โดยกล่าวว่า "มันเป็นเรื่องธรรมดาตามความคิดเห็นจากพวกสายกลางในสหภาพแรงงานที่ยิ่งใหญ่ในภาคเหนือนั้น ทำให้จอห์นสันสามารถวาดภาพความสุขสบายขั้นสูงสุดของเขาได้"[83] บิลลิงตัน กล่าวว่า "ฝ่ายหนึ่งคือพวกฝ่ายพรรครีพับลิกันสายกลาง ภายใต้การนำของประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์น และแอนดรูว์ จอห์นสัน นิยมนโยบายที่ละมุนละม่อมต่อภาคใต้"[84] แรนดัลและเคอร์เรนท์ ผู้เขียนชีวประวัติลินคอล์น ได้ให้เหตุว่า [85]

เป็นไปได้ว่าถ้าลินคอล์นยังมีชีวิตอยู่ เขาจะปฏิบัติตามนโยบายที่คล้ายกันกับจอห์นสัน คือจะต้องปะทะกับพวกหัวรุนแรงในรัฐสภา แต่เขาจะได้ผลลัพธ์ที่ดีต่อเสรีชนมากกว่าของจอห์นสัน และทักษะทางการเมืองของเขาจะช่วยให้เขาหลีกเลี่ยงความผิดพลาดได้ดีกว่าแนวทางของจอห์นสัน

นักประวัติศาสตร์ทั่วไปมักเห็นพ้องต้องกันว่า ประธานาธิบดีจอห์นสันเป็นนักการเมืองที่ไร้ความสามารถซึ่งทำให้เขาสูญเสียข้อได้เปรียบทั้งหมดที่เคยมี จากการหลบหลีกปัญหาแบบไม่มีทักษะใดๆ เลย เขาแตกหักกับรัฐสภาในต้นค.ศ. 1866 และพยายามท้าทาย ขัดขวางการบังคับใช้กฎหมายการบูรณะที่ผ่านรัฐสภาสหรัฐ เขาได้สร้างความขัดแย้งทางรัฐธรรมนูญอย่างต่อเนื่องกับพวกหัวรุนแรงในรัฐสภาเกี่ยวกับเรื่องสถานะของเสรีชนและคนขาวในภาคใต้ที่พ่ายแพ้สงคราม[86] แม้ว่าจะยอมอยู่ภายใต้กฎการเลิกทาส แต่อดีตฝ่ายสมพันธรัฐหลายคนไม่เต็มใจที่จะยอมรับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการครอบงำทางการเมืองจากพวกอดีตทาส ตามคำกล่าวของเบนจามิน แฟลงคลิน เพอร์รี ซึ่งเป็นผู้ที่ประธานาธิบดีจอห์นสัน เลือกให้เป็นผู้ว่าการรัฐเซาท์แคโรไลนา "อย่างแรก พวกนิโกรจะต้องถูกลงทุนด้วยอำนาจทางการเมืองทั้งหมด และจากนั้นการต่อสู้กันทางผลประโยชน์ระหว่างทุนและแรงงานก็จะเกิดผล"[87]

อย่างไรก็ตาม ความหวาดกลัวของชนชั้นสูงชาวไร่และพลเมืองผิวขาวชนชั้นนำคนอื่นๆ ได้รับการผ่อนคลายบางส่วนจากท่าทีของประธานาธิบดีจอห์นสัน ซึ่งทำให้พวกเขามั่นใจได้ว่า จะไม่มีการกระจายที่ดินของชาวไร่ชนชั้นสูงขายส่งแก่พวกเสรีชน ประธานาธิบดีจอห์นสันสั่งการไม่ให้ที่ดินที่ถูกยึดหรือถูกทิ้งร้าง ซึ่งบริหารโดยสำนักเสรีชน จะไม่ถูกแจกจ่ายให้แก่พวกเสรีชน แต่จะต้องส่งคืนแก่เจ้าของที่ได้รับการอภัยโทษแล้ว ที่ดินเหล่านี้ถูกส่งคืน ซึ่งเคยถูกริบตามรัฐบัญญัติการยึดที่ดินซึ่งผ่านรัฐสภาไปเมื่อค.ศ. 1861 และ 1862

เสรีชนและการตราประมวลกฎหมายผิวดำ[แก้]

วันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ. 1874 บรรณาธิการการ์ตูนในฮาร์เปอร์สแม็กกาซีน คือ โทมัส แนส ได้ประณามกลุ่มคูคลักซ์แคลนและสันนิบาตผิวขาว ที่สังหารคนดำผู้บริสุทธิ์

รัฐบาลของรัฐทางใต้ได้ออก "ประมวลกฎหมายผิวดำ" ที่เข้มงวดอย่างรวดเร็ว แต่ก็ถูกยกเลิกในปีค.ศ. 1866 และไม่ค่อยจะมีผลเท่าไร เนื่องจากสำนักเสรีชน (ไม่ใช่ศาลท้องถิ่น) จะเป็นผู้จัดการแนวทางกฎหมายของเสรีชน

ประมวลกฎหมายผิวดำได้ชี้ให้เห็นถึงแผนการของคนผิวขาวทางตอนใต้ที่จะดำเนินการกับอดีตทาส[88] เสรีชนจะมีสิทธิมากกว่าคนผิวดำที่เป็นอิสระอยู่แล้วก่อนสงคราม แต่พวกเขายังคงมีสิทธิเป็นพลเมืองชั้นสองเท่านั้น ไม่มีสิทธิในการลงคะแนนเสียง และไม่มีสถานะพลเมือง พวกเขาไม่สามารถเป็นเจ้าของอาวุธปืน หรือทำหน้าที่เป็นคณะลูกขุนในคดีความที่เกี่ยวข้องกับคนผิวขาว หรือไม่มีสิทธิย้ายโดยไม่มีงานทำ[89] ประมวลกฎหมายผิวดำสร้างความขุ่นเคืองแก่ชาวเหนือมาก กฎหมายพวกนั้นถูกยกเลิกโดยรัฐบัญญัติสิทธิมนุษยชน ค.ศ. 1866 ซึ่งทำให้เสรีชนมีเสรีภาพทางกฎหมายมากขึ้น (แม้ว่ายังคงไม่มีสิทธิออกคะแนนเสียงเลือกตั้ง) [90]

เสรีชนได้รับการสนับสนุนจากสำนักเสรีชนอย่างแข็งขัน แต่ปฏิเสธรูปแบบการทำงานแบบระบบแก๊งอย่างที่เคยเป็นในสมัยทาส แทนที่แรงงานแบบแก๊ง ด้วยแรงงานอิสระซึ่งมีกลุ่มแรงงานแบบครอบครัวเป็นพื้นฐาน[91] พวกเขาบังคับให้ชาวไร่ต้องมาต่อรองค่าแรงกับพวกเขา การเจรจาต่อรองดังกล่าวในไม่ช้าได้กลายเป็นการจัดตั้งระบบการเช่าที่ดินโดยแบ่งผลผลิต ซึ่งทำให้พวกเสรีชนมีอิสระทางเศรษฐกิจและมีความเป็นอิสระทางสังคมมากกว่าแรงงานแบบแก๊ง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากพวกเขาขาดการเข้าถึงทุนและชาวไร่ยังคงเป็นเจ้าของวิธีการผลิต (เครื่องมือ สัตว์แรงงาน และที่ดิน) พวกเสรีชนจึงถูกบังคับให้ผลิตพืชเศรษฐกิจ (ส่วนใหญ่เป็นฝ้าย) ให้กับเจ้าของที่ดินและพ่อค้า และทำให้พวกเขาเข้าสู่ระบบการยึดครองพืชผลเพื่อใช้หนี้ ความยากจนแพร่ขยายไปในวงกว้าง การหยุดชะงักของเศรษฐกิจการเกษตรซึ่งพึ่งพาฝ้ายมากเกินไป และราคาฝ้ายตกต่ำ นำไปสู่ภาระหนี้ประจำวันของพวกเสรีชนส่วนใหญ่ และความยากจนของชาวไร่จำนวนมากที่กินเวลาหลายทศวรรษ[92]

เหล่าเจ้าหน้าที่ภาคเหนือได้รายงานสภาพความเป็นอยู่ของเสรีชนทางใต้ การประเมินเชิงรุนแรงแนวหนึ่งมาจากคาร์ล ชูร์ซ ซึ่งรายงานสถานการณ์ของรัฐต่างๆ ตลอดแนวอ่าวเม็กซิโก รายงานของเขาบันทึกคดีวิสามัญฆาตกรรมหลายสิบคดี และอ้างว่ามีชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันอีกหลายร้อย หรือหลายพันคนถูกสังหาร[93]

