จำปา
จำปา | |
---|---|
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | พืช Plantae |
เคลด: | พืชมีท่อลำเลียง Tracheophytes |
เคลด: | พืชดอก Angiosperms |
เคลด: | แมกโนลิด Magnoliids |
อันดับ: | อันดับจำปา Magnoliales |
วงศ์: | วงศ์จำปา Magnoliaceae |
สกุล: | แมกโนเลีย Magnolia |
สกุลย่อย: | Magnolia subg. Yulania Magnolia subg. Yulania |
ส่วน: | Magnolia sect. Michelia Magnolia sect. Michelia |
ส่วนย่อย: | Magnolia subsect. Michelia Magnolia subsect. Michelia (L.) Baill. ex Pierre[2] |
สปีชีส์: | Magnolia champaca |
ชื่อทวินาม | |
Magnolia champaca (L.) Baill. ex Pierre[2] | |
ชื่อพ้อง[3] | |
|
จำปา (ชื่อวิทยาศาสตร์: Magnolia champaca) เป็นพืชไม่ผลัดใบขนาดใหญ่ในวงศ์ Magnoliaceae[4] เดิมมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Michelia champaca[4][5] มีถิ่นกำเนิดทางตอนใต้ของจีน อินเดีย ไทย มาเลเซีย และ อินโดนีเซีย และมีชื่อตามภาษาท้องถิ่นว่า จุมปา,จุ๋มป๋า (ภาคเหนือ) จำปากอ (มลายู-ใต้) จำปาเขา จำปาทอง (นครศรีธรรมราช) จำปาป่า (สุราษฎร์ธานี)จำปาเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ลำต้นสูงประมาณ 20 ฟุตมีสีน้ำตาลปนขาวเล็กน้อย กิ่งเปราะ ใบสีเขียวใหญ่เป็นมัน ดอกเริ่มแย้มจะมีกลิ่นหอมในช่วงพลบค่ำ ออกดอกเกือบตลอดปี แต่จะมีดอกมากในช่วงฤดูฝน ปลูกนานกว่า 3 ปี จึงจะออกดอก จำปาเป็นไม้กลางแจ้ง ต้องการน้ำปานกลาง ไม่ชอบที่น้ำขังจะทำให้ตายได้ ดินที่ใช้ปลูกควรเป็นดินร่วน โปร่ง อุดมสมบูรณ์ และจำปาเป็นไม้ที่มีประโยชน์ทางด้านสมุนไพรสูง
ลักษณะวิสัย
[แก้]ไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 15-30 เมตร ลำต้นตรง ทรงพุ่มโปร่งเป็นรูปกรวยคว่ำ ค่อนข้างโปร่ง แตกกิ่งจำนวนมากที่ยอด เปลือกสีเทาอมขาว มีกลิ่นฉุน
ลักษณะใบ
[แก้]เป็นใบเดี่ยว รูปรีแกมขอบขนานกว้าง 4-10 เซนติเมตร ยาว 10-25 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบสอบ เนื้อใบบาง ใบอ่อนมีขน ใบแก่เกลี้ยง เส้นใบ 16-20 คู่ ก้านใบยาว 2-4 เซนติเมตร โคนก้านใบป่อง
ลักษณะดอก
[แก้]เป็นดอกเดี่ยวสีเหลืองอมส้ม ออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกตั้งขึ้น ดอกตูมรูปกระสวย มีแผ่นสีเขียวคลุมอยู่ และจะหลุดไปเมื่อดอกบาน กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีลักษณะเหมือนกัน มีจำนวน 12-15 กลีบ แต่ละกลีบรูปยาวรีแกมรูปหอกกว้าง 1-1.5 เซนติเมตร ยาว 4-4.5 เซนติเมตร กลิ่นหอมแรง ดอกเริ่มแย้มและส่งกลิ่นหอมยามพลบค่ำ ในเช้าวันต่อมากลีบดอกจะกางออกจากกัน และร่วงหล่นลงมาในช่วงเวลาเย็น ออกดอกเกือบตลอดปี แต่จะมีมากในช่วงต้นฤดูฝน
