การอนุญาโตตุลาการเวียนนาครั้งที่หนึ่ง
การผนวกดินแดนของฮังการีในช่วง ค.ศ. 1938-1941 โดยดินแดนที่ได้จากการอนุญาโตตุลาการจะแสดงเป็นสีฟ้า | |
วันลงนาม | 2 พฤศจิกายน ค.ศ. 1938 |
---|---|
ที่ลงนาม | เวียนนา |
ผู้ลงนาม | ไรช์เยอรมัน อิตาลี เชโกสโลวาเกีย ฮังการี ผู้เข้าร่วมแต่มิได้ลงนาม: |
ภาคี | เชโกสโลวาเกีย ฮังการี |
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ |
---|
ประวัติศาสตร์ฮังการี |
การอนุญาโตตุลาการเวียนนาครั้งที่หนึ่ง เป็นการระงับข้อพิพาททางดินแดนที่เกิดขึ้นระหว่างฮังการีและเชโกสโลวาเกียในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1938 โดยบรรลุผลการไกล่เกลี่ยจากนาซีเยอรมนี ซึ่งการอนุญาโตตุลาการนี้เป็นการแก้ไขพรมแดนระหว่างฮังการีและเชโกสโลวาเกียตามบรรทัดฐานของการกระจายทางชาติพันธุ์ อันมีผลสืบเนื่องมาจากการลงนามในสนธิสัญญาทรียานง ค.ศ. 1920 ที่ทำให้ฮังการีสูญเสียดินแดนในอดีตประมาณ 70 % และส่งผลให้เกิดชนกลุ่มน้อยฮังการีในเชโกสโลวาเกียเป็นจำนวนมาก ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองยุติลง การอนุญาโตตุลาการนี้จึงถือเป็นโมฆะและฮังการีต้องส่งคืนดินแดนที่ได้มาจากคำตัดสินให้กับเชโกสโลวาเกียดังเดิม
จากการเปลี่ยนแปลงดินแดนหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ทำให้รูทีเนียและดินแดนที่มีประชากรฮังการีอาศัยอยู่จำนวนมากถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของเชโกสโลวาเกีย ชนกลุ่มน้อยรูซึนรู้สึกพึงพอใจต่อการอยู่ในรัฐเชโกสโลวาเกียใหม่ แม้ว่าพวกเขาต้องการจะปฏิรูปปกครองตนเอง แต่สำหรับชาวฮังการี พวกเขาต้องการกลับไปรวมกับประเทศแม่มากกว่า แม้ว่าสถานะทางเศรษฐกิจของพวกเขาจะดีขึ้นก็ตาม ประกอบกับนโยบายต่างประเทศของฮังการีในช่วงระหว่างสงครามที่เน้นการกอบกู้ดินแดนที่สูญเสียไป
วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นจากสนธิสัญญาแวร์ซายเริ่มในช่วงปลายทศวรรษ 1930 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความตึงเครียดระหว่างเชโกสโลวาเกียและเยอรมนีในเรื่องชนกลุ่มน้อยเยอรมันในเชโกสโลวาเกีย ทำให้รัฐบาลฮังการีเห็นถึงความหวังที่จะบรรลุการเปลี่ยนแปลงพรมแดนที่รอคอยมานาน อย่างไรก็ตาม ด้วยความกังวลว่าประเทศจะพึ่งพาเยอรมนีมากเกินไป และความอ่อนแอทางทหารของฮังการีเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ประเทศจึงพยายามสร้างพันธมิตรทางเลือกกับโปแลนด์และอิตาลีเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว
ความตกลงมิวนิกที่เกิดขึ้นในเดือนกันยายน ค.ศ. 1938 ยังคงไม่สามารถยุติข้อพิพาทระหว่างฮังการีและเชโกสโลวาเกีย แต่ด้วยการยืนยันจากมุสโสลินี จึงมีการรวมข้อปัญหาของชนกลุ่มน้อยชาวฮังการีและจัดให้ทั้งสองฝ่ายเจรจากันโดยไม่มีอำนาจแทรกแซงเป็นเวลาสามเดือน ซึ่ง การเจรจาระหว่างทั้งสองประเทศมีขึ้นในต้นเดือนตุลาคม ค.ศ. 1938 แต่ไม่บรรลุผลสำเร็จ และในท้ายที่สุดทั้งสองประเทศได้ร้องขอการอนุญาโตตุลาการจากอิตาลีและเยอรมนี โดยได้รับการอนุมัติโดยปริยายจากสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสด้วย จากคำตัดสิน ณ กรุงเวียนนา เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน ส่งผลให้ดินแดนทั้งหมด 11,000 ตารางกิโลเมตร และผู้คนราวหนึ่งล้านคนที่ส่วนใหญ่เป็นชาวฮังการี ถูกส่งมอบให้แก่ฮังการี แม้ว่าจะไม่ได้ทุกเมืองที่ต้องการหรือทั้งหมดของรูทีเนียก็ตาม ดินแดนนี้ยังคงอยู่ในอำนาจของฮังการีตลอดช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง แต่เมื่อสิ้นสุดสงคราม คำชี้ขาดของการอนุญาโตตุลาการจึงถือเป็นโมฆะ ทำให้สโลวาเกียกลับสู่เชโกสโลวาเกียอีกครั้ง และรูทีเนียรวมเข้ากับสหภาพโซเวียต
บริบท
[แก้]สถานะชนกลุ่มน้อยฮังการีและรูซึนในเชโกสโลวาเกีย
[แก้]เชโกสโลวาเกียเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์แห่งหนึ่งในทวีปยุโรปสมัยระหว่างสงคราม เช่นเดียวกับยูโกสลาเวีย ทำให้ในบางครั้งจึงถูกเปรียบเปรยว่าเป็นจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีขนาดเล็ก[1] จากประชากรทั้งหมด 13,600,000 คนที่ลงทะเบียนในการสำรวจสำมะโนประชากร ค.ศ. 1921 มีเพียง 50.4 % ที่เป็นชาวเช็ก และ 15 % เป็นชาวสโลวัก ในขณะที่ 23.4 % เป็นชนกลุ่มน้อยเยอรมัน 3.5 % เป็นชาวรูซึน และอีก 5.6 % เป็นชาวฮังการีและอื่น ๆ[1] ซึ่งชาวรูซึนและฮังการีส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่ในภูมิภาครูทีเนียและสโลวาเกีย[1] โดยสำหรับสโลวาเกียนั้นมีชาวฮังการีอาศัยอยู่เป็นจำนวน 637,000 คน และชาวรูซึน 86,000 คน (คิดเป็น 21.5 % และ 2.9 % ของจำนวนประชากรในภูมิภาค ตามลำดับ)[1] ในภูมิภาครูทีเนียมีชาวรูซึนอาศัยอยู่เป็น 373,000 คน (61.2 %) และชาวฮังการี 192,000 คน (17 %)[1] โดยทั้งสองภูมิภาค ชนกลุ่มน้อยจะอาศัยอยู่ในพื้นที่ขนาดเล็ก: ชาวฮังการีกระจุกตัวอยู่บริเวณที่ราบทางตอนใต้ ในขณะที่ชาวรูซึนจะอาศัยอยู่พื้นที่ภูเขามากกว่า[1] สโลวาเกียมีความแตกต่างจากภูมิภาคอื่น ๆ ของประเทศ เนื่องจากการรวมสโลวาเกียเข้ากับสาธารณรัฐใหม่ภายหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งนั้นเป็นเพราะเหตุผลจากทางยุทธศาสตร์ ไม่ใช่ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม[2] และสำหรับภูมิภาครูทีเนียถูกผนวกเข้ากับเชโกสโลวาเกียเนื่องด้วยคำร้องขอจากผู้อพยพชาวรูซึนในสหรัฐ[2]
สถานะทางกฎหมายของชาวฮังการีในเชโกสโลวาเกียมีความไม่ชัดเจน: ในสนธิสัญญาแซ็ง-แฌร์แม็ง-อ็อง-แลได้มอบสัญชาติแก่ชาวฮังการี แต่ในรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1920 อนุญาตให้เฉพาะผู้คนที่อาศัยอยู่ในดินแดนเชโกสโลวาเกียใหม่ตั้งแต่ ค.ศ. 1910 เท่านั้น[3] ซึ่งข้อจำกัดนี้ส่งผลให้ชาวฮังการีประมาณ 56,000–106,000 คน อพยพไปยังฮังการี[3] นอกจากนี้ยังมีชาวฮังการีประมาณ 15,000–100,000 คน ที่ถูกละทิ้งให้เป็นผู้ไร้สัญชาติ[3] ในทางตรงกันข้าม ชาวรูซึนได้รับอิสรภาพทางดินแดนโดยปฏิบัติในรัฐเชโกสโลวาเกีย[4]
กฎหมายเชโกสโลวาเกียอนุญาตให้ชนกลุ่มน้อยได้รับการศึกษาในภาษาของตนเองได้ภายใต้เงื่อนไขบางประการ ซึ่งหมายความว่า 86.4 % ของนักเรียนชาวฮังการีระดับประถมศึกษาได้รับการศึกษาในภาษาแม่ของพวกเขา เช่นเดียวกับ 72 % ของนักเรียนระดับมัธยมศึกษา แต่ขณะเดียวกันในเชโกสโลวาเกียไม่มีการศึกษาระดับอุดมศึกษาให้สำหรับชาวฮังการี[4] อย่างไรก็ตาม ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง การรับรู้ของชาวฮังการีต่อสถานการณ์การศึกษาของพวกเขาเลวร้ายลง เนื่องด้วยจำนวนโรงเรียนของชาวฮังการีถูกลดลงถึงสองในสาม มหาวิทยาลัยที่ใช้ภาษาฮังการีถูกยกเลิก และประกาศนียบัตรที่ได้รับจากมหาวิทยาลัยในฮังการีไม่ได้รับการยอมรับในเชโกสโลวาเกีย[5] ชนกลุ่มน้อยฮังการีส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะสนับสนุนพรรคการเมืองที่วิพากษ์วิจารณ์นโยบายวัฒนธรรมของรัฐบาลเชโกสโลวาเกียและพรรคของชาวฮังการีทุกพรรคในประเทศ โดยหวังว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงพรมแดนในอนาคต ซึ่งจะทำให้สโลวาเกียและรูทีเนียบางส่วนหรือทั้งหมดกลับคืนสู่ฮังการี[6] พรรคฝ่ายค้านได้รับคะแนนเสียงข้างน้อยประมาณครึ่งหนึ่งในการเลือกตั้งรัฐสภาติดต่อกัน[6] ชนชั้นนำฮังการีในยุคจักรวรรดิ (เจ้าของที่ดิน นักบวช ทนายความ ข้าราชการ ครู และประชากรชาวยิวส่วนหนึ่ง) แสดงท่าทีต่อต้านรัฐใหม่และมักจะเข้าควบคุมในฐานะผู้นำพรรคการเมืองของชาวฮังการีในเชโกสโลวาเกีย[6] ชาวนาซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยส่วนใหญ่และได้รับการปรับเปลี่ยนสถานะทางเศรษฐกิจในรัฐใหม่ ก็ยังคงสนับสนุนการกลับคืนสู่ฮังการีต่อไป[7]
ในส่วนของชาวรูซึน แม้ว่าพวกเขาจะสนับสนุนพรรคฝ่ายค้านรัฐบาลด้วยเช่นกัน แต่ก็ไม่ได้ต้องการแยกตัวออกจากเชโกสโลวาเกีย เพียงแค่พวกเขาต้องการปฏิรูปรัฐบาล เพื่อขยายอำนาจการปกครองตนเองและเพิ่มขอบเขตทางภูมิศาสตร์ของรูทีเนีย โดยการตัดทอนพื้นที่บางส่วนจากสโลวาเกียไป[7] อำนาจการปกครองตนเองนั้นเป็นไปในทางปฏิบัติสำหรับฝ่ายตุลาการในรูทีเนีย และผู้ว่าราชการประจำรูทีเนียก็ไม่ได้มีอำนาจเหนือกว่ารองผู้ว่าราชการที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลกลางปราก[8] อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแล้วการสนับสนุนพรรคฝ่ายค้านรัฐบาลมีมากกว่านั้นอย่างยิ่ง ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะทางเศรษฐกิจมากกว่า[9] ถึงแม้ฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลจะสามารถสร้างอิทธิพลขึ้นได้เป็นเวลาสั้น ๆ ในช่วงปลายทศวรรษ 1929 อันเป็นผลจากการปรับปรุงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ แต่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ทำให้ฝ่ายค้านรัฐบาลเริ่มกลับมามีอิทธิพลอีกครั้ง[10]
ความปรารถนาของฮังการี
