ถนนอรุณอมรินทร์

พิกัด: 13°46′03″N 100°29′06″E / 13.767417°N 100.484926°E / 13.767417; 100.484926
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ถนนอรุณอัมรินทร์)
ถนนอรุณอมรินทร์

ถนนอรุณอมรินทร์ [อะ-รุน-อำ-มะ-ริน] (อักษรโรมัน: Thanon Arun Ammarin) เป็นถนนสายสำคัญสายหนึ่งในฝั่งธนบุรี กรุงเทพมหานคร

ประวัติ[แก้]

ถนนอรุณอมรินทร์เป็น "ถนนสายที่ 2" ในโครงการตัดและขยายถนน 11 สายในจังหวัดธนบุรีและจังหวัดพระนคร ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากการก่อสร้างสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ (สะพานพระพุทธยอดฟ้า) เมื่อปี พ.ศ. 2472 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยกำหนดแนวเส้นทางไว้ตั้งแต่วัดอมรินทราราม มาทางถนนบ้านขมิ้น ข้ามคลองบางกอกใหญ่ ผ่านถนนสายที่ 1 (ปัจจุบันคือถนนประชาธิปก) แล้วตรงไปตามแนวถนนคลองสานซึ่งมีอยู่แล้ว ไปบรรจบกับถนนสายที่ 4 (ปัจจุบันคือถนนลาดหญ้า) ที่ปากคลองสาน ยาวประมาณ 4,900 เมตร กว้าง 23 เมตร ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น เพื่อตัดและขยายถนนฝั่งจังหวัดธนบุรีและจังหวัดพระนคร[1]

ถนนสายที่ 2 สร้างและขยายใหม่ตามแนวถนนที่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ได้สร้างไว้ รวมทั้งยังเป็นที่ตั้งจวน (บ้าน) ของสมเด็จเจ้าพระยาถึง 4 ท่านอีกด้วย ได้แก่ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค) และสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ดังนั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงทรงตั้งชื่อถนนถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า ถนนสมเด็จเจ้าพระยา[2] อย่างไรก็ตาม ถนนสายนี้ตัดสำเร็จเฉพาะส่วนปลาย โดยแยกออกเป็นสองด้านและมีเส้นทางไม่ต่อเนื่องกัน กล่าวคือ ส่วนปลายด้านหนึ่งจากวัดพิชยญาติการามถึงปากคลองสานซึ่งยังคงใช้ชื่อว่าถนนสมเด็จเจ้าพระยามาจนถึงปัจจุบัน และส่วนปลายอีกด้านมีระยะทางเริ่มต้นจากวัดอรุณราชวรารามขึ้นไปจนถึงวัดอมรินทราราม ในเวลาต่อมาทางการจึงเปลี่ยนชื่อถนนส่วนนี้เป็น ถนนอรุณอมรินทร์[2]

ต่อมาจึงมีการตัดถนนอรุณอมรินทร์ขึ้นไปทางเหนือ โดยข้ามคลองบางกอกน้อยบริเวณใกล้วัดอมรินทรารามและอู่เรือหลวง ไปตัดกับถนนสมเด็จพระปิ่นเกล้าและบรรจบซอยจรัญสนิทวงศ์ 40 (อัศวมิตร) โดยเป็นหนึ่งในโครงการตัดถนนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลบางยี่ขันและตำบลศิริราช อำเภอบางกอกน้อย จังหวัดธนบุรี พ.ศ. 2509 เพื่อตัดถนนให้รับกับคอสะพานที่จะสร้างข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา (ปัจจุบันคือสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า) และสะพานข้ามคลองบางกอกน้อย (ปัจจุบันคือสะพานอรุณอมรินทร์)[3]

ส่วนถนนตอนกลางที่เชื่อมระหว่างสองส่วนดังกล่าวเพิ่งสร้างสำเร็จตลอดสายเมื่อไม่นานมานี้ ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน เพื่อสร้างทางหลวงเทศบาลสายอรุณอมรินทร์ ตอนแยกถนนวังเดิม-บรรจบถนนประชาธิปก พ.ศ. 2536 โดยแนวถนนบางช่วงเปลี่ยนแปลงไปจากแนวเวนคืนที่ปรากฏในพระราชกฤษฎีกาเมื่อปี พ.ศ. 2473 เนื่องจากผ่านมัสยิดต้นสนและโรงเรียนศึกษานารี ปัจจุบันถนนตัดใหม่สายนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของถนนอรุณอมรินทร์ บางครั้งเรียกว่า "ถนนอรุณอมรินทร์ตัดใหม่" ส่วนถนนอรุณอมรินทร์สายเดิมจากวัดเครือวัลย์วรวิหาร (ผ่านวัดอรุณราชวราราม) ถึงกองทัพเรือนั้น กลายเป็นส่วนหนึ่งของถนนวังเดิม

