ผลต่างระหว่างรุ่นของ "ละครโทรทัศน์ไทย"

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เนื้อหาที่ลบ เนื้อหาที่เพิ่ม
BotKung (คุย | ส่วนร่วม)
เก็บกวาดบทความด้วยบอต
Kheamjid (คุย | ส่วนร่วม)
ไม่มีความย่อการแก้ไข
บรรทัด 59: บรรทัด 59:
* ปนัดดา ธนสถิตย์. (2531). ละครโทรทัศน์ไทย. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
* ปนัดดา ธนสถิตย์. (2531). ละครโทรทัศน์ไทย. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.


[[หมวดหมู่:รายชื่อละครโทรทัศน์ไทย]]
[[หมวดหมู่:ละครโทรทัศน์ไทยแบ่งตามปีที่ออกฉาย]]
[[หมวดหมู่:ละครโทรทัศน์ไทย| ]]
[[หมวดหมู่:ละครโทรทัศน์ไทย| ]]
[[หมวดหมู่:ดัชนีรายชื่อ|ละครไทย]]
{{โครงละครโทรทัศน์}}

รุ่นแก้ไขเมื่อ 03:02, 22 กุมภาพันธ์ 2560

ละครโทรทัศน์ไทย คือรูปแบบรายการโทรทัศน์ประเภทบันเทิงของไทย ละครโทรทัศน์ไทยเรื่องแรกคือ สุริยานีไม่ยอมแต่งงาน ออกอากาศทางช่อง 4 บางขุนพรหม

ละครโทรทัศน์ไทยมีเนื้อหาส่วนใหญ่เป็นเรื่องชนชั้นสูงในสังคมไทย ตัวละครมุ่งเน้นไปที่ฝ่ายดี ฝ่ายเลว สามารถเดาตอนจบของเรื่องได้ง่าย มักจะจบลงแบบสุขนาฏกรรม (happy ending) มีการนำมาทำซ้ำกันบ่อยครั้ง

ประวัติ

หลังจากที่ประเทศไทยเปิดสถานีช่อง 4 บางขุนพรหม ซึ่งเป็นสถานีโทรทัศน์แห่งแรก หลังจากนั้น 2 เดือนจึงมีละครโทรทัศน์เรื่องแรก คือ เรื่อง สุริยานีไม่ยอมแต่งงาน ของนายรำคาญ (ประหยัด ศ. นาคะนาท) นำแสดงโดย หม่อมราชวงศ์ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ และ โชติรส สโมสร[1] ออกอากาศเมื่อวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2499 ละครโทรทัศน์ในยุคนี้เป็นการแสดงสด ส่วนละครพูดที่แต่งขึ้นใหม่สำหรับแสดงทางโทรทัศน์โดยเฉพาะ เป็นละครสั้นจบในตอน เนื่องจากห้องส่ง (สตูดิโอ) มีขนาดเล็ก จึงจำเป็นต้องใช้ฉากจำกัด นอกจากนี้นักแสดงยังจำบทละครไม่ได้ จึงต้องมีการบอกบทขณะแสดงด้วย ในปีแรก ๆ มีละครโทรทัศน์เพียง 6 เรื่อง อีก 5 เรื่องได้แก่ กระสุนอาฆาต (ออกอากาศเมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2499) ,ดึกเสียแล้ว (ออกอากาศเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2499), น้ำสาบาน (ออกอากาศเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2499), ศัตรูลับของสลยา (ออกอากาศเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2499) และ ง่ายนิดเดียว (ออกอากาศเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2499)[2]

ละครโทรทัศน์เริ่มเฟื่องฟูราวปี พ.ศ. 2501 นักแสดงละครเวทีเริ่มหันมาเล่นละครโทรทัศน์มากขึ้น ช่อง 4 มีผู้นิยมชมกันมาก ส่วนสถานีโทรทัศน์กองทัพบก (ททบ.) ช่อง 7 ก็เริ่มบุกเบิกด้านละครโทรทัศน์มากขึ้น ส่วนใหญ่จะนำเรื่องละครเวทีมาทำใหม่ แต่ก็มีเรื่องที่แต่งสำหรับละครโทรทัศน์มากขึ้น ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2505-2510 ทั้ง 2 สถานีแข่งขันผลิตละครดี ๆ มาออกอากาศจำนวนมาก แต่กิจการละครโทรทัศน์ก็เริ่มเสื่อมไปช่วงหนึ่ง เนื่องจากภาพยนตร์เรื่องยาวกลับมาได้รับความนิยม

