ข้ามไปเนื้อหา

การเดินป่าในเพชรพระอุมา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

การเดินป่าในเพชรพระอุมา พนมเทียนได้สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถ ทักษะและความรู้ในการเดินป่าของพรานป่าและพรานพื้นเมืองในเพชรพระอุมา ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการดำรงชีพภายในป่าของผู้ที่ประกอบอาชีพเป็นพรานนำทางหรือพรานล่าสัตว์ รวมทั้งนักเดินป่าหรือนักท่องเที่ยวที่นิยมการเดินป่าและผจญภัยในปัจจุบัน การเดินทางเข้าป่าในแต่ละครั้งใช้ระยะเวลายาวนาน มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเรียนรู้ถึงทักษะในการล่าสัตว์ เพื่อใช้เป็นอาหารสำหรับการดำรงชีพในป่า การสังเกตสิ่งต่าง ๆ รอบตัวรวมถึงทิศทางในการกำหนดจุดพักแรม

ในเพชรพระอุมา พนมเทียนกำหนดให้รพินทร์ ไพรวัลย์ แงซาย พรานบุญคำ พรานจัน พรานเกิดและพรานเส่ย มีทักษะและประสบการณ์ในการเป็นพรานนำทางและพรานล่าสัตว์ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงลักษณะของความสำคัญในการดำรงชีพในป่า ได้แก่

การดำรงชีพในป่า

[แก้]

การหาอาหารสำหรับการดำรงชีพในป่าตลอดระยะเวลาในการเดินทาง เป็นสิ่งสำคัญในการอยู่รอดของพรานนำทาง พรานป่าและนักเดินป่าที่นิยมท่องเที่ยวสัมผัสกับธรรมชาติในป่า พนมเทียนได้นำเอาส่วนสำคัญที่สุดในการเดินป่าของพรานล่าสัตว์ คือการเสาะแสวงหาอาหาร สอดแทรกผ่านทางตัวละครในเพชรพระอุมาอย่างละเอียดและมีความชัดเจน เช่นการหาเสาะแสวงหาแหล่งน้ำตามธรรมชาติสำหรับดื่มกินและชำระร่างกาย การเสาะแสวงหาพืชผักและผลไม้ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ตลอดจนการล่าสัตว์ ดังนี้

น้ำ

[แก้]
แหล่งน้ำตามธรรมชาติ

น้ำเป็นสิ่งสำคัญและมีความจำเป็นต่อร่างกาย สำหรับการเดินทางรอนแรมภายในป่าน้ำถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ขาดไม่ได้ ซึ่งพนมเทียนได้สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของน้ำ และทักษะความรู้ความสามารถเกี่ยวกับการค้นหาแหล่งน้ำผ่านทางเพชรพระอุมาผ่านทางรพินทร์ ไพรวัลย์ ที่มีทักษะและความรู้เกี่ยวกับน้ำ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่พรานนำทางจะต้องเรียนรู้และจดจำ สำหรับแหล่งน้ำที่ปรากฏในเพชรพระอุมานั้น ส่วนใหญ่เป็นแหล่งน้ำที่มีตามธรรมชาติ เช่นน้ำพุ โดยที่พนมเทียนกำหนดให้รพินทร์แสดงความรู้ถึงแหล่งน้ำตามธรรมชาติ ที่สามารถนำมาใช้ดื่มกินได้แก่หม่อมราชวงศ์ดาริน วราฤทธิ์[1] และน้ำซึม ซึ่งมีเองตามธรรมชาติโดยไหลซึมออกจากซอกหิน หรือแหล่งน้ำตามธรรมชาติขนาดใหญ่เช่นน้ำตกที่สามารถใช้ดื่มกินและชำระร่างกายได้[2]

ผัก ผลไม้

[แก้]

