สวนสัตว์เชียงใหม่

พิกัด: 18°48′32″N 98°56′49″E / 18.809°N 98.947°E / 18.809; 98.947
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สวนสัตว์เชียงใหม่
สวนสัตว์เชียงใหม่
ทางเข้าสวนสัตว์เชียงใหม่
วันที่เปิด
  • พ.ศ. 2500 (สวนสัตว์เอกชน)[1]
  • พ.ศ. 2520 (สวนสัตว์ของรัฐ)[1]
ที่ตั้งตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
พิกัด18°48′32″N 98°56′49″E / 18.809°N 98.947°E / 18.809; 98.947
พื้นที่200 เอเคอร์ (0.81 ตารางกิโลเมตร)[2]
จำนวนสปีชีส์มากกว่า 400 ชนิด
เจ้าขององค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย
เว็บไซต์www.chiangmaizoo.com
สถาปัตยกรรมบริเวณทางเข้าของสวนสัตว์ ซึ่งมีการเขียนว่า "สวนสัตว์เชียงใหม่" เป็นสามภาษา ได้แก่ ภาษาอังกฤษ ภาษาล้านนา (เขียนด้วยตัวเมือง) และภาษาไทย)

สวนสัตว์เชียงใหม่ เป็นสวนสัตว์ในความดูแลขององค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ตั้งอยู่บริเวณทางขึ้นดอยสุเทพ บนถนนห้วยแก้ว ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่ 8.00 น. - 17.00 น. มีสัตว์อยู่จำนวนมาก เช่น เสือโคร่งขาว กวาง วัวแดง ฮิปโปโปเตมัส นกเพนกวิน ช้าง จระเข้ ยีราฟ แพนด้าแดง ม้าลาย และยังมีส่วนจัดแสดงหมีแพนด้า ช่วงช่วง และ หลินฮุ่ย ทูตจากประเทศจีน นอกจากนั้นภายในสวนสัตว์เชียงใหม่ยังมีโบราณสถานที่ชื่อว่า วัดกู่ดินขาว ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณเวียงเจ็ดลิน และมีการแสดงความสามารถของสัตว์ เช่น นกมาคอว์ นาก นกกระทุง และมีส่วนจัดแสดงเพนกวินและแมวน้ำ

นอกจากนี้ สวนสัตว์เชียงใหม่ยังเป็นที่ตั้งของ เชียงใหม่ ซู อควาเรียม ศูนย์แสดงพันธ์สัตว์น้ำครบวงจร ที่มีอุโมงค์น้ำความยาวกว่า 133 เมตร ซึ่งจัดว่ายาวที่สุดในโลก แบ่งเป็นอุโมงค์น้ำเค็ม 66.5 เมตร และอุโมงค์น้ำจืด 66.5 เมตร โดยเชียงใหม่ ซู อควาเรียมได้รวบรวมปลาน้ำจืดแห่งลุ่มแม่น้ำโขงและโลกใต้ทะเลเข้าด้วยกัน เพื่อให้ชีวิตน้อยใหญ่ได้อาศัยพึ่งพิง ปัจจุบัน ผู้อำนวยการสวนสัตว์เชียงใหม่ คือ นายวุฒิชัย ม่วงมัน

ประวัติ[แก้]

สวนสัตว์เชียงใหม่ ก่อตั้งขึ้นโดยนายฮาโรลด์ เมสัน ยัง (Mr.Harold Mason Young) มิชชันนารีชาวอเมริกัน ผู้เข้ามาเป็นอาสาสมัครสอนการยังชีพในป่าให้แก่พวกทหารและตำรวจชายแดน ในช่วงสงครามเกาหลี (พ.ศ. 2493 - 2496) โดยอาศัยพื้นที่บ้านที่ตนเช่าอยู่คือ บ้านเวฬุวัน เชิงดอยสุเทพ ซึ่งเป็นของนาย กี นิมมานเหมินท์ (พ.ศ. 2431 - 2508) และนางกิมฮ้อ นิมมานเหมินท์ (พ.ศ. 2437 - 2524) เป็นสถานที่เริ่มต้น โดยเริ่มเปิดเป็นสวนสัตว์เล็ก ๆ ของเอกชนขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อประมาณ พ.ศ. 2495 โดยจ้างคนพื้นเมืองและชาวเขาจำนวนไม่มากนักช่วยดูแล