จำนวนการฆาตกรรมและการทำร้ายร่างกายชาวนิโกรมีมาก เราสามารถประมาณการคร่าวๆ ว่าเกิดอะไรขึ้นในส่วนต่างๆ ของภาคใต้ ซึ่งไม่ได้มีการส่งทหารไปประจำการอย่างใกล้ชิด และไม่ได้รับรายงานประจำในสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งอยู่ในสายตาของเจ้าหน้าที่ทหารเรา จากประสบการณ์ส่วนตัวของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะกล่าวถึงเพียงว่า ในช่วงสองวันที่ข้าพเจ้าได้พำนักอยู่ที่แอตแลนตา มีนิโกรคนหนึ่งถูกแทงด้วยแผลฉกรรจ์ร้ายแรงบนท้องถนน และมีสามคนถูกวางยาพิษ มีหนึ่งในนั้นเสียชีวิต ขณะที่ข้าพเจ้าอยู่ที่มอนต์โกเมอรี มีนิโกรคนหนึ่งถูกปาดคอด้วยมีเจตนาฆ่าแน่ชัด และอีกคนถูกยิง แต่ทั้งสองก็รอดมาได้ เอกสารหลายฉบับที่แนบมากับรายงานนี้ระบุถึงจำนวนคดีที่เกิดขึ้นในบางสถานที่ ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง เป็นเรื่องน่าเศร้าที่การกระทำเหล่านั้นไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในกลุ่มคนที่เป็นเพียงสามัญชนเท่านั้น

รายงานดังกล่าวรวมถึงคำให้การของทหารและเจ้าหน้าที่ของสำนักเสรีชนด้วย ในเมืองเซลมา, รัฐแอละแบมา พันตรี เจ. พี. ฮุสตัน ตั้งข้อสังเกตว่า คนผิวขาวที่สังหารชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน 12 คน ในเขตของเขาไม่เคยถูกไต่สวนคดี การสังหารคนอีกจำนวนมากไม่เคยเป็นคดีทางการ ร้อยเอกปัวลอนได้บรรยายถึงกลุ่มลาดตระเวนผิวขาวในทางตะวันตกเฉียงใต้ของรัฐแอละแบมา[93]

ใครที่ขึ้นเรือบางลำ หลังจากเรือออกไปแล้ว พวกเขาได้แขวนคอ ยิง หรือ ถ่วงน้ำเหยื่อที่พวกเขาจะพบได้ และผู้ที่พบตามถนน หรือ ลงมาตามแม่น้ำ แทบจะถูกฆ่าอย่างสม่ำเสมอ เสรีชนที่สับสนและหวาดกลัวไม่รู้ว่าจะต้องทำเช่นไร เมื่อหนีไปก็ตาย การอดทนอยู่คือการต้องทนรับภาระที่เพิ่มขึ้น มีการกำหนดงานโดยหัวหน้างานที่โหดร้าย ที่สนใจแต่แรงงานของพวกเขาเท่านั้น อันถูกทำให้บิดเบี้ยวด้วยวิธีการที่ไร้ความเป็นมนุษย์เท่าที่จะคิดได้ ด้วยเหตุนี้ การทุบตีและการฆาตกรรมจึงเป็นการข่มขู่ผู้ที่หวาดกลัวความตายอันน่าสะพรึงกลัวเพียงลำพัง ในขณะเดียวกันพวกลาดตระเวน สุนัขนิโกรและสายลับที่ปลอมเป็นพวกอเมริกัน คอยเฝ้าควบคุมผู้เคราะห์ร้ายเหล่านี้อยู่เสมอ

ความรุนแรงส่วนใหญ่ที่กระทำต่อชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันนั้นเกิดมาจากอคติทางเพศที่มีต่อชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน ผู้หญิงผิวดำอยู่ในสถานะที่เปราะบางเป็นพิเศษ การตัดสินลงโทษผู้ชายผิวขาวที่ล่วงละเมิดทางเพศผู้หญิงผิวดำในช่วงสมัยนี้เป็นเรื่องที่ยากมาก[23] ระบบตุลาการของภาคใต้ถูกปรับปรุงใหม่ทั้งหมดเพื่อให้ยึดตามหนึ่งวัตถุประสงค์หลักคือ การบังคับชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันให้ปฏิบัติตามประเพณีทางสังคมและความต้องการแรงงานของคนผิวขาว การพิจารณาคดีจึงกลายเป็นเรื่องท้อใจ และทนายความของจำเลยคดีอาญาผิวดำ ก็หาคนมาทำหน้าที่ได้ยาก เป้าหมายของศาลเคาน์ตีคือการพิจารณาคดีอย่างรวดเร็วและไม่ซับซ้อนเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่น คนผิวดำส่วนใหญ่ไม่สามารถจ่ายค่าปรับหรือประกันตัวได้ และ "บทลงโทษที่พบบ่อยที่สุดคือการทำงานหนัก 9 เดือนถึง 1 ปี ในเหมืองทาส หรือค่ายตัดไม้"[94] ระบบตุลาการของภาคใต้นั้นเข้มงวดในการกำหนดค่าธรรมเนียม และเรียกร้องเงินสนับสนุน ไม่ใช่เพื่อประกันคุ้มครองสาธารณะ ผู้หญิงผิวดำถูกมองว่ามีความโลภทางเพศ และด้วยสังคมมองว่าพวกเธอมีคุณธรรมจริยธรรมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น สังคมจึงมองว่าพวกเธอนั้นไม่อาจเรียกว่า ถูกข่มขืนได้[95] รายงานฉบับหนึ่งระบุว่า สตรีเสรีชนสองคนได้แก่ ฟรานเซส ทอมป์สัน และลูซี สมิท ถูกล่วงละเมิดทางเพศอย่างรุนแรงในการจลาจลเมมฟิส ค.ศ. 1866[96] อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงผิวดำก็มีความเสี่ยงแม้ในช่วงเวลาปกติ การล่วงละเมิดทางเพศผู้หญิงชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะการถูกกระทำจากนายจ้างคนผิวขาวของพวกเธอ ซึ่งชายผิวดำพยายามจะลดการติตต่อระหว่างชาวผิวขาวกับหญิงผิวดำ โดยให้ผู้หญิงในครอบครัวหลีกเลี่ยงการทำงานที่ต้องใกล้ชิดคนผิวขาว[97] ชายผิวดำถูกตีความจากสังคมว่ามีความก้าวร้าวทางเพศอย่างมาก และเมื่อมีการคาดเดาไปว่าพวกเขาไปข่มขู่ผู้หญิงผิวขาว ก็มักถูกใช้เป็นข้ออ้างในการรุมทำร้าย การลงประชาทัณฑ์ และถูกจับตอนอัณฑะ[23]

การตอบสนองของพวกสายกลาง[แก้]

วุฒิสมาชิก
ชาลส์ ซัมเนอร์ จากรัฐแมสซาชูเซตส์
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
แธดเดียส สตีเวนส์ จากรัฐเพนซิลเวเนีย

ในช่วงฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. 1865 จากการตอบสนองประมวลกฎหมายผิวดำ และมีสัญญาณที่น่ากังวลว่าภาคใต้ยังมีความดื้อรั้น พวกรีพับลิกันหัวรุนแรงจึงขัดขวางการกลับเข้ามาในรัฐสภาอีกครั้งของรัฐกบฏเหล่านี้ ถึงกระนั้น ประธานาธิบดีจอห์นสันพอใจที่จะอนุญาตให้รัฐอดีตสมาพันธรัฐกลับเข้าสู่สหภาพได้ ตราบเท่าที่รัฐบาลประจำรัฐเหล่านั้นรับรองการแก้ไขบทบัญญัติรัฐธรรมนูญครั้งที่ 13 เพื่อให้มีการเลิกทาส ในวันที่ 6 ธันวาคม ค.ศ. 1865 การแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวได้รับการให้สัตยาบัน และจอห์นสันได้พิจารณาว่ากระบวนการบูรณะได้สิ้นสุดแล้ว จอห์นสันกำลังดำเนินตามแนวทางการบูรณะแบบสายกลางของอดีตประธานาธิบดีลินคอล์นเพื่อให้รัฐเหล่านั้นสามารถกลับเข้ามารวมสหภาพใหม่โดยเร็ว[98]

แต่รัฐสภานั้นถูกควบคุมโดยพวกหัวรุนแรง มีแผนการอื่น ฝ่ายหัวรุนแรงนำโดยชาลส์ ซัมเนอร์จากวุฒิสภา และแธดเดียส สตีเวนส์จากสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 4 ธันวาคม ค.ศ. 1865 รัฐสภาได้ปฏิเสธแนวทางบูรณะสายกลางของประธานาธิบดีจอห์นสัน และจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมสหรัฐว่าด้วยการบูรณะที่มีสมาชิก 15 คน เพื่อจัดทำข้อกำหนดในการฟื้นฟูรัฐทางใต้กลับสู่สหภาพ[98]

ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1866 รัฐสภาต่ออายุนโยบายสำนักเสรีชน แต่จอห์นสันได้คัดค้านร่างรัฐบัญญัติสำนักเสรีชนในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1866 แม้ว่าจอห์นสันจะเห็นอกเห็นใจในชะตากรรมของพวกเสรีชน แต่เขาก็ไม่ให้รัฐบาลกลางเข้าไปช่วยเหลือ ความพยายามที่จะยับยั้งล้มเหลวในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1866 แต่การยับยั้งในครั้งนี้ทำให้ฝ่ายหัวรุนแรงในรัฐสภาต้องตกใจ เพื่อตอบสนองต่อสิ่งนี้ ทั้งวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรไม่มีมติ ได้มีมติร่วมกันไม่ให้วุฒิสมาชิกหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ใด้รับการอนุญาตให้เข้าในสภา จนกว่าจะมีการตัดสินว่า สมัยการบูรณะควรสิ้นสุดเมื่อใด[98]

การคัดค้านของจอห์นสัน[แก้]

