พระอินทเบญญา (สะราคำ วัตถา)
อำมาตย์โท พระอินทเบญญา (สะราคำ วัตถา) | |
---|---|
ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัด | |
ดำรงตำแหน่ง พ.ศ. 2458 – พ.ศ. 2487 | |
กษัตริย์ | พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 2 มกราคม พ.ศ.2437 วังเจ้าเขมร ตำบลสามยอด จังหวัดพระนคร |
เสียชีวิต | 15 กรกฎาคม พ.ศ.2512 |
บุพการี |
|
อาชีพ | ข้าราชการตุลาการ,ขุนนาง,ทนาย |
พระอินทเบญญา (สะราคำ วัตถา) นามเดิม นักสะราคำ วัตถา เป็นบุตรขององค์ดิศวงษ์ (แป๊ะ) กับนางจันทร์ วัตถา และเป็นนัดดาชั้นหลานปู่ของนักองค์วัตถาแห่งกัมพูชา[1]
ประวัติ
[แก้]พระอินทเบญญา (สะราคำ วัตถา) เกิดวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2437 ที่วังเจ้าเขมร ตำบลสามยอด จังหวัดพระนคร มีพี่น้องร่วมมารดา เป็นผู้หญิง 2 คน คือ พุมเรียง วัตถา และสังเวียน วัตถา และมีพี่น้องต่างมารดา เป็นผู้หญิงเกิดจากนางเผื่อน วัตถา คือ ถวิล วัตถา และวิลาศ วัตถา พี่สาวถึงแก่กรรมไปก่อนแล้ว[2]
การศึกษา
[แก้]เมื่ออายุ 8 ปี บิดาให้ครูเขมรคนในบ้านที่รู้หนังสือเขมรและหนังสือไทย เป็นครูสอนหนังสือไทยพร้อมๆ ไปกับพี่สาว เรียนอยู่ในบ้านและเมื่อเติบโตขึ้น ได้เรียนหนังสือเขมรกับครูเขมรคนในบ้าน และที่อื่น[3]
พออายุ 9 ปี บิดาให้เข้าเรียนโรงเรียนวัดราชนัดดาราม พ.ศ. 2443 สอบไล่ในประโยคหนึ่ง ชั้นหนึ่ง พ.ศ. 2444 สอบไล่ได้ประโยคหนึ่ง ชั้นสอง แล้วต่อมาทางโรงเรียนให้ย้ายไปเรียนที่โรงเรียนวัดเทพธิดาราม ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กัน คนละฝั่งคลองกับโรงเรียนเดิม เรียนชั้นประถม 3 ไม่มีการสอบไล่ โดยทางโรงเรียนยกให้ข้ามชั้นไปเรียนชั้นประถม 4 และย้ายไปเรียนที่โรงเรียนกรมหลวงวรเสรฐสุดา อยู่ในวัดปรินายก พ.ศ. 2445 สอบไล่ได้ประโยคหนึ่ง ประถมศึกษา แล้วบิดาถึงแก่กรรม[4]
พ.ศ. 2447 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ครั้งทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย รับสั่งให้พระยาศรีวรวงศ์ (หม่อมราชวงศ์จิตร สุทัศน์) เมื่อยังเป็นจมื่นศรีสรรักษ์ นำถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สังกัดเวรเดช มีพระราชดำรัสว่า อายุยังน้อยให้จัดการให้เล่าเรียนต่อไป แล้วจมื่นศรีสรรักษ์ ขณะนั้นเป็นผู้บัญชาการโรงเรียนมหาดเล็ก มีหนังสือนำส่งให้เรียนในโรงเรียนมัธยมศึกษา “ราชบุรณะ”[5]
การทำงาน
[แก้]พ.ศ. 2448 (เดือนกรกฎาคม ร.ศ. 124) สอบไล่ได้ชั้นหนึ่ง ของมัธยมศึกษา เดือนมีนาคม ร.ศ. 124 สอบไล่ได้ชั้นสองของมัธยมศึกษา พ.ศ. 2449 สอบไล่ได้ประโยคสองมัธยมศึกษา แล้วมาเข้าเรียนในโรงเรียนมหาดเล็กในพระบรมมหาราชวัง เป็นมหาดเล็กนักเรียน เพราะได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กแล้ว และได้รับพระราชทานเครื่องแบบเต็มยศมหาดเล็กวิเศษหนึ่งสำรับ และเนื่องในงานพระราชพิธีรัชมงคล ได้รับพระราชทานเหรียนรัชมงคลด้วย วิชาที่เรียนในสมัยนั้น มีการปกครอง (รัฐประศาสนศาสตร์) การมหาดเล็กและการเสมียน