พนมเทียนได้นำเอาทักษะและการเรียนรู้เกี่ยวกับการแสวงหาพืชผักผลไม้สอดแทรกไว้ในเพชรพระอุมา ที่ถือเป็นสิ่งสำคัญในการเดินป่าเช่นเดียวกับแหล่งน้ำตามธรรมชาติ สำหรับผักและผลไม้นั้นเป็นอาหารที่มีความสำคัญในการดำรงชีพในป่า พนมเทียนจึงได้กำหนดให้รพินทร์ ไพรวัลย์ แงซาย และตัวละครอื่น ๆ มีความจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้เกี่ยวกับผักและผลไม้ ว่าชนิดใดสามารถรับประทานได้ ชนิดใดเป็นพิษต่อร่างกาย เช่นกล้วยป่าที่มีร่องรอยการกัดแทะของสัตว์ขนาดเล็กเช่น กระรอก กระแต ค้างคาว สามารถนำมากินได้ หรือเป็นการอาศัยความคุ้นเคยในการกินอยู่ทั่วไป เช่นเผือก มัน มันมือเสือที่แงซายไปขุดหามาให้แก่หม่อมราชวงศ์ดาริน วราฤทธิ์[3] หรือการแยกแยะเห็ดชนิดต่าง ๆ เช่นเห็ดโคนที่ขึ้นตามโคนต้นไม้ที่สามารถรับประทานได้ หรือเห็ดเมาที่ทานแล้วจะมีพิษต่อร่างกาย ทำให้วิงเวียนศีรษะและมึนงง[4]

เนื้อสัตว์

[แก้]
เนื้อสัตว์ใช้เป็นเสบียงในการเดินทาง

ในการเดินป่า นอกเหนือจากน้ำและผักผลไม้ที่เป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีพแล้ว การล่าสัตว์เพื่อนำเนื้อมาเป็นอาหารก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นเดียวกัน ในเพชรพระอุมาพนมเทียนได้นำทักษะและความรู้ในการล่าสัตว์เพื่อนำเนื้อมาเป็นอาหารสำหรับใช้ในการเดินทาง และสะท้อนมุมมองในการล่าสัตว์ด้วยอาวุธชนิดต่าง ๆ เช่น การใช้ปืนลูกซองสำหรับการล่าสัตว์ปีกเช่น นก ไก่ป่า การใช้ปืนลูกกรดสำหรับล่าสัตว์ขนาดเล็กเช่นเป็ดป่า เม่น หรือแม้แต่การใช้ปืนไรเฟิล สำหรับล่าสัตว์ขนาดกลางจนถึงขนาดใหญ่เช่นกวาง เลียงผา เป็นการบ่งบอกอย่างชัดเจนที่สุดคือสัตว์แทบทุกชนิดเช่น แย้ งู ช้าง ลิง ค่าง หมูป่า นก วัวป่า กิ้งก่า แรด ทุกประเภทในป่า สามารถนำมาใช้รับประทานเป็นอาหารได้โดยผ่านการทำให้สุกและสะอาด เพื่อป้องกันเชื้อโรคต่าง ๆ

เนื้อสัตว์เมื่อล่าได้ จะต้องมีการรู้จักเก็บถนอมรักษาเอาไว้ เพื่อให้ได้มีไว้ใช้รับประทานในการเดินทาง ในเพชรพระอุมา พนมเทียนได้นำความรู้ในการถนอมอาหารมาสอดแทรกเป็นเกร็ดความรู้ เช่นเนื้อสัตว์ที่ล่ามาได้เช่นเนื้อกวางหรือ กระทิง เมื่อเหลือเนื้อจากการนำไปปรุงอาหารสำหรับรับประทานในแต่ละมื้อ แงซายก็จะเอาเม็ดเกลือมาคลุกเคล้า ให้ความเค็มของเกลือละลายซึมลงไปในเนื้อและย่างรมไฟเก็บไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้เนื้อนั้นเน่าและเก็บไว้เป็นเสบียงกรังในการเดินทาง[5]

ที่พักแรม

[แก้]

