สงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งที่หนึ่ง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่หนึ่ง

กองกำลังญี่ปุ่นในสงคราม
First Sino-Japanese War, major battles and troop movements
เส้นทางการเดินทัพหลักในสงคราม
วันที่1 สิงหาคม ค.ศ. 1894 - 17 เมษายน ค.ศ. 1895
สถานที่
ผล ญี่ปุ่นได้รับชัยชนะ; เกิดสนธิสัญญาชิโมะโนะเซะกิ
ดินแดน
เปลี่ยนแปลง
จีนเสียไต้หวัน, เผิงหู และคาบสมุทรเหลียวตง แก่จักรวรรดิญี่ปุ่น
คู่สงคราม
จักรวรรดิญี่ปุ่น จักรวรรดิญี่ปุ่น ราชวงศ์ชิง จักรวรรดิชิง
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ

จักรวรรดิญี่ปุ่น จักรพรรดิเมจิ
จักรวรรดิญี่ปุ่น อิโต ฮิโระบุมิ
จักรวรรดิญี่ปุ่น ยะมะงะตะ อะริโตะโมะ

จักรวรรดิญี่ปุ่น อิโต ซุเกะยุกิ

ราชวงศ์ชิง จักรพรรดิกวังซฺวี่
ราชวงศ์ชิง หลี่ หงจาง
ราชวงศ์ชิง เย่ จื้อเชา

ราชวงศ์ชิง ติง หรู่ชาง 
กำลัง
240,000 นาย 230,000 นาย
ความสูญเสีย
เสียชีวิต 16,823 ราย
บาดเจ็บ 3,973 ราย
บาดเจ็บหรือเสียชีวิต 55,000 ราย

สงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่หนึ่ง (อังกฤษ: First Sino-Japanese War) หรือ สงครามญี่ปุ่น-ชิง (ญี่ปุ่น: 日清戦争โรมาจินิชชิน เซ็นโซ) หรือ สงครามเจี๋ยอู่ (จีน: 甲午戰爭) เป็นสงครามระหว่างจักรวรรดิชิงกับจักรวรรดิญี่ปุ่นเพื่อครอบครองคาบสมุทรเกาหลี สงครามนี้เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความอ่อนแอของราชวงศ์ชิง และการประสบผลสำเร็จของญี่ปุ่นที่พัฒนาชาติให้ทันสมัยตามแบบชาติตะวันตกซึ่งเริ่มมาตั้งแต่จักรพรรดิเมจิขึ้นครองราชย์[1] ส่งผลให้อิทธิพลของราชวงศ์ชิงเสื่อมถอยลงจนนำไปสู่การปฏิวัติในปี ค.ศ. 1911

เบื้องหลังและสาเหตุ[แก้]

ญี่ปุ่นต้องการขยายดินแดนของตนมายังแผ่นดินใหญ่ของเอเชียตะวันออก มาตั้งแต่สมัยอัครมหาเสนาบดี โทะโยะโตะมิ ฮิเดะโยะชิ (ปลายศตวรรษที่ 16) ญี่ปุ่นเข้ารุกรานเกาหลีในระหว่างปี ค.ศ. 1592 - 1598 แต่ไม่สามารถยึดครองเกาหลีได้

หลังจากนั้นสองศตวรรษผ่านไป ยุคของรัฐบาลเอะโดะ เสื่อมถอยลงเมื่อญี่ปุ่นถูกพลเรือจัตวา เพอร์รี ยกกองเรือปิดอ่าว บังคับให้ญี่ปุ่นเปิดประเทศในปี ค.ศ. 1853 เปิดตลาดทำการค้ากับ สหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 1854 และมาสิ้นสุดลงเมื่อจักรพรรดิเมจิ ขึ้นครองราชย์ ต่อจากจักรพรรดิโคเมที่สวรรคตในปี ค.ศ. 1867 จักรพรรดิองค์ใหม่ทรงนำญี่ปุ่นไปสู่ความทันสมัยในแบบชาติอุตสาหกรรมตะวันตก มีการส่งนักเรียนไปศึกษาในชาติยุโรปตะวันตกเพื่อให้นำวิชาความรู้กลับมาพัฒนาญี่ปุ่นให้เจริญทัดเทียมกับมหาอำนาจตะวันตก[2]

ความขัดแย้งเหนือคาบสมุทรเกาหลี[แก้]

ในฐานะประเทศที่เพิ่งพัฒนาใหม่ ญี่ปุ่นหันไปมองเกาหลี (ราชวงศ์โชซ็อน) ซึ่งถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญของญี่ปุ่น ในด้านความมั่นคงเพราะ เกาหลีอยู่ใกล้ชิดกับญี่ปุ่น ถือเป็นจุดที่ชาติอื่นสามารถเข้ามาโจมตีญี่ปุ่นได้ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่อำนาจของราชวงศ์ชิงกำลังเสื่อมถอยลงทุกขณะ ญี่ปุ่นจึงหวังที่จะส่งทหารเข้าควบคุมคาบสมุทรเกาหลีก่อนเพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคง นอกจากนั้นยังมีแหล่งแร่เหล็กและถ่านหินของเกาหลีที่สามารถสร้างเสริมความเป็นชาติอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นในอนาคต

