มณฑลภาค
มณฑลภาค เป็นระบบแบ่งเขตการปกครองส่วนภูมิภาคของราชอาณาจักรสยามตั้งแต่ปี พ.ศ. 2458 จนถึงปี พ.ศ. 2469 โดยมีการรวมมณฑลเทศาภิบาล 2 - 3 มณฑลเข้าเป็นมณฑลภาค มีอุปราชภาคบังคับบัญชาและมีอำนาจเหนือภาคดังกล่าว
สาเหตุการจัดตั้ง
[แก้]สืบเนื่องมาจากปริมาณของงานซึ่งได้ขยายตัวขึ้นตามกาลสมัย เช่น พลเมืองมากขึ้น อุปัตทวเหตุภยันตราย และภารกิจหลายย่อมเพิ่มพูนขึ้นเป็นเงาตามตัว ทั้งพระราชกำหนดกฎหมายระเบียบแบบแผนของรัฐบาลก็ได้บัญญัติขึ้นใหม่สำหรับปฏิบัติราชการ ราชการในหน้าที่ของมณฑลซึ่งต้องติดต่อกับกระทรวงการในกรุงเทพฯ ก็ย่อมเพิ่มพูนขึ้นตามส่วนด้วยทุกด้าน กระทรวงมหาดไทยต้องการหาทางออกแบ่งเบาภาระของกระทรวงการในกรุง โดยไม่ต้องเพิ่มอัตราคนในกระทรวงขณะนั้น จึงรวมมณฑลที่ใกล้เคียงกันราว 2 - 3 มณฑล ตั้งเป็นภาคขึ้นภาคหนึ่ง สำหรับดำเนินราชการระหว่างมณฑลกับกระทรวง ให้มีข้าราชการชั้นสูงเป็นตำแหน่งอุปราชประจำภาค ภาคละตำแหน่งหนึ่ง โดยมีฐานะระหว่างเสนาบดีกับสมุหเทศาภิบาล สำหรับบัญชาการพลเรือนแทนกระทรวงในกรุง เท่าที่พระราชทานอำนาจและหน้าที่ไว้
การปกครอง
[แก้]ตำแหน่ง "อุปราช" นั้น
อำนาจหน้าที่ของอุปราชประจำมณฑลภาค มีดังต่อไปนี้
- อุปราชประจำภาคเป็นข้าราชการผู้ใหญ่ต่างพระองค์ รับราชการต่างพระเนตรพระกรรณประจำอยู่หัวเมือง มีอำนาจเหนือข้าราชการฝ่ายพลเรือนทุกตำแหน่งบรรดาประจำรับราชการอยู่ในภาคหนึ่ง และมีหน้าที่บังคับบัญชาตรวจตราแนะนำราชการ ในส่วนธุรการให้เป็นไปตามกระแสพระบรมราชโองการและพระราชกำหนดกฎหมาย ทั้งดำริการทะนุบำรุงพระราชอาณาจักรภาคนั้นให้เจริญขึ้น โดยกุศโลบายอันเหมาะแก่ท้องที่และต้องด้วยพระบรมราโชบาย
- อุปราชจะตั้งที่ทำการอยู่ในมณฑลใดในภาคนั้นก็ได้ ให้มีข้าราชการประจำทำราชการกับอุปราชตามสมควรแก่ราชการ
- การที่จะบังคับบัญชาราชการและใบบอกรายงาน หรือหนังสือราชการมายังเสนาบดีเจ้ากระทรวงในกรุงเทพฯ นั้น ถ้าราชการสิ่งใดมีกฎและข้อบังคับวางไว้ชัดเจนเป็นระเบียบแล้ว ให้สมุหเทศาภิบาลมณฑลนั้นบังคับบัญชา และมีใบบอกตรงมายังเสนาบดีเจ้ากระทรวงในกรุงเทพฯ ตามเดิม แต่ถ้าเป็นราชการสำคัญ หรือราชการที่ยังไม่ได้มีกฎหรือข้อบังคับวางไว้เป็นระเบียบแล้วอย่างหนึ่ง การขอแต่งตั้งถอดถอนข้าราชการตั้งแต่ชั้นนายอำเภอขึ้นไปอย่างหนึ่ง การเสนอความดีความชอบผู้สมควรจะได้รับพระราชทานยศบรรดาศักดิ์หรือเครื่องราชอิสริยาภรณ์อย่างหนึ่ง การทำงบประมาณจ่ายประจำปีของมณฑลอย่างหนึ่ง สมุหเทศาภิบาลต้องได้รับอนุมัติของอุปราชก่อน แล้วจึงจะมีใบบอกเสนอมายังเสนาบดีเจ้ากระทรวงในกรุงเทพฯ ได้
มณฑลภาค
[แก้]- มณฑลภาคพายัพ ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2459 โดยรวมท้องที่มณฑลพายัพกับมณฑลมหาราษฎร์[1] ที่บัญชาการภาครวมกับศาลารัฐบาลมณฑลพายัพ ณ จังหวัดเชียงใหม่ โปรดเกล้าฯ ให้มหาเสวกโท เจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร) สมุหเทศาภิบาลมณฑลพายัพเป็นอุปราชภาค
- มณฑลภาคตะวันตก (เดิมสะกดว่า ภาคตวันตก) ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2459 (นับแบบเก่า พ.ศ. 2458) โดยรวมท้องที่มณฑลนครชัยศรีกับมณฑลราชบุรี[2] ที่บัญชาการภาคตั้งที่มณฑลนครชัยศรี ณ จังหวัดนครปฐม โปรดเกล้าฯ ให้มหาอำมาตย์โท พระยามหาอำมาตยาธิบดี รองเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเป็นอุปราชภาค
