นพรัตน์ กุลหิรัญ
นพรัตน์ กุลหิรัญ | |
---|---|
เกิด | นพรัตน์ กุลหิรัญ ย่านเยาวราช กรุงเทพมหานคร |
การศึกษา | วิทยาลัยวิชาการศึกษา วิทยาเขตปทุมวัน โรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ โรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์ |
อาชีพ | นักธุรกิจ |
องค์การ | บริษัท ชัยเสรีเม็ททอลแอนด์รับเบอร์ จำกัด |
คู่สมรส | หิรัญ กุลหิรัญ[1] |
บุตร | กานต์ กุลหิรัญ[1] กฤต กุลหิรัญ[1][2][3][4] |
นพรัตน์ กุลหิรัญ เจ้าของฉายา มาดามรถถัง[5][6][7][8] (อังกฤษ: Madam Tank)[9][10] เป็นนักธุรกิจหญิงชาวไทย ผู้ก่อตั้งบริษัท ชัยเสรีเม็ททอลแอนด์รับเบอร์ จำกัด ที่ผลิตชิ้นส่วนและรถหุ้มเกราะ ให้แก่กองทัพไทยและกองทัพต่างประเทศ[11][12][13][14]
ทั้งนี้ เธอเคยเป็นครูสอนวิชาภูมิศาสตร์กายภาพ[15]
ชีวิตช่วงต้น[แก้]
นพรัตน์ กุลหิรัญ เกิดที่ย่านเยาวราช กรุงเทพมหานคร ครอบครัวของเธอทำกิจการค้าเหล็ก, โซ่ และเครื่องยนต์เก่า ที่สืบทอดมาจากรุ่นปู่ของเธอซึ่งเป็นชาวจีนที่เดินทางข้ามทะเลมาตั้งแต่ พ.ศ. 2400[11]
ในวัยเด็ก เธอได้สั่งสมประสบการณ์เกี่ยวกับวงการเหล็กจากการช่วยพ่อของเธอทำธุรกิจ รวมถึงเพื่อนบ้านข้างเคียงที่ประกอบอาชีพเกี่ยวกับวงการเหล็กเกือบทั้งหมด[11]
เธอสำเร็จศึกษาระดับประถมจากโรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์ และเก่งคณิตศาสตร์ ต่อมาเธอได้รับการแนะนำจากพ่อให้ศึกษาด้านภาษา เนื่องจากเห็นว่าเป็นคนพูดจาเก่ง ชอบคบค้าสมาคม เธอจึงศึกษาต่อที่โรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ เอกภาษาฝรั่งเศส และระดับอุดมศึกษาที่วิทยาลัยวิชาการศึกษา วิทยาเขตปทุมวัน เนื่องจากในช่วงนั้นเธอเห็นว่าเป็นสถาบันสอนวิชาภาษาฝรั่งเศสที่ดีที่สุด[11]
ช่วงเป็นนักศึกษาเธอทำกิจกรรมจำนวนมาก รวมถึงได้รับโอกาสจากข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ของการทำหน้าที่เป็นล่ามภาษาฝรั่งเศสและครูสอนภาษาไทยในค่ายผู้อพยพ ที่อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว[11]
เมื่อสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี เธอได้สอบบรรจุเป็นครูโรงเรียนยานนาเวศประมาณ 5 เดือน ก่อนที่จะย้ายไปเป็นครูสอนวิชาภูมิศาสตร์ที่โรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ ซึ่งเป็นโรงเรียนเก่าของเธอ[11]
ช่วงดำเนินกิจการ[แก้]
จากนั้น เธอได้แต่งงานกับหิรัญ กุลหิรัญ ซึ่งเป็นเจ้าของกิจการซ่อมรถและดัดแปลงเครื่องยนต์ ที่ภายหลังได้เริ่มติดต่อกับกองทัพในลักษณะตัวแทนจัดหาอุปกรณ์เครื่องยนต์ และซ่อมบำรุงช่วงล่างให้กับรถบรรทุก[11]
ต่อมา ในช่วงสงครามเวียดนามสิ้นสุด กองทัพสหรัฐได้ถอนฐานทัพและทิ้งอาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมากไว้ที่ประเทศเวียดนาม, กัมพูชา และลาว ทางสามีของเธอจึงได้ขอซื้อจากกองทัพสหรัฐ เพื่อนำกลับมาที่ประเทศไทย ส่งผลให้โรงงานมีอะไหล่จำนวนเพียงพอแก่ความต้องการของกองทัพไทย ในขณะเดียวกัน เธอเองก็ได้หาซื้อเครื่องจักรตามโรงงานที่เลิกกิจการอีกหลายแห่ง เพื่อนำอุปกรณ์ที่เหมาะสมเข้ามา[11]
เนื่องด้วยเธอเป็นผู้มีทักษะด้านการเจรจา และเก่งภาษาอังกฤษ เธอได้สอบถามทหารสหรัฐที่มาประเทศไทยว่าตีนตะขาบรถถังหาซื้อได้ที่ไหน จนทราบที่อยู่ และติดต่อซื้อเพื่อเสนอขายให้แก่กองทัพ ระหว่างไปตรวจรับสินค้าที่สหรัฐ เธอใช้ความจริงใจและไหวพริบพูดคุย จนสามารถเข้าไปในโรงงานผลิตที่เป็นเขตหวงห้ามได้สำเร็จ[11]