การอภิปรายเรื่องสมัยการบูรณะและสำนักเสรีชนได้เกิดขึ้นทั่วประเทศ ภาพโปสเตอร์การเลือกตั้งเพนซิลเวเนียในปี 1866 นี้ กล่าวหาว่า สำนักเสรีชนเก็บพวกนิโกรไว้อย่างเกียจคร้าน โดยค่าใช้จ่ายมาจากผู้เสียภาษีคนผิวขาวผู้ขยันขันแข็ง มีการ์ตูนล้อเลียนเสียดสีคนผิวดำด้วย[99]

แม้ว่าพวกสายกลางในรัฐสภาจะเรียกร้องอย่างแข่งขันให้ลงนามในร่างกฎหมายสิทธิพลเมือง แต่จอห์นสันได้ออกเสียงคัดค้านอย่างเด็ดขาด เมื่อวันที่ 27 มีนาคม ค.ศ. 1866 เสียงคัดค้านของเขาต่อมาตรการนี้เนื่องจากเป็นมาตรการให้สัญชาติแก่พวกเสรีชน ซึ่งอยู่ในช่วงที่ 11 รัฐจาก 36 รัฐ ยังไม่ได้กลับมาเป็นผู้แทน และพยายามแก้ไขโดยกฎหมายของรัฐบาลกลางในเรื่อง "ความเท่าเทียมกันอย่างสมบูรณ์ระหว่างคนผิวขาวและคนผิวดำในทุกรัฐของสหภาพ" จอห์นสันกล่าวว่าเป็นการก้าวล่วงอำนาจของรัฐบาลกลางในเรื่องสิทธิของรัฐ ซึ่งไม่มีการรับประกันในรัฐธรรมนูญ และขัดกับธรรมเนียมปฏิบัติแต่ก่อน มันเป็นการ "ก้าวไปสู่การรวมศูนย์อำนาจและการกระจุกตัวของอำนาจนิติบัญญัติทั้งมวลในรัฐบาลแห่งชาติ"[100]

พรรคเดโมแครตประกาศตนเป็นพรรคของคนผิวขาว ทั้งทางเหนือและใต้ สนับสนุนจอห์นสัน[33] อย่างไรก็ตาม พรรครีพับลิกันในรัฐสภาได้เอาชนะการคัดค้านของประธานาธิบดี (คะแนนเสียงในวุฒิสภา 33-15 และรัฐสภา 122-41) รัฐสภายังได้ผ่านร่างกฎหมายสำนักเสรีชน จอห์นสันคัดค้านอย่างรวดเร็วแบบเดียวกับที่เขาทำกับกฎหมายครั้งก่อน เป็นอีกครั้งที่รัฐสภาได้รับการสนับสนุนเพียงพอและเอาชนะการคัดค้านของจอห์นสัน[31]

ข้อเสนอของพวกสายกลางครั้งสุดท้ายคือ การแก้ไขบทบัญญัติรัฐธรรมนูญครั้งที่ 14 ซึ่งผู้ร่างหลักคือ จอห์น บิงแฮม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากรัฐโอไฮโอ ร่างได้ออกแบบมาเพื่อบทบัญญัติที่สำคัญอย่าง การบรรจุรัฐบัญญัติสิทธิพลเมืองไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่สิ่งที่ขยายไกลกว่านั้นคือ เป็นการขยายสิทธิความเป็นพลเมืองให้กับทุกคนที่เกิดในสหรัฐอเมริกา (ยกเว้นกลุ่มชนพื้นเมืองอเมริกันในสหรัฐที่อยู่ในเขตสงวน) การลงโทษรัฐไม่ได้ลงคะแนนให้แก่เสรีชน และที่สำคัญที่สุดคือ สร้างสิทธิพลเมืองใหม่ของรัฐบาลกลางที่อาจได้รับความคุ้มครองจากศาลของรัฐบาลกลาง มันเป็นการรับประกันว่าจะต้องจ่ายหนี้สงครามของรัฐบาลกลาง (และต้องสัญญาว่าจะไม่จ่ายหนี้แก่ฝ่ายสมาพันธรัฐ) จอห์นสันใช้อิทธิพลของเขาสะกัดกั้นการแก้ไขกฎหมายในรัฐต่างๆ เนื่องจากรัฐจำนวนจากสามในสี่ต้องให้สัตยาบัน (การแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถให้สัตยาบันภายหลังได้) พวกสายกลางล้มเหลวในการประนีประนอมกับประธานาธิบดีจอห์นสัน และการต่อสู้ทางการเมืองเกิดขึ้นระหว่างฝ่ายรีพับลิกัน (ทั้งหัวรุนแรงและสายกลาง) อยู่ฝ่ายหนึ่ง และอีกฝ่ายหนึ่งคือ จอห์นสันกับพันธมิตรของเขาในพรรคเดโมแครตจากทั้งฝ่ายเหนือและใต้ และการต่อสู้ระหว่างกลุ่มต่างๆ (ชื่อแตกต่างกัน) ในแต่ละรัฐทางใต้

สมัยการบูรณะของรัฐสภา[แก้]

ภาพการ์ตูนของพรรครีพับลิกันในค.ศ. 1868 ระบุผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคเดโมแครต คือ ซีมัวร์และแบลร์ (ขวา) ที่มีความรุนแรงของกลุ่มคูคลักซ์แคลน กับทหารฝ่ายสมาพันธรัฐ (ซ้าย)

ด้วยความกังวลว่าประธานาธิบดีจอห์นสันจะมองรัฐสภาเป็น "องค์กรที่ผิดกฎหมาย" และต้องการโค่นล้มรัฐบาล พรรครีพับลิกันในรัฐสภาเข้าควบคุมนโยบายการบูรณะหลังการเลือกตั้งในค.ศ. 1866[101] จอห์นสันเพิกเฉยต่อมติสภาด้านนโยบาย และเขาสนับสนุนรัฐทางใต้อย่างเปิดเผยให้ปฏิเสธการให้สัตยาบันในการแก้ไขบทบัญญัติรัฐธรรมนูญครั้งที่ 14 (รัฐทุกรัฐอดีตฝ่ายสมาพันธรัฐทั้งหมดปฏิเสธที่จะให้สัตยาบัน เว้นแต่รัฐเทนเนสซี เช่นเดียวกับรัฐทางชายแดน เช่น เดลาแวร์, แมรีแลนด์ และเคนทักกี) ฝ่ายพรรครีพับลิกันหัวรุนแรงในรัฐสภา นำโดยสตีเวนส์และซัมเนอร์ เปิดทางชายเสรีชนเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง แม้ว่าโดยทั่วไปพวกเขาจะยังถูกควบคุม แต่พวกเขายังต้องประนีประนอมกับฝ่ายรีพับลิกันสายกลาง (พรรคเดโมแครตในรัฐสภาแทบไม่มีอำนาจ) นักประวัติศาสตร์กล่าวถึงช่วงเวลานี้ว่า "สมัยการบูรณะของพวกฝ่ายรุนแรง" หรือ "สมัยการบูรณะของรัฐสภา"[102] ผู้แทนธุรกิจในภาคเหนือมักจะไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของฝ่ายหัวรุนแรง จากการวิเคราะห์ของหนังสือพิมพ์ธุรกิจรายใหญ่ 34 ฉบับ พบว่า ใน 12 ฉบับที่กล่าวถึงการเมือง มีเพียงฉบับเดียวคือ ดิไอเอิร์นเอจ (The Iron Age) ที่สนับสนุนลัทธิหัวรุนแรง อีก 11 ฉบับคัดค้านนโยบายการบูรณะที่ "รุนแรง" และสนับสนุนให้รัฐทางใต้กลับคืนสู่สภาผู้แทนราษฎรโดยเร็ว ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายที่ออกมาเพื่อปกป้องพวกเสรีชน และแสดงความเสียใจต่อกระบวนการการฟ้องให้ขับแอนดรูว์ จอห์นสันออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี[103]

ผู้นำฝ่ายคนขาวทางใต้ ซึ่งกุมอำนาจในยุคหลังเบลลัม อันเป็นสมัยก่อนที่จะให้สิทธิเลือกตั้งแก่พวกเสรีชน ประกาศยกเลิกระบบทาสและการแยกตัวออก แต่ไม่ยกเลิกแนวคิดอำนาจสูงสุดของคนผิวขาว ประชาชนผู้ที่เคยครองอำนาจก่อนหน้านี้โกรธจัดในค.ศ. 1867 เมื่อมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ ผู้แทนราษฎรคนใหม่ของพรรครีพับลิกันได้รับการเลือกตั้งจากฝ่ายสหภาพผิวขาว พวกเสรีชน และชาวเหนือที่มาตั้งรกรากอยู่ในภาคใต้ ผู้นำบางคนในภาคใต้ก็พยายามปรับตัวรับสภาพใหม่

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ[แก้]

ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครต
ฮอราชิโอ ซีมัวร์ อดีตผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก
ผู้สมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครต
ฟรานซิส เพรสตัน แบลร์ จูเนียร์ อดีตสมาชิกผู้แทนราษฎรรัฐมิสซูรี

