สหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยทรานส์คอเคเซีย
สหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตย ทรานส์คอเคเซีย Закавказская демократическая федеративная республика (รัสเซีย) | |||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
เดือนเมษายน - เดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1918 | |||||||||||||
![]() | |||||||||||||
เมืองหลวง | ติฟลิส | ||||||||||||
ภาษาทั่วไป | จอร์เจีย อาเซอร์ไบจาน อาร์มีเนีย รัสเซีย | ||||||||||||
การปกครอง | สหพันธรัฐ สาธารณรัฐระบบรัฐสภา ภายใต้รัฐบาลชั่วคราว | ||||||||||||
ประธานสภาเซย์ม | |||||||||||||
• ค.ศ. 1918 | นีโคไล ชเฮอิดเซ | ||||||||||||
นายกรัฐมนตรี | |||||||||||||
• ค.ศ. 1918 | อะคากี ชเฮนเคลี | ||||||||||||
สภานิติบัญญัติ | สภาเซย์มทรานส์คอเคเซีย | ||||||||||||
ยุคประวัติศาสตร์ | การปฏิวัติรัสเซีย | ||||||||||||
2 มีนาคม ค.ศ. 1917 | |||||||||||||
• ประกาศจัดตั้งสหพันธรัฐ | 22 เมษายน ค.ศ. 1918 | ||||||||||||
• จอร์เจียประกาศเอกราช | 26 พฤษภาคม ค.ศ. 1918 | ||||||||||||
• อาร์มีเนียและอาเซอร์ไบจานประกาศเอกราช | 28 พฤษภาคม ค.ศ. 1918 | ||||||||||||
สกุลเงิน | รูเบิลทรานส์คอเคเซีย (ru)[2] | ||||||||||||
| |||||||||||||
ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ | จอร์เจีย อาเซอร์ไบจาน อาร์มีเนีย ตุรกี |
สหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยทรานส์คอเคเซีย (TDFR;[a] 22 เมษายน – 28 พฤษภาคม ค.ศ. 1918)[b] เป็นรัฐที่มีอยู่เป็นเวลาสั้น ๆ ในภูมิภาคคอเคซัส โดยมีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศอาร์มีเนีย ประเทศอาเซอร์ไบจาน และประเทศจอร์เจียในปัจจุบัน รวมถึงพื้นที่บางส่วนของประเทศรัสเซียและตุรกีด้วย รัฐดำรงอยู่เพียงหนึ่งเดือนก่อนที่จอร์เจียจะประกาศเอกราช ตามมาด้วยอาร์มีเนียและอาเซอร์ไบจานหลังจากนั้นไม่นาน
ภูมิภาคอันเป็นที่ตั้งของสหพันธ์สาธารณรัฐเดิมเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิรัสเซีย ซึ่งจักรวรรดิได้ล่มสลายในระหว่างการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1917 และรัฐบาลชั่วคราวเข้าครองอำนาจ เช่นเดียวกับในภูมิภาคคอเคซัส ที่มีการจัดตั้งคณะรัฐบาลในชื่อคณะกรรมการพิเศษทรานส์คอเคเซีย (โอซาคอม) แต่ภายหลังการปฏิวัติเดือนตุลาคมและการขึ้นสู่อำนาจของบอลเชวิคในรัสเซีย คณะกรรมาธิการทรานส์คอเคเซียจึงเข้ามาแทนที่โอซาคอม ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1918 