การ์ตูนล้อการเมือง
![]() | บทความนี้ต้องการข้อความอธิบายความสำคัญที่กระชับ และสรุปเนื้อหาไว้ย่อหน้าแรกของบทความ |
ตัวอย่างและทัศนะในบทความนี้มิได้เสนอมุมมองที่เป็นสากลของเรื่อง คุณสามารถพัฒนาบทความได้ โดยเพิ่มมุมมองสากลให้มากขึ้น หรือแยกประเด็นย่อยไปสร้างเป็นบทความใหม่ |

การ์ตูนล้อการเมือง (อังกฤษ: Political Cartoon) หรือ การ์ตูนบรรณาธิการ (อังกฤษ: Editorial Cartoon) คือ ภาพการ์ตูนที่วาดและตีพิมพ์ลงสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ เช่น หนังสือพิมพ์, นิตยสาร โดยมีเนื้อหาล้อเลียนหรือวิพากษ์วิจารณ์สภาพสังคม, เศรษฐกิจและการเมือง จุดประสงค์เพื่อความสนุกสนานและความขบขัน ในบางครั้งอาจสอดแทรกถึงวิธีการแก้ปัญหานั้นๆ จะมีคำบรรยายหรือไม่มีก็ได้ โดยนักวาดการ์ตูนล้อการเมืองนั้น ถือว่า เป็นคอลัมนิสต์หรือบรรณาธิการคนหนึ่งของหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นๆ เรียกว่า นักเขียนการ์ตูน (Cartoonist)
ประวัติ[แก้]
จุดเริ่มต้น[แก้]
การ์ตูนล้อการเมือง เกิดขึ้นครั้งแรกที่ประเทศอังกฤษ โดยชาวอังกฤษ ชื่อ เจมส์ กิลล์เรย์ (ค.ศ. 1757-ค.ศ. 1815) ได้เขียนภาพล้อเลียนพระบรมวงศานุวงศ์ของประเทศอังกฤษ ที่ใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย ศีลธรรมของชนชั้นสูง และการทำงานของรัฐบาล ทำให้ประชาชนคลายความเครียดจากภาวะสงครามในขณะนั้น
การ์ตูนล้อการเมืองในประเทศไทย[แก้]
สำหรับในประเทศไทย การ์ตูนล้อการเมืองเริ่มขึ้นมาพร้อม ๆ กับวิวัฒนาการการ์ตูนในประเทศไทย ยิ่งโดยเฉพาะในยุครัชกาลที่ 6 ที่สื่อสิ่งพิมพ์และประชาธิปไตยเฟื่องฟู ในยุคนี้มีการ์ตูนล้อการเมืองเริ่มเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย
นักเขียนการ์ตูนการเมืองคนแรกของไทยคือ ขุนปฏิภาคพิมพ์ลิขิต (เปล่ง ไตรปิ่น) ซึ่งมีโอกาสเดินทางไปศึกษาวิชาศิลปะการวาดภาพที่ยุโรป ได้นำเทคนิคจากต่างประเทศ วาดภาพการ์ตูนเป็นลายเส้น ได้รับรางวัลการประกวดภาพล้อจากรัชกาลที่ 6 โดยการเขียนการ์ตูนล้อเลียนนักการเมืองสำคัญๆ ในยุคนั้น
นอกจากนี้แล้วชาวญี่ปุ่นที่ชื่อ ไอ เคียว คาวา ซึ่งอาศัยอยู่ในเมืองไทยสนับสนุนให้ นักเขียนการ์ตูน วาดภาพการ์ตูนลงใน หนังสือพิมพ์ยาโมโต จวบจนสมัยรัชกาลที่ 7 การ์ตูนเริ่มซบเซาเนื่องจากเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง เกิดปัญหาการขาดแคลนกระดาษพิมพ์
จนกระทั่งยุคการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในปี พ.ศ. 2475 วงการการ์ตูนเริ่มฟื้นฟูขึ้นพร้อมกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง แต่ก็มีการ์ตูนที่วาดล้อเลียนจนเกินขอบเขต ทำให้มีกฎหมายของคณะราษฎรออกมาควบคุม
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ประยูร จรรยาวงศ์ ได้วาดภาพการ์ตูนที่มีตัวแสดงชื่อ "ศุขเล็ก" ใช้เป็นสัญลักษณ์ประจำตัว เขียนการ์ตูนขำขันและการ์ตูนล้อการเมือง ได้รับรางวัลจากการประกวดการ์ตูนสันติภาพโลก เมื่อ ปี พ.ศ. 2503 ที่นิวยอร์ก ชื่อภาพ การทดลองระเบิดปรมาณูลูกสุดท้าย (The Last Nuclear Test) และได้รับรางวัลแมกไซไซ ที่ประเทศฟิลิปปินส์
ยุคทองของการ์ตูนล้อการเมืองไทย[แก้]
หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 มีหนังสือพิมพ์เพิ่มขึ้นใหม่อีกหลายชื่อ ทำให้มีนักเขียนการ์ตูนการเมืองที่มีชื่อเสียงเกิดขึ้นอีกหลายคน เช่น
- ชัย ราชวัตร (สมชัย กตัญญตานนท์) เขียนการ์ตูนการเมืองชุด ผู้ใหญ่มากับทุ่งหมาเมิน ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
- ขวด ในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์
- หมื่น (ชูชาติ หมื่นอินกุล) ในหนังสือพิมพ์มติชน
- อรุณ วัชระสวัสดิ์ ในหนังสือพิมพ์มติชน และเนชั่น
- เซีย (ศักดา เอียว) ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
- บัญชา คามิน ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ
- หมอ ในกรุงเทพธุรกิจ
- แอ๊ด ในไทยโพสต์
- พล ข่าวสด (สุรพล พิทยาสกุล) เริ่มเขียนการ์ตูนการเมืองสมัยรัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา ในหนังสือพิมพ์ข่าวสด เรื่อง หนูนากับป้าแจ่ม ตัวละคร หนูนา มาจาก กัญจนา ศิลปอาชา และ ป้าแจ่ม คือ คุณหญิงแจ่มใส
ดูเพิ่ม[แก้]
อ้างอิง[แก้]
- ข้อมูลจากฝ่ายวารสารและเอกสาร คณะกรรมการจัดทำเว็บไซต์ สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปีการศึกษา 2546
![]() |
คอมมอนส์ มีภาพและสื่อเกี่ยวกับ: การ์ตูนล้อการเมืองในประเทศต่างๆ |