นักเรียนในโรงเรียนนี้ เมื่อเรียนจบหลักสูตรสอบไล่ได้แล้ว จะออกไปรับราชการตามกระทรวงต่าง ๆ แต่ส่วนใหญ่มุ้งหมายไปรับราชการในกระทรวงมหาดไทย เริ่มต้นเป็นมหาดเล็กรายงาน แล้วมีการดำเนินเลื่อนตำแหน่งเป็นนายอำเภอ และผู้ว่าราชการจังหวัดต่อไป
พ.ศ. 2451 สอบไล่วิชาการปกครองและวิชาอื่นได้จบตามหลักสูตร แต่ตำแหน่งมหาดเล็กรายงานไม่มีว่าง พระยาศรีวรวงศ์ผู้บัญชาการโรงเรียนท่านมีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยราชเลขานุการอยู่ด้วย ได้นำนักเรียนที่จบการเรียนรุ่นเดียวกันอีกสองคนให้ไปช่วยทำการอยู่ที่กรมพระอาลักษณ์ ซึ่งเป็นกรมขึ้นอยู่ในกรมราชเลขานุการ เป็นการรอตำแหน่งว่างทางกระทรวงมหาดไทย ต่อมา พ.ศ. 2452 ตำแหน่งเงินเดือนในกรมพระอาลักษณ์ว่าง ได้รับบรรจุในตำแหน่งเสมียนตรี เดือนละ 25 บาท ได้รับเงินเดือนเป็นครั้งแรก แล้วต่อมาได้เปลี่ยนตำแหน่ง ได้รับเดือนละ 40 บาทและได้รับพระราชทานเข็มลงยาสีน้ำเงินรูปพระเกี้ยว
การรับราชการที่กรมนี้ มีเวลาว่างตอนกลางวัน ได้ไปเรียนภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสที่โรงเรียนอัสสัมชัญ เป็นพิเศษ
พ.ศ. 2457 ได้เข้าสอบไล่วิชากฎหมาย พร้อมกับเพื่อนรักเรียนและสอบไล่ได้ทั้งสามคน มีสถานะเป็นสามัญสมาชิกของเนติยบัณฑิตสภา[6]
ในระหว่างการเลี้ยงคณะกรรมการและเนติบัณฑิตใหม่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์รับสั่งถามว่านักสะราคำมีนามสกุลแล้วหรือยัง กราบทูลว่า ยัง รับสั่งว่าใช้ “วัตถา” ชื่อของปู่ก็แล้วกัน ใครๆ ก็รู้จัก ไม่ต้องทูลพระราชทาน
เดือนเมษายน พ.ศ. 2458 กระทรวงยุติธรรมมีหนังสือขอย้ายนักสะราคำจากกระทรวงมุรธาธร (กรมพระอาลักษณ์ตั้งเป็นกระทรวงมุรธาธร) มารับราชการในกระทรวงยุติธรรม
กระทรวงยุติธรรมให้ไปฝึกหัดวิธีพิจารณาความอยู่ที่ศาลปุริศสภาที่ 2 ได้รับเงินเดือน 120 บาท ต่อมาประกาศพระราชทานยศเป็นรองอำมาตย์เอก และในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2458 มีพระบรมราชโองการตั้งเป็นผู้พิพากษาศาลมณฑลพระนครศรีอยุธยา ได้รับพระราชทานเงินเดือน 240 บาท จากนั้นได้ย้ายไปเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดลพบุรี ผู้พิพากษามณฑลนครราชสีมา และย้ายไปเป็นหัวหน้าผู้พิพากษาศาลจังหวัดชัยภูมิ[7]
ขณะย้ายจากศาลมณฑลนครราชสีมามาอยู่ที่ศาลจังหวัดชัยภูมิ ได้เลื่อนยศเป็นอำมาตย์ตรีและอำมาตย์โท ต่อมาย้ายไปเป็นหัวหน้าผู้พิพากษาศาลจังหวัดสุรินทร์[8] ได้เลื่อนตำแหน่งเงินเดือนเป็นเดือนละ 450 บาท พ.ศ. 2480 ย้ายมารับราชการเป็นผู้พิพากษาศาลอาญา
พ.ศ. 2487 ได้ขอลาออกจากราชการเพื่อรับบำเหน็จบำนาญ เมื่อออกจากราชการแล้ว เป็นทนายความอยู่พักหนึ่ง แต่สุขภาพไม่ดี มีอาการป่วยอยู่เรื่อย ๆ จึงได้เลิก
