สนธิสัญญาชิโมโนเซกิ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สนธิสัญญาชิโมโนเซกิ
สนธิสัญญาชิโมโนเซกิฉบับภาษาญี่ปุ่น
วันลงนาม17 เมษายน ค.ศ. 1895
ที่ลงนามเมืองชิโมโนเซกิ
ผู้ลงนามจักรวรรดิญี่ปุ่น อิโต ฮิโระบุมิ
จักรวรรดิญี่ปุ่น มุตสึ มูเนมิตสึ
ราชวงศ์ชิง หลี่ หงจาง
ราชวงศ์ชิง หลี่ จิงฟาง
ภาคีจักรวรรดิญี่ปุ่น จักรวรรดิญี่ปุ่น
ราชวงศ์ชิง จักรวรรดิชิง
ภาษาจีน และ ญี่ปุ่น

สนธิสัญญาชิโมโนเซกิ (ญี่ปุ่น: 下関条約) หรือ สนธิสัญญาหม่ากวัน (จีนตัวย่อ: 马关条约; จีนตัวเต็ม: 馬關條約; พินอิน: Mǎguān tiáoyuē) ในภาษาจีน เป็นสนธิสัญญาระหว่างจักรวรรดิญี่ปุ่นและประเทศจีน โดยราชวงศ์ชิง เมื่อวันที่ 17 เมษายน ค.ศ. 1895 สนธิสัญญานี้ทำให้สงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่หนึ่งสิ้นสุดลง เกาหลีเป็นอิสระจากจีน ญี่ปุ่นได้ดินแดนในจีนและได้สิทธิภาพชาติที่ได้รับอนุเคราะห์ยิ่งจากจีน นอกจากนี้ญี่ปุ่นยังสามารถเข้าใช้และตั้งกงสุลในสี่เมืองท่าคือ ชาฉี้, ฉงชิ่ง, ซูโจว และ หางโจว

หลังจากที่จีนลงนามในสนธิสัญญาฉบับนี้ บรรดาขุนนางจีนต่างถวายฎีกากันอย่างมากมาย ร้องขอให้ยกเลิกสัญญาแล้วทำสงครามกับญี่ปุ่นเพื่อธำรงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีของโอรสแห่งสวรรค์ จักรพรรดิกวังซฺวี่ทรงมีความโทมนัสยิ่งนัก ได้ระบายความอัดอั้นของพระองค์ไว้ว่า "ยามดึกก็กังวล ยามว่าราชการก็ร้องไห้...สภาพเช่นนี้ช่างน่าละอาย ฎีกาทั้งหลายยังอ่านไม่หมด ขอทุกคนให้อภัยด้วย"[1]

การลงนาม[แก้]

วันที่ 14 มีนาคม ค.ศ. 1895 ราชสำนักชิงได้ส่งคณะผู้แทนการลงนามสนธิสัญญาชิโมโนเซกิโดยมี หลี่ หงจาง ผู้แทนสูงสุด นำคณะซึ่งประกอบไปด้วย หลี่ จิงฟาง ลูกชายของเขา อู่ถิงฟาง อุปทูตระดับสูง และเคอซื่อต๋าที่ปรึกษา โดยสารเรือกลไฟเยอรมันสองลำไปเจรจาสงบศึกกับฝ่ายญี่ปุ่นที่เมืองชิโมโนเซกิ (ปัจจุบันคือเมืองชิโมโนเซกิ จังหวัดยะมะงุจิ) วันที่ 19 มีนาคม หลี่ หงจางและคณะเดินทางมาถึงเมืองชิโมโนเซกิ พวกเขาพักในวัดอินโจจิซึ่งอยู่ใกล้กับอาคารชุมปันโร พอถึงเวลาบ่ายสองโมงครึ่งของวันรุ่งขึ้น หลี่หงจางและคณะก็เดินก้าวเข้าสู่อาคารปันโรด้วยฝีเท้าหนักแน่น

