รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรเบลเยียม
รัฐธรรมนูญเบลเยียม (ฝรั่งเศส: Constitution belge; ดัตช์: Belgische Grondwet; เยอรมัน: Verfassung Belgiens) มีประวัติศาสตร์ยาวนานย้อนกลับไปช่วง ค.ศ. 1831 โดยเริ่มใช้ตั้งแต่ประเทศเบลเยียมเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญที่ใช้ระบบเวสต์มินสเตอร์ ในการปกครองโดยมีการแบ่งแยกอำนาจออกเป็นสามฝ่าย โดยในรัฐธรรมนูญสมัยแรกได้ระบุไว้ว่าเบลเยียมเป็นรัฐเดี่ยวที่มีการปกครองแบบรวมศูนย์อยู่กับรัฐบาล อย่างไรก็ตั้งแต่ช่วง ค.ศ. 1970 เป็นต้นมา โดยผ่านการปฏิรูปการเมืองการปกครองในหลายด้านทำให้เบลเยียมค่อย ๆ เปลี่ยนผ่านไปเป็นแบบสหพันธรัฐแทน
เชิงประวัติศาสตร์
[แก้]ที่มา
[แก้]รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรเบลเยียม ค.ศ. 1831 ได้เกิดขึ้นภายหลังจากการประกาศอิสรภาพจากสหราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ในการปฏิวัติเบลเยียม โดยภายหลังจากได้รับชัยชนะในช่วงแรก ได้มีการก่อตั้งรัฐสภาแห่งชาติขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1830 เพื่อใช้ในการปกครองสำหรับรัฐใหม่นี้ สมาชิกทั้งหลายของรัฐสภาแห่งชาติได้นำเสนอความคิดเห็นหลากหลายประเด็นในเรื่องการเมือง แต่เสียงส่วนใหญ่สนับสนุนความเป็นสหภาพ (Union of Oppositions) ซึ่งแนวคิดนี้ได้เกิดขึ้นตั้งแต่การสมัยการปฏิวัติ[1] จึงทำให้ได้รัฐธรรมนูญที่มีความเป็นเสรีนิยมซึ่งสนับสนุนคาทอลิกอย่างเสรี นักประวัติศาสตร์สมัยใหม่ได้อภิปรายถึงรัฐธรรมนูญเบลเยียมว่า:
รัฐธรรมนูญฉบับ ค.ศ. 1831 นั้น... เป็นการรอมชอมกันระหว่างเจ้าของที่ดินและคณะสงฆ์ในด้านหนึ่ง กับอีกด้านหนึ่งคือเหล่าชนชั้นกลางเสรีนิยม แรงผลักดันของฝั่งอนุรักษนิยมนั้นต้องการปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงอันหลีกเลี่ยงไม่ได้ในสังคม แค่ความต้องการนี้ทำให้เล็งเห็นความเชื่อมต่อระหว่างอดีตและปกป้องจากการเปลี่ยนแปลงอย่างสุดโต่ง ส่วนเหล่าชนชั้นกลางที่มีแนวคิดเสรีนิยม ถึงแม้จะต้องการการปฏิรูปอย่างเป็นระบบระเบียบนั้นแต่ก็ยังมีความยับยั้งชั่งใจ ซึ่งเป็นอากัปกิริยาปกติของเหล่าเสรีชนในยุคแรก ๆ[2]
ผลลัพธ์ที่ได้จึงเป็น "การรอมชอมอย่างสมดุลและระมัดระวัง" ซึ่งผสมผสานแนวคิดเสรีนิยมสุดโต่งบางประการกับอนุรักษนิยมอันหนักแน่น โดยรัฐธรรมนูญนี้ได้นำแบบอย่างมาจากรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส ค.ศ. 1791 กฎบัตร ค.ศ. 1814 และกฎบัตร ค.ศ. 1830 รัฐธรรมนูญแห่งเนเธอร์แลนด์ ค.ศ. 1814 และรัฐธรรมนูญแห่งสหราชอาณาจักร ประเทศเบลเยียมได้ก่อตั้งในระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญระบบสองสภา มีการแบ่งแยกอำนาจระหว่างอำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจตุลาการ รัฐธรรมนูญได้รับรองเสรีภาพในการแสดงออก การศึกษา การนับถือศาสนา และเสรีภาพสื่อ แต่สิทธิในการลงคะแนนนั้นถูกจำกัดให้แก่ผู้ที่จ่ายภาษีอสังหาริมทรัพย์[3] ถึงจะมีหลายประเด็นซึ่งมีแนวคิดแบบเสรีนิยม แต่รัฐธรรมนูญยังระบุให้นิกายโรมันคาทอลิกมีอภิสิทธิ์กว่า ถึงแม้จะระบุถึงการแยกศาสนจักรกับอาณาจักร แต่นิกายโรมันคาทอลิกก็ยังอยู่ในตำแหน่งที่ได้เปรียบ[4] ร่างรัฐธรรมนูญนั้นเสร็จสิ้นสมบูรณ์เมื่อ 7 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1831
นัยทางการเมือง
[แก้]รัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1831 ได้รับการยกย่องเป็นสัญลักษณ์ของชาตินิยมเบลเยียมในตลอดคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งเอ. วี. ไดซีย์ นักทฤษฎีกฎหมายชาวอังกฤษได้สรุปไว้ถึงรัฐธรรมนูญเบลเยียมว่า "เขียนออกมาได้เสมือนเป็นรัฐธรรมนูญอังกฤษฉบับลายลักษณ์อักษร" และยังได้รับการนำไปใช้โดยนักเคลื่อนไหวด้านเสรีนิยมในประเทศอื่น ๆ ในยุโรป รวมถึงเดนมาร์กซึ่งได้มีรัฐธรรมนูญปกครองตัวเองเมื่อ ค.ศ. 1849 โดยนำต้นฉบับมาจากรัฐธรรมนูญเบลเยียม โดย เจ. เอ. ฮอว์กูด นักประวัติศาสตร์ได้เขียนไว้ว่า
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรเบลเยียม ค.ศ. 1831 ได้มาแทนที่รัฐธรรมนูญสเปน ค.ศ. 1812 อย่างรวดเร็ว (ยกเว้นในดินแดนไกลโพ้นในลาตินยุโรปและลาตินอเมริกา) ในฐานะแสงนำให้แก่ชาวเสรีนิยมผู้ซึ่งไม่ได้เอียงซ้ายมาก [...] จนถึงกับต้องการกำจัดระบอบกษัตริย์และแทนที่ด้วยสาธารณรัฐ ที่ใดก็ตามถือการปกครองแบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัดเป็นอุดมคติ ที่นั่นคือประเทศเบลเยียมแห่งกษัตริย์เลออโปลอันเป็นตัวอย่างที่ดี รัฐธรรมนูญเบลเยียมคือรัฐธรรมนูญที่ "มีครบทุกอย่าง" ตั้งแต่อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนที่ได้รับการรับรองอย่างชัดเจน กษัตริย์และราชวงศ์ที่อยู่ในฐานะที่จะต้องให้สัตย์เพื่อให้ปกป้องรัฐธรรมนูญ อำนาจนิติบัญญัติแบบสองสภาซึ่งทั้งสองสภานั้นมีที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน ระบบตุลาการที่เป็นอิสระ สถาบันพระสงฆ์ที่รัฐสนับสนุนแต่ยังคงความเป็นอิสระจากรัฐ และปฏิญญาแห่งสิทธิเสรีภาพของปวงชนอันเป็นไปตามหลักเสรีภาพ ค.ศ. 1776 และค.ศ. 1789 และในอีกหลายประเด็นที่ได้รับการพัฒนามาจากหลักเสรีภาพเหล่านี้[5]