[แก้]ฮังการีสูญเสียดินแดนเป็นจำนวนมากภายหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งตามสนธิสัญญาทรียานง[11] ซึ่งหนึ่งในดินแดนที่สูญเสียไปคือสโลวาเกียและรูทีเนีย ที่มอบให้เชโกสโลวาเกีย[11] โดยวัตถุประสงค์หลักของนโยบายต่างประเทศของฮังการีในช่วงระหว่างสงครามคือการฟื้นฟูดินแดนทั้งหมดหรือบางส่วนที่สูญเสียไปหลังจากความพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง[11]
มีการเกิดขึ้นของสองกระแสการเมืองในหมู่ผู้นำฮังการีสำหรับการบรรลุเป้าหมายของลัทธิปฏิรูปนิยม โดยกระแสหนึ่งสนับสนุนการเป็นพันธมิตรกับเยอรมนีเพื่อใช้อำนาจโดยตรงในการแก้ไขสนธิสัญญาทรียานง และอีกกระแสหนึ่งสนับสนุนนโยบายต่างประเทศที่เป็นอิสระมากขึ้น ซึ่งสนับสนุนการสร้าง "ขั้วอำนาจที่สามของยุโรป" อันมีพันธมิตรร่วมคืออิตาลี ฮังการี และโปแลนด์ เพื่อบีบบังคับให้เชโกสโลวาเกียยอมจำนนและถ่วงดุลอำนาจของเยอรมนีในเวลาเดียวกัน[12] ในช่วงต้น ค.ศ. 1938 รัฐบาลวอร์ซอและบูดาเปสต์ต้องการที่จะสร้างพรมแดนร่วมกัน[หมายเหตุ 1] เนื่องจากความเป็นไปได้ในการผนวกออสเตรียของเยอรมนี เพื่อรับประกันความเป็นเอกราชระหว่างสองประเทศ[12]
จากเหตุการณ์อันชลุสและความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นระหว่างเชโกสโลวาเกียและเยอรมนี ทำให้ฮังการีพยายามใช้โอกาสนี้ในการกู้คืนดินแดนในอดีต[13] ทางสันนิบาตปฏิรูปนิยมฮังการีได้ออกมาเคลื่อนไหวเป็นครั้งแรกในรอบห้าปีเมื่อวันที่ 24 เมษายน ค.ศ. 1938 เพื่อเรียกร้องการปฏิบัติแก่ชนกลุ่มน้อยฮังการีในเชโกสโลวาเกียเหมือนดังที่เยอรมนีได้เรียกร้องในเวลาเดียวกัน[13] และเพื่อหลีกเลี่ยงการพึ่งพาเยอรมนีมากเกินไป รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศฮังการีจึงพยายามขอความร่วมมือจากอิตาลี ยูโกสลาเวีย โรมาเนีย และโปแลนด์ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย[13] ในการเจรจากับประเทศภาคีน้อย (Little Entente) มีการยินยอมที่จะลงนามในสนธิสัญญาเกี่ยวกับการเคารพชนกลุ่มน้อย ยกเลิกการใช้กำลังเพื่อแก้ไขข้อพิพาทระหว่างทั้งสองฝ่าย และยอมรับสิทธิของฮังการีในสร้างเสริมกำลังอาวุธใหม่ โดยทั้งหมดนี้เป็นไปตามความตกลงเบลต (Bled agreement) เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ซึ่งเชโกสโลวาเกียไม่ได้ลงนาม[14] อย่างไรก็ตาม ทางเบอร์ลินได้รับรู้ถึงความตกลงดังกล่าวที่รัฐบาลฮังการีปฏิเสธการใช้กำลังในขณะที่ความตึงเครียดระหว่างเบอร์ลินและปรากเริ่มสูงขึ้น โดยสิ่งนี้ถือเป็นการแสดงท่าทีถึงความเป็นอิสระของนโยบายต่างประเทศฮังการี ซึ่งนั่นทำให้เยอรมนีไม่พอใจเป็นอย่างมาก[15]
ผู้นำเยอรมนีเรียกร้องให้ผู้นำฮังการีที่ขณะนั้นมาเยือนเบอร์ลินเข้าร่วมในการกดดันเชโกสโลวาเกีย[16] ฮิตเลอร์ตั้งใจที่จะรุกรานประเทศโดยใช้การลุกฮือของชนกลุ่มน้อยเป็นเหตุผล และต้องการความร่วมมือจากรัฐบาลบูดาเปสต์สำหรับความช่วยเหลือของชนกลุ่มน้อยฮังการี[16] การร่วมมือของฮังการีมีจุดประสงค์เพื่อให้ได้รับดินแดนกลับคืนมา แม้ว่าฝ่ายเยอรมนีจะมีความไม่ชัดเจนต่อการผนวกดินแดนของฮังการีก็ตาม[16] ถึงแม้จะมีแรงกดดันมหาศาลจากเยอรมนี แต่ฮังการีก็ปฏิเสธแผนการของเยอรมนีอย่างแข็งขัน โดยฮังการีไม่ได้ปฏิเสธการร่วมมือกับเยอรมนี แต่ก็ไม่ได้รับประกันว่าพวกเขาจะร่วมมือด้วยเช่นกัน[16]
ในทางกลับกัน รัฐบาลฮังการียังคงพยายามประสานข้อเรียกร้องของตนกับโปแลนด์ต่อไป รัฐบาลวอร์ซอได้เสนอว่าทางบูดาเปสต์ควรเรียกร้องให้มีการลงประชามติในทุกดินแดนที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรฮังการีเดิม ไม่ใช่เพียงแค่พื้นที่ที่มีชาวฮังการีส่วนใหญ่เท่านั้น เพื่อที่จะสร้างพรมแดนร่วมกันระหว่างฮังการี-โปแลนด์[17] ข้อเรียกร้องของโปแลนด์-ฮังการีได้รับการสนับสนุนจากอิตาลี[17]
วิกฤตการณ์มิวนิก
[แก้]การลงนามในความตกลงมิวนิกเมื่อวันที่ 28 กันยายน ค.