ละครโทรทัศน์กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง เมื่อมีการใช้เทปบันทึกภาพแทน ไทยทีวีสีช่อง 9 หรือช่อง 4 เดิม มีการจัดละครโทรทัศน์มากกว่าช่องอื่น ๆ ออกอากาศตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์ ในลักษณะละครน้ำเน่าของสหรัฐอเมริกา โดยละครเรื่อง ทัดดาวบุษยา เมื่อ พ.ศ. 2519 ได้รับความนิยมอย่างมาก หลังจากนั้นก็มีการผลิตละครแนวนี้มากขึ้น ต่อมาในช่วง พ.ศ. 2522 ช่อง 5 ได้ผลิตละครเรื่อง 38 ซอย 2 ซึ่งถือว่าเป็นละครสำหรับครอบครัวครั้งแรก มีคติธรรมในการดำเนินชีวิตครอบครัว

ในปี พ.ศ. 2523 คณะกรรมการบริหารวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ (กบว.) ได้มีคำสั่งให้งดออกอากาศในช่วงเวลา 18.30-20.00 น. เพื่อให้ประหยัดพลังงาน จึงทำให้ละครได้รับความนิยมลดลง พร้อมกันนั้นภาพยนตร์จีนก็เข้ามามีอิทธิพลมากขึ้น ตั้งแต่ พ.ศ. 2524 กบว. ได้ขอความร่วมมือกับสถานีโทรทัศน์ให้เสนอรายการของไทยแทนรายการต่างประเทศ ในช่วงเวลาหลังข่าว 20.00 น. จึงทำให้ละครไทยกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง จึงมีละครโทรทัศน์ในช่วงหลังข่าว 20.00 น. กันทุกช่อง ได้ดำเนินยุทธวิธีนี้มาจนปี พ.ศ. 2530 แต่บางช่องมีการเปลี่ยนแปลงยุทธวิธีการจัดรายการในช่วงหลังข่าวอยู่บ้าง[3]

สำหรับละครแนวซิตคอม ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าเริ่มเมื่อใด แต่มีการสันนิษฐานว่า ละครชุด นุสรา (พ.ศ. 2503) เป็นละครแนวซิตคอมเรื่องแรก ได้รับอิทธิพลจากละครของสหรัฐอเมริกาเรื่อง I Love Lucy ละครชุด นุสรา เป็นละครเบาสมองชุดสั้นจบในตอน มีความยาว ตอนละ 30 นาที มีผู้แสดงชุดเดียวกันตลอด แต่เรื่องที่ผลิตเรื่องที่สองไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่มีรูปแบบละครรูปแบบนี้อีกหลายเรื่องเช่น ผู้พิทักษ์ความสะอาด, ยุทธ-จักรนักคิด, สาธรดอนเจดีย์, พิภพมัจจุราช, หุ่นไล่กา, บาปบริสุทธิ์ เป็นต้น อย่างไรก็ตามละครแนวซิตคอมเริ่มได้รับความนิยมในปี พ.ศ. 2536 เป็นต้นมา ส่วนใหญ่มีเนื้อหาเกี่ยวกับครอบครัว

เมื่อช่อง 3 เปิดสถานี มีละครเรื่องแรก ๆ ได้แก่ เขมรินทร์ – อินทิรา, แม่หญิง, สะใภ้จ้าว แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ช่อง 3 ได้เปิดละครสมัยใหม่อย่างจริงจังในปี พ.ศ. 2519 โดยมีภัทราวดี ศรีไตรรัตน์ (มีชูธน) เป็นผู้บุกเบิก จากละครแบบเก่าที่มีคนบอกบท เป็นนักแสดงท่องบทเอง ลักษณะละครใกล้เคียงกับละครสมัยใหม่อย่างต่างประเทศ ภัทราวดี นำบทประพันธ์ นำเรื่อง ไฟพ่าย ของกฤษณา อโศกสิน มาประเดิมเป็นเรื่องแรก แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จึงเปลี่ยนมาเป็นละครที่คิดบทเอง เช่น ขบวนการคนใช้, ตุ๊กตาเสียกบาล, สงครามปราสาท, นานาจิตตัง, ประชาชนชาวแฟลต, ศรีธนนชัย, ละครชุด ความรัก, ปะการังสีดำ