การแก้ไขรัฐธรรมนูญสามฉบับ ที่ถูกเรียกว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญสมัยการบูรณะ ได้ถูกนำมาใช้ การแก้ไขบทบัญญัติรัฐธรรมนูญครั้งที่ 13 เป็นการเลิกทาสได้รับการรับรองใน ค.ศ. 1865 การแก้ไขบทบัญญัติรัฐธรรมนูญครั้งที่ 14 ถูกเสนอในค.ศ. 1866 และได้รับการรับรองในค.ศ. 1867 เป็นการรับประกันการเป็นพลเมืองสหรัฐแก่ทุกคนที่เกิด หรือแปลงสัญชาติในสหรัฐอเมริกาและให้สิทธิพลเมืองของรัฐบาลกลางแก่พวกเขา การแก้ไขบทบัญญัติรัฐธรรมนูญครั้งที่ 15 ได้รับการเสนอต้นเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1869 และผ่านการรับรองต้นเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1870 ได้กำหนดสิทธิในการออกเสียงลงคะแนนที่ไม่ยกเว้น "เชื้อชาติ, สีผิว หรือ สถานภาพความเป็นทาสในอดีต" ในส่วนที่ยังไม่ได้รับผลกระทบคือ รัฐยังคงกำหนดการลงทะเบียนผู้มีสิทธิเลือกตั้งและกฎหมายการเลือกตั้งของรัฐ การแก้ไขรัฐธรรมนูญพุ่งเป้าไปที่การยุติความเป็นทาสและให้สิทธิการเป็นพลเมืองที่สมบูรณ์แก่เสรีชน สมาชิกรัฐสภาทางเหนือเชื่อว่า การให้คนผิวดำมีสิทธิเลือกตั้งจะเป็นวิธีการที่รวดเร็วที่สุดในการศึกษาและการอบรมทางด้านการเมืองแก่พวกเขา

คนผิวดำหลายคนมีส่วนร่วมในการลงคะแนนเสียงและมีบทบาททางการเมืองอย่างแข็งขัน และยังคงสร้างโบสถ์ตลอดจนองค์กรชุมชนอย่างรวดเร็ว หลังจากการบูรณะ พรรคเดโมแครตผิวขาวและกลุ่มกบฏใช้กำลังเพื่อฟื้นคืนอำนาจในสภานิติบัญญัติของรัฐ และผ่านกฎหมายที่ตัดสิทธิ์คนผิวดำส่วนใหญ่และคนผิวขาวที่ยากจนในพื้นที่ภาคใต้อย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่ค.ศ. 1890 ถึง 1910 รัฐทางใต้ได้ผ่านรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ทำการเพิกถอนสิทธิ์ของคนผิวดำอย่างสมบูรณ์ คำตัดสินของศาลสูงสุดสหรัฐเกี่ยวกับบทบัญญัติเหล่านี้สนับสนุนรัฐธรรมนูญและกฎหมายใหม่ของรัฐทางใต้จำนวนมาก และคนผิวดำส่วนใหญ่ถูกกีดกันไม่ให้ออกคะแนนเสียงในภาคใต้จนถึงทศวรรษที่ 1960 การบังคับใช้การแก้ไขบทบัญญัติรัฐธรรมนูญครั้งที่ 14 และ 15 ของรัฐบาลกลางไม่ได้เกิดขึ้นอีกเลยจนกว่าจะมีการออกกฎหมายในช่วงกลางทศวรรษที่ 1960 อันเป็นผลมาจากขบวนการเคลื่อนไหวสิทธิพลเมือง

ระเบียบข้อกฎหมาย[แก้]

รัฐบัญญัติการบูรณะที่ผ่านสภาแต่เดิม ขั้นต้นเรียกว่า "การกระทำเพื่อให้รัฐบาลรัฐฝ่ายกบฏมีประสิทธิภาพมากขึ้น"[104] กฎหมายดังกล่าวได้มีการออกเป็นรัฐบัญญัติในการประชุมรัฐสภาครั้งที่ 39 วันที่ 2 มีนาคม ค.ศ. 1867 ซึ่งถูกคัดค้านโดยประธานาธิบดีจอห์นสัน และการคัดค้านนั้นถูกเอาชนะโดยเสียงข้างมากจำนวนสองในสามของทั้งในวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร ในวันเดียวกัน รัฐสภายังไดชี้แจงถึงขอบเขตของเฮเบียซ คอพัซ (Habeas corpus;หมายศาลที่เรียกตัวบุคคลให้มาปรากฏต่อหน้าผู้พิพากษาหรือศาล) ของศาลรัฐบาลกลาง เพื่ออนุญาตให้ศาลรัฐบาลกลางเพิกถอนคำพิพากษา หรือ การตัดสินคดีของรัฐที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ในค.ศ. 1867[105]

การบูรณะโดยกองทัพ[แก้]

แผนที่เขตการบูรณะโดยกองทัพทั้ง 5 แห่ง

ด้วยการควบคุมของฝ่ายหัวรุนแรง ทำให้รัฐสภาผ่านรัฐบัญญัติการบูรณะในวันที่ 19 กรกฎาคม ค.ศ. 1867 รัฐบัญญัติการบูรณะฉบับแรกร่างโดยจอร์จ เฮนรี วิลเลียมส์ วุฒิสมาชิกจากรัฐโอเรกอน ซึ่งเป็นฝ่ายรีพับลิกันหัวรุนแรง ได้กำหนดให้รัฐอดีตสมาพันธรัฐทั้ง 10 รัฐ ยกเว้นแต่เพียงรัฐเทนเนสซี โดยให้อยู่ภายใต้การควบคุมโดยกองทัพ กำหนดแบ่งเขตการทหารเป็น 5 เขต ได้แก่[106]

ทหารสหรัฐจำนวน 20,000 นายถูกลงไปประจำการตามกฎหมายนี้

รัฐพรมแดนทั้ง 5 ซึ่งไม่ได้เข้าร่วมฝ่ายสมาพันธรัฐ ไม่ได้อยู่ในข่ายการบูรณะโดยกองทัพ รัฐเวสต์เวอร์จิเนียถูกแยกตัวออกมาจากรัฐเวอร์จิเนียในค.ศ. 1863 และรัฐเทนเนสซี ซึ่งได้รับการยอมรับเข้าร่วมสหรัฐอีกครั้งในค.ศ. 1866 ไม่ถูกรวมเข้ากับเขตทหาร อย่างไรก็ตาม กองทัพของรัฐบาลกลางยังคงประจำอยู่ที่เวสต์เวอร์จิเนียจนถึงค.ศ. 1868 เพื่อควบคุมความไม่สงบในหลายพื้นที่ของรัฐ[107] กองทัพรัฐบาลกลางถอนกำลังออกจากเคนทักกีและมิสซูรี ในค.ศ. 1866[108]

รัฐบาลของรัฐทางใต้ทั้ง 10 แห่ง ได้รับการจัดตั้งขึ้นใหม่ภายใต้การควบคุมโดยตรงของกองทัพสหรัฐ จุดประสงค์หลักประการหนึ่งคือ เพื่อสร้างการรับรู้และปกป้องสิทธิของชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันในการออกเสียงลงคะแนน[109] มีการสู้รบเพียงเล็กน้อยจนถึงไม่มีเลย แต่เป็นสภาวะของกฎอัยการศึกในรัฐที่กองทัพเข้ามาดูแลรัฐบาลท้องถิ่นอย่างใกล้ชิด ดูแลการจัดเลือกตั้ง และพยายามปกป้องผู้ดำรงตำแหน่งและพวกเสรีชนจากความรุนแรงต่างๆ[110] คนผิวดำได้รับการลงทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง อดีตผู้นำสมาพันธรัฐถูกตัดสิทธิในช่วงเวลาหนึ่ง[111] ไม่มีรัฐใดที่มีผู้แทนเต็มทั้งหมด ตามที่แรนดอล์ฟ แคมป์เบล อธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นในรัฐเทกซัส ว่า[112][113]

ขั้นตอนสำคัญประการแรก... คือการลงทะเบียนผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามแนวทางที่กำหนดโดยรัฐสภา และตีความโดยนายพลเชอริแดนและชาลส์ กริฟฟิน รัฐบัญญัติการบูรณะกำหนดให้ลงทะเบียนชายที่บรรลุนิติภาวะทุกคน ทั้งคนผิวขาวและคนผิวดำ ยกเว้นผู้ที่เคยสาบานว่าจะรักษารัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา แต่กลับก่อกบฏ... เชอริแดนตีความข้อจำกัดเหล่านี้อย่างเคร่งครัด โดยกำหนดให้ห้ามจดทะเบียนไม่เพียงแต่เจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นในช่วงก่อน ค.ศ. 1861 ทีให้การสนับสนุนฝ่ายสมาพันธรัฐ แต่ยังรวมถึงผู้ที่ดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่ในทุกเมือง และแม้แต่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเพียงเล็กน้อย อย่างเจ้าพนักงานรักษาสุสาน ก็ถูกสั่งห้ามลงทะเบียนด้วย ในเดือนพฤษภาคม กริฟฟินแต่งตั้ง...คณะกรรมการนายทะเบียน 3 คน สำหรับแต่ละเขต โดยให้ตัดสินใจตามคำแนะนำของพวกสกาลาแวกที่พวกเขารู้จัก และตัวแทนของสำนักเสรีชนในพื้นที่ ในทุกๆ เทศมณฑลซึ่งสามารถปฏิบัติงานได้ เสรีชนหนึ่งคนสามารถเป็นคณะกรรมการนายทะเบียน 1 ใน 3... การลงทะเบียนครั้งสุดท้ายมีคนผิวขาวประมาณ 59,633 คน และคนผิวดำ 49,479 คน เป็นไปไม่ได้ที่จะสามารถระบุว่า มีคนผิวขาวจำนวนกี่คนที่ถูกปฏิเสธการลงทะเบียน หรือปฏิเสธที่จะลงทะเบียนเอง (ประมาณการแตกต่างกันไปจาก 7,500 ถึง 12,000 คน) แต่คนผิวดำซึ่งมีเพียงจำนวนร้อยละ 30 ของประชากรในรัฐนั้น กลับมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 45 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมดอย่างมีนัยสำคัญ

