หม่อมเจ้าพร้อม ลดาวัลย์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หม่อมเจ้าพร้อม ลดาวัลย์
หม่อมเจ้า ชั้น 3
เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส
ดำรงตำแหน่งพ.ศ. 2437 — พ.ศ. 2441
ก่อนหน้าพระวินัยรักขิต (นาม กาฬนาโม)
ถัดไปสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร)
ประสูติ23 มกราคม พ.ศ. 2413
ชีพิตักษัย28 มกราคม พ.ศ. 2498 (85 ปี)
ตำหนัก ถนนกรุงเกษม
พระบุตร9 คน
ราชสกุลลดาวัลย์
ราชวงศ์จักรี
พระบิดาพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูมินทรภักดี
พระมารดาหม่อมมาลัย ลดาวัลย์ ณ อยุธยา

หม่อมเจ้าพร้อม ลดาวัลย์ (23 มกราคม พ.ศ. 2413 — 28 มกราคม พ.ศ. 2498) เป็นราชบัณฑิตและอดีตพระราชาคณะชั้นธรรมเจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร

ประวัติ[แก้]

ปฐมวัย[แก้]

หม่อมเจ้าพร้อม ลดาวัลย์ เป็นพระโอรสลำดับที่ 38 ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูมินทรภักดี ประสูติแต่หม่อมมาลัย[1] เมื่อวันเสาร์ แรม 6 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะเส็ง ตรงกับวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2412 (แบบสากลคือ พ.ศ. 2413)

ผนวช[แก้]

หลังจากเกศากันต์ในปีมะเมีย พ.ศ. 2425 หม่อมเจ้าพร้อมได้ผนวชเป็นสามเณร ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยสมเด็จพระวันรัตน์ (ทับ พุทฺธสิริ) วัดโสมนัสราชวรวิหาร เป็นพระอุปัชฌาย์ หม่อมเจ้าพระอรุณนิภาคุณากร เป็นผู้ประทานศีล[1] ผนวชแล้วประทับ ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร

ถึงปีฉลู พ.ศ. 2432 ได้ผนวชเป็นภิกษุ ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระพรหมมุนี (เหมือน สุมิตฺโต) วัดบรมนิวาสราชวรวิหาร เป็นพระอุปัชฌาย์ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร และพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับพระนามฉายาว่า "ธมฺมรโต" ผนวชแล้วประทับ ณ วัดราชบพิธฯ ตามเดิม[2]

การศึกษา[แก้]

หลังจากผนวชเป็นสามเณร ได้ทรงศึกษาพระปริยัติธรรมในหลายสำนัก ได้แก่ สำนักพระครูศีลสังวรและนายรอด ที่วัดราชบพิธ สำนักพระยาธรรมปรีชา (บุญ) ที่พระพุทธปรางค์ปราสาท สำนักสมเด็จพระวันรัต (แดง สีลวฑฺฒโน) ที่วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร ก่อนเข้าสอบได้เสด็จไปฝึกซ้อมแปลกับสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (สา ปุสฺสเทโว) และพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส[3]

ขณะยังเป็นสามเณร ทรงเข้าสอบในปีระกา พ.ศ. 2428 ได้เปรียญธรรม 5 ประโยค พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานวัตถุจตุปัจจัยมูลค่า 2 ชั่งเป็นรางวัล[4] หลังจากผนวชเป็นพระภิกษุ ทรงเข้าสอบอีกในปี พ.ศ. 2434 ได้เพิ่มอีก 2 ประโยค รวมเป็นเปรียญธรรม 7 ประโยค[5]

เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทร์[แก้]

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์จะให้วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหารมีโรงเรียนภาษาบาลี ทรงเห็นว่าหม่อมเจ้าพระศรีสุคตคัตยานุวัตร (หม่อมเจ้าพร้อม ธมฺมรโต) มีความรู้ภาษาบาลีเป็นอย่างดี สามารถจัดการศึกษาในวัดให้รุ่งเรืองได้ โปรดให้อาราธนาพระองค์ท่านไปเป็นอยู่วัดเทพศิรินทราวาสในปี พ.ศ. 2437 เมื่อพระวินัยรักขิต (นาม กาฬนาโม) อาพาธด้วยอหิวาตกโรค จนมรณภาพลงเมื่อวันอังคารที่ 30 เมษายน ปีนั้น[6] หม่อมเจ้าพระศรีสุคตคัตยานุวัตรจึงขึ้นดำรงเจ้าอาวาสแทนสืบมา จนกระทั่งลาสิกขาบท รวมระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งทั้งสิ้น 4 ปี

ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส หม่อมเจ้าพระศรีสุคตคัตยานุวัตรได้พัฒนาวัดหลายประการ เช่น ปรับปรุงทัศนียภาพในวัด สร้างและซ่อมเสนาสนะ สร้างพระประธาน นำพระราชทรัพย์ที่ได้รับพระราชทานมาบำรุงการจัดการศึกษา เป็นต้น[7]

สมณศักดิ์[แก้]

