สัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์
เกิด12 ธันวาคม พ.ศ. 2468
เสียชีวิต10 กรกฎาคม พ.ศ. 2535 (66 ปี)
โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กรุงเทพมหานคร
สาเหตุเสียชีวิตโรคมะเร็งปอด
สัญชาติไทย
อาชีพนักธุรกิจ

สัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ (12 ธันวาคม พ.ศ. 2468−10 กรกฎาคม พ.ศ. 2535) เป็นนักธุรกิจชาวไทยเชื้อสายจีน เป็นผู้ร่วมก่อตั้งห้างเซ็นทรัล

ประวัติ[แก้]

วัยเด็ก[แก้]

สัมฤทธิ์เป็นลูกชายคนแรกของเจ็ง นี่เตียงที่เกิดกับหวาน เกิดที่หมู่บ้านไหเค้า อำเภอบุนเซียว มณฑลไหหลำ ประเทศจีน[1] มีน้องอีก 7 คน ได้แก่ วันชัย จิราธิวัฒน์, สุทธิพร จิราธิวัฒน์, คุณหญิงสุจิตรา มงคลกิตติ, มุกดา เอื้อวัฒนะสกุล, รัตนา นรพัลลภ, สุทธิเกียรติ จิราธิวัฒน์ และ สุทธิชาติ จิราธิวัฒน์ และยังมีน้องต่างแม่อีก รวมมีน้องอีก 25 คน เมื่อแรกเกิดชื่อ ฮกเส่ง ฮกแปลว่าลาภ เส่งแปลว่าสำเร็จ ส่วนชื่อไทย คือ สัมฤทธิ์ แซ่เจ็ง ต่อมาเปลี่ยนนามสกุลเป็น จิราธิวัฒน์

พออายุได้ 2 ขวบ เตียงได้อพยพครอบครัวมาตั้งถิ่นฐานที่ประเทศไทย เนื่องจากเป็นบุตรชายคนแรกจึงทำให้สัมฤทธิ์ต้องทำงานอย่างหนักตั้งแต่เด็ก โดยเริ่มเรียนรู้เรื่องการค้าตั้งแต่อายุ 8 ขวบ ด้วยการตามเตียงไปซื้อของและติดต่อธุรกิจเพื่อขายตามลำคลองแถวฝั่งธนบุรี โดยช่วงบิดาค้าขายที่ร้านชื่อ เข่งเส่งหลี ย่านบางขุนเทียน

สัมฤทธิ์เป็นบุตรคนเดียวที่ไม่ได้เรียนระดับมหาวิทยาลัย เริ่มต้นเรียนที่โรงเรียนวัดจอมทอง หรือวัดราชโอรส ศึกษาจบชั้นมัธยมปีที่ 6 จากโรงเรียนอำนวยศิลป์ แต่เตียงขอให้ไปศึกษาชั้นมัธยมที่ 6 ซ้ำอีกครั้งที่โรงเรียนอัสสัมชัญเพื่อให้มีความรู้ด้านค้าขาย และภาษาอังกฤษ หลังจากนั้นได้เข้าเรียนที่วิทยาลัยอัสสัมชัญคอมเมิร์ซ แต่เรียนได้เพียงปีเศษ ก็เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 วิทยาลัยจึงต้องปิดชั่วคราว และให้นักเรียนจบการศึกษาก่อนกำหนด

การทำงานช่วงแรก[แก้]

สัมฤทธิ์ได้เรียนรู้การค้าด้วยตัวเอง เขาร่วมกับเพื่อนซื้อของจากกรุงเทพ เพื่อไปขายที่ภาคใต้ และซื้อของจากภาคใต้มาขายที่กรุงเทพ หลังสงครามสงบ สัมฤทธิ์ได้งานทำ ที่บริษัทพาราเมาต์พิกเจอส์ ทำหน้าที่ติดต่อศุลกากร นำฟิล์มภาพยนตร์จากต่างประเทศมาฉาย แต่ทำได้ปีเดียวก็ถูกบีบให้ลาออก เนื่องจากรู้ทันการทุจริตของผู้จัดการ ซึ่งเป็นชาวอินเดีย จากนั้นจึงได้สมัคร เป็นครูสอนภาษาไทย อยู่ในโรงเรียนจีน ชื่อ ยกหมิ่น ที่ถนนสุรวงศ์[2] สอนได้ 6 เดือน เพื่อนได้ชวนไปช่วยขายหนังสือภาษาอังกฤษ ซึ่งสั่งมาจากต่างประเทศ ได้ทำหน้าที่นำหนังสือไปส่งตามร้านขายหนังสือใหญ่ในกรุงเทพ โดยได้รับค่าตอบแทนเป็นเปอร์เซนต์