ความเปลี่ยนแปลงที่ตามมา
[แก้]ในรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1831 แรกเริ่มบัญญัติให้เบลเยียมเป็นรัฐเดี่ยว และแบ่งการปกครองเป็นสามระดับ ระดับรัฐ ระดับจังหวัด และระดับเทศบาล ต่อมาในการปฏิรูปประเทศเบลเยียมได้ปรับระบบการเมืองเบลเยียมไปสู่การปกครองแบบสหพันธรัฐซึ่งเพิ่มเติมประเด็นมากมายลงไปในรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1831 ต้นฉบับนั้นเขียนขึ้นเป็นภาษาฝรั่งเศส ซึ่งเข้าถึงได้เพียงพลเมืองบางส่วนของประเทศ ต่อมาได้มีการจัดทำฉบับภาษาดัตช์ใน ค.ศ. 1967[6] ซึ่งก่อนหน้านั้นฉบับแปลเป็นภาษาดัตช์นั้นไม่ได้รับการรับรองตามกฎหมาย และตั้งแต่ ค.ศ. 1991 ได้มีการจัดทำเป็นภาษาเยอรมันเพิ่มเติม[7]
เชิงกฎหมาย
[แก้]ความเป็นสหพันธรัฐ องค์ประกอบ และเขตแดน
[แก้]– มาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญเบลเยียม
ตั้งแต่ ค.ศ. 1993 เป็นต้นมา มาตราแรกของรัฐธรรมนูญบัญญัติให้เบลเยียมเป็นประเทศแบบสหพันธรัฐอันประกอบด้วยประชาคมและแคว้น ซึ่งหมายความถึงการมีหน่วยการปกครองย่อยสองแบบในระดับเดียวกัน โดยไม่มีหน่วยหนึ่งหน่วยใดที่สำคัญกว่า
มาตรา 2 แบ่งให้ประเทศเบลเยียมเป็นสามประชาคม ได้แก่ ประชาคมเฟลมิช ประชาคมฝรั่งเศส และประชาคมผู้พูดภาษาเยอรมัน โดยซึ่งมาตรา 3 แบ่งให้ประเทศเบลเยียมเป็นสามแคว้น ได้แก่ แคว้นเฟลมิช แคว้นวอลลูน และแคว้นบรัสเซลส์ มาตรา 4 แบ่งประเทศเบลเยียมเป็นสี่เขตภาษา คือเขตภาษาดัตช์ เขตภาษาฝรั่งเศส เขตทวิภาษา (ฝรั่งเศสและดัตช์) แห่งนครหลวงบรัสเซลส์ และเขตภาษาเยอรมัน[8] ในแต่ละเทศบาลในราชอาณาจักรล้วนเป็นส่วนหนึ่งของเขตภาษาทั้งสี่เขตเท่านั้น และอาณาเขตของเขตภาษาต่าง ๆ สามารถเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขได้โดยกฎหมายที่ได้รับเสียงข้างมากตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ของแต่ละกลุ่มภาษาของแต่ละสภาเท่านั้น
มาตรา 5 แบ่งให้ทั้งแคว้นเฟลมิชและแคว้นวอลลูนประกอบด้วยห้าจังหวัด และยังระบุถึงการแก้ไขเพิ่มเติมจำนวนของจังหวัดในอนาคต มาตรา 6 บัญญัติให้การแบ่งการปกครองจากระดับจังหวัดออกเป็นระดับย่อยนั้นทำได้ตามกฎหมายเท่านั้น เขตแดนของประเทศ จังหวัด และเทศบาลสามารถเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขได้โดยกฎหมายเท่านั้น (มาตรา 7)
นโยบายทั่วไป
[แก้]ใน ค.ศ. 2007 ในหมวดที่ 1 ทวิ ซึ่งเพิ่มเติมเข้าไปในรัฐธรรมนูญ เรื่อง นโยบายทั่วไปของประเทศเบลเยียม ประชาคม และแคว้น ซึ่งจวบจนปัจจุบันมีเพียงมาตราเดียว คือมาตรา 7 ทวิ โดยระบุว่า "ในการใช้อำนาจหน้าที่ดังกล่าวของรัฐบาลกลาง ประชาคม และแคว้น จะต้องมุ่งมั่นในวัตถุประสงค์ด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนในด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม โดยให้ร่วมมือกันระหว่างยุคสมัย" โดยกฎหมายที่ระบุมาตรานี้ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 26 เมษายน ค.ศ. 2007
ชาวเบลเยียมและสิทธิของพลเมือง
[แก้]หมวดที่ 2 ของรัฐธรรมนูญเบลเยียม ใช้ชื่อว่า ชาวเบลเยียมและสิทธิของพลเมือง ในบทนี้แจกแจงถึงสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญในประเด็นต่าง ๆ ถึงแม้ว่าในรัฐธรรมนูญระบุไว้ถึงสิทธิและเสรีภาพของชาวเบลเยียม แต่โดยหลักการแล้วสิทธิและเสรีภาพนี้เป็นของบุคคลทุกคนในเขตประเทศเบลเยียม โดยนอกเหนือจากสิทธิต่าง ๆ ที่แจกแจงไว้ในหมวดที่ 2 แล้ว ชาวเบลเยียมยังมีสิทธิได้รับความคุ้มครองในอนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
มาตรา 8 และ 9 บัญญัติถึงการได้มาซึ่งสัญชาติเบลเยียม มาตรา 8 ยังบัญญัติว่ากฎหมายยังสามารถให้สิทธิในการลงคะแนนเลือกตั้งแก่บุคคลที่ถือสัญชาติของประเทศสมาชิกประชาคมยุโรปที่ไม่ได้ถือสัญชาติเบลเยียม หรือแก่บุคคลที่ไม่ได้ถือสัญชาติในยุโรปตามข้อบังคับระหว่างประเทศ มาตรา 9 บัญญัติถึงการให้สัญชาติแก่บุคคลสามารถกระทำได้โดยอำนาจนิติบัญญัติของรัฐเท่านั้น อย่างไรก็ตามในมาตรา 74 ระบุเพิ่มเติมว่าให้ใช้อำนาจของสภาผู้แทนราษฎรในการให้สัญชาติแก่บุคคลเท่านั้น โดยวุฒิสภานั้นไม่มีอำนาจ
ชาวเบลเยียมทุกคนย่อมเสมอกันในกฎหมาย; และสามารถเข้ารับราชการพลเรือน
และราชการทหารได้ ยกเว้นในกรณีพิเศษที่ได้บัญญัติไว้ตามกฎหมาย
ชายและหญิงได้รับการรับรองให้มีสิทธิเท่าเทียมกัน
– มาตรา 10 ของรัฐธรรมนูญเบลเยียม
