ฉบับร่าง:ศุภลักษณ์ ภัทรนาวิก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ศุภลักษณ์ ภัทรนาวิก
(ต่วน ภัทรนาวิก)
เกิด5 กรกฎาคม พ.ศ. 2426
ต่วน ภัทรนาวิก
เสียชีวิต19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 (73 ปี)
คู่สมรสเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ (หม่อมราชวงศ์หลาน กุญชร)
อาชีพนาฏศิลป์
ปีที่แสดงพ.ศ. 2435 - 2499

ศุภลักษณ์ ภัทรนาวิก (5 กรกฎาคม พ.ศ. 2426 – 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499) หรือที่ชาวนาฏศิลป์เรียกกันว่าหม่อมครูต่วน ผู้มีคุณูปการต่อศิลปะการแสดงนาฏศิลป์ไทยอย่างมาก

ประวัติ[แก้]

นางศุภลักษณ์ ภัทรนาวิก นามเดิม ต่วน หรือที่บรรดาศิษย์และผู้เกี่ยวข้องในวงการละครรู้จักและพูดถึงกันว่า หม่อมครูต่วน เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๘ ปีมะแม จ.ศ. ๑๒๔๕ ตรงกับวันที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๖ ที่บ้านเหนือวัดทองธรรมชาติ อำเภอคลองสาน จังหวัดธนบุรี บิดาชื่อ นายกลั่น ภัทรนาวิก เป็นบุตรพระยาภักดิ์ภัทรากร (จอง ภัทรนาวิก) มารดา ชื่อ ลำไย เป็นชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นางต่วน ภัทรนาวิก มีพี่น้องร่วม บิดามารดา ๕ คนด้วยกัน คือ

  1. แดง ภัทรนาวิก
  2. เจิม ภัทรนาวิก
  3. แสง ภัทรนาวิก
  4. ต่วน(ศุภลักษณ์) ภัทรนาวิก
  5. พระสาลี (สุย ภัทรนาวิก)

ภายหลังบิดามารดาได้ขายเรือนและไปซื้อแพอยู่ทางบางลำภูล่าง ซึ่งต่อมาบิดาก็เสียชีวิตลง ณ แพนั้น ขณะหม่อมครูมีอายุได้ ๖ ขวบ มารดาจึงขายแพแล้วพาลูก ๆ ไปอยู่กับญาติ แต่ไม่เป็นที่เป็นทางแล้วภายหลังได้มาอยู่กับนางจาดตรงมุมสี่แยกบ้านหม้อด้านใต้ ขณะนั้นมีอายุได้ ๙ ขวบ นางจาดมีธิดาคนหนึ่งชื่อเลียบ เป็นคุณหญิงของท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) และอีกคนหนึ่ง ชื่อเฉลิม ได้ฝึกหัดเป็นละครอยู่ในบ้านของท่านเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ (หม่อมราชวงศ์หลาน กุญชร)

เริ่มฝึกหัดละคร[แก้]

ครูต่วนได้ติดตามเฉลิมเข้าไปดูการฝึกหัดละครในบ้านท่านเจ้าพระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์เป็นประจำ จนเกิดรักทางละคร เจ้าพระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์จึงรับเข้าฝึกหัดละครโดยฝึกหัดบทเป็นตัวนางกับหม่อมวันมารดาพระยาวิชิตชลธาร (หม่อมหลวงเวศร์ กุญชร)ตั้งแต่อายุ ๙ ขวบ หม่อมวันผู้เป็นครูก็รักใคร่ลูกศิษย์คนนี้ ครั้นรู้ไปถึงคุณหญิงเอมซึ่งมีศักดิ์เป็นคุณย่าท่านไม่ชอบให้หลานเป็นละคร จึงมาตามจะนำเอาตัวไปแต่เนื่องจากตนเองมีนิสัยชอบในทางนี้เสียแล้วจึงไม่ยอมไป คุณย่าขัดเคืองมากถึงกับตัดญาติขาดกัน นางต่วนจึงพยายามฝึกฝนจนได้แสดงเป็นนางตัวดีมีฝีมือเป็นที่เมตตาปรานีของท่านเจ้าพระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์มาก ต่อมาเมื่ออายุได้ ๑๖ ปี ก็ได้เป็นหม่อมของท่านเจ้าพระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์ ท่านเจ้าพระยาจึงถือโอกาสพาต่วนไปทำความเคารพคุณย่า ณ ที่บ้านของท่าน ซึ่งก็ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีและเข้าใจว่าคุณย่าคงจะหายโกรธแต่วันนั้น

