ข้ามไปเนื้อหา

ไอรีนแห่งเอเธนส์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ไอรีนแห่งเอเธนส์
เอากุสตา
จักรพรรดินีแห่งชาวโรมัน
เหรียญทองพิมพ์พระบรมสาทิสลักษณ์ของจักรพรรดินีไอรีน ซารันตาเปชาอีนา
จักรพรรดินีนาถแห่งไบเซนไทน์
ครองราชย์19 สิงหาคม ค.ศ. 797 –
31 ตุลาคม ค.ศ. 802
ก่อนหน้าจักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 6
ถัดไปจักรพรรดินิเคโฟรอสที่ 1
จักรพรรดินีผู้ปกครองร่วมแห่งไบเซนไทน์
ครองราชย์ค.ศ. 792 – ค.ศ. 797
พิธีอวยองค์15 มกราคม ค.ศ. 792
ผู้ร่วมในราชสมบัติจักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 6
ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งไบเซนไทน์
ระหว่างค.ศ. 780 – ค.ศ. 790
จักรพรรดิจักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 6
จักรพรรดินีแห่งไบเซนไทน์
ระหว่างค.ศ. 775 – ค.ศ. 780
ราชาภิเษก17 ธันวาคม ค.ศ. 769
พระราชสมภพราว ค.ศ. 752
สวรรคต9 สิงหาคม ค.ศ. 803 (51 พรรษา)
พระราชสวามีจักรพรรดิเลโอที่ 4 เดอะคาซาร์
พระราชบุตรจักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 6
ราชวงศ์ราชวงศ์อิซอเรียน

ไอรีนแห่งเอเธนส์ จักรพรรดินีนาถแห่งไบแซนไทน์ หรือ ไอรีน ชาวเอเธนส์ (กรีก:Εἰρήνη ἡ Ἀθηναία; ราวค.ศ. 712 - 9 สิงหาคม ค.ศ. 803) พระนามเดิมคือ ไอรีน ซารันตาเปชาอีนา (กรีก:Εἰρήνη Σαρανταπήχαινα) ทรงเป็นจักรพรรดินีนาถ พระประมุขแห่งจักรวรรดิไบแซนไทน์ตั้งแต่ค.ศ. 797 ถึงค.ศ. 802 ก่อนนี้ที่จะทรงเป็นจักรพรรดินีพระประมุข พระนางไอรีนทรงดำรงเป็นจักรพรรดินีพระมเหสีตั้งแต่ค.ศ. 775 ถึงค.ศ. 780 และทรงเป็นสมเด็จพระพันปีหลวง และผู้สำเร็จราชการแผ่นดินตั้งแต่ค.ศ. 780 ถึงค.ศ. 797

ช่วงต้นพระชนม์ชีพและการก้าวขึ้นสู่อำนาจ

[แก้]

พระนางไอรีนเดิมเสด็จพระราชสมภพในตระกูลขุนนางชาวกรีก ซารันตาเปชาอีนาแห่งเอเธนส์ เมื่อว่าพระนางจะทรงเป็นเด็กกำพร้าแต่พระปิตุลาของพระนาง คือ คอนสแตนติน ซารันตาเปชาอีนาเป็นแพทริเซียนและอาจจะเป็นสเตรทกอสจากธีมแห่งเฮลลาสในช่วงปลายศตวรรษที่แปด พระนางทรงถูกนำมาที่คอนสแตนติโนเปิลโดยพระบัญชาของจักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 5 ในวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 768 และพระนางทรงเสกสมรสกับพระโอรสของพระองค์คือ จักรพรรดิเลโอที่ 4 เดอะคาซาร์ ในวันที่ 17 ธันวาคม แม้ว่าพระนางจะมีเชื้อสายขุนนาง แต่ก็ไม่มีเหตุผลที่ชัดเจนว่าทำไมพระนางถึงถูกเลือกให้เป็นพระมเหสีของจักรพรรดิเลโอที่ 4 นักวิชาการหลายคนคาดเดาว่า พระนางอาจจะถูกเลือกจากพิธีแสดงตัวเจ้าสาว ที่ซึ่งหญิงสาวผู้มีสิทธิจะเดินเรียงออกมาต่อหน้าเจ้าบ่าว จนกระทั่งพระนางทรงได้รับการเลือกในที่สุด

ในวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 771 พระนางไอรีนทรงมีพระประสูติกาลพระโอรส ซึ่งต่อมาคือ จักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 6 เมื่อจักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 5 สวรรคตในเดือนกันยายน ค.ศ. 775 จักรพรรดิเลโอทรฃขึ้นสืบราชบัลลังก์ด้วยพระชนมายุ 25 พรรษา จักรพรรดิเลโอทรงเป็นนักทำลายรูปเคารพ (Iconoclasts) แต่นโยบายในช่วงแรกของพระองค์เป็นต่อต้านผู้สนับสนุนรูปเคารพแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่นโยบายของพระองค์ได้รุนแรงมากยิ่งขึ้นในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 780 ข้าราชบริพารจำนวนหนึ่งถูกลงโทษเนื่องจากยังคงเลื่อมใสในรูปเคารพ ตามโบราณราชประเพณี พระองค์ทรงพบว่ารูปเคารพได้ถูกเก็บซ่อนในทรัพย์สินของจักรพรรดินีไอรีน และพระองค์จึงปฏิเสธที่จะร่วมบรรทมกับพระนางตั้งแต่ตอนนั้น อย่างไรก็ตาม จักรพรรดิเลโอสวรรคตในวันที่ 8 กันยายน ค.ศ. 780 พระนางไอรีนทรงกลายเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในจักรพรรดิคอนสแตนติน พระโอรสวัย 9 ชันษา

เกือบทันทีที่ทรงรับตำแหน่ง สมเด็จพระพันปีหลวงไอรีนทรงต้องเผชิญกับการสมคบคิดก่อการกบฏซึ่งพระนางทรงได้ยินว่า จะมีการยึดพระราชบัลลังก์ให้แก่ ซีซาร์ เจ้าชายนิเคโฟรอส พระอนุชาต่างบิดาของจักรพรรดิเลโอที่ 4 เพื่อให้ทรงชนะความท้าทายนี้ พระนางทรงให้เจ้าชายนิเคโฟรอสและผู้ร่วมแผนการของพระองค์ถือเพศบรรพชิต ซึ่งเป็นสถานะซึ่งต้องสละสิทธิในการปกครอง

เหรียญทองโซลิดัสในรัชสมัยของจักรพรรดินีไอรีนซึ่งบันทึกถึงคำว่า BASILISSH, Basilisse

ในช่วงต้นค.ศ. 781 สมเด็จพระพันปีหลวงไอรีนทรงพยายามมีสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดขึ้นกับราชวงศ์การอแล็งเฌียงและพระสันตะปาปาแห่งโรม พระนางทรงเจรจาแผนการอภิเษกสมรสระหว่างจักรพรรดิคอนสแตนติน พระโอรสของพระนางกับเจ้าหญิงโรทรูด พระราชธิดาในพระเจ้าชาร์เลอมาญแห่งอาณาจักรแฟรงค์ ซึ่งประสูติแต่พระมเหสีองค์ที่สาม สมเด็จพระราชินีฮิลเดการ์ด ในช่วงนี้พระเจ้าชาร์เลอมาญทรงทำสงครามกับชาวแซกซัน และจากนั้นจะทรงกลายเป็นพระมหากษัตริย์ของชาวแฟรงค์พระองค์ใหม่ สมเด็จพระพันปีหลวงไอรีนทรงส่งข้าราชการของพระนางไปเพื่อถวายการศึกษาแก่เจ้าหญิงชาวแฟรงก์ให้ทราบเกี่ยวกับภาษาและวัฒนธรรมกรีก แต่พระนางไอรีนก็ทรงยกเลิกสัญญาในปีค.ศ. 787 เนื่องจากขัดความประสงค์ของพระโอรส