กติกาสัญญารัฐธรรมนูญของรัฐ ค.ศ. 1867 - 1869[แก้]

"นี่คือรัฐบาลของคนผิวขาว" ภาพการ์ตูนล้อเลียนของโทมัส แนสท์เกี่ยวกับกองกำลังที่ต่อต้านแกรนต์และการบูรณะในการเลือกตั้ง ค.ศ. 1868 มีผู้เหยียบย่ำร่างนายทหารผ่านศึกผิวดำฝ่ายสหภาพที่กำลังเอื้อมมือหยิบกล่องเลือกตั้ง ได้แก่ ชาวนิวยอร์กเชื้อสายไอริช นาธาน เบดฟอร์ด ฟอร์เรสต์ สมาชิกกลุ่มแคลน และออกุสต์ เบลมงต์ ประธานพรรคเดโมแครตผู้ร่ำรวย โดยมีโรงเรียนของเสรีชนกำลังลุกเป็นไฟอยู่เบื้องหลัง จากนิตยสารฮาร์เปอส์วีคลีย์ 5 กันยายน ค.ศ. 1868

รัฐทางตอนใต้ 11 รัฐจัดการประชุมรัฐธรรมนูญ โดยให้คนผิวดำมีสิทธิลงคะแนนเสียง[114] ที่ซึ่งฝักฝ่ายแบ่งออกเป็นฝ่ายหัวรุนแรง "พวกอนุรักษ์นิยม" และคนกลางในหมู่ผู้แทน [115] กลุ่มหัวรุนแรงมีการรวมตัวกันดังนี้ 40% เป็นพวกรีพับลิกันผิวขาวตอนใต้ 25% เป็นคนผิวขาว และ 34% เป็นคนผิวดำ[116] นอกเหนือจากขยายสิทธิในการลงคะแนนเสียงแล้ว พวกเขายังกดดันให้มีบทบัญญัติที่ออกแบบมาเพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความช่วยเหลือทางการเงินเพื่อสร้างระบบรางรถไฟที่พังทลายกลับขึ้นมาใหม่[117][118] กติกาสัญญาดังกล่าวมีการจัดตั้งระบบโรงเรียนรัฐบาลที่ไม่เสียเล่าเรียนโดยได้รับทุนจากภาษีรายได้ แต่ก็ไม่ต้องการให้มีการเรียนรวมผสานเชื้อชาติกัน[119]

จนกระทั่ง ค.ศ. 1872 อดีตผู้ดำรงตำแหน่งฝ่ายสมาพันธรัฐหรือในภาคใต้ก่อนสงครามส่วนใหญ่ ถูกตัดสิทธิ์จากการลงคะแนนเสียงหรือการดำรงตำแหน่งต่างๆ แต่ผู้นำฝ่ายสมาพันธรัฐระดับสูงทั้งหมด 500 คนได้รับการอภัยโทษตามรัฐบัญญัตินิรโทษกรรมค.ศ. 1872[120] "การเพิกถอนสิทธิการเป็นพลเมือง" เป็นนโยบายที่ตัดสิทธิ์อดีตฝ่ายสมาพันธรัฐได้มากที่สุด ตัวอย่างเช่น ในค.ศ. 1865 รัฐเทนเนสซีได้ยกเลิกสิทธิของอดีตฝ่ายสมาพันธรัฐ 80,000 ราย[121] อย่างไรก็ตาม การเพิกถอนสิทธิการเป็นพลเมืองถูกปฏิเสธโดยคนผิวดำซึ่งยึดมั่นในหลักการสิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั่วไป[122][123] ปัญหานี้จะเกิดขึ้นซ้ำๆ ในหลายรัฐ โดยเฉพาะในเท็กซัสและเวอร์จิเนีย ในรัฐเวอร์จิเนีย มีความพยายามที่จะตัดสิทธิ์ในการเข้ารับราชการของทุกคนที่เคยปฏิบัติหน้าที่ในกองทัพสมาพันธรัฐแม้ว่าจะเป็นสิทธิส่วนตัว และแม้แต่ชาวนาพลเรือนที่เคยขายอาหารแก่กองทัพสมาพันธรัฐด้วย [124][125] การตัดสิทธิ์คนผิวขาวทางภาคใต้ยังคงถูกต่อต้านจากฝ่ายพรรครีพับลิกันสายกลางทางภาคเหนือ ซึ่งรู้สึกว่าการยุติการเพิกถอนสิทธิการเป็นพลเมืองจะทำให้ชาวใต้เข้าใกล้การปกครองในรูปแบบสาธารณรัฐมากขึ้นตามหลักการความยินยอมพร้อมใจของผู้ถูกปกครองตามรัฐธรรมนูญและคำประกาศอิสรภาพ มาตราการที่รัดกุมเพื่อขัดขวางการกลับไปหาสมาพันธรัฐที่สูญสิ้นแล้วนั้นดูเหมือนจะไม่เข้าท่ามากขึ้น และบทบาทของกองทัพสหรัฐ ตลอดจนการควบคุมการเมืองในรัฐก็เป็นเรื่องที่ยากลำบาก มาร์ก ซัมเมอส์ นักประวัติศาสตร์ บรรยายว่า "ผู้เสียสิทธิ์ต้องถอยกลับไปสู่ข้อยืนยันที่ว่าการถูกสั่งห้ามไม่ให้ลงคะแนนเสียงนั้นเป็นบทลงโทษ และเป็นการลงโทษตลอดชีวิตครั้งนั้น...เดือนแล้วเดือนเล่า ลักษณะของความไม่เป็นสาธารณรัฐของระบอบนี้ดูจะเจิดจ้ามากยิ่งขึ้น"[126]

การเลือกตั้ง ค.ศ. 1868[แก้]

ป้ายหาเสียงในปีค.ศ. 1868 ของซีมัวร์และแบลร์จากพรรคเดโมแครต ระบุว่า "นี่คือประเทศของคนผิวขาว ให้คนผิวขาวปกครอง" ปัจจุบันเก็บรักษาที่หอสมุดประชาชนนิวยอร์ก

ในช่วงสงครามกลางเมือง หลายคนในฝ่ายเหนือเชื่อว่าการต่อสู้เพื่อสหภาพถือเป็นเกียรติยศอันสูงส่ง คือเพื่อธำรงไว้ซึ่งสหภาพและการเลิกทาส หลังสงครามสิ้นสุด โดยฝ่ายเหนือได้รับชัยชนะ ก็ได้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ฝ่ายหัวรุนแรงในเรื่องที่ประธานาธิบดีจอห์นสันอุปโลกน์อย่างรีบเร่งเองไปว่าความเป็นทาสและลัทธิชาตินิยมของสมาพันธรัฐได้ตายไปแล้ว และรัฐทางใต้สามารถกลับมามีอำนาจได้ ฝ่ายหัวรุนแรงจึงแสวงหาผู้สมัครรับเลือกตั้งซึ่งจะเป็นตัวแทนในมุมมองของพวกเขา[127]

ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1868 พรรครีพับลิกันมีมติเป็นเอกฉันท์เลือกยูลิสซีส เอส. แกรนต์ เป็นผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดี และสกายเลอร์ โคลแฟกซ์ เป็นผู้ชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดี[128] แกรนต์ได้รับการสนับสนุนจากพวกหัวรุนแรงหลังจากที่เขาอนุญาตให้เอ็ดวิน สแตนตัน สมาชิกฝ่ายหัวรุนแรงกลับมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอีกครั้ง ในช่วงต้น ค.ศ. 1862 ระหว่างสงครามกลางเมือง แกรนต์ได้แต่งตั้งจอห์น อีตัน อนุศาสนาจารย์กองทัพของรัฐโอไฮโอให้คุ้มครองและค่อยๆ รวบรวมทาสผู้ลี้ภัยในเทนเนสซีตะวันตกและทางตอนเหนือของมิสซิสซิปปีเข้ากับการทำสงครามของฝ่ายสหภาพ โดยจ่ายค่าแรงงานให้แก่พวกเขา นับเป็นจุดเริ่มต้นวิสัยทัศน์ของเขาที่มีต่อสำนักเสรีชน[129] แกรนต์ต่อต้านประธานาธิบดีจอห์นสันโดยสนับสนุนรัฐบัญญัติการบูรณะที่ถูกเสนอโดยฝ่ายหัวรุนแรง[130]