เมื่อปี พ.ศ. 2524 สุรางค์ เปรมปรีดิ์ เข้ามาดูแลด้านการตลาด, ฝ่ายรายการและฝ่ายบุคคล ทางช่อง 7 และชวนหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล มาร่วมหุ้นเปิดบริษัทพร้อมมิตรภาพยนตร์ เพื่อผลิตละครโทรทัศน์และภาพยนตร์ ละครในยุคที่สุรางค์ เปรมปรีดิ์ หมายตาไว้ ไม่ใช่สูตรน้ำเน่าอย่างทุกวันนี้ มีผลงานเช่น หญิงก็มีหัวใจ, ห้องสีชมพู, เงือกน้อย, จดหมายจากเมืองไทย, ห้วงรักเหวลึก และ ข้าวนอกนา ละครชุดที่โด่งดังมากคือ หมอผี ต่อมาช่อง 7 ได้ดึงวาณิช จรุงกิจอนันต์ มาช่วยเขียนบทโทรทัศน์ในยุคแรก คณะละครช่อง 7 ยุคแรก ๆ ได้แก่ไพรัช สังวริบุตร, กันตนา

นับแต่ปี พ.ศ. 2530 เป็นต้นมา ถือเป็นยุคธุรกิจละครเต็มรูปแบบ มีการวัดความสำเร็จด้วยระบบเรตติ้ง ละครโทรทัศน์ช่อง 7 สีในยุคธุรกิจเต็ม ระหว่างปี พ.ศ. 2530 – 2545 เช่นเรื่อง นางทาส, เคหาสน์สีแดง, ปราสาทมืด, กิ่งไผ่, ริษยา, กนกลายโบตั๋น, สายโลหิต, ญาติกา, รัตนโกสินทร์, สองฝั่งคลอง, นิรมิต, เบญจรงค์ห้าสี, น้ำใสใจจริง[4]

ละครโทรทัศน์ไทยในยุคปัจจุบันออกอากาศในหลายช่วงเวลาตลอดวัน รวมถึงในช่วงไพรม์ไทม์ (ช่วงเวลาที่ทางสถานีโทรทัศน์ให้ความสำคัญ) ในช่วงเวลาหลังข่าวภาคค่ำประมาณ 20.30 น.-22.30 น. ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์และผู้อำนวยการผลิตจะพิจารณานำโครงเรื่องหรือบทประพันธ์ที่มีความน่าสนใจเป็นพิเศษและเหมาะสมกับการผลิตรายการละครโทรทัศน์ รวมถึงคัดเลือกนักแสดงที่ดึงดูดความสนใจของผู้ชม[5]

ในปี พ.ศ. 2557 หลังจากมีการออกอากาศโทรทัศน์ระบบดิจิทัลในประเทศไทย ช่อง 3 และช่อง 7 ซึ่งครองตลาดละคร เริ่มมีช่องอื่นหันมาทำละครโทรทัศน์ แนวละครของช่อง 8 ที่มุ่งเน้นตอบโจทย์คนดูในระดับฐานราก โดยเป็นแนวละครบ้าน ๆ สำหรับ ช่องวัน ที่มุ่งเน้นผลิตละคร เจาะกลุ่มคนดูทั่วไป ในขณะที่จีเอ็มเอ็ม แชนแนล มุ่งไปที่กลุ่มวัยรุ่น[6]

เอกลักษณ์

ละครโทรทัศน์ไทยมีเอกลักษณ์อันโดดเด่น เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นเรื่องชนชั้นสูงในสังคมไทย ตัวละครมุ่งเน้นไปที่ฝ่ายดี ฝ่ายเลว สามารถเดาตอนจบของเรื่องได้ง่าย มักจะจบลงแบบสุขนาฏกรรม (happy ending) มีการนำมาทำซ้ำกันบ่อยครั้ง สืบทอดเนื้อหาอุดมการณ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เนื่องจากมักมีบทและเนื้อหาแสดงเกินจริง ผู้คน/เนื้อหาในเรื่องจึงมีมิติเดียว ซึ่งเหตุผลน่าจะมาจากต้องการให้คนดูมาก หรือเรื่องผู้สนับสนุนและการโฆษณา