มาตรา 10 บัญญัติให้ประชาชนชาวเบลเยียมทั้งปวงย่อมเสมอกันในกฎหมาย มาตรา 11 บัญญัติให้สิทธิและเสรีภาพนั้นเท่าเทียมกันโดยไม่มีการแบ่งแยกหรือเลือกปฏิบัติ มาตรา 12 รับรองเสรีภาพของบุคคล และบัญญัติว่าไม่มีผู้ใดสามารถละเมิดได้ยกเว้นในกรณีที่เป็นไปตามกฎหมาย หรือตามขั้นตอนที่กฎหมายบัญญัติ มาตรา 13 บัญญัติให้บุคคลทุกคนมีสิทธิในการไปศาลยุติธรรมได้ มาตรา 14 รับรองถึงหลักกฎหมายตามหลักการ "ไม่มีโทษถ้าไม่มีกฎหมายกำหนด" (ละติน: nulla poena sine lege, นุลลาโพนาซีเนเลเก) นอกจากนี้ในมาตรา 14 ทวิ ที่ระบุเพิ่มเติมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 2005 ว่า "โทษประหารทั้งปวงนั้นถูกยกเลิก"
มาตรา 15 ระบุห้ามถึงการค้นตัวบุคคลจะกระทำมิได้เว้นแต่มีเหตุตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งรวมถึงเสรีภาพในเคหสถานซึ่งจะละเมิดมิได้ และการเข้าไปในเคหสถาน หรือการค้นเคหสถานจะกระทำมิได้เว้นแต่เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ มาตรา 16 บัญญัติว่าการริบสินทรัพย์ของบุคคลใดจะกระทำมิได้ยกเว้นแต่หากเป็นไปตามหลักแห่งประโยชน์สาธารณะ โดยในกรณีนี้จะต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ และจะต้องได้รับการชดเชยล่วงหน้าอย่างยุติธรรม
มาตรา 17 บัญญัติให้การลงโทษด้วยการยึดทรัพย์สินจะกระทำมิได้ มาตรา 18 ยังบัญญัติเพิ่มเติมให้ยกเลิกโทษประหารชีวิต และไม่สามารถจะนำกลับมาใช้อีกได้ โดยโทษประหารชีวิตเคยเป็นหนึ่งในการตัดสินโทษในระบอบเก่า
มาตรา 19 ถึง 21 รับรองเสรีภาพในการนับถือศาสนา มาตรา 19 ปกป้องเสรีภาพทางศาสนาและสิทธิในการปฏิบัติหรือประกอบพิธีกรรมตามหลักศาสนาของตน และยังรับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้ มาตรา 19 กำหนดถึงบทลงโทษในการละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นหลักการที่ย้อนแย้งกันกับกฎหมายการห้ามการปฏิเสธการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของเบลเยียม ซึ่งทำให้ผู้ใดที่พยายาม "ปฏิเสธ ให้ความเป็นธรรม หรือรับรองการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ของพรรคนาซีเยอรมันในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2" ในที่สาธารณะมีความผิดทางกฎหมาย
มาตรา 22 บัญญัติให้บุคคลย่อมมีสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัว เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย มาตราที่ 22 ทวิ บัญญัติถึงการเคารพในสิทธิของเด็กในเรื่องบูรณาภาพทางเพศ ทางกาย ทางจิตใจ และทางศีลธรรม
มาตรา 23 ปกป้องสิทธิในการดำรงชีวิตด้วยศักดิ์ศรี โดยประกอบด้วย
- มีสิทธิเสรีภาพในการประกอบอาชีพ ภายในกรอบของนโยบายการจ้างงานเพื่อมีวัตถุประสงค์เพื่อการจ้างงานที่มั่งคง เพื่อการได้รับสภาพแวดล้อมในการทำงานและค่าตอบแทนที่เป็นธรรม รวมทั้งสิทธิเสรีภาพด้านการเข้าถึงข้อมูล การเข้ารับการปรึกษา และข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างงาน
- มีสิทธิในประกันสังคม การได้รับบริการสาธารณสุข และความช่วยเหลือด้านสังคม การแพทย์ และกฎหมาย
- มีสิทธิเสรีภาพในการเลือกถิ่นที่อยู่
- มีสิทธิในการได้รับการคุ้มครองให้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่สมบูรณ์
- มีสิทธิเสรีภาพในการพัฒนาวัฒนธรรมและสังคม
มาตรา 24 ปกป้องเสรีภาพในการศึกษาและสิทธิของผู้ปกครองในการเลือกสถานศึกษา โดยบัญญัติว่าประชาคมจะต้องระบบการศึกษาสามัญอันหมายถึงการเคารพถึงหลักด้านปรัชญา หลักอุดมการณ์ และมุมมองด้านศาสนาของผู้ปกครองและนักเรียน ย่อหน้าที่สามของมาตรานี้บัญญัติให้พลเมืองมีสิทธิในการได้รับการศึกษาตามหลักสิทธิและเสรีภาพพื้นฐาน และการศึกษานั้นไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ในภาคบังคับ (ในประเทศเบลเยียมการศึกษาภาคบังคับใช้จนถึงอายุ 18 ปีบริบูรณ์)
มาตรา 25 รับรองเสรีภาพสื่อและบัญญัติให้การตรวจสอบสื่อนั้นเป็นสิ่งที่กระทำมิได้ มาตรา 26 ปกป้องเสรีภาพในการชุมนุมโดยกำหนดให้บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ มาตรา 27 รับรองถึงเสรีภาพในการสมาคม มาตรา 28 รับรองสิทธิในการร้องทุกข์ต่อหน่วยงานของรัฐ มาตรา 29 บัญญัติว่าความเป็นส่วนตัวในการโต้ตอบทางไปรษณีย์นั้นจะละเมิดมิได้
มาตรา 30 บัญญัติถึงการใช้ภาษาใด ๆ ในเบลเยียมนั้นได้รับการเปิดกว้าง หมายความถึงการบังคับใช้ภาษาใดภาษาหนึ่งนั้นจะสามารถกระทำได้เฉพาะตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายเท่านั้น และใช้เพื่อสำหรับองค์กรสาธารณะและสำหรับการพิจารณาคดีความทางกฎหมาย มาตรา 31 กำหนดให้มีการลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐสำหรับการกระทำความผิดในหน้าที่ได้โดยไม่ต้องมีการขออนุญาต มาตรา 32 กำหนดให้บุคคลทุกคนมีสิทธิเสรีภาพด้านข้อมูลข่าวสารในครอบครองของหน่วยงานของรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติให้