ในปี พ.ศ. 2541 ทางราชการได้ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน เพื่อสร้างทางหลวงเทศบาลสายเชื่อมระหว่างถนนวิสุทธิกษัตริย์กับถนนอรุณอมรินทร์ เพื่อสร้างความสะดวกรวดเร็วแก่การจราจรขนส่ง เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ ถนนอรุณอมรินทร์ตอนเหนือจึงมีระยะทางเพิ่มขึ้นอีก โดยต่อจากถนนเดิมที่บรรจบกับซอยจรัญสนิทวงศ์ 40 (ปัจจุบันคือซอยอรุณอมรินทร์ 30 และซอยอรุณอมรินทร์ 49) แล้วโค้งไปทางทิศตะวันออก ซ้อนกับแนวซอยจรัญสนิทวงศ์ 40 ก่อนจะตรงไปรับกับตัวสะพานพระราม 8[4]

ลักษณะ[แก้]

ถนนอรุณอมรินทร์มีเส้นทางเริ่มต้นจากถนนประชาธิปกใกล้กับโรงเรียนศึกษานารีและวงเวียนเล็กเดิม ในพื้นที่แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี ไปทางทิศตะวันตกและวกไปทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ข้ามสะพานอนุทินสวัสดิ์ (คลองบางกอกใหญ่) เข้าพื้นที่แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ ตัดกับถนนวังเดิมที่ทางแยกวังเดิม ข้ามคลองมอญเข้าพื้นที่แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย จากนั้นเลียบคลองบ้านขมิ้นไปและตัดกับซอยอิสรภาพ 44 ที่ทางแยกบ้านขมิ้น และเริ่มตรงขึ้นไปทางทิศเหนือ ตัดกับถนนวังหลังที่ทางแยกศิริราช ข้ามสะพานอรุณอมรินทร์ (คลองบางกอกน้อย) เข้าพื้นที่แขวงอรุณอมรินทร์ โค้งไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ตัดกับถนนสมเด็จพระปิ่นเกล้าที่ทางแยกอรุณอมรินทร์ เข้าพื้นที่แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด แล้วเลียบใต้ถนนคู่ขนานลอยฟ้าพระบรมราชชนนี ข้ามสะพานบางยี่ขัน (คลองบางยี่ขัน) แล้วโค้งไปทางทิศตะวันออกเมื่อผ่านวัดอมรคีรี ไปสิ้นสุดที่สะพานพระราม 8

สถานที่สำคัญ[แก้]

ทางแยกสำคัญ[แก้]

รายชื่อทางแยกบน ถนนอรุณอมรินทร์ ทิศทาง: วงเวียนเล็ก–พระราม 8
จังหวัด กม.ที่ ชื่อจุดตัด ซ้าย ขวา
ถนนอิสรภาพ ถนนอรุณอมรินทร์ (วงเวียนเล็ก–พระราม 8)
กรุงเทพมหานคร 0+000 วงเวียนเล็ก ถนนประชาธิปก ไปแยกบ้านแขก ถนนประชาธิปก ไปขึ้นสะพานพระปกเกล้า
สะพานอนุทินสวัสดิ์ ข้ามคลองบางกอกใหญ่
แยกวังเดิม ถนนวังเดิม ไปถนนอิสรภาพ ถนนวังเดิม ไปกองทัพเรือและวัดอรุณ
สะพาน ข้ามคลองมอญ
แยกบ้านขมิ้น ซอยอิสรภาพ 44 ไปถนนอิสรภาพ ไม่มี
แยกศิริราช ถนนวังหลัง ไปแยกพรานนก ถนนวังหลัง ไปท่าวังหลังและท่าพรานนก
ทางลาดขึ้นมาจากถนนรถไฟ ไม่มี
สะพานอรุณอมรินทร์ ข้ามคลองบางกอกน้อย
แยกอรุณอมรินทร์ ถนนสมเด็จพระปิ่นเกล้า ไปสถานีขนส่งสายใต้ ถนนสมเด็จพระปิ่นเกล้า ไปสะพานพระปิ่นเกล้า
ตรงไป: ถนนอรุณอมรินทร์ ไปบางยีขัน
      สะพาน              กำลังก่อสร้างหรือโครงการในอนาคต

อ้างอิง[แก้]

  1. "พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น เพื่อตัดและขยายถนนฝั่งจังหวัดธนบุรีและจังหวัดพระนคร" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 47 (0 ก): 230–240. 2 พฤศจิกายน 2473. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2012-06-21.
  2. 2.0 2.1 กนกวลี ชูชัยยะ. พจนานุกรมวิสามานยนามไทย : วัด วัง ถนน สะพาน ป้อม. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, 2548, หน้า 357-358.
  3. "พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลบางยี่ขัน และตำบลศิริราช อำเภอบางกอกน้อย จังหวัดธนบุรี พ.ศ. ๒๕๐๙" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 83 (108 ก): 830–833. 29 พฤศจิกายน 2509.
  4. "พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน เพื่อสร้างทางหลวงเทศบาล สายเชื่อมระหว่างถนนวิสุทธิกษัตริย์กับถนนอรุณอมรินทร์ พ.ศ. ๒๕๔๑" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 115 (40 ก): 1–3. 30 มิถุนายน 2541.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

13°46′03″N 100°29′06″E / 13.767417°N 100.484926°E / 13.767417; 100.484926