สีสุวัตถิ์ สิริมตะ
นักองค์ราชวงศ์ สีสุวัตถิ์ สิริมตะ | |
---|---|
นายกรัฐมนตรีแห่งกัมพูชา (นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐเขมร คนที่ 2) | |
ดำรงตำแหน่ง 11 มีนาคม ค.ศ. 1971 – 18 มีนาคม ค.ศ. 1972 | |
ประธานาธิบดี | เจง เฮง ลอน นอล |
ก่อนหน้า | ลอน นอล |
ถัดไป | เซิน หง็อก ถั่ญ |
รองนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา | |
ดำรงตำแหน่ง 14 สิงหาคม ค.ศ. 1969 – 11 มีนาคม ค.ศ. 1971 | |
นายกรัฐมนตรี | ลอน นอล |
เอกอัครราชทูตพระราชอาณาจักรกัมพูชาประจำประเทศจีน | |
ดำรงตำแหน่ง 1962–1964 | |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
พรรคการเมือง | พรรคเขมรสาธารณรัฐ |
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง | |
รับใช้ | พระราชอาณาจักรกัมพูชา (สมัยสังคมราษฏรนิยม) สาธารณรัฐเขมร |
สังกัด | กองทัพพระราชอาณาจักรกัมพูชา |
ประจำการ | 1949-1975 |
ยศ | อุดมเสนีย์เอก (นายพลโท) |
บังคับบัญชา | Chief of Staff of the Khmer National Armed Forces |
นักองค์ราชวงศ์ สีสุวัตถิ์ สิริมตะ | |
---|---|
นักองค์ราชวงศ์ | |
ประสูติ | 22 มกราคม พ.ศ. 2457 พนมเปญ, กัมพูชา (ในอารักขาของอินโดจีนฝรั่งเศส) |
สิ้นพระชนม์ | 21 เมษายน พ.ศ. 2518 (61 ปี) พนมเปญ, กัมพูชา |
พระชายา | นักองค์มจะ นโรดม เกศนารี |
พระราชบุตร | พระโอรส 3 องค์, พระธิดา 3 องค์ |
ราชวงศ์ | ราชวงศ์วรมัน (สายราชสกุลสีสุวัตถิ์) |
พระราชบิดา | นักองค์มจะ สีสุวัตถิ์ รัฏฐารี |
พระราชมารดา | นักนาง เตรือง เยือม |
พลโท นักองค์ราชวงศ์ (หม่อมราชวงศ์) สีสุวัตถิ์ สิริมตะ (เขมร: អ្នកឣង្គរាជវង្ស ស៊ីសុវត្ថិ សិរិមតះ; อักษรโรมัน: Sisowath Sirik Matak; 22 มกราคม พ.ศ. 2457 — 21 เมษายน พ.ศ. 2518) เป็นสมาชิกในราชวงศ์กัมพูชา สายราชสกุลสีสุวัตถิ์
นักองค์ราชวงศ์สีสุวัตถิ์ สิริมตะ เป็นที่จดจำจากการมีบทบาททางการเมืองในประเทศกัมพูชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการร่วมมือกับนักการเมืองฝ่ายขวาในปี พ.ศ. 2513 เพื่อก่อการรัฐประหารต่อสมเด็จพระนโรดม สีหนุ ประมุขแห่งรัฐซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องของพระองค์เอง และร่วมมือกับลอน นอล ในการสถาปนารัฐบาลสาธารณรัฐเขมร
บทบาทในการเมืองกัมพูชา
[แก้]สิริมตะเกิดในพนมเปญและอยู่ในสายราชสกุลสีสุวัตถิ์ของราชวงศ์กัมพูชา เป็นพระราชนัดดาของพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ ในสมัยที่เป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส สิริมตะเป็นตัวเลือกหนึ่งในการสืบราชสมบัติต่อจากพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์มุนีวงศ์ ซึ่งเสด็จสวรรคตใน พ.ศ. 2484 แต่ฝรั่งเศสเลือกสมเด็จพระนโรดม สีหนุขึ้นเป็นกษัตริย์ สิริมตะเป็นผู้ต่อต้านสมเด็จพระนโรดม สีหนุ ซึ่งสมเด็จพระนโรดม สีหนุได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่าสิริมตะเกลียดพระองค์ เพราะคิดว่าสมเด็จกรมพระสีสุวัตถิ์มุนีเรศจะเลือกเขาขึ้นเป็นกษัตริย์[1]
หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง สิริมตะมีบทบาทในการเมืองกัมพูชามากขึ้นในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของพรรคเขมรใหม่ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายขวา นำโดยลน นล พระองค์เข้าร่วมการเลือกตั้ง พ.ศ. 2490 แต่ไม่ได้รับเลือก[2] สมเด็จพระนโรดม สีหนุได้เป็นนายกรัฐมนตรีโดยพฤตินัยใน พ.ศ. 2495 และได้ให้สิริมตะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในรัฐบาลเฉพาะกาล[3] จนกระทั่งได้รับเอกราชใน พ.ศ. 2497 พรรคเขมรใหม่ได้รวมเข้ากับพรรคสังคมราษฎร์นิยมในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2498
แม้ว่าจะให้ความร่วมมือกับฝ่ายขวาในพรรคสังคม แต่สิริมตะก็ยังมีความเห็นตรงข้ามกับสมเด็จพระนโรดม สีหนุ โดยเฉพาะในเรื่องกิจกรรมของเวียดนามเหนือตามแนวชายแดนกัมพูชา ในช่วงที่พรรคสังคมราษฎร์นิยมครองอำนาจ สมเด็จพระนโรดม สีหนุพยายามลดบทบาทของสิริมตะ โดยให้ไปเป็นทูตที่จีน ฟิลิปปินส์ และญี่ปุ่น
รัฐประหาร พ.ศ. 2513
[แก้]อำนาจของสิริมตะเพิ่มขึ้นเมื่อลน นลได้เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2512 สิริมตะต่อต้านนโยบายของสีหนุในการควบคุมการนำเข้า ส่งออก การธนาคาร รวมทั้งการผลิตยาและแอลกอฮอล์[4] สิริมตะยังเดินทางไปยังฮานอยเพื่อเจรจาให้เวียดนามเหนือถอนตัวไปจากกัมพูชา และเป็นผู้แสดงหลักฐานว่าสมเด็จพระนโรดม สีหนุยอมให้เวียดนามเหนือตั้งฐานที่มั่นเพื่อขนส่งอาวุธและเสบียงรวมทั้งใช้ท่าเรือของกัมพูชาเพื่อการนี้[5] ในวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2513 หลังจากสมเด็จพระนโรดม สีหนุเดินทางไปต่างประเทศ สิริมตะประกาศยกเลิกข้อตกลงทางการค้าของสมเด็จพระนโรดม สีหนุ ลน นลประกาศให้เวียดนามเหนือและเวียดกงถอนทหารออกจากกัมพูชาภายใน 15 มีนาคม แต่เวียดนามเหนือไม่ตอบสนอง[6] ในวันที่ 18 มีนาคม สิริมตะและลน นลจัดให้มีการลงมติในสมัชชาแห่งชาติเพื่อถอดถอนสมเด็จพระนโรดม สีหนุออกจากประมุขรัฐ ดำเนินนโยบายต่อต้านเวียดนาม สั่งปิดสถานทูตเวียดนามเหนือ สื่อต่างชาติต่างเห็นว่าสิริมตะเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในรัฐประหารครั้งนี้[7]
สมเด็จพระนโรดม สีหนุกล่าวว่าสิริมตะเป็นกำลังสำคัญที่อยูเบื้องหลังรัฐประหารเช่นกัน โดยมีซีไอเอและเซิง งอกทัญ ร่วมสนับสนุนด้วย และได้เสนอแผนการนี้ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2512 นอกจากนั้น โปรม ทส รัฐมนตรีคนหนึ่งในรัฐบาลของลน นล ได้เปิดเผยว่าในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2512 สิริมตะเคยกล่าวว่าสมเด็จพระนโรดม สีหนุควรถูกลอบสังหาร แต่ลน นลปฏิเสธแผนนี้[8]
เมื่อจัดตั้งสาธารณรัฐเขมรหลังรัฐประหารนั้น ในครั้งแรก สิริมตะวางแผนจะให้สมาชิกในสายราชสกุลสีสุวัตถิ์ โดยเฉพาะบุตรเขยคือ พระองค์มจะ สีสุวัตถิ์ ดวงชีวิน ขึ้นเป็นกษัตริย์[9] แต่ต่อมาเปลี่ยนเป็นการสถาปนาสาธารณรัฐแทน การปกครองของลน นลอยู่เบื้องหลังการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวเวียดนามในกัมพูชา และเชื่อว่าสิริมตะเกี่ยวข้องด้วย