ตั้งแต่ ค.ศ. 2003 เป็นต้นมา ศาลอนุญาโตตุลาการ ซึ่งในปัจจุบันคือศาลรัฐธรรมนูญสามารถตรวจสอบกฎหมาย บัญญัติ และเทศบัญญัติ ว่าเป็นไปตามหมวดที่ 2 และมาตรา 170, 172 และ 191 (ในประเด็นเรื่องความเท่าเทียมของชาวเบลเยียมและชาวต่างชาติและการป้องกันการเลือกปฏิบัติทางภาษี) แห่งรัฐธรรมนูญ ในการตีความด้านกฎหมายที่แจกแจงในหมวดที่ 2 ของรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญยังใช้เกณฑ์ในอนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชนเพื่อป้องกันมิให้มีการตีความที่ผิดไปจากกันในหลักการเดียวกัน
อำนาจตามรัฐธรรมนูญ
[แก้]อำนาจเหล่านั้นจะใช้ในลักษณะที่รัฐธรรมนูญกำหนด
– มาตราที่ 33 ของรัฐธรรมนูญเบลเยียม
หมวดที่ 3 ของรัฐธรรมนูญเบลเยียม ใช้ชื่อว่า อำนาจ (The Powers) ซึ่งประกอบด้วยมาตรา 33 จนถึงมาตรา 166 และแบ่งออกเป็นแปดบทย่อย ซึ่งในนี้มีสี่บทที่สามารถแบ่งย่อยลงไปอีก โดยถือเป็นส่วนที่มีข้อมูลมากที่สุดในรัฐธรรมนูญ ในหมวดนี้ระบุไว้ถึงระบบของปกครองตามหลักการแบ่งแยกอำนาจ
มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ ระบุว่าการใช้อำนาจหรือหน้าที่บางประการจะต้องเป็นไปองค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ ที่ผูกพันกันตามสนธิสัญญาหรือตามกฎหมาย โดยหมายถึงความเป็นประเทศสมาชิกของเบลเยียมในสหภาพยุโรป
มาตรา 36 ให้อำนาจนิติบัญญัติในระดับสหพันธรัฐนั้นเป็นของพระมหากษัตริย์ สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ถึงแม้ว่าในรัฐธรรมนูญระบุไว้ว่าอำนาจนิติบัญญัติจะต้องถูกใช้โดยสามฝ่ายนี้ แต่ในทางปฏิบัติแล้วเป็นหน้าที่ของรัฐสภากลาง อันประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ แต่อย่างไรก็ตามกฎหมายก่อนจะบังคับใช้ได้จะต้องได้รับการลงพระปรมาภิไธยก่อน
มาตรา 37 ให้อำนาจบริหารเป็นของพระมหากษัตริย์ แต่ในทางปฏิบัติรัฐบาลกลางเป็นผู้ใช้อำนาจในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์
มาตรา 38 และ 39 นิยามบทบาทและหน้าที่รับผิดชอบของประชาคมและแคว้นต่าง ๆ ในมาตรา 38 นั้นระบุว่าแต่ละประชาคมในเบลเยียมมีอำนาจหน้าที่โดยรัฐธรรมนูญ หรือตามกฎหมายซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 39 ระบุว่ากฎหมายใดที่ผ่านเสียงข้างมากตามที่กำหนดไว้สามารถบังคับใช้ได้เพื่อบัญญัติหน้าที่รับผิดชอบให้กับองค์กรปกครองในระดับแคว้นได้
มาตราที่ 40 ให้อำนาจตุลาการแก่ศาลยุติธรรม โดยที่การพิจารณาคดีและการพิพากษาคดีนั้นกระทำในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์
ฝ่ายนิติบัญญัติ
[แก้]ในบทที่ 1 เรื่อง สภากลาง ระบุถึงองค์ประกอบของสภา การเลือกตั้ง คุณสมบัติของสมาชิกและองค์กรแห่งรัฐสภากลาง อันประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ประกอบด้วยสามส่วน ส่วนแรกเป็นบทบัญญัติของทั้งสองสภา ในขณะที่อีกสองส่วนนั้น ส่วนที่ 1 เรื่อง สภาผู้แทนราษฎร และส่วนที่ 2 วุฒิสภา เป็นบทบัญญัติที่มีเฉพาะแต่ในสภานั้น ๆ เพียงสภาเดียว
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งนั้น มีที่มาโดยการเลือกตั้งของพลเมืองเบลเยียมทุกคนที่มีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมาย มาตรา 61 กล่าวเพิ่มว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีสิทธิละหนึ่งเสียงเท่ากัน โดยหลักการแล้วการเลือกตั้งทั่วไปมีขึ้นทุก 4 ปี แต่เป็นไปได้ที่จะมีบ่อยขึ้นเมื่อมีการยุบสภาก่อนหมดวาระ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะต้องมีสัญชาติเบลเยียม ซึ่งมีสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองอย่างสมบูรณ์ จะต้องมีอายุ 21 ปีบริบูรณ์และจะต้องมีถิ่นพำนักในเบลเยียม เงื่อนไขอื่นนั้นไม่ปรากฏ
ในบทที่ 2 เรื่อง อำนาจนิติบัญญติของประเทศ กล่าวถึงอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ มาตรา 74 ระบุว่าอำนาจนิติบัญญัติของประเทศนั้นใช้โดยพระมหากษัตริย์ และสภาผู้แทนราษฎร โดยไม่รวมถึงวุฒิสภา มาตรา 75 กำหนดให้แต่ละฝ่ายในสภานิติบัญญัติมีสิทธิที่จะเสนอร่างกฎหมายได้ หมายความถึงสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาและพระมหากษัตริย์ ซึ่งในทางปฏิบัติคือรัฐสภากลางสามารถเสนอร่างกฎหมายต่าง ๆ ได้ มาตรา 77 กล่าวถึงกรณีต่าง ๆ ที่สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภานั้นมีบทบาทเสมอกัน มาตรา 78 ถึง 83 ระบุเพิ่มเติมถึงขั้นตอนทางสภาและความสัมพันธ์ระหว่างสองสภาในรัฐสภากลาง
สถาบันพระมหากษัตริย์
[แก้]ในบทที่ 3 เรื่อง พระมหากษัตริย์และรัฐบาลกลาง ประกอบด้วยมาตรา 85 ถึง 114 แบ่งเป็นสามส่วน ส่วนที่ 1 เรื่อง พระมหากษัตริย์ บัญญัติถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ของเบลเยียม การสืบสันตติวงศ์ และบทบัญญัติเกี่ยวกับผู้สำเร็จราชการ ส่วนที่ 2 เรื่อง รัฐบาลกลาง บัญญัติถึงรัฐบาลกลางและที่มาของสมาชิกทั้งหลาย ส่วนที่ 3 เรื่อง อำนาจหน้าที่ นิยามอำนาจตามรัฐธรรมนูญของพระมหากษัตริย์ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วถูกใช้ผ่านรัฐบาลกลาง