พระนางไอรีนทรงสามารถปราบปรามกบฏที่นำโดยเอลพิดิอุส สเตรตกอสแห่งซิชิลี ซึ่งครอบครัวของเขาได้ถูกทรมานและถูกคุมขังเมื่อกองทัพเรือมาถึง ซึ่งตามมาด้วยความสำเร็จในการปราบปรามชาวซิชิลี เอลพิดิอุสได้หลบหนีไปยังแอฟริกา ซึ่งเขาได้สวามิภักดิ์ต่อราชวงศ์อับบาซียะฮ์ หลังจากความสำเร็จของมิคาเอล ลาชาโนดรากอน นายพลในจักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 5 ผู้ซึ่งสามารถสกัดกั้นการโจมตีของอับบาซียะฮ์ในแนวรบด้านตะวันออก กองทัพใหญ่ของราชวงศ์อับบาซียะห์นำโดยฮะรูน อัล-ราชิด ได้รุกรานอะนาโตเลีย ในฤดูร้อนปีค.ศ. 782 สเตรตกอสแห่งบูเซลลาเรียนธีม คือ ทัทซาเทส ได้แปรพักตร์ไปเข้ากับราชวงศ์อับบาซียะห์ และพระนางไอรีนทรงยินยอมที่จะจ่ายบรรณาการประจำปีจำนวน 70,000 ถึง 90,000 ดินาร์แก่ราชวงศ์อับบาซียะห์เป็นสัญญาสงบศึกเวลาสามปี ต้องมอบผ้าไหม 10,000 ผืน และต้องจัดหาคนนำทาง เสบียงอาหารและการเข้าถึงตลาดแก่หองทัพอับบาซียะห์ในระหว่างที่ถอนทัพด้วย

กฎเกณฑ์และข้อยุติกรณีพิพาทลัทธิทำลายรูปเคารพ

[แก้]
สมเด็จพระพันปีหลวงไอรีนและจักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 6 พระโอรส ระหว่างการสังคายนาไนเซียครั้งที่สอง

พระกรณียกิจสำคัญของสมเด็จพระพันปีหลวงไอรีนคือการฟื้นฟูการเคารพในรูปเคารพ (ภาพของพระคริสต์หรือนักบุญ) ได้มีการเลือกตั้งให้ทาราซิออส ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนพระนางและเป็นอดีตเลขานุการของพระนาง ดำรงเป็นอัครบิดรแห่งคอนสแตนติโนเปิลในปีค.ศ. 784 พระนางทรงเรียกประชุมสภาศาสนจักรสองครั้ง ครั้งแรกจัดประชุมขึ้นในปีค.ศ. 786 ที่คอนสแตนติโนเปิล การประชุมครั้งนี้ได้สร้างความคับข้องใจแก่ฝ่ายต่อต้านอย่างฝ่ายทหารที่มีความศรัทธาและจงรักภักดีต่อจักรพรรดิผู้นับถือลัทธิทำลายรูปเคารพหลายพระองค์ตั้งแต่ในอดีต การประชุมครั้งที่สองจัดขึ้นที่ไนเซีย ในปีค.ศ. 787 ได้มีการรื้อฟื้นการเคารพในรูปเคารพและพยายามรวมศาสนจักรอีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์กับโรมกลับมาอีกครั้ง[1] (ดูบทความ สังคายนาไนเซียครั้งที่สอง)