เธอได้ศึกษาวิธีผลิตและนำความรู้ต่าง ๆ กลับมาบอกสามี แล้วร่วมกันสร้างโรงงานที่ประเทศไทยตามแบบสหรัฐ ซึ่งต่อมา เจ้าของโรงงานสหรัฐที่เธอติดต่อด้วยได้เดินทางมาเยี่ยมและขอเข้าชมโรงงาน[11]
จากการพูดคุย ส่งผลให้เขาเกิดความประทับใจต่อนพรัตน์ โดยได้บอกว่าหากเขาเลิกกิจการจะขายเครื่องจักรทั้งหมดให้ ซึ่งเธอเองก็มีความสนใจ แต่มีเงินประมาณ 25 ล้านบาทในขณะนั้น เธอจึงเสนอโอนเงินให้เท่าที่มี เพื่อซื้อตามแต่เขาจะให้[11]
ซึ่งทางโรงงานสหรัฐได้มอบเครื่องจักร 45 ตู้ รวมถึงแบบพิมพ์, เครื่องอัดยาง และเครื่องขึ้นรูปตีนตะขาบ กระทั่งกิจการของเธอเติบโตด้วยเครื่องจักรที่ทันสมัย และเริ่มตระเวนหาคู่ค้าในต่างประเทศ[11]
การตลาดระหว่างประเทศ[แก้]
ในยุคที่ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นผู้บัญชาการทหารบก โรงงานของเธอได้รับโอกาสในการติดตั้งสายพานให้กับรถถังที่นำเข้าจากประเทศจีน ซึ่งเธอได้ต่อยอดด้วยการติดตั้งสายพานให้กับรถถังจีนที่ประจำการในประเทศปากีสถาน และบังกลาเทศ[11]
ต่อมา เธอได้เซ็นสัญญาติดตั้งผลิตชิ้นส่วนให้กับรถถังของกองทัพสหรัฐ เมื่อกิจการเติบโต ก็ได้มีการนำเครื่องจักรและอุปกรณ์ไปจัดแสดงในงานแสดงอาวุธนานาชาติเป็นประจำ อาทิ ยูโรซาทอรี (Eurosatory) และนิทรรศการกลาโหมระหว่างประเทศ (IDEX) ส่งผลให้กิจการของเธอเป็นที่รู้จักในต่างประเทศ[11]
ปัจจุบัน กิจการของเธอได้ผลิตชิ้นส่วนให้แก่กองทัพไทย และกองทัพต่างประเทศรวม 41 ประเทศทั่วโลก ซึ่งรวมถึงรัสเซีย, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, ชิลี และบราซิล[11]
รถหุ้มเกราะ[แก้]
สืบเนื่องจากความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย ที่มีความรุนแรง รวมถึงมีการปะทะและลอบวางระเบิดบ่อยครั้ง เธอจึงหาวิธีป้องกันชีวิตเจ้าหน้าที่และประชาชน กระทั่งบริษัทของเธอได้เริ่มสร้างรถหุ้มเกราะล้อยางขึ้น[1]
บริษัทของเธอเป็นผู้ผลิตรถหุ้มเกราะเฟิร์สวิน ซึ่งประจำการอยู่ที่กองทัพไทย, กรมสอบสวนคดีพิเศษ, หน่วยปราบปรามยาเสพติด และหน่วยงานกรมราชทัณฑ์ รวมทั้งได้รับการสั่งซื้อจากกองทัพมาเลเซีย[11]
ต่อมา บริษัทของเธอได้ผลิตเฟิร์สวินเวอร์ชันรถพยาบาล ที่ได้รับการกล่าวว่าเป็นรถเกราะพยาบาล ล้อยางกันกระสุนกันระเบิด คันแรกของโลก[5][16]
ชีวิตส่วนตัว[แก้]
พ่อแม่ของเธอเป็นชาวจีนอพยพ นพรัตน์เป็นลูกคนที่ 7 ของพี่น้องที่มีทั้งหมด 12 คน (ชาย 5 คน หญิง 7 คน) ทั้งนี้ เธอมีบุตรชาย 2 คน คือ กานต์ กุลหิรัญ และกฤต กุลหิรัญ[11]
นพรัตน์ได้รับการกล่าวว่าเป็นนักธุรกิจหญิงที่เป็นมิตร ในยามว่าง เธอมักทำงานประดิษฐ์ หรืองานฝีมือ หรือวาดภาพระบายสี โดยรูปที่เธอชอบวาดที่สุด คือ ดอกชบา[15]
ทรัพย์สิน[แก้]
พ.ศ. 2561 ได้เกิดกรณีกรมศุลกากรเรียกเก็บภาษีนำเข้ารถหุ้มเกราะย้อนหลังจำนวน 89 ล้านบาท ซึ่งทางนพรัตน์ที่ดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการบริษัท ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนขอความเป็นธรรม[17] อนึ่ง เธอเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ลักซ์ชัวรี่[18]
ปริญญากิตติมศักดิ์[แก้]
- พ.ศ. 2560 – ปริญญาวิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (วิศวกรรมอุตสาหการ) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี[19]
อ้างอิง[แก้]
- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 'เสนาหอย-วิลลี่' บุกโรงงาน 'มาดามรถถัง' ผลิตรถหุ้มเกราะระดับโลก - Amarin TV
- ↑ มาดามรถถัง ‘นพรัตน์’ ที่สุดของแม่สายสตรอง และมุมที่คาดไม่ถึง! …ลูกชายคนเล็ก ‘กฤต’ คอนเฟิร์ม!
