พระเจ้าคริสตอฟเฟอร์ที่ 1 แห่งเดนมาร์ก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระเจ้าคริสตอฟเฟอร์ที่ 1 แห่งเดนมาร์ก
พระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์ก
พระบรมสาทิสลักษณ์ราวปีค.ศ. 1575 ของพระเจ้าคริสตอฟเฟอร์ที่ 1 ณ มหาวิหารรีเบ คาบสมุทรจัตแลนด์
พระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์ก
ครองราชย์29 มิถุนายน 1252 – 29 พฤษภาคม 1259[1]
ราชาภิเษกวันคริสต์มาส ค.ศ. 1252
ก่อนหน้าอเบล
ถัดไปอีริคที่ 5
ประสูติค.ศ. 1219
สวรรคต29 พฤษภาคม ค.ศ. 1259(1259-05-29) (40 ปี)
รีเบ
ฝังพระศพมหาวิหารรีเบ
คู่อภิเษกมาร์เกเรเธ ซัมบีเรีย
พระราชบุตร
  • พระเจ้าอีริคที่ 5 แห่งเดนมาร์ก
  • เจ้าชายนีลส์แห่งเดนมาร์ก
  • เจ้าชายวัลเดมาร์แห่งเดนมาร์ก
  • เจ้าหญิงเม็ชทิลท์ มาร์เกรฟวีนแห่งบรันเดินบวร์ค-ซาลซ์วีเดล
  • เจ้าหญิงมาร์เกรเธอ เคานท์เตสแห่งฮ็อลชไตน์-คีล
พระนามเต็ม
คริสตอฟเฟอร์ วัลเดมาร์เซน แอสตริดเซน
ราชวงศ์แอสตริดเซน
พระราชบิดาพระเจ้าวัลเดมาร์ที่ 2 แห่งเดนมาร์ก
พระราชมารดาเจ้าหญิงบึเร็งการียาแห่งโปรตุเกส
ศาสนาโรมันคาทอลิก

พระเจ้าคริสตอฟเฟอร์ที่ 1 แห่งเดนมาร์ก (เดนมาร์ก: Christoffer I) (ค.ศ. 1219 - 29 พฤษภาคม ค.ศ. 1259) ทรงเป็นพระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์กระหว่างค.ศ. 1252 ถึง ค.ศ. 1259 เป็นพระราชโอรสองค์เล็กในพระเจ้าวัลเดมาร์ที่ 2 แห่งเดนมาร์กที่ประสูติแต่พระมเหสีพระองค์ที่สองคือ บึเร็งการียาแห่งโปรตุเกส พระองค์สืบราชบัลลังก์เดนมาร์กต่อจากพระเจ้าอีริคที่ 4 แห่งเดนมาร์ก และพระเจ้าอเบลแห่งเดนมาร์ก พระเชษฐา พระองค์ได้รับการเลือกตั้งเป็นพระมหากษัตริย์เดนมาร์กหลังกษัตริย์อเบลสวรรคตในฤดูร้อน ปีค.ศ. 1252 พระองค์ประกอบพิธีราชาภิเษกที่มหาวิหารลุนด์ในวันคริสต์มาสของปีค.ศ. 1252

พระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์ก[แก้]

ธรรมเนียมพระยศของ
สมเด็จพระเจ้าคริสตอฟเฟอร์ที่ 1
ตราประจำพระอิสริยยศ
การทูลHans Majestæt
(ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท)
การแทนตนข้าพระพุทธเจ้า
การขานรับDeres Majestæt
(พระพุทธเจ้าข้า/เพคะ)

