สหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยทรานส์คอเคเซีย

พิกัด: 41°43′N 44°47′E / 41.717°N 44.783°E / 41.717; 44.783
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Transcaucasian Democratic Federative Republic)
สหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตย
ทรานส์คอเคเซีย

Закавказская демократическая федеративная республика  (รัสเซีย)
เดือนเมษายน - เดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1918
แผนที่ภูมิภาคคอเคซัสใน ค.ศ. 1918 ของกองทัพอังกฤษ ซึ่งพรมแดนที่เน้นไว้คือดินแดนที่อ้างสิทธิ์[1]
แผนที่ภูมิภาคคอเคซัสใน ค.ศ. 1918 ของกองทัพอังกฤษ ซึ่งพรมแดนที่เน้นไว้คือดินแดนที่อ้างสิทธิ์[1]
เมืองหลวงติฟลิส
ภาษาทั่วไปจอร์เจีย
อาเซอร์ไบจาน
อาร์มีเนีย
รัสเซีย
การปกครองสหพันธรัฐ สาธารณรัฐระบบรัฐสภา ภายใต้รัฐบาลชั่วคราว
ประธานสภาเซย์ม 
• ค.ศ. 1918
นีโคไล ชเฮอิดเซ
นายกรัฐมนตรี 
• ค.ศ. 1918
อะคากี ชเฮนเคลี
สภานิติบัญญัติสภาเซย์มทรานส์คอเคเซีย
ยุคประวัติศาสตร์การปฏิวัติรัสเซีย
2 มีนาคม ค.ศ. 1917
• ประกาศจัดตั้งสหพันธรัฐ
22 เมษายน ค.ศ. 1918
• จอร์เจียประกาศเอกราช
26 พฤษภาคม ค.ศ. 1918
• อาร์มีเนียและอาเซอร์ไบจานประกาศเอกราช
28 พฤษภาคม ค.ศ. 1918
สกุลเงินรูเบิลทรานส์คอเคเซีย (ru)[2]
ก่อนหน้า
ถัดไป
คณะกรรมาธิการทรานส์คอเคเซีย
สาธารณรัฐประชาธิปไตยจอร์เจีย
สาธารณรัฐประชาธิปไตยอาเซอร์ไบจาน
สาธารณรัฐอาร์มีเนีย
ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของจอร์เจีย อาเซอร์ไบจาน อาร์มีเนีย ตุรกี

สหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยทรานส์คอเคเซีย (TDFR;[a] 22 เมษายน – 28 พฤษภาคม ค.ศ. 1918)[b] เป็นรัฐที่มีอยู่เป็นเวลาสั้น ๆ ในภูมิภาคคอเคซัส โดยมีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศอาร์มีเนีย ประเทศอาเซอร์ไบจาน และประเทศจอร์เจียในปัจจุบัน รวมถึงพื้นที่บางส่วนของประเทศรัสเซียและตุรกีด้วย รัฐดำรงอยู่เพียงหนึ่งเดือนก่อนที่จอร์เจียจะประกาศเอกราช ตามมาด้วยอาร์มีเนียและอาเซอร์ไบจานหลังจากนั้นไม่นาน

ภูมิภาคอันเป็นที่ตั้งของสหพันธ์สาธารณรัฐเดิมเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิรัสเซีย ซึ่งจักรวรรดิได้ล่มสลายในระหว่างการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1917 และรัฐบาลชั่วคราวเข้าครองอำนาจ เช่นเดียวกับในภูมิภาคคอเคซัส ที่มีการจัดตั้งคณะรัฐบาลในชื่อคณะกรรมการพิเศษทรานส์คอเคเซีย (โอซาคอม) แต่ภายหลังการปฏิวัติเดือนตุลาคมและการขึ้นสู่อำนาจของบอลเชวิคในรัสเซีย คณะกรรมาธิการทรานส์คอเคเซียจึงเข้ามาแทนที่โอซาคอม ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1918 ขณะสงครามโลกครั้งที่หนึ่งยังดำเนินอยู่ คณะกรรมาธิการจึงเริ่มต้นเจรจาสันติภาพกับจักรวรรดิออตโตมันที่กำลังรุกรานภูมิภาค แต่ต้องล้มเหลวอย่างรวดเร็ว เนื่องจากจักรวรรดิปฏิเสธที่จะยอมรับอำนาจของคณะกรรมาธิการ สนธิสัญญาเบรสท์-ลีตอฟสก์ซึ่งยุติการมีส่วนร่วมของรัสเซียในสงคราม ยอมให้ดินแดนทรานส์คอเคซัสบางส่วนตกเป็นของจักรวรรดิออตโตมัน เมื่อต้องเผชิญภัยคุกคามที่ใกล้เข้ามานี้ ทำให้ในวันที่ 22 เมษายน ค.ศ. 1918 คณะกรรมาธิการจึงประกาศยุบตนเองและสถาปนาสหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยทรานส์คอเคเซียขึ้นเป็นรัฐเอกราช พร้อมทั้งจัดตั้งสภานิติบัญญัติหรือสภาเซย์มเพื่อเจรจาโดยตรงกับจักรวรรดิออตโตมัน ซึ่งได้รับการรับรองความเป็นเอกราชโดยทันที

จุดประสงค์ที่แตกต่างกันของทั้งสามกลุ่มชาติพันธุ์หลัก (ชาวอาร์มีเนีย ชาวอาเซอร์ไบจาน[c] และชาวจอร์เจีย) ถือเป็นอันตรายอย่างรวดเร็วต่อการดำรงอยู่ของสหพันธ์ การเจรจาสันติภาพพังทลายลงอีกครั้งและต้องเผชิญกับการรุกรานของจักรวรรดิออตโตมันในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1918, ผู้แทนจอร์เจียในสภาเซย์มประกาศว่าสหพันธ์ไม่สามารถดำรงอยู่ต่อไปได้ และประกาศให้สาธารณรัฐประชาธิปไตยจอร์เจียเป็นเอกราชเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม เนื่องด้วยจอร์เจียไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสหพันธ์อีกต่อไป ทำให้สาธารณรัฐอาร์มีเนียและสาธารณรัฐประชาธิปไตยอาเซอร์ไบจานต่างก็ประกาศตนเองเป็นรัฐเอกราชเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม จึงถือเป็นการสิ้นสุดของสหพันธ์ เนื่องจากการดำรงอยู่เพียงระยะเวลาสั้น ๆ ทำให้สหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยทรานส์คอเคเซียมักถูกลืมเลือนในประวัติศาสตร์นิพนธ์ระดับชาติของภูมิภาคนี้ แต่โดยพื้นฐานแล้วถือว่าเป็นกระบวนการขั้นแรกของรัฐทั้งสามที่พยายามประกาศอิสรภาพตนเอง

ประวัติศาสตร์[แก้]

ภูมิหลัง[แก้]

พื้นที่ส่วนใหญ่ของภูมิภาคเซาท์คอเคซัสถูกผนวกรวมเข้ากับจักรวรรดิรัสเซียในช่วงครึ่งกลางของคริสต์ศตวรรษที่ 19[8] ได้มีการจัดตั้งเขตอุปราชคอเคเซียขึ้นใน ค.ศ. 1801 เพื่อกระจายอำนาจการปกครองจากรัสเซียสู่ภูมิภาคได้โดยตรง และในช่วงหลายทศวรรษถัดมา อำนาจในการปกครองตนเองของเขตอุปราชลดลง และอำนาจก็ถูกรวมเข้าสู่ศูนย์กลางรัสเซียมากขึ้นไปอีก อย่างไรก็ตาม เขตอุปราชได้รับอำนาจเพิ่มมากขึ้นใน ค.ศ. 1845[9] โดยเมืองติฟลิส (ปัจจุบันคือ ทบิลีซี) ซึ่งเคยเป็นเมืองหลวงของราชอาณาจักรคาร์ทลี–กาเฆที ได้กลายเป็นศูนย์กลางของเขตอุปราชและเมืองหลวงโดยพฤตินัยของภูมิภาคนี้[10] ภูมิภาคเซาท์คอเคซัสส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นพื้นที่ชนบทอย่างท่วมท้น ยกเว้นเมืองสำคัญอย่างติฟลิสและบากู[d][11] ซึ่งเติบโตขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 เมื่อภูมิภาคเริ่มส่งออกน้ำมันและกลายเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่สำคัญ[12] ภูมิภาคนี้มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์เป็นอย่างมาก โดยมีสามกลุ่มชาติพันธุ์หลัก ได้แก่ ชาวอาร์มีเนีย ชาวอาเซอร์ไบจาน และชาวจอร์เจีย ส่วนชาวรัสเซียนั้นเริ่มมีจำนวนมากขึ้นภายหลังจากที่จักรวรรดิรัสเซียได้ผนวกภูมิภาคนี้[13]

