ข้ามไปเนื้อหา

ประตูชัยอรัญประเทศ

พิกัด: 13°39′40″N 102°33′01″E / 13.6612135°N 102.5502384°E / 13.6612135; 102.5502384
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ประตูชัยอรัญประเทศ
ที่ตั้งจุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก ตำบลท่าข้าม อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ประเทศไทย
ประเภทประตูชัย
ความสูง
  • ป้อม: 15 เมตร (49 ฟุต)
เริ่มก่อสร้าง22 สิงหาคม พ.ศ. 2482
สร้างเสร็จ19 กันยายน พ.ศ. 2482
อุทิศแด่ความกล้าหาญของทหารไทยที่สละชีพในกรณีพิพาทอินโดจีน

ประตูชัยอรัญประเทศ เป็นประตูผ่านเข้าออกพรมแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา บริเวณบ้านคลองลึก ตำบลท่าข้าม อำเภออรัญประเทศ สร้างเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2482 โดยกรมยุทธโยธาทหารบกได้ระดมกำลังทหารช่างทำการสร้างทั้งกลางวันและและกลางคืนตลอด 24 ชั่วโมง แล้วเสร็จภายใน 29 วัน เสร็จเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2482

ประตูชัยแห่งนี้สร้างตรงปลายสุดของถนนซึ่งอยู่คนละฟากฝั่งของกัมพูชา มีคลองลึกกั้นเขตแดน เชื่อมต่อเขตแดนกันโดยสะพานเหล็ก มีป้อม 2 ป้อม อยู่คนละฟากถนน มีลักษณะเหมือนกันเป็นรูปหกเหลี่ยมด้านเท่า สูง 15 เมตร ที่ฐานประตูทำเป็นห้องรักษาการณ์หกเหลี่ยมด้านเท่า ด้านละ 1.50 เมตร ย่อมนเล็กเรียว ลดหลั่นกันขึ้นไปเป็นลำดับจนถึงยอดบนสุดซึ่งเป็นหอคอยหกเหลี่ยมด้านเท่า ด้านละ 0.30 เมตร มีลับแลบังตาสำหรับสังเกตการณ์ได้ทุกด้าน ข้างบนสุดหอคอยมีครุฑพ่าห์อันเป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทย ประตูชัยแห่งนี้ได้ชำรุดทรุดโทรมจากภัยสงครามถูกปล่อยให้เป็นซากปรักหักพัง มานานถึง 18 ปี และได้รับการบูรณะซ่อมแซมเมื่อ พ.ศ. 2501 โดยคงรักษารูปลักษณ์เดิมไว้โดยเฉพาะที่ป้อมด้านซ้ายมือเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความกล้าหาญและเสียสละของทหารกล้า ร้อยโทสุรินทร์ ปั้นดี และเหล่าเพื่อนทหารผู้ใต้บังคับบัญชา ซึ่งได้สละชีพและบาดเจ็บจากการสู้รบบริเวณชายแดนเพื่อชาติไว้ ณ ที่นั้น ส่วนด้านขวามือได้ก่อสร้างเป็นเสมาขนาดใหญ่หันหน้าไปทางกัมพูชาทำด้วยหินอ่อนสลักรูปครุฑไว้ด้านบนใต้ครุฑจารึกคำว่า ประเทศไทย ถัดลงมาได้อัญเชิญบทพระราชนิพนธ์สยามานุสสติ ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมาจารึกไว้

สาเหตุที่ก่อสร้างประตูชัยแห่งนี้ สืบเนื่องจากเมื่อ พ.ศ. 2482ฝรั่งเศสได้ขอให้ไทยลงนามในสนธิสัญญาไม่รุกรานกันระหว่างไทย-ฝรั่งเศส แต่ไทยเสนอเงื่อนไขว่าฝรั่งเศสต้องคืนดินแดนซึ่งไทยจำยกให้ฝรั่งเศส เมื่อ ร.ศ. 112 โดยไม่เป็นธรรมคืนให้แก่ไทยก่อนจึงจะลงนามในสนธิสัญญานั้น เงื่อนไขนี้ได้รับความเห็นชอบจากประชาชนชาวไทยทั้งชาติ และต่างพร้อมใจกันสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในสมัยนั้นเป็นเสียงเดียวอีกทั้งยังพากันเดินขบวนเพื่อเรียกร้องดินแดนคืนทั่วประเทศ ประกอบกับสถานการณ์ด้านชายแดนไทยกับอินโดจีนของฝรั่งเศสทุกด้านเริ่มตรึงเครียด ทั้งสองฝ่ายต่างระดมกำลังทหารตำรวจสนามตรึงแนวชายแดนทุกด้าน เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่ราษฎรตามแนวชายแดน โดยเฉพาะด้านอรัญประเทศซึ่งป็นด่านที่สำคัญ เพราะมีการคมนาคมติดต่อกันได้สะดวกทั้งทางรถไฟและรถยนต์ นอกจากนี้ชายแดนด้านนี้ยังมีการชุมนุมพลทั้งสองฝ่ายอย่างหนาแน่นเพื่อส่งผลทางยุทธศาสตร์ กระทรวงกลาโหมจึงได้สร้างประตูชัยขึ้นใช้เป็นป้อมสังเกตการณ์ความเคลื่อนไหวของฝ่ายตรงข้าม อย่างไรก็ตาม การเจรจาขอให้ฝรั่งเศสคืนดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงและมณฑลบูรพาซึ่งแต่เดิมเป็นของไทยไม่เป็นผล จึงเกิดปะทะกันเมื่อเช้าตรู่วันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2484 ไทยถูกโจมตีก่อน และประตูชัยก็ตกเป็นเป้าหมายแรกของฝรั่งเศส การสู้รบครั้งนี้ไทยกับฝรั่งเศสต่อสู้กันอย่างเต็มความสามารถ ต่อมาได้มีการไกล่เกลี่ยสงบศึกกรณีพิพาทลงได้สำเร็จ ด้วยเหตุนี้ประตูชัยนอกจากจะเป็นสัญลักษณ์ของอรัญประเทศแล้วยังเป็นสัญลักษณ์เพื่อระลึกถึงความกล้าหาญของคนไทยที่สละชีพเพื่อชาติในกรณีพิพาทอินโดจีนอีกด้วย

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

13°39′40″N 102°33′01″E / 13.6612135°N 102.5502384°E / 13.6612135; 102.5502384

อ้างอิง

[แก้]
  • วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดสระแก้ว พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542ง
  • ถวิล อยู่เย็น,พลตรี.ลำดับเหตุการณ์สำคัญในสงครามเรียกร้องดินแดนจากอินโดจีนฝรั่งเศส.ใน อนุสรณ์พระราชทานเพลิงศพ พันเอก นิ่มชโยดม
  • เจริญ พงษ์พานิชย์,พลเอก.การยุทธที่บ้านสำโรงและจงกัล เขตกัมพูชาในสงครามอินโดจีน.ใน อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พลตรีหลวงวีวัฒนโยธิน.