ข้ามไปเนื้อหา

วิกิพีเดีย:แนวทางการเขียนบทความให้ดียิ่งขึ้น

หน้าถูกกึ่งป้องกัน
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

หน้านี้เป็นแนวทางการเขียนบทความให้ดียิ่งขึ้น แม้ไม่ใช่กฎตายตัวที่ต้องปฏิบัติตาม แต่เพื่อให้เนื้อหาและรูปแบบมีแนวทางสอดคล้องกันทั้งวิกิพีเดีย ดูบทความที่เป็นตัวอย่างดี ได้ที่วิกิพีเดีย:บทความคัดสรร และวิกิพีเดีย:บทความคุณภาพ

บทความที่สมบูรณ์

บทความที่สมบูรณ์ในลักษณะสารานุกรมของวิกิพีเดีย เป็นบทความที่สอดคล้องกับนโยบายของวิกิพีเดีย และบทความต้องประกอบด้วย

  • ชื่อที่มีการทำตัวหนา (โดยใส่ เครื่องหมาย ' 3 ครั้ง หน้าหลังชื่อบทความเช่น '''ตัวอย่าง''') แสดงให้เห็นถึงชื่อบทความนั้น
  • ต้องมี [[ลิงก์]] อย่างน้อย 1 ลิงก์ เป็นลิงก์ภายในวิกิพีเดียไทยเอง (วิกิลิงก์)
  • มีการจัดหมวดหมู่ อย่างเหมาะสม
  • รูปแบบการเขียนในบทความเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

การเริ่มต้น

สำหรับการเริ่มต้นบทความในย่อหน้าแรก อย่างน้อยควรอธิบายความหมายและความสำคัญของหัวเรื่องนั้น (เช่นเป็นอะไร คือใคร สำคัญอย่างไร) และเป็นการสรุปเนื้อหาอย่างย่อในหัวข้อที่จะเขียนต่อไป เน้นตัวหนาคำหลักที่ตรงกับหัวเรื่องเพียงครั้งแรก สำหรับชื่ออื่นที่เปลี่ยนทางมาอาจทำตัวหนาหรือไม่ก็ได้ตามความเหมาะสม

ตัวอย่าง การเริ่มต้นบทความที่ไม่ดี
ตัวอย่าง การเริ่มต้นบทความที่ดี
  • ประเทศไทย เป็นประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีพรมแดนทางทิศตะวันออกติดลาว และกัมพูชา ทิศใต้ติดอ่าวไทย และมาเลเซีย ทางทิศตะวันตกติดทะเลอันดามัน และพม่า และทางทิศเหนือติดพม่า และลาวโดยมีแม่น้ำโขงกั้นเป็นบางช่วง
  • ไมเคิล ชารา เป็นนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ นิยายกีฬา และนิยายประวัติศาสตร์ ชาราเริ่มขายนิยายวิทยาศาสตร์ในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1950 โดยหลังจากนั้นได้เป็นอาจารย์สอนอยู่ มหาวิทยาลัยรัฐฟลอริดาสเตต ชาราได้รับรางวัล Pulitzer Prize ในปี พ.ศ. 2518 (ค.ศ. 1975) ชาราเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจ ในปี พ.ศ. 2531

จะเห็นได้ว่า การเริ่มต้นบทความ ประเทศไทย แม้จะมีรายละเอียดเพียงแค่ส่วนภูมิศาสตร์ แต่ยังมีเนื้อหาพอที่จะให้คนอื่นมาขยายความต่อได้ ขณะเดียวกัน บทความ ไมเคิล ชารา แม้ว่า จะมีการใช้ภาษาอังกฤษมาปน (อาจเนื่องจากผู้เขียนไม่รู้วิธีการสะกดที่ถูกต้อง) ก็ยังนับว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดี และหากต้องการทับศัพท์นั้น อย่าลืมแวะเยี่ยมคำทับศัพท์ที่ใช้ในวิกิพีเดียสำหรับรายชื่อคำทับศัพท์ที่ใช้ในวิกิพีเดีย หรือคุณสามารถเสนอคำใหม่ให้พิจารณาได้หากไม่อยู่ในรายชื่อ