ในขณะที่ความสัมพันธ์กับรัฐพระสันตะปาปาดีขึ้น แต่ก็ไม่สามารถหยุดยั้งการเกิดขึ้นของสงครามกับอาณาจักรแฟรงค์ได้ ซึ่งได้ทำการยึดครองอิสเตรียและเบเนเวนโตในปีค.ศ. 788 ในทางกลับกัน ความพยายามทางทหารของสมเด็จพระพันปีหลวงไอรีนได้ประสบความสำเร็จบ้าง ในปีค.ศ. 782 สตอราคิออส มหาดเล็กคนโปรดของพระนางสามารถปราบปรามชาวสลาฟแห่งบอลข่าน และทรงวางรากฐานการขายอำนาจของไบแซนไทน์และพยายามรื้อฟื้นการทำให้เป็นกรีกในดินแดนขึ้นมาใหม่ อย่างไรก็ตาม พระนางไอรีนทรงถูกคุกคามอย่างต่อเนื่องจากกองทัพอับบาซียะห์ ในปีค.ศ. 782 และค.ศ. 798 ทรงต้องยอมรับเงื่อนไขของเคาะลีฟะฮ์ อัล-มะห์ดีและฮะรุน อัล-ราชิด

เมื่อจักรพรรดิคอนสแตนตินทรงบรรลุนิติภาวะ พระองค์รู้สึกร้อนพระทัยภายใต้การปกครองของพระมารดา ทรงพยายามปลดปล่อยพระองค์เองให้ทรงเป็นอิสระด้วยการใช้กำลังทหารแต่ก็ถูกกวาดล้างโดยสมเด็จพระพันปีหลวง พระนางทรงประณามว่าคำสาบานว่าจงรักภักดีควรจะต้องมอบให้แก่พระนางเพียงพระองค์เดียว ความไม่พอใจที่เพิ่มขึ้นนี้ได้ก่อให้เกิดการต่อต้านในค.ศ. 790 และทหารนำโดยกองกำลังจากอาร์เมนิแอคธีมได้ประกาศอย่างเป็นทางการให้จักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 6 เป็นจักรพรรดิแต่เพียงผู้เดียว

เหรียญทองโซลิดัสของจักรพรรดินีไอรีน ในปีค.ศ. 797–802 ที่กรุงคอนสแตนติโนเปิล

ความเป็นพันธมิตรที่ดูไม่มีความหมายระหว่างจักรพรรดิคอนสแนตินกับสมเด็จพระพันปีหลวงไอรีนยังคงดำเนินอยู่ ซึ่งตำแหน่งจักรพรรดินีของพระนางได้รับการยอมรับในปีค.ศ. 792 แต่ความเป็นศัตรูกันระหว่างฝ่ายก็ยังคงอยู่ และในปีค.ศ. 797 พระนางไอรีนทรงก่อการสมรู้ร่วมคิดด้วยพระนางเองด้วยกลอุบายที่เล่ห์เหลี่ยม ร่วมกับเหล่าบาทหลวงและข้าราชบริพาร จักรพรรดิคอนสแตนตินทรงลี้ภัยไปขอความช่วยเหลือจากแคว้นต่างๆ แต่ผู้ก่อการได้ล้อมจับกุมพระองค์ ทรงถูกจู่โจมโดยคนรับใช้ของพระองค์ที่ชายฝั่งเอเชียของช่องแคบบอสฟอรัส จักรพรรดิคอนสแตนตินทรงถูกนำพระองค์กลับมายังคอนสแตนติโนเปิล ดวงพระเนตรของพระองค์ถูกควักออกมา และพระองค์สวรรคตด้วยพระอาการบาดเจ็บในหลายวันถัดมา เกิดสุริยุปราคาและความมืดกินเวลา 17 วัน ทำให้มีการเชื่อว่าเป็นความน่าสะพรึงกลัวของสวรรค์