ในรัฐบาลสาธารณรัฐเขมร
[แก้]ในปีแรกของการก่อตั้งสาธารณรัฐ ซึ่งเป็นช่วงที่ลน นลสุขภาพไม่ดี สิริมตะมีบทบาทในรัฐบาลมาก ลน นลเป็นที่นิยมในหมู่นักศึกษาที่ต่อต้านพระนโรดม สีหนุในเขตเมือง สิริมตะเป็นที่นิยมของคนเมืองที่นิยมตะวันตก ส่วนในชนบทยังสนับสนุนสมเด็จพระนโรดม สีหนุ สิริมตะเองได้รับการสนับสนุนจากนักการเมืองไม่มากนัก และถูกจำกัดอำนาจโดยลน นล และลน นนใน พ.ศ. 2515 หลังจากที่จัดให้มีการต่อต้านสิริมตะขึ้นอย่างเป็นระบบ[10] ลน นลสั่งกักบริเวณสิริมตะไว้ในบ้าน แม้ว่าสหรัฐจะยังสนับสนุนสิริมตะอยู่ก็ตาม
ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2516 ลน นลถูกบังคับให้ปลดลน นนออกและจัดตั้งสภาการเมืองสูงสุดที่ประกอบด้วยลน นล สิริมตะ เจง เฮงและอิน ตัม[11] ซึ่งสิริมตะได้กล่าวว่าในความเห็นส่วนตัวของเขา นี่เป็นการเปิดทางให้สีหนุกลับมา
พนมเปญแตก
[แก้]เขมรแดงเริ่มโจมตีพนมเปญตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2518 ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2518 ลน นลลาออกจากประธานาธิบดีและได้ลี้ภัยไปฮาวาย เขมรแดงได้ประกาศรายชื่อบัญชีดำผู้ที่จะถูกสังหาร ซึ่งมีสิริมตะอยู่ด้วย.[12] กองกำลังเขมรแดงได้ล้อมเมืองไว้ ในวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2518 จอห์น กุนเธอร์ ดีน (John Gunther Dean) เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำสาธารณรัฐเขมรได้เสนอให้รัฐบาลสาธารณรัฐเขมรลี้ภัยไปสหรัฐ แต่สิริมตะ ลอง โบเรต และลน นน รวมทั้งคณะรัฐบาลของลน นลปฏิเสธ แม้ว่าโบเรตและสิริมตะจะมีชื่อในบัญชีดำของเขมรแดง
เมื่อพนมเปญแตก สิริมตะพยายามเข้าไปลี้ภัยในโรงแรม "เลอ พนม" ซึ่งกาชาดสากลพยายามกำหนดให้เป็นเขตปลอดภัย แต่เขาต้องกลับออกมาเมื่อกาชาดสากลรู้ว่าเขามีชื่อในบัญชีดำ เมื่อออกมาจากโรงแรม สิริมตะได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวและแจกสำเนาจดหมายที่เขาเขียนถึงสถานทูต[13] สิริมตะขอลี้ภัยในสถานทูตฝรั่งเศส แต่เขาถูกทหารเขมรแดงมาตามจับตัวไป สถานทูตฝรั่งเศสกล่าวว่าสิริมตะถูกส่งมอบให้เขมรแดง และเชื่อว่าถูกประหารเมื่อ 21 เมษายน พ.ศ. 2518[14][15] แต่รายละเอียดจริง ๆ ไม่มีผู้ใดรู้ สมเด็จพระนโรดม สีหนุ กล่าวว่าพระองค์ได้รับรายงานว่าสิริมตะและโบเรตถูกประหารด้วยการยิงเป้าที่สนามกีฬากรุงพนมเปญเมื่อ 21 เมษายน แต่แหล่งข่าวอื่นกล่าวว่าถูกตัดศีรษะ[16] บางรายงานกล่าวว่า สิริมตะถูกยิงที่ท้อง และถูกปล่อยทิ้งไว้อย่างนั้นจนเสียชีวิตในอีกสามวันต่อมา[17]
สิริมตะเสกสมรสกับนักองค์มจะ นโรดม เกศนารี พระโอรสของพระองค์คือนักองค์ราชวงศ์ สีสุวัตถิ์ สิริรัฐ ได้เข้าร่วมกับพรรคฟุนซินเปก
วาทะ