ในเมืองทางตอนเหนือ แกรนต์ต่อสู้กับผู้อพยพที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะในเมืองนิวยอร์กซิตี้ ที่มีกลุ่มชาวไอริชซึ่งต่อต้านการบูรณะ[131][132] พรรครีพับลิกันพยายามรณรงค์หาเสียงให้พวกไอริชถูกจับเข้าคุกด้วยเหตุการโจมตีฟีเนียนในแคนาดา และเรียกร้องให้ฝ่ายบริหารของจอห์นสันยอมรับสถานะสงครามที่ชอบตามกฎหมายระหว่างไอร์แลนด์และอังกฤษ ในค.ศ. 1867 แกรนตืเข้าไปแทรกแซงเป็นการส่วนตัวกับเดวิด เบลและไมเคิล สแกนแลนเพื่อขับเคลื่อนเอกสารของพวกเขา the Irish Republic ที่สนับสนุนความเท่าเทียมกันของคนผิวดำจากชิคาโกไปยังนิวยอร์ก[133][134]

พรรคเดโมแครตได้ละทิ้งจอห์นสัน และเสนอชื่อฮอราชิโอ ซีมัวร์ อดีตผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก เป็นประธานาธิบดี และฟรานซิส เพรสตัน แบลร์ จูเนียร์ อดีตสมาชิกผู้แทนราษฎรรัฐมิสซูรี เป็นรองประธานาธิบดี[135] พรรคเดโมแครตสนับสนุนให้มีการฟื้นฟูอดีตรัฐสัมพันธรัฐในทันทีและนิรโทษกรรมจาก "ความผิดทางการเมืองในอดีตทั้งหมด"[136]

แกรนต์ได้รับชัยชนะด้วยคะแนนนิยม 300,000 เสียงจากเสียงผู้มีสิทธิ์ลงคะแนน 5,716,082 เสียง โดยได้รับคะแนนจากคณะผู้เลือกตั้งอย่างถล่มทลาย 214 เสียง ต่อเสียงของซีมัวร์ที่ได้รับ 80 เสียง[137] ซีมัวร์ได้รับคะแนนเสียงข้างมากจากคนผิวขาว แต่แกรนต์ได้รับเสียงจากคนผิวดำถึง 500,000 เสียง[135] ชนะด้วยคะแนนนิยม 52.7%[138] เขาสูญเสียคะแนนจากลุยเซียนาและจอร์เจีย เนื่องจากคูคลักซ์แคลนใช้ความรุนแรงต่อผู้ใรสิทธิ์เลือกตั้งชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน[139] ด้วยอายุเพียง 46 ปี ทำให้แกรนต์กลายเป็นประธานาธิบดีอายุน้อยที่สุดที่ได้รับการเลือกตั้ง และเป็นประธานาธิบดีคนแรกหลังจากประเทศได้กำหนดให้การมีทาสเป็นสิ่งผิดกฎหมาย[140][137][141]

สมัยการบูรณะของประธานาธิบดีแกรนต์[แก้]

ยูลิสซีส เอส. แกรนต์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา คนที่ 18

คณะบริหารสิทธิพลเมืองที่มีประสิทธิภาพ[แก้]

ประธานาธิบดียูลิสซีส เอส. แกรนต์ ได้รับการพิจารณาว่าเป็นผู้บริหารสิทธิพลเมืองที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งกังวลต่อชะตากรรมของชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน[142][143] แกรนต์พบปะกับผู้นำคนผิวดำที่โดดเด่นเพื่อขอคำปรึกษาและลงนามในร่างกฎหมายเมื่อวันที่ 18 มีนาคม ค.ศ. 1869 ที่รับรองสิทธิเท่าเทียมกันทั้งคนผิวดำและคนผิวขาว สามารถทำหน้าที่เป็นคณะลูกขุน และดำรงตำแหน่งในวอชิงตัน ดี.ซี.[142][144] ในค.ศ. 1870 แกรนต์ลงนามในกฎหมายรัฐบัญญัติการแปลงสัญชาติ ค.ศ. 1870 ซึ่งเปิดโอกาสให้คนผิวดำที่เกิดต่างประเทศสามารถเป็นพลเมืองในสหรัฐอเมริกา[142] นอกจากนี้ผู้อำนวยการการไปรษณีย์สหรัฐของประธานาธิบดีแกรนต์ คือ จอห์น เครสเวลล์ ยังใช้อำนาจการอุปถัมภ์ของเขารวมกลุ่มไปรษณีย์และแต่งตั้งชายหญิงชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันจำนวนมากเป็นพนักงานไปรษณีย์ทั่วประเทศโดยมากเป็นประวัติการณ์ ในขณะเดียวกันได้ขยายเส้นทางไปรษณีย์จำนวนมาก[145][146] แกรนต์แต่งตั้งผู้นิยมการเลิกทาสจากพรรครีพับลิกัน และเป็นผู้สนับสนุนการศึกษาของคนผิวดำ คือ ฮิวจ์ เล็นน็อกซ์ บอนด์ เป็นผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์สหรัฐ[147]

การยอมรับรัฐที่ได้รับการบูรณะทั้งสี่[แก้]

การก่อตั้งกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ[แก้]

ในปีค.ศ. 1870 เพื่อบังคับใช้การบูรณะ รัฐสภาและแกรนต์ได้ก่อตั้งกระทรวงยุติธรรมสหรัฐซึ่งอนุมัติให้อามอส ที. เอเคอร์แมน อัยการสูงสุด และเบนจามิน บริสโทว์ ซึ่งเป็น รองอธิบดีกรมอัยการคนแรก ทำการดำเนินคดีกับกลุ่มแคลน[148][149] การดำรงตำแหน่งสองสมัยของแกรนต์ เขาสามารถเพิ่มขีดความสามารถทางกฎหมายของวอชิงตันในการเข้าแทรกแซงโดยตรงเพื่อปกป้องสิทธิพลเมือง แม้ว่ารัฐต่างๆ จะเพิกเฉยต่อปัญหานี้ก็ตาม[150]

รัฐบัญญัติการบังคับใช้[แก้]

การดำเนินคดีกลุ่มคูคลักซ์แคลน[แก้]

รัฐบัญญัตินิรโทษกรรม ค.ศ. 1872[แก้]

นอกเหนือจากการต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองของชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันแล้ว ประธานาธิบดีแกรนต์พยายามประนีประนอมกับชาวใต้ผิวขาวด้วยจิตวิญญาณของแอพโพมาท็อกซ์ (การต่อสู้ครั้งสุดท้ายของสงครามกลางเมือง)[151] เพื่อให้ชาวใต้สงบลง ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1872 ประธานาธิบดีแกรนต์ได้ลงนามในรัฐบัญญัตินิรโทษกรรม ซึ่งคืนสิทธิทางการเมืองให้แก่อดีตสมาชิกสมาพันธรัฐ ยกเว้นอดีตเจ้าหน้าที่สมาพันธรัฐไม่กี่ร้อยคน[152] แกรนต์ต้องการให้ผู้มีสิทธิลงคะแนนและมีเสรีภาพในการพูด แม้ว่าพวกเขาจะมี "มุมมองด้านสีผิวและชาติกำเนิด" ก็ตาม[151]

รัฐบัญญัติสิทธิพลเมือง ค.ศ. 1875[แก้]

การปราบการโกงเลือกตั้ง[แก้]

แรงสนับสนุนการบูรณะในหมู่ประชาชดลดลง[แก้]

ดูเพิ่ม[แก้]

หมายเหตุ[แก้]

  1. กระบวนการ "ฟื้นฟูบูรณะ" ที่ค่อนข้างคล้ายคลึงกันเกิดขึ้นในแถบรัฐชายขอบ เช่น รัฐมิสซูรี รัฐเคนทักกี และรัฐเวสต์เวอร์จิเนีย แต่รัฐเหล่านี้ไม่เคยออกจากสหภาพและไม่เคยถูกควบคุมโดยรัฐสภาโดยตรง
  2. คนผิวดำทั้งหมดถูกนับจำนวนใน ค.ศ. 1870 โดยไม่มองว่าพวกเขาเป็นพลเมืองหรือไม่ก็ตาม

เชิงอรรถ[แก้]