แม้ว่าจะทรงอ้างพระองค์เองเป็นพระประมุข พระนางไอรีนทรงเรียกพระนางเองว่า "บาซิลิอุส" (Basileus) (βασιλεύς) หรือ "จักรพรรดิ" มากกว่าจะทรงใช้คำว่า "บาซิลิสซา" (basilissa) (βασίλισσα) หรือ "จักรพรรดินี" ในความเป็นจริงมีเพียงสามกรณีที่รู้จกพระนางในตำแหน่ง "บาซิลิอุส" สองกรณีมาจากเอกสารทางการซึ่งพระนางทรงลงพระปรมาภิไธยว่า "จักรพรรดิแห่งชาวโรมัน" และอีกกรณีหนึ่งคือเหรียญตราพระรูปของพระนางที่พบในซิชิลีได้ลงอักษรว่า "บาซิลิอุส" ตามเหรียญ ตัวอักษรบนเหรียญมีสภาพแย่และยังคงเป็นข้อถกเถียงว่าเป็นเหรียญของจักรพรรดินีไอรีนหรือไม่ แต่พระนางทรงใช้คำว่า "บาซิลิสซา" ในเอกสาร เหรียญและตราแผ่นดินทั้งหมด[2]

มรดกสืบทอด

[แก้]
จากการปฏิเสธราชบัลลังก์ของจักรพรรดินีไอรีน สมเด็จพระสันตะปาปาลีโอที่ 3 ทรงสวมมงกุฏให้กับชาร์เลอมาญในฐานะจักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์

จักรพรรดินีไอรีนทรงครองราชย์เป็นเวลา 5 ปี ตั้งแต่ค.ศ. 797 ถึง ค.ศ. 802 สมเด็จพระสันตะปาปาลีโอที่ 3 ทรงต้องการขอความช่วยเหลือในการกำจัดศัตรูในกรุงโรม และทรงเห็นว่าราชบัลลังก์ไบแซนไทน์ว่างลง (ขาดผู้ครองบัลลังก์ที่เป็นบุรุษ) พระองค์ทรงทรงสวมมงกุฏให้กับชาร์เลอมาญในฐานะจักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ในปีค.ศ. 800 การไม่ยอมรับการครองราชย์ของจักรพรรดินีไอรีนของพระสันตะปาปาครั้งนี้ถือเป็นการหยามเกียรติของจักรวรรดิโรมันตะวันออก อย่างไรก็ตามจักรพรรดินีไอรีนทรงพยายามที่จะเจรจาต่อรองการอภิเษกสมรสระหว่างพระนางเองกับจักรพรรดิชาร์เลอมาญ แต่ตามบันทึกของธีโอฟาเนส ผู้สารภาพ ซึ่งเป็นคนเดียวที่กล่าวถึงเรื่องนี้ ระบุว่าแผนการนี้ได้ถูกทำให้ไร้ผลโดยอาเอทิออส หนึ่งในคนโปรดของพระนาง[3]

ในปีค.ศ. 802 กลุ่มขุนนางแพทริเซียนได้สมคบคิดวางแฟนโค่นล้มพระนางและสถาปนานิเคโฟรอส เสนาบดีคลัง (โลโกเททิส ตูร์ เกอนิโค) จักรพรรดินีไอรีนทรงถูกเนรเทศไปยังเลสบอส ทรงถูกบังคับให้ปั่นขนแกะเพื่อเป็นรายได้ยังชีพ พระนางไอรีนสวรรคตในวันที่ 9 สิงหาคม ค.ศ. 803

ความตั้งพระทัยในการฟื้นฟูรูปเคารพและอารามทำให้ธีโอดอร์เดอะสตูดิเตยกย่องพระนางในฐานะนักบุญ[4]แห่งคริสตจักรอีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์ แต่พระนางก็ไม่ได้ทรงได้รับการประกาศเป็นนักบุญอย่างเป็นทางการ ได้มีข้อเรียกร้องเกี่ยวกับการตั้งพระนางให้เป็นนักบุญซึ่งส่วนใหญ่มาจากแหล่งอ้างอิงจากตะวันตก[5] แต่ข้อเรียกร้องก็ไม่ได้รับการสนับสนุนจากมีไนออน (เป็นหนังสือทางพิธีกรรมอย่างเป็นทางการซึ่งมีเงื่อนไขในการตั้งนักบุญแห่งอีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์อย่างเหมาะสม) และยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากหนังสือ "Lives of Saints" ของนิโคเดมุส เดอะฮากิโอไรท์ หรือหนังสืออื่นๆของศาสนจักรออร์ทอดอกซ์

