การปฏิวัติเบลเยียม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การปฏิวัติเบลเยียม
ส่วนหนึ่งของ การปฏิวัติ ค.ศ. 1830
Gustave Wappers - Épisode des Journées de septembre 1830 sur la place de l'Hôtel de Ville de Bruxelles.jpg
ภาพเขียน Episode of the Belgian Revolution of 1830 โดยกุสตาฟ วัปเปอร์ส (Gustaf Wappers)
วันที่25 สิงหาคม ค.ศ. 1830 – 21 กรกฎาคม ค.ศ. 1831
สถานที่กลุ่มประเทศแผ่นดินต่ำ
ผล

พันธมิตรฝรั่งเศส-เบลเยียมได้รับชัยชนะ

คู่สงคราม
ผู้ก่อกบฎชาวเบลเยียม
ราชอาณาจักรแห่งชาวฝรั่งเศส
 รัสเซีย
 สหราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
พระเจ้าเลออปอลที่ 1
ชาร์ลส์ โรฌีเย
เอราสม์ หลุยส์ ซุร์เลต์ เดอ โชกีเย
พระเจ้าหลุยส์-ฟีลิปที่ 1
เอเตียน โมรีซ เฌราร์ด
พระเจ้าวิลเลิมที่ 1
เจ้าชายวิลเลิม
เจ้าชายเฟรเดอริก
กำลัง
60,000[1] 50,000[1]

การปฏิวัติเบลเยียม (ฝรั่งเศส: Révolution belge, ดัตช์: Belgische Revolutie/opstand/omwenteling, อังกฤษ: Belgian revolution) เป็นการปฏิวัติแบ่งแยกของจังหวัดแถบใต้ (ส่วนใหญ่มาจากอดีตดินแดนในเนเธอร์แลนด์ใต้) จากสหราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ จนนำไปสู่การก่อตั้งราชอาณาจักรเบลเยียม

ผู้คนในจังหวัดแถบใต้นั้นประกอบด้วยชาวเฟลมมิช และชาววัลลูน ซึ่งนับถือนิกายคาทอลิกมาแต่เดิม ตรงกันข้ามกับชาวดัตช์ทางเหนือที่นับถือนิกายโปรเตสแตนท์ (คริสตจักรปฏิรูปแห่งดัตช์) เป็นหลัก ทำให้เหล่าผู้คนหัวเสรีนิยมส่วนใหญ่ไม่พอใจกับการถูกกดขี่จากการปกครองในรัชสมัยของพระเจ้าวิลเลิมที่ 1 ซึ่งมีอัตราการว่างงานสูง และเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นในระหว่างชนชั้นแรงงานอยู่เสมอ[2]

เมื่อ 25 สิงหาคม ค.ศ. 1830 ได้เกิดเหตุการณ์ไม่สงบครั้งใหญ่ขึ้นในกรุงบรัสเซลส์ โดยมีแนวร่วมเป็นผู้นิยมอุปรากรเรื่อง ลา มูเอ็ต เดอ ปอร์ตีชี (La muette du Portici) ซึ่งเข้าร่วมก่อการ และต่อมาได้มีการชุมนุมเกิดขึ้นทั่วประเทศ โรงงานอุตสาหกรรมได้ถูกยึดครองและเครื่องจักรต่างๆ ถูกทำลาย ต่อมาพระเจ้าวิลเลิมที่ 1ได้ส่งกองทัพเข้าตรึงกำลังรักษาความสงบในจังหวัดแถบใต้แต่ก็ไม่สามารถทัดทานกลุ่มผู้ต่อต้านซึ่งนำโดยผู้นำหัวรุนแรงเริ่มพูดถึงการแบ่งแยกดินแดนขึ้น[3]

ในขณะนั้นกองทัพดัตช์ได้พบการหนีทหารครั้งใหญ่ ซึ่งประกอบด้วยทหารจากจังหวัดแถบใต้ ซึ่งต่อมาสภาที่กรุงบรัสเซลส์ได้มีมติรับรองการแบ่งแยกดินแดน และประกาศอิสรภาพ โดยได้มีการจัดตั้งรัฐสภาแห่งชาติ (National Congress) ขึ้น ทำให้พระเจ้าวิลเลิมที่ 1ได้หยุดการดำเนินการทางทหาร และหันไปหามหาอำนาจเพื่อช่วยยุติความไม่สงบในครั้งนี้ ทว่าในการประชุมลอนดอน ค.ศ. 1830 ประเทศมหาอำนาจในยุโรปได้มีมติรับรองการแบ่งแยกดินแดนของเบลเยียม และรับรองสถานะความเป็นเอกราชของเบลเยียมโดยสมบูรณ์