ครูต่วนได้รับโอกาสแสดงเป็นตัวนางเอกหลางเรื่อง เช่น เป็นตัวนางสีดา ในเรื่องรามเกียรติ์ นางรจนา ในเรื่องสังข์ทอง ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เคยออกแสดงหน้าพระที่นั่งหลายครั้ง และเมื่อท่านเจ้าพระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์ร่วมกับสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์สร้างและฝึกหัดละครดึกดำบรรพ์ ณ วังบ้านหม้อ ริมถนนอัษฎางค์ ศุภลักษณ์ก็ได้รับฝึกหัดแสดงในละครดึกดำบรรพ์นั้นด้วย ศุภลักษณ์มีความจำดีเป็นพิเศษสามารถจำบทและคำร้องคำเจรจาของตัวละครทุกตัวและทุกเรื่องในละครดึกดำบรรพ์ได้แม่นยำโดยไม่ต้องดูหนังสือบท สามารถชี้แจงข้อผิดพลาดและคำตกหล่นหรือเกินมาบอกได้ถูกต้องว่าตรงนั้นตรงนี้ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ก็ทรงพระเมตตาโปรดฝึกหัดศุภลักษณ์ให้เป็นตัวนางยุบล(นางค่อม) ในเรื่องอิเหนา ตอน ตัดดอกไม้ฉายกริช และ ตัวนางศุภลักษณ์ ในเรื่องอุณรุท ซึ่งศุภลักษณ์ได้รับฝึกฝนจนสามารถแสดงได้ดียิ่ง โดยเฉพาะบทของนางค่อมยุบล ภายหลังสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์สิ้นพระชนม์แล้วและประดิษฐานพระศพอยู่ในท้องพระโรง ณ วังท่าพระ ศุภลักษณ์ก็ได้รำบทนางค่อมถวายหน้าพระโกศเป็นการถวายสักการะด้วยความกตัญญูกตเวทีต่อพระองค์ท่าน

หม่อมครูต่วนมิได้มีบุตรธิดากับท่านเจ้าพระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์แต่ก็วางตนดี บรรดาบุตรธิดารุ่นเล็กของท่านเจ้าพระยาเทเวศร ๆ เช่น คุณหญิงอิศรพงษ์พิพัฒน์ (หม่อมหลวงสำลี) และพลโทหม่อมหลวงขาบ กุญชร ต่างพากันเรียกท่านว่าแม่ ด้วยความเคารพทุกคน

รับราชการ[แก้]

หม่อมครูต่วนอยู่กับท่านเจ้าพระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์มาจน อายุได้ ๒๒ ปี จึงได้ออกจากบ้านท่านเจ้าพระยามาอยู่กับญาติเมื่อราวปีพ.ศ. ๒๔๕๓ ได้อาศัยศิลปะที่ตนฝึกฝนมารับช่วยเหลือฝึกสอนนักเรียนและผู้สนใจในศิลปทางละครฟ้อนรำเรื่อยมา เมื่อได้ตั้งกรมปี่พาทย์และโขนหลวงขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ ๗ คุณหญิงเทศ นัฏกานุรักษ์ จึงไปชักชวนเข้ามารับราชการใน กรมปี่พาทย์และโขนหลวง กระทรวงวัง โดยมอบหน้าที่ให้ เป็นคนฝึกหัดละครดึกดำบรรพ์และละครหลวง แต่ได้ออกจากราชการไปเมื่อคราวยุบกระทรวงวัง ต่อมาเมื่อได้จัดตั้งโรงเรียนนาฏดุริยางค์ขึ้นในกรมศิลปากร ศุภลักษณ์ก็ได้เข้ามารับราชการ เป็นครูฝึกสอนนาฏศิลป์อยู่ในโรงเรียนนี้ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๘ และอยู่ตลอดมาจนสิ้นชีวิต นอกจากฝึกสอนนักเรียนเป็น ประจำในโรงเรียนนาฏศิลป์ กรมศิลปากรแล้วยังช่วยเหลือฝึกสอนและให้คำแนะนำในเรื่องนาฏศิลป์แก่สถานศึกษาและวงสังคมอื่น ๆ อีกหลายหนหลายแห่ง ตามแต่จะมีผู้ขอร้องมาทั้งส่วนตัวและส่วนราชการ จึงเป็นที่เคารพนับถือของศิษยานุศิษย์และพากันยกย่องเรียกท่านว่า "หม่อมครู" ด้วยความเคารพรัก

ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ เมื่อทางราชการปรับปรุงวัฒนธรรมและชักชวนประชาชนให้ปฏิบัติตามรัฐนิยมหลายอย่าง เช่นชักชวนให้เปลี่ยนชื่อและสวมหมวกให้ถูกต้องตามรัฐนิยม หม่อมครูก็เลยเปลี่ยนชื่อเป็น “ศุภลักษณ์” ตามที่ได้เคยรับฝึกหัดแสดงเป็นตัวนางศุภลักษณ์ในละครในเรื่องอุณรุท

เสียชีวิต[แก้]

ในตอนหลังของชีวิตหม่อมครูได้มาอาศัยอยู่กับน้องชาย คือ พระวิเศษสาลี(สุย ภัทรนาวิก) อธิบดีกรมที่ดิน ณ บ้านเลขที่ ๑๗๒๕ ตำบลบางขุนนนท์ อำเภอบางกอกน้อย จังหวัดธนบุรี แต่พระวิเศษสาลีก็มาถึงแก่กรรมไปเสียก่อนเมื่อในปีพ.ศ.๒๔๙๐ หม่อมครูก็มีอาการป่วย ออดๆ แอดๆ อยู่เสมอ แต่ก็พยายามมาปฏิบัติราชการไม่ขาดจนถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๙ รวมอายุได้ ๗๓ ปี ๔ เดือน กับ ๑๔ วัน