ฟรีดริช เอเบิร์ท

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ฟรีดริค เอเบิร์ต)
ฟรีดริช เอเบิร์ท
Friedrich Ebert
ประธานาธิบดีเยอรมนี คนที่ 1
ดำรงตำแหน่ง
11 กุมภาพันธ์ 1919 – 28 กุมภาพันธ์ 1925
หัวหน้ารัฐบาลฟิลลิพ ไชเดอมัน
กุสทัฟ เบาเออร์
แฮร์มัน มึลเลอร์
ค็อนสตันทีน เฟเรินบัค
โยเซ็ฟ เวียร์ท
วิลเฮ็ล์ม คูโน
กุสทัฟ ชเตรเซอมัน
วิลเฮ็ล์ม มาคส์
ฮันส์ ลุทเทอร์
ก่อนหน้าไม่มี; เป็นคนแรก
ถัดไปเพาล์ ฟ็อน ฮินเดินบวร์ค
นายกรัฐมนตรีเยอรมนี
(โดยพฤตินัย)
ดำรงตำแหน่ง
9 พฤศจิกายน 1918 – 13 กุมภาพันธ์ 1919
กษัตริย์จักรพรรดิวิลเฮ็ล์มที่ 2
ก่อนหน้ามัคซีมีลีอานแห่งบาเดิน
ถัดไปฟิลลิพ ไชเดอมัน
(ในตำแหน่งมุขมนตรีไรช์)
มุขมนตรีปรัสเซีย
ดำรงตำแหน่ง
9 พฤศจิกายน 1918 – 11 พฤศจิกายน 1918
ก่อนหน้ามัคซีมีลีอานแห่งบาเดิน
ถัดไปเพาล์ เฮียร์ช
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด4 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1871
ไฮเดิลแบร์ค จักรวรรดิเยอรมัน
เสียชีวิต28 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1925(1925-02-28) (54 ปี)
เบอร์ลิน สาธารณรัฐไวมาร์
พรรคการเมืองพรรคประชาธิปไตยสังคมแห่งเยอรมนี
บุตร5 คน
ลายมือชื่อ

ฟรีดริช เอเบิร์ท (เยอรมัน: Friedrich Ebert) เป็นนักการเมืองชาวเยอรมันสังกัดพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมนี และเป็นประธานาธิบดีคนแรกของประเทศเยอรมนีระหว่างปี 1919 จนกระทั่งอสัญกรรมในปี 1925

ประวัติ[แก้]

ฟรีดริช เอเบิร์ท เกิดที่เมืองไฮเดิลแบร์ค จักรวรรดิเยอรมัน เมื่อปี 1871 เป็นบุตรคนที่เจ็ดในบรรดาเก้าคนของนายคาร์ล เอเบิร์ท ช่างตัดเสื้อ[1][2][3] ฟรีดริชอยากเข้าศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย แต่ครอบครัวของเขาไม่มีทุนทรัพย์เพียงพอ[4] ฟรีดริชจึงเลือกศึกษาการทำอานม้าระหว่างปี 1885 ถึง 1888 หลังจากนั้นเขาก็เป็นนักพเนจรผู้เดินทางท่องเที่ยวไปทั่วแผ่นดินเยอรมัน เพื่อแสวงหาลู่ทางทำมาค้าขาย

เมื่อเขาอยู่ในเมืองมันไฮม์ เขาถูกแนะนำให้รู้จักกับลุงคนหนึ่งของพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมนี เขาจึงตัดสินใจเข้าร่วมพรรคดังกล่าวในปี 1889 แม้ว่าเอเบิร์ทเคยศึกษางานเขียนของคาร์ล มาคส์ และฟรีดริช เอ็งเงิลส์ เขากลับไม่ค่อยมีความสนใจในอุดมคติดังกล่าว แต่กลับมีความสนใจในประเด็นที่ขึ้นอยู่บนความเป็นจริงและสามารถใช้พัฒนากรรมกรในองค์กรได้จริง เอเบิร์ททำกิจกรรมทางการเมืองหลายอย่างจนชื่อของเขาอยู่ในบัญชีดำของตำรวจ ด้วยเหตุนี้ เขาจึงย้ายเมืองหลายครั้งในเวลาเพียงสามปี เขาย้ายมาอาศัยที่นครเบรเมินในปี 1891