จากการประทุของสงครามโลกครั้งที่หนึ่งใน ค.ศ. 1914 ภูมิภาคคอเคซัสได้กลายเป็นสมรภูมิหลักของการต่อสู้ระหว่างรัสเซียและจักรวรรดิออตโตมัน[14] กองทัพรัสเซียได้รับชัยชนะอย่างต่อเนื่องและเริ่มรุกรานดินแดนของจักรวรรดิออตโตมัน อย่างไรก็ตาม ทางการรัสเซียกังวลว่าประชากรท้องถิ่น ซึ่งส่วนมากเป็นชาวมุสลิม จะให้การสนับสนุนสุลต่านเมห์เหม็ดที่ 5 และหันมาต่อต้านกองทัพรัสเซีย เนื่องจากสุลต่านทรงเป็นกาหลิบ ซึ่งเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของศาสนาอิสลาม[15] ทั้งสองฝ่ายพยายามปลุกปั่นชาวอาร์มีเนียที่อยู่บริเวณชายแดนเพื่อให้เกิดการลุกฮือขึ้น[16] อย่างไรก็ตาม หลังความพ่ายแพ้ทางทหารของจักรวรรดิออตโตมัน รัฐบาลออตโตมันได้หันมาต่อต้านชาวอาร์มีเนียเสียเอง และกระทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ใน ค.ศ. 1915 ซึ่งมีชาวอาร์มีเนียประมาณ 1 ล้านคนที่ถูกสังหาร[17][18]

หลังการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ใน ค.ศ. 1917 ทำให้จักรวรรดิรัสเซียล่มสลายลงและได้มีการประกาศจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวขึ้นในรัสเซีย ในช่วงแรก เจ้าอุปราชแห่งคอเคซัส แกรนด์ดยุกนีโคไล ได้แสดงความสนับสนุนรัฐบาลใหม่อย่างเปิดเผย แต่ต่อมาพระองค์ถูกบังคับให้ลาออกจากตำแหน่งเมื่ออำนาจของจักรพรรดิถูกล้มล้าง[19] ทางรัฐบาลชั่วคราวได้จัดตั้งคณะปกครองชั่วคราวขึ้น หรือที่รู้จักกันในชื่อ "คณะกรรมการพิเศษทรานส์คอเคเซีย" (ชื่อย่อในภาษารัสเซียคือ "โอซาคอม"[e]) เมื่อวันที่ 22 มีนาคม ค.ศ. 1917 [ตามปฎิทินเก่า: 9 มีนาคม] ซึ่งภายในคณะประกอบไปด้วยเหล่าผู้แทนแห่งคอเคเซียจากสภาดูมา (สภานิติบัญญัติรัสเซีย) และผู้นำท้องถิ่นอื่น ๆ โดยมีจุดประสงค์เพื่อทำหน้าที่เป็น "คณะอุปราช" และเหล่าผู้แทนของคณะต่างก็มาจากกลุ่มชาติพันธุ์หลักของภูมิภาคนี้ทั้งสิ้น[21][22] เช่นเดียวกับในเปโตรกราด[f] ที่ระบบอำนาจควบคู่ได้ก่อตัวขึ้น เนื่องจากความพยายามชิงดีชิงเด่นกันระหว่างโอซาคอมและสภาโซเวียต[g][24] แต่ด้วยการสนับสนุนเพียงเล็กน้อยจากรัฐบาลในเปโตรกราด จึงเป็นเรื่องยากที่โอซาคอมจะมีอำนาจเหนือสภาโซเวียต โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสภาโซเวียตติฟลิส[25]

คณะกรรมาธิการทรานส์คอเคเซีย[แก้]

เมื่อข่าวการปฏิวัติเดือนตุลาคม ซึ่งนำไปสู่การเถลิงอำนาจของบอลเชวิคในเปโตรกราดเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน ค.ศ. 1917 [ตามปฎิทินเก่า: 25 ตุลาคม] ได้แพร่กระจายไปยังคอเคซัสในวันต่อมา สภาโซเวียตติฟลิสจึงจัดประชุมและประกาศต่อต้านบอลเชวิคโดยทันที สามวันต่อมา นอย จอร์ดาเนีย ซึ่งเป็นสมาชิกเมนเชวิคชาวจอร์เจีย ได้เสนอแนวคิดการปกครองตนเองของรัฐบาลท้องถิ่น โดยอ้างว่าการยึดอำนาจของบอลเชวิคกระทำอย่างผิดกฎหมาย และทางคอเคซัสไม่ควรปฏิบัติตามคำสั่งของพวกเขาและควรรอจนกว่าจะมีการกลับคืนระเบียบ[26] จากการประชุมเพิ่มเติมของเหล่าผู้แทนจากสภาโซเวียตติฟลิส โอซาคอม และคณะอื่น ๆ เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน [ตามปฎิทินเก่า: 15 พฤศจิกายน] ได้มีการตัดสินใจยุติบทบาทของโอซาคอม และแทนที่ด้วยคณะปกครองใหม่ หรือที่รู้จักกันในชื่อ คณะกรรมาธิการทรานส์คอเคเซีย ซึ่งปฏิเสธที่จะยอมนอบน้อมต่อบอลเชวิค ภายในคณะประกอบไปด้วยเหล่าผู้แทนจากสี่กลุ่มชาติพันธุ์หลักในภูมิภาค (ชาวอาร์มีเนีย ชาวอาเซอร์ไบจาน ชาวจอร์เจีย และชาวรัสเซีย) โดยคณะกรรมาธิการทรานส์คอเคเซียได้เข้ามาแทนที่โอซาคอมในฐานะรัฐบาลแห่งเซาท์คอเคซัส และถูกกำหนดให้ทำหน้าที่นั้นจนกระทั่งการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญรัสเซียในเดือนมกราคม ค.ศ. 1918 อิฟเกนี เกเกชโครี ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานและกรรมการราษฎรฝ่ายกิจการต่างประเทศของคณะกรรมาธิการ[27] ส่วนตำแหน่งอื่น ๆ ของคณะกรรมาธิการได้ถูกแบ่งสรรกันระหว่างชาวอาร์มีเนีย ชาวอาเซอร์ไบจาน ชาวจอร์เจีย และชาวรัสเซีย[28] คณะกรรมาธิการทรานส์คอเคเซียจัดตั้งขึ้นโดยมีจุดประสงค์อย่างชัดเจนที่จะเป็นรัฐบาลรักษาการ เพราะคณะไม่สามารถปกครองได้อย่างมั่นคง กล่าวคือ การตัดสินใจภายในประเทศส่วนใหญ่ยังคงขึ้นอยู่กับสภาแห่งชาติ ซึ่งก่อตั้งขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันและมีบรรทัดฐานตามกลุ่มชาติพันธุ์ ด้วยเหตุนี้เอง คณะกรรมาธิการจึงขาดการสนับสนุนทางทหารและไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ[29]

กองทัพรัสเซียและออตโตมันยังคงต่อสู้กันต่อไปในภูมิภาคนี้ กระทั่งมีการลงนามในการสงบศึกชั่วคราวแอร์ซินจัน เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม ค.ศ. 1917 [ตามปฎิทินเก่า: 5 ธันวาคม][30] เมื่อการสู้รบได้ยุติลง ในวันที่ 16 มกราคม 1918 [ตามปฎิทินเก่า: 3 มกราคม] นักการทูตออตโตมันได้เชิญชวนให้คณะกรรมาธิการเข้าร่วมในการเจรจาสันติภาพที่เบรสท์-ลีตอฟสก์ ซึ่งเป็นสถานที่เดียวกันกับที่บอลเชวิคได้ทำการเจรจายุติสงครามกับฝ่ายมหาอำนาจกลาง แต่เนื่องด้วยคณะกรรมาธิการไม่ต้องการดำเนินการสิ่งใดโดยอิสระจากรัสเซีย จึงไม่ได้ตอบรับคำเชิญของรัฐบาลออตโตมันและไม่ได้มีส่วนร่วมกับการเจรจาสันติภาพนี้[31] สองวันต่อมา เมื่อวันที่ 18 มกราคม [ตามปฎิทินเก่า: 5 มกราคม] สภาร่างรัฐธรรมนูญรัสเซียได้จัดการประชุมเป็นครั้งแรกและครั้งเดียว ก่อนที่บอลเชวิคจะยุบสภา เพื่อรักษาเสถียรภาพการปกครองเหนือรัสเซีย[32] ถือเป็นการยืนยันว่า คณะกรรมาธิการไม่สามารถร่วมมือกับบอลเชวิคในกิจการที่เกินความสามารถได้ ดังนั้นคณะกรรมาธิการจึงเริ่มก่อตั้งรัฐบาลอย่างเป็นทางการมากขึ้น[33] การสงบศึกระหว่างจัรรรดิออตโตมันและคณะกรรมาธิการยังคงดำเนินต่อไป จนกระทั่งวันที่ 30 มกราคม [ตามปฎิทินเก่า: 17 มกราคม] เมื่อกองทัพออตโตมันได้เข้ารุกรานคอเคซัสอีกครั้ง โดยอ้างว่าการรุกรานครั้งนี้เป็นการตอบโต้การโจมตีประชากรชาวมุสลิมในดินแดนออตโตมันของกองกำลังติดอาวุธชาวอาร์มีเนีย[34] เมื่อกองทัพรัสเซียถอนกำลังออกจากแนวหน้าเป็นส่วนใหญ่ คณะกรรมาธิการเกรงว่าจะไม่สามารถต้านทานการรุกรานของออตโตมันครั้งนี้ได้ ดังนั้น เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ คณะกรรมาธิการจึงเริ่มเจรจาสันติภาพอีกครั้ง[30]