นายฮาโรลด์ เมสัน ยัง เป็นบุตรของมิชชันนารีชาวอเมริกันเกิดที่รัฐฉาน ประเทศพม่าเคยทำงานในฐานะมิชชันนารีในรัฐฉาน ดินแดนของชาวไต ซึ่งอุดมด้วยสัตว์ป่านานาชนิดมาก่อน และเหตุผลที่ทำให้นายฮาโรลด์ ต้องเข้ามาทำงานในฐานะอาสาสมัครสอนการยังชีพในป่าให้แก่ทหารและตำรวจชายแดนในประเทศไทย ก็คงเนื่องด้วยพันธะที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกามีต่อรัฐบาลไทย ในการสนับสนุนทั้งทางด้านการเมือง การทหาร เศรษฐกิจ สังคม ฯลฯ อย่างเต็มที่เพื่อร่วมกันต่อต้านคอมมิวนิสต์ตามสนธิสัญญาไทย - อเมริกัน 3 ฉบับ คือ

  1. ความตกลงทางการศึกษาและวัฒนธรรม ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2493
  2. ความตกลงร่วมมือทางเศรษฐกิจและเทคนิค ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2493
  3. ความตกลงทางการช่วยเหลือทางทหาร ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2493

ผลปรากฏว่าหลังจากปี พ.ศ. 2493 รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้จัดส่ง คณะที่ปรึกษา อาสาสมัคร และกำลังสนับสนุนด้านต่าง ๆ เข้าสู่ประเทศไทยจำนวนมาก เฉพาะด้านทหารและตำรวจนั้น สหรัฐอเมริกาได้ส่งคณะที่ปรึกษาทางทหารมาประจำประเทศไทยในปี พ.ศ. 2493 ต่อมาขยายเป็นหน่วย JUSMAG เพื่อช่วยวางแผนการจัดกองพล การจัดกรมผสม จัดระบบ ส่งกำลังกองทัพบก ฯลฯ ขณะที่กองกำลังตำรวจขณะนั้นอยู่ภายใต้การนำของพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ก็ได้รับการขยายกำลังออกไปอย่างกว้างขวาง โดยรัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ให้การสนับสนุน ผ่านทางบริษัทซี ซัปพลาย (Sea Supply Corporation) การเข้ามาทำงานในประเทศไทยในฐานะอาสาสมัครสอนการยังชีพในป่าให้แก่ทหาร และตำรวจตระเวรชายแดนของนายฮาโรลด์ เมสัน ยัง ก็คงอยู่ในบริษัททางการเมืองดังกล่าวนี้ด้วย

การสะสมสัตว์นานาชนิดของนาย ฮาโรลด์ เมสัน ยัง ภายในบริเวณบ้านเวฬุวันที่ตนเช่าอยู่นั้น คงมี มากขึ้น ๆ และคงสร้างต้องอาศัยพื้นที่ในบริเวณบ้านเวฬุวันมากขึ้นคงทำให้พื้นที่อันสวยงามของบ้านเวฬุวัน เช่น สนามหญ้าหน้าบ้านถูกใช้เป็นที่เลี้ยงสัตว์ไปโดยปริยาย