[แก้]- "ข้าพเจ้าเข้าใจความรู้สึกของอเมริกาในการไม่ปรารถนาจะแทรกแซงกิจการภายในของพวกเรา แต่ถ้าสหรัฐอเมริกายังคงสนับสนุนระบอบการปกครองเช่นนี้ต่อไป เราก็จะพ่ายแฟ้ให้กับคอมมิวนิสต์ ท่านให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ต้องการใช้ชีวิตเยี่ยงเสรีชนก็จริง แต่เมื่อท่านให้การสนับสนุนระบอบการปกครองที่ไม่ให้การสนับสนุนประชาชน ท่านก็ย่อมช่วยเหลือพวกคอมมิวนิสต์ไปด้วย[18]"
- "มนุษย์เกิดมาต้องตาย ข้าพเจ้าจะไม่ย้ายไปไหน ข้าพเจ้าจะอยู่ที่นี่และเผชิญหน้ากับทุกสิ่งที่จะเกิดขึ้น ให้พวกเขาจับตัวข้าพเจ้าได้เลย ถ้าเขาฆ่าข้าพเจ้า แล้วไง? ข้าพเจ้าอยู่ก็เพื่อประเทศของข้าพเจ้าเอง[19]"
- "ข้าพเจ้ามิสงสัยเลยว่า ท่านจะนำพาประเทศอันไร้ความสุขของพวกเราไปสู่ความหายนะเป็นแน่ เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างจากดวงดาวของท่านหยุดลง มันจะจบลงด้วยความพินาศ และท้องฟ้าซึ่งถล่มลงมาใส่ท่านผู้เป็นแต่เพียงหุ่นไล่กาเก่า ๆ จะกลบฝังกัมพูชาพร้อมกับผู้เผด็จการของตนไปด้วย! ข้าพเจ้ามิอาจให้ชาติอันอัปลักษณ์ของท่านยืมชื่อของข้าพเจ้าต่อไปได้แล้ว: ข้าพเจ้าขอลาออก![20]"
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Norodom Sihanouk, My War with the CIA, Pantheon, 1972, p.27
- ↑ Dommen, A. The Indochinese experience of the French and the Americans, Indiana University Press, 2001, p.196
- ↑ Dommen, p.210
- ↑ Sihanouk, p.41
- ↑ David P. Chandler, A History of Cambodia, Westview Press, 2000, ISBN 0-8133-3511-6, p. 204.
- ↑ David P. Chandler, The Tragedy of Cambodian History: Politics, War, and Revolution Since 1945, Yale University Press, 1993 ISBN 0-300-05752-0, p. 195.
- ↑ The Man Behind the Symbol เก็บถาวร 2013-08-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, TIME, 17-05-71
- ↑ Kiernan, B. How Pol Pot came to power, Yale UP, 2004, p.301
- ↑ Sorpong Peou, Intervention & change in Cambodia, Palgrave Macmillan, p.49
- ↑ Kamm, pp.110-112
- ↑ Leifer, M. Selected Works on Southeast Asia, Institute of Southeast Asian Studies, 2005, p.420
- ↑ ผู้ทรยศ 7 คน ได้แก่ สิริมตะ, ลน นล, เซิง งอกทัญ, อิน ตัม, ลอง โบเรต, เจง เฮง และซ็อสแตน เฟร์นันเดซ ดูใน Karl D. Jackson, Cambodia, 1975-1978: Rendezvous with Death, Princeton University Press, 1992 ISBN 0-691-02541-X, p. 50.
- ↑ Peter H. Maguire, Facing death in Cambodia, Columbia University Press, 2005 ISBN 0-231-12052-4, p. 40.
- ↑ Jon Swain, River of Time. London: Heinemann, 1995, p. 156-57.
- ↑ François Bizot, The Gate. 1st American ed. New York: Knopf, 2003, p. 165-66.
- ↑ Maguire, p. 41.
- ↑ Kissinger, H. Ending the Vietnam War, Touchstone, 2003, p.530
- ↑ Kamm, p. 112.
- ↑ Kamm, p. 114.
- ↑ Hélène Cixous, The Terrible But Unfinished Story of Norodom Sihanouk, King of Cambodia, University of Nebraska Press, 1994, p. 144.