ศ. 1938 มีจุดประสงค์เพื่อยุติความตึงเครียดระหว่างรัฐบาลปรากและชนกลุ่มน้อยเยอรมัน ซึ่งส่งผลกระทบสำคัญต่อเชโกสโลวาเกียเป็นอย่างยิ่ง[18] มุสโสลินียืนยันที่จะเข้าร่วมในความตกลงนี้ด้วย แม้ว่าบรรดามหาอำนาจจะเมินเฉยต่อความสัมพันธ์ระหว่างชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เยอรมันก็ตาม[17] ในหัวข้อท้ายของความตกลงระบุว่าปัญหาของชนกลุ่มน้อยโปแลนด์และฮังการีจะต้องได้รับการแก้ไขระหว่างสามประเทศที่ได้รับผลกระทบ[19][20] สามเดือนต่อมา มีการจัดประชุมอีกครั้งของมหาอำนาจทั้งสี่ (เยอรมนี อิตาลี ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร) ซึ่งจบลงโดยการลงนามในสนธิสัญญามิวนิก[18][21][17][22][23][24] นอกจากนี้ การรับประกันทางดินแดนแก่เชโกสโลวาเกียของประเทศผู้ลงนามจะมีผลบังคับใช้ต่อเมื่อข้อพิพาทต่าง ๆ ยุติลงเท่านั้น[17] และมหาอำนาจจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเจรจาทวิภาคีใด ๆ[20] ทางฮังการีที่สนับสนุนอย่างแข็งกร้าวสำหรับการแก้ไขพรมแดนตลอดสมัยระหว่างสงคราม ได้ใช้ประโยชน์จากสถานการณ์นี้เพื่อบังคับการเจรจากับรัฐบาลเชโกสโลวาเกีย[25] ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากอิตาลี[18] แต่ในทางกลับกัน ฮิตเลอร์ดูเหมือนจะเข้าข้างเชโกสโลวาเกียมากกว่า เนื่องจากต้องการทำตามจุดประสงค์ของตนและเยอรมนีก็ไม่ได้มีส่วนได้เสียสำหรับการกู้คืนดินแดนของฮังการี[19][26] ทางการเยอรมนีไม่ได้มองว่าความตกลงมิวนิกนั้นเป็นที่สิ้นสุดแล้ว และในต้นเดือนตุลาคม พวกเขากำลังพิจารณาถึงทางเลือกทางการเมืองที่เป็นไปได้สำหรับสโลวาเกียและรูทีเนีย[20]
เพื่อหลีกเลี่ยงสงครามที่อาจเกิดขึ้นระหว่างฮังการีภายใต้การนำของมิกโลช โฮร์ตี (ซึ่งกังวลอย่างมากเกี่ยวกับการสูญเสียโอกาสในการกอบกู้ดินแดนที่สูญเสียไปหลังสงครามโลก เหมือนที่เกิดขึ้นในความตกลงมิวนิก) กับสาธารณรัฐเชโกสโลวักที่ 2 ของประธานาธิบดีแอมีล ฮาชา ฮิตเลอร์จึงแนะนำให้ทั้งสองฝ่ายทำข้อตกลงเกี่ยวกับพรมแดนตามเกณฑ์ชาติพันธุ์[27][25] ฮังการีได้รับการสนับสนุนจากฮิตเลอร์สำหรับการจัดการกับเชโกสโลวาเกียในวันที่ 1 ตุลาคม[28] โดยทางบูดาเปสต์เลือกที่จะเจรจาเพราะสถานการณ์ที่ย่ำแย่ของกองทัพฮังการี ซึ่งแตกต่างจากโปแลนด์ที่ได้ดินแดนที่ต้องการหลังจากขู่ว่าจะใช้กำลัง[29] รัฐบาลปรากตระหนักดีถึงความอ่อนแอทางทหารของฮังการี[30] จึงเข้าร่วมในการเจรจาอื่น ๆ เพื่อพยายามชะลอการเจรจากับบูดาเปสต์[28][26] เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ทางฮังการีเรียกร้องให้เริ่มการเจรจาในวันที่ 6 ณ เมืองชายแดนคอมาร์นอ โดยในวันที่ 5 ฮังการีเริ่มส่งกองกำลังเข้าแทรกแซงพื้นที่บางส่วนของเชโกสโลวาเกียเพื่อสร้างความปั่นป่วน[25] อย่างไรก็ตาม ภายหลังการจัดตั้งรัฐบาลปกครองตนเองสโลวัก รัฐบาลปรากได้ละทิ้งการเจรจากับตัวแทนของฮังการี[31] ซึ่งเป็นไปตามรายงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศเช็กที่ส่งถึงฮิตเลอร์ในวันที่ 14 ตุลาคม[20] ทางด้านยูโกสลาเวียและโรมาเนีย ซึ่งเป็นพันธมิตรกับเชโกสโลวาเกีย ได้แสดงการต่อต้านการขยายดินแดนของฮังการีและคัดค้านการยกดินแดนที่ประชากรส่วนใหญ่ไม่ใช่ชาวฮังการีให้กับฮังการี[26]
ในวันที่ 6 ตุลาคม พรรคประชาชนสโลวักได้จัดการประชุมกันที่เมืองชิลินาและประกาศตนเป็น "ตัวแทนอย่างถูกต้องตามกฎหมายของชนชาติสโลวัก"[32] โดยญัตติที่ได้รับการอนุมัติในที่ประชุมเน้นยำถึงสิทธิการกำหนดการปกครองด้วยตนเองของชนชาติสโลวัก การกำหนดขอบเขตทางภูมิศาสตร์ของตน และการต่อสู้ร่วมกับประเทศที่ต่อต้านยิว-มาร์กซิสต์[33] จากวิกฤตการณ์ที่ตึงเครียดทำให้รัฐบาลปรากจำยอมที่จะปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของชาวสโลวัก และได้แต่งตั้งนักบวชคาทอลิกยอเซ็ฟ ติซอ เป็นนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลปกครองตนเองใหม่[33] ส่งผลให้รัฐเชโกสโลวาเกียแปรสภาพเป็นสหพันธรัฐเช็ก-สโลวาเกีย[33] ในวันที่ 8 พฤศจิกายน ภูมิภาคสโลวาเกียถูกกำหนดให้เป็นเขตปกครองของพรรคการเมืองเดียวอย่างสมบูรณ์[34]
การเจรจาระหว่างเชโกสโลวาเกียและฮังการีเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 9 ตุลาคม ณ เมืองคอมาร์นอ[29][28][22] โดยมีการใช้ภาษาฮังการีเป็นสื่อกลาง เนื่องจากผู้แทนทั้งสองฝ่ายมีความเชี่ยวชาญในภาษานี้[35] ระหว่างการเจรจา ทางเชโกสโลวาเกียได้เสนอผลประโยชน์เพียงเล็กน้อยให้กับฮังการี[25][32][31] กล่าวคือฮังการีปรารถนาที่จะได้รับดินแดนรูทีเนียทั้งหมดและดินแดนสโลวาเกียที่มีประชากรฮังการีอาศัยเป็นส่วนใหญ่[36] ซึ่งจะทำให้สโลวาเกียสูญเสียเมืองหลัก ที่ราบอุดมสมบูรณ์ และทางรถไฟสายสำคัญไปจนหมดสิ้น[28][37] แต่ทางผู้แทนชาวสโลวักเสนอคืนดินแดนเพียงหนึ่งในสิบของดินแดนที่ฮังการีเรียกร้องและมอบอำนาจปกครองตนเองให้กับดินแดนที่มีชาวฮังการีส่วนใหญ่ที่เหลืออยู่[25][38] ผู้แทนฮังการีใช้การสำรวจสำมะโนประชากรใน ค.