ในอดีต เกาหลีเป็นประเทศราชของจีนมาอย่างยาวนานจนมาถึงสมัยราชวงศ์ชิง ความเสื่อมถอยของราชวงศ์ชิงมีผลกระทบมาถึงเหล่าเสนาบดีของราชวงศ์โชซ็อนซึ่งครองราชย์มายาวนานตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 14 ซึ่งเดิมเคยติดต่อค้าขายและมีสัมพันธ์อันดีกับราชสำนักของจีน แต่เวลานี้เมื่ออิทธิพลของจีนกำลังถดถอย โดยมีอิทธิพลของญี่ปุ่นกำลังฉายแสงรุ่งโรจน์ เหล่าขุนนางเสนาบดีเหล่านี้จึงคิดตีจากราชสำนักจีนไปสร้างสัมพันธ์ใหม่กับญี่ปุ่นและชาติตะวันตก หลังจีนพ่ายแพ้ชาติตะวันตกในสงครามฝิ่นและสงครามจีน-ฝรั่งเศส ยิ่งทำให้ประจักษ์ชัดเจนว่า จีนไม่สามารถต่อต้านอิทธิพลของชาติตะวันตกได้เลย ญี่ปุ่นเองซึ่งมองจุดนี้เช่นกันจึงถือโอกาสแผ่อิทธิพลของตนเข้าครอบงำคาบสมุทรเกาหลี

วันที่ 26 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1876 หลังเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างพวกชาตินิยมเกาหลีกับญี่ปุ่น ญี่ปุ่นบีบให้เกาหลีต้องลงนามใน สนธิสัญญากังฮวา (Treaty of Ganghwa) ที่ให้เกาหลีต้องเปิดตลาดการค้าให้ญี่ปุ่นและชาติอื่นซึ่งเท่ากับว่าเป็นการประกาศให้นานาชาติรับรู้ว่าเกาหลีเป็นอิสระจากจีน

การปฏิวัติกัปซิน[แก้]

ในปี ค.ศ. 1884 พวกนิยมญี่ปุ่นก็พยายามก่อการปฏิวัติล้มล้างรัฐบาลเกาหลีสายอนุรักษ์ที่นิยมจีน จีนเข้าแทรกแซงโดย นายพลหยวน ซื่อไข่ ส่งทหารจีนเข้ามาช่วยปราบปรามกลุ่มกบฏครั้งนี้อย่างรุนแรง การปราบปรามนี้ไม่เพียงแต่พวกกบฏชาวเกาหลีเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แต่ยังทำให้สถานทูตญี่ปุ่นเกิดเพลิงไหม้ เจ้าหน้าที่และพลเรือนญี่ปุ่นเสียชีวิตไปหลายคน เป็นเหตุให้ความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับจีนเกิดความร้าวฉาน ทั้งสองฝ่ายต้องประชุมหารือกันที่เทียนจินในปี ค.ศ.1885 และมีข้อตกลงร่วมกันว่า

  1. ต้องถอนกองกำลังของทั้งสองฝ่ายออกจากเกาหลีพร้อม ๆ กัน
  2. ห้ามส่งที่ปรึกษาทางทหารไปฝึกหัดทหารเกาหลี
  3. ห้ามฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งส่งทหารไปยังเกาหลีโดยไม่แจ้งให้อีกฝ่ายทราบก่อนล่วงหน้า

อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นได้กล่าวหาว่า ทางการจีนพยายามลักลอบสร้างอิทธิพลครอบงำเกาหลี

สถานภาพทางทหารของทั้งสองฝ่าย[แก้]

จักรวรรดิญี่ปุ่น[แก้]

การปฏิรูปญี่ปุ่นในสมัยเมจิ ให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของกองทัพเรือ มีการต่อเรือใหม่ ๆ และปรับปรุงกองทัพบกและกองทัพเรือให้ทันสมัย มีการส่งนายทหารทั้งทหารบกและทหารเรือจำนวนมากไปฝึกศึกษาทั้งยุทธศาสตร์และยุทธวิธีในกองทัพบกและกองทัพเรือของชาติตะวันตก

กองทัพเรือจักรวรรดิญี่ปุ่น[แก้]

พลเรือโท อิโต ซุเกะยุกิ ผู้บัญชาการกองเรือผสมของญี่ปุ่น
เรือธง มะสึชิมะ ของญี่ปุ่น

ยึดแบบมาจากราชนาวีอังกฤษซึ่งเป็นกองทัพเรือชั้นแนวหน้าและทรงอานุภาพมากที่สุดในโลกในเวลานั้น มีที่ปรึกษาทางทหารชาวอังกฤษไปให้ความรู้และให้คำปรึกษาในการก่อร่างสร้างกองทัพเรือ มีการส่งนักเรียนไปเข้ารับการศึกษาและฝึกงานในราชนาวีอังกฤษ ตลอดเวลาที่ได้ที่ปรึกษาชาวอังกฤษ ญี่ปุ่นได้ให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับวิชาการปืนและวิชาการเดินเรือ[3]