กษัตริย์คริสตอฟเฟอร์ที่ 1 ทรงพยายามอย่างมากที่จะให้พระเชษฐาองค์ใหญ่คือ พระเจ้าอีริคที่ 4 ผู้รีดไถเงิน ได้รับการประกาศเป็นนักบุญ และทรงปล่อยให้การปลงพระชนม์กษัตริย์อีริค เป็นแผนการของพระเจ้าอเบลแห่งเดนมาร์ก พระเชษฐาองค์รองผู้ล่วงลับ หากสมเด็จพระสันตะปาปาทรงยอมรับการเป็นนักบุญนี้ ก็จะเป็นการยอมรับผลพวงของคดีการฆาตกรรม ที่จะทำให้ตัดทายาทของกษัตริย์อเบลออกจากสายการสืบราชบัลลังก์ และจะเป็นการสร้างหลักประกันการสืบราชบัลลังก์ของพระราชโอรสในกษัตริย์คริสตอฟเฟอร์ นั่นหมายความว่า พระโอรสวัยเยาว์ของกษัตริย์คริสตอฟเฟอร์จะสามารถรับตำแหน่งประมุขแห่งเดนมาร์กแทนพระโอรสของอดีตกษัตริย์อเบลซึ่งมีสิทธิ์ในบัลลังก์มากกว่า ส่วนอดีตกษัตริย์อีริคที่ 4 ก็มีเพียงแต่พระราชธิดา การกระทำเช่นนี้ถือเป็นการขัดต่อธรรมเนียมปฏิบัติดั้งเดิม

กษัตริย์คริสตอฟเฟอร์ทรงใช้เวลาเกือบทั้งรัชกาลในการต่อสู้กับศัตรูมากมาย พระองค์ทรงให้พระโอรสของอดีตกษัตริย์อเบลคือ เจ้าชายวัลเดมาร์ อเบลเซน สืบตำแหน่งดยุกแห่งชเลสวิก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดสงครามกลางเมือง แต่สุดท้ายกลายเป็นเรื่องของการวางอุบายและการทรยศหักหลัง ทางใต้ของคาบสมุทรจัตแลนด์ได้แก่ ดัชชีชเลสวิชและฮ็อลชไตน์เป็นอิสระต่ออำนาจพระมหากษัตริย์มาเป็นเวลานาน กษัตริย์คริสตอฟเฟอร์ต้องเผชิญหน้ากับศัตรูตัวฉกาจคือ อาร์กบิชอปแห่งลุนด์คนใหม่ คือ จาค็อบ เออลันด์เซน ซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับราชสกุลสายกษัตริย์อเบล และได้รับการสนับสนุนจากสมเด็จพระพันปีหลวงเม็ชทิลท์ พระมเหสีในอดีตกษัตริย์อเบล เออลันด์เซนอ้างสิทธิ์ที่เขาควรได้รับบ่อยครั้งจนขัดแย้งกับกษัตริย์ กษัตริย์คริสตอฟเฟอร์ทรงยืนยันว่าศาสนจักรต้องจ่ายภาษีเหมือนเจ้าของที่ดินรายอื่นๆ บิชอปจาค็อบปฏิเสธและเรื่องราวเลยเถิดไปถึงการสั่งห้ามชาวนาที่อาศัยหรือทำงานในพื้นที่ทรัพย์สินของโบสถ์เข้ารับราชการทหารในกษัตริย์คริสตอฟเฟอร์ เออลันด์เซนอาจจะเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในราชอาณาจักร และยืนยันหนักแน่นว่ารัฐบาลฆราวาสไม่มีอำนาจควบคุมหรือยึดทรัพย์สินของคริสตจักร หรือควบคุมบุคลากรทางศาสนา เขาได้ประกาศปัพพาชนียกรรมพระมหากษัตริย์ เพื่อแสดงให้เห็นว่าเขาจะไม่ยอมจำนนต่อเจตจำนงของพระมหากษัตริย์