  1. "The First Vote" by William Waud Harpers Weekly Nov. 16, 1867
  2. Rodrigue, John C. (2001). Reconstruction in the Cane Fields: From Slavery to Free Labor in Louisiana's Sugar Parishes, 1862–1880. Louisiana State University Press. p. 168. ISBN 978-0-8071-5263-8.
  3. Lynn, Samara; Thorbecke, Catherine (September 27, 2020). "What America owes: How reparations would look and who would pay". ABC News. สืบค้นเมื่อ February 24, 2021.
  4. Guelzo, Allen C. (2018). Reconstruction A Concise History. Oxford University Press.p.11-12
  5. Foner, Eric (2019). The Second Founding How The Civil War And Reconstruction Remade The Constitution. New York: W.W. Norton & Company, Inc. p.198
  6. Parfait, Claire (2009). "Reconstruction Reconsidered: A Historiography of Reconstruction, from the Late Nineteenth Century to the 1960s". Études anglaises. 62 (4): 440–454. doi:10.3917/etan.624.0440 – via Cairn Info.
  7. Stazak, Luke; Masur, Kate; Williams, Heather Andrea; Downs, Gregory P.; Glymph, Thavolia; Hahn, Steven; Foner, Eric (January 2015). "Eric Foner's 'Reconstruction' at Twenty-five". Journal of the Gilded Age and Progressive Era. 14 (1): 13–27. doi:10.1017/S1537781414000516. JSTOR 43903055. S2CID 162391933 – โดยทาง JSTOR. Reconstruction is almost literally a landmark. It defines the territory.
  8. Foner (1988), p. xxv.
  9. 9.0 9.1 Harlow, Luke E. (March 2017). "The Future of Reconstruction Studies". Journal of the Civil War Era. 7 (1): 3–6. doi:10.1353/cwe.2017.0001. JSTOR 26070478. S2CID 164628161.
  10. 10.0 10.1 Brundage, Fitzhugh (March 2017). "Reconstruction in the South". Journal of the Civil War Era. 7 (1). doi:10.1353/cwe.2017.0002. S2CID 159753820.
  11. 11.0 11.1 11.2 Foner, Eric (Winter 2009). "If Lincoln hadn't died ..." American Heritage Magazine. 58 (6). สืบค้นเมื่อ July 26, 2010.
  12. Blight, David W. (2001). Race and Reunion: The Civil War in American Memory.
  13. Lemann, Nicholas. 2007. Redemption: The Last Battle of the Civil War. pp. 75–77.
  14. Alexander, Thomas B. (1961). "Persistent Whiggery in the Confederate South, 1860–1877". Journal of Southern History 27(3):305–29. JSTOR 2205211.
  15. Trelease, Allen W. 1976. "Republican Reconstruction in North Carolina: A Roll-call Analysis of the State House of Representatives, 1866–1870". Journal of Southern History 42(3):319–44. JSTOR 2207155.
  16. 16.0 16.1 Paskoff, Paul F. 2008. "Measures of War: A Quantitative Examination of the Civil War's Destructiveness in the Confederacy". Civil War History 54(1):35–62. doi:10.1353/cwh.2008.0007.
  17. 17.0 17.1 McPherson (1992), p. 38.
  18. Hesseltine, William B. 1936. A History of the South, 1607–1936. pp. 573–74.
  19. Ezell, John Samuel. 1963. The South Since 1865. pp. 27–28.
  20. Lash, Jeffrey N. 1993. "Civil-War Irony-Confederate Commanders And The Destruction Of Southern Railways". Prologue-Quarterly of the National Archives 25(1):35–47.
  21. Goldin, Claudia D., and Frank D. Lewis. 1975. "The economic cost of the American Civil War: Estimates and implications". The Journal of Economic History 35(2):299–326. JSTOR 2119410.
  22. 22.0 22.1 Jones (2010), p. 72.
  23. 23.0 23.1 23.2 Hunter (1997), p. 21–73
  24. Downs, Jim. 2012. Sick from Freedom: African-American Illness and Suffering during the Civil War and Reconstruction. New York: Oxford University Press.
  25. Ransom, Roger L. (February 1, 2010). "The Economics of the Civil War". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ December 13, 2011. สืบค้นเมื่อ March 7, 2010. ความเสียหายโดยตรงของสมาพันธรัฐขึ้นอยู่กับค่าเงินดอลลาร์ใน ค.ศ. 1860
  26. Donald, Baker & Holt (2001), ch. 26.
  27. "The Second Inaugural Address" – โดยทาง The Atlantic.
  28. 28.0 28.1 28.2 Harris (1997).
  29. Simpson (2009).
  30. McPherson (1992), p. 6.
  31. 31.0 31.1 Alexander, Leslie M.; Rucker, Walter C. (2010). Encyclopedia of African American History. ABC-CLIO. p. 699. ISBN 978-1-85109-774-6.
  32. Donald, Baker & Holt (2001).
  33. 33.0 33.1 33.2 Trefousse (1989).
  34. Donald, Baker & Holt (2001), ch. 26–27.
  35. Forrest Conklin, "'Wiping Out' Andy" Johnson's Moccasin Tracks: The Canvass of Northern States By Southern Radicals, 1866." Tennessee Historical Quarterly 52.2 (1993): 122–133.
  36. Valelly, Richard M. (2004). The Two Reconstructions: The Struggle for Black Enfranchisement. University of Chicago Press. p. 29. ISBN 978-0-226-84530-2.
  37. Trefouse, Hans (1975). The Radical Republicans.
  38. Donald, Baker & Holt (2001), ch. 28–29.
  39. Donald, Baker & Holt (2001), ch. 29.
  40. Donald, Baker & Holt (2001), ch. 30.
  41. Hyman, Harold (1959) To Try Men's Souls: Loyalty Tests in American History, p. 93.
  42. Foner (1988), pp. 273–276.
  43. Severance, Ben H., Tennessee's Radical Army: The State Guard and Its Role in Reconstruction, p. 59.
  44. Foner, p. 223.
  45. William Gienapp, Abraham Lincoln and Civil War America (2002), p. 155.
  46. Patton, p. 126.
  47. จอห์นสันถึงผู้ว่าการรัฐวิลเลียม เอล. ชาร์คีย์, สิงหาคม ค.ศ. 1865; อ้างใน Franklin (1961), p. 42
  48. David Donald (2009), Charles Sumner and the Coming of the Civil War, Naperville, IL: Sourcebooks, Inc. p. 201.
  49. Ayers, Edward L. (1992). The Promise of the New South: Life after Reconstruction., Oxford:Oxford University Press, p. 418.
  50. Anderson (1988), pp. 244–245.
  51. Randall & Donald, p. 581.
  52. Foner, Eric (1993). Freedom's lawmakers: a directory of Black officeholders during Reconstruction.
  53. Ellen DuBois, Feminism and suffrage: The emergence of an independent women's movement in America (1978).
  54. Glenn Feldman, The Disfranchisement Myth: Poor Whites and Suffrage Restriction in Alabama (2004), p. 136.
  55. 25 U.S.C. Sec. 72.
  56. "Act of Congress, R.S. Sec. 2080 derived from act July 5, 1862, ch. 135, Sec. 1, 12 Stat. 528". US House of Representatives. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 17, 2012. สืบค้นเมื่อ February 7, 2012 – โดยทาง USCode.House.gov.
  57. Perry, Dan W. (March 1936). "Oklahoma, A Foreordained Commonwealth". Chronicles of Oklahoma. Oklahoma Historical Society. 14 (1): 30. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ February 14, 2012. สืบค้นเมื่อ February 8, 2012.
  58. Cimbala, Miller, and Syrette (2002), An uncommon time: the Civil War and the northern home front, pp. 285, 305.
  59. Wagner, Gallagher & McPherson (2002), pp. 735–736.
  60. 60.0 60.1 60.2 60.3 Williams (2006), "Doing Less" and "Doing More", pp. 54–59.
  61. Guelzo (1999), pp. 290–291.
  62. Trefousse, Hans L. (1991), Historical Dictionary of Reconstruction, Greenwood, p. viiii.
  63. "Abraham Lincoln". BlueAndGrayTrail.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-07-19. สืบค้นเมื่อ July 21, 2010.
  64. 64.0 64.1 Guelzo (1999), pp. 333–335.
  65. 65.0 65.1 Catton (1963), Terrible Swift Sword, pp. 365–367, 461–468.
  66. Guelzo (1999), p. 390.
  67. Hall, Clifton R. (1916). Andrew Johnson: military governor of Tennessee. Princeton University Press. p. 19. สืบค้นเมื่อ July 24, 2010.
  68. Guelzo (2004), p. 1.
  69. Downs, Jim. 2012. Sick from Freedom: African-American Illness and Suffering during the Civil War and Reconstruction. New York: Oxford University Press.
  70. Stauffer (2008), p. 279.
  71. 71.0 71.1 Peterson (1995) Lincoln in American Memory, pp. 38–41.
  72. McCarthy (1901), Lincoln's plan of Reconstruction, p. 76.
  73. Stauffer (2008), p. 280.
  74. Harris, J. William (2006). The Making of the American South: A Short History 1500–1977. Malden, Massachusetts: Blackwell Publishing. p. 240.
  75. Edwards, Laura F. (1997). Gendered Strife and Confusion: The Political Culture of Reconstruction. Chicago: University of Illinois Press. p. 53. ISBN 978-0-252-02297-5.
  76. Hunter (1997), p. 34.
  77. Mikkelson, David (27 May 2011). "'Black Tax' Credit". Snopes.
  78. Zebley, Kathleen (October 8, 2017). "Freedmen's Bureau". Tennessee Encyclopedia. สืบค้นเมื่อ April 29, 2010.
  79. Belz (1998), Abraham Lincoln, Constitutionalism, and Equal Rights in the Civil War Era, pp. 138, 141, 145.
  80. Rawley (2003), Abraham Lincoln and a nation worth fighting for. p. 205.
  81. McFeely (2002), pp. 198–207.
  82. Smith, John David (2013). A Just and Lasting Peace: A Documentary History of Reconstruction. Penguin. p. 17. ISBN 9781101617465.
  83. McKitrick, Eric L. (1988). Andrew Johnson and Reconstruction. Oxford University Press. p. 172. ISBN 9780195057072.
  84. Billington, Ray Allen; Ridge, Martin (1981). American History After 1865. Rowman & Littlefield. p. 3. ISBN 9780822600275.
  85. Lincove, David A. (2000). Reconstruction in the United States: An Annotated Bibliography. Greenwood. p. 80. ISBN 9780313291999.
  86. McFeely (1974), p. 125.
  87. Barney (1987), p. 245.
  88. Donald, Baker & Holt (2001), ch. 31.
  89. Oberholtzer (1917), pp. 128–129.
  90. Donald (2001), p. 527.
  91. Hunter (1997), p. 67.
  92. Barney (1987), pp. 251, 284–286.
  93. 93.0 93.1 Schurz, Carl (December 1865). Report on the Condition of the South (Report). U.S. Senate Exec. Doc. No. 2, 39th Congress, 1st session. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 14, 2007.
  94. Blackmon, Douglas A. (2009). Slavery by Another Name: The Re-enslavement of Black Americans from the Civil War to World War II. New York: Anchor Books. p. 16.
  95. Edwards, Laura F. (1997). Gendered Strife and Confusion: The Political Culture of Reconstruction. Chicago: University of Illinois Press. p. 202. ISBN 978-0-252-02297-5.
  96. Farmer-Kaiser, Mary (2010). Freedwomen and the Freedmen's Bureau: Race, Gender, and Public Policy in the Age of Emancipation. New York: Fordham University Press. p. 160.
  97. Jones (2010), p. 70.
  98. 98.0 98.1 98.2 Schouler, James (1913). History of the United States of America under the Constitution, Vol. 7: The Reconstruction Period. Kraus Reprints. pp. 43–57. สืบค้นเมื่อ July 3, 2010.
  99. "The Freedman's Bureau, 1866". America's Reconstruction: People and Politics After the Civil War. Digital History Project, University of Houston. image 11 of 40. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ September 24, 2006. สืบค้นเมื่อ October 11, 2006.
  100. Rhodes (1920), v. 6: p. 68.
  101. Badeau (1887) Grant in Peace, pp. 46, 57.
  102. Teed, Paul E.; Ladd Teed, Melissa (2015). Reconstruction: A Reference Guide. ABC-CLIO. pp. 51, 174 ff. ISBN 978-1-61069-533-6.. Foner (1988) entitles his sixth chapter "The Making of Radical Reconstruction". Benedict argues the Radical Republicans were conservative on many other issues, in: Benedict, Michael Les (1974). "Preserving the Constitution: The Conservative Basis of Radical Reconstruction". Journal of American History. 61 (1): 65–90. doi:10.2307/1918254. JSTOR 1918254.
  103. Kolchin, Peter (1967). "The Business Press and Reconstruction, 1865–1868". Journal of Southern History. 33 (2): 183–196. doi:10.2307/2204965. JSTOR 2204965.
  104. "1875". A Century of Lawmaking for a New Nation: U.S. Congressional Documents and Debates, 1774. สืบค้นเมื่อ October 21, 2020.
  105. 28 ประมวลกฎหมายสหรัฐ § 2254.
  106. Foner (1988), ch. 6.
  107. Journal of the Senate of the State of West Virginia for the Sixth Session, Commencing January 21, 1868, John Frew, Wheeling, 1868, p. 10
  108. Phillips, Christopher, The Rivers Ran Backward: The Civil War and the Remaking of the American Middle Border, Oxford Univ. Press, 2016, p. 296, ISBN 9780199720170
  109. Chin, Gabriel Jackson (September 14, 2004). "Gabriel J. Chin, "The 'Voting Rights Act of 1867': The Constitutionality of Federal Regulation of Suffrage During Reconstruction", 82 North Carolina Law Review 1581 (2004)". Papers.ssrn.com. SSRN 589301. {{cite journal}}: Cite journal ต้องการ |journal= (help)
  110. Foner (1988), ch. 6–7.
  111. Foner (1988), pp. 274–275.
  112. Randolph Campbell (2003), Gone to Texas, p. 276.
  113. Rhodes (1920), v. 6: p. 199.
  114. Foner (1988), pp. 316–333.
  115. Hume, Richard L.; Gough, Jerry B. (2008). Blacks, Carpetbaggers, and Scalawags: the Constitutional Conventions of Radical Reconstruction. LSU Press.
  116. Jenkins, Jeffery A.; Heersink, Boris (June 4, 2016). Republican Party Politics and the American South: From Reconstruction to Redemption, 1865–1880 (PDF). 2016 Annual Meeting of the Southern Political Science Association, San Juan, Puerto Rico. p. 18. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-04-18.
  117. Foner (1988), pp. 323–325.
  118. Summers (2014a).
  119. Tyack, David; Lowe, Robert (1986). "The constitutional moment: Reconstruction and Black education in the South". American Journal of Education. 94 (2): 236–256. doi:10.1086/443844. JSTOR 1084950. S2CID 143849662.
  120. Cooper, William J. Jr.; Terrill, Thomas E. (2009). The American South: A History. p. 436. ISBN 978-0-7425-6450-3.
  121. Zuczek (2006), Vol. 2 p. 635.
  122. Foner (1988), p. 324.
  123. Perman (1985), pp. 36–37.
  124. Gillette (1982), Retreat from Reconstruction, 1869–1879, p. 99.
  125. Zuczek (2006), Vol. 1 p. 323; Vol. 2 pp. 645, 698.
  126. Summers (2014), pp. 160–161.
  127. Smith (2001), pp. 455–457.
  128. Calhoun (2017), pp. 41–42.
  129. Simpson, Brooks D. (1999). "Ulysses S. Grant and the Freedmen's Bureau". ใน Paul A. Cimbala & Randall M. Miller (บ.ก.). The Freedmen's Bureau and Reconstruction: Reconsiderations. New York: Fordham University Press.
  130. Smith (2001), pp. 437–453, 458–460.
  131. Montgomery, David (1967). Beyond Equality: Labor and the Radical Republicans, 1862–1872. New York: Alfred Knopf. pp. 130–133. ISBN 9780252008696. สืบค้นเมื่อ 9 October 2020.
  132. Gleeson, David (2016) Failing to 'unite with the abolitionists': the Irish Nationalist Press and U.S. emancipation. Slavery & Abolition, 37 (3). pp. 622–637. ISSN 0144-039X
  133. Knight, Matthew (2017). "The Irish Republic: Reconstructing Liberty, Right Principles, and the Fenian Brotherhood". Éire-Ireland (Irish-American Cultural Institute). 52 (3 & 4): 252–271. doi:10.1353/eir.2017.0029. S2CID 159525524. สืบค้นเมื่อ 9 October 2020.
  134. Yanoso, Nicole Anderson (2017). The Irish and the American Presidency. New York: Routledge. pp. 75–80. ISBN 9781351480635.
  135. 135.0 135.1 Simon (2002), p. 245.
  136. Peters & Woolley (2018b).
  137. 137.0 137.1 Smith (2001), p. 461.
  138. Calhoun (2017), p. 55.
  139. Foner (2014), pp. 243–244.
  140. McFeely (1981), p. 284.
  141. White (2016), p. 471.
  142. 142.0 142.1 142.2 Kahan (2018), p. 61.
  143. H.W. Brands, The Man Who Saved the Union: Ulysses Grant in War and Peace (2013) pp. 463-479.
  144. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ Spxiii
  145. Osborne & Bombaro (2015), pp. 6, 12, 54.
  146. Chernow (2017), p. 629.
  147. Chernow (2017), p. 628.
  148. Smith (2001), pp. 543–545.
  149. Brands (2012), p. 474.
  150. Kaczorowski (1995).
  151. 151.0 151.1 Chernow (2017), p. 746.
  152. Kahan (2018), pp. 67–68; Chernow (2017), pp. 746.