ศ. 1910 เพื่อเรียกร้องพื้นที่ 14,153 ตารางกิโลเมตร และประชากร 1,090,000 คน โดยเป็นชาวฮังการี 77.9 %[35] โดยพวกเขาได้อ้างสิทธิ์เหนือ 12 เมือง และ 812 จาก 830 หมู่บ้าน ในภูมิภาคสโลวาเกีย และอาศัยคำแนะนำจากสถาบันรัฐศาสตร์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งแตกต่างจากคณะผู้แทนชาวสโลวักของติซอ[32] ที่เร่งรีบรวบรวมเนื้อหาเพื่อสนับสนุนตำแหน่งของพวกเขา[35] ข้อเสนอของเชโกสโลวาเกียในการยกพื้นที่ทั้งหมด 5,786 ตารางกิโลเมตร และประชากร 400,000 คน (320,000 คน เป็นชาวฮังการี) ไม่เป็นที่พึงพอใจแก่ทางบูดาเปสต์อย่างยิ่ง[28][37] คณะผู้แทนเชโกสโลวาเกียเริ่มใช้การประนีประนอมมากขึ้น เพื่อซื้อเวลาสำหรับการร้องขอแรงสนับสนุนจากเยอรมนี แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ[35] การเจรจาที่ตึงเครียดนี้ดำเนินไปได้ทั้งหมดสี่วันจึงยุติลง[36][39][29][40][38][37] และทางบูดาเปสต์เริ่มระดมกำลังทหารบางส่วน[18][39][38] หนึ่งสัปดาห์ต่อมา ผู้แทนชาวสโลวักได้ให้ข้อเสนอใหม่แก่ฮังการี ซึ่งเป็นข้อเสนอที่จัดทำขึ้นโดยยึดหลักเกณฑ์ชาติพันธุ์แบบคร่าว ๆ ทำให้ฮังการีจะได้รับเมืองบางส่วนไป แต่เมืองใหญ่อื่น ๆ ในภูมิภาคยังคงอยู่ในเชโกสโลวาเกีย อย่างไรก็ตาม ทางรัฐบาลฮังการีได้ปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว[40][41]
รัฐบาลฮังการีไร้ซึ่งความหวังที่จะได้รับผลประโยชน์จากดินแดนสโลวาเกียอันเป็นผลมาจากวิกฤตการณ์เชโกสโลวาเกีย และหันไปสนใจรูทีเนียแทน[29] เพื่อที่จะได้มีพรมแดนร่วมกันกับโปแลนด์[36] สถานการณ์ในบูดาเปสต์ตึงเครียดอย่างมากในช่วงปลายเดือนตุลาคม[40] ภายหลังความล้มเหลวของการเจรจา รัฐบาลบูดาเปสต์ได้ละทิ้งความพยายามในการกู้คืนสโลวาเกียทั้งหมด (เนื่องจากไม่ได้รับการรับรองจากเยอรมนีและอิตาลี)[42] และจำกัดความต้องการของตนอยู่เพียงแค่การได้รับรูทีเนียและพื้นที่ที่มีชาวฮังการีเป็นส่วนใหญ่เท่านั้น[29] ซึ่งเพื่อให้บรรลุตามจุดประสงค์ข้างต้น รัฐบาลฮังการีของเบ-ลอ อิมเรดี จึงให้ความร่วมมือในการสร้างความปั่นป่วนผ่านการสนับสนุนกลุ่มแบ่งแยกดินแดนและการแทรกซึมอำนาจในรูทีเนีย[18][39][29][22][36][43] ปฏิบัติการดังกล่าวเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 10 ตุลาคม ซึ่งในขณะนั้นการเจรจาที่คอมาร์นอยังคงดำเนินอยู่[29] โดยได้รับการสนับสนุนจากโปแลนด์และอิตาลี[29] แต่ท้ายที่สุดก็ไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากเชโกสโลวาเกียสามารถปิดกั้นพรมแดนและหยุดยั้งการรุกล้ำได้[21][44] รัฐบาลบูดาเปสต์พยายามรวบรวมกำลังสนับสนุนทางการทูตกับรัฐบาลโรมและเบอร์ลินสำหรับข้อพิพาททางการปราก[39][45][46][44] ซึ่งได้รับการสนับสนุนทางการทูตจากโปแลนด์เช่นกัน แม้ว่าจะไม่ได้แรงสนับสนุนทางทหารด้วยก็ตาม[44]
เมื่อเผชิญกับความล้มเหลวของแผนการก่อจราจลในรูทีเนีย ทางฮังการีจึงเล็งเห็นถึงความเป็นไปได้ในการอาศัยการประชุมของมหาอำนาจทั้งสี่ที่มิวนิกเพื่อแก้ไขสถานการณ์[37] แต่ได้รับการต่อต้านจากฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร และเยอรมนี[39][47][48][45][46] การเจรจาทวิภาคีก็ถูกระงับลง[49][50] ดังนั้นทางการบูดาเปสต์จึงตัดสินใจร้องขอการอนุญาโตตุลาการจากอิตาลี เยอรมนี และโปแลนด์[48][51] คำร้องขอถูกส่งไปยังอังกฤษเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม[47] ซึ่งอิตาลีตอบรับคำร้องขอด้วยความยินดี แต่เยอรมนีปฏิเสธอย่างแข็งขัน เนื่องจากมองว่าสิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงการละทิ้งการอ้างสิทธิ์ของฮังการีในการขอรับรูทีเนีย[48] ในวันต่อมา เชโกสโลวาเกียก็แสดงความเต็มใจที่จะยอมรับการอนุญาโตตุลาการจากอิตาลีและเยอรมนีด้วย[39][47][18][51] หลังการปฏิเสธครั้งแรก ทางเบอร์ลินจึงตกลงที่จะไกล่เกลี่ยให้ในวันที่ 28 ตุลาคม[47][45][52] อย่างไรก็ตามโปแลนด์ถูกขัดขวางในการเข้าร่วมอนุญาโตตุลาการครั้งนี้ อันเป็นผลมาจากการเรียกร้องสิทธิ์เหนือดันท์ซิชและฉนวนโปแลนด์ ซึ่งรัฐบาลวอร์ซอปฏิเสธ[53][54]
การอนุญาโตตุลาการ
[แก้]หนึ่งวันหลังจากการร้องขอของฝ่ายต่าง ๆ ชิอาโนและริบเบินทร็อพได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ร่างปรับเปลี่ยนพรมแดนใหม่ โดยชิอาโนสนับสนุนความปรารถนาของฮังการีอย่างเต็มกำลัง ในขณะที่ริบเบินทร็อพพยายามลดการแบ่งแยกดินแดนในสโลวาเกียและรูทีเนีย[47] สำหรับมหาอำนาจตะวันตกก็ไม่ได้ขัดขวางการไกล่เกลี่ยนี้แต่อย่างใด[27][49][55][56] อิตาลีและเยอรมนีตกลงอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม เพื่อดำเนินการอนุญาโตตุลาการ โดยมีเงื่อนไขว่าฮังการีและเชโกสโลวาเกียจะต้องยอมรับคำชี้ขาดของตนว่าเป็นที่สิ้นสุด[53] ฮังการีไม่ได้เรียกร้องการผนวกรูทีเนีย แต่แจ้งกับอิตาลีให้ทราบถึงความตั้งใจที่จะดำเนินการแทรกแซงภูมิภาคนี้ต่อไป[53]
การเจรจาเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน ค.ศ. 1938[57][47][58][39][49][50][59][56] ณ พระราชวังเบลเวเดียร์[45][60] ในกรุงเวียนนา ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศเยอรมนีริบเบินทร็อพและชิอาโนจากอิตาลี[53][61] ได้ร่วมกันกำหนดพรมแดนใหม่ที่ปรับให้เข้ากับเกณฑ์ทางชาติพันธุ์มากขึ้นกว่าแนวเดิมที่กำหนดไว้ในสนธิสัญญาทรียานง[62][58][53] ชิอาโนสามารถปรับเพิ่มดินแดนให้กับฮังการีได้เล็กน้อย[27][60] ตามคำชี้ขาดของการอนุญาโตตุลาการนี้กำหนดไว้ว่าเชโกสโลวาเกียจะต้องส่งมอบดินแดนให้แก่ฮังการีในระหว่างวันที่ 3 ถึงวันที่ 10 พฤศจิกายน[53]
เชโกสโลวาเกียสูญเสียดินแดนทั้งสิ้น 11,927 ตารางกิโลเมตร[18][39][50] และประชากรจำนวน 1,081,247 คน[58][หมายเหตุ 2][หมายเหตุ 3] ซึ่งเป็นประชากรฮังการีประมาณ 57 %[หมายเหตุ 4] (84 % ตามการประมาณการของฮังการี)[50] รองลงมาเป็นชาวสโลวักและรูซึน และส่วนที่เหลือเป็นชนกลุ่มน้อยเช็ก เยอรมัน และยิว[64] อีกทั้งประเทศยังสูญเสียเมืองสำคัญอย่างมูกาแชวอ[64] กอชิตเซ[65] (มีประชากรประมาณ 70,000 คน) และอุฌฮอรอด (27,000 คน)[18][39][45][56][63] ชนกลุ่มน้อยฮังการีส่วนใหญ่ในเชโกสโลวาเกียอพยพกลับไปยังฮังการี[18][63] โดยมีชาวฮังการีเพียง 66,000 คนเท่านั้นที่ยังคงอยู่ในพรมแดนเชโกสโลวาเกียใหม่[18][หมายเหตุ 5] ฮังการีได้รับดินแดนเพิ่มขึ้น 13 % จากเขตแดนเดิม และยังได้รับประชากรเพิ่มขึ้นอีก 11.7 %[39][63]
อย่างไรก็ตาม การอนุญาโตตุลาการครั้งนี้สร้างความผิดหวังแก่ฮังการีเป็นอย่างมากสำหรับความปรารถนาที่จะได้รับบราติสลาวาและนีตรา[64] หรือการกู้คืนดินแดนรูทีเนีย[66][47][39][62] ในเวลาต่อมาภูมิภาครูทีเนียได้รับอำนาจปกครองตนเอง ซึ่งในช่วงแรกรัฐบาลของภูมิภาคนี้อยู่ภายใต้การปกครองโดยบุคคลที่สนับสนุนการรวมดินแดนกับฮังการี แต่ไม่นานนักก็ถูกแทนที่โดยแนวร่วมท้องถิ่นชาวยูเครน[67] การเปลี่ยนแปลงพรมแดนทำให้รูทีเนียสูญเสียสองเมืองสำคัญของภูมิภาคอย่างอุฌฮอรอดกับมูกาแชวอ และทำให้สัดส่วนชาวรูซึนในภูมิภาคนี้เพิ่มมากขึ้น (คิดเป็น 76 % ของประชากร)[67] ผู้ปกครองรูทีเนียยังคงเต็มใจที่จะให้ภูมิภาคเป็นส่วนหนึ่งของเชโกสโลวาเกียต่อไป ซึ่งในขณะนี้ได้เปลี่ยนสถานะเป็นสหพันธ์สาธารณรัฐ[67]
ปฏิกิริยาในฮังการี
[แก้]ภายในประเทศมีการจัดเฉลิมฉลองครั้งยิ่งใหญ่[63] หลังจากทราบถึงผลลัพธ์ของการอนุญาโตตุลาการ เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่ฮังการีได้รับดินแดนกลับคืนมานับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่หนึ่งสิ้นสุดลง[64] ทางผู้สำเร็จราชการมิกโลช โฮร์ตี พร้อมด้วยคณะรัฐสภาได้เดินทางไปเยือนกอซซอ (ในภาษาสโลวักเรียก "กอชิตเซ") ซึ่งเป็นหนึ่งในเมืองที่ได้รับคืนมา[63] เพื่อเฉลิมฉลองความสำเร็จในการฟื้นฟูดินแดน[64] การกู้คืนดินแดนในครั้งนี้ยังสร้างแรงกระตุ้นให้ลัทธิปฏิรูปนิยมฮังการีอีกด้วย[64] อย่างไรก็ตาม ประเทศต้องเผชิญกับอุปสรรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากอำนาจเบื้องหลังของฝ่ายอักษะในการอนุญาโตตุลาการ โดยมีการพยายามแก้ไขข้อตกลงที่ทำขึ้นและบีบให้รัฐบาลฮังการียอมรับผลการตัดสินว่าเป็นที่สิ้นสุด[53][68]
กลยุทธ์ของฮังการีที่ใช้กับรูทีเนียคล้ายคลึงกับวิธีการที่ฮิตเลอร์ใช้กับเชโกสโลวาเกีย: กล่าวคือยุยงให้เกิดความไม่มั่นคง ตีตราภูมิภาคนี้ว่าไร้อำนาจในฐานะปกครองตนเองหรือเป็นอิสระ และสุดท้ายก็ส่งกองทหารไปเพื่อ "ฟื้นฟูความสงบเรียบร้อย"[53] แต่การกระทำต่าง ๆ เหล่านี้ล้มเหลว เพราะขาดการสนับสนุนจากประเทศอื่น ๆ รวมถึงเยอรมนีคัดค้านด้วย[69]
ผลที่ตามมา
[แก้]แม้ว่าคำตัดสินของการอนุญาโตตุลาการจะไม่ได้ส่งคืนรูทีเนียให้แก่ฮังการี[66][70] แต่ต่อมาไม่นานฮิตเลอร์ก็อนุญาตให้กองทัพฮังการียึดครองดินแดนได้[71] ซึ่งก่อนหน้านี้ แผนการยึดครองที่วางขึ้นระหว่างฮังการี โปแลนด์ และอิตาลีถูกล้มเลิกไปเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายนโดยฝ่ายค้านเยอรมนีที่มุ่งมั่น[72][73][74] กองทหารรักษาการณ์รูทีเนียท้องถิ่นพยายามปกป้องอิสรภาพของตน โดยได้พยายามประกาศเอกราชอย่างเร่งรีบเมื่อวันที่ 15 มีนาคม ค.ศ. 1939 แต่ก็พ่ายแพ้ต่อกองทหารฮังการีในอีกสามวันต่อมา[71] อย่างไรก็ตาม ความล่าช้าในการอนุญาตของเยอรมนีทำให้แผนการพรมแดนร่วมของโปแลนด์และฮังการีเป็นที่น่าผิดหวัง การรุกรานที่เป็นไปได้ของเยอรมนี ทำให้รัฐบาลวอร์ซอกังวลเกี่ยวกับกิจกรรมของกลุ่มชาตินิยมยูเครนในภูมิภาคนี้ ซึ่งเกรงว่าจะแพร่กระจายไปยังดินแดนของตนด้วย[73]
