ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เดอะซีรีส์ ภาคองค์ประกันหงสา
บทความนี้ได้รับแจ้งให้ปรับปรุงหลายข้อ กรุณาช่วยปรับปรุงบทความ หรืออภิปรายปัญหาที่หน้าอภิปราย
|
ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เดอะซีรีส์ ภาคองค์ประกันหงสา | |
---|---|
ประเภท | ประวัติศาสตร์ |
สร้างโดย | บริษัท โมโน บรอดคาซท์ จำกัด บริษัท ฟุ๊คดุ๊ค โปรดักชั่น จำกัด |
เขียนโดย | บทประพันธ์ : พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล บทโทรทัศน์ : หม่อมราชวงศ์เฉลิมชาตรี ยุคล วรยุทธ พิชัยศรทัต |
กำกับโดย | หม่อมราชวงศ์เฉลิมชาตรี ยุคล |
แสดงนำ | ภาณุกร วงษ์บุญมาก ณัฐชนน บุญศิริ ณปภัช ฐิตะกวิน ภัทรวดี เหลาสา พชรณมน นนทภา กรภัทร์ เกิดพันธุ์ สรพงษ์ ชาตรี อธิวัฒน์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ศิรประภา สุขดำรงค์ ปรเมศร์ น้อยอ่ำ กษาปณ์ จำปาดิบ |
จำนวนตอน | 12 ตอน |
การผลิต | |
ผู้อำนวยการผลิต | พิชญ์ โพธารามิก ดร. โสรัชย์ อัศวะประภา นวมินทร์ ประสพเนตร ซัง โด ลี |
ผู้อำนวยการสร้าง | หม่อมราชวงศ์เฉลิมชาตรี ยุคล คุณากร เศรษฐี บังอร อิ่มเอม ธัญญ์พัฑรา วงษ์นพวิชญ์ กฤษ อินสมพันธ์ |
ความยาวตอน | 60 นาที |
ออกอากาศ | |
เครือข่าย | โมโน 29 |
ออกอากาศ | 9 มกราคม พ.ศ. 2560 – 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 |
ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เดอะซีรีส์ ภาคองค์ประกันหงสา หรือ ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช The Series ภาคองค์ประกันหงสา เป็นละครโทรทัศน์อิงประวัติศาสตร์ ภาคที่หนึ่งของละครเรื่อง ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เดอะซีรีส์ กำกับการแสดงโดย หม่อมราชวงศ์เฉลิมชาตรี ยุคล เป็นการสร้างละครที่อิงเอาเนื้อเรื่องจากภาพยนตร์เรื่อง ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ปฐมวัย ที่หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคลที่ทำไว้มาสร้างใหม่อีกครั้ง ใช้กระบวนการถ่ายทำและเทคนิคแบบภาพยนตร์ ด้วยความมุ่งหมายจะให้เนื้อเรื่องสมบูรณ์กว่าในแบบฉบับภาพยนตร์
ละครเรื่องนี้ออกอากาศตอนแรกในวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2560 และออกอากาศตอนจบในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 ละครเรื่องนี้มีภาคต่อคือ ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เดอะซีรีส์ ภาคประกาศอิสรภาพ
