บรอกโคลี
บรอกโคลี | |
---|---|
บรอกโคลี | |
ชนิด | Brassica oleracea |
กลุ่มพันธุ์ปลูก | กลุ่มอิตาลิกา |
ต้นกำเนิด | จากอิตาลี (2,000 ปีมาแล้ว)[1][2] |
คุณค่าทางโภชนาการต่อ 100 กรัม (3.5 ออนซ์) | |
---|---|
พลังงาน | 141 กิโลจูล (34 กิโลแคลอรี) |
6.64 g | |
น้ำตาล | 1.7 g |
ใยอาหาร | 2.6 g |
0.37 g | |
2.82 g | |
วิตามิน | |
วิตามินเอ | (4%) 31 μg(3%) 361 μg1121 μg |
ไทอามีน (บี1) | (6%) 0.071 มก. |
ไรโบเฟลวิน (บี2) | (10%) 0.117 มก. |
ไนอาซิน (บี3) | (4%) 0.639 มก. |
(11%) 0.573 มก. | |
วิตามินบี6 | (13%) 0.175 มก. |
โฟเลต (บี9) | (16%) 63 μg |
วิตามินซี | (107%) 89.2 มก. |
วิตามินอี | (5%) 0.78 มก. |
แร่ธาตุ | |
แคลเซียม | (5%) 47 มก. |
เหล็ก | (6%) 0.73 มก. |
แมกนีเซียม | (6%) 21 มก. |
ฟอสฟอรัส | (9%) 66 มก. |
โพแทสเซียม | (7%) 316 มก. |
สังกะสี | (4%) 0.41 มก. |
องค์ประกอบอื่น | |
น้ำ | 89.30 g |
ประมาณร้อยละคร่าว ๆ โดยใช้การแนะนำของสหรัฐสำหรับผู้ใหญ่ แหล่งที่มา: USDA FoodData Central |
บรอกโคลี หรือ กะหล่ำดอกอิตาลี (อังกฤษ: broccoli; อิตาลี: broccoli รูปพหูพจน์ของ broccolo) จัดอยู่ในผักตระกูลกะหล่ำ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Brassica oleracea var. italica อยู่ในตระกูล Cruciferae บรอกโคลีเป็นผักที่ปลูกเพื่อบริโภคส่วนของดอกอ่อน และก้าน
ประวัติ
[แก้]บรอกโคลี เป็นพืชผักเมืองหนาวมีถิ่นเดิมอยู่ทางตอนใต้ของยุโรปหรือบริเวณประเทศอิตาลี เริ่มมีมากและนำเข้ามาปลูกในประเทศไทย โดยในระยะแรกทำการปลูกทางแถบภาคเหนือซึ่งผลผลิตมีน้อย ราคาในช่วงนั้นจึงค่อนข้างแพงเนื่องจากเป็นของแปลกใหม่และมีได้เฉพาะฤดูหนาวเท่านั้น แต่ในปัจจุบันได้มีการปรับปรุงพันธุ์ให้ทนร้อนได้มากขึ้น ในช่วงฤดูการผลิตจึงสามารถปลูกในภาคอื่นได้เช่นกัน แต่สำหรับนอกฤดูนั้นยังปลูกได้เฉพาะทางภาคเหนือที่มีอากาศเย็นบางเขตเท่านั้น แหล่งที่ปลูกบรอกโคลีกันมาก ได้แก่ เพชรบูรณ์ กรุงเทพฯ กาญจนบุรี ช่วงที่เหมาะสมคือ เดือนตุลาคม – มกราคม อุณหภูมิที่ชอบประมาณ 18 – 23 องศาเซลเซียส[3][4]
ลักษณะภายนอก
[แก้]ลักษณะภายนอกของบรอกโคลี จะมีใบกว้างสีเขียวเข้มออกเทา ริมขอบใบเป็นหยัก ทรงพุ่มใหญ่เก้งก้าง ลำต้นใหญ่และอวบ ดอกอยู่รวมกันเป็นกลุ่มช่อหนาแน่นดูเป็นฝอย ๆ สีเขียวเข้ม ดอกมีขนาดใหญ่ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 16 เซนติเมตร โดยทั่วไปนิยมกินตรงส่วนที่เป็นดอก ส่วนลำต้นจะนิยมรองลงมา แต่ในด้านคุณค่าทางอาหาร โดยเฉพาะวิตามินซี กลับมีอยู่มากในส่วนของลำต้น ด้งนั้นหากเก็บบรอกโคลีไว้นานแล้วพบว่าดอกกลายเป็นสีเหลืองจึงไม่ควรทิ้ง ให้นำส่วนของลำต้นมาทำอาหารรับประทานได้ บรอกโคลีมีรสหวาน กรอบ จึงเป็นที่นิยมกันมากขึ้นเรื่อย ๆ
พันธุ์บรอกโคลี
[แก้]บรอกโคลีมีอยู่หลายพันธุ์ แต่พันธุ์ที่ปลูกในประเทศไทยได้ คือ