พนมเทียนได้นำเอาทักษะความรู้และประสบการณ์ในการเดินป่า จากความรู้เชิงพรานของพรานพื้นเมืองและจากประสบการณ์ในการเดินป่าของตนเอง นำมาสอดแทรกในเพชรพระอุมา ในการเลือกสถานที่พักแรมในการเดินทาง ซึ่งต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อมโดยรอบเป็นสำคัญ เช่นที่พักแรมนั้นอยู่ใกล้กับแหล่งน้ำ มีอาหารอุดมสมบูรณ์ มีช่องมุมหรือเชิงผาสำหรับเป็นแหล่งกำบัง สามารถหากิ่งไม้แห้งหรือกิ่งไม้สดบางชนิด ที่สามารถนำมาก่อกองไฟขนาดใหญ่สำหรับให้แสงสว่างรอบ ๆ บริเวณที่พักได้ หรือทักษะในการเลือกสถานที่พักแรมซึ่งจะต้องไม่ทับทางด่านซึ่งเป็นทางเดินของสัตว์ เช่นช้าง วัวกระทิง เป็นต้น

ตลอดการเดินทาง พนมเทียนกำหนดให้รพินทร์ ไพรวัลย์เป็นผู้กำหนดและเลือกชัยภูมิ สถานที่สำหรับพักแรมให้แก่คณะนายจ้าง พรานพื้นเมืองและลูกหาบ ตามสภาพภูมิประเทศในการเดินทาง เช่นที่พักแรมควรเป็นสถานที่สูงเพื่อป้องกันอันตรายจากน้ำท่วม หากเกิดเหตุการณ์น้ำป่าไหลหลากหรือฝนตกหนัก หรือสถานที่พักแรมที่เป็นทุ่งกว้าง ควรจะเลือกบริเวณที่เป็นที่ราบเรียบ เป็นทุ่งโล่งมีอากาศถ่ายเทได้สะดวก สามารถมองเห็นรอบ ๆ บริเวณแคมป์ที่พักได้อย่างชัดเจน หรือการเลือกที่พักที่ใกล้กับน้ำตก มีก้อนหินและโขดหินขนาดใหญ่รายล้อม ซึ่งเป็นการป้องกันอันตรายจากสัตว์ป่าได้เป็นอย่างดีของรพินทร์ ไพรวัลย์[6]

ภูมิประเทศ

[แก้]

สภาพภูมิประเทศของการเดินทางในเพชรพระอุมา พนมเทียนได้จำลองมาจากลักษณะการเดินทางที่ต้องรอนแรมภายในป่า เต็มไปด้วยความยากลำบากและอันตรายในหลาย ๆ ด้าน เช่นเส้นทางในการเดินทางที่เต็มไปด้วยความคดเคี้ยวของโขดหินและหน้าผา สภาพของป่าดงดิบที่เต็มไปด้วยสัตว์ป่าดุร้าย ซึ่งในการเดินทางในป่า สภาพภูมิประเทศเป็นสิ่งสำคัญที่พรานป่าผู้นำทางและพรานพื้นเมือง จะต้องอาศัยทักษะและประสบการณ์ของตนเอง ร่วมกับความชำนาญในเส้นทางที่เดินทาง

นักเดินป่าจะต้องรู้จักแหล่งอาศัยของสัตว์ รวมทั้งแหล่งอาหารที่ใช้สำหรับดำรงชีพเป็นอย่างดีเพื่อการดำรงชีวิตของตนเองให้รอดตลอดระยะเวลาของการเดินทาง ในเพชรพระอุมา พนมเทียนกำหนดรพินทร์ ไพรวัลย์ เป็นพรานนำทางที่รู้จักเส้นทางการเดินทางภายในป่าเป็นอย่างดี สามามารถนำทางในการเดินทางแก่คณะนายจ้างได้เป็นอย่างดี โดยไม่นำพาคณะนายจ้างหลงทางภายในป่าหรือออกนอกเส้นทางการเดินทาง[7]

อุปกรณ์เดินป่า

[แก้]