จากคำบอกเล่าของศาสตราจารย์ อัน นิมมานเหมินท์ ทายาทคนหนึ่งของ นาย กี-นาง กิมฮ้อ นิมมานเหมินท์ ได้ขอให้นายฮาโรลด์ ผู้เช่าบ้านเวฬุวัน ย้ายสวนสัตว์ของเขาไปไว้ที่ ที่ดินอีกแปลงหนึ่งของนาย กี-นาง กิมฮ้อ นิมมานเหมินท์ ซึ่งอยู่เชิงดอยสุเทพเช่นกันซึ่งปัจจุบันเป็นพื้นที่ที่ส่วน หนึ่งของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่คงโดยเหตุที่นายฮาโรลด์เป็นชาวอเมริกัน ประชาชนของประเทศที่มีอิทธิพลทางการเมืองสูงยิ่งของโลก เขาจึงติดต่อขอที่ดินป่าสงวนเชิงดอยสุเทพต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่โดยตรง จนได้รับอนุมัติให้ใช้พื้นที่ป่าสงวนเชิงดอยสุเทพประมาณ 60 ไร่ เป็นที่ตั้งสวนสัตว์ของเอกชน เปิดบริการให้เข้าชมตั้งแต่วันจักรี 6 เมษายน พ.ศ. 2500 จนกระทั่งนายฮาโรลด์ถึงแก่อนิจกรรมในปี พ.ศ. 2518

จนกระทั่งปี พ.ศ. 2520 สวนสัตว์จึงโอนเข้าสังกัดองค์การสวนสัตว์ สำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2520 เป็นต้นมา เนื่องนับถึงวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2530 สวนสัตว์เชียงใหม่ได้มีอายุครบ 10 ปีเต็ม ในรอบทศวรรษนั้น สวนสัตว์เชียงใหม่ได้ขยายพื้นที่จากเดิมที่จังหวัดเชียงใหม่อนุมัติให้นายฮาโรลด์ จัดตั้งสวนสัตว์ประมาณ 60 ไร่ ได้รับการขยายเป็น 130 ไร่

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2526 สวนสัตว์เชียงใหม่ก็ได้รับความเห็นชอบจากกรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะรัฐมนตรีให้ขยายพื้นที่บริเวณเชิงดอยสุเทพ เพิ่มเติมอีกประมาณ 500 ไร่ ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาสวนสัตว์ ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน จำนวนหนึ่งโดยมี ศาสตราจารย์ อัน นิมมานเหมินท์ เป็นประธานดำเนินงานวางผังหลักกำหนดแนวทางพัฒนาสวนสัตว์เชียงใหม่

จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ทั้งประเภทตำนาน จารึก และภาพถ่ายทางอากาศยืนยันชัดว่าพื้นที่ส่วนหนึ่งของสวนสัตว์เชียงใหม่คือส่วนหนึ่งของ เวียงเจ็ดลิน เวียงโบราณรูปวงกลมที่สร้างขึ้นในสมัยพญาสามฝั่งแก่น กษัตริย์แห่งราชวงศ์มังราย ลำดับที่ 8 (พ.ศ. 1945 - 1984) ร่องรอยคูน้ำ คันดินบางส่วนก็ยังปรากฏอยู่ในปัจจุบันซากอิฐจำนวนไม่น้อย ยังคงปรากฏทั่วไปในบริเวณสวนสัตว์เชียงใหม่ โดยเฉพาะบนเนินเนินเหนือที่เลี้ยงช้าง เป็นกองอิฐก้อนใหญ่มาก เป็นร่องรอยให้สามารถสันนิษฐานได้ว่าเป็นโบราณสถานที่เกี่ยวข้องกับทางศาสนา (ซึ่งเป็นที่ตั้งของโบราณสถานวัดกู่ดินขาวในปัจจุบัน)

ระเบียงภาพ[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 "History of Chiang Mai Zoo (in Thai)". chiangmaizoo.peam.biz. Chiang Mai Zoo. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-06. สืบค้นเมื่อ 25 September 2011.
  2. "History". chiangmaizoo.peam.biz. Chiang Mai Zoo. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-06. สืบค้นเมื่อ 25 September 2011.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]