สภาเซย์ม[แก้]

นีโคไล ชเฮอิดเซ ดำรงตำแหน่งประธานสภาเซย์ม

แนวคิดการจัดตั้งสภานิติบัญญัติทรานส์คอเคเซียได้มีการหารือกันตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1917 ถึงแม้ว่าจะไม่ได้มีการดำเนินการในเวลานั้นก็ตาม[35] เมื่อมีการยุบสภาร่างรัฐธรรมนูญในเดือนมกราคม บรรดาผู้นำของคณะกรรมาธิการจึงเล็งเห็นว่าความสัมพันธ์กับรัสเซียต้องถูกตัดขาดออกไปทั้งหมดอย่างแน่นอน เมื่อไม่มีความปรารถนาที่จะปฏิบัติตามผู้นำบอลเชวิค คณะกรรมาธิการจึงตกลงที่จะจัดตั้งสภานิติบัญญัติของตนเอง เพื่อให้ภูมิภาคทรานส์คอเคซัสมีรัฐบาลที่ชอบด้วยกฎหมายและเจรจากับจักรวรรดิออตโตมันได้อย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น ดังนั้นเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ จึงมีการประกาศจัดตั้ง "สภาเซย์ม" ('สภานิติบัญญัติ') ขึ้นในเมืองติฟลิส[36]

ไม่มีการเลือกตั้งอื่นใดสำหรับสมาชิกสภาผู้แทน โดยผู้แทนในแต่ละคนได้รับคัดเลือกจากผลการเลือกตั้งของสภาร่างรัฐธรรมนูญโดยตรง และเกณฑ์การเลือกตั้งถูกลดลงเหลือหนึ่งในสามของผู้แทนในสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ประชาชนได้รับการคัดเลือกเป็นผู้แทนมากขึ้น อีกทั้งยังทำให้พรรคเล็กได้ที่นั่งในสภาเพิ่มขึ้นอีกด้วย[h][37] สมาชิกเมนเชวิคชาวจอร์เจีย นีโคไล ชเฮอิดเซ ได้รับตำแหน่งเป็นประธานสภา[38] ในท้ายที่สุด โครงสร้างของสภาเซย์มจึงประกอบไปด้วยสิบพรรค มีสามพรรคถูกครอบงำ ซึ่งแต่ละพรรคเป็นตัวแทนของกลุ่มชาติพันธุ์หลักหนึ่งกลุ่ม พรรคเมนเชวิคจอร์เจียและพรรคมูซาวาทแห่งอาเซอร์ไบจาน แต่ละพรรคมีจำนวนสมาชิก 30 คน และสหพันธ์ปฏิวัติอาร์มีเนีย (Dashnaktsutyun) มีจำนวนสมาชิก 27 คน[37] บอลเชวิคประกาศคว่ำบาตรสภาเซย์ม โดยอ้างว่ารัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายเพียงแห่งเดียวของรัสเซีย (รวมถึงทรานส์คอเคเซีย) นั้นคือคณะกรรมการราษฎรของบอลเชวิค (หรือที่รู้จักกันในชื่อ "ซอฟนาร์คอม")[i][36]

ในช่วงเริ่มแรก สภาเซย์มต้องเผชิญกับความท้าทายต่ออำนาจ เนื่องด้วยผู้แทนส่วนใหญ่มีความแตกต่างทางเชื้อชาติและอุดมการณ์ทางการเมืองที่หลากหลาย และสภาก็ไม่ได้มีสถานะของอำนาจที่ชัดเจน ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งทั้งภายนอกและภายในสภาเอง[39] สภาเซย์มยังคงพึ่งพาสภาแห่งชาติ ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบด้วยผู้แทนจากสามกลุ่มชาติพันธุ์หลัก และสภาเซย์มจะไม่สามารถดำเนินการสิ่งใดได้ หากปราศจากความยินยอมจากสภาแห่งชาติ[1] ทางจักรวรรดิออตโตมันได้เสนอให้มีการต่ออายุสัญญาสันติภาพและยินดีที่จะให้มีการเจรจากันในติฟลิส ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งหลักของสภาเซย์ม แต่ทางสภาเซย์มเกรงว่าอีกฝ่ายจะรู้ซึ้งถึงความอ่อนแอภายในสภา จึงมีการตกลงเลือกสถานที่เจรจา ณ เมืองทรับซอนในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอานาโตเลีย[40]

การประชุมสันติภาพทรับซอน[แก้]

คณะผู้แทนของสภาเซย์มมีกำหนดการเดินทางไปที่ทรับซอนเมื่อวันที่ 2 มีนาคม แต่ในวันนั้นได้มีการประกาศว่าการเจรจาสันติภาพที่เบรสท์-ลีตอฟสก์ได้สิ้นสุดลงแล้ว และรัสเซียก็ลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพ[41] ภายในสนธิสัญญาเบรสท์-ลีตอฟสก์กล่าวถึงข้อตกลงที่รัสเซียจะต้องยอมสละดินแดนผืนใหญ่ให้แก่จักรวรรดิออตโตมัน รวมถึงภูมิภาคทรานส์คอเคซัสด้วย ทั้งดินแดนอาร์ดาฮัน แคว้นบาทูม และแคว้นคาร์ส ซึ่งทั้งหมดเคยถูกผนวกโดยรัสเซียหลังสงครามรัสเซีย-ตุรกี ค.ศ. 1877–1878[42] ด้วยเหตุการณ์กระทันหันเช่นนี้ คณะผู้แทนจึงเลื่อนกำหนดการเดินทางออกไป เนื่องด้วยสภาเซย์มต้องพิจารณาจุดยืนของตนใหม่[43] การที่ทรานส์คอเคซัสไม่ได้มีส่วนร่วมในการเจรจาที่เบรสท์-ลีตอฟสก์ ทำให้ทางสภาจำเป็นต้องส่งสารไปยังรัฐบาลหลายแห่งทั่วโลก โดยระบุว่าสภาเซย์มไม่ใช่คณะในการเจรจาสันติภาพ ทางสภาจะไม่เคารพสนธิสัญญาและจะไม่พลัดถิ่นออกจากจากดินแดน[44] ที่สุดแล้วคณะผู้แทนจึงออกเดินทางเมื่อวันที่ 7 มีนาคม และมาถึงทรับซอนในวันถัดมา[45] เมื่อมาถึงยังทรับซอน คณะผู้แทนซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจำนวนสิบคนและทหารอารักขาอีกห้าสิบคนถูกเชิญให้ปลดอาวุธ คณะผู้แทนที่มีขนาดใหญ่ผิดปกตินี้ประกอบไปด้วยบุคคลที่ได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนของกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลายและกลุ่มการเมืองที่ประกอบเป็นสภาเซย์ม[46] เมื่อคณะผู้แทนเดินทางมาถึงที่เจรจา เจ้าหน้าที่ชาวออตโตมันคนหนึ่งได้กล่าวเหน็บแนมว่า "ถ้านี่คือประชากรทั้งหมดของทรานส์คอเคเซีย มันถือว่ามีขนาดเล็กมากจริง ๆ แต่ถ้านี่คือคณะผู้แทน มันคงมีขนาดใหญ่เกินไป"[44]

ขณะที่คณะผู้แทนรอเริ่มการประชุมสันติภาพในทรับซอน ทางผู้บัญชาการกองทัพออตโตมันภาคที่ 3 เวฮิป พาชา ได้ส่งคำร้องถึงเอฟเกนี เลเบดินสกี [ru] อดีตนายพลรัสเซียที่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมาธิการ เมื่อวันที่ 10 มีนาคม โดยบอกให้คณะกรรมาธิการถอนอำนาจออกจากพื้นที่อาร์ดาฮัน บาตูม และคาร์ส ตามที่กำหนดไว้ในสนธิสัญญาเบรสท์-ลีตอฟสก์ นอกจากนี้เวฮิปยังได้แจ้งกับอีลียา โอดีเชลิดเซ ผู้ซึ่งรับใช้คณะกรรมาธิการอีกว่า เนื่องจากการโจมตีของกองกำลังติดอาวุธอาร์มีเนียต่อประชากรที่อยู่ใกล้เคียงกับแอร์ซูรุม ทางกองทัพออตโตมันจึงจำเป็นต้องเคลื่อนกำลังพลเพื่อรักษาสันติภาพ พร้อมแจ้งเตือนถึงการใช้กำลังในการตอบโต้ศัตรู คำร้องเหล่านี้ได้รับการตอบกลับโดยตรงจากนีโคไล ชเฮอิดเซ ประธานสภาเซย์ม ซึ่งในบันทึกตอบกลับนั้นมีใจความว่า ทรานส์คอเคซัสได้ส่งคณะผู้แทนไปยังทรับซอนเพื่อเจรจาสันติภาพ และสภาเซย์มก็ไม่ได้ยอมรับอำนาจของรัสเซีย ฉะนั้นจึงไม่มีความจำเป็นที่จะยอมรับการลงนามในเบรสท์-ลีตอฟสก์[47][48] เมื่อวันที่ 11 มีนาคม กองทัพออตโตมันเริ่มการโจมตีแอร์ซูรุมโดยไม่มีความหวังที่จะประสบผลสำเร็จ ชาวอาร์มีเนียส่วนใหญ่จึงเริ่มอพยพออกจากแอร์ซูรุมภายในเวลาไม่ถึงยี่สิบสี่ชั่วโมงต่อมา[49]