หลังจากเกิดการรุกรานฮัลลันด์โดยพระเจ้าโฮกุนที่ 4 แห่งนอร์เวย์ ในปีค.ศ. 1256 กษัตริย์คริสตอฟเฟอร์ได้ประนีประนอมกับกษัตริย์นอร์เวย์และสวีเดน หลังจากเคยได้รับการยั่วยุจากอดีตกษัตริย์อเบล มีการจลาจลลุกฮือต่อต้านกษัตริย์คริสตอฟเฟอร์ในปีเดียวกัน และเกิดการลุกฮืออีกครั้งในปีค.ศ. 1258 อันเป็นผลมาจากนโยบายภาษีทรัพย์สินใหม่ของกษัตริย์คริสตอฟเฟอร์ อาร์กบิชอปจาค็อบปฏิเสธที่จะรับรอง เจ้าชายอีริค พระราชโอรสของกษัตริย์ ในฐานะผู้มีสิทธิโดยชอบธรรมของราชอาณาจักรเดนมาร์กในปีค.ศ. 1257 และเขาได้ข่มขู่ที่จะคว่ำบาตรบิชอปคนหนึ่งคนใดที่ประกอบพิธีเจิมให้เจ้าชายเป็นพระมหากษัตริย์ สิ่งนี้เป็นฟางเส้นสุดท้าย พระองค์ทรงมีพระบรมราชโองการให้น้องชายของเออลันด์เซนเองทำการจับกุมอาร์กบิชอปผู้สร้างปัญหานี้ กษัตริย์คริสตอฟเฟอร์ได้ทำลายอำนาจและความหยิ่งผยองของอาร์กบิชอปด้วยการบังคับให้เขาสวมชุดฆราวาสและสวมหมวกคนโง่โดยมีหางของสุนัขจิ้งจอกติดอยู่ พระองค์ทรงสั่งให้แห่อาร์กบิชอปไปทั่วประเทศไปยังฮาเก็นสกอฟ ใกล้เมืองเอสเซนส์ ที่ซึ่งเขาถูกล่ามโซ่ และจับเข้าคุก เออลันด์เซนเคยมีคำสั่งในสภาศาสนจักรเมืองไวเลว่า ถ้าเขาถูกจับกุมให้เหล่าบิชอปประกาศต่อต้านทั่วประเทศ แต่ก็ไม่มีใครกล้าทำตาม เปเดอ แบง บิชอปแห่งรอสคิลด์ หลบหนีไปยังรือเกินและเขาพยายามเกลี้ยกล่อมให้ยาโรมาร์ที่ 2 เจ้าชายแห่งรือเกินยกกองทัพบุกเกาะเชลลันด์[2]

กษัตริย์คริสตอฟเฟอร์พยายามที่จะให้อดีตกษัตริย์อีริคที่ 4 พระเชษฐาได้รับการประกาศเป็นนักบุญให้จงได้ แต่เมื่อไม่มีการสนับสนุนจากอาร์กบิชอปจาค็อบ ความพยายามของพระองค์ก็ไร้ผล เมื่อดยุกวัลเดมาร์ พระนัดดาและเป็นพระโอรสในอดีตกษัตริย์อเบลสิ้นพระชนม์โดยไร้ทายาท กษัตริย์คริสตอฟเฟอร์ทรงพยายามกีดกันไม่ให้พระอนุชาของดยุกวัลเดมาร์คือ เจ้าชายอีริค อเบลเซน สืบตำแหน่งดยุกต่อ สมเด็จพระพันปีหลวงเม็ชทิลท์ พระมเหสีในอดีตกษัตริย์อเบลทรงปลุกระดมให้เหล่าเคานท์ในเยอรมนีตอนเหนือก่อกบฏ เพื่อปกป้องตำแหน่งให้พระโอรส ในความสับสนวุ่นวายนี้ กษัตริย์คริสตอฟเฟอร์ที่ 1 ทรงหลบหนีไปยังจัตแลนด์ตอนใต้และประทับอยู่กับบิชอปแห่งรีเบ

กษัตริย์คริสตอฟเฟอร์ที่ 1 เสด็จสวรรคตโดยไม่มีผู้ใดคาดคิด ขณะทรงประกอบพิธีมหาสนิทศักดิ์สิทธิ์ ตามหลักฐานร่วมสมัยบันทึกว่า กษัตริย์คริสตอฟเฟอร์ที่ 1 สวรรคตหลังจากทรงดื่มไวน์ที่มีพิษจากพิธีรับอาหารจากพระเจ้า ที่ถือโดยเจ้าอาวาสอาร์นฟาสท์แห่งอารามรืด เพื่อเป็นการแก้แค้นที่พระองค์ปฏิบัติไม่ดีต่ออาร์กบิชอปเออลันด์เซนและการกดขี่ศาสนจักรโดยพระมหากษัตริย์ การคว่ำบาตรกษัตริย์คริสตอฟเฟอร์ไม่มีผลอะไร และพระบรมศพได้ถูกฝังที่แท่นบูชาใหญ่ของมหาวิหารรีเบทันทีหลังจากพระองค์สวรรคตในวันที่ 29 พฤษภาคม ค.ศ. 1259 พระองค์อาจสวรรคตด้วยสาเหตุธรรมชาติ แต่พันธมิตรของพระองค์ให้สมัญญานามว่า "ไคร์ซ-ออฟเฟอร์" (Krist-offer; "ผู้สละชีพของพระคริสต์") พระราชโอรสของพระองค์ได้สืบราชบัลลังก์ต่อเป็น พระเจ้าอีริคที่ 5 แห่งเดนมาร์ก