ลักษณะผล
[แก้]เป็นกลุ่ม ยาว 6-9 เซนติเมตร ผลย่อยค่อนข้างกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง 1 เซนติเมตร ติดผลได้ดี มีหลายเมล็ด เปลือกหุ้มเมล็ดสีแดง เมล็ดแก่ในช่วงฤดูแล้ง
การขยายพันธุ์และปลูกเลี้ยง
[แก้]ขยายพันธุ์ได้ทั้งการเพาะเมล็ด ทาบกิ่ง และการตอนกิ่งแต่นิยมเพาะเมล็ดกันมาก เนื่องจากมีเมล็ดจำนวนมาก หาง่าย และเพาะให้งอกได้ง่ายต้นกล้าที่เพาะจากเมล็ดจะมีลำต้นตรง ระบบรากดี เจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว มีทรงพุ่มแน่นทึบสวยงาม ต้นที่ปลูกอยู่บนภูเขาหรือในที่สูงจะติดเมล็ดได้ดีกว่าต้นที่ปลูกบนพื้นราบ จำปาชอบดินร่วนระบายน้ำดีเนื่องจากเป็นไม้ที่ไม่ทนต่อภาวะน้ำท่วมขัง ต้องการรับแสงแดดมากเต็มที่ หากต้องการปลูกให้ออกดอกในกระถางควรใช้วิธีทาบกิ่ง
สรรพคุณ
[แก้]- ใบ - แก้โรคเส้นประสาทพิการ แก้ป่วงของทารก
- ดอก - แก้วิงเวียนอ่อนเพลีย หน้ามืดตาลาย บำรุงหัวใจ กระจายโลหิต
- เปลือกต้น - ฝาดสมาน แก้ไข้ ทำให้เสมหะในลำคอเกิด
- เปลือกราก - เป็นยาถ่าย ทำให้ประจำเดือนมาปกติ รักษาโรคปวดตามข้อ
- กระพี้ - ถอนพิษผิดสำแดง
- เนื้อไม้ - บำรุงโลหิต
- ราก - ขับโลหิตสตรีที่อยู่ในเรือนไฟให้ตก
การใช้ประโยชน์
[แก้]นิยมปลูกเป็นไม้ดอก ไม้ประดับ ประเภทดอกหอมสวยงาม และเป็นไม้ให้ร่มเงาในสนามได้ดีมากต้นหนึ่ง
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ Khela, S. (2014). "Magnolia champaca". IUCN Red List of Threatened Species. 2014: e.T191869A15267603. doi:10.2305/IUCN.UK.2014-3.RLTS.T191869A15267603.en. สืบค้นเมื่อ 19 November 2021.
- ↑ Fl. Forest. Cochinch. 1: t. 3 (1880). "WCSP (2013). World Checklist of Selected Plant Families. Facilitated by the Royal Botanic Gardens, Kew". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-09-24. สืบค้นเมื่อ July 17, 2013.
- ↑ "Magnolia champaca (L.) Baill. ex Pierre". World Checklist of Selected Plant Families (WCSP). Royal Botanic Gardens, Kew. สืบค้นเมื่อ 13 Mar 2016 – โดยทาง The Plant List.
- ↑ 4.0 4.1 efloras.org: Flora of China treatment of Michelia (Magnolia) champaca. accessed 7.12.2015
- ↑ Pacific Horticulture Society: "Striving for Diversity: Fragrant Champaca" . accessed 7.12.2015
อ่านเพิ่ม
[แก้]- Fernando, M. Thilina R., et al. "Identifying dormancy class and storage behaviour of champak (Magnolia champaca) seeds, an important tropical timber tree." Journal of the National Science Foundation of Sri Lanka 41.2 (2013): 141-146.