ที่เบรเมิน เอเบิร์ทหาเลี้ยงชีพโดยการทำงานจิปาถะ[1] ซึ่งในปี 1893 เขาได้รับตำแหน่งบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ Bremer Bürgerzeitung ต่อมาในปี 1894 เขาสมรสกับนางสาวลูอีเซอ รุมพ์ บุตรสาวกรรมกร[1][5] หลังจากนั้น เอเบิร์ทก็เป็นเจ้าของผับ ซึ่งผับแห่งนี้กลายเป็นศูนย์กลางของนักสังคมนิยมและสมาชิกสหภาพแรงงานในนครเบรเมิน และแล้วเอเบิร์ทก็ได้รับเลือกเป็นประธานพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมนีสาขาเบรเมิน[1]

งานการเมือง[แก้]

ในปี 1900 เอเบิร์ทได้รับเลือกเป็นเลขาธิการสหภาพการค้า และได้รับเลือกเป็นสมาชิกประชาคมเบรเมิน ในฐานะผู้แทนของพรรคสังคมประชาธิปไตย ต่อมาในปี 1912 เอเบิร์ทได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกไรชส์ทาค ต่อมาในปี 1903 เอากุสท์ บาเบิล หัวหน้าพรรคถึงแก่กรรม เอเบิร์ทจึงได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ ซึ่งหลังเป็นหัวหน้าพรรคได้หนึ่งปี สงครามโลกครั้งที่หนึ่งก็ปะทุขึ้นในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1914

สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง[แก้]

พรรคสังคมประชาธิปไตยในเวลานั้นครองที่นั่งมากที่สุดในไรชส์ทาค สงครามดังกล่าวแบ่งสมาชิกพรรคออกเป็นสองฝ่าย ระหว่างฝ่ายที่สนับสนุนกับฝ่ายที่คัดค้านการกู้เงินเพื่อทำสงคราม เอเบิร์ทผู้เป็นนักเมืองสายกลาง สนับสนุนนโยบายบวร์คฟรีเดิน (Burgfriedenspolitik) ซึ่งต้องการระงับความบาดหมางระหว่างกลุ่มการเมืองในประเทศในยามศึกสงคราม เพื่อรวมรวมสมาธิของสังคมเยอรมันไว้ที่ความสำเร็จในสงคราม เอเบิร์ทพยายามนำเสนอนโยบายดังกล่าวในพรรค แต่ก็ไม่อาจหยุดยั้งความร้าวฉาน ต่อมาในปี 1905 เขาได้รับตำแหน่งเลขาธิการพรรคและย้ายไปกรุงเบอร์ลิน[4] ซึ่งในเวลานั้น เขาเป็นสมาชิกที่อายุน้อยที่สุดในคณะผู้บริหารพรรค[5]

ความปราชัยในหลายยุทธการส่งผลให้ความนิยมในตัวจักรพรรดิเยอรมันตกต่ำ ส่งผลให้ในปี 1918 ขณะที่สงครามดำเนินอยู่นั้นเอง จอมพลฮินเดินบวร์ค หัวหน้าคณะเสนาธิการใหญ่ กลายเป็นผู้นำจักรวรรดิเยอรมันโดยพฤตินัย[6] และเมื่อเข้าสู่ครึ่งหลังของปี ก็เริ่มเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าเยอรมนีกำลังจะแพ้สงคราม พลเอกลูเดินดอร์ฟ จึงเริ่มส่งมอบอำนาจรัฐให้แก่พรรคการเมืองที่ครองเสียงข้างมากในไรชส์ทาค หวังจะให้นักการเมืองกลายเป็นเป้ารับเสียงก่นด่าแทนคณะเสนาธิการใหญ่

29 กันยายน พลเอกลูเดินดอร์ฟแจ้งต่อนายฮินท์เซอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ว่าแนวรบตะวันตกสามารถพังได้ทุกเมื่อ และขอให้กระทรวงการต่างประเทศหาลู่ทางเจรจาหยุดยิงโดยเร็ว แต่ก็สำทับว่า การเจรจาหยุดยิงควรกระทำภายใต้รัฐบาลใหม่ที่จะตั้งขึ้นโดยพรรคการเมืองเสียงข้างมาก ซึ่งในเบื้องต้น นายกรัฐมนตรีแฮร์ทลิง และจักรพรรดิวิลเฮ็ล์มที่ 2 ยินยอมที่จะลงจากตำแหน่งทั้งคู่ในเวลาอันใกล้[6]: 36–40 