การประชุมสันติภาพทรับซอนมีขึ้นเมื่อวันที่ 14 มีนาคม สำหรับการประชุมในชุดแรก หัวหน้าคณะผู้แทนของออตโตมัน Rauf Bey ได้ตั้งคำถามแก่คณะผู้แทนทรานส์คอเคเซียว่าพวกเขาเป็นตัวแทนของใคร ทางอะคากี ชเฮนเคลี หัวหน้าคณะผู้แทนทรานส์คอเคเซีย ไม่สามารถให้ตำตอบที่เหมาะสมได้ เนื่องจากความไม่ชัดเจนของตัวเขาและผู้แทนคนอื่นว่าเป็นตัวแทนของใคร เมื่อคำถามเดิมได้ถูกถามในอีกสองวันต่อมานั้น Rauf ยังขอให้ชเฮนเคลีชี้แจงถึงองค์ประกอบของรัฐตน เพื่อพิจารณาว่ามีคุณสมบัติเป็นรัฐหนึ่งภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่ ชเฮนเคลีชี้แจงว่าตั้งแต่การปฏิวัติเดือนตุลาคม อำนาจส่วนกลางได้ถูกระงับลงในทรานส์คอเคเซีย มีการจัดตั้งรัฐบาลอิสระและปฏิบัติหน้าที่เหมือนดังรัฐหนึ่ง และเมื่อรัฐบาลได้รับคำเชิญให้เข้าร่วมการเจรจาสันติภาพที่เบรสท์-ลีตอฟสก์ จึงถือว่าทรานส์คอเคเซียมีคุณสมบัติเป็นรัฐอธิปไตย แม้ว่าจะไม่มีการประกาศเอกราชอย่างชัดเจนก็ตาม[50] Rauf หักล้างข้อโต้แย้งดังกล่าว โดยอ้างว่าซอฟนาร์คอมมีอำนาจเหนือรัสเซียทั้งหมด และแม้ว่าผู้แทนของออตโตมันจะส่งข้อความไปยังคณะกรรมาธิการ เพื่อให้เข้าร่วมการเจรจาที่เบรสท์-ลีตอฟสก์ แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ทรานส์คอเคเซียได้รับการยอมรับ ในท้ายที่สุด Rauf ระบุว่าคณะผู้แทนของออตโตมันอยู่ที่ทรับซอนเพียงเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและการค้าบางอย่างที่ยังไม่ได้รับการตัดสินที่เบรสท์-ลีตอฟสก์เท่านั้น ชเฮนเคลีและเหล่าผู้แทนจึงไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกจากขอเวลาพักในช่วงสั้น ๆ เพื่อส่งข้อความถึงสภาเซย์มว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป[51]

การก่อตั้ง[แก้]

การบุกครองครั้งใหม่ของจักรวรรดิออตโตมัน[แก้]

ในระหว่างการหยุดพักที่ทรับซอน กองทัพออตโตมันได้รุกหน้าเข้าสู่ดินแดนทรานส์คอเคเซียอย่างต่อเนื่อง โดยช่วงปลายเดือนมีนาคม กองทัพข้ามพรมแดนใน ค.ศ. 1914 ของจักรวรรดิรัสเซียเดิม[52] ภายในสภาเซย์มต่างถกเถียงกันถึงแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด ซึ่งผู้แทนส่วนใหญ่เห็นชอบให้ใช้วิธีแก้ปัญหาทางการเมือง เมื่อวันที่ 20 มีนาคม คณะผู้แทนของออตโตมันเสนอว่าสภาเซย์มจะสามารถเข้าร่วมการเจรจาได้อีกครั้ง หากทรานส์คอเคเซียประกาศเอกราชและไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียอีกต่อไป[53] แท้จริงแล้วแนวคิดเรื่องเอกราชได้เกิดขึ้นมาก่อนหน้านั้นแล้ว โดยทางจอร์เจียได้อภิปรายถึงแนวคิดนี้ในเชิงลึกเมื่อหลายปีก่อน แต่สุดท้ายก็ถูกปัดตกเพราะผู้นำจอร์เจียตระหนักว่ารัสเซียจะไม่ยินยอมความเป็นเอกราชของจอร์เจียและอุดมการณ์ทางการเมืองของเมนเชวิคที่เอนเอียงไปทางชาตินิยม[54]

เมื่อวันที่ 5 เมษายน ชเฮนเคลียอมรับสนธิสัญญาเบรสท์-ลีตอฟสก์เพื่อเป็นพื้นฐานในการเจรจาครั้งต่อไปและเรียกร้องให้สภาเซย์มทรานส์คอเคเซียยอมรับในสถานะนี้[55] ในช่วงแรก เขาเรียกร้องว่าบาตูมเป็นส่วนหนึ่งของทรานส์คอเคซัส โดยอ้างว่าบาตูมมีฐานะเป็นเมืองท่าหลักของภูมิภาคนี้ซึ่งมีความจำเป็นต่อเศรษฐกิจ แต่ฝ่ายออตโตมันปฏิเสธข้อเรียกร้องนี้ ทำให้เป็นที่ปรากฏชัดเจนว่าพวกเขายอมรับแค่เนื้อหาของสนธิสัญญาเบรสท์-ลีตอฟสก์เพียงเท่านั้น ซึ่งชเฮนเคลีจำต้องยอมรับตาม[56] เมื่อวันที่ 9 เมษายน ชเฮนเคลีตกลงที่จะเจรจาเพิ่มเติมตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ และเขาได้ร้องของให้ผู้แทนจากฝ่ายมหาอำนาจกลางอื่นเข้าร่วมการเจรจาด้วย แต่ Rauf กล่าวว่าคำร้องขอข้างต้นจะสามารถพิจารณาได้ก็ต่อเมื่อทรานส์คอเคเซียเป็นรัฐเอกราชเท่านั้น[57]

ด้วยความเบื่อหน่ายจากการเจรจาและความตระหนักว่าดินแดนที่ขัดแย้งจะถูกยึดครองโดยกำลัง ทางการออตโตมันจึงยื่นคำขาดแก่กองทหารรักษาการณ์ในบาตูมให้ถอนกำลังภายในวันที่ 13 เมษายน[58] ชเฮนเคลีตระหนักดีถึงความสำคัญของบาตูม แต่จำต้องเต็มใจยอมรับที่จะสละดินแดนส่วนนี้ อันเป็นส่วนหนึ่งตามข้อกำหนดในสนธิสัญญาเบรสท์-ลีตอฟสก์ อย่างไรก็ตาม สมาชิกสภาเซย์มชาวจอร์เจียยังคงยืนกรานที่จะรักษาเมืองแห่งนี้ไว้ เกเกชโครีได้บันทึกว่าการปกป้องเมืองมิใช่เรื่องยากแต่อย่างใด[57][59] อีรัคลี เซเรเตลี สมาชิกเมนเชวิคชาวจอร์เจีย กล่าววาทะอย่างกระตือรือร้นเพื่อเรียกร้องให้ปกป้องบาตูมและร้องขอให้สภาเซย์มประณามสนธิสัญญาเบรสท์-ลีตอฟสก์โดยสิ้นเชิง ทางผู้แทนชาวอาร์มีเนียสนับสนุนการต่อสู้กับจักรวรรดิออตโตมันมาเป็นเวลานานแล้ว อันมีจุดประสงค์เพื่อตอบโต้การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และการข่มเหงพลเมืองอาร์มีเนียใน ค.ศ. 1915 มีเพียงชาวอาเซอร์ไบจานเท่านั้นที่มีจุดยืนต่อต้านสงคราม เนื่องจากพวกเขาไม่ต้องการที่จะต่อสู้กับเพื่อนมุสลิมด้วยกันเอง[60] ผู้แทนชาวอาเซอร์ไบจานแพ้คะแนนเสียงและเมื่อวันที่ 14 เมษายน สภาเซย์มประกาศสงครามต่อจักรวรรดิออตโตมัน[61][62] ทันทีหลังจากการลงคะแนนเสียงเสร็จสิ้น เซเรเตลีและ Jordania จึงเข้าร่วมกับกองทหารรักษาการณ์บาตูม ในขณะที่ผู้แทนที่ยังพำนักอยู่ในทรับซอนได้รับคำสั่งให้เดินทางกลับไปติฟลิสโดยทันที[63] ทั้งนี้ ผู้แทนชาวอาเซอร์ไบจานบางส่วนได้ท้าทายต่อคำสั่งนั้นและยังคงพำนักในทรับซอนต่อไป โดยหวังว่าจะมีโอกาสสําหรับการเจรจา แต่ก็ไร้ผล[64]

การประกาศจัดตั้ง[แก้]