ออกอากาศซ้ำทางช่อง 9 ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 18.00-19.00 น. เริ่มตอนแรกในวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2564 และออกอากาศตอนจบในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2564 ต่อจากละคร แม่นากพระโขนง
เนื้อเรื่อง
[แก้]พ.ศ. 2106 พระเจ้าบุเรงนองแห่งอาณาจักรตองอูได้ตีหัวเมืองเหนือของสยามไล่มาตั้งแต่สุโขทัย, สวรรคโลก, และที่สองแคว ซึ่งที่พระพิษณุโลกสองแควนั้น พระมหาธรรมราชา (อธิวัฒน์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา) ผู้รั้งเมืองอยู่นั้นได้ขอความช่วยเหลือจากพระนครศรีอยุธยา แต่ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากอยุธยา พระมหาธรรมราชาจึงแปรพักตร์ไปเข้าด้วยกับพระเจ้าบุเรงนองเพื่อร่วมกันโจมตีอยุธยา โดยที่พระเจ้าบุเรงนองได้ขอเอาตัว พระนเรศ หรือ องค์ดำ (ภาณุกร วงษ์บุญมาก) พระโอรสองค์โตในพระมหาธรรมราชาและพระนางวิสุทธิ์กษัตริย์ (ศิรประภา สุขดำรงค์) ไปเป็นตัวประกันในหงสาวดีโดยที่ให้สัตย์สาบานว่าจะเลี้ยงดูอย่างดีดุจพระโอรส
เมื่อทัพพิษณุโลกสองแควและหงสาวดีมาถึงอยุธยา ก็ต้องพบกับการต่อต้านอย่างหนักจากอยุธยา ด้วยเพราะมี พระราเมศวร (อภิปราชญ์ ต่างใจ) พระโอรสพระองค์โตในสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (ศุกล ศศิจุลกะ) เป็นขุนศึกกล้าหาญชาญณรงค์สงครามทำการต่อต้าน แต่ทางสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเห็นว่าควรจะเจรจากับทางหงสาวดี เมื่อทั้งสองฝ่ายได้เจรจากัน พระเจ้าบุเรงนองได้ขอช้างเผือก 2 เชือกละขอตัวพระราเมศวรไปเป็นองค์ประกันที่หงสาวดีด้วยเช่นเดียวกับพระนเรศ โดยอ้างว่ายังมี พระมหินทราธิราช (เลอวิทย์ สังข์สิทธิ์) พระอนุชายังสามารถสืบราชสมบัติต่อไปได้ ต่อมา พระเจ้าบุเรงนองยกทัพไปตีกรุงศรีสัตนาคนหุตที่มีพระไชยเชษฐาธิราชปกครองอยู่ แต่พระราเมศวรไปไม่ทันถึงก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน
ที่นครหงสาวดี พระองค์ดำ (ณัฐชนน บุญศิริ) ขณะเที่ยวชมตลาดโยเดียซึ่งเป็นชุมนุมชาวสยามที่ถูกต้อนมาจากอยุธยาที่นอกกำแพงเมือง ได้บังเอิญช่วยเหลือพระธิดาวิไลกัลยา (ภัทรวดี เหลาสา) จากการที่ถูกงูกัด ทำให้องค์หญิงวิไลกัลยาเกิดหลงรักพระนเรศ ขณะที่องค์ดำจะกลับเข้าพระราชวังได้พบกับขบวนของมังสามเกียด (ภัทรกร ประเสริฐเศรฐ) พระโอรสของมหาอุปราชนันทบุเรง (ปรเมศร์ น้อยอ่ำ) ผ่านมา มังสามเกียดและลักไวทำมู ทหารคนสนิท พยายามให้องค์ดำก้มคาราวะตนในฐานะเชลย แต่องค์ดำไม่ยอม ขณะเดียวกันกับที่พระเจ้าบุเรงนองเสด็จผ่านมาเช่นกัน และให้มังสามเกียดเป็นฝ่ายก้มกราบองค์ดำแทน