ในเพชรพระอุมา พนมเทียนได้นำความรู้ ในการเดินทางที่ต้องพึ่งพาอาศัยอุปกรณ์ในการเดินป่าจากทักษะและประสบการณ์ของตนเอง ที่จะต้องคำนึงถึงอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่มีความจำเป็นและเหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศ เช่น ชุดเดินป่า ไฟฉาย ยาฆ่าแมลง ฯลฯ สอดแทรกไว้ตลอดระยะเวลาการเดินทาง ได้แก่

อุปกรณ์การแพทย์และเครื่องเวชภัณฑ์

[แก้]

อุปกรณ์ทางการแพทย์และเครื่องเวชภัณฑ์ ถือเป็นสิ่งสำคัญในการเดินป่าที่นักเดินป่าจะต้องคำนึงถึงเป็นสิ่งแรกในการจัดเตรียมอุปกรณ์ในการเดินป่า เพื่อให้เป็นการพร้อมกับสภาพภูมิประเทศที่ไม่คุ้นเคย เช่น อุปกรณ์สำหรับทำแผลและชุดปฐมพยาบาลเบื้องต้น ยาแก้ปวด ทิงเจอร์และยาแก้ไข้มาลาเรีย เป็นต้น

ชุดเดินป่า

[แก้]

ชุดเดินป่า เป็นอุปกรณ์สำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้รักในการเดินป่าและการผจญภัยในป่า นอกจากจะช่วยป้องกันอันตรายแก่ผู้สวมใส่ การเลือกชุดเดินป่าต้องเลือกแต่งกายให้เหมาะสมกับสภาพแวะล้อมของภูมิประเทศอีกด้วย พนมเทียนได้นำเอาความรู้ รายละเอียดปลีกย่อยเล็กน้อยในการเลือกชุดเดินป่า นำมาสอดแทรกไว้ในเพชรพระอุมา เป็นการสะท้อนความสำคัญของความรู้ในการเลือกชุดเดินป่า ซึ่งต้องเป็นเสื้อผ้าแบบหนา ออกแบบและตัดเย็บแบบรัดกุม และคำนึงถึงการใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด[8]

เข็มทิศ

[แก้]

เข็มทิศ ถือเป็นอุปกรณ์สำคัญอันดับต้น ๆ ในการจัดเตรียมสัมภาระสำหรับการเดินทาง การเดินป่าโดยไม่รู้ทิศทาง ถือเป็นสิ่งอันตรายอย่างยิ่งสำหรับนักเดินป่า อาจทำให้นักเดินป่าหลงทิศหาทางกลับออกมาไม่ได้ พนมเทียนได้นำเอาความรู้เรื่องการใช้เข็มทิศและการอ่านเข็มทิศ ให้ปรากฏในเพชรพระอุมาหลายครั้ง และเป็นการสะท้อนให้เห็นความสำคัญของเข็มทิศ เช่นในการเดินทางผ่านดงมรณะของคณะเดินทางที่มีรพินทร์ ไพรวัลย์เป็นผู้นำทาง เกิดหลงทิศทาง แต่ได้หม่อมราชวงศ์ดาริน วราฤทธิ์ ช่วยไว้ด้วยการอ่านเข็มทิศบอกทิศทาง[9]

แผนที่

[แก้]

แผนที่ เป็นอุปกรณ์สำคัญอีกอย่างสำหรับนักเดินป่า ที่จำเป็นจะต้องมีไว้ในการเดินทางเช่นเดียวกับเข็มทิศ ทางเดินทางโดยปราศจากแผนที่ ก็เท่ากับเป็นการเดินป่าโดยไร้จุดมุ่งหมาย ในเพชรพระอุมา แผนที่ในการเดินทางค้นหาขุมทรัย์เพชรพระอุมาของมังมหานรธา และแผนที่ในการเดินทางสู่เนินพระจันทร์ของแงซาย พนมเทียนได้นำความรู้เรื่องแผนที่มาสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญในการเดินทาง เป็นเหตุการณ์ที่รพินทร์เอาแผนที่จำลอง อธิบายให้คณะนายจ้างได้รับทราบถึงเส้นทางในการเดินทาง และสะท้อนความรู้ความชำนาญในการอธิบายประกอบการเดินทาง ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยแผนที่