ในช่วงเริ่มเกิดวิกฤตกาล กองเรือแห่งจักรพรรดินาวีญี่ปุ่น มีกำลังทางเรือดังนี้ เรือประจัญบานรุ่นใหม่ 12 ลำ (ทั้งนี้รวมทั้งเรือยังไม่ขึ้นระวางประจำการ คือ อิสึมิ ที่เข้าประจำการในระหว่างสงคราม), เรือลาดตระเวนทะกะโอะอีก 1 ลำ เรือตอร์ปิโด 22 ลำ, นอกจากนั้นยังมีเรือช่วยรบ/เรือสินค้าติดอาวุธ และเรือโดยสารที่ดัดแปลงมาเป็นเรือช่วยรบอีกจำนวนมาก

หลักนิยมของญี่ปุ่นขณะนั้นไม่ได้หวังพึ่งอานุภาพของเรือประจัญบาน แต่ให้ความสำคัญกับการใช้เรือรบขนาดเล็กที่มีความเร็วสูง อย่างเรือลาดตระเวน และเรือตอร์ปิโด ในการเข้าปะทะกับเรือข้าศึกที่ใหญ่กว่า

เรือรบหลักของญี่ปุ่นหลายลำต่อมาจากอู่ต่อเรือในอังกฤษและฝรั่งเศส (ต่อในอังกฤษ 8 ลำ, ฝรั่งเศส 3 ลำ, และต่อในญี่ปุ่น 2 ลำ) และเรือตอร์ปิโดอีก 16 ลำที่สร้างในฝรั่งเศส จากนั้นก็ขนส่งมาแล้วนำมาประกอบในญี่ปุ่น

กองทัพบกญี่ปุ่น[แก้]

การพัฒนากองทัพบกญี่ปุ่นในช่วงแรกของยุคเมจิ นั้น มีแนวคิดตามแบบของกองทัพบกฝรั่งเศส มีที่ปรึกษาทางทหารของฝรั่งเศสเดินทางไปยังญี่ปุ่นตั้งแต่ปี ค.ศ.1872 ในปี ค.ศ.1873 ก็เริ่มมีการตั้งโรงเรียนทหารและโรงงานสร้างปืนใหญ่ตามแบบตะวันตก

ปี ค.ศ.1886 ญี่ปุ่นเปลี่ยนแปลงรูปแบบมาเป็นแบบกองทัพบกเยอรมัน โดยเฉพาะแบบฉบับของกองทัพปรัสเซีย และประยุกต์หลักนิยม, รูปแบบและโครงสร้างของกองทัพมาให้เหมาะสมกับญี่ปุ่น ในปี ค.ศ.1885 จาโค๊บ เมคเกล ที่ปรึกษาทางทหารชาวเยอรมัน ได้เสนอแนะให้มีการปรับโครงสร้างสายการบังคับบัญชาของกองทัพใหม่ โดยแบ่งเป็นกรมและกองพล ปรับปรุงเรื่องการส่งกำลังบำรุง, การขนส่ง และอื่น ๆ (เช่นการเพิ่มรถบรรทุกให้พอเพียง) และมีการจัดตั้งกรมทหารปืนใหญ่และกรมช่าง ที่มีสายการบังคับบัญชาเป็นอิสระ

ช่วงปี ค.ศ. 1890 กองทัพญี่ปุ่นก็มีการจัดกำลังแบบสมัยใหม่ เป็นกองทัพที่มีรูปแบบการฝึกตามแบบกองทัพของชาติตะวันตก มีความพร้อมทั้งยุทโธปกรณ์และยุทธปัจจัย นายทหารได้รับการศึกษาจากต่างประเทศและมีความรู้ทางยุทธวิธีและทางยุทธศาสตร์เป็นอย่างดี

เมื่อเริ่มสงคราม, กองทัพบกแห่งจักรพรรดิมีกำลังพลถึง 120,000 นาย จัดกำลังเป็น 2 กองทัพและ 5 กองพล

จักรวรรดิต้าชิง (จีน)[แก้]

เรือธง ติ้งหยวน ของจีน

กองทัพเป่ย์หยาง ถือเป็นกองทหารที่ทันสมัยที่สุดของจีน มีอาวุธที่ถือว่าดีที่สุด แต่ปัญหาสำคัญก็คือ ขวัญกำลังใจและการฉ้อราษฎร์บังหลวง ในช่วงเวลาสงครามก็ยังมีการเบียดบังเบี้ยเลี้ยงทหารตลอดเวลาเช่นการที่พระนางซูสีไทเฮานำงบประมาณที่จะพัฒนากองทัพเรือไปสร้างเรือหินอ่อนในพระราชอุทยานของพระราชวังฤดูร้อน นอกจากนั้นยังมีปัญหาด้านการส่งกำลังบำรุง เพราะทางรถไฟสายแมนจูเรียกำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ขวัญกำลังใจของทหารตกต่ำอย่างหนักเพราะการจ่ายเงินเดือนและเบี้ยเลี้ยงล่าช้า, มีปัญหาทหารติดฝิ่น, การขาดภาวะผู้นำ รวมไปถึงการหนีทัพซึ่งเป็นปัญหาหนักในการเตรียมการป้องกันเมืองเว่ยไห่เว่ย

