พระมหากษัตริย์นิวซีแลนด์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระมหากษัตริย์แห่งนิวซีแลนด์
King of New Zealand  (อังกฤษ)
Te Kīngi o Aotearoa  (มาวรี)
ตราแผ่นดินแห่งนิวซีแลนด์
อยู่ในราชสมบัติ
สมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3
ตั้งแต่ 8 กันยายน 2022
รายละเอียด
พระราชอิสริยยศสมเด็จพระราชาธิบดี
รัชทายาทเจ้าชายวิลเลียม เจ้าชายแห่งเวลส์
กษัตริย์องค์แรกสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 (ในฐานะพระมหากษัตริย์แห่งนิวซีแลนด์)
สถาปนาเมื่อ25 พฤศจิกายน ค.ศ. 1947

พระมหากษัตริย์แห่งนิวซีแลนด์ คือระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญของประเทศนิวซีแลนด์โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแห่งรัฐ โดยองค์ปัจจุบันคือสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 เป็นสมเด็จพระราชาธิบดิแห่งนิวซีแลนด์ตั้งแต่ 8 กันยายน ค.ศ. 2022 ต่อจากพระราชมารดา และมีเจ้าชายวิลเลียม เจ้าชายแห่งเวลส์ เป็นรัชทายาทพระองค์ปัจจุบัน

จากผลของสนธิสัญญาไวตางีที่ทำในรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร กับชาวเมารีในปีค.ศ. 1840 โดยมีผลทำให้พระมหากษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักรกลายเป็นประมุขแห่งรัฐของนิวซีแลนด์ ต่อมาในภายหลังนิวซีแลนด์ได้ประกาศอิสรภาพจากสหราชอาณาจักรแล้ว สถาบันพระมหากษัตริย์จึงได้พัฒนามาเป็นสัญลักษณ์พิเศษของนิวซีแลนด์ โดยพระมหากษัตริย์แห่งนิวซีแลนด์นั้นในปัจจุบันถือเป็นพระมหากษัตริย์ของอีกกว่า 15 ประเทศในเครือจักรภพแห่งประชาชาติโดยในแต่ละประเทศนั้นล้วนมีเอกราชเป็นของตนเอง และมีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นของตนเองตามกฎหมาย ดังนั้นจึงทำให้พระมหากษัตริย์ของนิวซีแลนด์มีพระราชอิสริยยศเป็น "สมเด็จพระราชาธิบดิแห่งนิวซีแลนด์" (อังกฤษ: The King of New Zealand, มาวรี: Te Kīngi o Aotearoa) และทำให้พระองค์และสมาชิกในพระราชวงศ์ล้วนมีบทบาทในกิจกรรมสาธารณะต่างๆ ในนิวซีแลนด์ โดยตำแหน่งพระมหากษัตริย์ (ประมุข) เป็นสมาชิกพระราชวงศ์พระองค์เดียวที่มีบทบาททางรัฐธรรมนูญของนิวซีแลนด์

ตามรัฐธรรมนูญนั้นอำนาจบริหารทั้งหมดเป็นของพระมหากษัตริย์ ซึ่งการจะตรากฎหมายและบังคับใช้ได้นั้นจะต้องได้รับพระบรมราชานุญาตโดยมีพระบรมราชโองการเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายหลังจากการเห็นชอบโดยรัฐสภา อย่างไรก็ตามพระราชอำนาจนั้นเป็นไปตามบทบัญญัติในระบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญโดยจำกัดตามรัฐธรรมนูญ[1] พระราชอำนาจส่วนมากนั้นใช้โดยสมาชิกรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง คณะรัฐมนตรีซึ่งมาจากสมาชิกรัฐสภา ผู้พิพากษาและผู้พิจารณาคดี พระราชอำนาจอื่นๆ ของพระมหากษัตริย์ อาทิเช่น การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีถือเป็นบทบาทสำคัญแต่ถือเป็นอำนาจจำกัดตามบทบาทของพระมหากษัตริย์

เนื่องจากพระมหากษัตริย์นั้นประทับอยู่ในสหราชอาณาจักร ส่วนใหญ่หน้าที่ตามรัฐธรรมนูญและพิธีการต่างๆ ภายในราชอาณาจักรนิวซีแลนด์นั้นจะกระทำโดยผู้แทนพระองค์ ซึ่งได้แก่ผู้สำเร็จราชการแห่งนิวซีแลนด์[2]

ในปัจจุบันบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในนิวซีแลนด์นั้นเป็นหัวข้อสำคัญเสมอมา[3] โดยชาวนิวซีแลนด์บางส่วนคิดว่าจะเหมาะสมกว่าถ้านิวซีแลนด์เปลี่ยนการปกครองเป็นสาธารณรัฐโดยมีชาวนิวซีแลนด์เป็นประมุขแห่งรัฐแทน ในขณะที่ประชาชนอีกส่วนหนึ่งก็ยังสนับสนุนสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่[4]

อ้างอิง[แก้]

  1. Cabinet Office 2017, p. 3
  2. Cabinet Office 2017, p. 7
  3. "Changing attitudes to monarchy". NZ History. Ministry for Culture and Heritage. สืบค้นเมื่อ 24 February 2018.
  4. Cook, Megan (20 June 2012). "Royal family". Te Ara: The Encyclopedia of New Zealand. สืบค้นเมื่อ 7 August 2019.