ด้วยเห็นว่ามีศักดิ์สูงกว่า และให้องค์ดำมาฝึกวิชาที่วัดหน้าประตูเมืองกับ พระมหาเถรคันฉ่อง (สรพงษ์ ชาตรี) ในวันรุ่งขึ้น เมื่อทั้งคู่มาถึงก็ได้พบกับ มณีจันทร์ (นวลจันทร์ ณ ถลาง) เด็กผู้หญิงที่อาศัยอยู่ในวัด และได้พบกับพระมหาเถรคันฉ่องที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านศัสตราวุธ ซึ่งพระมหาเถรคันฉ่องได้สั่งสอนสรรพวิชาและให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องสถานการณ์บ้านเมืองแก่องค์ดำตลอดมา
ต่อมาความสัมพันธ์ระหว่างพิษณุโลกสองแควและอยุธยาเริ่มคลอนแคลนกันมากขึ้น เมื่อทางฝ่าย สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช หลังจากที่ต้องสูญเสียพระมเหสีและเชื้อพระวงศ์ไปในศึกสงคราม จึงได้ส่งพระราชสาสน์มาขอตัว พระเทพกษัตรีย์ (ปัทมวรรณ เค้ามูลคดี) พระธิดาพระองค์เล็กในสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเป็นพระมเหสีด้วยว่าเป็นพระธิดาในสมเด็จพระสุริโยไท แต่ทางฝ่ายพระมหาธรรมราชาได้ลักลอบส่งสาสน์ไปบอกความยังพระเจ้าบุเรงนอง ให้มาชิงตัวไปในระหว่างทาง
ทางฝ่ายล้านช้างเมื่อสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชได้สูญเสียพระเทพกษัตรีไปแล้วนั้น ได้ยกทัพมาโจมตีพิษณุโลกสองแคว ทำให้ทางฝ่ายพระมหินทราธิราชเกิดความระแวงในตัวพระมหาธรรมราชาหนักยิ่งขึ้น เพราะเกรงว่านี่จะเป็นกลศึก การสงครามที่สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชตีพิษณุโลกสองแควนั้นไม่สำเร็จ พระเจ้าบุเรงนองได้ส่ง พระยาพุกาม และ พระยาเสือหาญ สองทหารมอญเข้ามาช่วยไล่ตีด้วยเพราะความเป็นสัมพันธไมตรีกันระหว่างสองเมือง แต่พระยามอญทั้งคู่ทำการไม่สำเร็จ พระเจ้าบุเรงนองจึงมีคำสั่งให้ประหารชีวิต แต่พระมหาธรรมราชาที่เดินทางไปยังหงสาวดีด้วยได้ทูลขอชีวิตไว้
ขณะที่พระมหาธรรมราชาเสด็จไปยังหงสาวดีนั้น ทางฝ่ายพระมหินทราธิราชได้เสด็จมายังพิษณุโลกสองแควอัญเชิญตัวพระนางวิสุทธิ์กษัตริย์กลับไปยังอยุธยา ทางฝ่ายพระมหาธรรมราชาและพระเจ้าบุเรงนองที่ยังประทับอยู่ที่หงสาวดีทราบความดังนั้นก็พิโรธ ยกทัพของทั้งสองเมืองไปโจมตีอยุธยาพร้อมกัน แต่การสงครามครั้งนี้กลับยืดเยื้อนานกว่าที่คาดคิด จนเวลาล่วงไปเกือบปี ขณะเดียวกัน สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ก็เสด็จสวรรคต พระมหินทราธิราช ได้ขึ้นเสวยราชย์เป็น สมเด็จพระมหินทราธิราชเจ้า ทางฝ่ายพระเจ้าบุเรงนองไม่อาจให้การสงครามยืดเยื้อมากไปกว่านี้ พระเจ้าบุเรงนองจึงออกอุบายขอพระยารามณรงค์ไป แล้วจะเลิกทัพ พระมหินทราธิราชทรงเห็นด้วยจึงเข้าแผนของพระเจ้าบุเรงนองทันที ต่อมา ออกญาจักรี ขุนนางฝ่ายอโยธยาเก่าได้ทำอุบายแสร้งเป็นว่าสามารถหนีมาจากทัพหงสาวดีได้และเข้าไปในราชสำนักอยุธยาเสนอตัวเป็นผู้บัญชาการทัพเอง โดยที่สมเด็จพระมหินทราธิราชเจ้าก็มิได้สงสัย ท้ายที่สุดออกญาจักรีก็เปิดประตูเมืองให้ฝ่ายหงสาวดีเข้ามาตีเมืองได้