ต้นเดือนตุลาคม จักรพรรดิวิลเฮ็ล์มที่ 2 แต่งตั้งเจ้าชายมัคซีมีลีอานแห่งบาเดินเป็นนายกรัฐมนตรีจักรวรรดิคนใหม่ เพื่อทำหน้าที่เจรจาสันติภาพกับฝ่ายสัมพันธมิตร นี่ถือเป็นครั้งแรกที่คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ประกอบด้วยบุคคลจากพรรคสังคมประชาธิปไตย อาทิ ฟิลลิพ ไชเดอมัน และกุสทัฟ เบาเออร์ รัฐบาลชุดใหม่ส่งคำร้องขอหยุดยิงถึงฝ่ายสัมพันธมิตรในวันที่ 4 ตุลาคม[6]: 44  และออกแถลงการณ์ต่อประชาชนในวันถัดมา แต่ในเบื้องต้น ประธานาธิบดีวิลสันแห่งสหรัฐปฏิเสธการหยุดยิง เนื่องจากมองว่ารัฐบาลเยอรมันมีการปฏิรูปยังไม่เพียงพอ อีกหนึ่งข้อสำคัญที่เป็นอุปสรรคต่อการเจรจาคือการที่จักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 2 ยังคงนั่งอยู่บนบัลลังก์[6]: 52–53 

การปฏิวัติเยอรมัน[แก้]

เอเบิร์ทไม่ชอบการเปลี่ยนจากจักรวรรดิเป็นสาธารณรัฐ แต่ขณะเดียวกัน เขาก็กลัวว่าจะเกิดการปฏิวัติสังคมเหมือนที่เกิดขึ้นในจักรวรรดิรัสเซีย และแล้วในวันที่ 28 ตุลาคม ธรรมนูญจักรวรรดิก็ถูกแก้ไขเพื่อถ่ายโอนอำนาจแก่ไรชส์ทาค ในจุดนี้ เอเบิร์ทและนักการเมืองคนอื่นค่อนข้างพอใจกับสถานการณ์ สิ่งที่ทุกคนต้องการในเวลานี้ คือช่วงเวลาแห่งความสงบเพื่อเจรจาสันติภาพกับฝ่ายสัมพันธมิตร[7]

เพื่อป้องกันไม่ให้ทั่วทั้งประเทศตกอยู่ใต้อนาธิปไตย พรรคของเอเบิร์ทต้องการเสียงสนับสนุนจำนวนมากในไรชส์ทาคเกี่ยวกับการขยายอำนาจของไรชส์ทาคเข้าสู่ส่วนการปกครองของปรัสเซีย ตลอดจนการสละราชบัลลังก์โดยจักรพรรดิและมกุฎราชกุมาร ส่วนตัวของเอเบิร์ทยังอยากรักษาระบอบจักรพรรดิภายใต้ผู้ปกครองคนใหม่ แต่เขาก็ตระหนักดีว่ามันไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว ดังข้อความที่เขากล่าวต่อนายกรัฐมนตรีบาเดินว่า "ถ้าองค์ไคเซอร์ไม่สละราชบัลลังก์ การปฏิวัติสังคมก็เลี่ยงไม่ได้ แต่ผมไม่ต้องการมัน ผมเกลียดมันยังกับบาป"[8] ในอีกด้านหนึ่ง กลุ่มผู้นำแรงงานในเบอร์ลินกำลังเตรียมการปฏิวัติในเมืองหลวงแล้ว[7]: 7 

9 พฤศจิกายน การปฏิวัติปะทุขึ้นในกรุงเบอร์ลินในรูปแบบของการนัดหยุดงานครั้งใหญ่ อาคารสำคัญถูกบุกยึด ขณะที่กลุ่มฝูงชนเดินขบวนผ่านใจกลางเมือง สมาชิกพรรคสังคมประชาธิปไตยก็เริ่มกลัวว่าพวกเขาจะเสียการควบคุมการปฏิวัติ ขณะเดียวกัน เจ้าชายแห่งบาเดินก็ไม่อาจโน้มน้าวจักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 2 ให้สละราชบัลลังก์สำเร็จ พระองค์ยินยอมสละตำแหน่งจักรพรรดิเยอรมัน แต่จะขอเป็นกษัตริย์แห่งปรัสเซียต่อไป อย่างไรก็ตาม ธรรมนูญจักรวรรดิบัญญัติว่าตำแหน่งจักรพรรดิเยอรมันถือเป็นหนึ่งเดียวกับตำแหน่งกษัตริย์แห่งปรัสเซีย ไม่สามารถสละเพียงตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง

หัวหน้ารัฐบาลเยอรมนีโดยพฤตินัย[แก้]

ท้ายที่สุด ในวันเดียวกันนั้นเอง เจ้าชายแห่งบาเดินในฐานะนายกรัฐมนตรีจักรวรรดิ จึงออกประกาศแต่เพียงฝ่ายเดียวว่า "องค์จักรพรรดิและองค์กษัตริย์ตัดสินพระทัยสละราชสมบัติแล้ว นายกรัฐมนตรีจักรวรรดิจะอยู่ในตำแหน่งจนกว่าการสละราชสมบัติโดยจักรพรรดิ การสละสิทธิ์สืบราชสมบัติโดยมกุฎราชกุมารแห่งจักรวรรดิเยอรมันและแห่งปรัสเซีย และการตั้งผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน จะเรียบร้อย"[9]

คณะมนตรีผู้แทนราษฎรภายใต้การนำของเอเบิร์ท

ไม่นานหลังออกประกาศ บรรดาผู้นำพรรคสังคมประชาธิปไตยก็เดินทางมาที่ทำเนียบนายกรัฐมนตรี ในการนี้ เอเบิร์ทเป็นผู้กล่าวขอให้เจ้าชายแห่งบาเดินมอบอำนาจรัฐให้แก่เขา และแล้ว เจ้าชายแห่งบาเดินก็ยอมลาออกและมอบห้องทำงานนายกรัฐมนตรีแก่เอเบิร์ท คณะของเอเบิร์ทจัดตั้งรัฐบาลที่ชื่อว่าคณะมนตรีผู้แทนราษฎร ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายใต้กระบวนการที่ไม่เป็นไปตามธรรมนูญจักรวรรดิ เอเบิร์ทกลายเป็นนายกรัฐมนตรีเยอรมนีและมุขมนตรีปรัสเซียโดยพฤตินัย คณะรัฐมนตรีเอเบิร์ทแทบไม่มีความแตกต่างจากคณะรัฐมนตรีบาเดิน ตำแหน่งเดียวที่เขาเปลี่ยนคนของพรรคเข้าไปดำรงตำแหน่งคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการสงคราม[7]: 7 

สิ่งแรกที่เอเบิร์ทกระทำในฐานะนายกรัฐมนตรีคือการออกประกาศหลายฉบับซึ่งร้องขอให้ประชาชนอยู่ในความสงบ กลับเข้าบ้านช่อง และรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อย แต่มันก็ไม่เป็นผล ระหว่างที่เอเบิร์ททานอาหารกลางวันกับไชเดอมันที่อาคารไรชส์ทาค ไชเดอมันขอให้เขาออกไปพูดคุยกับฝูงชนแต่ถูกปฏิเสธ ไชเดอมันจึงฉวยโอกาสนำสมาชิกพรรคสังคมประชาธิปไตยทำการประกาศตั้งสาธารณรัฐจากระเบียงของอาคารไรชส์ทาค เมื่อเอเบิร์ททราบข่าวก็โกรธเกรี้ยวและตะคอกว่า "คุณไม่มีสิทธิ์ประกาศตั้งสาธารณรัฐ!" เอเบิร์ทอาจมองว่าการตัดสินเรื่องนี้เป็นอำนาจของที่ประชุมใหญ่ไรชส์ทาค แม้ว่าผลสุดท้าย ที่ประชุมใหญ่ไรชส์ทาคอาจจะตัดสินให้คงระบอบจักรพรรดิก็ตาม เนื่องจากในวันต่อมา เอเบิร์ทยังไปขอให้เจ้าชายแห่งบาเดินเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน แต่ได้รับการปฏิเสธ

ประธานาธิบดีเยอรมนี[แก้]

ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งแรก ซึ่งลงมติในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1919 หัาวันหลังการประชุมที่เมืองไวมาร์ เอเบิร์ทได้รับเลือกจากเสียงข้างมากในที่ประชุมใหญ่ไรชส์ทาค ให้เป็นประธานาธิบดีเฉพาะกาลแห่งสาธารณรัฐ[10] หนึ่งในสิ่งแรกที่เขาต้องรับมือในฐานะประธานาธิบดีเฉพาะกาลคือสนธิสัญญาแวร์ซาย ซึ่งได้รับการลงนามในเดือนมิถุนายนของปีเดียวกัน เขาอยู่ในตำแหน่งจนกระทั่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ และเข้าสาบาตนเป็นประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม ค.ศ. 1919 เขาเป็นประมุขแห่งรัฐคนแรกของเยอรมนีที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย และมาจากสามัญชน

"ข้าพเจ้าจะทำหน้าที่ในฐานะผู้แทนชาวเยอรมันทั้งมวล ไม่ใช่ในฐานะผู้นำพรรคใดพรรคหนึ่ง แต่ข้าพเจ้าก็ขอสารภาพ ว่าข้าพเจ้าเป็นลูกของกรรมกร และเติบโตมากับความคิดแนวสังคมนิยม และว่าข้าพเจ้าจะไม่มีวันปฏิเสธพื้นเพและความเชื่อมั่นของข้าพเจ้า"

— ฟรีดริช เอเบิร์ท สาบานตนเป็นประธานาธิบดี[11]

มูลนิธิฟรีดริช–เอเบิร์ท[แก้]

มูลนิธิฟรีดริช–เอเบิร์ท (Friedrich-Ebert-Stiftung) ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมนี ถูกก่อตั้งขึ้นในปี 1925 ถือเป็นมูลนิธิการเมืองที่ใหญ่สุดและเก่าแก่สุดในประเทศเยอรมนี พันธกิจคือการส่งเสริมประชาธิปไตย, การศึกษาการเมือง และนักเรียนผู้มีความสามารถและบุคลิกภาพอันเป็นเลิศ มูลนิธินี้มีการดำเนินกิจกรรมในกว่าร้อยประเทศ

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 "Biografie Friedrich Ebert (German)". Deutsches Historisches Museum. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 July 2014. สืบค้นเมื่อ 22 May 2013.
  2. "Biografie Friedrich Ebert (German)". Bayerische Nationalbibliothek. สืบค้นเมื่อ 2 August 2013.
  3. Dennis Kavanagh (1998). "Ebert, Friedrich". A Dictionary of Political Biography. Oxford: OUP. p. 157. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-10-27. สืบค้นเมื่อ 1 September 2013.
  4. 4.0 4.1 Herzfeld, Hans, บ.ก. (1963). Geschichte in Gestalten:1:A-E (German). Fischer, Frankfurt. pp. 335–336.
  5. 5.0 5.1 "Friedrich Ebert (1871–1925).Vom Arbeiterführer zum Reichspräsidenten (German)". Friedrich Ebert Stiftung. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-08-07. สืบค้นเมื่อ 23 July 2013.
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 Haffner, Sebastian (2002). Die deutsche Revolution 1918/19 (German). Kindler. ISBN 3-463-40423-0.
  7. 7.0 7.1 7.2 Sturm, Reinhard (2011). "Weimarer Republik, Informationen zur politischen Bildung, Nr. 261 (German)". Informationen zur Politischen Bildung. Bonn: Bundeszentrale für politische Bildung. ISSN 0046-9408. สืบค้นเมื่อ 17 June 2013.
  8. "Reichspräsident-Friedrich-Ebert-Gedenkstätte". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 July 2011. สืบค้นเมื่อ 26 September 2014.
  9. Michalka, Wolfgang; Niedhart, Gottfried, บ.ก. (1992). Deutsche Geschichte 1918–1933. Dokumente zur Innen- und Außenpolitik [German History 1918-1933. Documents on Domestic and Foreign Policy] (ภาษาเยอรมัน). Frankfurt am Main: Fischer. p. 18. ISBN 3596112508.
  10. Kolb, Eberhard (2005). The Weimar Republic. Psychology Press. p. 226. ISBN 978-0-415-34441-8. สืบค้นเมื่อ 10 February 2012.
  11. ข้อความต้นฉบับ: "Ich will und werde als der Beauftragte des ganzen deutschen Volkes handeln, nicht als Vormann einer einzigen Partei. Ich bekenne aber auch, dass ich ein Sohn des Arbeiterstandes bin, aufgewachsen in der Gedankenwelt des Sozialismus, und dass ich weder meinen Ursprung noch meine Überzeugung jemals zu verleugnen gesonnen bin."