การจัดหน้า

แบ่งแยกเป็น 3 ส่วนหลัก ส่วนบทนำ ส่วนเนื้อหา และส่วนหมวดหมู่ และลิงก์ข้ามภาษา โดย

  1. ส่วนบทนำ เป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของบทความ ปรากฏในย่อหน้าแรก (หรือมากกว่านั้น) ของบทความ เนื้อหาเกี่ยวกับข้อความสรุปของบทความนั้น ๆ โดยเขียนเริ่มต้น เพื่อให้ผู้อ่านรู้ภาพรวมว่า บทความที่อ่านอยู่ คือบทความเกี่ยวกับอะไร โดยไม่จำเป็นต้องมีเนื้อหาย่อยลงไปใน หรือมีศัพท์เฉพาะ เช่น
    • บทความชีวประวัติ ว่าบุคคลนั้น คือใครและมีและผลงานอะไรที่เป็นที่รู้จัก โดยเนื้อความอื่น ๆ เช่น ชีวิตครอบครัว หน้าที่การงาน รางวัล หรือผลงานอื่น ๆ ควรจะนำไปใส่ในส่วนเนื้อหาตามเหมาะสม
    • บทความสถานที่ หรือ เมือง เขียนเกี่ยวกับ ภาพรวมของสถานที่นั้น โดยบอกความสำคัญของสถานที่
    • บทความส่วนนี้ไม่ควรเขียนคำศัพท์เฉพาะ เพื่อให้คนที่ไม่ได้มีความสนใจในเรื่องนั้นเป็นพิเศษ สามารถอ่านเข้าใจได้
    • ถ้าหากจำเป็นต้องใช้กล่องข้อมูลสรุปเนื้อหา (infobox) ให้ใส่ไว้ก่อนขึ้นย่อหน้าแรก
  2. ส่วนเนื้อหาเขียนอธิบายบทความโดยแบ่งแยกหัวข้อตามความเหมาะสม
    • แบ่งเนื้อหา ออกเป็นหัวข้อย่อย โดยแต่ละหัวข้อจะแสดงผลในส่วนของสารบัญของเนื้อหานั้น หัวข้อควรจะเป็นคำที่กระชับ ชัดเจน ไม่เยิ่นเย้อ และขณะเดียวกันก็ไม่ควรสั้นจนเกินไป
    • ตัวอย่างชื่อหัวข้อย่อย ของส่วนเนื้อหา เช่น ในบทความประเทศไทย สามารถแบ่งเป็น "ประวัติศาสตร์" "ภูมิประเทศและภูมิอากาศ" "การศึกษา" "สถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ"
  3. ส่วนหมวดหมู่ และลิงก์ข้ามภาษา ส่วนนี้เป็นส่วนสำคัญอีกส่วนหนึ่ง เพื่อให้แต่ละบทความสามารถจัดเก็บและเชื่อมโยงกันได้ ท้ายสุดของบทความ ต้องจัดหมวดหมู่และลิงก์ข้ามภาษา โดยหมวดหมู่จะเป็นการเชื่อมโยงแต่ละบทความในวิกิพีเดียภาษาไทย ส่วนลิงก์ข้ามภาษาเป็นการเชื่อมโยงระหว่างบทความเดียวกันในภาษาอื่น ๆ
    • กล่องท้ายเรื่อง (navbox) เป็นกล่องที่รวมการเชื่อมโยงบทความที่เกี่ยวข้อง ให้ใส่ไว้ที่ส่วนสุดท้ายของเนื้อหา ก่อนหมวดหมู่
    • แม่แบบ {{เรียงลำดับ}} ซึ่งใช้สำหรับการเรียงลำดับตามตัวอักษรที่ต้องการในดัชนีหมวดหมู่ หากจำเป็นต้องใช้ ให้ใส่ไว้ที่ส่วนสุดท้ายของเนื้อหา (และหลังจากกล่องท้ายเรื่อง) ก่อนหมวดหมู่
    • สำหรับบทความที่ยังเป็นโครงบทความ ใส่แม่แบบ {{โครง}} (และแม่แบบโครงประเภทอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง) ไว้หลังส่วนหมวดหมู่
    • แม่แบบแสดงบทความคัดสรรในวิกิพีเดียภาษาอื่น ๆ เช่น {{Link FA|de}} ให้ใส่รวมไว้ก่อนลิงก์ข้ามภาษา