นักแสดงนำเรียก พระเอก และนางเอก ซึ่งเป็นคู่รักกัน โดยพระเอก หรือนางเอก มักเป็นคนฐานะดี[7] จุดใหญ่ใจความ มักเป็นเรื่องแย่งผัวแย่งเมีย หรือ มีการแก่งแย่งมรดกกัน[8]

ประเภท

ละครสามารถจำแนกประเภทได้ดังนี้[9]

  • ละครประเภทพิเศษ (Drama special) เล่นในวาระโอกาสพิเศษต่าง ๆ เช่น วันแม่ วันที่ระลึกของหน่วยงานต่าง ๆ ละครการกุศล มีลักษณะตอนเดียวจบ มักใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง
  • ละครสั้น (TV series) มีความยาวระหว่าง 30-60 นาที ออกอากาศเป็นประจำ เนื้อหาในแต่ละตอนจะเป็นแนวเดียวกัน และใช้ผู้แสดงชุดเดียวกัน แต่เรื่องราวแตกต่างกันไป
  • ละครเรื่องยาว (TV. serials) ละครเรื่องยาวที่เล่นหลายตอนจบ ประมาณ 20-30 ตอน เนื้อเรื่องต่อเนื่องกัน ออกอากาศเป็นประจำ ใช้ผู้แสดงเป็นชุดเดียวกัน เป็นที่รู้จักในชื่อ Soap operas
  • ละครสั้น จบใน 2-3 ตอน (Mini series) ผู้แสดงไม่ใช่ชุดเดียวกัน และเนื้อเรื่องแต่ละเรื่องจะไม่เกี่ยวข้องกันเลย ตัวอย่างเช่น ละครชุด รักสับหลีก, เพชรในเรือน, รักคืออะไร เป็นต้น
  • ละครจบในตอน (Anthology series/anthology drama) ผู้แสดงไม่ใช่ชุดเดียวกัน และเรื่องราวแต่ละตอนไม่เกี่ยวข้องกัน ตัวอย่างเช่น ปากกาทอง, เขย่าขวัญวันพุธ, ฟ้ามีตา ออกอากาศทางช่อง 7 สี เป็นต้น
  • ซิตคอม (sit-com) ละครแนวสนุกสนานมีลักษณะล้อเลียนสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้น จบในตอน ใช้นักแสดงชุดเดียวกันและเล่นบทบาทเดิม

ความนิยมในต่างประเทศ

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 ละครโทรทัศน์ไทยได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศจีน โดยมีการนำเข้าฉายในหลายเรื่อง อาทิ สงครามนางฟ้า, เลือดขัตติยา, เลือดหงส์ เป็นต้น และในบางเรื่อง เช่น สงครามนางฟ้า ก็ได้มีการผลิตเป็นดีวีดีจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย อีกทั้งนักแสดงไทยก็ยังได้รับความนิยมหลายคน อาทิ เจษฎาภรณ์ ผลดี, ธีรเดช วงศ์พัวพันธ์, ณวัฒน์ กุลรัตนรักษ์ เป็นต้น และได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทยในขณะนั้น โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในเวลานั้น เดินทางไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อลงนามบันทึกความตกลงในการนำละครโทรทัศน์ไทยแพร่ภาพออกอากาศที่จีน ทั้งทางสถานีโทรทัศน์ซีซีทีวีและสถานีโทรทัศน์ท้องถิ่น ต่อมาทางผู้จัดละครโทรทัศน์ต่าง ๆ และสถานีโทรทัศน์ในประเทศไทย มีการบันทึกเป็นระบบความละเอียดภาพสูง (เอชดี) เพื่อการส่งออกในต่างประเทศอีกด้วย[10] จนกระทั่งเกิดเป็นกระแสเรียกว่า "T-wind" ที่จะมาแทนที่คลื่นเกาหลีที่เคยมาแรงก่อนหน้านั้น[11]