  • 17 มีนาคม พ.ศ. 2435 เป็นหม่อมเจ้าพระราชาคณะที่ หม่อมเจ้าพระศรีสุคตคัตยานุวัตร[8]
  • 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2441 ได้เลื่อนสมณศักดิ์เสมอพระราชาคณะชั้นธรรมที่ หม่อมเจ้าพระศรีสุคตคัตยานุวัตร ธรรมประดิบัติวรนายก ตรีปิฎกโกศล โศภนสุนทรวาจา มหาคณีศร บวรสังฆาราม คามวาสี[9]

ลาสิกขาบท[แก้]

หม่อมเจ้าพระศรีสุคตคัตยานุวัตร ทูลลาสิกขาบทเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2441[3] จากนั้นได้เข้ารับราชการในกรมราชบัณฑิต จนกระทั่งดำรงตำแหน่งเจ้ากรมภูษามาลา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ในฐานะที่ทรงเป็นราชบัณฑิต จึงได้มีโอกาสฉลองพระเดชพระคุณในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในรัชกาลที่ 6 รัชกาลที่ 7 และรัชกาลที่ 9 โดยทำหน้าที่อัญเชิญพระชัยเนาวโลหะ นำเสด็จพระราชดำเนิน และร่วมกับราชบัณฑิตอื่น ๆ กับพราหมณ์ถวายน้ำราชาภิเษก ณ พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์

นอกจากนี้ยังได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นผู้นำพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการสวดมนต์ในพระราชพิธีวิสาขะบูชา และเป็นผู้แทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพระราชพิธีมาฆบูชาอีกหลายคราว อีกทั้งยังได้ทรงเรียบเรียงมหาขันธก์ และอุโบสถขันธก์ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิมพ์เนื่องในวันมหาปวารณาถึง 4 ปี ต่อเนื่องกัน

โอรสธิดา[แก้]

โอรสธิดาในหม่อมเจ้าพร้อม ลดาวัลย์ มีดังนี้[1]

  1. หม่อมราชวงศ์หญิงประนิธิ ลดาวัลย์
  2. หม่อมราชวงศ์นักษัตร ลดาวัลย์ บิดาหม่อมหลวง อดุลเดช ลดาวัลย์
  3. หม่อมราชวงศ์หญิงสุภัทรา พรหมบุตร
  4. หม่อมราชวงศ์หญิงอาไทย ลดาวัลย์
  5. หม่อมราชวงศ์ไกวัลย์ ลดาวัลย์
  6. หม่อมราชวงศ์สันทัศก์ ลดาวัลย์
  7. หม่อมราชวงศ์นิภัสร ลดาวัลย์
  8. หม่อมราชวงศ์พรศรี ลดาวัลย์
  9. หม่อมราชวงศ์อรีย์ชาติ ลดาวัลย์

สิ้นชีพิตักษัย[แก้]

หม่อมเจ้าพร้อม ลดาวัลย์ ประชวรด้วยพระโรคชรา และสิ้นชีพิตักษัยอย่างสงบ เมื่อเวลา 17:00 น. ของวันศุกร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2498 ณ ตำหนักเลขที่ 182 ถนนกรุงเกษม[1] สิริชันษา 86 ปี พระราชทานเพลิงศพ ณ สุสานหลวง วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2498

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

พงศาวลี[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 มหาขันธก์, พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมเขตรมงคลและพระโอรสทรงพิมพ์เพื่อบรรณาการ ในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าพร้อม ลดาวัลย์
  2. ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวผนวชหม่อมเจ้าพร้อม สามเณร เป็นภิกษุ, เล่ม 6 ตอน 14, 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2432, หน้า 117
  3. 3.0 3.1 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ กรมพระสมมตอมรพันธ์, เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๑, กรมศิลปากร, 2545, หน้า 170-171
  4. ราชกิจจานุเบกษา, การตั้งพระราชาคณะแลเปรียญที่แปลพระปริยัติธรรม, เล่ม 4 , ตอนที่ 22, 8 กันยายน 2430, หน้า 174-5
  5. ราชกิจจานุเบกษา, จำนวนพระสงฆ์สามเณรซึ่งสอบไล่พระปริยัติธรรมได้ ในปี ๑๐๙ ปี ๑๑๐, เล่ม 8, ตอนที่ 13, 28 มิถุนายน 2434, หน้า 105
  6. วัดเทพศิรินทราวาส ยุคที่ 3 พระวินัยรักขิตเป็นเจ้าอาวาส[ลิงก์เสีย], สมาคมนักเรียนเก่าเทพศิรินทร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์
  7. วัดเทพศิรินทราวาส ยุคที่ 4 หม่อมเจ้าพระศรีสุคตคัตยานุวัตรเป็นเจ้าอาวาส[ลิงก์เสีย], สมาคมนักเรียนเก่าเทพศิรินทร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์
  8. ราชกิจจานุเบกษา, คำประกาศตั้งตำแหน่งพระสงฆ์, เล่ม 9 ตอน 52, 26 มีนาคม2435, หน้า 462
  9. ราชกิจจานุเบกษา, ตั้งตำแหน่งพระสงฆ์, เล่ม 15 ตอน 34, 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 1898, หน้า 352
  10. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม 23, ตอนที่ 28, หน้า 715
  11. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ เก็บถาวร 2015-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 27, หน้า 2421