ต่อมาในปีค.ศ. 1831 ภายหลังจากการสถาปนาพระเจ้าเลออปอลที่ 1 ขึ้นเป็น "พระมหากษัตริย์แห่งชาวเบลเยียม" พระเจ้าวิลเลิมที่ 1ได้มีความพยายามทำปฏิบัติการทางการทหารเพื่อยึดดินแดนคืน หรือรู้จักกันในชื่อ "ยุทธการสิบวัน" (Ten Days' Campaign) ซึ่งล้มเหลวโดยสิ้นเชิงจากการเข้าแทรกแทรงช่วยเหลือจากกองทัพฝรั่งเศสในขณะนั้น และต่อมาในที่สุดก็ยอมรับรองอิสรภาพให้เบลเยียมในปีค.ศ. 1839 ภายหลังจากการลงนามในสนธิสัญญาลอนดอน

สหราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์[แก้]

เนเธอร์แลนด์, เบลเยียม, ลักเซมเบิร์ก และลิมเบิร์ก ในค.ศ. 1839
1, 2 and 3 หราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ (จนกระทั่งค.ศ. 1830)
1 and 2 ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ (หลังค.ศ. 1830)
2 ดัชชีลิมเบิร์ก (1839–1867) (ตกเป็นของสมาพันธรัฐเยอรมันตั้งแต่ค.ศ. 1839 เพื่อแลกเปลี่ยนกับ Waals-Luxemburg)
3 and 4 ราชอาณาจักรเบลเยียม (หลังค.ศ. 1830)
4 and 5 ราชรัฐลักเซมเบิร์ก (จนถึงค.ศ. 1830)
4 มณฑลลักเซมเบิร์ก (Waals-Luxemburg ผนึกเข้ากับเบลเยียมในปีค.ศ. 1839)
5 ราชรัฐลักเซมเบิร์ก (German Luxemburg แบ่งในปีค.ศ. 1839)
สีฟ้าเปนเส้นพรมแดนกับสมาพันธรัฐเยอรมัน

ภายหลังจากการพ่ายแพ้ของนโปเลียนในยุทธการที่วอเตอร์ลูในปีค.ศ. 1815 มติการประชุมใหญ่แห่งเวียนนาทำให้มีการก่อตั้งราชอาณาจักรของราชวงศ์ออเรนจ์-นัสเซาโดยรวมดินแดนของสาธารณรัฐดัตช์เข้ากับดินแดนเก่าของออสเตรียนเนเธอร์แลนด์โดยมีจุดประสงค์เพื่อเป็นรัฐกันชนทางตอนเหนือของฝรั่งเศส

มูลเหตุในการปฏิวัติ[แก้]

มูลเหตุในการปฏิวัตินั้นมาจากหลายเหตุการณ์ ส่วนสำคัญได้แก่ความแตกต่างทางศาสนา (โรมันคาทอลิกในเบลเยียม และโปรเตสแตนท์ในเนเธอร์แลนด์) รวมถึงการขาดการแบ่งแยกอำนาจที่สมดุลเพื่อปกครองตนเองของจังหวัดแถบใต้