เมื่อได้ชัยชนะแล้ว พระเจ้าบุเรงนองได้ให้พระมหาธรรมราชาขึ้นครองราชย์แทนเป็น สมเด็จพระมหาธรรมราชา และได้ขอเอาตัว พระสุพรรณกัลยา (พชรณมน นนทภา) พระธิดาองค์โตในพระมหาธรรมราชาและพระนางวิสุทธิ์กษัตริย์กลับไปยังหงสาวดีพร้อมกับสมเด็จพระมหินทราธิราชเจ้าด้วย เมื่อมาถึงหงสาวดี สมเด็จพระมหินทราธิราชเจ้าก็ประชวรและเสด็จถึงแก่สวรรคต
ขณะที่ฝ่าย องค์ดำ เมื่ออยู่ที่หงสาวดีได้รับการดูถูกตลอดเวลาจากฝ่ายมังสามเกียดและพรรคพวก โดยเรียกชื่อว่า ตองเจ หนักขึ้นถึงขั้นปองร้ายหมายเอาชีวิต องค์ดำจึงคิดหนีกลับพิษณุโลกสองแคว โดยขอให้สมเด็จพระสุพรรณกัลยา ซึ่งเป็นพระพี่นางเสด็จกลับไปด้วย แต่สมเด็จพระสุพรรณกัลยาไม่กลับ ด้วยทรงดำริว่าหากพระองค์ยังอยู่ที่หงสาวดีนี้ก็จะช่วยกราบทูลขอชีวิตองค์ดำจากพระเจ้าบุเรงนองไว้ได้ ทำให้องค์ดำ บุญทิ้ง และชาวสยามอีกจำนวน 300 คนหนีกลับไปได้สำเร็จ ในขณะที่มณีจันทร์ได้เข้าเป็นข้ารับใช้ในสมเด็จพระสุพรรณกัลยา
นักแสดงนำ
[แก้]นักแสดงหลัก
- ภานุกร วงศ์บุญมาก รับบท สมเด็จพระนเรศวรมหาราช (วัยเด็ก)
- ณัฐชนน บุญศิริ รับบท สมเด็จพระนเรศวรมหาราช (วัยรุ่น)
- นวลจันทร์ ณ ถลาง รับบท มณีจันทร์ (วัยเด็ก)
- ณปภัช ฐิตะกวิน รับบท มณีจันทร์ (วัยรุ่น)
- ภูชิ ทองดี รับบท พระราชมนู หรือ บุญทิ้ง (วัยเด็ก)
- สิทธิโชค เผือกพูลผล รับบท พระราชมนู หรือ บุญทิ้ง (วัยรุ่น)
- ภัทรวดี เหลาสา รับบท องค์หญิงวิไลกัลยา
- สุรีย์ญะเรศ ยะคะเรศ รับบท พระสุพรรณกัลยา (วัยเด็ก)
- พชรณมน นนทภา รับบท พระสุพรรณกัลยา
- ภัทรกร ประเสริฐเศรษฐ รับบท มังกะยอชวา (วัยเด็ก)
- กรภัทร์ เกิดพันธุ์ รับบท มังกะยอชวา (วัยรุ่น)
นักแสดงสมทบ
- สรพงษ์ ชาตรี รับบท พระมหาเถรคันฉ่อง
- อธิวัฒน์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา รับบท สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช
- ปรเมศร์ น้อยอ่ำ รับบท พระเจ้าบุเรงนอง
- กษาปณ์ จำปาดิบ รับบท พระเจ้านันทบุเรง
- นุศรา ประวันณา รับบท พระนางเมงพยู
- ธนายง ว่องตระกูล รับบท ลักไวทำมู
- ศิรประภา สุขดำรงค์ รับบท พระวิสุทธิกษัตริย์
- นิภาพร เจริญพงษ์ รับบท (ข้ารับใช้พระวิสุทธิกษัตรีย์)
- ฐรัชญา ไชยวงค์ รับบท (ข้ารับใช้พระวิสุทธิกษัตรีย์)