มาตร 85 ระบุถึงอำนาจตามรัฐธรรมนูญของพระมหากษัตริย์นั้นสืบสันตติวงศ์ได้ผ่านทางการสืบราชสันตติวงศ์ผ่านรัชทายาทสายตรงในสมเด็จพระเจ้าเลออปอลที่ 1 โดยยึดหลักในลำดับของการเป็นบุตรหัวปี อย่างไรก็ตามในหมวดที่ 9 ซึ่งเป็นบทบัญญัติเฉพาะกาล ระบุเพิ่มเติมว่ามาตรา 85 นั้นมีผลบังคับใช้เป็นครั้งแรกโดยนับหลังจากรัชสมัยของสมเด็จพระราชาธิบดีอัลแบร์ที่ 2 ลงไป กล่าวคือ พระราชธิดาในสมเด็จพระราชาธิบดีอัลแบร์ที่ 2 และในพระมหากษัตริย์รัชสมัยถัดไปล้วนอยู่ในลำดับการสืบราชสันตติวงศ์ทั้งสิ้น โดยที่ไม่รวมถึงพระราชธิดาในพระมหากษัตริย์พระองค์ก่อนหน้า โดยบทบัญญัติแก้นี้ได้รับการเพิ่มเติมเข้าไปเพื่อแก้ไขหลักกฎหมายแซลิกซึ่งไม่ให้รวมพระราชธิดาในการสืบสันตติวงศ์ (เคยใช้ก่อน ค.ศ. 1991)
มาตรา 85 ระบุเพิ่มเติมถึงพระราชโอรสและพระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าเลออปอลที่ 1 ที่เสกสมรสโดยไม่มีพระบรมราชานุญาตของพระมหากษัตริย์ (หรือผู้ที่ใช้พระราชอำนาจนั้นแทนตามที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญ) ย่อมไม่มีสิทธิในราชบัลลังก์ โดยสิทธินี้สามารถสถาปนาคืนได้โดยผ่านการรับรองโดยสภาทั้งสอง และในบทบัญญัติเฉพาะกาลในหมวดที่ 9 ระบุถึงกรณีการเสกสมรสของเจ้าหญิงอัสตริดแห่งเบลเยียม กับอาร์ชดยุกลอเรนซ์แห่งออสเตรีย-เอสเต ได้รับพระบรมราชานุญาตอย่างถูกต้องตามประเพณี มีการเพิ่มเติมบทบัญญัตินี้เข้ามาเนื่องจากการเสกสมรสเกิดขึ้นใน ค.ศ. 1984 ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่พระราชธิดาจะได้รับการรวมอยู่ในลำดับการสืบราชสันตติวงศ์ การเสกสมรสของพระองค์นั้นในขณะนั้นไม่จำเป็นต้องได้รับพระบรมราชานุญาต
มาตรา 86 บัญญัติว่าในเหตุที่ไม่มีผู้สืบสันตติวงศ์ต่อจากสมเด็จพระเจ้าเลออปอลที่ 1 แล้ว พระมหากษัตริย์สามารถเลือกผู้สืบสันตติวงศ์ได้โดยต้องผ่านการรับรองโดยสภาทั้งสอง โดยการรับรองนั้นที่ประชุมจะต้องมีผู้เข้าร่วมอย่างน้อยสองในสามของสมาชิกทั้งหมด และจะต้องได้เสียงข้างมากอย่างน้อยสองในสามของสมาชิกทั้งหมด ณ ที่ประชุม ในเหตุที่ไม่สามารถเลือกผู้สืบสันตติวงศ์ได้ในกรณีนี้ทำให้ราชบัลลังก์ว่างลง มาตรา 95 บัญญัติเพิ่มเติมในกรณีราชบัลลังก์ที่ว่างลงนั้น รัฐสภากลาง (ทั้งสองสภา) จะต้องเปิดประชุมสภาเฉพาะกาลเพื่อแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการ และให้มีการเลือกตั้งทั่วไปใหม่ โดยที่รัฐสภาที่เพิ่งเลือกเข้ามาใหม่นั้นจะต้องเปิดประชุมภายในเวลาสองเดือนเพื่อที่จะเลือกพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่เป็นการถาวร
รัฐสภากลาง (สองสภา) จะต้องแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการในอีกสองกรณีด้วย ตามมาตรา 92 และ 93 ในกรณีที่ผู้รับสืบสันนติวงศ์นั้นยังทรงพระเยาว์ หรือเหตุที่พระมหากษัตริย์พระองค์นั้นไม่สามารถปฏิบัติพระราชกรณียกิจได้ ในทั้งสองกรณีรัฐสภากลางจะต้องแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มาตรา 94 บัญญัติให้มีผู้สำเร็จราชการเพียงคนเดียวและจะต้องเข้าพิธีถวายสัตย์ตามรัฐธรรมนูญก่อนเข้ารับหน้าที่ มาตรา 93 บัญญัติให้รัฐมนตรีต้องรับทราบและรับรองในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่สามารถปฏิบัติพระราชกรณียกิจได้ โดยจะต้องเรียกประชุมสภาทั้งสองโดยทันที
มาตรา 90 บัญญัติถึงกรณีพระมหากษัตริย์เสด็จสวรรคต รัฐสภากลางจะต้องเปิดประชุมทันทีโดยไม่ต้องเรียกประชุมภายในเวลาสิบวันหลังจากวันสวรรคต ในกรณีที่มีการยุบสภาก่อนหน้าวันสวรรคต และกำหนดการเรียกประชุมสภาใหม่นั้นเกินกว่าสิบวันหลังจากวันสวรรคต ให้สภาเก่าเข้าเปิดประชุมแทนจนกว่าสภาใหม่จะเปิดประชุมได้ นอกจากนี้ยังบัญญัติว่าในระยะเวลาที่ราชบัลลังก์ว่างลงจนถึงการรับราชสมบัติของพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ หรือการเข้าพิธีถวายสัตย์ของผู้สำเร็จราชการ ในช่วงเวลานั้นอำนาจของพระมหากษัตริย์นั้นจะถูกใช้โดยคณะรัฐมนตรีในนามของชาวเบลเยียม
มาตรา 90 และ 93 เกี่ยวกับกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่สามารถปฏิบัติพระราชกรณียกิจได้นั้น เคยเกิดขึ้นครั้งหนึ่งใน ค.ศ. 1990 เรียกกันว่า "คำถามเรื่องการทำแท้ง" อันมาจากประเด็นที่สมเด็จพระราชาธิบดีโบดวง ทรงปฏิเสธไม่ลงพระปรมาภิไธยในกฎหมายด้านการทำแท้งเสรี โดยมีเหตุมาจากเรื่องข้อห้ามทางศาสนา โดยรัฐบาลกลางในขณะนั้นได้ประกาศให้พระมหากษัตริย์ไม่สามารถปฏิบัติพระราชกรณียกิจได้เมื่อวันที่ 4 เมษายน ค.ศ. 1990 โดยมีคณะรัฐมนตรีลงนามและประกาศใช้กฎหมายแทน ในวันถัดไปรัฐสภากลางได้ประกาศรับรองให้สมเด็จพระราชาธิบดีโบดวงทรงกลับมาปฏิบัติพระราชกรณียกิจตามรัฐธรรมนูญได้
