การอนุญาโตตุลาการเวียนนาครั้งที่สอง
การผนวกดินแดนของฮังการีในช่วง ค.ศ. 1938-1941 โดยดินแดนที่ได้จากการอนุญาโตตุลาการจะแสดงเป็นสีเขียวอ่อนทางด้านขวามือ | |
วันลงนาม | 30 สิงหาคม ค.ศ. 1940 |
---|---|
ที่ลงนาม | เวียนนา |
ผู้ลงนาม | ไรช์เยอรมัน อิตาลี ฮังการี โรมาเนีย |
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ |
---|
ประวัติศาสตร์ฮังการี |
การอนุญาโตตุลาการเวียนนาครั้งที่สอง เป็นการระงับข้อพิพาททางดินแดนระหว่างฮังการีและโรมาเนียในการแบ่งภูมิภาคทรานซิลเวเนีย ซึ่งฮังการีสูญเสียไปภายหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งตามสนธิสัญญาทรียานง โดยมีนาซีเยอรมนีและฟาสซิสต์อิตาลีเป็นประเทศผู้ไกล่เกลี่ย จากผลลัพธ์ของคำตัดสินนี้ บังคับให้โรมาเนียส่งคืนดินแดนทางตอนเหนือของทรานซิลเวเนียแก่ฮังการีในช่วงฤดูร้อน ค.ศ. 1940 และทำให้ข้อพิพาททางดินแดนระหว่างสองประเทศดำเนินต่อไปตลอดช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง
ความพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ทำให้ฮังการีสูญเสียดินแดนส่วนใหญ่ในสมัยจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ซึ่งหนึ่งในนั้นคือทรานซิลเวเนียที่เสียไปให้กับโรมาเนีย ตามการสนับสนุนการแบ่งดินแดนของข้อตกลงในสนธิสัญญาแวร์ซาย การขยายอาณาเขตของโรมาเนียนำไปสู่ความกังวลในการรักษาบูรณภาพแห่งดินแดนในช่วงระหว่างสงครามและการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างโรมาเนียกับมหาอำนาจผู้ชนะสงครามโลก ซึ่งล้วนเป็นประเทศยุโรปที่สนับสนุนสนธิสัญญาแวร์ซายทั้งสิ้น ในทางกลับกัน ฮังการียังคงยืนหยัดในจุดยืนของการแก้ไขสนธิสัญญาอย่างเข้มข้น เพื่อฟื้นฟูทั้งหมดหรือบางส่วนของภูมิภาคที่สูญเสียไป
การขึ้นสู่อำนาจของฮิตเลอร์ใน ค.ศ. 1933 และการเติบโตของอำนาจฟาสซิสต์ในทวีปยุโรป สร้างแรงกระตุ้นที่มากขึ้นให้กับประเทศต่าง ๆ ที่ไม่พอใจกับบทบัญญัติหลังสงคราม โดยการฟื้นฟูดินแดนของประเทศผู้แพ้สงครามเริ่มต้นขึ้นในช่วงปลายทศวรรษ 1930 จากการแบ่งเชโกสโลวาเกียตั้งแต่ ค.ศ. 1938 จนถึง ค.ศ. 1939 ซึ่งทำให้ฮังการีสามารถกู้คืนดินแดนบางส่วนของสโลวาเกียและรูทีเนียกลับมาได้ อย่างไรก็ตามประเทศยังคงไม่สามารถฟื้นฟูดินแดนทรานซิลเวเนียได้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้ความตึงเครียดภายในคาบสมุทรบอลข่านเริ่มก่อตัวขึ้น
ระหว่างวิกฤตการณ์โรมาเนีย-โซเวียตในช่วงต้นฤดูร้อน ค.ศ. 1940 สตาลินได้ใช้ประโยชน์จากการทัพของเยอรมนีในทวีปยุโรป เพื่อยึดครองสาธารณรัฐบอลติกและภูมิภาคเบสซาเรเบียกับบูโควีนา สำหรับฮังการีซึ่งปรารถนากู้คืนดินแดนที่เสียไป จึงฉวยโอกาสอ้างสิทธิ์เหนือดินแดนต่าง ๆ ของโรมาเนียในช่วงวิกฤตการณ์ครั้งนี้เช่นกัน ทั้งสองประเทศพยายามร้องขอการไกล่เกลี่ยจากประเทศอักษะ แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ การเจรจาทวิภาคีระหว่างฮังการีและโรมาเนียที่มีขึ้นในกลางเดือนสิงหาคมไม่บรรลุผลลัพธ์ใด ๆ ในช่วงปลายเดือนเดียวกัน เยอรมนีได้เสนอการเจรจาทางดินแดนระหว่างสองประเทศ เนื่องจากความกังวลในการถูกกีดกันแหล่งน้ำมันและทรัพยากรในโรมาเนียและคาบสมุทรบอลข่าน สำหรับการสงครามและการรุกรานสหภาพโซเวียตในอนาคต
เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ณ พระราชวังเบลเวเดียร์ในกรุงเวียนนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของเยอรมนีและอิตาลีได้กำหนดผลลัพธ์ของการอนุญาโตตุลาการ โดยแบ่งพื้นที่พิพาทออกเป็นสองส่วนเท่า ๆ กัน ทำให้ต่อมาทั้งสองประเทศพยายามแข่งขันเพื่อเอาใจนาซีเยอรมนีเพื่อแก้ไขข้อตกลง และก่อให้เกิดปัญหาชนกลุ่มน้อยในทรานซิลเวเนียตลอดช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง อย่างไรก็ตาม ภายหลังความพ่ายแพ้ของฝ่ายอักษะ ทำให้พรมแดนถูกเปลี่ยนกลับเป็นสภาพเดิมก่อนสงคราม และโรมาเนียได้ครอบครองทรานซิลเวเนียอย่างสมบูรณ์อีกครั้ง
บริบท
[แก้]ข้อพิพาทเกี่ยวกับทรานซิลเวเนีย
[แก้]การผงาดขึ้นของไรช์ที่สามและฟาสซิสต์อิตาลีของมุสโสลินี ทำให้ฮังการีเห็นถึงความหวังในการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจากสนธิสัญญาทรียานง เริ่มมีการชุมนุมสนับสนุนอิตาลี-เยอรมนีสำหรับความทะเยอทะยานด้านดินแดนใน ค.ศ. 1936[1] ในตอนแรก การตอบสนองของอักษะโรม-เบอร์ลินต่อความปรารถนาของฮังการีนั้นไม่ชัดเจน: โดยส่งสัญญาณว่าฮังการีควรประเมินถึงความเป็นไปได้ในการแก้ไขสนธิสัญญาบางฉบับ แต่ไม่แสดงท่าทีว่าจะสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงพรมแดนของยุโรปในทันที[1] เยอรมนีแนะนำให้เน้นการอ้างสิทธิ์เหนือดินแดนเชโกสโลวาเกีย ซึ่งมีดินแดนที่เคยเป็นของฮังการี แต่ปฏิเสธข้อเรียกร้องที่เป็นไปได้ต่อโรมาเนีย[2] สำหรับอิตาลีเอง แม้ว่าเป็นที่ชื่นชอบของรัฐบาลฮังการีมากกว่า[2] แต่ทางโรมก็ยังคงปฏิเสธการแก้ปัญหาด้านดินแดนโดยกำลังของรัฐบาลฮังการี[3]
ในเวลาต่อมาฮังการีหยุดการเคลื่อนไหวสนับสนุนเป็นการชั่วคราว เพื่อให้บรรลุการฟื้นฟูทรานซิลเวเนียโดยทันที และมุ่งความสนใจไปที่การแก้ไขสถานการณ์ของชนกลุ่มน้อยฮังการีในโรมาเนีย พร้อมกับการยอมรับเล็ก ๆ โดยกลุ่มติดอาวุธชาวฮังการี[3] ในช่วงปลาย ค.ศ. 1937 ทางเบอร์ลินยังคงแนะนำรัฐบาลบูดาเปสต์ว่าควรรอเวลาเพื่อจัดการปัญหาทรานซิลเวเนียภายหลัง และมุ่งเน้นไปที่การเรียกร้องดินแดนจากเชโกสโลวาเกีย นโยบายต่างประเทศของฮังการีใน ค.ศ. 1938 ถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน: ส่วนหนึ่งสำหรับการใช้เยอรมนีเพื่อสนับสนุนการต่อต้านเชโกสโลวาเกีย และอีกส่วนสำหรับการใช้อิตาลีเพื่อฟื้นฟูทรานซิลเวเนียและต่อต้านโรมาเนีย[3]