นอกจากประเทศจีน ละครโทรทัศน์ไทยยังได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องจากประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วย เช่น เมียนมา, กัมพูชา, ลาว และเวียดนาม โดยถึงขนาดมีการแปลซับไตเติลเป็นภาษาของตนเองเผยแพร่กันเองในโลกออนไลน์ ก่อนที่ทางสถานีโทรทัศน์ในประเทศนั้น ๆ จะนำมาฉายเสียอีก โดยกลุ่มผู้ชมในประเทศเวียดนามต่างชื่นชอบละครโทรทัศน์ไทยมากกว่าละครโทรทัศน์เกาหลีด้วยซ้ำ เนื่องจากเบื่อที่เนื้อหาซ้ำ ๆ ขณะที่ของละครโทรทัศน์ไทยนั้นน่าตื่นเต้นกว่า หักมุมมากกว่า มีโครงเรื่องใหม่ ๆ ตลอดเวลา โดยเรื่องที่ได้รับความนิยมคือ ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น และ วุ่นนักรักเต็มบ้าน ขณะที่ผู้ชมในเมียนมาจะชื่นชอบละครโทรทัศน์แนวผีเป็นส่วนใหญ่ ส่วนแนวรักไม่ได้รับความนิยมเลย ส่วนผู้ชมในกัมพูชาจะชอบแนวชิงรัก หักสวาท แย่งมรดก หรือตบตีกัน เช่น สามีตีตรา, ธรณีนี่นี้ใครครอง, ลมซ่อนรัก, แอบรักออนไลน์ หรือ แรงเงา โดยส่วนใหญ่เป็นของช่อง 3 เนื่องจากสถานีได้เซ็นสัญญาบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) กับทางสถานีโทรทัศน์พีเอ็นเอ็น คอมโบเดีย ของทางกัมพูชา[12] [11] ซึ่งเฉพาะของกัมพูชา ในต้นปี พ.ศ. 2546 ลูกไม้ไกลต้น ที่ได้ฉายที่นั่นและได้รับความนิยมอย่างสูง แต่ก่อให้เกิดกรณีจนถึงขั้นชาวกัมพูชาจลาจลบุกเผาสถานทูตไทยในกรุงพนมเปญ เนื่องจากไม่พอใจในบทพูดของสุวนันท์ คงยิ่ง ซึ่งเป็นนักแสดงที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในกัมพูชาจากเรื่อง ดาวพระศุกร์ ที่เป็นตัวเอกในเรื่องที่ดูถูกชาวกัมพูชา[13] จนทำให้ละครโทรทัศน์ไทยห่างหายไปจากกัมพูชานานนับ 10 ปี จนกระทั่งช่อง 5 ที่ได้ร่วมกับนักธุรกิจชาวไทยได้นำ เรือนแพ เข้าไปฉายในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2557 จึงทำให้กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งและกลายเป็นกระแสมาจนถึงปัจจุบัน [14] และได้รับความนิยมมากถึงขนาดที่ในช่วงกลางค่อนไปทางปลายปี พ.ศ. 2558 รัฐบาลกัมพูชาห้ามสถานีโทรทัศน์ที่มีอยู่ทั้งหมด 17 สถานีในประเทศ ฉายภาพยนตร์หรือละครโทรทัศน์จากต่างประเทศในช่วงเวลาไพรม์ไทม์ เนื่องจากกระทบต่ออุตสาหกรรมบันเทิงในประเทศ[15]

การตรวจพิจารณาในการออกอากาศ

พระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 มาตรา 37 บัญญัติให้ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์มีหน้าที่ตรวจสอบและระงับการออกอากาศรายการโทรทัศน์ที่มีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม[16]

ในปี พ.ศ. 2554 ละครเรื่อง ดอกส้มสีทอง ได้มีการตัดบางฉากออก เช่นฉากเลิฟซีน พร้อมให้มีคำเตือนก่อนเข้าละคร เพื่ออธิบายให้ผู้ชมได้รับทราบและเข้าใจว่า ภาพที่ปรากฏเป็นการแสดง ขณะที่ผู้ปกครองควรให้คำแนะนำแก่บุตรหลาน และให้ละครโทรทัศน์เป็นบทเรียนในการสอนลูกหลาน[17]