- ↑ คุณลูกนักบู๊ กับยอดคุณแม่นักจัดการ กฤต & นพรัตน์ กุลหิรัญ
- ↑ กฤต กุลหิรัญ กับธุรกิจรถถังเพื่อป้องกันประเทศ - Manager Online
- ↑ 5.0 5.1 มาดามรถถัง พารอง ปธ.สภาฯ-คณะ สนช.ทัวร์โรงงาน ชมรถเกราะพยาบาล ล้อยางคันแรก
- ↑ เปิดตัวรถหุ้มเกราะ ไทยทำ-ทั่วโลกทึ่ง - ไทยโพสต์
- ↑ 'เปอร์' บุกโกดัง รถหุ้มเกราะ 'มาดามรถถัง'
- ↑ ฝีมือคนไทยที่ต้องภาคภูมิใจ…รถหุ้มเกราะพยาบาลกันระเบิดดีที่สุดในโลก!!! ถูกยิงก็ยังวิ่งต่อได้ กองทัพส่งประจำซูดาน
- ↑ "รถหุ้มเกราะ First Win "ความก้าวหน้าของคนไทยในอุตสาหกรรมยุทธภัณฑ์ทางทหาร″". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-01-23. สืบค้นเมื่อ 2019-01-21.
- ↑ นักธุรกิจหญิง จอมลุยสิบทิศ “นพรัตน์ กุลหิรัญ” จนได้ฉายา “มาดามรถถัง” ลือลั่นไปทั่วโลก
- ↑ 11.00 11.01 11.02 11.03 11.04 11.05 11.06 11.07 11.08 11.09 11.10 11.11 11.12 11.13 11.14 11.15 11.16 "นพรัตน์ กุลหิรัญ" จากหมวยเยาวราช สู่มาดามรถถังระดับโลก - โพสต์ทูเดย์
- ↑ มาดามรถถัง "นพรัตน์ กุลหิรัญ" ..เผยเส้นทางธุรกิจรถหุ้มเกราะระดับโลก
- ↑ สนช.เยี่ยมโรงงานผลิตรถหุ้มเกราะสัญชาติไทย - ทอล์คนิวส์[ลิงก์เสีย]
- ↑ 'มาดามรถถัง' กับธุรกิจไม่ธรรมดาผลิตสายพานรถฯช่วยกองทัพไทย - เดลินิวส์
- ↑ 15.0 15.1 แม่ศรีเรือนในบ้าน คืองานหลักของเธอ! เปิดบ้าน มาดามรถถัง 'นพรัตน์ กุลหิรัญ'
- ↑ มาดามรถถัง พารอง ปธ.สภา-คณะ สนช.ทัวร์โรงงาน ชมรถเกราะพยาบาล ล้อยางคันแรก
- ↑ “ชัยเสรีฯ” ร้องกรมศุลฯ เรียกเก็บภาษีโหด รถหุ้มเกราะ 89 ล้านบาท
- ↑ LUXF - กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ลักซ์ชัวรี่ - SETTRADE.COM - Leading
- ↑ บัณฑิตกิตติมศักดิ์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ประจำปีการศึกษา 2560
แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

- บุคคลที่ยังไม่ทราบปีที่เกิด
- บุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่
- นักธุรกิจชาวไทยเชื้อสายจีน
- ครูชาวไทย
- ครูภูมิศาสตร์
- รถถัง
- บุคคลจากโรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์
- บุคคลจากโรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์
- บุคคลจากคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
- ผู้ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
- บุคคลจากเขตสัมพันธวงศ์