ข้ามไปเนื้อหา

กฤษฎีกาเพลิงไหม้ไรชส์ทาค

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ประกาศของตำรวจอันเป็นผลมาจากกฤษฎีกาเพลิงไหม้ไรชส์ทาค

คำสั่งประธานาธิบดีไรช์ว่าด้วยการป้องกันประชาชนและรัฐ (เยอรมัน: Verordnung des Reichspräsidenten zum Schutz von Volk und Staat) หรือรู้จักกันในชื่อ กฤษฎีกาเพลิงไหม้ไรชส์ทาค (เยอรมัน: Reichstagsbrandverordnung) เป็นคำสั่งฝ่ายบริหารที่เพาล์ ฟ็อน ฮินเดินบวร์ค ประธานาธิบดีไรช์เยอรมัน ออกเพื่อตอบโต้เหตุเพลิงไหม้ไรชส์ทาค เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1933 มีเนื้อหาสาระเป็นการจำกัดสิทธิส่วนบุคคลของพลเมืองเยอรมันอย่างมาก พรรคนาซียืมมือประธานาธิบดีออกคำสั่งดังกล่าวโดยอาศัยเสียงข้างมากในรัฐสภาที่พรรคครองอยู่ เพื่อจับกุมผู้ต่อต้านพรรคและระงับสิ่งตีพิมพ์ที่เห็นว่าเป็นภัยต่อตน นักประวัติศาสตร์มองว่าการออกคำสั่งฉบับนี้เป็นการเตรียมสร้างรัฐเผด็จการของพรรคนาซีในกาลอนาคต

ภูมิหลัง

[แก้]

ก่อนเกิดเหตุการณ์เพลิงไหม้ไรชส์ทาคสี่สัปดาห์ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์แห่งพรรคนาซีได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีไรช์ และได้รับเชิญจากประธานาธิบดีเพาล์ให้เป็นผู้นำคณะรัฐบาลผสมเมื่อวันที่ 30 มกราคม ค.ศ. 1933 รัฐบาลของฮิตเลอร์ได้สนับสนุนให้ประธานาธิบดีฮินเดินบวร์คสั่งยุบไรชส์ทาค และกำหนดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 5 มีนาคม ปีเดียวกันนั้น

ต่อมาวันที่ 27 กุมภาพันธ์ หกวันก่อนหน้าการเลือกตั้งเป็นการทั่วไป ไรชส์ทาคได้เกิดเพลิงไหม้โดยไม่ทราบสาเหตุแม้จนบัดนี้ แต่ฮิตเลอร์และพรรคนาซีใช้เป็นเหตุสร้างฐานอำนาจของตนให้มั่นคงยิ่งขึ้น โดยกล่าวหาผู้นิยมคอมมิวนิสต์ว่าก่อความไม่สงบจนเป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้ไรชส์ทาค ส่งผลให้พลเมืองเยอรมันหลายล้านคนเกิดความหวาดหวั่นต่อคอมมิสนิสต์ เนื่องจากทางการประกาศว่า

"การวางเพลิงไรชส์ทาคเป็นความมุ่งหมายที่จะส่งสัญญาณว่าจะเกิดการก่อการจลาจลนองเลือดและสงครามกลางเมือง มีการวางแผนการปล้มสะดมอย่างกว้างขวางในกรุงเบอร์ลิน...มีการกำหนดให้มี...ตลอดทั่วเยอรมนีซึ่งการก่อการร้ายต่อบุคคลสำคัญ ต่อทรัพย์สินส่วนบุคคล ต่อชีวิตและความปลอดภัยของประชากรอันสงบเรียบร้อย และจะได้นำไปสู่สงครามกลางเมืองอยู่ทั่วไป..."

หลังเพลิงไหม้ไรชส์ทาคหนึ่งวัน แฮร์มัน เกอริงได้อภิปรายเกี่ยวกับเหตุการณ์ และมีการร่าง "คำสั่งประธานาธิบดีไรช์ว่าด้วยการป้องกันประชาชนและรัฐ" เสนอต่อคณะรัฐมนตรีไรช์ ซึ่งตัวฮิตเลอร์เองกล่าวว่า เหตุการณ์เพลิงไหม้ครั้งนี้นำไปสู่ "การเผชิญหน้ากับพรรคคอมมิวนิสต์เยอรมันอย่างไม่ลดละ" จากนั้นไม่นาน เพาล์ ฟ็อน ฮินเดินบวร์ค วัย 84 ปีและมีภาวะสมองเสื่อม ก็ลงนามในคำสั่งฉบับนี้ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 48 ของรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐไวมาร์ ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่อนุญาตให้ประธานาธิบดีเยอรมนีดำเนินมาตรการใด ๆ ในกรณีจำเป็นเพื่อป้องปัดภัยต่อความมั่นคงแห่งชาติ

คำสั่งฉบับดังกล่าวประกอบด้วยความ 6 ข้อ ข้อ 1 มีเนื้อหาสาระเป็นการจำกัดสิทธิส่วนบุคคลของพลเมืองที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ ได้แก่ สิทธิพลเมือง เสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพของสื่อ เสรีภาพในการชุมนุมและการรวมกลุ่มสาธารณะ ตลอดจนจำกัดความคุ้มครองความลับในไปรษณียภัณฑ์และการติดต่อสื่อสาร รวมถึงสิทธิในการป้องกันทรัพย์สินและที่อยู่อาศัย ส่วนข้อ 2 และข้อ 3 เป็นการให้รัฐบาลไรช์เป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยทั้งหมดแทน ข้อ 4 และข้อ 5 เป็นการวางบทลงโทษสำหรับการละเมิดฝ่าฝืนคำสั่งนี้ เช่น โทษประหารชีวิตสำหรับการลอบวางเพลิงอาคารสาธารณะ

ผลของคำสั่ง

[แก้]

การออกคำสั่งดังกล่าวส่งผลให้แฮร์มัน เกอริง รัฐมนตรีมหาดไทยปรัสเซีย สามารถคุมกำลังตำรวจในแคว้นใหญ่ที่สุดของเยอรมนีได้ และใช้กำลังนั้นปราบปรามจับกุมผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์เยอรมัน ซึ่งปรากฏว่ามีผู้ถูกจับกุมมากถึงหนึ่งหมื่นคน

สามสัปดาห์ถัดมา พรรคนาซีได้ประกาศใช้รัฐบัญญัติมอบอำนาจ ซึ่งมีเนื้อหาสาระเป็นการเพิ่มอำนาจให้แก่พรรคนาซีมากขึ้น นำไปสู่การสร้างรัฐเผด็จการในอนาคตของพรรคนาซี

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  • Broszat, Martin (1981). The Hitler State: The foundation and development of the internal structure of the Third Reich. John W. Hiden (tr.). New York, NY: Longman. ISBN 0-582-49200-9. {{cite book}}: ข้อความ "Martin Broszat" ถูกละเว้น (help)
  • Fest, Joachim (1974). Hitler. New York, NY: Harcourt Brace Jovanovich.
  • Manvell, Roger (1974). The Hundred Days to Hitler. New York, NY: St. Martin's Press. {{cite book}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |coauthors= ถูกละเว้น แนะนำ (|author=) (help) LCC DD247.H5.M25 1974
  • Shirer, William (1960). The Rise and Fall of the Third Reich. New York, NY: Simon & Schuster. ISBN 0-671-62420-2.