ในปี พ.ศ. 2556 ผู้บริหารของช่อง 3 ตัดสินใจยุติการออกอากาศละคร เหนือเมฆ 2 มือปราบจอมขมังเวทย์ โดยระบุว่ามีเนื้อหาตอนใดที่ไม่เหมาะสม หรือน่าจะเข้าข่ายละเมิดมาตรา 37 ของ พรบ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ที่เขียนไว้ว่า "ห้ามมิให้ออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสาระที่ก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือมีการกระทำซึ่งเข้าลักษณะลามกอนาจาร หรือมีผลกระทบต่อการให้เกิดความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง"[18] และเนื่องจากละครเรื่องนี้มีเค้าโครงระบุถึงการเมืองและการคอร์รัปชั่นของนักการเมือง จึงมีกระแสข่าวออกมาเป็นจำนวนมากว่านักการเมืองรายหนึ่งสั่งให้ยุติการออกอากาศในทันที[19][20] ต่อมาในปีเดียวกัน ละครเรื่อง แผนร้ายพ่ายรัก ที่เนื้อบางส่วนเกี่ยวโยงธุรกิจเชิงเกษตรกรรมทุจริตโกงกินชาวบ้าน มีการดูดเสียงบริษัทที่สมมติขึ้น ชื่อว่า บริษัท UF[21]

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

  1. "ย้อนชมเหตุการณ์สำคัญ 63 ปี อสมท". สำนักข่าวไทย. 9 April 2015. สืบค้นเมื่อ 15 December 2015.
  2. ปนัดดา ธนสถิตย์, 2531, หน้า 3-4
  3. ปนัดดา ธนสถิตย์, 2531, หน้า 4-7
  4. ลับ ลวง พราง ละครไทย(จบ) : สิ้น "ศิลปะ" สู่ยุค "ธุรกิจ" ASTVผู้จัดการออนไลน์ 4 มิถุนายน 2552 18:12 น.
  5. นราพร สังข์ชัย. "บทละครโทรทัศน์ไทย: กระบวนการสร้างสรรค์และเทคนิค" วารสารวิชาการ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ปีที่ 29 ฉบับที่ 3 เดือนกรกฎาคม - กันยายน 2552
  6. ไพรม์ไทม์เดือด...ช่อง 3-7 สะเทือน ช่อง 8-ช่องวัน เปิดศึกชิงละครหลังข่าว
  7. กสทช.จัดถก "ละครไทยในฝัน" กรุยทาง "วิชาชีพ" กำกับกันเอง
  8. มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 12 พฤษภาคม 2551
  9. ปนัดดา ธนสถิต, 2531, หน้า 1-2
  10. ละครไทย : เน่าจนได้ดี จากผู้จัดการออนไลน์
  11. 11.0 11.1 "ละครไทยในอาเซียน". กรุงเทพธุรกิจ. 26 November 2015. สืบค้นเมื่อ 26 November 2015.
  12. "ดาราเขมรต้านละครช่อง3ยุคเออีซี". คมชัดลึก. 29 September 2015. สืบค้นเมื่อ 26 November 2015.
  13. "เมื่อหลายปีก่อน กบ สุวนันท์เคยทำอะไรให้คนกัมพูชาไม่พอใจหรอค่ะ". พันทิปดอตคอม. 3 November 2007. สืบค้นเมื่อ 27 November 2015.
  14. "สกู๊ป ละครไทยคืนจอแก้วกัมพูชา". ไบร์ททีวี. 1 January 2015. สืบค้นเมื่อ 26 November 2015.
  15. "กัมพูชาจะห้ามฉายหนังต่างชาติทางโทรทัศน์ ช่วงไพรม์ไทม์". สนุกดอตคอม. 25 September 2015. สืบค้นเมื่อ 26 November 2015.
  16. พระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551
  17. หั่นบางฉาก “ดอกส้มฯ” ให้ฉายจนจบ “องอาจ” ชี้ให้เป็นบทเรียน
  18. "เหนือเมฆ2" เซ็นเซอร์ตัวเองหรือถูกเซ็นเซอร์?
  19. ช็อกคนดู ! ละคร"เหนือเมฆ2"ช่อง3 ถูกห้ามออกอากาศ ดึงเรื่องใหม่"แรงปรารถนา"เสียบแทน
  20. โดนถอดออกอากาศกลางคันละครดัง "เหนือเมฆ 2"
  21. ผ่า “แผนร้ายพ่ายรัก” ดูดเสียงช่อง3 “ตู๊ดๆๆ” คืออะไร?

บรรณานุกรม

  • ปนัดดา ธนสถิตย์. (2531). ละครโทรทัศน์ไทย. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.