ขณะสงครามโลกครั้งที่หนึ่งยังดำเนินอยู่ คณะกรรมาธิการจึงเริ่มต้นเจรจาสันติภาพกับจักรวรรดิออตโตมันที่กำลังรุกรานภูมิภาค แต่ต้องล้มเหลวอย่างรวดเร็ว เนื่องจากจักรวรรดิปฏิเสธที่จะยอมรับอำนาจของคณะกรรมาธิการ สนธิสัญญาเบรสท์-ลีตอฟสก์ซึ่งยุติการมีส่วนร่วมของรัสเซียในสงคราม ยอมให้ดินแดนทรานส์คอเคซัสบางส่วนตกเป็นของจักรวรรดิออตโตมัน เมื่อต้องเผชิญภัยคุกคามที่ใกล้เข้ามานี้ ทำให้ในวันที่ 22 เมษายน ค.ศ. 1918 คณะกรรมาธิการจึงประกาศยุบตนเองและสถาปนาสหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยทรานส์คอเคเซียขึ้นเป็นรัฐเอกราช พร้อมทั้งจัดตั้งสภานิติบัญญัติหรือสภาเซย์มเพื่อเจรจาโดยตรงกับจักรวรรดิออตโตมัน ซึ่งได้รับการรับรองความเป็นเอกราชโดยทันที
จุดประสงค์ที่แตกต่างกันของทั้งสามกลุ่มชาติพันธุ์หลัก (ชาวอาร์มีเนีย ชาวอาเซอร์ไบจาน[c] และชาวจอร์เจีย) ถือเป็นอันตรายอย่างรวดเร็วต่อการดำรงอยู่ของสหพันธ์ การเจรจาสันติภาพพังทลายลงอีกครั้งและต้องเผชิญกับการรุกรานของจักรวรรดิออตโตมันในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1918, ผู้แทนจอร์เจียในสภาเซย์มประกาศว่าสหพันธ์ไม่สามารถดำรงอยู่ต่อไปได้ และประกาศให้สาธารณรัฐประชาธิปไตยจอร์เจียเป็นเอกราชเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม เนื่องด้วยจอร์เจียไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสหพันธ์อีกต่อไป ทำให้สาธารณรัฐอาร์มีเนียและสาธารณรัฐประชาธิปไตยอาเซอร์ไบจานต่างก็ประกาศตนเองเป็นรัฐเอกราชเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม จึงถือเป็นการสิ้นสุดของสหพันธ์ เนื่องจากการดำรงอยู่เพียงระยะเวลาสั้น ๆ ทำให้สหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยทรานส์คอเคเซียมักถูกลืมเลือนในประวัติศาสตร์นิพนธ์ระดับชาติของภูมิภาคนี้ แต่โดยพื้นฐานแล้วถือว่าเป็นกระบวนการขั้นแรกของรัฐทั้งสามที่พยายามประกาศอิสรภาพตนเอง
ประวัติศาสตร์[แก้]
ภูมิหลัง[แก้]
พื้นที่ส่วนใหญ่ของภูมิภาคเซาท์คอเคซัสถูกผนวกรวมเข้ากับจักรวรรดิรัสเซียในช่วงครึ่งกลางของคริสต์ศตวรรษที่ 19[8] ได้มีการจัดตั้งเขตอุปราชคอเคเซียขึ้นใน ค.ศ. 1801 เพื่อกระจายอำนาจการปกครองจากรัสเซียสู่ภูมิภาคได้โดยตรง และในช่วงหลายทศวรรษถัดมา อำนาจในการปกครองตนเองของเขตอุปราชลดลง และอำนาจก็ถูกรวมเข้าสู่ศูนย์กลางรัสเซียมากขึ้นไปอีก อย่างไรก็ตาม เขตอุปราชได้รับอำนาจเพิ่มมากขึ้นใน ค.