ตัวแปรอื่นๆ ซึ่งมีความสำคัญอันเป็นมูลเหตุในการปฏิวัติ ได้แก่

  • สัดส่วนที่ไม่สมดุลของชาวเบลเยียมในสภาผู้แทน (ประชากรเบลเยียมคิดเป็น 62% แต่ได้ถูกจำกัดที่นั่งเพียง 50%)[4]
  • ส่วนราชการต่างๆ ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเขตภาคเหนือ มีเพียงรัฐมนตรีคนเดียวจากสี่คนที่เป็นชาวเบลเยียม และในฝ่ายบริหารก็มีชาวดัตช์มากกว่าเบลเยียมกว่าสี่เท่าตัว[5] ภาคเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองส่วนใหญ่ของประเทศทั้งหมดถูกขับเคลื่อนโดยชาวดัตช์เป็นหลัก
  • หนี้สาธารณะของภาคเหนือ (ซึ่งสูงกว่าภาคใต้) ซึ่งจะต้องรับผิดชอบโดยภาคใต้เท่าๆ กัน[5] โดยจำนวนหนี้แรกเริ่มนั้นมีประมาณ 1.25 ล้านกิลเดอร์สำหรับภาคเหนือ และเพียง 100 ล้านกิลเดอร์สำหรับภาคใต้
  • การที่พระเจ้าวิลเลิมที่ 1ได้จัดการการศึกษา รวมถึงการก่อสร้างโรงเรียน การควบคุมความสามารถของครูและอาจารย์ รวมทั้งการสร้างมหาวิทยาลัยรัฐอีกสามแห่ง โดยให้ปกครองโดยขึ้นกับรัฐอย่างเบ็ดเสร็จ ซึ่งทำให้เหล่าชาวคาทอลิกไม่พึงพอใจ[6]
  • จำนวนทหารชั้นประทวนมีสัดส่วนของชาวเบลเยียมมากเกิน ตรงกันข้ามกับจำนวนนายทหารที่เป็นชาวเบลเยียม ส่วนใหญ่เป็นนายทหารที่เคยสังกัดกองทัพฝรั่งเศส หรือกองทัพอังกฤษ โดยมีเพียงหนึ่งในหกคนของนายทหารจะมาจากภาคใต้ จึงทำให้กำลังทหารเบลเยียมส่วนใหญ่ถูกกำกับและบัญชาการโดยนายทหารที่ไม่ได้มาจากเนเธอร์แลนด์ใต้ นอกจากนั้น ได้มีการบังคับภาษาดัตช์เป็นภาษาราชการที่ใช้ทางการทหารตั้งแต่ปีค.ศ. 1823 ซึ่งเป็นการเพิ่มการถูกแบ่งแยกของชาววัลลูนซึ่งใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นหลัก
  • ความไม่พึงพอใจจากการไม่เท่าเทียมกันในเสรีภาพของสื่อ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมชาวใต้
  • ความไม่พึงพอใจของเจ้าของกิจการ และธุรกิจชาวเบลเยียมต่อนโยบายการค้าเสรีในช่วงปีค.ศ. 1827 เป็นต้นมา การแบ่งแยกฝรั่งเศสทำให้อุตสาหกรรมทางแถบใต้เสียโอกาสจำนวนมาก ในขณะที่ประเทศอาณานิคมในอินเดียตะวันออกซึ่งกำลังเข้าสู่สภาวะกบฎอย่างต่อเนื่อง และมีการแข่งขันของสินค้าที่ผลิตจากอังกฤษเป็นจำนวนมาก ซึ่งต่อมาผลิตภัณฑ์ของอังกฤษซึ่งมีราคาถูกกว่าได้เข้ามาทดแทนผลิตผลทางการเกษตรของชาวใต้ อีกทั้งยังได้รับความนิยมจากชาวเหนือเป็นอย่างมาก
  • การปฏิรูปทางภาษาในปีค.ศ. 1823 ทำให้ภาษาดัตช์กลายเป็นภาษาราชการในเขตเฟลมิช ซึ่งการปฏิรูปครั้งนี้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงและได้รับการต่อต้านจากชนชั้นสูงซึ่งส่วนใหญ่พูดภาษาฝรั่งเศสถึงแม้จะอยู่ในแฟลนเดอส์ หรือวัลลูน รวมถึงชาวเฟลมิชเองซึ่งในขณะนั้นไม่ได้ใช้ภาษาดัตช์กลางในการสื่อสาร ในที่สุดเมื่อ 4 มิถุนายน ค.ศ. 1830 การปฏิรูปภาษาในครั้งนี้ได้ถูกยุติลง
  • ชาวอนุรักษ์นิยมทางเนเธอร์แลนด์เหนือได้ทำการผลักดันให้นิกายโปรเตสแตนท์เป็นศาสนาประจำเนเธอร์แลนด์ ในขณะที่ชาวเบลเยียมต้องการผลักดันนิกายโรมันคาทอลิกให้เป็นศาสนาประจำชาติแทน ในขณะนั้นทั้งสองนิกายได้แสดงความไม่พอใจต่ออีกนิกายหนึ่งอย่างมาก จนกระทั่งปีค.ศ. 1821 รัฐบาลได้แสดงการยกเว้นชาวคาทอลิกในกฎหมายพื้นฐาน (Basic Law) เพื่อที่จะคงความเป็นโปรเตสแตนท์ไว้โดยเฉพาะในประเด็นของการคัดเลือกข้าราชการเข้าทำงาน อนึ่ง พระเจ้าวิลเลิมที่ 1ซึ่งเชื่อมั่นในนิกายเยอรมันลูเทอแรน ซึ่งให้กษัตริย์เป็นผู้นำทางศาสนา โดยพระองค์ต้องการท้าทายอำนาจของพระสันตะปาปาต่อนิกายโรมันคาทอลิก ผ่านทางการแต่งตั้งบิชอป


อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 A Global Chronology of Conflict: From the Ancient World to the Modern Middle East, by Spencer C. Tucker, 2009, p. 1156
  2. E.H. Kossmann, The Low Countries 1780-1940 (1978) pp 151-54
  3. Paul W. Schroeder, The Transformation of European Politics 1763-1848 (1994) pp 671-91
  4. Jacques Logie, De la régionalisation à l'indépendance, 1830, Paris-Gembloux, éditions Duculot, 1980, 248 p. (ISBN 2-8011-0332-2), p. 13
  5. 5.0 5.1 Jacques Logie, op. cit., p. 12
  6. Jacques Logie, op. cit., p. 14-15.