ณ ชั้นบนของอาคารชุมปันโร มีเก้าอี้สิบกว่าตัวจัดวางรอบโต๊ะสี่เหลี่ยมขนาดค่อนข้างใหญ่ตัวหนึ่ง ฝ่ายญี่ปุ่นได้จงใจจัดวางกระโถนให้หลี่ หงจาง ผู้มีอายุเกินเจ็ดสิบปีเป็นการเฉพาะ ซึ่งถือเป็นการดูหมิ่นเหยียดหยาม ในระหว่างการเจรจาครั้งแรก อิโต ฮิโระบุมิ ผู้แทนเจรจาฝ่ายญี่ปุ่น เสนอเงื่อนไขอันแสนโหดร้ายในการยุติสงครามแก่หลี่ หงจาง และแถลงว่า หากจีนไม่ยอมรับเงื่อนไขนี้ญี่ปุ่นก็จะส่งทหารไปเพิ่มและทำสงครามอีกครั้ง แต่หลี่ หงจางกลับคาดหวังให้ญี่ปุ่นหยุดรบก่อน เขาวิงวอนให้ญี่ปุ่นลดเงื่อนไขที่ขูดรีดกับจีนลงบ้าง ผู้แทนของทั้งสองประเทศปะทะคารมกันอย่างดุเดือดต่างฝ่ายต่างไม่ยอมอ่อนข้อให้กันจนการเจรจาชะงักงันลง สถานการณ์เป็นเช่นนี้ไปเรื่อยจนถึงวันที่ 24 มีนาคม ทั้งสองฝ่ายก็ยังไม่ได้ข้อสรุปร่วมกัน

หลี่หงจางถูกลอบทำร้ายขณะลงนาม[แก้]

ในเวลานี้เอง มีเหตุการณ์อย่างหนึ่งเกิดขึ้นกะทันหันทำให้การเจรจาเปลี่ยนวิถีไป หลังจากที่การเจรจาในวันนั้นเสร็จสิ้นลง หลี่ หงจางดูกลัดกลุ้มอ่อนเพลียและมีเรื่องหนักใจเต็มไปหมด เขาก้าวออกจากอาคารชุมปันโรแล้วนั่งเกี้ยวกลับไปที่วัดอินโจจิ ในขณะที่เกี้ยวของหลี่ หงจางใกล้ถึงที่พักทันใดนั้นก็มีชายชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งซึ่งถือปืนพกหนึ่งกระบอกในมือพุ่งตัวออกมาจากฝูงชน เขาเล็งปืนไปที่หลี่ หงจางแล้วก็ยิงเข้าใส่โดยไม่รอให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยผู้ติดตามหลี่ หงจางได้ทันตั้งตัว กระสุนปืนยิงถูกแก้มซ้ายของหลี่ หงจางจนเลือดไหลอาบหน้า เมื่อเห็นเช่นนั้นผู้ติดตามจึงรีบหามหลี่ หงจางกลับเข้าที่พักในวัดอินโจจิ แพทย์รีบตรวจอาการบาดเจ็บของเขาอย่างละเอียดทันทีและพบว่ากระสุนยิงโดนกระดูกโหนกแก้มด้านซ้าย ตำแหน่งบาดแผลอยู่ใต้ตาซ้ายประมาณหนึ่งนิ้ว กระสุนยังคงค้างอยู่ในเนื้อแต่ไม่เป็นอันตรายต่อดวงตา หลี่ หงจาง หลังได้ถูกลอบทำร้ายมีท่าทีสงบนิ่ง เขาได้กล่าวกำชับผู้ติดตามให้เก็บเสื้อเปื้อนเลือดที่เขาถอดไว้ อย่าซักรอยเลือดออก หลี่ หงจางได้ชี้นิ้วไปที่เสื้อเปื้อนเลือดตัวนั้นแล้วกล่าวอย่างองอาจว่า "เลือดนี้แหละที่จะตอบแทนคุณประเทศชาติ และจงจำบทเรียนอันอัปยศครั้งนี้เอาไว้ให้ดี"

ข้อความ[แก้]