บรรณานุกรม[แก้]

แหล่งข้อมูลทุติยภูมิ[แก้]

ประวัติศาสตร์นิพนธ์[แก้]

  • Foner, Eric (2014). "Introduction to the 2014 Anniversary Edition". Reconstruction: America's Unfinished Revolution, 1863–18 (Updated ed.). ISBN 978-0062383235.
  • Ford, Lacy K., ed. A Companion to the Civil War and Reconstruction. Blackwell (2005) 518 pp.
  • Frantz, Edward O., ed. A Companion to the Reconstruction Presidents 1865–1881 (2014). 30 essays by scholars.
  • Parfait, Claire (2009). "Reconstruction Reconsidered: A Historiography of Reconstruction, from the Late Nineteenth Century to the 1960s". Études anglaises. 62 (4): 440–454. doi:10.3917/etan.624.0440 – โดยทาง Cairn Info.
  • Perman, Michael and Amy Murrell Taylor, eds. Major Problems in the Civil War and Reconstruction: Documents and Essays (2010)
  • Simpson, Brooks D. (2016). "Mission Impossible: Reconstruction Policy Reconsidered". The Journal of the Civil War Era. 6: 85–102. doi:10.1353/cwe.2016.0003. S2CID 155789816.
  • Smith, Stacey L. (November 3, 2016). "Beyond North and South: Putting the West in the Civil War and Reconstruction". The Journal of the Civil War Era. 6 (4): 566–591. doi:10.1353/cwe.2016.0073. S2CID 164313047.
  • Stalcup, Brenda, บ.ก. (1995). Reconstruction: Opposing Viewpoints. Greenhaven Press. Uses primary documents to present opposing viewpoints.
  • Stampp, Kenneth M.; Litwack, Leon M., บ.ก. (1969). Reconstruction: An Anthology of Revisionist Writings. Essays by scholars.
  • Weisberger, Bernard A. (1959). "The dark and bloody ground of Reconstruction historiography". Journal of Southern History. 25 (4): 427–447. doi:10.2307/2954450. JSTOR 2954450.

หนังสือรายปี[แก้]

แหล่งข้อมูลปฐมภูมิ[แก้]

อ่านเพิ่มเติม[แก้]

หนังสือพิมพ์และนิตยสาร[แก้]

เว็บไซต์อ้างอิง[แก้]