การเจรจาทวิภาคีระหว่างฮังการีกับโรมาเนียในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1938 ยังคงมุ่งเน้นประเด็นไปที่ชนกลุ่มน้อยเป็นหลัก[4] การเยือนของมุสโสลินีกับนายกรัฐมนตรีฮังการีเบ-ลอ อิมเรดี ในฤดูร้อน ก็ไม่มีความคืบหน้าอย่างใดนอกจากสัญญาที่คลุมเครือสำหรับการสนับสนุนจากดูเช และไม่มีผลลัพธ์ปรากฏอย่างเป็นรูปธรรม[4] อย่างไรก็ตาม วิกฤตเชโกสโลวาเกียที่เลวร้ายลงในช่วงปลายฤดูร้อน นำไปสู่การเติบโตขึ้นของลัทธิปฏิรูปนิยมใหม่ฮังการี ซึ่งการบรรลุผลสำเร็จบางส่วนจากความทะเยอทะยานด้านดินแดนนั้นถูกมองว่าเป็นไปได้[5] การอ้างสิทธิ์ของฮังการีต่อเชโกสโลวาเกียตามความปรารถนาของฮิตเลอร์ ทำให้เขายอมรับข้อเรียกร้องของรัฐบาลบูดาเปสต์มากขึ้น และขณะเดียวกัน เกอริงก็ยืนยันกับเอกอัครราชทูตโรมาเนียว่าเยอรมนีไม่มีความต้องการเสริมกำลังพลในฮังการีแต่อย่างใด[5] ทว่าภายหลังการลงนามในความตกลงมิวนิก เยอรมนีได้พยายามจำกัดการมอบดินแดนแก่ฮังการี ทำให้รัฐบาลบูดาเปสต์ต้องจัดการเรื่องนี้ด้วยตนเอง[6] เยอรมนีเข้าไปมีส่วนร่วมกับการอนุญาโตตุลาการเวียนนาครั้งที่หนึ่งเพื่อยุติข้อพิพาทด้านดินแดนในเดือนพฤศจิกายน อันเป็นผลมาจากการได้รับการยืนยันจากอิตาลี[6] การอนุญาโตตุลาการเวียนนาครั้งนี้ได้ปลดปล่อยดินแดนรูทีเนีย และสโลวาเกียได้รับเอกราชภายใต้การอุปถัมภ์ของเยอรมนี นำไปสู่ความกังวลของนักการเมืองสายกลางฮังการีว่าประเทศจะสูญเสียเอกราชและตกเป็นเบี้ยล่างฝ่ายอักษะ[6] ขณะที่นักปฏิรูปนิยมฮังการีปรารถนาให้นโยบายต่างประเทศของบูดาเปสต์อยู่ภายใต้การควบคุมของเยอรมนีมากขึ้นเรื่อย ๆ[6]
ในช่วงต้น ค.ศ. 1939 ทัศนคติของฝ่ายอักษะยังคงต่อต้านการแก้ปัญหาโดยกำลังของข้อพิพาททรานซิลเวเนีย ซึ่งเป็นวิธีเดียวที่จะแก้ไขสถานการณ์ที่เป็นอยู่ตามความเห็นของรัฐบาลเยอรมนีและอิตาลี[7] ความสนใจในทรัพยากรของโรมาเนียและความพึงพอใจกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายในประเทศแบบเผด็จการนำไปสู่การสานสัมพันธ์กับฝ่ายอักษะ ซึ่งไม่ต้องการให้ทั้งสองประเทศเกิดความขัดแย้งในภูมิภาคที่มีข้อพิพาท[7] ชนกลุ่มน้อยเยอรมันในโรมาเนียต่อต้านลัทธิปฏิรูปนิยมใหม่ของฮังการี[8]
ในทางตะวันออกเฉียงเหนือ ฮังการีสามารถยึดครองรูทีเนียได้สำเร็จในวันที่ 15–16 มีนาคม ค.ศ. 1939 ทำให้เชโกสโลวาเกียสูญเสียดินแดนส่วนสุดท้ายของประเทศ[8] ซึ่งการยึดดินแดนดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนแถลงการณ์ของนักปฏิรูปนิยมเกี่ยวกับทรานซิลเวเนีย[8] รัฐบาลฮังการีที่นำโดยปาล แตแลกี เพิกเฉยต่อการรับประกันดินแดนโรมาเนียของฝรั่งเศสกับอังกฤษในเดือนเมษายน[9] และมีการประกาศสงครามพร้อมทั้งระดมกองทัพฮังการีบางส่วน แต่แตแลกียังคงรักษาสัญญาที่ให้ไว้กับฝ่ายอักษะว่าจะไม่เผชิญหน้ากับโรมาเนีย จึงมีการเจรจาทวิภาคีอีกครั้งกับรัฐบาลบูคาเรสต์ในเดือนสิงหาคม[9] ทางการฮังการีปฏิเสธข้อเสนอของโรมาเนียต่อการลงนามในสนธิสัญญาการคุ้มครองชนกลุ่มน้อยและการไม่รุกราน เนื่องจากฮังการีต้องการข้อตกลงสำหรับการส่งมอบดินแดนของโรมาเนีย[9]
การปะทุขึ้นของสงครามโลกครั้งที่สองสร้างผลกระทบอย่างหนักต่อสถานะของฮังการี กล่าวคือรัฐบาลบูดาเปสต์ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมในการบุกครองโปแลนด์ของเยอรมนี เนื่องจากรัฐบาลวอร์ซอเป็นพันธมิตรดั้งเดิมของฮังการี[10] ไม่กี่วันหลังการบุกครอง เยอรมนีและอิตาลีให้สัญญาณอย่างชัดเจนถึงการต่อต้านการโจมตีทรานซิลเวเนียของฮังการี[10] ไม่นานหลังจากนั้น ทางการฮังการีสัญญาอย่างเป็นทางการว่าจะไม่โจมตีโรมาเนียโดยปราศจากความยินยอมจากเยอรมนี[10] เพราะในความเป็นจริงแล้ว ฮังการีไม่มีกำลังทหารมากพอที่จะเผชิญหน้ากับประเทศเพื่อนบ้าน แม้ว่าจะมีแถลงการณ์เชิงข่มขู่ก็ตาม[10] เยอรมนีไม่ยินยอมให้การเปลี่ยนแปลงดินแดนขัดแย้งกับผลประโยชน์ของตนในยุโรปตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้ฝ่ายอักษะเข้าไปมีส่วนร่วมต่อข้อพิพาททรานซิลเวเนียและครอบงำนโยบายต่างประเทศของฮังการีให้ตกอยู่ภายใต้ฝ่ายอักษะอย่างชัดเจน[11] มีการแบ่งฝ่ายกันของบรรดาผู้นำของฮังการี ระหว่างผู้ที่เห็นว่าการร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับเยอรมนีเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้บรรลุการกู้คืนดินแดนที่สูญเสีย กับผู้ที่เชื่อว่าเยอรมนีจะแพ้สงครามและการเปลี่ยนแปลงพรมแดนอาจจะเกิดขึ้นเมื่อสิ้นสุดความขัดแย้งนี้[12]
ในช่วงปลาย ค.ศ. 1939 ถึงต้น ค.ศ. 1940 ความตึงเครียดระหว่างทั้งสองประเทศเพิ่มขึ้นเนื่องจากการระดมกำลังทหารบางส่วน[11] ในทรานซิลเวเนีย พลเรือนและทหารกว่าครึ่งล้านคนเริ่มสร้างแนวป้องกันเพื่อปกป้องการรุกรานของฮังการีที่อาจเกิดขึ้น[11] สำหรับฮังการีก็มีการเตรียมพร้อมอย่างต่อเนื่องสำหรับการโจมตีทรานซิลเวเนียและกิจกรรมทางการทูตเพื่อสร้างความชอบธรรม[13][14][11] ฝ่ายขวามูลวิวัติฮังการีกล่าวหาว่ารัฐบาลแตแลกีนิ่งเฉย[15] สื่อของทั้งสองประเทศต่างจดจ่ออยู่กับข้อพิพาทเกี่ยวกับทรานซิลเวเนียและมีการเผยแพร่อย่างกว้างขวางสำหรับมุมมองของทั้งสองประเทศ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการโฆษณาชวนเชื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มุ่งเป้าไปยังการโน้มน้าวใจอิตาลีและเยอรมนี[15]