- มณฑลภาคปักษ์ใต้ ตั้งขึ้นเมื่อ 29 มีนาคม พ.ศ. 2459 (นับแบบเก่า พ.ศ. 2458) โดยรวมท้องที่มณฑลนครศรีธรรมราช มณฑลปัตตานี และมณฑลสุราษฎร์[3] ที่บัญชาการภาครวมกับศาลารัฐบาลมณฑลนครศรีธรรมราช ณ จังหวัดสงขลา โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ เป็นอุปราชภาค
- มณฑลภาคอีสาน (เดิมสะกดว่า ภาคอิสาณ) โดยรวมท้องที่มณฑลอุดร มณฑลอุบล และมณฑลร้อยเอ็ด[4] ที่บัญชาการภาครวมกับศาลารัฐบาลมณฑลอุดร ณ จังหวัดอุดรธานี โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยามุขมนตรี (อวบ เปาโรหิตย์) เป็นอุปราชภาค
การยกเลิก
[แก้]เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจ รัฐบาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจำเป็นต้องตัดรายจ่ายลงให้ได้มากที่สุดทุกด้าน เมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2469 (นับแบบเก่า พ.ศ. 2468) จึงได้มีประกาศกระแสพระบรมราชโองการให้ยกเลิกตำแหน่งอุปราชประจำภาคและมณฑลต่าง ๆ คงไว้แต่ตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลตามเดิม[5]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "ประกาศเลิกมณฑลเพ็ชร์บูรณ์เข้าเปนเมืองในมณฑลพิศณุโลก แลแยกมณฑลพายัพเปนมณฑลมหาราษฎร์ แลมณฑลพายัพ รวมเรียกว่า มณฑลภาคพายัพ มีตำแหน่งอุปราชเปนผู้ตรวจตรากำกับราชการ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 12 กันยายน พ.ศ. 2458. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2014-10-20. สืบค้นเมื่อ 7 มกราคม พ.ศ. 2562.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
และ|date=
(help) - ↑ "ประกาศ ตั้งมณฑลภาคตะวันตก" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๓๒ หน้า ๔๑๗ วันที่ ๑๖ มกราคม ๒๔๕๘. 16 มกราคม พ.ศ. 2458. สืบค้นเมื่อ 7 มกราคม พ.ศ. 2562.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
และ|date=
(help) - ↑ "พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งอุปราชมณฑลปักษ์ใต้ [นายพันเอก สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนลพบุรีราเมศวร์]" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๓๓ หน้า ๑ วันที่ ๒ เมษายน ๒๔๕๙. 2 เมษายน พ.ศ. 2459. สืบค้นเมื่อ 7 มกราคม พ.ศ. 2562.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
และ|date=
(help) - ↑ "ประกาศตั้งอุปราชและสมุหเทศาภิบาล" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๓๙ หน้า ๘๓ วันที่ ๒ สิงหาคม ๒๔๖๕. 2 สิงหาคม พ.ศ. 2465. สืบค้นเมื่อ 7 มกราคม พ.ศ. 2562.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
และ|date=
(help) - ↑ "ประกาศ เรื่อง ยกเลิกตำแหน่งอุปราช" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๔๒ หน้า ๔๒๕ วันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๔๖๘. 31 มีนาคม พ.ศ. 2468. สืบค้นเมื่อ 7 มกราคม พ.ศ. 2562.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
และ|date=
(help)
แหล่งข้อมูล
[แก้]- สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (2002). เทศาภิบาล [Thesaphiban] (PDF). Bangkok: Matichon. ISBN 9743227814. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (pdf)เมื่อ 2014-10-06. สืบค้นเมื่อ 2019-01-07.