นักแสดงร่วม
- เลอวิทย์ สังข์สิทธิ์ รับบท สมเด็จพระมหินทราธิราช
- อภิปราชญ์ ต่างใจ รับบท พระราเมศวร
- รัชชานนท์ เรือนเพ็ชร์ รับบท สมเด็จพระเอกาทศรถ (ช่วงวัยรุ่น)
- รุ่งทิวา คงสนุ่น รับบท แก่นจันทร์ (ข้ารับใช้องค์หญิงวิไลกัลยา)
- น้องบิว ขาวคง รับบท สมิง (ช่วงวัยเด็กเพื่อนมณีจันทร์)
- เอก ธณากร รับบท พระเจ้าอังวะ (ขุนนางหงสาวดี)
- จิรศักดิ์ ธนวรพงศ์ รับบท พระเจ้าแปร (ขุนนางหงสาวดี)
- ธนดล มีวงศ์ธรรม รับบท (ขุนนางหงสาวดี)
- กิตติพงศ์ สัญจร รับบท (ขุนนางหงสาวดี)
- นฤชา ชัยมะเริง รับบท พญาเสือ (แม่ทัพหงสาวดี)
- จักรวาล วรทรัพย์ รับบท พญาพุกาม (แม่ทัพหงสาวดี)
- กมลภพ บงกชเกิด รับบท สมเด็จพระเอกาทศรถ (ช่วงวัยเด็ก)
- บุษยมาส พิมพ์ศิริ รับบท เม้ย (ข้ารับใช้องค์หญิงวิไลกัลยา)
- กิตติพล ศัตรูพินาศ รับบท ขุนศรี (ขุนนางอโยธยา)
- สิรภพ พรรณดี รับบท (ขุนนางอโยธยา)
- ชญาณัตถภัทร์ ตริชอบ รับบท พระยาวิชิตณรงค์ (ขุนนางอโยธยา)
- พงศกร ฉายสุริยะ รับบท พระยารามรณรงค์ (ขุนนางอโยธยา/อดีตเจ้าเมืองชากังราว)
- รัชพันธน์ มีไกรเลิศ รับบท พระศรีเสาวราช (ขุนนางอโยธยา/น้องชายต่างแม่พระมหินทร์)
- อมรเทพ ริมดุสิต รับบท พระธรรมา (ขุนนางอโยธยา)
- ตวงอรรถ อมรวงศ์ รับบท พระยากลาโหม (ขุนนางอโยธยา)
- เพชรเกษม วงษา รับบท ครูดาบชาวตองอู
- อุดมศักดิ์ ตันติพรกุศล รับบท พระเจ้าตองอู (ขุนนางหงสาวดี)
- ชาลี อิ่มมาก รับบท พระยาศรีหะราชเดโช (ขุนนางอโยธยา)
- ปภทพร ศิริรักษ์นภา รับบท (หลานสาวลุงดาบชาวรามัน/ภรรยาเศรษฐีท้วม)
- ภัทรกร ประเสริฐเศรษฐ รับบท สมิง (ช่วงวัยรุ่นเพื่อนมณีจันทร์)
- ทรงพร บุญประสิทธิ์ รับบท มะไฟ (เด็กวัดรามัญบริเวณประตูโยเดีย)
- ธีรวัฒน์ สุขอิ่ม รับบท ไอ้ฉุน (ข้ารับใช้มังกยอชวา)
- พัฒนศักดิ์ พงษ์พันธุ์ รับบท สุรสิงหะ (ขุนนางหงสาวดี)
- ณัฎฐ์ธนัน มีกลิ่นกุหลาบ รับบท เจ้ากรมวัง (ขุนนางหงสาวดี)
- สมาน เบื๊อกโคราช ชิ้นจอหอ รับบท เฒ่าสา (ชาวบ้านโยเดีย/พ่อบุญธรรมพระราชมนู หรือ บุญทิ้ง)
- นะโม ทองกำเหนิด รับบท พระยาพิชัยรณฤทธิ์ (ขุนนางอโยธยา)
นักแสดงรับเชิญ
- ศุกล ศศิจุลกะ รับบท สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (พระมหากษัตริย์อโยธยา)
- จิราวัฒน์ วชิรศรัณย์ภัทร รับบท พระยาทาละ (เสนาธิการทหารหงสาวดี)
- ปัทมวรรณ เค้ามูลคดี รับบท พระเทพกษัตรีย์ (พระราชธิดาองค์เล็กสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช)
- ไกรลาศ เกรียงไกร รับบท พระสุนทรสงคราม (ขุนนางอโยธยา)
- สุรศักดิ์ ชัยอรรถ รับบท ออกญาจักรี (ขุนนางอโยธยา)