การฟื้นฟูดินแดนดอบรูจา (Dobruja) ของบัลแกเรีย ซึ่งสนับสนุนโดยเยอรมนี และการผนวกเบสซาเรเบียของสหภาพโซเวียต ทำให้สถานะทางการเมืองของโรมาเนียอ่อนแอลงในช่วงต้น ค.ศ. 1940 ระบอบการปกครองของกษัตริย์คาโรลที่ 2 ประสบความล้มเหลวในการรับการสนับสนุนจากประชาชนและเผชิญกับการต่อต้านอย่างแข็งกร้าวจากฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา โดยส่วนหนึ่งเป็นเพราะความยากลำบากทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการระดมทหาร[16] ในช่วงครึ่งปีแรกของ ค.ศ. 1940 ความตึงเครียดระหว่างรัฐบาลบูดาเปสต์และบูคาเรสต์เริ่มทวีความรุนแรงขึ้น เนื่องจากความไม่ชัดเจนของเยอรมนีที่มีต่อทั้งสองประเทศ[16] เยอรมนียังคงส่งออกอาวุธให้กับทั้งสองฝ่ายและนำเข้าวัตถุดิบที่สำคัญเป็นการแลกเปลี่ยน ในขณะเดียวกันก็ยังคงไว้ซึ่งความสมดุลทางทหารระหว่างทั้งสองประเทศ[17] ขณะที่มุสโสลินีล้มเหลวในการสนับสนุนความทะเยอทะยานของฮังการีอย่างมีประสิทธิภาพ[18]
การใช้ประโยชน์จากความต้องการอาวุธของโรมาเนียและการได้รับอุปถัมภ์จากเยอรมนี ทำให้รัฐบาลเบอร์ลินสามารถลงนามในข้อตกลงทางเศรษฐกิจใหม่ที่น่าพอใจกับรัฐบาลบูคาเรสต์ได้เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ค.ศ. 1940[19] เพื่อให้ได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายอักษะสำหรับสถานะทางการเมือง ทั้งฮังการีและโรมาเนียจึงเพิ่มสัมปทานทางเศรษฐกิจและการเมืองแก่เบอร์ลินและโรม[19] ความพ่ายแพ้ของฝรั่งเศสในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1940 ทำให้ชนชั้นนำทางการเมืองของโรมาเนียเกิดตื่นตระหนก เพราะประเทศได้รับประกันการปกป้องผลประโยช์ด้านดินแดนจากอังกฤษกับฝรั่งเศสตั้งแต่ ค.ศ. 1919 แต่เมื่อฝรั่งเศสพ่ายแพ้ นักการเมืองชาวโรมาเนีย รวมทั้งกษัตริย์คาโรล จึงหาทาง "กระชับความสัมพันธ์" กับอักษะโรม-เบอร์ลินเป็นการเร่งด่วน และยินยอมผ่อนปรนแรงกดดันต่าง ๆ ทุกวิถีทาง
คำขาดของโซเวียตและการสูญเสียเบสซาเรเบียกับบูโควีนา
[แก้]จากชัยชนะของเยอรมนีในฝรั่งเศส ทำให้ผู้นำโซเวียตโจเซฟ สตาลิน ตัดสินใจผนวกรัฐบอลติกและส่วนหนึ่งของคาบสมุทรบอลข่านเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต[20]
ในวันที่ 17 มิถุนายน ค.ศ. 1940 ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ฝรั่งเศสขอสงบศึกจากเยอรมนี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของโซเวียตวยาเชสลาฟ โมโลตอฟ ได้แจ้งแก่เอกอัครราชทูตเยอรมนีฟ็อน แดร์ ชูเลินแบร์ค ว่าสหภาพโซเวียตได้ส่งนักการทูตพิเศษไปยังบรรดารัฐบอลติกเพื่อ "ยุติแผนการร้ายของอังกฤษ-ฝรั่งเศสที่พยายามหว่านความบาดหมางระหว่างเยอรมนีและสหภาพโซเวียตในรัฐบอลติก"[20] ในวันที่ 14 ลิทัวเนียได้รับคำขาดที่รุนแรงจากโซเวียต ซึ่งประเทศก็ยินยอมและไม่ได้ขัดขวางการยึดครองของโซเวียตแต่อย่างใด[21] ต่อมาในวันที่ 16-17 เอสโตเนียและลัตเวียก็ถูกยึดครองเช่นเดียวกัน[21] หลังการปราบปรามเสรีภาพสื่อ การสลายตัวของการเมืองทุกฝ่ายยกเว้นคอมมิวนิสต์ และการจับกุมผู้นำทางการเมืองหลัก ได้มีการเลือกตั้งในวันที่ 17 กรกฎาคม ทำให้เกิดรัฐสภาที่สนับสนุนคอมมิวนิสต์ซึ่งร้องขอให้ทั้งสามประเทศเข้าร่วมกับสหภาพโซเวียต และสำเร็จโดยสมบูรณ์ในต้นเดือนสิงหาคม[21]
หนึ่งวันหลังการยอมจำนนของฝรั่งเศสที่กงเปียญในวันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ. 1940 โมโลตอฟเข้าพบปะกับเอกอัครราชทูตเยอรมนีอีกครั้ง เพื่อแจ้งให้ทราบว่าเขาไม่สามารถรอได้อีกต่อไปสำหรับการยุติข้อพิพาทเกี่ยวกับเบสซาเรเบีย และทางโซเวียตยินดีที่จะใช้กำลังหากโรมาเนียไม่เห็นด้วย เพื่อมุ่งสู่ทางออกแห่งสันติภาพ[21][22] เขายังชี้แจงอีกว่าสหภาพโซเวียตได้อ้างสิทธิ์เหนือบูโควีนาเช่นกัน[21][22] เบสซาเรเบียกลายเป็นส่วนหนึ่งของโซเวียตตามกติกาสัญญาโมโลตอฟ–ริบเบินทร็อพ[23] แต่สำหรับบูโควีนานั้นไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของอดีตจักรวรรดิรัสเซียเดิม ทำให้ท้ายที่สุดสตาลินตกลงที่จะผนวกเพียงแค่ส่วนเหนือ[21][24] ซึ่งเหตุการณ์นี้ทำให้เกิดความตื่นตระหนกในกรุงเบอร์ลิน เนื่องจากการปิดล้อมทางทะเลของอังกฤษ โรมาเนียจึงกลายเป็นแหล่งน้ำมันหลักของเยอรมนี รวมทั้งแหล่งผลิตอาหารและสินค้าเกษตรรายใหญ่[25]
เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน รัฐบาลโซเวียตยื่นคำขาดต่อโรมาเนีย ซึ่งเรียกร้องให้มอบสองดินแดนดังกล่าว โดยให้เวลาหนึ่งวันในการตอบรับ[26][23][25] ทางเยอรมนีแนะนำให้รัฐบาลโรมาเนียยินยอมต่อข้อเรียกร้องนี้[26][27][25][24] ความพยายามของกษัตริย์คาโรลในการรวบรวมการสนับสนุนจากเยอรมนีล้มเหลว[28] เพราะฮิตเลอร์ได้ตกลงข้อเรียกร้องดินแดนทั้งสองแล้ว[26] คำแนะนำจากเยอรมนีได้รับการเห็นชอบจากคำแนะนำที่คล้ายกันของอิตาลี ตุรกี และรัฐบอลข่านอื่น ๆ[26] ในวันที่ 27 ฮังการีและบัลแกเรียแสดงเจตจำนงอ้างสิทธิ์ในดินแดนของตน[29][14] กษัตริย์คาโรลเตรียมพร้อมสำหรับการต่อต้านการรุกรานจากโซเวียตที่อาจเกิดขึ้นหากปฏิเสธข้อเรียกร้อง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากเสียงข้างน้อยในสภาระหว่างการประชุมเพื่อการตอบสนองของโรมาเนีย[26] ในการลงคะแนนเสียงครั้งที่สอง ผู้สนับสนุนน้อยลงกว่าครั้งก่อน เพราะการแสดงท่าทีของประเทศเพื่อนบ้านและรายงานของเสนาธิการทหารทั่วไปที่ชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปไม่ได้ที่จะต่อต้านการโจมตีครั้งใหญ่ของโซเวียต[26] ความพยายามในการเจรจากับโซเวียตล้มเหลว เนื่องจากโมโลตอฟปฏิเสธที่จะหารือเกี่ยวกับปัญหาใด ๆ ซึ่งเขาให้เวลารัฐบาลโรมาเนียจนถึง 14 นาฬิกา ของวันที่ 28 ในการตอบรับคำขาดนี้[30] กองทัพโรมาเนียจะต้องถอนกำลังออกจากดินแดนทั้งสองภายในสี่วันนับจากสิ้นสุดคำขาด[30] เมื่อไม่มีทางเลือกอื่น รัฐบาลโรมาเนียจึงตัดสินใจยอมแพ้และยอมรับข้อเรียกร้องของโซเวียต[30] ในวันที่ 28 กองทัพโซเวียตเริ่มเคลื่อนกำลังพลมายังดินแดนทั้งสอง[25] และสิ้นสุดปฏิบัติการในวันที่ 3 กรกฎาคม[30] โรมาเนียสูญเสียดินแดน 44,422 ตารางกิโลเมตร กับประชากร 3,200,000 คนในเบสซาเรเบีย และดินแดนอีก 5,396 ตารางกิโลเมตร กับประชากร 500,000 คนในบูโควีนา[30] ในขณะที่รัฐบาลมอสโกได้สนับสนุนการอ้างสิทธิ์เหนือทรานซิลเวเนียของฮังการี[23]