ความได้เปรียบทางทหารของกองทัพออตโตมันปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนในทันที[65] เมื่อกองทัพเข้ายึดบาตูมในวันที่ 14 เมษายน ด้วยการต่อต้านเพียงเล็กน้อย อีกทั้งยังเข้าโจมตีคาร์สด้วย แต่กองทัพอาร์มีเนียจำนวน 3,000 นาย สามารถยึดเมืองกลับคืนมาได้จนกระทั่งการถอนกำลังเมื่อวันที่ 25 เมษายน[66] หลังจากกองทัพออตโตมันยึดดินแดนที่อ้างสิทธิ์ส่วนใหญ่สำเร็จแล้ว และไม่เต็มใจที่จะสูญเสียทหารฝ่ายตนเพิ่ม ผู้แทนออตโตมันจึงเสนอการสงบศึกอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 22 เมษายน และรอให้ทางทรานส์คอเคเซียตอบกลับ[67]

เมื่อเผชิญกับกองทัพออตโตมันที่เหนือกว่า สภาแห่งชาติจอร์เจียจึงพิจารณาว่าทรานส์คอเคเซียไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกเหนือจากการประกาศเอกราช[68] มีการอภิปรายถึงแนวคิดนี้ในสภาเซย์มเมื่อวันที่ 22 เมษายน โดยผู้แทนจอร์เจียเป็นผู้นำในการอภิปราย กล่าวว่าผู้แทนออตโตมันยินยอมที่จะเจรจาสันติภาพอีกครั้ง โดยมีเงื่อนไขว่าทรานส์คอเคซัสจะต้องเข้าที่ประชุมในฐานะรัฐเอกราช[69] ทางเลือกดังกล่าวไม่เป็นเอกฉันท์ในตอนแรก โดยสหพันธ์ปฏิวัติอาร์มีเนียเชื่อว่าหนทางที่ดีที่สุด ณ ขณะนี้คือการหยุดยั้งการรุกรานของออตโตมัน แม้พวกเขาจะต้องสละดินแดนจํานวนมากอย่างไม่เต็มใจ ในขณะที่พรรคมูซาวาท (Musavat) ผู้เป็นตัวแทนของชาวอาเซอร์ไบจานยังคงลังเลที่จะต่อสู้กับเพื่อนมุสลิม แต่เห็นด้วยว่าเอกราชเป็นเพียงสิ่งเดียวที่จะรับรองว่าทรานส์คอเคเซียจะไม่ถูกรัฐต่างชาติแบ่งแยก มีเพียงพรรคปฏิวัติสังคมนิยมเท่านั้นที่คัดค้านวิธีการนี้ในสภาเซย์ม ซึ่งหนึ่งในผู้แทนของพรรคเลฟ ตูมานอฟ [ru] อ้างว่าประชาชนในทรานส์คอเคเซียไม่ได้สนับสนุนต่อการกระทำนี้ เขายังกล่าวอีกว่าในขณะที่พรรคมูซาวาทอ้างถึงแรงผลักดันของพวกเขาว่าเป็น "มโนธรรมมิใช่ความกลัว" (conscience not fear) แต่แท้จริงแล้วเป็นแค่ "ความกลัวและไม่ใช่มโนธรรม" (fear and not conscience) และในตอนท้ายเขากล่าวสรุปว่าทุกคนที่นี่จะต้องเสียใจกับการกระทำนี้[70]

เมื่อการอภิปรายสิ้นสุดลง ดาวิต โอนีอัชวีลี (Davit Oniashvili) เมนเชวิคชาวจอร์เจียเสนอญัตติให้สภาเซย์ม "ประกาศให้ทรานส์คอเคเซียเป็นสหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตย"[71] ผู้แทนบางส่วนที่ไม่ต้องการลงคะแนนเสียงสนับสนุนเรื่องนี้ต่างพากันออกจากห้องประชุมสภา ทำให้ญัตติผ่านที่ประชุมโดยเกิดความไม่ลงรอยเล็กน้อย[72] สหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยทรานส์คอเคเซีย (TDFR) แห่งใหม่แจ้งต่อเวฮิป พาชา โดยทันทีถึงการประกาศจัดตั้งและแสดงเจตจำนงที่จะยอมรับข้อกำหนดในสนธิสัญญาเบรสท์-ลีตอฟสก์ ทั้งยอมสละดินแดนคาร์สแก่จักรวรรดิออตโตมัน[73] ทางจักรวรรดิออตโตมันให้การรับรองสหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยทรานส์คอเคเซียเมื่อวันที่ 28 เมษายน[74] แม้จะได้รับการรับรอง แต่ออตโตมันยังคงรุกรานดินแดนทรานส์คอเคเซียต่อไปและเข้ายึดครองแอร์เซรุม[j] และคาร์สหลังจากนั้นไม่นาน[76]

รัฐเอกราช[แก้]

อะคากี ชเฮนเคลี ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของสาธารณรัฐ

หลังการประกาศจัดตั้ง สหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยทรานส์คอเคเซียไม่มีคณะรัฐมนตรีที่จะนำรัฐบาลใหม่ คณะกรรมาธิการทรานส์คอเคเซียก็ถูกยุบไปพร้อม ๆ กับการประกาศเอกราช และเกเกชโครีปฏิเสธที่จะเป็นรับบทบาทผู้นำต่อไปและตระหนักว่าตนอาจสูญเสียการสนับสนุนหากรับตำแหน่ง แม้จะมีการตกลงกันแล้วในระหว่างการอภิปรายในสภาเซย์มว่าตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจะมอบให้กับชเฮนเคลี แต่เขาไม่มีความตั้งใจที่จะรับตําแหน่งชั่วคราว และเต็มใจที่จะเข้ารับตําแหน่งหลังการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่เท่านั้น คณะรัฐมนตรียังคงไม่มีข้อสรุปกระทั่งวันที่ 26 เมษายน ทำให้ทรานส์คอเคเซียดำรงอยู่มาเป็นเวลาสามวันโดยปราศจากฝ่ายบริหารที่มีประสิทธิภาพ[72] ด้วยความต้องการเร่งด่วนในการดูแลสาธารณรัฐใหม่ ชเฮนเคลีจึงได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี เขาสั่งให้กองทัพอาร์มีเนียยุติการต่อสู้และร้องขอเจรจาสันติภาพกับเวฮิป พาชา ที่บาตูม สำหรับการเลือกบาตูมเป็นสถานที่เจรจาเป็นเพราะสะดวกต่อการเดินทางไปยังติฟลิสหากจำเป็น ซึ่งหากเปรียบกับการเจรจาที่ทรับซอนแล้วเป็นไปไม่ได้ที่จะทำเช่นนี้[77]

สหพันธ์ปฏิวัติอาร์มีเนียปฏิเสธที่จะเข้าร่วมกับคณะรัฐมนตรี ด้วยเหตุไม่พอใจในการกระทำของชเฮนเคลีที่สั่งการอพยพแคว้นคาร์ส พวกเขาพยายามเจรจากับเมนเชวิคแต่ล้มเหลว เนื่องจากเมนเชวิคให้สัญญาณว่าจะสนับสนุนชเฮนเคลีหรือผู้แทนอาร์มีเนีย Hovhannes Kajaznuni เพียงเท่านั้น เมนเชวิคมองว่าการเลือก Kajaznuni จะทำให้เกิดการรับรู้ว่าสหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยทรานส์คอเคเซียตั้งมั่นที่จะต่อสู้เพื่อรักษาดินแดนอาร์มีเนียต่อไป อีกทั้งยังกังวลว่าอาเซอร์ไบจานจะถูกขับออกจากสหพันธ์สาธารณรัฐใหม่และเป็นการง่ายที่กองทัพออตโตมันจะคุกคามส่วนที่เหลือของอาร์มีเนีย ทำให้ข้อเสนอของสหพันธ์ปฏิวัติอาร์มีเนียไม่มีมูลเหตุมากพอที่จะเห็นชอบ[78] สภาเซย์มประกาศรับรองคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 เมษายน ซึ่งประกอบด้วย 13 บุคคล โดยชเฮนเคลีนอกจากจะเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว เขายังเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศด้วย ส่วนตำแหน่งอื่น ๆ ได้รับการจัดสรรให้กับชาวอาร์มีเนีย (4 คน) ชาวอาเซอร์ไบจาน (5 คน) และชาวจอร์เจีย (3 คน)[79] ชาวอาเซอร์ไบจานและชาวจอร์เจียได้รับตําแหน่งผู้นําในคณะรัฐมนตรี ซึ่งนักประวัติศาสตร์ Filuz Kazemzad ชี้ให้เห็นว่านี่คือ "ความสัมพันธ์ของกองกําลังในทรานส์คอเคเซีย" ณ ขณะนั้น[74] ในการกล่าวปราศรัยต่อสภาเซย์มครั้งแรก ชเฮนเคลีประกาศว่าเขาจะมุ่งมั่นที่จะรับรองสิทธิที่เท่าเทียมกันสําหรับพลเมืองทุกคนและกําหนดพรมแดนตามข้อตกลงกับประเทศเพื่อนบ้าน[80] เขายังกล่าวแถลงการณ์ถึงหลักการสำคัญห้าข้อ ได้แก่ การเขียนรัฐธรรมนูญ การร่างพรมแดน การยุติสงคราม การต่อสู้กับกลุ่มต่อต้านการปฏิวัติและอนาธิปไตย และการปฏิรูปที่ดิน[74]