ดินแดนสโลวาเกียตามลุ่มน้ำดานูบที่มอบให้แก่ฮังการียังคงอยู่ภายใต้การครอบครองของรัฐบาลบูดาเปสต์ระหว่าง ค.ศ. 1938 จนถึง ค.ศ. 1945[57] จากการคืนดินแดนครั้งนี้นำไปสู่การสร้างสายสัมพันธ์อันดีระหว่างฮังการีกับเยอรมนีและอิตาลี รวมถึงการมอบผลประโยชน์บางอย่างที่เอื้อประโยชน์เยอรมนีในเดือนต่อ ๆ มา เช่น การออกกฎหมายต่อต้านยิว การถอนตัวออกจากสันนิบาตชาติของฮังการี การให้สิทธิพิเศษแก่ชนกลุ่มน้อยชาวเยอรมัน หรือการลงนามในกติกาสัญญาต่อต้านโคมินเทิร์น[75]
การเปลี่ยนแปลงเขตแดนตามการอนุญาโตตุลาการถือเป็นโมฆะภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง[76] พรมแดนระหว่างเชโกสโลวาเกียและฮังการีกลับไปใช้ตามเค้าโครงเดิมของสนธิสัญญาทรียานง ยกเว้นการแก้ไขเล็กน้อยที่เป็นประโยชน์ต่อเชโกสโลวาเกียภายใต้สนธิสัญญาสันติภาพกับฮังการีเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1947[57] เชโกสโลวาเกียแสดงความปรารถนาที่จะขับไล่ชนกลุ่มน้อยฮังการีออกจากดินแดนของตน แต่ในสนธิสัญญาปารีส ค.ศ. 1947 ได้ปฏิเสธข้อเรียกร้องดังกล่าว[77] อย่างไรก็ตาม มีการเนรเทศชาวฮังการีที่อพยพเข้ามาอยู่ในช่วงสงครามจำนวนมาก (เป็นจำนวนราว 33,200 คน และอีก 6 หมื่นคนออกจากประเทศด้วยความสมัครใจ)[77] ในระหว่าง ค.ศ. 1947 ถึง ค.ศ. 1948 มีการแลกเปลี่ยนชาวฮังการี 73,000 คนกับชาวสโลวักจำนวนมาก เนื่องจากข้อตกลงระหว่างรัฐบาลเชโกสโลวาเกียและฮังการี[77] ชนกลุ่มน้อยฮังการีอีกสองแสนคนถูกกวาดต้อนไปตั้งถิ่นฐานในซูเดเทินลันท์[78] ประชากรชนกลุ่มน้อยประมาณสี่แสนคนยังคงอาศัยอยู่ทางตอนใต้ของประเทศ[77] ซึ่งในจำนวนครึ่งหนึ่งได้ประกาศตนเองว่าเคยเป็นชาวสโลวัก เมื่อเผชิญกับนโยบายการเปลี่ยนเป็นสโลวัก โดยประชากรส่วนที่เหลือถูกกีดกันการเป็นพลเมือง[79] และวัฒนธรรมของพวกเขา[78] สถานการณ์ของชนกลุ่มน้อยเริ่มดีขึ้นมาบ้าง เนื่องจากการยึดอำนาจของคอมมิวนิสต์เชโกสโลวาเกียใน ค.ศ. 1948 และได้ใช้นโยบายนี้เรื่อยมาจนกระทั่งยกเลิกใน ค.ศ. 1956[80]
ดูเพิ่ม
[แก้]หมายเหตุ
[แก้]- ↑ เป็นแนวคิดที่เคยเกิดขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง แต่ถูกปัดตกไป[12]
- ↑ Magocsi และ Mamatey ระบุจำนวนประชากรที่น้อยกว่าคือ 972,000 คน[39][18] ส่วน Procházka ให้จำนวนที่แตกต่างกันคือ 11,833 ตารางกิโลเมตร และ 972,092 คน[63]
- ↑ Sakmyster ให้จำนวนประชากรที่สูญเสียเป็น 1,041,494 คน[64] ซึ่ง Abloncy ก็ระบุจำนวนที่คล้ายกันคือ 1,060,000 คน[50]
- ↑ Mamatey ให้ค่าที่ต่ำกว่าคือ 53.9 %[39] ส่วน Procházka ระบุอัตราร้อยละเป็น 64.2 %[63]
- ↑ Procházka ให้จำนวนที่สูงกว่าเป็น 167,737 คน[63]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 Magocsi 1990, p. 427.
- ↑ 2.0 2.1 Magocsi 1990, p. 428.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 Magocsi 1990, p. 429.
- ↑ 4.0 4.1 Magocsi 1990, p. 430.
- ↑ Magocsi 1990, p. 431.
- ↑ 6.0 6.1 6.2 Magocsi 1990, p. 432.
- ↑ 7.0 7.1 Magocsi 1990, p. 433.
- ↑ Magocsi 1990, p. 435.
- ↑ Magocsi 1990, p. 436.
- ↑ Magocsi 1990, p. 437.
- ↑ 11.0 11.1 11.2 Winchester 1973, p. 741.
- ↑ 12.0 12.1 12.2 Winchester 1973, p. 742.
- ↑ 13.0 13.1 13.2 Winchester 1973, p. 745.
- ↑ Winchester 1973, p. 746.
- ↑ Winchester 1973, p. 747.
- ↑ 16.0 16.1 16.2 16.3 Winchester 1973, p. 748.
- ↑ 17.0 17.1 17.2 17.3 17.4 Winchester 1973, p. 749.
- ↑ 18.00 18.01 18.02 18.03 18.04 18.05 18.06 18.07 18.08 18.09 18.10 Magocsi 1990, p. 439.
- ↑ 19.0 19.1 Dreisziger 1968, p. 94.
- ↑ 20.0 20.1 20.2 20.3 Boucek 1975, p. 47.
- ↑ 21.0 21.1 Dreisziger 1968, p. 96.
- ↑ 22.0 22.1 22.2 Ablonczy 2006, p. 168.
- ↑ Wheeler-Bennett 1963, p. 297.
- ↑ Juhász 1979, p. 142.
- ↑ 25.0 25.1 25.2 25.3 25.4 Juhász 1979, p. 143.
- ↑ 26.0 26.1 26.2 Procházka 1981, p. 33.
- ↑ 27.0 27.1 27.2 Sakmyster 1980, p. 214.
- ↑ 28.0 28.1 28.2 28.3 28.4 Mamatey & Luza 1973, p. 257.