พระราชมรดก[แก้]

สภาเดนฮอฟกลายเป็นสถาบันหลักในรัชกาลของพระองค์ ทำหน้าที่เหมือนสภาแห่งชาติซึ่งมีหน้าที่ให้การปรึกษาในขอบเขตจำกัดและหน้าที่ทางตุลาการ

กษัตริย์คริสตอฟเฟอร์ที่ 1 อภิเษกสมรสกับมาร์เกเรเธ ซัมบีเรีย ธิดาในซัมบอร์ที่ 2 ดยุกแห่งพอเมอเรเนีย ในปีค.ศ. 1248 มีพระโอรสธิดา 5 พระองค์ ดังนี้

  พระนาม ประสูติ สิ้นพระชนม์ คู่สมรส และพระโอรส-ธิดา
พระเจ้าอีริคที่ 5 แห่งเดนมาร์ก ค.ศ. 1249 22 พฤศจิกายน ค.ศ. 1286 อภิเษกสมรสวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1273 กับ
อักเนสแห่งบรันเดินบวร์ค
มีพระโอรสธิดา 7 พระองค์ ได้แก่
เจ้าหญิงรีเชซา
พระเจ้าอีริคที่ 6 แห่งเดนมาร์ก
พระเจ้าคริสตอฟเฟอร์ที่ 2 แห่งเดนมาร์ก
เจ้าหญิงมาร์เกรเธอ สมเด็จพระราชินีแห่งสวีเดน
เจ้าหญิงคาทารีนา
เจ้าชายวัลเดมาร์
เจ้าหญิงเอลิซาเบธ
- เจ้าชายนีลส์แห่งเดนมาร์ก ไม่ปรากฏ 21 ธันวาคม ค.ศ. 1259 สิ้นพระชนม์เมื่อทรงพระเยาว์
- เจ้าชายวัลเดมาร์แห่งเดนมาร์ก ไม่ปรากฏ ไม่ปรากฏ สิ้นพระชนม์เมื่อทรงพระเยาว์
- เจ้าหญิงเม็ชทิลท์ มาร์เกรฟวีนแห่งบรันเดินบวร์ค-ซาลซ์วีเดล ค.ศ. 1250 ค.ศ. 1299/1300 อภิเษกสมรสค.ศ. 1268 กับ
อัลเบร็ชท์ที่ 3 มาร์เกรฟแห่งบรันเดินบวร์ค-ซาลซ์วีเดล
มีพระโอรสธิดา 4 พระองค์ ได้แก่
อ็อทโทแห่งบรันเดินบวร์ค
โยฮันน์แห่งบรันเดินบวร์ค
เบียทริกซ์แห่งบรันเดินบวร์ค
มาร์กาเรธาแห่งบรันเดินบวร์ค สมเด็จพระราชินีแห่งโปแลนด์
- เจ้าหญิงมาร์เกรเธอ เคานท์เตสแห่งฮ็อลชไตน์-คีล ราว ค.ศ. 1257 ค.ศ. 1306 อภิเษกสมรส กับ
โยฮันที่ 2 เคานท์แห่งฮ็อลชไตน์-คีล
มีพระโอรส 2 พระองค์ ได้แก่
คริสตอฟเฟอร์แห่งฮ็อลชไตน์
อดอล์ฟที่ 7 เคานท์แห่งฮ็อลชไตน์-เซเกอแบร์ก

อ้างอิง[แก้]

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ Christopher I of Denmark

ก่อนหน้า พระเจ้าคริสตอฟเฟอร์ที่ 1 แห่งเดนมาร์ก ถัดไป
พระเจ้าอเบล
พระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์ก
ดยุกแห่งเอสโตเนีย

(ค.ศ. 1252 - ค.ศ. 1259)
พระเจ้าอีริคที่ 5