การเจรจาสันติภาพครั้งใหม่จัดขึ้น ณ บาตูม เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม โดยมีชเฮนเคลีและเวฮิปเข้าร่วมการเจรจาครั้งนี้ด้วย[81] ชเฮนเคลีทบทวนถึงคำร้องขอของเขาที่จะให้ชาติมหาอำนาจกลางอื่นเข้าร่วมก่อนการประชุมจะเริ่มขึ้น ซึ่งทางผู้แทนจักรวรรดิออตโตมันเพิกเฉยคำร้องขอดังกล่าว[82] ทั้งสองฝ่ายได้เชิญผู้สังเกตการณ์เข้าร่วมการประชุม โดยทรานส์คอเคเซียเชิญคณะผู้สังเกตการณ์เยอรมันขนาดเล็กที่นำโดยนายพล Otto von Lossow ในขณะที่คณะผู้แทนออตโตมันเชิญผู้แทนจากสาธารณรัฐที่สูงคอเคซัสเหนือ ซึ่งเป็นรัฐที่ไม่ได้รับการรับรองที่ออตโตมันสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ชเฮนเคลีประสงค์ที่จะดำเนินการเจรจาสันติภาพตามเงื่อนไขของสนธิสัญญาเบรสท์-ลีตอฟสก์ แต่คณะผู้แทนออตโตมันที่นำโดย Halil Bey รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมจักรวรรดิออตโตมัน ปฏิเสธความประสงค์นี้ Halil Bey แย้งว่าทั้งสองประเทศยังคงมีความขัดแย้งกันอยู่ จักรวรรดิออตโตมันจะไม่ยอมรับสนธิสัญญาดังกล่าวอีกต่อไป และเสนอให้ชเฮนเคลียินยอมร่างสนธิสัญญาที่เตรียมไว้อย่างถูกต้องแทน[83]

สนธิสัญญาประกอบด้วยสิบสองเงื่อนไข ซึ่งไม่เพียงแต่ยกแคว้นคาร์สและบาตูมให้แก่ออตโตมันเท่านั้น แต่ยังรวมถึงมณฑลอะฮัลคาลากี, อะฮัลซีเฮ, ซูร์มาลู และพื้นที่ส่วนใหญ่ของมณฑลอะเลคซันโดรปอล, เยรีวัน และเอตชเมียจิน และดินแดนตามทางรถไฟสายคาร์ส–ยุลฟา ซึ่งการยกดินแดนดังกล่าวจะทำให้อาร์มีเนียทั้งหมดรวมอยู่กับจักรวรรดิออตโตมันอย่างสมบูรณ์[84] กองทัพออตโตมันต้องการเส้นทางที่รวดเร็วไปยังเปอร์เซียเหนือ เพื่อต่อสู้กับกองทัพอังกฤษในการทัพเปอร์เซีย แม้ว่านักประวัติศาสตร์ ริชาร์ด จี. โฮวานนิเซียน จะได้ระบุว่าเหตุผลที่แท้จริง คือ การเข้าถึงบากูและเข้าถึงการผลิตน้ํามันรอบเมือง[85]

ทรานส์คอเคเซียมีระยะเวลาที่จะพิจารณาทางเลือกอยู่หลายวัน กองทัพออตโตมันจึงเริ่มการรุกทางทหารในอาร์เมเนียอีกครั้งเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พวกเขาต่อสู้กับชาวอาร์มีเนียในยุทธการที่บัชอะบารัน, ซาร์ดาราปัต และคาราคิลลิสเซ แต่ไม่สามารถเอาชนะชาวอาร์เมเนียได้อย่างเด็ดขาด เป็นผลให้การรุกของออตโตมันช้าลงและในที่สุดพวกเขาจึงล่าถอย[86][87]

การล่มสลาย[แก้]

การแทรกแซงของเยอรมนี[แก้]

เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม กองทัพออตโตมันได้แบ่งออกเป็นสองกลุ่ม ซึ่งอยู่ห่างจากเยเรวานเป็นระยะทาง 40 กิโลเมตร (25 ไมล์) และห่างจากติฟลิสเป็นระยะทาง 120 กิโลเมตร (75 ไมล์)[88] ด้วยภัยคุกคามนี้ ทรานส์คอเคเซียจึงหันให้ขอความช่วยเหลือจากนายพลฟ็อน ล็อสโซว์ และเยอรมนี โดยหวังว่าจะได้รับความช่วยเหลือและการปกป้องจากพวกเขา ซึ่งก่อนหน้านี้ ฟ็อน ล็อสโซว์เคยเสนอให้มีการไกล่เกลี่ยระหว่างทรานส์คอเคเซียและจักรวรรดิออตโตมันเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม แม้ว่าจะไม่มีความคืบหน้าใด ๆ ก็ตาม[89] ในขณะที่จักรวรรดิเยอรมันและออตโตมันเป็นพันธมิตรในนาม แต่ความสัมพันธ์ก็แย่ลงในเดือนก่อนหน้า เนื่องจากประชาชนชาวเยอรมันไม่พอใจต่อรายงานที่ว่ารัฐบาลออตโตมันสังหารหมู่ชาวคริสต์ รัฐบาลเยอรมันไม่ได้ชื่นชมการรุกของกองทัพออตโตมันเข้าไปในดินแดนที่ไม่ได้รับการรับรองที่เบรสท์-ลีตอฟสก์[90] เยอรมนียังคงได้เปรียบทางกลยุทธ์ในคอเคซัส โดยต้องการทั้งเส้นทางที่เป็นไปได้ในการโจมตีบริติชอินเดียและการเข้าถึงวัตถุดิบในภูมิภาค ซึ่งทั้งสองอาจถูกปิดกั้นโดยจักรวรรดิออตโตมัน[91]

ในเวลาเดียวกับที่อาร์มีเนียต่อสู้กับกองทัพออตโตมัน อาเซอร์ไบจานกำลังเผชิญหน้ากับพวกบอลเชวิคที่ควบคุมบากู จอร์เจียเชื่อว่ากลุ่มชาติพันธุ์ทั้งสามมีความใฝ่ฝันเดียวกัน และสหพันธ์สาธารณรัฐไม่สามารถดําเนินต่อไปได้[92] เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม จอร์ดาเนียเดินทางไปบาตูมเพื่อขอความช่วยเหลือจากเยอรมนีเพื่อช่วยรักษาเอกราชของจอร์เจีย เขากลับมาที่ติฟลิสในวันที่ 21 พฤษภาคม และแสดงความมั่นใจว่าจอร์เจียจะสามารถดำรงอิสรภาพได้[93] ผู้แทนชาวอาร์มีเนีย ชาวอาเซอร์ไบจาน และชาวจอร์เจีย จากสภาเซย์มได้อภิปรายถึงอนาคตของสหพันธ์สาธารณรัฐในวันเดียวกัน และเห็นด้วยว่าสหพันธ์อาจไม่สามารถดำรงอยู่ได้นานมากกว่านี้ ในวันรุ่งขึ้น ผู้แทนชางจอร์เจียเข้าหารือกันฝ่ายเดียว และตัดสินใจว่าความเป็นอิสระเป็นทางเลือกเดียวที่สมเหตุสมผลสำหรับพวกเขา[92] จอร์ดาเนียและ Zurab Avalishvili จึงร่างคำประกาศอิสรภาพเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ก่อนที่จอร์ดาเนียจะเดินทางไปบาตูมอีกครั้งเพื่อพบกับฟ็อน ล็อสโซว์[94] เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม นายพลฟ็อน ล็อสโซว์ ตอบกลับว่าเขาได้รับอนุญาตให้ร่วมงานกับสหพันธ์สาธารณรัฐโดยรวมเท่านั้น เนื่องจากเห็นได้ชัดว่ามันจะอยู่ได้ไม่นาน เขาจะต้องออกจากทรับซอนและปรึกษากับรัฐบาลของเขาว่าจะดําเนินการต่อไปอย่างไร[95]

การสลายตัว[แก้]

อีรัคลี เซเรเตลี กล่าวสุนทรพจน์ครั้งสุดท้ายต่อสภาเซย์ม ซึ่งเรียกร้องให้เกิดการสลายตัวของสหพันธ์สาธารณรัฐและการประกาศเอกราชของจอร์เจีย

เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม เซเรเตลีกล่าวสุนทรพจน์ต่อสภาเซย์มในสองประเด็น ประเด็นแรก เขาได้อธิบายว่าสหพันธ์สาธารณรัฐไม่สามารถดำรงต่อไปได้ เนื่องจากขาดความเป็นเอกภาพของประชากร และความขัดแย้งทางชาติพันธุ์นั้นนําไปสู่การแบ่งแยกที่เกิดขึ้นจากการรุกรานของออตโตมัน ส่วนประเด็นที่สอง เซเรเตลีกล่าวโทษชาวอาเซอร์ไบจานที่ไม่สนับสนุนการปกป้องทรานส์คอเคเซีย พร้อมทั้งประกาศว่าในขณะที่สหพันธรัฐล้มเหลวแลเว ถึงเวลาที่จอร์เจียจะประกาศเอกราช[96] ณ เวลา 15:00 ญัตติผ่านรัฐสภา "เนื่องจากปัญหาเกี่ยวกับสงครามและสันติภาพ มีความแตกต่างพื้นฐานเกิดขึ้นระหว่างประชาชนที่สร้างสาธารณรัฐทรานส์คอเคเซีย และเนื่องจากความเป็นไปไม่ได้ที่จะสร้างคําสั่งที่มีอํานาจเพียงคําสั่งเดียวที่พูดในนามของทรานส์คอเคเซียทั้งหมด สภาเซย์มจึงรับรองข้อเท็จจริงของการล่มสลายของทรานส์คอเคเซียและได้วางอํานาจของตน"[97] ผู้แทนส่วนใหญ่ออกจากที่ประชุม เหลือเพียงผู้แทนชาวจอร์เจียที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกสภาแห่งชาติจอร์เจีย จากนั้นจอร์ดาเนียจึงอ่านคำประกาศเอกราชของจอร์เจียและประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐประชาธิปไตยจอร์เจีย[98] ตามมาด้วยการประกาศเอกราชของอาร์มีเนียในอีกสองวันต่อมา ตามด้วยอาเซอร์ไบจานที่ทําเช่นเดียวกัน โดยได้ก่อตั้งสาธารณรัฐอาร์มีเนียและสาธารณรัฐประชาธิปไตยอาเซอร์ไบจาน ตามลําดับ[99] ทั้งสามรัฐเอกราชใหม่ได้ลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพกับจักรวรรดิออตโตมันเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ทำให้สามารถยุติความขัดแย้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ[100] ต่อมาอาร์มีเนียได้ประกาศสงครามในช่วงสั้น ๆ กับทั้งอาเซอร์ไบจาน (ค.ศ. 1918–1920) และจอร์เจีย (ธันวาคม ค.ศ. 1918) เพื่อกำหนดพรมแดนสุดท้ายของประเทศ[101]

สิ่งสืบเนื่อง[แก้]

เนื่องจากสหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยทรานส์คอเคเซียดำรงอยู่เพียงหนึ่งเดือน ทำให้สิ่งสืบเนื่องและผู้สนใจในประวัติศาสตร์เรื่องนี้มีอยู่อย่างจำกัด[102] นักประวัติศาสตร์ Adrian Brisku และ Timothy K. Blauvelt บันทึกไว้ว่า "ดูเหมือนทั้งผู้กระทำในขณะนั้นและนักวิชาการในภายหลังของภูมิภาคที่เป็นเอกลักษณ์ ที่เกิดขึ้นโดยบัญเอิญ และเกิดขึ้นซ้ำ ๆ อย่างแน่นอน"[103] Stephen F. Jones ระบุว่า "ความพยายามครั้งแรกและครั้งสุดท้ายในสหภาพทรานส์คอเคเซียที่เป็นอิสระ"[104] ในขณะที่ Hovannisian บันทึกถึงการกระทำของสหพันธ์สาธารณรัฐในระหว่างการดำรงอยู่สั้น ๆ ว่า "เป็นรัฐที่ไม่ใช่เอกราช ประชาธิปไตย สหพันธรัฐ หรือแม้แต่สาธารณรัฐ"[72]

ภายใต้การปกครองของบอลเชวิค สามรัฐผู้สืบทอดถูกผนวกรวมกันอีกครั้งภายในสหภาพโซเวียตในชื่อ "สหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตทรานส์คอเคซัส" รัฐนี้กินเวลาตั้งแต่ ค.ศ. 1922 ถึง ค.ศ. 1936 ก่อนที่จะแตกตัวเป็นสามสาธารณรัฐสหภาพ ได้แก่ สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตอาร์มีเนีย สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตอาเซอร์ไบจาน และสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตจอร์เจีย[105] จนเมื่อในปัจจุบัน สหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยทรานส์คอเคเซียถูกลืมเลือนในประวัติศาสตร์นิพนธ์ระดับชาติ แต่โดยพื้นฐานแล้วถือว่าเป็นกระบวนการขั้นแรกของรัฐทั้งสามที่พยายามประกาศอิสรภาพตนเอง[106]

หมายเหตุ[แก้]

  1. รัสเซีย: Закавказская демократическая Федеративная Республика (ЗДФР), Zakavkazskaya Demokraticheskaya Federativnaya Respublika (ZDFR)[3]
  2. รัสเซียและทรานส์คอเคเซียใช้ปฏิทินจูเลียน ซึ่งช้ากว่าปฏิทินเกรกอเรียนที่ประเทศส่วนใหญ่ในยุโรปใช้ 13 วัน อย่างไรก็ตาม ในช่วงต้น ค.ศ. 1918 ทั้งสองประเทศได้เปลี่ยนมาใช้ปฏิทินเกรกอเรียน[4] แต่ยังคงมีการใช้ปฏิทินทั้งสองรูปแบบสลับกันจนกระทั่งเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1918 รัสเซียจึงเปลี่ยนมาใช้เฉพาะปฏิทินเกรกอเรียนเพียงรูปแบบเดียว
  3. ก่อน ค.ศ. 1918 โดยทั่วไปแล้วจะรู้จักกันในชื่อ "ชาวตาตาร์" ซึ่งคำนี้ถูกใช้โดยชาวรัสเซีย หมายถึงชาวมุสลิมที่พูดภาษาเตอร์กิก (ชีอะและซุนนี) ในภูมิภาคทรานส์คอเคซัส ต่างจากชาวอาร์มีเนียและชาวจอร์เจีย ชาวตาตาร์ไม่มีอักขระเป็นของตนเองและใช้อักษรเปอร์เซีย-อารบิกเป็นอักขระหลัก ภายหลังการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาธิปไตยอาเซอร์ไบจานใน ค.ศ. 1918 และ "โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคโซเวียต" ชาวตาตาร์ได้ระบุว่าตนเองเป็น "ชาวอาเซอร์ไบจาน"[5][6] ซึ่งก่อนหน้า ค.ศ. 1918 คำว่า "อาเซอร์ไบจาน" หมายถึงเฉพาะจังหวัดอาเซอร์ไบจานของอิหร่านเพียงเท่านั้น[7]
  4. ปัจจุบันคือเมืองหลวงของประเทศอาเซอร์ไบจาน
  5. รัสเซีย: Особый Закавказский Комитет; Osobyy Zakavkazskiy Komitet[20]
  6. เซนต์ปีเตอส์เบิร์กถูกเปลี่ยนชื่อเป็นเปโตรกราดใน ค.ศ. 1914[23]
  7. รัสเซีย: Совет หรือ Sovet หมายถึง "สภา"[24]
  8. สมาชิกสภาผู้แทนแต่ละคนในสภาร่างรัฐธรรมนูญจะได้รับการเลือกตั้งจากสมาชิกทั้งหมด 60,000 คน โดยเป็นสมาชิกจากสภาเซย์มทั้งหมด 20,000 คน ซึ่งเป็นจำนวนหนึ่งในสามของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญทั้งหมด[36]
  9. รัสเซีย: Совнарком; หรือ Совет народных комиссаров, Sovet narodnykh kommissarov[36]
  10. ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ "แอร์ซูรุม"[75]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 Brisku & Blauvelt 2020, p. 2
  2. Javakhishvili 2009, p. 159
  3. Uratadze 1956, p. 64
  4. Slye 2020, p. 119, note 1
  5. Bournoutian 2018, p. 35 (note 25).
  6. Tsutsiev 2014, p. 50.
  7. Bournoutian 2018, p. xiv.
  8. Saparov 2015, p. 20
  9. Saparov 2015, pp. 21–23
  10. Marshall 2010, p. 38
  11. King 2008, p. 146
  12. King 2008, p. 150
  13. Kazemzadeh 1951, p. 3
  14. King 2008, p. 154
  15. Marshall 2010, pp. 48–49
  16. Suny 2015, p. 228
  17. Kévorkian 2011, p. 721
  18. King 2008, pp. 157–158
  19. Kazemzadeh 1951, pp. 32–33
  20. Hovannisian 1969, p. 75
  21. Hasanli 2016, p. 10
  22. Swietochowski 1985, pp. 84–85
  23. Reynolds 2011, p. 137
  24. 24.0 24.1 Suny 1994, p. 186
  25. Kazemzadeh 1951, p. 35
  26. Kazemzadeh 1951, pp. 54–56
  27. Kazemzadeh 1951, p. 57
  28. Swietochowski 1985, p. 106
  29. Kazemzadeh 1951, p. 58
  30. 30.0 30.1 Mamoulia 2020, p. 23
  31. Kazemzadeh 1951, p. 84
  32. Swietochowski 1985, p. 108
  33. Kazemzadeh 1951, p. 85
  34. Engelstein 2018, p. 334
  35. Hovannisian 1969, p. 124
  36. 36.0 36.1 36.2 36.3 Hovannisian 1969, p. 125
  37. 37.0 37.1 Kazemzadeh 1951, p. 87
  38. Bakradze 2020, p. 60
  39. Swietochowski 1985, p. 110
  40. Hovannisian 1969, pp. 128–129
  41. Hovannisian 1969, p. 130
  42. Forestier-Peyrat 2016, p. 166
  43. Kazemzadeh 1951, p. 91
  44. 44.0 44.1 Kazemzadeh 1951, p. 93
  45. Hovannisian 1969, p. 131
  46. Swietochowski 1985, p. 121
  47. Hovannisian 1969, p. 132
  48. Kazemzadeh 1951, pp. 93–94
  49. Hovannisian 1969, p. 135
  50. Kazemzadeh 1951, pp. 94–95
  51. Hovannisian 1969, p. 140
  52. Hovannisian 1969, p. 137
  53. Kazemzadeh 1951, p. 96
  54. Brisku 2020, p. 32
  55. Reynolds 2011, p. 203
  56. Hovannisian 1969, pp. 150–151
  57. 57.0 57.1 Hovannisian 1969, p. 152
  58. Kazemzadeh 1951, pp. 98–99
  59. Kazemzadeh 1951, p. 99
  60. Kazemzadeh 1951, pp. 99–100
  61. Swietochowski 1985, p. 124
  62. Kazemzadeh 1951, p. 101
  63. Hovannisian 1969, p. 155
  64. Kazemzadeh 1951, p. 100
  65. Taglia 2020, p. 50
  66. Marshall 2010, p. 89
  67. Kazemzadeh 1951, p. 103
  68. Kazemzadeh 1951, pp. 103–104
  69. Hovannisian 1969, pp. 159–160
  70. Hovannisian 1969, pp. 160–161
  71. Kazemzadeh 1951, p. 105
  72. 72.0 72.1 72.2 Hovannisian 1969, p. 162
  73. Kazemzadeh 1951, p. 106
  74. 74.0 74.1 74.2 Kazemzadeh 1951, p. 108
  75. de Waal 2015, p. 149
  76. Hovannisian 2012, pp. 292–294
  77. Hovannisian 1969, p. 163
  78. Hovannisian 1969, pp. 167–168
  79. Kazemzadeh 1951, p. 107
  80. Hovannisian 1969, p. 168
  81. Kazemzadeh 1951, p. 109
  82. Hovannisian 1969, p. 172
  83. Hovannisian 1969, p. 173
  84. Kazemzadeh 1951, p. 110
  85. Hovannisian 1969, p. 174
  86. Zolyan 2020, p. 17
  87. Hovannisian 2012, p. 299
  88. Hovannisian 1969, p. 176
  89. Kazemzadeh 1951, pp. 113–114
  90. Hovannisian 1969, pp. 176–177
  91. Hovannisian 1969, pp. 177–179
  92. 92.0 92.1 Kazemzadeh 1951, p. 115
  93. Hovannisian 1969, p. 183
  94. Hovannisian 1969, p. 184
  95. Hovannisian 1969, p. 181
  96. Kazemzadeh 1951, p. 120
  97. Hovannisian 1969, p. 188
  98. Suny 1994, pp. 191–192
  99. Kazemzadeh 1951, pp. 123–124
  100. Kazemzadeh 1951, pp. 125–127
  101. Kazemzadeh 1951, pp. 177–183, 215–216
  102. Brisku & Blauvelt 2020, p. 3
  103. Brisku & Blauvelt 2020, p. 1
  104. Jones 2005, p. 279
  105. King 2008, p. 187
  106. Brisku & Blauvelt 2020, p. 4