- พันธุ์เด ซิกโก (De Cicco) อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 65 วัน
- พันธุ์ซากาต้า หรือพันธุ์ Green Duke อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 60 วัน
- พันธุ์กรีน โคเมท (Green Comet) เป็นพันธุ์จากญี่ปุ่น เก็บเกี่ยวได้เร็ว ประมาณ 40 วัน ให้ผลผลิตสูง มีลักษณะตรงตามความต้องการของตลาด
- พันธุ์ท็อปกรีน ให้ผลผลิตสูง
สารอาหาร
[แก้]บรอกโคลีมีคุณค่าทางอาหารสูง อุดมไปด้วยบีตา-แคโรทีน (beta-carotene) วิตามินเอ วิตามินบี วิตามินซี แคลเซียม โฟลิก ฟอสฟอรัส เหล็ก และไฟเบอร์ นอกจากนั้นบรอกโคลีประกอบไปด้วยสารเคมีทางธรรมชาติชื่อ sulforaphane และ indoles ซึ่งมีคุณสมบัติในการต่อต้านมะเร็ง สามารถรับประทานบรอกโคลีได้ทั้งแบบสด และนำมาประกอบอาหาร
การเพาะปลูก
[แก้]บรอกโคลีเป็นพืชผักที่ปลูกในสภาพอุณหภูมิต่ำ บรอกโคลีเติบโตได้ดีที่สุดเมื่อสัมผัสกับอุณหภูมิเฉลี่ยต่อวันระหว่าง 18°C และ 23°C (64°F และ 73°F) วิธีปลูก คือ หลังจากต้นกล้ามีอายุ 25 – 30 วัน จึงทำการถอนกล้าไปปลูก วิธีถอนก็โดยการใช้มือดึงตรงส่วนใบขึ้นมาตรง ๆ ไม่ใช่จับที่ลำต้นเพราะอาจทำให้ช้ำได้ เมื่อถอนแล้วใส่เข่งเอาผ้าชุบน้ำคลุมเก็บไว้ในที่ร่ม พอตอนเย็นแดดอ่อน ๆ ประมาณบ่าย 3 – 4 โมง จึงนำมาปลูกในแปลงปลูกที่เตรียมรดน้ำเอาไว้แล้ว ใช้นิ้วชี้เจาะดินเป็นรูปักต้นกล้าลงไปแล้วกดดินพอประมาณไม่ต้องถึงกับแน่น ระยะปลูกระหว่างต้นห่างประมาณ 30 – 60 เซนติเมตร ระยะระหว่างแถวห่างประมาณ 50 – 100 เซนติเมตร ผลของการปลูกห่างก็คือ จะทำให้ลำต้นโตได้เต็มที่ไม่ต้องเบียดกัน จะทำให้ได้ดอกใหญ่ขึ้น น้ำหนักต่อต้นสูง และไม่เกิดโรคเน่าที่เกิดจากต้นพืชเบียดกันแน่นเกินไป หลังจากปลูกแล้วคลุมดินด้วยฟางแห้งหรือหญ้าบาง ๆ เพื่อช่วยให้ต้นกล้าตั้งตัวได้เร็ว ช่วยรักษาความชื้นของดิน และภายหลังเมื่อผุพังแล้วยังกลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์ให้แก่ดินอีกด้วย เสร็จแล้วรดน้ำให้ชุ่ม [5]
โรคที่สำคัญ
[แก้]โรคของผักตระกูลกะหล่ำที่พบมากก็คือ โรคเน่าเละ (Soft rot) ชาวสวนเรียกว่า โรคเน่า, โรคหัวเน่า สาเหตุเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Erwinia carotovara โรคนี้มีแมลงวันเป็นพาหะ ลักษณะอาการของโรคคือ ในระยะแรกจะพบเป็นจุดช้ำหรือฉ่ำน้ำที่บริเวณดอก ต่อมาจุดเหล่านี้ขยายออก เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลถึงดำ เนื้อเยื่อบริเวณแผลมีลักษณะเป็นเมือกเยิ้มมีกลิ่นเหม็น เมื่อเป็นมาก ๆ ทำให้ดอกเกิดอาการเน่าเละเป็นสีน้ำตาลดำไปทั้งดอก แล้วจะเน่าอย่างรวดเร็วภายใน 2 – 3 วัน ทำให้ต้นยุบลงไปทั้งต้นหรือทั้งหัว และโรคนี้จะแพร่ไปยังต้นที่อยู่ใกล้เคียง การป้องกันกำจัดคือ ระมัดระวังอย่าให้เกิดแผลบนดอกบรอกโคลี กำจัดแมลงที่กัดกินบรอกโคลี และเมื่อพบต้นที่แสดงอาการให้ตัดไปเผาทำลาย โรคเน่าเละมักพบว่าเกิดร่วมกับโรคลำไส้ดำ หรือที่ชาวสวนเรียกว่า โรคโอกึน สาเหตุเกิดจากการขาดธาตุโบรอน บรอกโคลีจะแสดงอาการช่อดอกเน่าดำ โรคนี้ทำความเสียหายแก่ต้นบรอกโคลีทั้งต้น เมื่อพบเห็นต้นที่เป็นโรค ควรรีบถอนไปทำลายทิ้ง และหากมีโรคระบาดมาก ไม่ควรจะปลูกพืชตระกูลนี้ซ้ำที่เดิมอีก ควรเปลี่ยนไปปลูกพืชตระกูลอื่นหมุนเวียนบ้าง