เยอรมนียังรักษาทรัพยากรที่สำคัญของโรมาเนียไว้ได้ เพื่อแลกกับการยอมจำนนชั่วคราวต่อการคุกคามของโซเวียต[25] ซึ่งสิ่งนี้สร้างความผิดหวังแก่ฮิตเลอร์เป็นอย่างมาก[31] เพราะน้ำมันในโรมาเนียมีความสำคัญยิ่งต่อกองทัพเยอรมัน ซึ่งถูกกีดกันจากการปิดล้อมภาคพื้นทวีปของอังกฤษ[31] ในวันที่ 1 กรกฎาคม โรมาเนียยกเลิกการรับประกันดินแดนที่อังกฤษให้ไว้[30] และขอให้ฮิตเลอร์ส่งทหารมาเพื่อป้องกันประเทศ[30][32] คำขอถูกปฏิเสธจากผู้นำเยอรมัน[27] กษัตริย์คาโรลพยายามทุกวิถีทางในการเข้าหาฮิตเลอร์เพื่อหลีกเลี่ยงการยินยอมต่อการอ้างสิทธิ์ดินแดนของฮังการีและบัลแกเรีย[30][28][27] ในวันที่ 4 กรกฎาคม สภารัฐมนตรีชุดใหม่ที่สนับสนุนเยอรมันได้ก่อตั้งขึ้น นำโดยอียอน กีกูร์ตู[30][32] ในวันเดียวกัน ประเทศแสดงความปรารถนาที่จะเข้าร่วมฝ่ายอักษะ และได้ถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกสันนิบาตชาติในวันที่ 11 กรกฎาคม[32][30] ทั้งยังมีการผ่านกฎหมายต่อต้านยิวอีกด้วย[32] ในวันที่ 15 กรกฎาคม ฮิตเลอร์ชี้แจงว่าทางเยอรมนีจะไม่รับประกันใด ๆ กับโรมาเนีย หากรัฐบาลบูคาเรสต์ยังไม่จัดการปัญหาเกี่ยวดินแดนของฮังการีและบัลแกเรีย[28][30]
การเจรจากับบัลแกเรีย
[แก้]กษัตริย์คาโรลล้มเลิกแผนการจัดการกับประเทศเพื่อนบ้านโดยปราศจากการสนับสนุนจากเยอรมนี[33] การเจรจากับบัลแกเรียเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม และนำไปสู่การลงนามในสนธิสัญญาที่กรายอวาเมื่อวันที่ 7 กันยายน ทำให้โรมาเนียสูญเสียดอบรูจาใต้ (7,412 ตารางกิโลเมตร) ซึ่งเป็นดินแดนที่ได้มาตั้งแต่ ค.ศ. 1912 ก่อนการลงนามในสนธิสัญญาบูคาเรสต์และการแลกเปลี่ยนประชากรของทั้งสองประเทศ โดยชาวบัลแกเรีย 65,000 คน ได้รับการอพยพไปทางใต้ และชาวโรมาเนีย 110,000 คน ไปทางเหนือ[33] ภูมิภาคนี้ไม่ได้รับความสนใจจากประชาชนเท่าใดนัก จึงทำให้เหตุการณ์นี้ถูกมองว่าไม่ใช่การสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่[33]
การเจรจากับฮังการี
[แก้]ในขณะเดียวกัน รัฐบาลฮังการีพิจารณาถึงความสำเร็จของโซเวียตในการใช้แรงกดดันทางทหารกับโรมาเนีย จึงมีแนวคิดที่จะทำแบบเดียวกันเพื่อฟื้นฟูทรานซิลเวเนีย[29][27] การฟื้นฟูดินแดนที่เสียไปในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเป็นเป้าหมายร่วมกันของรัฐบาลฮังการีทั้งหมดในช่วงระหว่างสงคราม[1] แม้ทางการบูดาเปสต์จะมีความปรารถนาที่จะโจมตีในช่วงวิกฤตการณ์โรมาเนีย-โซเวียต แต่ก็ต้องการกำลังสนับสนุนทางทหารของเยอรมนีด้วย ซึ่งได้ทำสัญญาทางเศรษฐกิจและการทหารต่าง ๆ ไว้[27][29] การเตรียมการทางทหารของฮังการีสิ้นสุดลงในปลายเดือนมิถุนายน[27] โดยรัฐบาลปฏิเสธที่จะระดมทหารตามที่เสนาธิการทหารทั่วไปร้องขอ[28] รัฐบาลพยายามหลีกเลี่ยงแรงกดดันจากกลุ่มมูลวิวัติและเลือกที่จะขอเจรจากับบูคาเรสต์ ซึ่งเชื่อมั่นว่ามีความเป็นไปได้ที่จะได้รับสัมปทานดินแดนโดยไม่ต้องใช้กำลัง เนื่องจากความอ่อนแอของกษัตริย์คาโรลและความเต็มพระทัยของพระองค์ที่จะให้สัมปทานดินแดนตามสัญชาติ[34] ในโรมาเนีย กษัตริย์คาโรลมอบอำนาจให้กับฝ่าวขวามูลวิวัติมากขึ้นเรื่อย ๆ กลุ่มผู้พิทักษ์เหล็กเข้าสู่สภารัฐมนตรีเป็นครั้งแรก[34] เอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำบูดาเปสต์ระบุว่าเบอร์ลินปฏิเสธถึงความเป็นไปได้ในการุกรานโรมาเนียในวันที่ 2–4 กรกฎาคม เนื่องจากรัฐบาลเยอรมนีทราบเรื่องเกี่ยวกับการเตรียมพร้อมทางทหารของฮังการี[27]
ระหว่างการประชุมไตรภาคี แตแลกีประสบความสําเร็จในการเสนอการจัดการทรานซิลเวเนียในช่วงวิกฤตการณ์โซเวียต-โรมาเนียในเดือนมิถุนายน[35] ฮิตเลอร์ยอมรับคำเสนอของฮังการีอย่างคลุมเครือระหว่างการประชุมกับคณะผู้แทนที่มิวนิกเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม[36] แต่เยอรมนียังคงปฏิเสธการสนับสนุนการโจมตีของฮังการีที่อาจเกิดขึ้น[35][36] ซึ่งตามความเห็นของฮิตเลอร์ เขามองว่าควรแก้ปัญหาอย่างค่อยเป็นค่อยไป[37] ผู้นำอักษะไม่ต้องการความขัดแย้งในคาบสมุทรบอลข่าน ซึ่งทำให้พวกเขาขาดแคลนวัตถุดิบที่จำเป็นสำหรับการผลิตอาวุธสงคราม ดังนั้นผู้นำอักษะจึงแนะนำให้มีการเจรจากันระหว่างสองประเทศ[38][36] ไม่กี่วันต่อมาด้วยข้อตกลงของมุสโสลินี ฮิตเลอร์จึงแนะนำกษัตริย์คาโรลให้ "ปรองดอง" กับฮังการีและบัลแกเรีย พร้อมทั้งยอมรับการแบ่งแยกดินแดนซึ่งไม่อาจหลีกเลี่ยงได้[35][39]
คณะผู้แทนโรมาเนียขอเข้าพบฮิตเลอร์เพื่อถ่วงดุลอิทธิพลของฮังการีในที่ประชุม โดยการสนทนานี้มีการใช้ภาษาที่อ่อนน้อมและทางโรมาเนียได้แสดงความเต็มใจที่จะยกดินแดน 14,000 ตารางกิโลเมตร ให้แก่ฮังการี (คิดเป็น 0.114 % ของดินแดนฮังการีในอดีต[40] พร้อมทั้งยินยอมการแลกเปลี่ยนประชากรของทั้งสองประเทศ[41] เยอรมนีและอิตาลีเสนอหลักประกันร่วมกันของพรมแดนโรมาเนีย เพื่อยุติข้อพิพาททรานซิลเวเนีย[41] ฮิตเลอร์ได้กล่าวว่าความไม่พอใจของโรมาเนียต่อฮังการีถือเป็นภัยคุกคามต่อผลประโยชน์ของเยอรมนีด้วย[41] ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ฮิตเลอร์กำลังผ่อนปรนข้อตกลงกับโรมาเนียเพื่อเอาใจฮังการี[42] ต่อมาผู้แทนโรมาเนียได้เข้าพบกับมุสโสลินีแต่ผลลัพธ์ที่ได้ยังคงไม่ต่างจากเดิม[42]
