กรมที่ดิน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กรมที่ดิน
Department of Lands
ตรากรมที่ดิน
ภาพรวมหน่วยงาน
ก่อตั้ง17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2444 (123 ปี)
เขตอำนาจทั่วราชอาณาจักร
สำนักงานใหญ่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาฯ ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร 10210
งบประมาณประจำปี6,403 ล้านบาท (พ.ศ. 2561)[1]
ฝ่ายบริหารหน่วยงาน
  • พรพจน์ เพ็ญพาส[2], อธิบดี
  • เปลี่ยน แก้วฤทธิ์, รองอธิบดี
  • พนิตาวดี ปราชญ์นคร, รองอธิบดี
  • บุญธรรม หอไพบูลย์สกุล, รองอธิบดี
  • วสันต์ สุภาภา, รองอธิบดี
ต้นสังกัดกระทรวงมหาดไทย
เว็บไซต์http://www.dol.go.th

กรมที่ดิน (อังกฤษ: Department of Lands) เป็นหน่วยงานระดับกรม สังกัดกระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานที่ดำเนินงานออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินให้ราษฎรและให้บริการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดิน และอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น รวมถึงการจัดที่ทำกินให้ประชาชนตามประมวลกฎหมายที่ดินอีกด้วย ปัจจุบันนาย พรพจน์ เพ็ญพาส เป็นรักษาการในตำแหน่งอธิบดีกรมที่ดิน

ประวัติ[แก้]

ในรัชกาลพ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระองค์ทรงดำเนินรัฐประศาสนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของประชาชน โดยให้ราษฏรทำประโยชน์บนที่ดินซึ่งผลประโยชน์จะตกแก่คนๆนั้น

ครั้นมาถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีมีระบบการบริหารประเทศแบบจตุสดมภ์ที่เรียกว่า เวียง วัง คลัง นา ซึ่งเรื่องของที่ดินนี้จัดอยู่ในหมวดหมู่ของ นา หรือ กรมนา นั่นเอง โดยหน้าที่ของกรมนาสมัยนั้น แบ่งออกเป็น 2 หน้าที่ คือ บริหารและตุลาการ

หน้าที่บริหารจะจัดหาที่ดิน โดยให้ราษฏรเข้าไปบุกเบิกที่ดินเปล่าที่รกร้างอยู่และให้ใช้ประกอบการทำกิน โดยเขียนโฉนดไว้ให้แก่ผู้เข้าไปบุกเบิกที่ดินตรงนั้น พร้อมกับหาที่ดินเพื่อการศาสนา สร้างเป็นวัดวาอารามต่าง ๆ

ส่วนหน้าที่ตุลาการจะมีหน้าที่ดูแลการเข้าไปโค่นร้างว่าผู้ใดลักลอบกระทำการให้นำมาลงโทษ อีกทั้งระงับเหตุทะเลาะวิวาทในเรื่องที่ดิน เช่น กรณีแย่งนากันทำ รวมถึงข้อพิพาทเกี่ยวกับการลักเครื่องมือทำนา ขโมยไถ ลักแอก เป็นต้น

ต่อมากรุงรัตนโกสินทร์ลักษณะการบริหารที่ดินส่วนคงยึดหลักเดียวกันไว้

กระทั่งสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 เกิดกรณีพิพาทเรื่องกรรมสิทธิ ที่ดินบ่อยครั้ง ๆ ขนาดขึ้นโรงขึ้นศาลเป็นว่าเล่น เพราะเจ้าหน้าที่ผู้เก็บภาษีอากรออกหนังสือสำคัญให้เจ้าของที่ดินไว้ยึดถือ ไม่อาจระงับข้อพิพาทโต้แย้งปัญหาเรื่องกรรมสิทธิได้ เนื่องจากข้อความบนหนังสือ ไม่กระจ่างไม่สามารถใช้เป็นหลักฐานยืนยันได้

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าจึงโปรดฯ ให้ เจ้าพระยาเทเวศวิวัฒน์ ซึ่งดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงเกษตรธิการ จัดทำทะเบียนที่ดินให้เป็นหลักฐานเกี่ยวกับกรมสิทธิในที่ดินจริงจังและเร่งด่วนด้วยทรงพระราชดำริเห็นว่าที่ดินมีราคายิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อนเป็นอันมาก ย่อมเป็นสาเหตุให้ราษฏรมีข้อพิพาทมากขึ้นอีก สมควรจัดหมายเขตที่ดินนั้นให้มั่นคงยิ่งขึ้น

พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ออกพระบรมราชโองการวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2442 ให้ พระยาประชาชีพบริบาล(ผึ่ง ชูโต) ข้าหลวงเกษตรให้อยู่ในบังคับบัญชาของเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่า ออกไปดำเนินการออกโฉนด โดยกำหนดท้องที่ทิศใต้แต่แยกบางไทรขึ้นไปตามฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทิศตะวันตก และตามฝั่งแม่น้ำแควอ่างทอง ทิศตะวันออกไปจนถึงคลองตะเคียนเป็นที่สุดฝ่ายเหนือ

พระยาประชาชีพบริบาลกับเจ้าพนักงานแผนที่ทำการเดินสำรวจครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2444 ได้ถือเอาโฉนดเป็นหลักทะเบียน ซึ่งหลายตำบลในเขตอำเภอบางปะอินมณฑลกรุงเก่าได้รับการออกโฉนดหรือแจกโฉนดให้