แมลงศัตรูพืช
[แก้]จุดที่แมลงศัตรูของผักบรอกโคลีเข้าทำลายคือใบและดอก โดยที่เป็นผักที่นิยมรับประทานดอกและลำต้น เกษตรกรจึงไม่กังวลถึงความสวยงามของใบเวลาขาย แต่ถ้าหากพบว่ามีแมลงศัตรูระบาดก็จำเป็นต้องพ่นฉีดยาป้องกันและกำจัด เพื่อไม่ให้ระบาดไปยังดอกหรือระบาดไปต้นอื่น ๆ ซึ่งจะทำให้บรอกโคลีเจริญเติบโตได้ไม่ดี แมลงศัตรูที่พบ ได้แก่ หนอนคืบกะหล่ำ, หนอนใยผัก, หนอนกะหล่ำ, หนอนกระทู้หอม[6]
หนอนใยผัก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Plutella xylostella เป็นหนอนที่มีขนาดเล็กที่สุดในบรรดาหนอนผีเสื้อศัตรูผัก ชอบวางไข่ตามใต้ใบเป็นฟองเดี่ยว ๆ หรือเป็นกลุ่มติดกัน ไข่มีขนาดเล็ก แบนและยาวรี ไข่มีสีเหลืองอ่อน เป็นมัน ผิวขรุขระ ระยะการเป็นไข่ 2 – 3 วัน เมื่อไข่ใกล้ฟักออกเป็นตัวหนอนจะมีสีเหลืองเข้ม ตัวหนอนมีขนาดเล็กมองเห็นยาก มีการเจริญเติบโตเร็วกว่าหนอนอื่น ตัวหนอนจะกัดกินผิวด้านล่างใบจนเกิดเป็นรูพรุน และกัดกินในยอดผักที่กำลังเจริญเติบโต ทำให้ผักได้รับความเสียหาย สามารถทำลายผักในตระกูลกะหล่ำเกือบทุกชนิด เช่น คะน้า กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก และผักกาดต่าง ๆ
การเก็บเกี่ยว
[แก้]อายุของดอกบรอกโคลีนับตั้งแต่วันย้ายปลูกจนถึงวันตัดขายได้ ประมาณ 70 – 90 วัน โดยเลือกตัดดอกที่มีกลุ่มดอกเกาะตัวกันแน่น ดอกโตขนาดประมาณ 12 – 16 เซนติเมตร และต้องรีบตัดดอกก่อนที่จะบานกลายเป็นสีเหลือง[7] ซึ่งจะขายไม่ได้ราคาเพราะผู้ซื้อมักเข้าใจว่าเป็นผักที่ไม่สด ไม่น่ารับประทาน วิธีการเก็บเกี่ยวโดยใช้มีดตัดต้นชิดโคนแล้วขนออกมาตัดแต่งข้างนอกแปลงตัด ให้เหลือทั้งต้นและดอกยาวประมาณ 16 – 20 เซนติเมตร ตัดใบออกให้เหลือติดดอกประมาณ 2 ใบ เพื่อเอาไว้พันรอบดอก เป็นการป้องกันความเสียหายที่จะเกิดกับดอกในระหว่างการขนส่ง
การดูแลหลังการเก็บเกี่ยว
[แก้]ปัญหาของดอกบรอกโคลีหลังการเก็บเกี่ยวก็คือ จะเกิดการเปลี่ยนสีของดอกเร็วมาก โดยเฉพาะดอกที่ดอกย่อยใกล้จะบานก่อนที่จะตัดออกมา คือเมื่อดอกย่อยที่เป็นสีเขียวบาน จะกลายเป็นสีเหลืองทำให้ขายไม่ได้ราคา บางทีหลังจากตัดออกมาเพียงชั่ววันหรือคืนเดียว ดอกย่อยก็จะบานเหลืองดูคล้ายกับผักไม่สด สาเหตุเป็นเพราะอุณหภูมิร้อนเกินไป การทำให้อุณหภูมิต่ำสามารถเก็บรักษาคุณภาพและยืดอายุของผักได้ดีกว่า ซึ่งทำได้โดยเก็บรักษาบรอกโคลีไว้ที่อุณหภูมิต่ำ 1 – 10 องศาเซลเซียส เติมคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไป 10% แล้วเก็บเอาไว้เป็นเวลาถึง 28 วัน ดอกก็ยังคงมีสีเขียวราวกับเพิ่งตัดจากสวนใหม่ ๆ ซึ่งชาวสวนหรือผู้ทำการขนส่งที่ต้องเก็บรักษาคุณภาพได้นานวันกว่าปกติ อาจทำได้โดยป้องกันไม่ให้อากาศร้อนมากเกินไป