ฮิตเลอร์ปฏิเสธที่จะไกล่เกลี่ยให้กับสองประเทศ[42] และได้เสนอการเจรจาโดยตรงกับทั้งสอง[42][39] ซึ่งการเจรจาอย่างเป็นทางการครั้งแรกจัดขึ้นที่ดรอเบตา-ตูร์นูเซเวรินเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม[40][43][44][33] แต่เกิดความล่าช้าเพราะความพยายามของโรมาเนียที่จะหลีกเลี่ยงการยอมจำนนด้วยการสนับสนุนของเยอรมนี ซึ่งรัฐบาลบูคาเรสต์ไม่ยอมรับ[45] การเจรจาในครั้งนี้มุ่งเน้นประเด็นเกี่ยวกับภูมิภาคที่ถูกสาธารณชนโรมาเนียมองว่าเป็น "แหล่งกำเนิด" ของประเทศ ทำให้การเจรจาในครั้งนี้มีความซับซ้อนมากกว่าการเจรจาในดอบรูจาอย่างยิ่ง[33] ฮังการีได้เสนอข้อเรียกร้องของตนก่อนการเจรจาจะเริ่มขึ้น ซึ่งท้ายที่สุดก็ถูกปัดตกไปภายใต้แรงกดดันของเยอรมนี และการรณรงค์โฆษณาชวนเชื่อของทั้งสองประเทศยังมีส่วนทำให้การเจรจาทวิภาคีล่าช้าออกไปด้วย[46] รัฐบาลกีกูร์ตูกำลังเผชิญกับแรงต่อต้านจากสาธารณชนที่เพิ่มขึ้นต่อการสูญเสียทรานซิลเวเนีย ในช่วงต้นเดือนสิงหาคม นักการเมืองโรมาเนียต่างพากันลงนามในจดหมายประท้วงต่อต้าน "นโยบายยอมจำนน" ของรัฐบาลเกี่ยวกับปัญหาทรานซิลเวเนีย[46] ชาวเยอรมันกลุ่มน้อยในภูมิภาคก็ต่อต้านการแบ่งแยกดินแดนอย่างรุนแรงเช่นกัน[46] รัฐบาลเยอรมนีกังวลว่าโรมาเนียอาจตอบโต้ชนกลุ่มน้อยนี้เนื่องจากบทบาทของเยอรมนีในการแบ่งแยกภูมิภาค[47]
แม้จะมีข้อตกลงระหว่างรัฐบาลทั้งสองเกี่ยวกับความจำเป็นในการกำหนดพรมแดนตามเกณฑ์ชาติพันธุ์ในเดือนสิงหาคม แต่ทางฮังการีกลับเสียเปรียบเทียบเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากประชากรชาวฮังการี (ตามข้อมูลของโรมาเนียใน ค.ศ. 1938 และของฮังการีใน ค.ศ. 1941) เป็นชนกลุ่มน้อยในดินแดนทรานซิลเวเนียทั้งหมด[48] ดังนั้นรัฐบาลบูดาเปสต์จึงส่งผู้แทนเพื่อแสดงเจตจำนงไม่เรียกร้องทรานซิลเวเนียใต้ แต่ต้องการเพียงดินแดนเซแกย์ (Székely) และพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างดินแดนดังกล่าวกับบูดาเปสต์เท่านั้น[40]
คณะผู้แทนโรมาเนียเสนอการแบ่งแยกดินแดนเพียงเล็กน้อยพร้อมกับการแลกเปลี่ยนประชากร[33][49] ซึ่งคณะผู้แทนฮังการีที่ประสงค์ให้คืนดินแดนทรานซิลเวเนียสองในสามนั้นยอมรับไม่ได้[43][44] ความต้องการอย่างสูงของฮังการีสร้างความประหลาดใจแก่โรมาเนียและเยอรมนี[43] หลังการประชุมผ่านไปเกือบครึ่งชั่วโมงและยังหาข้อสรุปที่ลงรอยไม่ได้ คณะผู้แทนจึงปิดการประชุม[43] วันถัดมา ทางบูดาเปสต์ส่งข้อความถึงบูคาเรสต์ โดยเสนอการแบ่งส่วนทรานซิลเวเนียเท่า ๆ กัน ซึ่งโรมาเนียก็ยอมรับไม่ได้เช่นกัน[50]
เมื่อการเจรจายุติลงในวันที่ 19 สิงหาคม บรรดาคณะผู้แทนจึงเดินทางกลับประเทศเพื่อปรึกษากับรัฐบาลของตน[49] ทั้งสองประเทศร้องขอการไกล่เกลี่ยจากเยอรมนีอีกครั้ง[50] ซึ่งถูกปฏิเสธเช่นเคย[44] เมื่อการเจรจาดำเนินอีกครั้งในวันที่ 24 และไม่มีฝ่ายใดยินยอม คณะผู้แทนฮังการีจึงยุติการเจรจา[51][33][52][49] หลังจากนั้น โรมาเนียได้เสนอที่จะมอบดินแดนเป็น 25,000 ตารางกิโลเมตร แต่ฮังการีเรียกร้องเพิ่มขึ้นอีกเป็นสองเท่า[52] ทำให้เยอรมนีและอิตาลีเชื่อว่าฮังการีจะโจมตีโรมาเนียในอีกเร็ววัน[52]
ในขณะเดียวกัน ความตึงเครียดทางทหารเริ่มทวีความรุนแรงขึ้นกับพรมแดนของโรมาเนียกับสหภาพโซเวียตและฮังการี[33] มีการรวมพลครั้งแรกของกองทัพโรมาเนียบริเวณแม่น้ำปรุต[53] ขณะที่ฮังการีรวบรวมกองทหารใกล้กับชายแดนโรมาเนีย[33] ในส่วนของกองทัพโรมาเนีย ประกอบด้วย 22 กองพันในมอลเดเวียและบูโควีนา กับอีก 8 กองพันในทรานซิลเวเนีย[33] สถานการณ์ภายในฮังการีและโรมาเนียก็ตึงเครียดมากเช่นกัน[54] แตแลกีรู้สึกหมดหวังกับสถานการณ์ในตอนนี้อย่างยิ่ง การยุติความตึงเครียดกับโรมาเนียนั้นมีความเป็นไปได้หลักเพียงสองประการ คือถ้าไม่โจมตีโรมาเนีย (ซึ่งผลลัพธ์อาจไม่เป็นที่พอใจ) ก็ทำตามแนวทางการแก้ไขปัญหาของเยอรมนี[53]
ความเป็นไปได้ในการปะทุของสงครามฮังการี-โรมาเนีย สร้างความกังวลต่อฮิตเลอร์อย่างมากในการจัดหาแหล่งน้ำมัน[55] สำหรับกองทัพเยอรมันและการรุกรานโซเวียตในอนาคต[56][57][31] เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม หลังสถานการณ์ที่ตึงเครียดมากขึ้น เนื่องจากความล้มเหลวของการเจรจาทวิภาคีที่ฝ่ายเยอรมันส่งเสริม ฮิตเลอร์จึงออกคำสั่งให้หลายฝ่ายเตรียมพร้อมที่จะยึดแหล่งน้ำมันของโรมาเนียในวันที่ 1 กันยายน[31][58][53] เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม ฮิตเลอร์ได้ส่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศไรช์และอิตาลีเข้าพบรัฐมนตรีของฮังการีและโรมาเนียในกรุงเวียนนา[55] และพยายามยุติวิกฤตและหลีกเลี่ยงสงคราม[31][56] ซึ่งวัตถุประสงค์ของผู้นำเยอรมันคือเพื่อหลีกเลี่ยงการสู้รบและรับประกันการจัดหาทรัพยากรที่สำคัญในภูมิภาค[56] ฝ่ายอักษะได้เชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศฮังการีและโรมาเนียเข้าร่วมการอนุญาโตตุลาการ[59][55]
การอนุญาโตตุลาการ
[แก้]ฮิตเลอร์กำหนดใช้เค้าโครงพรมแดนทรานซิลเวเนียใหม่[60][55] โดยการรวมข้อเสนอจากผู้เชี่ยวชาญชาวเยอรมันและข้อเสนอทางดินแดนที่ต้องการของฮังการี[56] ฮิตเลอร์พยายามสร้างความพึงพอใจแก่ฮังการี โดยที่ไม่กระทบผลประโยชน์และแหล่งน้ำมันในโรมาเนีย แต่ในขณะเดียวกันก็พยายามสร้างความเข้าใจผิดให้กับทั้งสองประเทศ ภายหลังการปรับเปลี่ยนผลลัพธ์เพื่อให้ตรงตามผลประโยชน์ของเยอรมนี[56] ผู้แทนฝ่ายอิตาลีมีบทบาทรองในการเจรจาและการร่างเส้นพรมแดนครั้งนี้[60] ทางฮิตเลอร์ส่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศไรช์เข้ารับทราบถึงรายละเอียดของการอนุญาโตตุลาการ[58] ทำให้ในวันที่ 29 สิงหาคม ริบเบินทร็อพและชิอาโนได้รับการแต่งตั้งเป็นตัวแทนของฝ่ายอักษะ[61][55] ซึ่งในเวลาเดียวกันนั้น กองกำลังแวร์มัคท์ก็พร้อมที่จะเข้าแทรกแซงในกรณีที่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งปฏิเสธการเจรจานี้[55]
การเจรจาเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ณ พระราชวังเบลเวเดียร์ ซึ่งริบเบินทร็อพและชิอาโนสามารถบรรลุข้อตกลงระหว่างตัวแทนของฮังการีและโรมาเนียได้อย่างราบรื่น โดยใช้ความพยายามเพียงน้อยนิดเท่านั้น[31][56] ทางรัฐมนตรีต่างประเทศโรมาเนียพยายามเสนอข้อคัดค้านของเขาในที่ประชุม แต่กลับได้รับคำตอบจากฝ่ายอักษะว่าทางเลือกของโรมาเนียมีเพียงสองทาง คือการยอมรับข้อเสนอของฮิตเลอร์หรือไม่ก็เผชิญหน้าทางทหารกับฮังการี ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากทั้งเบอร์ลินและโรมด้วย[56] การแลกเปลี่ยนประชากรและการแก้ไขพรมแดนที่โรมาเนียต้องการนั้นถูกปฏิเสธ[62] ริบเบินทร็อพได้เสนอการรับประกันพรมแดนใหม่จากเยอรมนี[63][62] ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ไม่มีประเทศอื่นใดในภูมิภาคนี้ได้รับ[56] เพื่อให้โรมาเนียยอมรับข้อตกลงอย่างรวดเร็ว[63] โดยทางรัฐสภาโรมาเนียมีการหารือกันและตัดสินใจยอมรับเงื่อนไขดังกล่าวของเยอรมนี[64][62] ถึงแม้จะไม่ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับดินแดนที่ต้องสูญเสียและยังต้องเผชิญกับการต่อต้านของพรรคเก่าแก่ก็ตาม[65] ส่วนด้านผู้แทนฮังการีเองก็ถูกบีบบังคับให้ยอมรับคำตัดสินของอนุญาโตตุลาการนี้อย่างไม่มีเงื่อนไข[63] ริบเบินทร็อพได้กล่าวคำข่มขู่ฮังการีถึงทัศนคติไม่พอใจเยอรมนี ทำให้ทางบูดาเปสต์มีการหารือกันและตอบรับยินยอมคำตัดสินในเช้าวันต่อมา[66]
เงื่อนไขของการอนุญาโตตุลาการเวียนนาถูกนำเสนอในห้องสีทองของพระราชวังเบลเวเดียร์เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 30 สิงหาคม[62][31] รัฐมนตรีต่างประเทศของโรมาเนียเป็นลม เมื่อมีการแสดงแผนที่พรมแดนใหม่[62] และต้องใช้เวลาพักหนึ่งกว่าที่เขาจะฟื้นขึ้นและมาลงนามในคำมั่นสัญญา[31][64] ฮังการีได้รับดินแดนเกือบครึ่งหนึ่งของทรานซิลเวเนีย[62] (43,492 ตารางกิโลเมตร[หมายเหตุ 1] ซึ่งคิดเป็นสองในห้าของดินแดนที่เสียไปตามสนธิสัญญาทรียานง[67]) และเป็นดินแดนทางเหนือที่มีชาวฮังการีส่วนใหญ่อาศัยกระจุกตัวอยู่ แต่ก็มีชาวโรมาเนียจำนวนมากที่กลายเป็นพลเมืองของฮังการีด้วยเช่นกัน (มีการคาดกันว่า จากประชากรทั้งหมด 2,600,000 คน[65][68] ที่กลายเป็นพลเมืองของฮังการี ประชากรราวหนึ่งล้านคนเป็นชาวโรมาเนีย[69][70][71]) อย่างไรก็ตาม ประชากรในทรานซิลเวเนียมีชาติพันธุ์ปะปนกันเป็นจำนวนมาก ทำให้ชาวฮังการีประมาณครึ่งล้านคนยังคงอยู่ในฝั่งโรมาเนีย[67][71]
สำหรับส่วนที่เหลืออยู่ของทรานซิลเวเนียยังคงมีความสำคัญอย่างมากต่อเศรษฐกิจโรมาเนีย[70] ในขณะที่ฮังการีได้ครอบครองเทือกเขาคาร์เพเทียน ระบบคมนาคมทางรางของดินแดนใหม่ฮังการียังคงผ่านทรานซิลเวเนียใต้[71] ชนกลุ่มน้อยเยอรมันยังคงอาศัยอยู่ในโรมาเนีย[70] โรมาเนียได้รับการรับประกันจากเยอรมนีและอิตาลีสำหรับดินแดนส่วนที่เหลือ[65] (ยกเว้นแต่ดอบรูจา)[72][62][69]
| ||||||||||||
|
จากการประมาณการของฮังการี ได้ระบุจำนวนประชากรชาวโรมาเนียในดินแดนใหม่ขัดแย้งกับข้อมูลของทางการโรมาเนียใน ค.ศ. 1930 และ 1940 แต่ข้อมูลของทั้งสองฝ่ายไม่ได้มีความแตกต่างกันมากนัก[68][หมายเหตุ 2]
การปฏิบัติตามคำชี้ขาดในกระบวนการอนุญาโตตุลาการเวียนนาครั้งที่สองถูกกำหนดไว้เป็นเวลาสิบสี่วัน เพื่อดำเนินการแบ่งภูมิภาค สร้างความเท่าเทียมกันของชนกลุ่มน้อย และการแทรกแซงอำนาจของฝ่ายอักษะในการระงับข้อพิพาทที่อาจเกิดขึ้นจากการยื่นคำคัดค้าน[74]
ผลที่ตามมา
[แก้]สหภาพโซเวียตเป็นหนึ่งในประเทศที่ไม่ยอมรับการอนุญาโตตุลาการนี้ เนื่องจากถูกกีดกันการมีส่วนร่วม ซึ่งนี่เป็นรอยร้าวแรกที่ปรากฏขึ้นระหว่างความสัมพันธ์ของเยอรมนีและโซเวียต โดยกินเวลาตลอดฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. 1940[72][74] รัฐบาลมอสโกแสดงท่าทีต่อต้านการอนุญาโตตุลาการ สัญญาการรับประกันดินแดน[75] และการส่งทหารมายังโรมาเนีย ซึ่งทางโซเวียตมองว่าเป็นการละเมิดข้อบัญญัติของสนธิสัญญาที่ให้ไว้[76][72]
ในฮังการีที่ขณะนี้ลัทธิปฏิรูปนิยมเริ่มแพร่หลายมากขึ้น ข้อตกลงอนุญาโตตุลาการสร้างความนิยมอย่างมากต่อระบอบผู้สำเร็จราชการของมิกโลช โฮร์ตี ทำให้การเติบโตของลัทธิฟาสซิสต์ที่นำโดยแฟแร็นตส์ ซาลอชี เป็นไปได้ยากจนกระทั่งช่วงปลายสงครามโลก เนื่องจากการยึดครองประเทศของกองทัพเยอรมัน อย่างไรก็ตาม ฮังการียังคงต้องตอบแทนเยอรมนีสำหรับการช่วยฟื้นฟูทรานซิลเวเนีย: โดยการปล่อยตัวผู้นำฟาสซิสต์ซาลอชีให้เป็นอิสระ[77] มีการร่างกฎหมายใหม่เพื่อต่อต้านชาวยิว[78] การมอบอภิสิทธิ์ให้กับชนกลุ่มน้อยเยอรมัน (ภายใต้การควบคุมของนาซี)[79][78] เพิ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจ[80][78] และอนุญาตให้ย้ายกองทหารประจำการเยอรมันไปยังโรมาเนีย เพื่อป้องกันแหล่งน้ำมันตามคำร้องขอของรัฐบาลโรมาเนีย[81] ฮังการีลงนามในกติกาสัญญาไตรภาคีเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน[81][82] หลังเดินทางกลับจากเวียนนา แตแลกีได้ประกาศลาออก โดยให้เหตุผลว่าเขาไม่พอใจกับความดื้อดึงและการแทรกแซงกิจการของรัฐโดยกองทัพ[หมายเหตุ 3] และจากการที่ฮังการีต้องพึ่งพาเยอรมนีมากขึ้นเรื่อย ๆ[80] ทำให้ในทางปฏิบัติแล้ว ฮังการีแปรเปลี่ยนสภาพเป็นเสมือนรัฐกึ่งอารักขาของเยอรมนี[82][84] โดยตลอดช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐบาลบูดาเปสต์พบว่าตนกำลังแข่งขันกับบูคาเรสต์เพื่อความโปรดปรานของเยอรมนี ที่อาจนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงพรมแดนทรานซิลเวเนียในภายหลังได้[71]