การลงนามสนธิสัญญาชิโมโนเซกิ
ศาลาชุนปันโรในเมืองชิโมโนเซกิ เป็นอาคารที่ลงนาม
สนธิสัญญาสันติภาพ
สมเด็จพระจักรพรรดิกรุงญี่ปุ่นแลสมเด็จพระจักรพรรดิกรุงจีน ทรงปรารถนายิ่งให้ฟื้นฟูสันติภาพระหว่างสองประเทศแลข้าแผ่นดินในพระองค์ แลโปรดให้ขจัดเหตุอันจะก่อให้เกิดข้อปัญหาต่างๆในอนาคต จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้านามผู้มีอำนาจในพระปรมาภิไธยไว้เพื่อสำเร็จเสร็จการสนธิสัญญาสันติภาพ ดังความต่อไปนี้
สมเด็จพระจักรพรรดิกรุงญี่ปุ่นโดยเคานต์ อิโต ฮิโระบุมิ จุนอี สมาชิกเครื่องราชอิสริยาภรณ์ดอกคิริชั้นสูงสุด ประธานคณะรัฐมนตรี กับไวเคานต์ มุสึ มุเนะมิสึ จุนอี สมาชิกเครื่องราชอิสริยาภรณ์มงคลรัตน์ชั้นหนึ่ง รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ
แลสมเด็จพระจักรพรรดิกรุงจีนโดยหลี่ หงจาง พระอาจารย์อาวุโสในองค์รัชทายาท มหาเสนาบดีอาวุโส แลเสนาบดีว่าการพาณิชย์ประจำท่าเรือฝ่ายเหนือของจีน ข้าหลวงมณฑลจี๋หลี้ ขุนนางขั้นหนึ่ง กับ หลี่ จิ้งฟาง อดีตเสนาบดีกรมการทูต ขุนนางขั้นสอง
หลังแลกเปลี่ยนหนังสือแสดงอำนาจเต็ม ซึ่งได้ถูกตรวจว่าถูกต้องแลเปนไปตามธรรมเนียมที่เหมาะสมแล้ว จึงได้ตกลงตามข้อต่อไปนี้:—
ข้อ 1 กรุงจีนยอมรับอย่างหนักแน่นต่อความเปนเอกราชแลอิสรภาพของกรุงเกาหลี แลฉนั้น การส่งราชบรรณาการแลพิธีการต่างๆของกรุงเกาหลีต่อกรุงจีนซึ่งจะอยู่ในระงับไว้เนื่องจากความเปนเอกราชแลอิสรภาพนั้น จะถูกล้มเลิกทั้งหมดในภายหน้า
ข้อ 2 กรุงจีนยอมยกให้แก่กรุงญี่ปุ่นซึ่งกรรมสิทธิ์แลอำนาจอธิปไตยถาวรในดินแดนต่อไปนี้ ตลอดจนทรัพย์ของหลวง, ปืนใหญ่, ป้อมปราการ ซึ่งตั้งอยู่ใน:
(หนึ่ง) ส่วนใต้ของมณฑลเฝิ้งเทียน[...]
(สอง) เกาะไต้หวัน ตลอดจนบรรดาเกาะแก่งซึ่งพาดเกี่ยวหรือเปนของเกาะไต้หวันที่กล่าวมา
(สาม) กลุ่มเกาะเผิงหู ซึ่งจะหมายถึง บรรดาเกาะแก่งระหว่างเส้นแวงที่ 119 ถึง 120 องศาทางตะวันออกของกรีนิช กับเส้นรุ้งที่ 23 ถึง 24 องศาเหนือ
ข้อ 3 การวางแนวพรมแดนซึ่งได้อธิบายไปในข้อก่อนหน้าและได้แสดงบนแผนที่ซึ่งผนวกดินแดนแล้ว จะถูกพิสูจน์แลปักปันเขตโดยคณะกรรมาธิการปักปันเขตแดนร่วม ประกอบด้วยผู้แทนญี่ปุ่นตั้งแต่สองคนหรือมากกว่า กับผู้แทนจีนตั้งแต่สองคนหรือมากกว่า ซึ่งจะถูกแต่งตั้งในทันทีหลังแลกเปลี่ยนสัตยาบันในหนังสือสัญญานี้ ในกรณีที่พรมแดนตามข้อบัญญัตินี้ถูกพบว่ามีข้อบกพร่องไม่ว่าจุดใดก็ตาม ทั้งความรับผิดชอบด้านการทำแผนที่หรือความรับผิดชอบในการพิจารณาการจัดการที่เหมาะสม จะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมาธิการปักปันเขตแดนเช่นกัน เพื่อปรับปรุงให้ถูกต้อง