เพื่อนได้ยกเลิกกิจการไป แต่สัมฤทธิ์เห็นว่าธุรกิจนี้ยังสามารถทำกำไรได้ดี จึงปรึกษากับเตียง แต่เตียงไม่เห็นด้วย เพราะเห็นว่าต้องใช้เงินลงทุนสูง เขาได้ขอยืมเงินจากเตียงจำนวน 2,000 บาท นำเงินเก็บกับทรัพย์สินอีกจำนวนหนึ่งออกมาร่วมหุ้น เพื่อดำเนินกิจการเอง ได้นำเข้านิตยสารเหลือขายจากสหรัฐที่ซื้อโดยวิธีการชั่งน้ำหนักมาขาย ทำให้ต้นทุนต่ำ ประกอบกับหนังสือในสมัยนั้นไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า และรัฐบาลกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเพียง 10 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ จึงทำให้ได้กำไรเป็นจำนวนมาก เมื่อเตียงเห็นว่ากิจการทำกำไรได้ดีจึงตัดสินใจร่วมลงทุน และเลิกกิจการร้านขายของเบ็ดเตล็ดจากฝั่งธน ย้ายมาเซ้งห้องแถวบนถนนเจริญกรุง ปากตรอกกัปตันบุช ย่านสี่พระยา ขายหนังสือและสินค้าอื่นจากสำเพ็ง ตั้งชื่อร้านว่า "ห้างเซ็นทรัลเทรดดิ้ง" ต่อมาย้ายไปอยู่ย่านสุริวงศ์ ปากซอยโอเรียนเตล ร้านเป็นที่นิยมของคนรุ่นใหม่ และผู้มีฐานะ มีสินค้าใหม่ ๆ จากต่างประเทศอยู่เสมอ[1]

ห้างเซ็นทรัล[แก้]

ต่อมาได้ร่วมก่อตั้ง "ห้างเซ็นทรัล" มีสาขาแรกคือ วังบูรพา เป็นห้างสรรพสินค้าที่มีติดป้ายราคาสินค้าแห่งแรกของไทย โดยไม่ให้ลูกค้าต่อรองราคา และสาขาต่อมาคือ ราชประสงค์, เยาวราช และ สีลม แต่เตียงเสียชีวิตหลังเปิดสาขาสีลมได้ 1 ปี และยังประสบกับภาวะขาดทุน ซึ่งเงินในการก่อสร้างมาจากการกู้เงินธนาคาร แต่การกู้เงินของเตียงมีลักษณะพิเศษคือ ธนาคาร ที่ปล่อยสินเชื่อให้มีความมั่นใจในตัวของเตียง จึงไม่มีการเรียกหลักประกัน เมื่อเตียงเสียชีวิต สัมฤทธิ์จึงต้องเข้าเจรจากับธนาคาร แถมยังได้เงินกู้เพิ่มมาด้วย ทำให้ห้างเซ็นทรัล สาขาสีลม สามารถกลับมาพลิกฟื้นมีกำไรได้ในภายหลัง[3] ปี พ.ศ. 2516 เปิดสาขาใหม่ที่ชิดลม ต่อมา พ.ศ. 2524 เปิดสาขาใหม่ที่ลาดหญ้า ฝั่งธนบุรี, พ.ศ. 2526 เปิดสาขาใหม่ที่ลาดพร้าว, พ.ศ. 2531 เปิดสาขาใหม่ที่หัวหมาก, พ.ศ. 2535 เปิดสาขาใหม่ที่กาดสวนแก้ว จังหวัดเชียงใหม่ นอกจากนั้นยังเปิดธุรกิจโรงแรมและการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ภายใต้ เซ็นทรัลพัฒนา[4] สไตล์การบริหารของสัมฤทธิ์ ผสมผสานระหว่างตะวันตกกับตะวันออก สนใจศึกษาทั้งหลักการบริหารคนและบริหารธุรกิจ จากปรัชญาเมธีจีนโบราณ เช่น สามก๊กและซุนวู[1]

สัมฤทธิ์เสียชีวิตที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2535 ด้วยโรคมะเร็งปอด อ่านให้เข้าใจ

ชีวิตส่วนตัว[แก้]

สัมฤทธิ์ มีภรรยา 2 คน คนแรกชื่อ วนิดา (นามสกุลเดิม แซ่ด่าน) คนที่ 2 ชื่อ กรรณิกา (นามสกุลเดิม จิรกานต์) มีบุตรกับภรรยาคนแรก รวม 8 คน คือ สุวิมล, อรุณี, ยุวดี, นิตย์สินี, สิริเกศ, เนตรอนงค์, ปริญญ์ และทศ ส่วนบุตรกับภรรยาคนที่ 2 มี 2 คน คือ เกรียงศักดิ์ และสกลศรี[1]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 ธนวัฒน์ ทรัพย์ไพบูลย์. กลยุทธ์สู่ความร่ำรวยตระกูล "มหาเศรษฐีอาเซียน". สืบค้นเมื่อ 24 มกราคม 2563. {{cite book}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)
  2. "กว่าจะเป็น "จิราธิวัฒน์" เจ้าของห้างสรรพสินค้าชื่อดัง ทำไมต้องใช้ชื่อ "เซ็นทรัล" ?". ศิลปวัฒนธรรม. 20 สิงหาคม 2562. สืบค้นเมื่อ 24 มกราคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)
  3. "สัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ เซ็นทรัลกรุ๊ป เติบใหญ่ได้ในยุคของเขา". ผู้จัดการ. ตุลาคม 2543. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-06-05. สืบค้นเมื่อ 24 มกราคม 2563. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)
  4. สาวิตรี รินวงษ์ (29 กันยายน 2562). "เจาะ! ธรรมนูญครอบครัว 'จิราธิวัฒน์' เคลื่อนธุรกิจแสนล้าน". กรุงเทพธุรกิจ. สืบค้นเมื่อ 24 มกราคม 2563. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)