การผลิต
[แก้]10 อันดับ ประเทศที่ผลิตบรอกโคลี — 11 มิถุนายน 2008 | ||
---|---|---|
ประเทศ | ผลผลิต (ตัน) | เชิงอรรถ |
สาธารณรัฐประชาชนจีน | 8,585,000 | F |
อินเดีย | 5,014,500 | |
สหรัฐอเมริกา | 1,240,710 | |
สเปน | 450,100 | |
อิตาลี | 433,252 | |
ฝรั่งเศส | 370,000 | F |
เม็กซิโก | 305,000 | F |
โปแลนด์ | 277,200 | |
ปากีสถาน | 209,000 | F |
สหราชอาณาจักร | 186,400 | |
โลก | 19,107,751 | |
ไม่มีสัญลักษณ์ = ตัวเลขอย่างเป็นทางการ, F = FAO ประมาณการ ที่มา: องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ : กรมเศรษฐกิจและสังคม : กองสถิติ เก็บถาวร 2012-06-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน |
รวมภาพบรอกโคลี
[แก้]ภาพถ่ายระยะใกล้ของดอกบรอกโคลี | ดอกและก้านบรอกโคลี | ใบของบรอกโคลี ริมขอบใบจะเป็นหยัก | |
ดอกของบรอกโคลี | บรอกโคลีชนิดพันธุ์โรมาเนสโก | ดอกและต้นบรอกโคลี | บรอกโคลีที่นำไปต้มสุก |
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Buck, PA (1956). "Origin and taxonomy of broccoli". Economic Botany. 10 (3): 250–253. doi:10.1007/bf02899000. S2CID 31365713. สืบค้นเมื่อ 24 April 2012.
- ↑ Stephens, James. "Broccoli—Brassica oleracea L. (Italica group)". University of Florida. p. 1. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-12-25. สืบค้นเมื่อ 14 May 2009.
- ↑ Smith, Powell (June 1999). "HGIC 1301 Broccoli". Clemson University. สืบค้นเมื่อ 25 August 2009.
- ↑ Branham, Sandra E.; Stansell, Zachary J.; Couillard, David M.; Farnham, Mark W. (1 March 2017). "Quantitative trait loci mapping of heat tolerance in broccoli (Brassica oleracea var. italica) using genotyping-by-sequencing". Theoretical and Applied Genetics (ภาษาอังกฤษ). 130 (3): 529–538. doi:10.1007/s00122-016-2832-x. ISSN 1432-2242. PMID 27900399. S2CID 2361874.
- ↑ เทคนิคการปลูกหน่อไม้ฝรั่งและบร็อคโคลี่. 1990. ISBN 9789747524161.
- ↑ โรค-แมลงศัตรูผักและการป้องกันกำจัด (PDF) (2 ed.). กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. 2557.
- ↑ Liptay, Albert (1988). Broccoli. World Book, Inc.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- PROTAbase on Brassica oleracea (cauliflower and broccoli)
- List of North American broccoli cultivars, USDA/ARS Vegetable Laboratory
- Lee, Lisa-Ann (22 February 2017). "Creating a broccoli for all seasons to hedge against climate change". newatlas.com.