บรรณานุกรม[แก้]

  • Bakradze, Lasha (2020), "The German perspective on the Transcaucasian Federation and the influence of the Committee for Georgia's Independence", Caucasus Survey, 8 (1): 59–68, doi:10.1080/23761199.2020.1714877, S2CID 213498833
  • Bournoutian, George (2018), Armenia and Imperial Decline: The Yerevan Province, 1900–1914, Milton Park, Abingdon, Oxon: Routledge, ISBN 978-1-351-06260-2
  • Brisku, Adrian (2020), "The Transcaucasian Democratic Federative Republic (TDFR) as a "Georgian" responsibility", Caucasus Survey, 8 (1): 31–44, doi:10.1080/23761199.2020.1712902, S2CID 213610541
  • Brisku, Adrian; Blauvelt, Timothy K. (2020), "Who wanted the TDFR? The making and the breaking of the Transcaucasian Democratic Federative Republic", Caucasus Survey, 8 (1): 1–8, doi:10.1080/23761199.2020.1712897
  • de Waal, Thomas (2015), Great Catastrophe: Armenians and Turks in the Shadow of Genocide, Oxford: Oxford University Press, ISBN 978-0-19-935069-8
  • Engelstein, Laura (2018), Russia in Flames: War, Revolution, Civil War 1914–1921, Oxford: Oxford University Press, ISBN 978-0-19-093150-6
  • Forestier-Peyrat, Etienne (2016), "The Ottoman occupation of Batumi, 1918: A view from below" (PDF), Caucasus Survey, 4 (2): 165–182, doi:10.1080/23761199.2016.1173369, S2CID 163701318, เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-07-19, สืบค้นเมื่อ 2021-08-06
  • Hasanli, Jamil (2016), Foreign Policy of the Republic of Azerbaijan: The Difficult Road to Western Integration, 1918–1920, New York City: Routledge, ISBN 978-0-7656-4049-9
  • Hovannisian, Richard G. (1969), Armenia on the Road to Independence, 1918, Berkeley and Los Angeles, California: University of California Press, OCLC 175119194
  • Hovannisian, Richard G. (2012), "Armenia's Road to Independence", ใน Hovannisian, Richard G. (บ.ก.), The Armenian People From Ancient Times to Modern Times, Volume II: Foreign Dominion to Statehood: The Fifteenth Century to the Twentieth Century, Houndmills, Basingstoke, Hampshire: MacMillan, pp. 275–302, ISBN 978-0-333-61974-2
  • Javakhishvili, Nikolai (2009), "History of the Unified Financial system in the Central Caucasus", The Caucasus & Globalization, 3 (1): 158–165
  • Jones, Stephen F. (2005), Socialism in Georgian Colors: The European Road to Social Democracy 1883–1917, Cambridge, Massachusetts: Harvard University Press, ISBN 978-0-67-401902-7
  • Kazemzadeh, Firuz (1951), The Struggle for Transcaucasia (1917–1921), New York City: Philosophical Library, ISBN 978-0-95-600040-8
  • Kévorkian, Raymond (2011), The Armenian Genocide: A Complete History, Bloomsbury Publishing, ISBN 978-0-85771-930-0
  • King, Charles (2008), The Ghost of Freedom: A History of the Caucasus, Oxford: Oxford University Press, ISBN 978-0-19-539239-5
  • Mamoulia, Georges (2020), "Azerbaijan and the Transcaucasian Democratic Federative Republic: historical reality and possibility", Caucasus Survey, 8 (1): 21–30, doi:10.1080/23761199.2020.1712901, S2CID 216497367
  • Marshall, Alex (2010), The Caucasus Under Soviet Rule, New York City: Routledge, ISBN 978-0-41-541012-0
  • Reynolds, Michael A. (2011), Shattering Empires: The Clash and Collapse of the Ottoman and Russian Empires 1908–1918, Cambridge: Cambridge University Press, ISBN 978-0-521-14916-7
  • Saparov, Arsène (2015), From Conflict to Autonomy in the Caucasus: The Soviet Union and the making of Abkhazia, South Ossetia and Nagorno Karabakh, New York City: Routledge, ISBN 978-1-138-47615-8
  • Slye, Sarah (2020), "Turning towards unity: A North Caucasian perspective on the Transcaucasian Democratic Federative Republic", Caucasus Survey, 8 (1): 106–123, doi:10.1080/23761199.2020.1714882, S2CID 213140479
  • Suny, Ronald Grigor (1994), The Making of the Georgian Nation (Second ed.), Bloomington, Indiana: Indiana University Press, ISBN 978-0-25-320915-3
  • Suny, Ronald Grigor (2015), "They Can Live in the Desert but Nowhere Else": A History of the Armenian Genocide, Princeton, New Jersey: Princeton University Press, ISBN 978-0-691-14730-7
  • Taglia, Stefano (2020), "Pragmatism and expediency: Ottoman calculations and the establishment of the Transcaucasian Democratic Federative Republic", Caucasus Survey, 8 (1): 45–58, doi:10.1080/23761199.2020.1712903, S2CID 213772764
  • Swietochowski, Tadeusz (1985), Russian Azerbaijan, 1905–1920: The Shaping of National Identity in a Muslim Community, Cambridge, United Kingdom: Cambridge University Press, ISBN 978-0-521-52245-8
  • Tsutsiev, Arthur (2014), "1886–1890: An Ethnolinguistic Map of the Caucasus", Atlas of the Ethno-Political History of the Caucasus, New Haven, Connecticut: Yale University Press, pp. 48–51, ISBN 978-0-300-15308-8
  • Uratadze, Grigorii Illarionovich (1956), Образование и консолидация Грузинской Демократической Республики [The Formation and Consolidation of the Georgian Democratic Republic] (ภาษารัสเซีย), Moscow: Institut po izucheniyu istorii SSSR, OCLC 1040493575
  • Zolyan, Mikayel (2020), "Between empire and independence: Armenia and the Transcaucasian Democratic Federative Republic", Caucasus Survey, 8 (1): 9–20, doi:10.1080/23761199.2020.1712898, S2CID 216514705

41°43′N 44°47′E / 41.717°N 44.783°E / 41.717; 44.783