พระราชวงศ์

[แก้]

จากการอภิเษกสมรสกับจักรพรรดิเลโอที่ 4 เดอะคาซาร์ พระนางทรงมีพระโอรสหนึ่งพระองค์คือ จักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 6 ซึ่งพระนางทรงสืบราชบัลลังก์ต่อ พระญาติฝ่ายหญิงของพระนางไอรีนคือ ธีโอฟาโนแห่งเอเธนส์ได้ถูกเลือกโดยจักรพรรดินิเคโฟรอสที่ 1 ในปีค.ศ. 807 ให้เป็นพระชายาในพระโอรสของพระองค์คือ จักรพรรดิสตอราคิออส และพระญาติฝ่ายหญิงของพระนางคนหนึ่งที่ไม่ทราบชื่อได้เสกสมรสกับเทเลริกแห่งบัลแกเรีย พระประมุขชาวบุลการ์ ในปีค.ศ. 776 จักรพรรดินีไอรีนยังทรงมีพระนัดดาชายเพียงหนึ่งพระองค์[6]

เชิงอรรถ

[แก้]
  1. See Alexander, et al., p. 423.
  2. Liz James, "Men, Women, Eunuchs: Gender, Sex, and Power" in "A Social History of Byzantium" (J. Haldon, ed.) pp. 45,46; published 2009; ISBN 978-1-4051-3241-1
  3. See Garland, p. 89, who explains that Aetios was attempting to usurp power on behalf of his brother Leo.
  4. Theodori Studitae Epistulae, Volume 2 (Berlin, 1992).
  5. Vita Irenes, 'La vie de l'impératrice Sainte Irène', ed. F. Halkin, Analecta Bollandiana, 106 (1988) 5–27; see also W.T. Treadgold, 'The Unpublished Saint's Life of the Empress Irene', Byzantinische Forschungen, 7 (1982) 237–51.
  6. Herrin, p. 56, 70, 134.

อ้างอิง

[แก้]

แหล่งข้อมูลปฐมภูมิ

แหล่งข้อมูลทุติยภูมิ

  • The Oxford Dictionary of Byzantium, Oxford University Press, 1991.
  • Alexander, Archibald, and André Lagarde, Joseph Turmel. The Latin Church in the Middle Ages, C. Scribner's Sons, 1915.
  • Barbe, Dominique. Irène de Byzance: La femme empereur, Paris, 1990.
  • Sir Steven Runciman. "The Empress Irene." Conspectus of History 1.1 (1974): 1–11.
  • Herrin, Judith (2001). Women in Purple:Rulers of Medieval Byzantium. London: Phoenix Press. ISBN 1-84212-529-X.
  • Garland, Lynda (1999). Byzantine Empresses: Women and Power in Byzantium, AD 527–1204. London: Routledge. ISBN 0-415-14688-7.
  • Wace, Henry and William Smith, A Dictionary of Christian Biography, Literature, Sects and Doctrines, J. Murray, 1882.
ก่อนหน้า ไอรีนแห่งเอเธนส์ ถัดไป
จักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 6
จักรพรรดินีพระประมุขแห่งจักรวรรดิไบแซนไทน์
(สิงหาคม ค.ศ. 79731 ตุลาคม ค.ศ. 802)
จักรพรรดินิเคโฟรอสที่ 1
ยูโดเกีย
จักรพรรดินีพระมเหสีแห่งจักรวรรดิไบแซนไทน์
(22 มีนาคม ค.ศ. 775 - 18 มิถุนายน ค.ศ. 880)
มาเรียแห่งอัมเนีย