กองทัพเป่ย์หยาง[แก้]

หลี่ หงจาง แม่ทัพแห่งจักรวรรดิต้าชิง

ราชวงศ์ชิงในเวลานั้นยังไม่มีกองทัพแห่งชาติ ตั้งแต่ กบฏแมนแดนสันติ กองทัพก็แตกแยกเป็นหลายเผ่าเช่น แมนจู, มองโกล, หุย และกองทัพของชาวฮั่นเองก็มีกองทัพที่เป็นอิสระต่อกันตามภูมิภาคต่าง ๆ ซึ่งกองทัพเหล่านี้ยังแยกการบังคับบัญชาเป็นอิสระตามมณฑลของตนเอง สำหรับกองทัพเป่ย์หยางนั้นจัดตั้งขึ้นในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยราชวงศ์ชิง โดยแรกเริ่มเดิมทีมีแม่ทัพคือ หลี่ หงจาง แม่ทัพมณฑลอันฮุย ซึ่งเป็นกองทัพที่มีกำลังพลมากที่สุด และจงรักภักดีต่อราชวงศ์ชิง หลี่ หงจาง ปรับปรุงกองทัพโดยใช้เงินจากภาษีของมณฑลอันฮุยที่เขาเป็นผู้ว่าการมณฑลอยู่มาจัดซื้ออาวุธ และยังเหลือพอที่จะจัดตั้งกองเรือขึ้นมาด้วย คือ กองเรือเป่ย์หยาง (จีน: 北洋軍; พินอิน: Běiyáng-jūn; ซึ่ง เป่ย์หยาง แปลว่า มหาสมุทรตอนเหนือ)

การสู้รบครั้งสำคัญที่สุดจึงตกเป็นภาระของกองทัพเป่ย์หยาง และกองเรือเป่ย์หยาง ซึ่งทำการสู้รบไปพร้อมกับขอความช่วยเหลือไปยังกองทัพและกองเรืออื่น ๆ ให้เข้ามาช่วยซึ่งได้แก่กองเรือหนานหยาง กองเรือฝูเจี้ยน และกองเรือกวางตุ้ง แต่ไม่มีกองทัพใดที่ให้ความร่วมมือ

กองเรือเป่ย์หยาง[แก้]

กองเรือเป่ย์หยางเป็น 1 ใน 4 กองเรือที่ทันสมัยกองหนึ่งของราชวงศ์ชิงตอนปลายและถือเป็นกองเรือที่โดดเด่นที่สุดในเอเชียตะวันออก ในช่วงก่อนที่จะเกิดสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งนี้ กล่าวได้ว่า เป็นกองเรือที่ดีที่สุดในเอเชีย และเป็นกองเรือที่ดีที่สุดเป็นอันดับแปดของโลกในช่วงของทศตวรรษที่ 1880 โดยกำลังหลักมีเรือประจัญบานหุ้มเกราะ 2 ลำซึ่งต่อจากเยอรมัน, เรือลาดตระเวนแบบต่าง ๆ 11 ลำ, เรือปืน 6 ลำ, เรือตอร์ปิโด 12 ลำ

ชนวนเหตุ[แก้]

ในปี ค.ศ. 1893, คิม โอ คยุน นักปฏิวัติชาวเกาหลีที่นิยมญี่ปุ่นถูกลอบสังหารในเมืองเซี่ยงไฮ้ เพราะเป็นการกระทำที่น่ารังเกียจ มีการกล่าวหาว่า ผู้ลอบสังหารเป็นคนของหยวนซื่อไข่ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนรัฐบาลเกาหลีที่นิยมจีน ศพของคิม โอ คยุน ถูกส่งกลับโดยเรือรบของจีน นัยว่าเป็นการเตือนพวกกบฏที่นิยมญี่ปุ่นไม่ให้เคลื่อนไหว ซึ่งตรงนี้สร้างความขุ่นเคืองให้กับทางการญี่ปุ่นที่มีความไม่ลงรอยอยู่กับทางการจีนอยู่แล้วเกี่ยวกับปัญหาเกาหลี สถานการณ์ยิ่งร้อนแรงขึ้นเมื่อจักรพรรดิเกาหลีขอความช่วยเหลือให้จีนส่งทหารมาช่วยปราบกบฏตงฮัก ซึ่งรัฐบาลจีนได้ส่งหนังสือไปแจ้งแก่รัฐบาลญี่ปุ่นในการตัดสินใจส่งทหารไปดังกล่าวตามข้อตกลงเทียนสิน โดยส่งทหารจีน 2,800 นายไปเกาหลี ภายใต้การนำของหยวน ซี ไข ฝ่ายญี่ปุ่นถือว่า การกระทำของจีนครั้งนี้เป็นการละเมิดข้อตกลงอย่างรุนแรง จึงตอบโต้จีนโดยการส่งหน่วยเคลื่อนที่เร็ว (กรมทหารโอชิมะ, - เป็นกรมผสม) จำนวน 8 พันนายไปยังเกาหลีเช่นกัน ทหารญี่ปุ่นได้เข้ายึดพระราชวังและจับกุมพระเจ้าโกจงจักรพรรดิเกาหลี เปลี่ยนรัฐบาลใหม่เป็นพวกนิยมญี่ปุ่น ถึงตรงนี้ทหารจีนก็ถูกปฏิเสธจากรัฐบาลชุดใหม่ และไม่มีประโยชน์ที่ทหารจีนจะอยู่ในเกาหลีต่อไป เพราะทหารญี่ปุ่นมีจำนวนมากกว่า