ทว่าช่วงเวลานั้นยังไม่มีกฎหมายเป็นหลักในการออกโฉนดชัดเจน พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ออกประกาศพระบรมราชโองการลงวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2444 วางระเบียบเรื่องโฉนดไว้อย่างชัดเจน และพระบรมราชโองการนี้ถือเป็นกฎหมายใช้ในการออกโฉนด

นอกจานี้พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา กรมทะเบียนที่ดิน สังกัดกระทรวงเกษตราธิการขึ้นมา เพื่อจัดการดูแลเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยประกาศเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2444[3]มี นาย ดับบลิว เอ.เกรแฮม ผู้ช่วยเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการเป็นเจ้ากรมคนแรก[4]

ด้วยเหตุนี้กรมที่ดิน จึงถือเอาวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2444 เป็นวันสถาปนากรมที่ดิน

ต่อมาเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2475 กรมทะเบียนที่ดิน ก็ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น กรมที่ดิน สังกัดกระทรวงมหาดไทยตามประกาศพระบรมราชโองการผลัดเปลี่ยนเสนาบดีปลัดทูลฉลอง กระทรวงต่าง ๆ และรวมกระทรวง พ.ศ. 2475

หลังจากนั้นถัดมาอีกหนึ่งปีก็เปลี่ยนชื่อมาเป็น กรมที่ดินและโลหะกิจ พร้อมทั้งโอนมาสังกัดกระทรวงเศรษฐการ เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2476 แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่ไม่นานนักก็ต้องโอนกลับมาสังกัดกระทรวงเกษตราธิการอีกครั้งในอีก 2 ปีต่อมา

ท้ายสุดเมื่อมีพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2484 ต้องเปลี่ยนชื่อกันอีก โดยใช้ชื่อว่า กรมที่ดิน เพียงอย่างเดียวและมาสังกัดกระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันนี้

อำนาจและหน้าที่[แก้]

  1. ดำเนินงานออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินให้ราษฎร
  2. ให้บริการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดิน และอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น
  3. จัดที่ทำกินให้ประชาชนตามประมวลกฎหมายที่ดิน
  4. ควบคุมการจัดสรรที่ดิน
  5. การจดทะเบียนอาคารชุด
  6. ควบคุมช่างรังวัดเอกชน

หน่วยงานในสังกัด[แก้]

ราชการบริหารส่วนกลาง[แก้]

  • สำนักงานเลขานุการกรม
  • กลุ่มตรวจสอบภายใน
  • กองการเจ้าหน้าที่
  • กองการพิมพ์
  • กองคลัง
  • กองเทคโนโลยีทำแผนที่
  • กองแผนงาน
  • กองฝึกอบรม
  • กองพัสดุ
  • ศูนย์ข้อมูลแผนที่รูปแปลงที่ดิน
  • สำนักกฎหมาย
  • สำนักงานคณะกรรมการช่างรังวัดเอกชน
  • สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร
  • สำนักจัดการที่ดินของรัฐ
  • สำนักเทคโนโลยีสารสนเทศ
  • สำนักมาตรฐานการทะเบียนที่ดิน
  • สำนักมาตรฐานการออกหนังสือสำคัญ
  • สำนักมาตรฐานและส่งเสริมการรังวัด
  • สำนักส่งเสริมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์[5]

ราชการส่วนภูมิภาค[แก้]

  • สำนักงานที่ดินจังหวัด มีหน้าที่ดําเนินการตามประมวลกฎหมายที่ดิน กฎหมายวาด้วยอาคารชุด กฎหมายว่าด้วยการควบคุมการจัดสรรที่ดิน กฎหมายว่าด้วยช่างรังวัดเอกชน และ กฎหมายว่าด้วยการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรมในจังหวัด โดยมีเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัด (อำนวยการ ระดับสูง) เป็นหัวหน้าหน่วยงาน โดยแบ่งส่วนราชการออกเป็น 5 กลุ่มงาน ได้แก่
    • ฝ่ายอำนวยการ
    • ฝ่ายทะเบียน
    • ฝ่ายรังวัด
    • ฝ่ายควบคุมและรักษาหลักฐานที่ดิน
    • กลุ่มงานวิชาการที่ดิน
  • สำนักงานที่ดินจังหวัด สาขา มีหน้าที่ดําเนินการตามประมวลกฎหมายที่ดิน กฎหมายวาด้วยอาคารชุด กฎหมายว่าด้วยการควบคุมการจัดสรรที่ดิน กฎหมายว่าด้วยช่างรังวัดเอกชน และ กฎหมายว่าด้วยการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรมในจังหวัด โดยมีเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัด (อำนวยการ ระดับต้น) เป็นหัวหน้าหน่วยงาน โดยแบ่งส่วนราชการออกเป็น 3 ฝ่าย ได้แก่
    • ฝ่ายอำนวยการ
    • ฝ่ายทะเบียน
    • ฝ่ายรังวัด
  • สำนักงานที่ดินอำเภอ ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด มีอำนาจหน้าที่ด้านการทะเบียนที่ดิน และด้านการรังวัด

อ้างอิง[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]