อุปสมบท
[แก้]พ.ศ. 2455 ขอพระบรมราชานุญาตอุปสมบท และทางกรมมหาดเล็กได้นำเฝ้าถวายดอกไม้ธูปเทียน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ตามพระราชประเพณี
พระยาศรีวรวงศ์ได้นำเฝ้าสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้รับพระราชทานอนุญาตอุปสมบทในวัดบวรนิเวศวิหาร และทรงรับเป็นพระอุปัชฌาย์ อุปสมบทอยู่ตลอด 1 พรรษา แล้วลาอุปสมบทเข้ารับราชการในกรมพระอาลักษณ์ตามเดิม
ระหว่างอุปสมบทได้ศึกษาพระธรรมวินัยและพุทธานุประวัติ สอบไล่ได้องค์นวะธรรมชั้นเอก
การสมรส
[แก้]พ.ศ. 2465 ได้ทำการสมรสกับนางภักดิ์ ปิ่นทัษเฐียร มีบุตร-ธิดา ด้วยกัน 3 คน คือ นายธม วัตถา, นายเธียด วัตถา และนางสาวโอปอ วัตถา
ถึงแก่อนิจกรรม
[แก้]พระอินทเบญญา ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันที่ 15 เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2512 อายุ 78 ปี พระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุวัดมกุฎกษัตริยาราม เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2512
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2480 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 3 ตริตาภรณ์มงกุฎไทย (ต.ม.)[9]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/20.500.13072/588555/2512_อศ_พระอินทเบญญา_23385.pdf?sequence=1
- ↑ https://dl.parliament.go.th/handle/20.500.13072/588555
- ↑ ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. ตำนานหอพระสมุด หอพระมณเฑียรธรรม หอวชิรญาณ หอพุทธสาสนสังคหะ แล หอสมุดสำหรับพระนคร. พระนคร : อักษรเจริญทัศน์, 2512, หน้า ก
- ↑ ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. ตำนานหอพระสมุด หอพระมณเฑียรธรรม หอวชิรญาณ หอพุทธสาสนสังคหะ แล หอสมุดสำหรับพระนคร. พระนคร : อักษรเจริญทัศน์, 2512, หน้า ค
- ↑ ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. ตำนานหอพระสมุด หอพระมณเฑียรธรรม หอวชิรญาณ หอพุทธสาสนสังคหะ แล หอสมุดสำหรับพระนคร. พระนคร : อักษรเจริญทัศน์, 2512, หน้า ง
- ↑ เนติยบัณฑิตสภา. รายพระนามและรายนามสมาชิกเนติยบัณฑิตสภา พ.ศ. 2497. พระนคร: โรงพิมพ์ไทยพิทยา, 2497, หน้า 3
- ↑ "Web pages with individual authors". Cite Them Right online - Chicago. 2021. doi:10.5040/9781350927988.21.
- ↑ ""อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ" ในอีสาน "อนุสรณ์รำลึกประชาธิปไตย" แห่งแรกของไทย | ศิลปวัฒนธรรม". LINE TODAY.
- ↑ ในราชกิจจานุเบกษาระบุชื่อว่า "พระอินทเบญญา (นักบุสราคำ วัตถา)" ดูที่ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสสริยาภรณ์, เล่ม ๕๔ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๑๖๘๙, ๑๒ พฤศจิกายน ๒๔๘๐.