- ↑ 29.0 29.1 29.2 29.3 29.4 29.5 29.6 29.7 Winchester 1973, p. 751.
- ↑ Winchester 1973, p. 750.
- ↑ 31.0 31.1 Procházka 1981, p. 34.
- ↑ 32.0 32.1 32.2 Ádám 1999, p. 106.
- ↑ 33.0 33.1 33.2 Boucek 1975, p. 50.
- ↑ Boucek 1975, p. 53.
- ↑ 35.0 35.1 35.2 35.3 Ablonczy 2006, p. 169.
- ↑ 36.0 36.1 36.2 36.3 Dreisziger 1968, p. 95.
- ↑ 37.0 37.1 37.2 37.3 Procházka 1981, p. 35.
- ↑ 38.0 38.1 38.2 Ádám 1999, p. 107.
- ↑ 39.00 39.01 39.02 39.03 39.04 39.05 39.06 39.07 39.08 39.09 39.10 39.11 39.12 Mamatey & Luza 1973, p. 258.
- ↑ 40.0 40.1 40.2 Ablonczy 2006, p. 170.
- ↑ Ádám 1999, p. 110.
- ↑ Procházka 1981, pp. 33–34.
- ↑ Procházka 1981, pp. 35–36.
- ↑ 44.0 44.1 44.2 Procházka 1981, p. 36.
- ↑ 45.0 45.1 45.2 45.3 45.4 Juhász 1979, p. 144.
- ↑ 46.0 46.1 Ádám 1999, p. 109.
- ↑ 47.0 47.1 47.2 47.3 47.4 47.5 47.6 Dreisziger 1968, p. 97.
- ↑ 48.0 48.1 48.2 Winchester 1973, p. 752.
- ↑ 49.0 49.1 49.2 Boucek 1975, p. 48.
- ↑ 50.0 50.1 50.2 50.3 50.4 Ablonczy 2006, p. 172.
- ↑ 51.0 51.1 Procházka 1981, p. 39.
- ↑ Procházka 1981, p. 38.
- ↑ 53.0 53.1 53.2 53.3 53.4 53.5 53.6 53.7 Winchester 1973, p. 753.
- ↑ Procházka 1981, pp. 36, 39.
- ↑ Wheeler-Bennett 1963, pp. 306, 315.
- ↑ 56.0 56.1 56.2 Ádám 1999, p. 111.
- ↑ 57.0 57.1 57.2 R. 1947, p. 124.
- ↑ 58.0 58.1 58.2 Fenyö 1972, p. 11.
- ↑ Wheeler-Bennett 1963, p. 305.
- ↑ 60.0 60.1 Procházka 1981, p. 40.
- ↑ Wheeler-Bennett 1963, p. 315.
- ↑ 62.0 62.1 Ádám 1999, p. 112.
- ↑ 63.0 63.1 63.2 63.3 63.4 63.5 63.6 63.7 Procházka 1981, p. 41.
- ↑ 64.0 64.1 64.2 64.3 64.4 64.5 64.6 Sakmyster 1980, p. 215.
- ↑ Fenyö 1972, p. 1.
- ↑ 66.0 66.1 Juhász 1979, p. 145.
- ↑ 67.0 67.1 67.2 Magocsi 1990, p. 440.
- ↑ Juhász 1979, p. 147.
- ↑ Winchester 1973, p. 754.
- ↑ Procházka 1981, p. 42.
- ↑ 71.0 71.1 Magocsi 1990, p. 441.
- ↑ Dreisziger 1968, p. 98.
- ↑ 73.0 73.1 Mamatey & Luza 1973, p. 259.
- ↑ Mamatey & Luza 1973, p. 217.
- ↑ Winchester 1973, p. 755.
- ↑ Magocsi 1990, p. 442.
- ↑ 77.0 77.1 77.2 77.3 Magocsi 1990, p. 443.
- ↑ 78.0 78.1 Magocsi 1990, p. 444.
- ↑ R. 1947, p. 125.
- ↑ Magocsi 1990, p. 445.
บรรณานุกรม
[แก้]- Ablonczy, Balazs (2006). Pal Teleki (1879-1941): The Life of a Controversial Hungarian Politician (ภาษาอังกฤษ). East European Monographs. p. 338. ISBN 9780880335959.
- Ádám, Magda (1999). "The Munich Crisis and Hungary: the fall of the Versailles Settlement in Central Europe". Diplomacy and Statecraft (ภาษาอังกฤษ). 10 (2–3): 82-121. doi:10.1080/09592299908406126.
- Boucek, J. A. (1975). "Post Munich Czechoslovakia: A Few Historical Notes". Canadian Slavonic Papers. 17 (1): 44-64.
- Dreisziger, Nándor F. (1968). Hungary's way to World War II (ภาษาอังกฤษ). Hungarian Helicon Society. p. 239. OCLC 51889.
- Fenyö, Mario D. (1972). Hitler, Horthy and Hungary: German-Hungarian Relations, 1941-44 (ภาษาอังกฤษ). Yale University Press. p. 292. ISBN 9780300014686.
- Juhász, Gyula (1979). Hungarian foreign policy, 1919-1945 (ภาษาอังกฤษ). Akadémiai Kiadó. p. 356. ISBN 9789630518826.
- Magocsi, Paul Robert (1990). "Magyars and Carpatho-Rusyns: On the Seventieth Anniversary of the Founding of Czechoslovakia". Harvard Ukrainian Studies. 14 (1): 427-460.
- Mamatey, Victor S.; Luza, Radomir (1973). A history of the Czechoslovak Republic, 1918-1948 (ภาษาอังกฤษ). Princeton University Press. p. 534. ISBN 9780691052052.
- Procházka, Theodore (1981). The Second Republic: The disintegration of post-Munich Czechoslovakia, October 1938-March 1939 (ภาษาอังกฤษ). East European Monographs. p. 231. ISBN 9780914710844.
- R., A. (1947). "The Hungarian-Slovak Frontier". The World Today. 3 (3): 124-132.
- Sakmyster, Thomas L. (1980). Hungary, the Great Powers, and the Danubian Crisis, 1936-1939 (ภาษาอังกฤษ). University of Georgia Press. p. 304. ISBN 9780880333146.
- Wheeler-Bennett, John Wheeler (1963). Munich: Prologue to Tragedy (ภาษาอังกฤษ). Macmillan. p. 507. OCLC 744230.
- Winchester, Betty Jo (1973). "Hungary and the "Third Europe" in 1938". Slavic Review. 32 (4): 741-756.
อ่านเพิ่ม
[แก้]- Komjathy, Anthony. "The First Vienna Award (November 2, 1938)." Austrian History Yearbook 15 (1979): 130-156.
- Ward, James Mace. "The 1938 First Vienna Award and the Holocaust in Slovakia." Holocaust and Genocide Studies 29.1 (2015): 76-108.