ส่วนท้ายของเนื้อหา

ในส่วนท้ายของเนื้อหา จะเป็นการเขียนหรือเชื่อมโยงไปยังที่มา หรือบทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่

ดูเพิ่ม

ถ้ามีการแนะนำให้ผู้อ่าน อ่านบทความอื่นในวิกิพีเดีย ที่เกี่ยวข้องกับบทความนั้น ๆ ให้ใส่ไว้ในหัวข้อย่อย "ดูเพิ่ม" เขียนโดยใช้คำสั่ง == ดูเพิ่ม == แต่ละบรรทัดขึ้นต้นด้วยเครื่องหมายดอกจัน * ตามด้วยลิงก์ภายในวิกิพีเดียของบทความอื่น

อ้างอิง

ถ้าบทความที่เขียนมีการอ้างอิงจากหนังสือหรือเว็บไซต์ ให้ทำส่วน "อ้างอิง" โดยเขียน == อ้างอิง == ในย่อหน้าใหม่ ถ้ามีการอ้างอิงมากกว่าหนึ่งแหล่ง ให้เขียนแต่ละแหล่งแยกบรรทัดกัน แต่ละบรรทัดขึ้นต้นด้วยเครื่องหมายดอกจัน * ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ วิกิพีเดีย:การอ้างอิงแหล่งที่มา

แหล่งข้อมูลอื่น

ถ้ามีการแนะนำไปยังแหล่งข้อมูลเพิ่มเติมอื่น ที่ไม่ได้ใช้อ้างอิงเนื้อหาข้อมูลในบทความ เช่น ข่าว หรือ เนื้อหาเพิ่มเติม ให้เขียนแต่ละลิงก์แยกบรรทัดกัน โดยขึ้นต้นด้วยเครื่องหมายดอกจัน * เพื่อจัดย่อหน้า และเขียนคำอธิบายในภาษาไทยกำกับให้กระชับชัดเจน เพื่อให้ผู้อ่านพิจารณาได้ก่อนเข้าไปอ่าน และเนื่องจากวิกิพีเดียไม่ใช่เว็บรวมลิงก์ ให้คัดเลือกเฉพาะลิงก์ที่เหมาะสม หากพบว่าลิงก์ไหนไม่เกี่ยวข้องก็สามารถเอาออกได้ทันที โดยให้ลำดับความสำคัญจากบนลงล่าง โดยเว็บด้านบนเป็นเว็บที่สำคัญที่สุด ตัวอย่างเช่น

* [http://www.aaa.com/ รายละเอียดเกี่ยวกับ...]
* [http://www.bbb.com/ บทสัมภาษณ์เกี่ยวกับ...]
* [http://www.ccc.com/ รวมผลงานเกี่ยวกับ...]

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ วิกิพีเดีย:แหล่งข้อมูลอื่น

สรุปรูปแบบพื้นฐานในวิกิพีเดียภาษาไทย

{{กล่องข้อมูล ___}}
'''ชื่อเรื่อง''' ความหมายและสรุปเนื้อหาบทความอย่างคร่าว ๆ

== หัวข้อ 1 ==
รายละเอียดสำหรับหัวข้อ 1 (ไม่ต้องใส่ตัวเลขนำหัวข้อใด ๆ)

=== หัวข้อ 1.1 ===
รายละเอียดสำหรับหัวข้อ 1.1

==== หัวข้อ 1.1.1 ====
รายละเอียดสำหรับหัวข้อ 1.1.1

=== หัวข้อ 1.2 ===
รายละเอียดสำหรับหัวข้อ 1.2

== หัวข้อ 2 ==
รายละเอียดสำหรับหัวข้อ 2

== ดูเพิ่ม ==
* [[บทความอื่น]] (ในวิกิพีเดีย)

== เชิงอรรถ ==
* รายการเชิงอรรถ (เชิงอรรถและอ้างอิงอาจใช้ร่วมกันได้ถ้าเชิงอรรถมีไม่มาก)

== อ้างอิง ==
{{รายการอ้างอิง}}

== แหล่งข้อมูลอื่น ==
* ลิงก์ภายนอกที่เกี่ยวกับบทความนี้

{{กล่องท้ายเรื่อง}}

{{เรียงลำดับ|___}}
[[หมวดหมู่:___]]
{{โครง___}}

ดูเพิ่ม