ตามมาตรา 87 แห่งรัฐธรรมนูญ พระมหากษัตริย์ไม่สามารถดำรงตำแหน่งเป็นประมุขของประเทศอื่นในเวลาเดียวกันได้โดยไม่ได้รับการยินยอมโดยทั้งสองสภา ในกรณีของรัฐร่วมประมุขสามารถกระทำได้โดยการลงมติรับรองด้วยเสียงกว่าสองในสามของสภาทั้งสอง โดยจะต้องมีสมาชิกเข้าร่วมประชุมไม่ต่ำกว่าสองในสามของสมาชิกทั้งหมดในสองสภา มาตรานี้ได้นำมาใช้เพียงครั้งเดียวใน ค.ศ. 1885 เมื่อสมเด็จพระเจ้าเลออปอลที่ 2 แห่งเบลเยียม ทรงรับเป็นประมุขร่วมกับเสรีรัฐคองโก
ฝ่ายบริหาร
[แก้]ในส่วนที่สองของบทที่ 3 กล่าวถึงองค์ประกอบและหน้าที่ของรัฐบาลกลาง มาตรา 96 บัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งรัฐมนตรี หรือให้รัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง นอกจากนี้ยังบัญญัติว่ารัฐบาลกลางจะต้องส่งหนังสือกราบบังคมทูลลาออกจากตำแหน่งกับพระมหากษัตริย์ในกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรใช้สิทธิอภิปรายไม่ไว้วางใจผ่านสภาด้วยเสียงข้างมากเด็ดขาดโดยจะทูลเกล้าฯ ถวายชื่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่ต่อพระมหากษัตริย์เพื่อทรงแต่งตั้ง ในกรณีนี้จะทรงแต่งตั้งตามที่สภาฯ ทูลเกล้าถวาย โดยจะถือว่านายกรัฐมนตรีคนใหม่จะเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อคณะรัฐมนตรีเข้าถวายสัตย์ก่อนเข้ารับตำแหน่ง
มาตรา 97 ถึง 99 ประกอบด้วยบทบัญญัติต่าง ๆ เกี่ยวกับสมาชิกภาพของรัฐบาลกลาง มาตรา 97 บัญญัติให้บุคคลที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีจะต้องมีสัญชาติเบลเยียมเท่านั้น และมาตรา 98 ระบุถึงการห้ามมิให้สมาชิกราชวงศ์เบลเยียมทุกพระองค์ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี มาตรา 99 บัญญัติให้คณะรัฐมนตรีประกอบด้วยสมาชิกจำนวนไม่เกิน 15 คน และจะต้องประกอบด้วยผู้พูดภาษาดัตช์จำนวนเท่ากับผู้พูดภาษาฝรั่งเศส โดยไม่รวมถึงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
และกฎหมายเฉพาะซึ่งได้รับความเห็นชอบตามรัฐธรรมนูญนั้นเอง
มอบหมายให้อย่างแจ้งชัด
– มาตรา 105 ของรัฐธรรมนูญเบลเยียม
ส่วนที่สามกล่าวถึงบทบาทและอำนาจหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วทรงใช้พระราชอำนาจผ่านรัฐบาลกลาง มาตรา 105 ระบุอย่างชัดเจนว่าพระมหากษัตริย์ไม่มีพระราชอำนาจอื่นใดนอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่บังคับใช้ตามรัฐธรรมนูญ ในมาตรานี้ยังกล่าวถึงหลักที่ว่าอำนาจบริหารของรัฐบาลกลางนั้นไม่มีอำนาจหรือบทบาทนอกเหนือจากที่บัญญัติให้โดยอำนาจนิติบัญญัติโดยรัฐสภากลาง
มาตรา 106 ระบุว่าการกระทำใด ๆ ของพระมหากษัตริย์จะไม่มีผลหากปราศจากการรับรองโดยการลงนามโดยรัฐมนตรี ผู้ซึ่งรับผิดชอบในการกระทำนั้น ๆ แทน ซึ่งหมายความว่ารัฐมนตรีผู้นั้นจะเป็นผู้ที่รับผิดชอบต่อการกระทำนั้นแทนองค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นหลักการที่ว่าพระมหากษัตริย์นั้นดำรงฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้ โดยบัญญัติไว้ในมาตรา 88 และในหลักการของความรับผิดชอบของรัฐมนตรีซึ่งอยู่ในมาตรา 101
ประชาคมและแคว้นต่าง ๆ
[แก้]บทที่ 4 เรื่อง ประชาคมและแคว้น ประกอบด้วยมาตรา 115 ถึง 140 แบ่งเป็นสองส่วน ซึ่งแบ่งออกเป็นส่วนย่อย ๆ ส่วนแรก เรื่อง ระบบ และการจัดตั้งเป็นประชาคมและแคว้นต่าง ๆ รวมถึงบทบาทหน้าที่ โดยแบ่งเป็นสองส่วนย่อยซึ่งเป็นเรื่องของสภาประชาคมกับสภาแคว้น และรัฐบาลประชาคมกับรัฐบาลแคว้น ส่วนที่สอง เรื่อง บทบาทและหน้าที่ และนิยามถึงบทบาทและความรับผิดชอบของประชาคมและแคว้น ซึ่งแบ่งเป็นสามส่วนย่อย ได้แก่ บทบาทของประชาคม บทบาทของแคว้น และบทบัญญัติพิเศษที่เกี่ยวกับบทบาทเหล่านี้
มาตรา 115 ของส่วนที่ 1 ให้มีการจัดตั้งสภาประชาคมเฟลมิชหรือเรียกว่าสภาเฟลมิช สภาประชาคมฝรั่งเศส และสภาประชาคมผู้พูดภาษาเยอรมัน โดยระบุต่อว่าในแต่ละแคว้นจะต้องมีสภาเป็นของตัวเอง ซึ่งทำให้เกิดสภาวอลลูนและสภาบรัสเซลส์ ในขณะที่สภาเฟลมิชมีบทบาทควบรวมระหว่างสภาประชาคมเฟลมิชกับแคว้นเฟลมิช มาตรา 116 บัญญัติให้สภาประชาคมและสภาแคว้นประกอบด้วยสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้ง โดยสมาชิกของสภาประชาคมนั้นจะต้องมาจากการเลือกตั้งทางตรงเพื่อสภาประชาคมหรือสภาแคว้นนั้น ๆ ซึ่งตรงกับกรณีของสภาประชาคมฝรั่งเศส และใช้หลักเดียวกันสำหรับสมาชิกสภาแคว้น
สมาชิกสภาประชาคมและสภาแคว้น มีที่มาจากการเลือกตั้งและอยู่ในตำแหน่งวาระละ 5 ปี และตามมาตรา 117 แห่งรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้งจะต้องเกิดขึ้นพร้อมกับการเลือกตั้งสภายุโรป ยกเว้นในกรณีที่ออกกฎหมายยกเว้น มาตรา 119 ให้สมาชิกสภาประชาคม หรือสภาแคว้น ไม่สามารถเป็นสมาชิกรัฐสภากลางได้ในเวลาเดียวกัน ยกเว้นในกรณีเดียวคือสมาชิกวุฒิสภาที่แต่งตั้งมาจากประชาคมหรือแคว้นของตนเพื่อเป็นตัวแทนในวุฒิสภา และมาตรา 120 ให้สมาชิกสภาประชาคมและสภาแคว้นได้รับความคุ้มกันของสมาชิกรัฐสภาเฉกเช่นกับสมาชิกรัฐสภากลาง