- นงค์ เชิญยิ้ม รับบท เศรษฐีท้วม (นายบ้านโยเดีย)
- วนิดา แสงสุข รับบท ท้าวแจ่มจันทร์ (ข้ารับใช้พระสุพรรณกัลยา)
- พันเอก(พิเศษ) วันชนะ สวัสดี รับบท ผู้บรรยายเรื่องราวประวัติศาสตร์ สงครามช่วงแรกในปี พ.ศ. 2106 ถูกเรียกว่า สงครามช้างเผือก ในสงครามช่วงหลัง คือในปี พ.ศ. 2112 คือ สงครามคราวเสียกรุงครั้งที่ 1
- ธัญญารักษ์ สมบูรณ์ รับบท (ข้ารับใช้บุเรงนอง)
- บดินทร์ หมู่หมื่นศรี รับบท พระสงฆ์ที่หมู่บ้านโยเดีย
- กิติโชค ปิ่นเกตุ รับบท ท่านราชทูตอาณาจักรล้านช้าง
- ท็อป ชาละวัน รับบท พระยาท้ายน้ำ (ขุนนางอโยธยา)
- จิรศักดิ์ เนินริมหนอง รับบท ทหารหงสาวดีบริเวณด่าน
- คมกฤช ยุตติยงค์ รับบท แสงคำ (พ่อค้าเกวียน/สายสืบพระมหาธรรมราชา)
- อภิวัฒน์ กลมเกลียว รับบท (ขุนนางอโยธยา)
- ภิภพ กมลเกตุโสภณ รับบท นายป้อง (ทหารฝ่าายอโยธยา)
- ปรเมศ สามารถ รับบท ชาวอโยธยา
การผลิต
[แก้]หม่อมราชวงศ์เฉลิมชาตรี ยุคล ผู้กำกับการแสดง กล่าวว่า “ผมพอใจมากครับ แต่ก็มีพื้นที่ปรับปรุงเพราะเป็นครั้งแรกที่ผมสร้างละครโทรทัศน์เลย ภาคนี้เราทำงานทุกสัปดาห์ แต่เราไม่ได้ทำพร้อมกันทุกฝ่าย จึงเกิดความเสียหายพอสมควร เสียค่าใช้จ่าย และเวลามากขึ้น แต่พอภาคต่อไป เราควบคุมสิ่งเหล่านี้ได้ดีขึ้น นักแสดงเก่งขึ้น เราเอาปัญหาจากภาพยนตร์เรื่อง สุริโยไท มาแก้ไขเป็นภาพยนตร์ชุด ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และเราเอาความรู้จาก ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มาสร้างเป็นพันท้ายนรสิงห์ พอมาถึงละครเรื่องนี้ เราก็นำความรู้จากพันท้ายนรสิงห์มาปรับใช้ ทำให้ซีรีส์ดูทันสมัยมากขึ้น เรื่องนี้ต้องเรียนรู้ถือว่าเป็นการทดลองระดับหนึ่งครับ”[1]
ความแม่นยำทางประวัติศาสตร์
[แก้]- สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อครั้งยังเป็นองค์ประกันประทับอยู่ที่หงสาวดีในวัยเยาว์ มิได้มีหลักฐานใดระบุว่าพระองค์ได้บวชเป็นเณร หรืออยู่ที่วังหน้า หรือแม้แต่คราวที่พระองค์ทรงแต่งองค์เป็นหญิงเพื่อมาหาสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช พระราชบิดา ก็ไม่มีหลักฐานใดบันทึกเช่นกัน
- พระเทพกษัตรีย์ ได้ถูกชิงตัวระหว่างทางไปยังล้านช้าง และเมื่อไปถึงหงสาวดีแล้ว ก็ไม่ได้มีหลักฐานใดระบุว่า พระนางอยู่ในหงสาวดีหรือไม่ เพราะว่าไม่มีหลักฐานใดกล่าวถึงอีกเลย
- มณีจันทร์ บุคคลที่ปัจจุบันมีหลักฐานยืนยันว่าเป็นพระชายาของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชในภายหลัง เป็นบุคคลที่ไม่ทราบที่มาที่ไป แต่ในละครโทรทัศน์กำหนดให้นางเป็นธิดาของชาวมอญที่ลอบปลงพระชนม์พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้