-
การเสียดินแดนของโรมาเนียในฤดูร้อน ค.ศ. 1940 นำไปสู่การสละราชสมบัติของกษัตริย์คาโรลที่ 2 และการก่อตั้งรัฐกองทัพแห่งชาติของนายพลอียอน อันตอเนสกู
-
แผนที่แสดงการขยายอาณาเขตของฮังการีระหว่าง ค.ศ. 1938 ถึง ค.ศ. 1941 โดยดินแดนทรานซิลเวเนียเหนือที่ได้รับจากการอนุญาโตตุลาการเวียนนาครั้งที่สองจะปรากฏเป็นสีเขียวทางด้านขวาของแผนที่
ในโรมาเนีย การสูญเสียดินแดนจำนวนมากนำไปสู่การสละราชสมบัติของกษัตริย์คาโรลที่ 2 เมื่อวันที่ 6 กันยายน[65][74][71] พร้อมทั้งเจ้าชายมีไฮได้รับการสถาปนาเป็นกษัตริย์สืบต่อมา และการขึ้นสู่อำนาจของนายพลอียอน อันตอเนสกู[79][31][69] ความเป็นปรปักษ์ของพรรคเก่าแก่กับกองกำลังผู้พิทักษ์เหล็กต่อการปกครองแบบเผด็จการของราชวงศ์ และการสูญเสียดินแดนที่สั่งสมมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้พระมหากษัตริย์จำต้องพยายามพึ่งพานายพลอันตอเนสกู ถึงแม้ว่าเขาจะไม่เป็นมิตรและดูหมิ่นระบอบกษัตริย์ก็ตาม[85] เนื่องจากนายพลอันตอเนสกูมีความสัมพันธ์อันดีกับพรรคเก่าแก่และกลุ่มผู้พิทักษ์เหล็กอยู่เดิมแล้ว และด้วยการสนับสนุนของเยอรมนี[86] ทำให้เขาสามารถบีบบังคับให้กษัตริย์คาโรลสละราชสมบัติได้[87] จากการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ในทวีปยุโรป ทั้งความพ่ายแพ้ทางทหารของฝรั่งเศส การขับไล่สหราชอาณาจักร และความเป็นปรปักษ์กับสหภาพโซเวียต ทำให้อันตอเนสกูเชื่อมั่นในชัยชนะของเยอรมนีและความจำเป็นในการตกลงกับฮิตเลอร์เพื่อรับประกันอนาคตของโรมาเนีย[71] ผู้นำเยอรมนีต้องการให้อันตอเนสกูเป็นผู้นำโรมาเนียเพื่อเป็นหลักประกันถึงความมั่นคงของโรมาเนีย ซึ่งจำเป็นสำหรับยุทธศาสตร์สงครามของรัฐบาลนาซี[86] ประเทศโรมาเนียกลายเป็นรัฐเผด็จการทหารเมื่อวันที่ 5 กันยายน ด้วยการยินยอมของกษัตริย์คาโรล[88] พระองค์ได้สละราชสมบัติในวันที่ 6[89] และเสด็จลี้ภัยออกนอกประเทศในวันรุ่งขึ้น[90]
การที่โรมาเนียยินยอมคำตัดสินนั้นไม่เพียงแค่ได้รับการประกันพรมแดนจากเยอรมนีเท่านั้น แต่ยังส่งผลให้นโยบายต่างประเทศและเศรษฐกิจของโรมาเนียตกอยู่ภายใต้การครอบงำต่อความประสงค์ด้านสงครามของเยอรมนี[80][65] ประเทศสูญเสียดินแดนประมาณหนึ่งในสาม (99,790 ตารางกิโลเมตร) และประชากรอีกจำนวนมาก (6,161,317 คน)[65]
ทางด้านเยอรมนีที่ขณะนี้กำลังจัดหาแหล่งน้ำมันในปลอเยชต์ ได้เริ่มปฏิบัติการทางทหาร[91][72] เพื่อปกป้องและควบคุมแหล่งน้ำมันในวันที่ 8 ตุลาคม[76][92] ฮิตเลอร์ออกคำสั่งตระเตรียมแนวรบด้านใต้สำหรับการโจมตีสหภาพโซเวียตในอนาคต[72] พร้อมทั้งควบคุมแม่น้ำดานูบและการจัดหาทรัพยากรในคาบสมุทรบอลข่าน ซึ่งทำให้เยอรมนีเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์จากวิกฤตนี้[75][71]
อย่างไรก็ตาม ทั้งสองประเทศยังคงไม่พอใจต่อผลลัพธ์ของการอนุญาโตตุลาการ[79][71] ทำให้ข้อพิพาททรานซิลเวเนียดำเนินต่อไปตลอดช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง[93][74] การที่อันตอเนสกูเดินทางเยือนฮิตเลอร์เพื่อต้องการเข้าร่วมฝ่ายอักษะในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1941 เป็นการสื่อถึงความตั้งใจของเขาที่จะพยายามแก้ไขคำตัดสิน[92] ทั้งสองประเทศพยายามอย่างไร้ผลที่จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเบอร์ลินในการแก้ไขสนธิสัญญาเพื่อผลประโยชน์ของพวกเขา[93] ในส่วนของฮิตเลอร์เองก็ใช้การแข่งขันของทั้งสองประเทศเพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ของเยอรมนีเช่นกัน[93][77] ใน ค.ศ. 1943 มีการเจรจาทวิภาคีอีกครั้งเพื่อยุติปัญหาพิพาททางดินแดน แต่ก็ล้มเหลวเช่นเคย[94]
ผลลัพธ์ของอนุญาโตตุลาการยังก่อให้เกิดปัญหาทางวัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อยด้วย[71] โดยรัฐบาลทั้งสองประเทศกำหนดมาตรการเลือกปฏิบัติทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจต่อชนกลุ่มน้อย[93] ในส่วนของรัฐบาลฮังการีซึ่งกำลังให้ความสำคัญกับดินแดนใหม่นั้น ได้ออกมาตรการที่ล่วงเกินต่อประเพณีท้องถิ่นและมีการเลือกปฏิบัติต่อชาวโรมาเนียและชาวยิว[82] ซึ่งสำหรับโรมาเนียเองก็มีการบังคับใช้มาตรการกดขี่ชาวฮังการีในภูมิภาคเช่นกัน[82] นำไปสู่การลี้ภัยของผู้คนจำนวนมาก และทำให้เศรษฐกิจของภูมิภาคหยุดชะงักชั่วขณะ[82]
การสงบศึกของโรมาเนียเมื่อวันที่ 12 กันยายน ค.ศ. 1944 เป็นเหตุให้ความตกลงในการอนุญาโตตุลาการเวียนนาเป็นโมฆะและฮังการีถูกบังคับให้ส่งคืนทรานซิลเวเนียเหนือแก่โรมาเนีย แม้ว่าการตัดสินขั้นสุดท้ายเกี่ยวกับดินแดนจะถูกเลื่อนออกไปจนกว่าจะมีการลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพก็ตาม[95]
หมายเหตุ
[แก้]- ↑ Hitchins ระบุตัวเลขที่แตกต่างกันเล็กน้อยคือ 42,243 ตารางกิโลเมตร[65] ส่วน Vágo ระบุว่าเป็น 43,046 ตารางกิโลเมตร[64]
- ↑ การประมาณการของโรมาเนียใน ค.ศ. 1940 มีความแตกต่างจากของฮังการีอยู่ร้อยละ 2-3: โดย 50.3 % เป็นชาวโรมาเนีย, 37.1 % เป็นชาวฮังการี, 2.8 % เป็นชาวเยอรมัน, และ 5.8 % เป็นชาวยิว[68]
- ↑ กองบัญชาการทหารสูงสุดได้แจ้งให้ฝ่ายเยอรมนีทราบถึงความปรารถนาของฮังการีโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งแตแลกีต้องการที่จะเจรจาเฉพาะกับโรมาเนียเท่านั้น เพื่อไม่ให้ประเทศติดพันกับไรช์เยอรมันมากเกินไป[83]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 Vágo 1969, p. 415.
- ↑ 2.0 2.1 Vágo 1969, p. 416.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 Vágo 1969, p. 417.
- ↑ 4.0 4.1 Vágo 1969, p. 418.
- ↑ 5.0 5.1 Vágo 1969, p. 419.