และในปี ค.ศ. 1895 ญี่ปุ่นก็ได้ทำการลอบสังหารพระราชินีมินหรือจักรพรรดินีเมียงซองแห่งเกาหลี เพราะเห็นว่าพระนางเป็นตัวการที่ขัดขวางให้ญี่ปุ่นไม่สามารถกระทำการได้อย่างเต็มที่

เหตุการณ์[แก้]

การจมเรือเกาเชิง[แก้]

ภาพข่าวในสื่อสิ่งพิมพ์ของฝรั่งเศส แสดงภาพเรือเกาเชิงที่กำลังจมและเรือปืนฝรั่งเศสช่วยลูกเรือจีนบางส่วนได้

เป็นการรบทางเรือที่เกิดขึ้นครั้งแรกในสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งแรกนี้ โดยเป็นการปะทะกันระหว่าง กองเรือลาดตระเวนของญี่ปุ่นกับกองเรือเป่ย์หยาง เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ค.ศ.1894 นอกฝั่งเมืองท่าอาซาน ทั้งนี้เนื่องจากเมืองท่าแห่งนี้มีทหารจีนประจำการอยู่ 3 พันคน ญี่ปุ่นมีแผนที่จะปิดล้อมเมืองท่าแห่งนี้เพื่อไม่ให้กำลังทหารจีนหลบหนีได้ ทางด้านกองเรือเป่ย์หยางก็มีความเห็นแตกต่างกัน ทางหนึ่งก็คิดว่า จะสนับสนุนการถอนทหารครั้งนี้โดยจะพยายามลำเลียงทหารขึ้นเหนือไปยังเมืองเปียงยาง อีกส่วนก็คิดว่า จะนำกองเรือไปทางใต้เพื่อปะทะกับกองเรือญี่ปุ่น ดังนั้นผู้บัญชาการกองเรือของจีนคือ ฟาง โป๋เชียน ผู้บังคับการเรือลาดตระเวน จื้อหย่วน จึงเลือกทางสายกลางคือ การคำนึงถึงความปลอดภัยของกองเรือ ตามนโยบายของแม่ทัพคือ หลี่หงจาง และนโยบายของจักรพรรดิกวางสู ที่ต้องไม่เสียศักดิ์ศรี

ปูมเรือของฝ่ายญี่ปุ่นบันทึกการรบครั้งนี้ไว้ว่า เวลา 7:00 น. ของวันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ. 1894, เรือลาดตระเวน โยะชิโนะ, นะนิวะ และอะกิตสึชิมะ กำลังลาดตระเวนในทะเลเหลือง นอกฝั่งอาซาน, ชุงเชินนัมโด, เกาหลี ได้เข้าสกัดกั้นเรือลาดตระเวน จื้อหย่วนของจีน และเรือปืน กวางอี่ ทั้งสองลำออกจากอาซานเพื่อพบกับเรือปืนของจีนอีกลำคือ เรือ เชาเจียง ที่กำลังคุ้มกันเรือลำเลียงไปยังอาซาน เรือจีนทั้งสองลำมิได้ถอยกลับไปตามที่เรือญี่ปุ่นยิงเตือนตามกฎการเดินเรือสากล, และเมื่อเรือของญี่ปุ่นเปลี่ยนเข็มไปทางตะวันตกเฉียงใต้ เรือจีนก็เปิดฉากยิง.