คณะกรรมาธิการปักปันเขตแดนจะเข้าทำหน้าที่ในทันทีที่เปนไปได้ แลจะทุ่มเทกำลังเพื่อให้ได้ข้อสรุปผลภายในระยะเวลาหนึ่งปีหลังการแต่งตั้ง
อย่างไรก็ตาม การปรับแนวพรมแดนตามที่บัญญัติในหนังสือสัญญานี้ จะมีอยู่จนกว่าคณะกรรมาธิการปักปันเขตแดนได้ปรับแก้ไขให้ถูกต้อง หากมีการแก้ไขใดๆ จะต้องได้รับการอนุมัติจากทั้งรัฐบาลกรุงญี่ปุ่นแลกรุงจีน
ข้อ 4 กรุงจีนยินยอมชำระแก่กรุงญี่ปุ่นซึ่งค่าปฏิกรรมสงครามเปนจำนวนเงิน 200,000,000 ตำลึงกู้ผิง จำนวนเงินที่กล่าวมาจะถูกชำระเป็นแปดงวด งวดแรกจำนวน 50,000,000 ตำลึงจะชำระภายในหกเดือน งวดที่สองจำนวน 50,000,000 ตำลึงจะชำระภายในสิบสองเดือนหลังแลกเปลี่ยนสัตยาบันในหนังสือสัญญานี้ อีกหกงวดที่เหลือจะแบ่งจ่ายงวดละเท่าๆกันดังนี้ งวดแรกภายในสองปี งวดที่สองภายในสามปี งวดที่สามภายในสี่ปี งวดที่สี่ภายในห้าปี งวดที่ห้าภายในหกปี แลงวดที่หกภายในเจ็ดปีหลังแลกเปลี่ยนสัตยาบันในหนังสือสัญญานี้ ดอกเบี้ยร้อยละห้าต่อปีจะเริ่มคิดกับส่วนที่ค้างจ่ายตามงวดที่กล่าวมา ตั้งแต่วันที่งวดแรกผิดนัดชำระ
อย่างไรก็ตาม กรุงจีนมีสิทธิที่จะชำระก่อนกำหนดเมื่อใดของงวดใดที่กล่าวมาก็ได้ ในกรณีที่ยอดทั้งหมดถูกชำระภายในสามปีหลังแลกเปลี่ยนสัตยาบันในหนังสือสัญญานี้ ดอกเบี้ยทั้งหมดสามารถถูกเรียกคืนได้ แลดอกเบี้ยในสองปีครึ่งหรือระยะเวลาที่สั้นกว่า ถ้าได้ชำระแล้วจะถูกรวมเปนเงินต้นของงวด
ข้อ 5 ราษฎรของดินแดนซึ่งยกให้แก่กรุงญี่ปุ่นที่ต้องการอาศัยอยู่นอกเขตซึ่งยกให้เหล่านี้ ย่อมมีเสรีที่จะขายทรัพย์สินของเขาและย้ายออกไป เพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าว จะกำหนดเปนระยะเวลาสองปีหลังแลกเปลี่ยนสัตยาบันในหนังสือสัญญานี้ เมื่อหมดระยะเวลาดังกล่าว ราษฎรเหล่านั้นจะมิอาจย้ายออกจากดินแดนเหล่านั้น ญี่ปุ่นอาจถือว่าราษฎรเหล่านั้นเปนข้าแผ่นดินญี่ปุ่น
รัฐบาลทั้งคู่จะส่งกรรมาธิการหนึ่งคนหรือมากกว่าไปยังไต้หวันในทันทีหลังแลกเปลี่ยนสัตยาบันในหนังสือสัญญานี้ เพื่อทำให้การส่งมอบสุดท้ายของมณฑลนั้นเปนการสมบูรณ์ภายในกรอบสองเดือนหลังแลกเปลี่ยนสัตยาบันในหนังสือสัญญานี้
[และข้ออื่นๆอีกหกข้อ]


อ้างอิง[แก้]

  1. หวังหลง (2559) ราชสำนักจีนหันซ้าย โลกหันขวา. สำนักพิมพ์มติชน. ISBN 9789740214564
  • Chamberlain, William Henry. (1937). Japan Over Asia. Boston:, Little, Brown, and Company.
  • Cheng, Pei-Kai and Michael Lestz. (1999). The Search for Modern China: A Documentary Collection. New York: W. W. Norton & Company.
  • Colliers. (1904). The Russo-Japanese War. New York: P.F. Collier & Son.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]