- ออกพระราชมนู ทหารเอกในสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ก็ไม่มีที่มาที่ไปเช่นกัน แต่ในละครโทรทัศน์กำหนดให้เป็นเด็กชายกำพร้าผมยาวที่ถูกเฒ่าสาเก็บมาเลี้ยง และเป็นพระสหายกับพระนเรศวรตั้งแต่วัยเยาว์
- พระมหาเถรคันฉ่อง เป็นพระภิกษุชาวมอญที่ปรากฏบทบาทภายหลังเมื่อครั้งที่ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชประกาศอิสรภาพที่เมืองแครง ไม่มีหลักฐานว่าเป็นพระอาจารย์ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชในวัยพระเยาว์แต่ประการใด รวมทั้งไม่ได้เป็นพระอาจารย์ของพระเจ้าบุเรงนองด้วย[2] การที่ผู้สร้างกำหนดให้พระมหาเถรคันฉ่องเป็นพระอาจารย์ของทั้งพระนเรศวรและพระเจ้าบุเรงนองนั้น เป็นการหยิบเอาลักษณะตัวละครมาจาก พระมหาเถรวัดกุโสดอ (พระมหาเถรมังสินธู) ในนวนิยายพงศาวดารเรื่อง ผู้ชนะสิบทิศ ของยาขอบ
- การสวรรคตของสมเด็จพระมหินทราธิราชเจ้านั้น มีหลักฐานระบุไว้สองกรณี กรณีแรกระบุว่า ทรงทำท่าทีกระด้างกระเดื่องต่อพระเจ้าบุเรงนองเมื่อครั้งตีอยุธยาได้สำเร็จ จึงให้สำเร็จโทษด้วยการถ่วงน้ำที่เมืองสระถุง[3] กรณีหลังระบุว่า ประชวรด้วยพระโรคปัจจุบันในระหว่างทางขณะเสด็จไปยังหงสาวดีและได้สวรรคตที่เมืองแครง[4] ส่วนในประวัติศาสตร์มิได้ระบุชะตากรรมภายหลังของออกญาจักรีไว้ ในละครโทรทัศน์จึงให้สมเด็จพระมหินทราธิราชถึงแก่สวรรคาลัยด้วยพระโรคปัจจุบันเมื่อถึงหงสาวดี ส่วนการตายของออกญาจักรีจึงกลายเป็นคำบอกเล่าว่าถูกจับถ่วงน้ำแทน
- ในสงครามช่วงแรกของละครโทรทัศน์นั้น คือในปี พ.ศ. 2106 ถูกเรียกว่า สงครามช้างเผือก ในสงครามช่วงหลัง คือในปี พ.ศ. 2112 คือ สงครามคราวเสียกรุงครั้งที่ 1
รางวัลและการเข้าชิง
[แก้]รางวัล | สาขารางวัล | ผู้ได้รับการเสนอชื่อ | ผลการตัดสิน |
---|---|---|---|
องค์ประกอบศิลป์ดีเด่น | ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เดอะซีรีส์ ภาคองค์ประกันหงสา | เสนอชื่อเข้าชิง |
อ้างอิง
[แก้]- ↑ เจาะเบื้องหลัง "คุณชายอดัม" ทุมหมดหน้าตัก เพื่อสร้าง "ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เดอะซีรีส์"
- ↑ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช (ภาคที่ ๒)
- ↑ หนังสือคำให้การชาวกรุงเก่า โดย สำนักพิมพ์แสงดาว-สร้อยทอง (พ.ศ. 2544) ISBN 9748789578
- ↑ "สมเด็จพระมหินทราธิราช". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-07-21. สืบค้นเมื่อ 2018-01-11.