ส่วนปูมเรือของฝ่ายจีนบันทึกว่า เรือลาดตระเวน จื้อหย่วน และเรือตอร์ปิโดกวางอี่ จอดเทียบท่าอยู่ที่อาซาน ตั้งแต่วันที่ 23 กรกฎาคม ออกจากท่ามาในตอนเช้าของวันที่ 25 กรกฎาคม มุ่งหน้าไปยังจุดนัดพบกับเรือบรรทุกทหาร เกาเชิง และเรือเสบียง เชาเจียง ที่เดินทางมาจากเทียนจิน เวลา 07:55 น., ใกล้เกาะพุงโด ซึ่งเป็นเกาะใกล้ช่องทางเดินเรือออกจากอ่าวอาซาน ในน่านน้ำเกาหลี เรือจีนทั้งสองลำถูกยิงจากเรือลาดตระเวนญี่ปุ่นสามลำคือ อะกิตสึชิมะ, นะนิวะ และโยะชิโนะ เรือจีนยิงตอบโต้กลับไปเมื่อเวลา 07:52น.

หลังจากทั้งสองฝ่ายยิงโต้ตอบกันกว่าชั่วโมง, เรือ จื้อหย่วน สามารถฝ่าวงล้อมออกไปได้ แต่เรือ กวางอี่ วิ่งชนหินแล้วคลังกระสุนจึงเกิดการระเบิดขึ้น ในเวลาเดียวกัน เรือปืน เชาเจียง และเรือลำเลียง เกาเชิง ที่มีกัปตันเป็นพลเรือนอังกฤษและรับจ้างขนทหารจีน 1,200 คน พร้อมเสบียงเดินทางเข้ามาจุดนี้พอดี

เรือ เชาเจียง ถูกเรือรบญี่ปุ่นเข้ายึดอย่างรวดเร็ว และเรือ เกาเชิง ถูกสั่งให้นำเรือแล่นตามเรือลาดตระเวน นะนิวะ ไปยังกองเรือใหญ่ของญี่ปุ่น ทหารจีนที่อยู่บนเรือจึงยึดเรือและบังคับให้กัปตัน กัลเวอร์ที (Captain Galworthy) นำเรือกลับจีน หลังเจรจาต่อรองกันอยู่นาน 4 ชั่วโมง ช่วงที่ทหารจีนกำลังเผลอ กัปตัน กัลเวอร์ที กับลูกเรือชาวอังกฤษก็โดดน้ำหนี และพยายามว่ายน้ำไปยังเรือลาดตระเวน นะนิวะ ท่ามกลางการยิงไล่หลังมาจากทหารจีนบนเรือ เกาเชิง ลูกเรืออังกฤษส่วนใหญ่เสียชีวิต แต่กัปตัน กัลเวอร์ทีและลูกเรืออีกสองคนได้รับความช่วยเหลือจากญี่ปุ่น เรือ นะนิวะ จึงเปิดฉากยิงเรือ เกาชิง จมไปพร้อมกับบรรดาทหารจีนที่อยู่บนเรือ มีจำนวนหนึ่งที่รอดมาได้และว่ายน้ำกลับเข้าฝั่ง (หนึ่งในจำนวนนั้นคือ ที่ปรึกษาทางทหารชาวเยอรมัน พันโท ฟอน ฮันเนเค่น)

การรบครั้งนี้ ทหารจีนเสียชีวิตไปราว 1,100 คน ในจำนวนกว่า 800 คน เป็นทหารที่อยู่บนเรือลำเลียง เกาเชิง ฝ่ายญี่ปุ่นไม่มีผู้ใดเสียชีวิต การที่ญี่ปุ่นจมเรือ เกาเชิง ซึ่งยังเป็นของอังกฤษ ทำให้ญี่ปุ่นขัดแย้งทางการทูตกับอังกฤษ แต่ศาลอังกฤษเห็นว่า การกระทำนั้นถูกต้องตามกฎหมายสากลว่าด้วยการเป็นกบฏในเรือ การจมของเรือยังถูกมองว่าเป็นการกระทำที่รัฐบาลจีนที่ตั้งใจทำให้เกิดการปะทะ เพื่อพยายามประกาศสงครามกับญี่ปุ่น

การต่อสู้ในเกาหลี[แก้]

กองทัพญี่ปุ่นเข้าขับไล่กองทัพจักรวรรดิต้าชิง

หลังจากทหารญี่ปุ่นเข้าจัดการล้มล้างรัฐบาลเดิมของเกาหลีที่นิยมจีน แล้วสถาปนารัฐบาลชุดใหม่ที่นิยมญี่ปุ่น สิ่งที่ทำต่อมาคือ การขับไล่ทหารกองทัพเป่ย์หยางของจีนออกจากดินแดนเกาหลี กำลังของญี่ปุ่นที่มาถึงชุดแรกจำนวน 8 พันนาย ภายใต้การบัญชาการของพลโท โอชิมะ โยชิมะสะ ก็เดินทัพมุ่งลงใต้จากโซล มายังเมืองอาซาน ซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญทางฝั่งตะวันตกของเกาหลีที่ตอนนี้มีกำลังทหารจีน 3,500 นาย ประจำการอยู่ ส่วนกำลังหนุนที่มากับเรือ เกาเชิง ถูกเรือรบญี่ปุ่นจัดการไปเรียบร้อยแล้ว