- ↑ 6.0 6.1 6.2 6.3 Vágo 1969, p. 420.
- ↑ 7.0 7.1 Vágo 1969, p. 421.
- ↑ 8.0 8.1 8.2 Vágo 1969, p. 422.
- ↑ 9.0 9.1 9.2 Vágo 1969, p. 423.
- ↑ 10.0 10.1 10.2 10.3 Vágo 1969, p. 424.
- ↑ 11.0 11.1 11.2 11.3 Vágo 1969, p. 425.
- ↑ Dreisziger 1968, p. 124.
- ↑ Dreisziger 1968, p. 125.
- ↑ 14.0 14.1 Dreisziger 1968, p. 126.
- ↑ 15.0 15.1 Vágo 1969, p. 426.
- ↑ 16.0 16.1 Vágo 1969, p. 427.
- ↑ Vágo 1969, p. 429.
- ↑ Vágo 1969, p. 428.
- ↑ 19.0 19.1 Vágo 1969, p. 430.
- ↑ 20.0 20.1 Shirer 1990, p. 793.
- ↑ 21.0 21.1 21.2 21.3 21.4 21.5 Shirer 1990, p. 794.
- ↑ 22.0 22.1 Nekrich, Ulam & Freeze 1997, p. 180.
- ↑ 23.0 23.1 23.2 Dreisziger 1968, p. 127.
- ↑ 24.0 24.1 Nekrich, Ulam & Freeze 1997, p. 181.
- ↑ 25.0 25.1 25.2 25.3 25.4 Shirer 1990, p. 795.
- ↑ 26.0 26.1 26.2 26.3 26.4 26.5 Hitchins 1994, p. 446.
- ↑ 27.0 27.1 27.2 27.3 27.4 27.5 27.6 Dreisziger 1968, p. 128.
- ↑ 28.0 28.1 28.2 28.3 Vágo 1969, p. 432.
- ↑ 29.0 29.1 29.2 Vágo 1969, p. 431.
- ↑ 30.00 30.01 30.02 30.03 30.04 30.05 30.06 30.07 30.08 30.09 30.10 Hitchins 1994, p. 447.
- ↑ 31.0 31.1 31.2 31.3 31.4 31.5 31.6 31.7 31.8 Shirer 1990, p. 800.
- ↑ 32.0 32.1 32.2 32.3 Vágo 1969, p. 435.
- ↑ 33.00 33.01 33.02 33.03 33.04 33.05 33.06 33.07 33.08 33.09 Hitchins 1994, p. 448.
- ↑ 34.0 34.1 Vágo 1969, p. 434.
- ↑ 35.0 35.1 35.2 Vágo 1971, p. 47.
- ↑ 36.0 36.1 36.2 Dreisziger 1968, p. 129.
- ↑ Vágo 1969, p. 436.
- ↑ Vágo 1969, p. 437.
- ↑ 39.0 39.1 Dreisziger 1968, p. 130.
- ↑ 40.0 40.1 40.2 Dreisziger 1968, p. 131.
- ↑ 41.0 41.1 41.2 Vágo 1971, p. 49.
- ↑ 42.0 42.1 42.2 42.3 Vágo 1971, p. 50.
- ↑ 43.0 43.1 43.2 43.3 Vágo 1971, p. 56.
- ↑ 44.0 44.1 44.2 Haynes 2000, p. 151.
- ↑ Haynes 2000, p. 148.
- ↑ 46.0 46.1 46.2 Vágo 1971, p. 53.
- ↑ Vágo 1971, p. 54.
- ↑ Vágo 1971, p. 55.
- ↑ 49.0 49.1 49.2 Dreisziger 1968, p. 132.
- ↑ 50.0 50.1 Vágo 1971, p. 57.
- ↑ Haynes 2000, p. 152.
- ↑ 52.0 52.1 52.2 Vágo 1971, p. 58.
- ↑ 53.0 53.1 53.2 Dreisziger 1968, p. 133.
- ↑ Vágo 1971, p. 59.
- ↑ 55.0 55.1 55.2 55.3 55.4 55.5 Dreisziger 1968, p. 134.
- ↑ 56.0 56.1 56.2 56.3 56.4 56.5 56.6 56.7 Hitchins 1994, p. 449.
- ↑ Vágo 1971, p. 51.
- ↑ 58.0 58.1 Vágo 1971, p. 62.
- ↑ Vágo 1971, p. 60.
- ↑ 60.0 60.1 Vágo 1971, p. 61.
- ↑ Vágo 1971, p. 63.
- ↑ 62.0 62.1 62.2 62.3 62.4 62.5 62.6 Dreisziger 1968, p. 136.
- ↑ 63.0 63.1 63.2 Vágo 1971, p. 64.
- ↑ 64.0 64.1 64.2 Vágo 1971, p. 65.
- ↑ 65.0 65.1 65.2 65.3 65.4 65.5 65.6 Hitchins 1994, p. 450.
- ↑ Dreisziger 1968, p. 135.
- ↑ 67.0 67.1 67.2 Rothschild 1990, p. 183.
- ↑ 68.0 68.1 68.2 Vágo 1971, p. 66.
- ↑ 69.0 69.1 69.2 Nekrich, Ulam & Freeze 1997, p. 186.
- ↑ 70.0 70.1 70.2 Vágo 1971, p. 67.
- ↑ 71.0 71.1 71.2 71.3 71.4 71.5 71.6 71.7 71.8 Dreisziger 1968, p. 138.
- ↑ 72.0 72.1 72.2 72.3 72.4 Shirer 1990, p. 801.
- ↑ Rothschild 1990, p. 184.
- ↑ 74.0 74.1 74.2 74.3 Vágo 1971, p. 68.
- ↑ 75.0 75.1 Vágo 1971, p. 73.
- ↑ 76.0 76.1 Presseisen 1960, p. 361.
- ↑ 77.0 77.1 Dreisziger 1968, p. 139.
- ↑ 78.0 78.1 78.2 Dreisziger 1968, p. 140.
- ↑ 79.0 79.1 79.2 Presseisen 1960, p. 360.
- ↑ 80.0 80.1 80.2 Vágo 1971, p. 71.
- ↑ 81.0 81.1 Dreisziger 1968, p. 141.
- ↑ 82.0 82.1 82.2 82.3 82.4 Vágo 1971, p. 72.
- ↑ Dreisziger 1968, p. 137.
- ↑ Dreisziger 1968, p. 144.
- ↑ Hitchins 1994, p. 451.
- ↑ 86.0 86.1 Hitchins 1994, p. 453.
- ↑ Hitchins 1994, p. 452.
- ↑ Hitchins 1994, p. 454.
- ↑ Vágo 1971, p. 70.
- ↑ Hitchins 1994, p. 455.
- ↑ Hitchins 1994, p. 458.
- ↑ 92.0 92.1 Hitchins 1994, p. 459.
- ↑ 93.0 93.1 93.2 93.3 Hitchins 1994, p. 486.
- ↑ Hitchins 1994, p. 487.
- ↑ Hitchins 1994, p. 503.
บรรณานุกรม
[แก้]- Dreisziger, Nándor F. (1968). Hungary's way to World War II (ภาษาอังกฤษ). Hungarian Helicon Society. p. 239. OCLC 601083308.
- Haynes, Rebecca (2000). Romanian policy towards Germany, 1936-40 (ภาษาอังกฤษ). Palgrave Macmillan. ISBN 9780312232603.
- Hitchins, Keith (1994). Rumania 1866-1947 (ภาษาอังกฤษ). Oxford University Press. p. 579. ISBN 9780198221265.
- Nekrich, Aleksandr Moiseevich; Ulam, Adam Bruno; Freeze, Gregory L. (1997). Pariahs, Partners, Predators: German-Soviet Relations, 1922-1941 (ภาษาอังกฤษ). Columbia University Press. ISBN 0231106769.
- Presseisen, Ernst L. (1960). "Prelude to "Barbarossa": Germany and the Balkans, 1940–1941". The Journal of Modern History (ภาษาอังกฤษ). 32 (4): 359-370.
- Rothschild, Joseph (1990). East Central Europe Between the Two World Wars (ภาษาอังกฤษ). University of Washington Press. ISBN 9780295953571.
- Shirer, William L. (1990). The Rise and Fall of the Third Reich : A History of Nazi Germany (ภาษาอังกฤษ). 1st Touchstone. ISBN 9780671728687.
- Vágo, Béla (1969). "Le Second Diktat de Vienne: Les Préliminaires". East European Quarterly (ภาษาฝรั่งเศส). 2 (4): 415--37.
- Vágo, Béla (1971). "Le Second Diktat de Vienne: Le Partage de la Transylvanie". East European Quarterly (ภาษาฝรั่งเศส). 5 (1): 47-73.