เกลนน์ ที. ซีบอร์ก
เกลนน์ ที. ซีบอร์ก (อังกฤษ: Glenn T. Seaborg, 19 เมษายน ค.ศ. 1912 – 25 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1999) เป็นนักเคมีชาวอเมริกันที่มีส่วนร่วมในการสังเคราะห์ธาตหลังยูเรเนียม 10 ธาตุ ทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีใน ค.ศ. 1951 [3] งานของเขาในเคมีนิวเคลียร์นี้ยังนำไปสู่การพัฒนาแนวคิดแถบแอกทิไนด์ และการจัดเรียงแถบแอกทิไนด์ในตารางธาตุ
ซีบอร์กใช้เวลาส่วนใหญ่ในอาชีพการงานของเขาในฐานะนักศึกษาและนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ต่อมาดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ และเป็นตำแหน่งอธิการบดีคนที่สองของมหาวิทยาลัยในปี 1958 ถึง 1961 [4] เขาเป็นที่ปรึกษาประธานาธิบดีสหรัฐฯ 10 คน ตั้งแต่แฮร์รี เอส. ทรูแมนถึงบิล คลินตัน เกี่ยวกับนโยบายนิวเคลียร์และเป็นประธานคณะกรรมาธิการพลังงานปรมาณูแห่งสหรัฐ ตั้งแต่ปี 1961 ถึง 1971 ซึ่งเขาผลักดันให้มีการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในเชิงพาณิชย์และการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์นิวเคลียร์อย่างสันติ ตลอดอาชีพการงานของเขา ซีบอร์กทำงานกำกับการควบคุมอาวุธ เขาเป็นผู้ลงนามในสัญญาแฟรงค์ และมีส่วนร่วมในสนธิสัญญาข้อจำกัดการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ สนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ และสนธิสัญญาห้ามทดสอบอาวุธนิวเคลียร์อย่างครอบคลุม เขาเป็นผู้สนับสนุนด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์และการระดมทุนของรัฐบาลกลางสำหรับการวิจัย ในช่วงสิ้นสุดสมัยของประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ เขาเป็นผู้เขียนหลักของรายงานซีบอร์ก เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์เชิงวิชาการ และในฐานะสมาชิกคนหนึ่งของ คณะกรรมการความเป็นเลิศด้านการศึกษาแห่งชาติ ของประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน เขาเป็นผู้สนับสนุนหลักในรายงานฉบับปี 1983 "รายงานประเทศชาติบนความเสี่ยง"
ซีบอร์กเป็นหัวหน้ากลุ่มและผู้ร่วมค้นพบธาตุหลังยูเรเนียม 10 ธาตุ ได้แก่ พลูโทเนียม อะเมริเซียม คูเรียม เบอร์คีเลียม แคลิฟอร์เนียม ไอน์สไตเนียม เฟอร์เมียม เมนเดลีเวียม โนเบเลียม และธาตุเลขอะตอม 106 ซึ่งในขณะที่เขายังมีชีวิตอยู่ ได้รับการตั้งชื่อว่า ซีบอร์เกียม เพื่อเป็นเกียรติแก่เขา เขาเคยพูดเกี่ยวกับการตั้งชื่อธาตุนี้ว่า "นี่เป็นเกียรติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่ผมเคยมอบให้ตัวเอง ผมคิดว่ามันดีกว่าการได้รับรางวัลโนเบลเสียอีก ผู้ศึกษาศาสตร์เคมีในอนาคต เมื่อเรียนรู้เกี่ยวกับตารางธาตุ อาจจะมีผู้ที่ถามว่าทำไมธาตุนี้ถึงตั้งชื่อให้ผม และพวกเขาก็จะดูผลงานของผม" [5] นอกจากนี้ เขายังค้นพบไอโซโทปของธาตุหลังยูเรเนียมมากกว่า 100 ไอโซโทป และได้รับการยกย่องว่ามีส่วนสำคัญในด้านเคมีของพลูโทเนียม ซึ่งเดิมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการแมนแฮตตัน ซึ่งเขาได้พัฒนากระบวนการสกัดที่ใช้ในการแยกเชื้อเพลิงพลูโทเนียมสำหรับระเบิดปรมาณู ในช่วงแรก ๆ ของอาชีพของเขา เขาเป็นผู้บุกเบิกด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์และได้ค้นพบไอโซโทปของธาตุต่าง ๆ ที่มีการใช้งานที่สำคัญในการวินิจฉัยและรักษาโรค รวมถึงไอโอดีน-131 ซึ่งใช้ในการรักษาโรคไทรอยด์ นอกเหนือจากงานเชิงทฤษฎีของเขาในการพัฒนาแนวคิดแถบแอกทิไนด์ ซึ่งวางชุดแอกทิไนด์ไว้ใต้แถบแลนทาไนด์ บนตารางธาตุ เขายังตั้งสมมติฐานการมีอยู่ของธาตุซูเปอร์เฮฟวีในกลุ่มธาตุหลังแอกทิไนด์และซูเปอร์แอกทิไนด์
หลังจากที่ได้รางวัลโนเบลสาขาเคมีในปี 1951 ร่วมกับเอ็ดวิน แม็คมิลลัน เขาได้รับปริญญาเอกกิตติมศักดิ์ประมาณ 50 ครั้งและรางวัลและเกียรติยศ อื่น ๆ มากมาย รายชื่อสิ่งของที่ตั้งชื่อตามชื่อของเขา มีตั้งแต่ธาตุเคมีซีบอร์เกียม ไปจนถึงดาวเคราะห์น้อย 4856 ซีบอร์ก เขาเป็นนักเขียนที่มีส่วนร่วมในหนังสือหลายเล่มและบทความในวารสาร 500 บทความ ซึ่งมักจะทำงานร่วมกับผู้อื่น
เขาเคยถูกระบุในบันทึกสถิติโลกกินเนสส์ ว่าเป็นบุคคลอยู่ในวารสารของ Who's Who in America ยาวนานที่สุด [5]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "SCI Perkin Medal". Science History Institute. May 31, 2016. สืบค้นเมื่อ March 24, 2018.
- ↑ อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ
<ref>
ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อformemrs
- ↑ "The Nobel Prize in Chemistry 1951". Nobel Foundation. สืบค้นเมื่อ August 26, 2012.
- ↑ Office of the Chancellor. "Past Chancellors". University of California, Berkeley. สืบค้นเมื่อ December 24, 2015.
- ↑ 5.0 5.1 "UCLA Glenn T. Seaborg Symposium - Biography". www.seaborg.ucla.edu. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-02-06. สืบค้นเมื่อ 2022-04-25.