กำลังทั้งสองฝ่ายมาพบกันที่นอกเมืองอาซาน ราว ๆ 15.00 น. ของวันที่ 28 กรกฎาคม การปะทะเป็นไปตลอดคืนจนถึงเช้าวันรุ่งขึ้น ทหารจีนซึ่งด้อยกว่าทั้งจำนวนทหารและทักษะการรบยิ่งรบก็ยิ่งสูญเสีย จึงถอนตัวมุ่งหน้าไปที่เปียงยาง การรบครั้งนี้ทหารจีนเสียชีวิตและบาดเจ็บราว 500 นาย ส่วนญี่ปุ่นเสียชีวิตและบาดเจ็บไป 82 นาย หลังจากเกิดเหตุการณ์นี้ญี่ปุ่นได้นำทัพกลับโซล เป็นเหตุทำให้จีนประกาศสงครามกับญี่ปุ่นในวันที่ 1 สิงหาคม ค.ศ. 1894

หลังจากนั้น ทหารจีนที่เหลือได้ถอยไปชุมนุมกำลังกันที่เปียงยาง ทำให้กำลังทหารจีนในสังกัดกองทัพเป่ย์หยาง ณ วันที่ 4 สิงหาคม มีกำลังพลถึง 13,000 – 15,000 คน ทหารจีนได้ดัดแปลงที่มั่นโดยใช้กำแพงเมืองเก่าเตรียมรับการโจมตีของทหารญี่ปุ่นที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต

ก่อนหน้านั้น ทหารญี่ปุ่น จำนวนราว 1 หมื่นนาย จากกองทัพที่ 1 ภายใต้การบัญชาการของจอมพล ยะมะงะตะ อะริโมะโตะ ขึ้นบกที่เชมุลโป (ปัจจุบันคือ อินชอน) เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม ค.ศ.1894 หลังจากได้รับข่าวการรบที่โซงวานแล้ว จึงได้เคลื่อนทัพขึ้นเหนือมุ่งหน้าสู่เปียงยาง เพื่อสนธิกำลังอีกส่วนที่จะเดินทางมาทางเรือและขึ้นบกที่ปูซานและวอนซาน

กำลังของญี่ปุ่นทั้งหมดเคลื่อนพลจากหลายเส้นทางมาพบกันที่เปียงยางในวันที่ 15 กันยายน ค.ศ.1894 แล้วเข้าตีแนวรับของทหารจีนที่ตั้งรับตามแนวกำแพงเมืองเก่าทางด้านเหนือและด้านตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่เช้า ทหารจีนต้านทานอย่างเข้มแข็ง แต่ก็ถูกตีตลบหลัง ต่อมาเกิดฝนตกอย่างหนัก การรุกของญี่ปุ่นหยุดลงชั่วคราว เพราะหากว่าจะบุกเข้าไปก็จะจมโคลน ดังนั้นเป็นโอกาสให้ทหารที่อยู่ในสนามรบได้พักรบชั่วคราว ฝนที่ตกหนักไปจนถึงค่ำช่วยให้ทหารจีนแอบถอนตัวออกจากเปียงยางได้สำเร็จ กำลังทหารจีนถอนตัวไปถึงเมืองวีจู ริมฝั่งแม่น้ำยาลู ได้เมื่อตอน 20.00 น. การรบครั้งนี้ฝ่ายญี่ปุ่นรายงานว่าทหารจีนเสียชีวิตไปราว 2,000 คน บาดเจ็บอีก 4,000 คนซึ่งการสูญเสียส่วนใหญ่เกิดขึ้นขณะกำลังถอนตัว ฝ่ายญี่ปุ่นเสียชีวิตไป 102 นาย, บาดเจ็บ 433 นาย และสูญหายไปอีก 33 นาย

ทหารญี่ปุ่นบุกเข้าประตูเมืองของฝ่ายต้าชิง

เปียงยางตกอยู่ในความยึดครองของกองทัพญี่ปุ่นในเช้าวันที่ 16 กันยายน ค.ศ.1894

ความปราชัยของกองเรือเป่ย์หยาง[แก้]

ภาพวาด คณะแม่ทัพจากราชสำนักชิงขณะทำการยอมจำนนต่อกองทัพญี่ปุ่น
ภาพวาด ทหารญี่ปุ่นกำลังประหารทหารจีน 38 นายที่ขัดขืน เพื่อไม่ให้คนอื่นเอาเป็นเยี่ยงอย่าง

การรบทางเรือครั้งนี้นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงปัญหาคอรัปชั่นภายในกองทัพเรือเป่ย์หยางของจีนแล้ว การขาดการฝึกและศึกษาให้ชำนาญไม่ว่าจะเป็นวิชาการปืนใหญ่และการเดินเรือ รวมถึงการฝึกในระดับกองเรือ เช่นการแปรกระบวนรบ

ยุทธนาวีครั้งนี้มีชื่อเป็นทางการว่า ยุทธนาวีที่แม่น้ำยาลู หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ยุทธนาวีที่ทะเลเหลือง เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 17 กันยายน ค.ศ.1894 เป็นการปะทะกันทางเรือที่ใหญ่ที่สุดในสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งนี้ สมรภูมิที่เกิดการปะทะกันนี้เกิดในทะเลเหลือง ใกล้ปากแม่น้ำยาลู

