พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท)
พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) | |
---|---|
ส่วนบุคคล | |
เกิด | 20 มีนาคม พ.ศ. 2400 (75 ปี 121 วัน ปี) |
มรณภาพ | 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 |
นิกาย | ธรรมยุติกนิกาย |
การศึกษา | เปรียญธรรม 4 ประโยค |
ตำแหน่งชั้นสูง | |
ที่อยู่ | วัดบรมนิวาสราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร |
อุปสมบท | 20 เมษายน พ.ศ. 2420 |
พรรษา | 55 |
ตำแหน่ง | เจ้าอาวาสวัดสุปัฏนารามวรวิหาร เจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร เจ้าอาวาสวัดบรมนิวาสราชวรวิหาร เจ้าคณะใหญ่เมืองนครจำปาศักดิ์ เจ้าคณะมณฑลอีสาน เจ้าคณะมณฑลจันทบุรี เจ้าคณะมณฑลราชบุรี เจ้าคณะมณฑลกรุงเทพ เจ้าคณะรองฝ่ายอรัญญวาสี |
พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ นามเดิม จันทร์ ฉายา สิริจนฺโท เป็นพระภิกษุฝ่ายเถรวาท คณะธรรมยุติกนิกาย ชาวจังหวัดอุบลราชธานี อดีตเจ้าคณะใหญ่เมืองนครจำปาศักดิ์ เจ้าคณะมณฑลอีสาน มณฑลจันทบุรี มณฑลราชบุรี และมณฑลกรุงเทพ อดีตเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร จังหวัดเชียงใหม่ และวัดบรมนิวาสราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร ท่านเป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการจัดการศึกษาสมัยใหม่ ทั้งในฝ่ายสงฆ์และฝ่ายฆราวาสในภาคอีสาน ท่านเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนอุบลวิทยาคมที่วัดสุปัฏนารามวรวิหาร จังหวัดอุบลราชธานี และเป็นผู้สอนธรรมะให้แก่พระเถระองค์สำคัญในธรรมยุติกนิกายหลายรูปรวมถึงพระครูวินัยธรมั่น ภูริทตฺโต พระอาจารย์ใหญ่แห่งพระกรรมฐานสายวัดป่าด้วย
ประวัติ
[แก้]พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ มีนามเดิมว่าจันทร์ เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2399 (นับแบบปัจจุบันตรงกับ พ.ศ. 2400) ตรงกับวันแรม 10 ค่ำ เดือน 4 ปีมะโรง เป็นบุตรคนโตของหลวงสุโภร์ประการ (สอน ศุภสร) กรมการจังหวัดอุบลราชธานี[1] กับนางแก้ว ศุภสร เมื่ออายุย่าง 13 ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณรในเดือนยี่ ปีมะโรง พ.ศ. 2411 (นับแบบปัจจุบันตรงกับ พ.ศ. 2412) ณวัดบ้านหนองไหล เจ้าอธิการโสดาเป็นพระอุปัชฌาย์ ถึงเดือน 4 จึงย้ายไปอยู่วัดศรีทอง (ปัจจุบันคือวัดศรีอุบลรัตนาราม) เพื่อศึกษากับพระอาจารย์ม้าว เทวธมฺมี จนอายุย่าง 19 ปี ก็จำเป็นต้องลาสิกขาเพื่อตามไปไถ่ตัวบิดาที่ถูกเกณฑ์ไปปราบทัพฮ่อ
ท่านได้อยู่ช่วยงานมารดาบิดาอยู่ 3 ปี พระอาจารย์ม้าวก็ให้คนมาตามไปบวชอีกครั้ง ท่านยินยอม จึงได้อุปสมบทเมื่อวันศุกร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2420 ตรงกับวันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 6 ปีฉลู พระอาจารย์ม้าวเป็นพระอุปัชฌาย์ เจ้าอธิการสีโห วัดไชยมงคล เป็นพระกรรมวาจาจารย์ บวชแล้วจำพรรษาที่วัดไชยมงคลเพื่อช่วยงานของพระกรรมวาจาจารย์ เฉพาะเวลาเรียนมูลกัจจายน์จึงเดินมาเรียนที่วัดศรีทอง เรียนได้ 2 ปี พระอาจารย์ม้าวอาพาธหนักจนไม่สามารถสอนได้ จึงให้ท่านไปศึกษาต่อที่กรุงเทพมหานคร
เมื่อถึงกรุงเทพฯ พระอาจารย์อ่อนซึ่งเป็นศิษย์พี่ได้นำท่านไปฝากศึกษาพระปริยัติธรรมกับพระปลัดผา วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อพระอริยมุนี (เอม อายุวฑฺฒโน) เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทร์ มรณภาพ พระปลัดผาได้พาท่านไปฝากตัวศิษย์ของพระมหาอ่อน อหึสโก วัดบุปผาราม จนสอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค ขณะบวชได้ 9 พรรษา ท่านตั้งใจว่าตั้งแต่พรรษา 10 เป็นต้นไปจะมุ่งด้านวิปัสสนาธุระแทน ในพรรษาที่ 10 นั้น ท่านจึงกลับไปอยู่วัดศรีทองเพื่อปรนนิบัติและฝึกปฏิบัติธรรมกับพระอาจาร์ม้าวต่อ
พ.ศ. 2431 พระยามหาอำมาตยาธิบดี (หรุ่น ศรีเพ็ญ) และเจ้ายุติธรรมธร (คำสุก ณ จำปาศักดิ์) ร่วมกันสร้างวัดมหามาตยารามขึ้นที่นครจำปาศักดิ์ขึ้นถวายคณะสงฆ์ธรรมยุต พระอาจารย์ม้าวจึงมอบหมายให้ท่านไปเป็นเจ้าอาวาส และได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นที่ พระครูวิจิตรธรรมภาณี เจ้าคณะใหญ่เมืองนครจำปาศักดิ์ เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2433 แล้วกลับไปปกครองคณะสงฆ์เมืองจำปาศักดิ์
เกิดวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436) ทำให้สยามเสียดินแดนลาวแก่สาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 3 ท่านพ้นจากตำแหน่งเจ้าคณะเมืองจำปาศักดิ์ จึงย้ายมาอยู่วัดวัดสุปัฏนารามวรวิหาร ต่อมาท่านได้นำคณะศิษย์มาศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดพิชยญาติการามวรวิหาร อยู่ได้ 1 พรรษา สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงมอบหมายให้ไปอยู่วัดเทพศิรินทร์เพื่อช่วยงานหม่อมเจ้าพระศรีสุคตคัตยานุวัตร และมีรับสั่งให้ท่านเข้าสอบอีกครั้งในปี พ.ศ. 2437 สอบได้เปรียญธรรม 4 ประโยค[2] แล้วได้รับพระบรมราชานุญาตให้ออกไปจัดการศึกษาภาษาไทยและอักษรไทยที่เมืองอุบลราชธานี
วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2452 ได้รับพระราชทานอาราธนาบัตร์สถาปนาเป็นเจ้าคณะมณฑลราชบุรี[3]
พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ อาพาธด้วยโรคชรา ถึงแก่มรณภาพเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 สิริอายุได้ 75 ปี 121 วัน ได้รับพระราชทานไตรแพรครอง 1 ไตร โกศโถและชั้นรอง 2 ชั้น ฉัตรเบญจาตั้ง 4 คันประกอบศพเป็นเกียรติยศ[4] ได้รับพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม ศกนั้น ณ วัดบรมนิวาสราชวรวิหาร[5]
ลำดับสมณศักดิ์
[แก้]- พ.ศ. 2433 เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าคณะใหญ่เมืองนครจำปาศักดิ์ที่ พระครูวิจิตรธรรมภาณี[6]
- พ.ศ. 2442 เป็นพระราชาคณะที่ พระญาณรักขิต[7]
- พ.ศ. 2452 เป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ที่ พระราชกระวี นรสีหพจนปิลันทน์[8]
- พ.ศ. 2457 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพโมลี ตรีปิฎกธาดา มหากถิกสุนทร ยติคณิศร บวรสังฆารามคามวาสี[9]
- พ.ศ. 2458 ถูกถอดจากสมณศักดิ์[10]
- พ.ศ. 2459 กลับเป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระธรรมธีระราชมหามุนี[11]
- พ.ศ. 2466 เป็นเสมอพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระโพธิวงศาจารย์ ญาณวิสุทธิ์จริยาปรินายก ตรีปิฎกธรรมสุนทร ยติคณิศร บวรศีลาทิขันธ์ อรัญวาสี[12]
- พ.ศ. 2468 เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองฝ่ายอรัญวาสี (เสมอชั้นธรรมพิเศษ) ที่ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ ญาณวิสุทธจริยาปรินายก ตรีปิฎกคุณาลังการ นานาสถานราชคมนีย์ สาธุการีธรรมากร สุนทรศีลาทิขันธ์[13]
อ้างอิง
[แก้]- พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท). "อตฺตปวตฺติ (อัตประวัติ)". ประตูสู่ธรรม. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-07-07. สืบค้นเมื่อ 20 มิถุนายน 2558.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help)
- ↑ สมมอมรพันธุ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๑. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2545. 428 หน้า. หน้า 244-6. ISBN 974-417-530-3
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, จำนวนพระสงฆ์ที่ได้รับพระราชทานพัดเปรียญ ปเรียญ ๗ ประโยค, เล่ม 13, ตอน 27, 4 ตุลาคม ร.ศ. 115, หน้า 192
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานอาราธนาบัตร สถาปนาเจ้าคณะมณฑล, เล่ม 26, ตอน 0 ง, 4 กรกฎาคม ร.ศ. 128, หน้า 612
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวถึงมรณภาพ, เล่ม 49, ตอน ง, 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2475, หน้า 1470-1
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเพลิงศพ, เล่ม 49, ตอน ง, 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2475, หน้า 2764
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ตั้งตำแหน่งพระสงฆ์, เล่ม 7, ตอน 16, 20 กรกฎาคม ร.ศ. 109, หน้า 149-150
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศตั้งตำแหน่งพระสงฆ์ ราชาคณะ พระครู และเปรียญ, เล่ม 16, ตอน 34, 19 พฤษภาคม ร.ศ. 118, หน้า 487
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, รายนามพระสงฆ์ที่ได้รับพระราชทานยศสมณะศักดิ์, เล่ม 26, ตอน 0 ง, 16 พฤษภาคม ร.ศ. 128, หน้า 215
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานสัญญาบัตรพระสงฆ์, เล่ม 31, ตอน 0 ง, 11 พฤศจิกายน 2457, หน้า 2843
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศคืนยศพระเทพโมลี วัดบรมนิวาศ, เล่ม 32, ตอน 0 ก, 16 มกราคม 2458, หน้า 418-9
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานสัญญาบัตรพระสงฆ์, เล่ม 33, ตอน ง, 7 มกราคม 2459, หน้า 2752
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศสถาปนาสมณะศักดิ์, เล่ม 40, ตอน 0 ง, 25 พฤศจิกายน 2466, หน้า 2595-6
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศสถาปนาเลื่อนและตั้งสมณะศักดิ์, เล่ม 42, ตอน 0 ก, 15 พฤศจิกายน 2468, หน้า 209
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- ประวัติพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) เก็บถาวร 2016-07-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากธรรมะเกตเวย์ดอตคอม