ไฟฉาย

[แก้]

ไฟฉาย เป็นอุปกรณ์สำคัญอย่างยิ่งในการเดินป่า ที่ขาดไม่ได้สำหรับนักเดินป่า แสงสว่างจากไฟฉายถือเป็นสิ่งสำคัญเช่นเดียวกับแสงสว่างจากกองไฟ ที่ช่วยให้นักเดินป่าสามารถค้นหาสิ่งของต่าง ๆ ภายในกองสัมภาระ รับรู้ถึงสภาพแวดล้อมของภูมิประเทศ ป้องกันอันตรายจากสัตว์ป่า ใช้สำหรับส่องสัตว์ในการนั่งห้างรวมทั้งเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในการเดินทาง ไฟฉายสำหรับนักเดินป่าส่วนมากที่นิยมใช้งานในปัจจุบันและพนมเทียนได้นำมาใช้ในเพชรพระอุมา เป็นไฟฉายขนาดแปดท่อน ที่ให้แสงสว่างมากกว่าแสงสว่างจากไฟฉายธรรมดา เนื่องจากให้แสงสว่างมากกว่าและสามารถพกพาตลอดการเดินทางได้โดยไม่เป็นภาระในการเดินทาง

ตะเกียงแบตเตอรี่

[แก้]

ตะเกียงแบตเตอรี่ เป็นอุปกรณ์สำคัญในการเดินป่า มีขนาดเล็กกะทัดรัด พกพาสะดวกและใช้งานง่าย พนมเทียนนำเอาตะเกียงแบตเตอรี่มาสอดแทรกในเพชรพระอุมาตอนป่าโลกล้านปี โดยแสดงให้เห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นในการนำเอาตะเกียงแบตเตอรี่ออกมาใช้งาน โดยคณะนายจ้างที่มีพันโทหม่อมราชวงศ์เชษฐา วราฤทธิ์ เป็นผู้เก็บรักษาไว้ในการเดินทาง และนำออกมาใช้เพื่อให้แงซายวาดภาพแผนที่เนินพระจันทร์อีกครั้ง ภายหลังจากที่ได้วาดภาพแผนที่เนินพระจันทร์ด้วยถ่านให้รพินทร์ ไพรวัลย์ดูเมื่อคืนก่อน

ยาทาและยาฆ่าแมลง

[แก้]

ยาทาและยาฆ่าแมลง เป็นอุปกรณ์สำหรับการเดินป่าสำหรับป้องกันอันตรายจากสัตว์ป่า แมลงและทากดูดเลือด การเดินทางในป่าสำหรับนักเดินทาง ยาทาและยาฆ่าแมลงถือเป็นอุปกรณ์เดินป่าที่สำคัญอีกชิ้นหนึ่ง ที่ควรนำพกติดตัวไว้ตลอดเวลา การเดินป่าในแถบป่าดิบชื้นหรือป่าดงดิบ แมลงและทากดูดเลือดเป็นสิ่งที่นักเดินป่าหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่สามารถป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นแก่ตนเองได้

อ้างอิง

[แก้]
  1. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนดงมรณะ เล่ม 1 หน้า 207, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 207
  2. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนจอมผีดิบมันตรัย เล่ม 1 หน้า 83, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 83
  3. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนดงมรณะ เล่ม 1 หน้า 77, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 77
  4. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนจอมผีดิบมันตรัย เล่ม 1 หน้า 1298, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 1298
  5. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนไพรมหากาฬ เล่ม 1 หน้า 191, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 191
  6. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนดงมรณะ เล่ม 3 หน้า 974, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 974
  7. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนไพรมหากาฬ เล่ม 1 หน้า 74, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 74
  8. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนดงมรณะ เล่ม 1 หน้า 112, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 112
  9. พนมเทียน, เพชรพระอุมา ตอนดงมรณะ เล่ม 2 หน้า 856, สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม, 2544, หน้า 856