มาตรา 121 ให้มีการจัดตั้งรัฐบาลเฟลมิช รัฐบาลประชาคมฝรั่งเศส และรัฐบาลประชาคมผู้พูดภาษาเยอรมัน และบัญญัติให้แต่ละแคว้นจะต้องมีรัฐบาลเช่นกัน รัฐบาลเฟลมิชถือเป็นรัฐบาลของทั้งประชาคมและแคว้นเฟลมิช สมาชิกในรัฐบาลประชาคมและรัฐบาลแคว้นนั้นมาจากการเลือกตั้งโดยสภาต้นสังกัด
ส่วนที่ 2 ระบุถึงบทบาทและหน้าที่รับผิดชอบของประชาคมและแคว้น มาตรา 127 ของส่วนย่อยที่ 1 บัญญัติให้สภาเฟลมิชและสภาประชาคมฝรั่งเศสมีอำนาจหน้าที่ด้านวัฒนธรรมและการศึกษา อย่างไรก็ตามในด้านการศึกษาไม่ได้ให้อำนาจด้านเกณฑ์อายุในการได้รับการศึกษาภาคบังคับตั้งแต่เริ่มต้นจนจบการศึกษา ไม่ได้ให้อำนาจในการพิจารณาการออกวุฒิการศึกษา และบำนาญต่าง ๆ มาตรา 128 บัญญัติให้สภาเฟลมิชและสภาประชาคมฝรั่งเศสมีบทบาทหน้าที่ที่เกี่ยวกับตัวบุคคล นอกจากนี้ สภาเฟลมิชและสภาประชาคมฝรั่งเศสยังมีบทบาทด้านความร่วมมือระหว่างประชาคม และยังมีอำนาจในการลงนามในสนธิสัญญาที่อยู่ในขอบเขตอำนาจหน้าที่
ตามมาตรา 129 [สภาเฟลมิช]]และสภาประชาคมฝรั่งเศสมีบทบาทรับผิดชอบด้านนิติบัญญัติที่เกี่ยวกับการเลือกใช้ภาษาในระบบราชการและการติดต่อราชการ ด้านการศึกษา และด้านความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง โดยมีขอบเขตจำกัดบางประการ โดยไม่สามารถผ่านร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการใช้ภาษาในบริเวณขอบเขตอำนาจของรัฐบาลกลาง หรือภายในบริเวณเขตเทศบาลที่มีบริการด้านภาษา หรือในองค์กรสังกัดรัฐบาลกลางและองค์กรระหว่างประเทศ
มาตรา 130 ให้จัดทำบทบาทของสภาประชาคมผู้พูดภาษาเยอรมัน โดยบัญญัติให้สภาประชาคมผู้พูดภาษาเยอรมันมีหน้าที่ด้านวัฒนธรรมและด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับตัวบุคคล การศึกษาโดยมีข้อจำกัดเดียวกันกับสภาประชาคมอื่น ๆ ความร่วมมือระหว่างประชาคมและระหว่างประเทศ รวมถึงอำนาจในการทำสนธิสัญญาที่เกี่ยวข้องกับบทบาทหน้าที่ของประชาคมและภาษาที่ใช้ในการศึกษา มีประเด็นเดียวที่แตกต่างไปจากประชาคมอื่น คือกฎหมายใด ๆ ที่อยู่ในบทบาทของสภาประชาคมผู้พูดภาษาเยอรมันนั้นไม่จำเป็นจะต้องได้รับคะแนนเสียงข้างมากพิเศษในรัฐสภากลาง
ฝ่ายตุลาการ
[แก้]ในหมวดที่ 5 เรื่อง ศาลรัฐธรรมนูญ การป้องกันความขัดแย้ง และการหาข้อยุติ ประกอบด้วยมาตรา 141 ถึง 143 แบ่งเป็นสามส่วน ซึ่งแต่ละส่วนประกอบด้วยหนึ่งเรื่อง ส่วนที่ 1 เรื่องการป้องกันความขัดแย้งในบทบาทหน้าที่ ส่วนที่ 2 เรื่องศาลรัฐธรรมนูญ (Constitutional Court) และส่วนที่ 3 เรื่องการป้องกันและหาข้อยุติเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน มาตรา 143 ระบุให้รัฐ ประชาคม แคว้น และคณะกรรมาธิการประชาคมร่วมซึ่งใช้อำนาจหน้าที่ขอบเขตของตนจะต้องเห็นแก่ความเป็นรัฐโดยรวม
หมวดที่ 6 เรื่อง อำนาจศาล อธิบายถึงองค์กรศาลยุติธรรมเบลเยียม ประกอบด้วยมาตรา 144 ถึง 159 มาตรา 147 ให้มีการจัดตั้งศาลยุติธรรมสูงสุด (Court of Cassation) มาตรา 150 ให้มีการจัดตั้งคณะลูกขุนสำหรับพิจารณาคดีอาญาอุกฉกรรจ์ คดีการเมือง และคดีที่เกี่ยวกับสื่อ ใน ค.ศ. 1999 มาตรานี้ได้รับการแก้ไขโดยบัญญัติเพิ่มเติมว่า "คดีที่เกี่ยวกับสื่อโดยมาจากความคิดด้านเหยียดสีผิวและความเกลียดกลัวต่างชาติ" จะไม่ได้รับการพิจารณาคดีโดยคณะลูกขุน มาตรา 151 ให้มีการจัดตั้งสภาสูงแห่งศาลยุติธรรม (High Council of Justice) และมีเกณฑ์การคัดสรรผู้พิพากษา มาตรา 156 ให้มีการจัดตั้งศาลอุทธรณ์ทั้งห้าพื้นที่ ได้แก่ บรัสเซลส์ เกนต์ แอนต์เวิร์ป ลีแยฌ และมงส์ มาตรา 157 บัญญัติให้ศาลทหารสามารถจัดตั้งได้ในเฉพาะเวลาสงคราม โดยยังบัญญัติถึงศาลพาณิชย์ ศาลแรงงาน และศาลชั้นต้นต่าง ๆ
หมวดที่ 7 เรื่อง ศาลปกครองสูงสุดและเขตอำนาจศาลปกครอง ประกอบด้วยมาตรา 160 และ 161 โดยให้จัดตั้งศาลปกครองสูงสุด (Council of State) และระบุไว้ว่าไม่สามารถกำหนดขอบเขตอำนาจศาลปกครองในวิธีอื่นได้นอกเหนือจากการใช้หลักกฎหมาย
การปกครองส่วนท้องถิ่น
[แก้]ในบทที่ 8 อันเป็นบทสุดท้ายของหมวดที่ 3 แห่งรัฐธรรนูญ เรื่อง องค์การส่วนจังหวัดและเทศบาล อธิบายถึงองค์การบริหารส่วนจังหวัดและเทศบาลของเบลเยียม ซึ่งประกอบด้วยมาตรา 162 ถึง 166 โดยมาตรา 162 ให้มีการจัดตั้งหลักการขององค์การบริหารส่วนจังหวัดและส่วนเทศบาล เช่น ที่มาของสมาชิกมาจากการเลือกของสภาจังหวัดและสภาเทศบาลของหน่วยนั้น ๆ มาตรา 163 บัญญัติให้บทบาทขององค์กรระดับจังหวัดที่ใช้บริหารจัดการในเขตปริมณฑลอันใหญ่กว่าจังหวัดซึ่งคือแคว้นนครหลวงบรัสเซลส์นั้นมาจากประชาคมเฟลมิช ประชาคมฝรั่งเศส คณะกรรมาธิการประชาคมร่วม และแคว้น มาตรา 165 บัญญัติให้ใช้กฎหมายในการจัดแบ่งเขตเทศบาลออกเป็นเขต ๆ หรือแยกออกเป็นหลายเขตได้ นอกจากนี้ยังระบุถึงบทบาทและหน้าที่ต่าง ๆ ของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ มาตรา 166 อธิบายถึงมาตราที่แล้วในการใช้กับเขตเทศบาลในสังกัดแคว้นนครหลวงบรัสเซลส์
การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
[แก้]รัฐธรรมนูญเบลเยียมสามารถแก้ไขเพิ่มเติมได้โดยฝ่ายนิติบัญญัติของรัฐสภากลาง อันประกอบด้วยพระมหากษัตริย์ (ในทางปฏิบัติคือรัฐบาลกลาง) และรัฐสภากลาง ขั้นตอนการแก้ไขเพิ่มเติมได้บัญญัติไว้ในหมวดที่ 8 ของรัฐธรรมนูญ เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยสภานิติบัญญัติจะต้องประกาศถึงเหตุผลในการปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญตามที่ระบุไว้ในมาตรา 195 ของรัฐธรรมนูญ โดยสามารถกระทำได้ผ่านสองฝ่าย เรียกว่าการประกาศการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งรับรองโดยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา และรับรองโดยพระมหากษัตริย์และรัฐบาลกลาง
ภายหลังจากการประกาศการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว รัฐสภากลางจะถูกยุบโดยอัตโนมัติ ตามมาด้วยการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งหลักการนี้ทำให้เป็นไปไม่ได้เลยที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยปราศจากการแทรกแซงด้วยการเลือกตั้ง โดยภายหลังการเลือกตั้ง รัฐสภากลางชุดใหม่จะสามารถทำการเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ตามที่ประกาศไว้ก่อนแล้ว โดยจะต้องผ่านการพิจารณารับรองโดยมีสมาชิกอย่างน้อยสองในสามของสมาชิกทั้งหมด และจะต้องได้รับเสียงข้างมากพิเศษถึงสองในสามของสมาชิกถึงจะสามารถผ่านการรับรองได้
รัฐธรรมนูญได้ห้ามรัฐสภากลางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อบังคับ มาตรา 196 บัญญัติถึงขั้นตอนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไม่สามารถกระทำได้ในช่วงสงครามหรือในกรณีที่รัฐสภากลางไม่สามารถทำการเปิดประชุมได้ในเบลเยียม มาตรา 197 บัญญัติห้ามให้ใช้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญในระหว่างที่มีผู้สำเร็จราชการ
สภานิติบัญญัติของรัฐสภากลางนั้นมีอำนาจแก้ไขจำนวนมาตราหรือส่วนย่อยของบทต่าง ๆ ในรัฐธรรมนูญ, การจัดหมวดหมู่ย่อยของรัฐธรรมนูญเป็นหมวด บท และส่วน และคำศัพท์ในมาตราใด ๆ ที่ไม่ได้ประกาศว่าจะแก้ไข ทั้งนี้เพื่อให้คำศัพท์นั้นได้รับการตกลงเพื่อใช้งานในบทบัญญัติใหม่ และเพื่อให้สอดคล้องกันทั้งภาษาดัตช์ ภาษาฝรั่งเศส และภาษาเยอรมันตามมาตรา 198 ทั้งนี้รัฐสภากลางไม่สามารถเข้าประชุมเพื่ออภิปรายประเด็นการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ยกเว้นแต่มีสมาชิกมากกว่าสองในสามของสมาชิกทั้งหมดเข้าประชุมร่วมกัน และรัฐธรรมนูญสามารถแก้ไขเพิ่มเติมได้ถ้าได้รับเสียงข้างมากพิเศษอย่างน้อยสองในสามของสมาชิก
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรเบลเยียมได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมรวมทั้งสิ้น 29 ครั้งตั้งแต่ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1994 เป็นต้นมา โดยหนึ่งครั้งใน ค.ศ. 1996 สามครั้งใน ค.ศ. 1997 สี่ครั้งใน ค.ศ. 1998 สองครั้งใน ค.ศ. 1999 และ ค.ศ. 2000 หนึ่งครั้งใน ค.ศ. 2001 สองครั้งใน ค.ศ. 2002 และ ค.ศ. 2004 และสามครั้งใน ค.ศ. 2005 และ ค.ศ. 2007 หนึ่งครั้งใน ค.ศ. 2008 และห้าครั้งใน ค.ศ. 2012 โดยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งล่าสุดคือการแก้ไขมาตรา 12 เมื่อ 24 ตุลาคม ค.ศ. 2017
ดูเพิ่ม
[แก้]บรรณานุกรม
[แก้]- Dicey, A.V. (1889). Introduction to the Study of the Law of the Constitution (3rd ed.). London: Macmillan and Co.
- Hawgood, J.A. (1971). "Liberalism and Constitutional Developments". ใน Bury, J.P.T. (บ.ก.). The New Cambridge Modern History. Vol. 10. Cambridge: Cambridge University Press. pp. 185–212. ISBN 0521045487.
- Witte, Els; Craeybeckx, Jan; Meynen, Alain (2009). Political History of Belgium from 1830 Onwards (New ed.). Brussels: ASP. ISBN 978-90-5487-517-8.
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Witte, Craeybeckx & Meynen 2009, p. 25.
- ↑ Witte, Craeybeckx & Meynen 2009, p. 24.
- ↑ Witte, Craeybeckx & Meynen 2009, pp. 25–8.
- ↑ Witte, Craeybeckx & Meynen 2009, p. 28.
- ↑ Hawgood 1971, p. 191.
- ↑ Ethnic structure, inequality and governance of the public sector in Belgium เก็บถาวร 14 มิถุนายน 2007 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ "Factsheet on the Belgian Constitution" (PDF). The Belgian Chamber of Representatives. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 3 December 2007. สืบค้นเมื่อ 12 November 2007.
- ↑ "Belgium 1831 (rev. 2012)". Constitute. สืบค้นเมื่อ 30 March 2015.