ตามรายงานต่าง ๆ ก่อนหน้า จะเห็นว่า จีนมีเรือรบที่เหนือกว่า อย่างเช่นอาวุธหลักประจำเรือที่มีทั้งปืนขนาด 10 นิ้ว และ 8 นิ้ว แต่สิ่งที่ขาดการคำนึงถึงคือพลปืนของเรือรบจีนยังไม่มีความพร้อมรบ ขาดการฝึก และแม้จะอยู่ในสถานการณ์เตรียมพร้อม พลปืนของเรือรบจีนก็ยังไม่พร้อมที่จะทำการยิง เนื่องจากการคอรัปชั่น อย่างเช่น ลูกปืนหลายลูกออกอาการช๊อท คือแทนที่จะยิงถึงเป้ากลายเป็นกระสุนตกก่อนถึงเป้าหมาย เพราะดินปืนและเชื้อปะทุเก่าเก็บบ้าง นายทหารเรือจีนบางคนก็ไม่เข้าประจำตำแหน่งของตนในเวลาทำการรบ ตามบันทึกกล่าวว่ามีเรือลำหนึ่งใช้ป้อมปืนเป็นที่เก็บของรวมถึงยังมีการถอดชิ้นส่วนปืนที่เป็นโลหะไปขายในตลาดมืด

ซึ่งจุดนี้ทำให้สมรรถนะของกองเรือทั้งสองฝ่ายต่างกันอย่างมาก แม้ว่าทางจีนจะมีการจ้างนายทหารต่างชาติจำนวนมากมาเป็นที่ปรึกษา อย่างพันโท ฟอน ฮันเนเค่น ซึ่งรอดชีวิตจากเกาเชิงซึ่งถูกญี่ปุ่นยิงจมในพุงโด ก็เป็นที่ปรึกษาให้กับแม่ทัพ ติง หรู่ชาง และยังมีนายทหารต่างชาติอีกหลายนายที่เป็นผู้ช่วยของฟอน ฮันเนเค่น บางคนก็รับหน้าที่เป็นรองผู้บังคับการเรือเจิ้นหย่วน

กองเรือจีนเตรียมรบกับญี่ปุ่นโดยเปลี่ยนสีเรือจากเดิมที่ตัวเรือสีขาว ปล่องสีเหลืองเข้ม เป็นสีเทาเข้ม และปล่องสีดำ ทำให้ยากที่จะมองเห็นในทะเล จากบันทึกของแมคกิฟฟิน อดีตเรือโท แห่งกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา ที่มาเป็นผู้ช่วยของฟอน ฮันเนเค่น บันทึกถึงเรือรบจีนไว้ว่า เชื้อปะทุหลายอันอายุถึง 13 ปี และยังใช้ไม่ได้ เกราะของเรือที่ปกติจะหุ้มตัวเรือแถวแนวน้ำก็ถูกถอดทิ้งจนเรือจื้อหย่วนต้องถอนตัวจากการรบเพราะเหตุนี้

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. Japan Anxious for a Fight; The Chinese Are Slow and Not in Good Shape to Go to War," New York Times. July 30, 1894.
  2. Jansen, p.335
  3. "The skills of the Japanese officers and men was [sic] astronomically higher those of their Chinese counterparts." [1]

ดูเพิ่ม[แก้]

  • Jansen, Marius B. (2002). The Making of Modern Japan. Cambridge: Harvard University Press. ISBN 0-674-00991-6.
  • Chamberlin, William Henry. Japan Over Asia, 1937, Little, Brown, and Company, Boston.
  • Colliers (Ed.), The Russo-Japanese War, 1904, P.F. Collier & Son, New York.
  • Kodansha Japan An Illustrated Encyclopedia, 1993, Kodansha Press, Tokyo ISBN 4-06-205938-X
  • Lone, Stewart. Japan's First Modern War: Army and Society in the Conflict with China, 1894-1895, 1994, St. Martin's Press, New York.
  • Paine, S.C.M. The Sino-Japanese War of 1894-1895: Perception, Power, and Primacy, 2003, Cambridge University Press, Cambridge, MA, 412 pp.
  • Sedwick, F.R. (R.F.A.). The Russo-Japanese War, 1909, The Macmillan Company, NY, 192 pp.
  • Theiss, Frank. The Voyage of Forgotten Men, 1937, Bobbs-Merrill Company, 1st Ed., Indianapolis & New York.
  • Warner, Dennis and Peggy. The Tide At Sunrise, 1974, Charterhouse, New York.
  • Urdang, Laurence/Flexner, Stuart, Berg. The Random House Dictionary of the English Language, College Edition. Random House, New York, (1969).
  • Military Heritage did an editorial on the Sino-Japanese War of 1894 (Brooke C. Stoddard, Military Heritage, December 2001, Volume 3, No. 3).

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]