ศ. 1845[9] โดยเมืองติฟลิส (ปัจจุบันคือ ทบิลีซี) ซึ่งเคยเป็นเมืองหลวงของราชอาณาจักรคาร์ทลี–กาเฆที ได้กลายเป็นศูนย์กลางของเขตอุปราชและเมืองหลวงโดยพฤตินัยของภูมิภาคนี้[10] ภูมิภาคเซาท์คอเคซัสส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นพื้นที่ชนบทอย่างท่วมท้น ยกเว้นเมืองสำคัญอย่างติฟลิสและบากู[d][11] ซึ่งเติบโตขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 เมื่อภูมิภาคเริ่มส่งออกน้ำมันและกลายเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่สำคัญ[12] ภูมิภาคนี้มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์เป็นอย่างมาก โดยมีสามกลุ่มชาติพันธุ์หลัก ได้แก่ ชาวอาร์มีเนีย ชาวอาเซอร์ไบจาน และชาวจอร์เจีย ส่วนชาวรัสเซียนั้นเริ่มมีจำนวนมากขึ้นภายหลังจากที่จักรวรรดิรัสเซียได้ผนวกภูมิภาคนี้[13]
จากการประทุของสงครามโลกครั้งที่หนึ่งใน ค.ศ. 1914 ภูมิภาคคอเคซัสได้กลายเป็นสมรภูมิหลักของการต่อสู้ระหว่างรัสเซียและจักรวรรดิออตโตมัน[14] กองทัพรัสเซียได้รับชัยชนะอย่างต่อเนื่องและเริ่มรุกรานดินแดนของจักรวรรดิออตโตมัน อย่างไรก็ตาม ทางการรัสเซียกังวลว่าประชากรท้องถิ่น ซึ่งส่วนมากเป็นชาวมุสลิม จะให้การสนับสนุนสุลต่านเมห์เหม็ดที่ 5 และหันมาต่อต้านกองทัพรัสเซีย เนื่องจากสุลต่านทรงเป็นกาหลิบ ซึ่งเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของศาสนาอิสลาม[15] ทั้งสองฝ่ายพยายามปลุกปั่นชาวอาร์มีเนียที่อยู่บริเวณชายแดนเพื่อให้เกิดการลุกฮือขึ้น[16] อย่างไรก็ตาม หลังความพ่ายแพ้ทางทหารของจักรวรรดิออตโตมัน รัฐบาลออตโตมันได้หันมาต่อต้านชาวอาร์มีเนียเสียเอง และกระทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ใน ค.ศ. 1915 ซึ่งมีชาวอาร์มีเนียประมาณ 1 ล้านคนที่ถูกสังหาร[17][18]
หลังการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ใน ค.ศ. 1917 ทำให้จักรวรรดิรัสเซียล่มสลายลงและได้มีการประกาศจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวขึ้นในรัสเซีย ในช่วงแรก เจ้าอุปราชแห่งคอเคซัส แกรนด์ดยุกนีโคไล ได้แสดงความสนับสนุนรัฐบาลใหม่อย่างเปิดเผย แต่ต่อมาพระองค์ถูกบังคับให้ลาออกจากตำแหน่งเมื่ออำนาจของจักรพรรดิถูกล้มล้าง[19] ทางรัฐบาลชั่วคราวได้จัดตั้งคณะปกครองชั่วคราวขึ้น หรือที่รู้จักกันในชื่อ "คณะกรรมการพิเศษทรานส์คอเคเซีย" (ชื่อย่อในภาษารัสเซียคือ "โอซาคอม"[e]) เมื่อวันที่ 22 มีนาคม ค.ศ. 1917 [ตามปฎิทินเก่า: 9 มีนาคม] ซึ่งภายในคณะประกอบไปด้วยเหล่าผู้แทนแห่งคอเคเซียจากสภาดูมา (สภานิติบัญญัติรัสเซีย) และผู้นำท้องถิ่นอื่น ๆ โดยมีจุดประสงค์เพื่อทำหน้าที่เป็น "คณะอุปราช" และเหล่าผู้แทนของคณะต่างก็มาจากกลุ่มชาติพันธุ์หลักของภูมิภาคนี้ทั้งสิ้น[21][22] เช่นเดียวกับในเปโตรกราด[f] ที่ระบบอำนาจควบคู่ได้ก่อตัวขึ้น เนื่องจากความพยายามชิงดีชิงเด่นกันระหว่างโอซาคอมและสภาโซเวียต[g][24] แต่ด้วยการสนับสนุนเพียงเล็กน้อยจากรัฐบาลในเปโตรกราด จึงเป็นเรื่องยากที่โอซาคอมจะมีอำนาจเหนือสภาโซเวียต โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสภาโซเวียตติฟลิส[25]
คณะกรรมาธิการทรานส์คอเคเซีย[แก้]
เมื่อข่าวการปฏิวัติเดือนตุลาคม ซึ่งนำไปสู่การเถลิงอำนาจของบอลเชวิคในเปโตรกราดเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน ค.ศ. 1917 [ตามปฎิทินเก่า: 25 ตุลาคม] ได้แพร่กระจายไปยังคอเคซัสในวันต่อมา สภาโซเวียตติฟลิสจึงจัดประชุมและประกาศต่อต้านบอลเชวิคโดยทันที สามวันต่อมา นอย จอร์ดาเนีย ซึ่งเป็นสมาชิกเมนเชวิคชาวจอร์เจีย ได้เสนอแนวคิดการปกครองตนเองของรัฐบาลท้องถิ่น โดยอ้างว่าการยึดอำนาจของบอลเชวิคกระทำอย่างผิดกฎหมาย และทางคอเคซัสไม่ควรปฏิบัติตามคำสั่งของพวกเขาและควรรอจนกว่าจะมีการกลับคืนระเบียบ[26] จากการประชุมเพิ่มเติมของเหล่าผู้แทนจากสภาโซเวียตติฟลิส โอซาคอม และคณะอื่น ๆ เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน [ตามปฎิทินเก่า: 15 พฤศจิกายน] ได้มีการตัดสินใจยุติบทบาทของโอซาคอม และแทนที่ด้วยคณะปกครองใหม่ หรือที่รู้จักกันในชื่อ คณะกรรมาธิการทรานส์คอเคเซีย ซึ่งปฏิเสธที่จะยอมนอบน้อมต่อบอลเชวิค ภายในคณะประกอบไปด้วยเหล่าผู้แทนจากสี่กลุ่มชาติพันธุ์หลักในภูมิภาค (ชาวอาร์มีเนีย ชาวอาเซอร์ไบจาน ชาวจอร์เจีย และชาวรัสเซีย) โดยคณะกรรมาธิการทรานส์คอเคเซียได้เข้ามาแทนที่โอซาคอมในฐานะรัฐบาลแห่งเซาท์คอเคซัส และถูกกำหนดให้ทำหน้าที่นั้นจนกระทั่งการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญรัสเซียในเดือนมกราคม ค.ศ. 1918 อิฟเกนี เกเกชโครี ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานและกรรมการราษฎรฝ่ายกิจการต่างประเทศของคณะกรรมาธิการ[27] ส่วนตำแหน่งอื่น ๆ ของคณะกรรมาธิการได้ถูกแบ่งสรรกันระหว่างชาวอาร์มีเนีย ชาวอาเซอร์ไบจาน ชาวจอร์เจีย และชาวรัสเซีย[28] คณะกรรมาธิการทรานส์คอเคเซียจัดตั้งขึ้นโดยมีจุดประสงค์อย่างชัดเจนที่จะเป็นรัฐบาลรักษาการ เพราะคณะไม่สามารถปกครองได้อย่างมั่นคง กล่าวคือ การตัดสินใจภายในประเทศส่วนใหญ่ยังคงขึ้นอยู่กับสภาแห่งชาติ ซึ่งก่อตั้งขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันและมีบรรทัดฐานตามกลุ่มชาติพันธุ์ ด้วยเหตุนี้เอง คณะกรรมาธิการจึงขาดการสนับสนุนทางทหารและไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ[29]
กองทัพรัสเซียและออตโตมันยังคงต่อสู้กันต่อไปในภูมิภาคนี้ กระทั่งมีการลงนามในการสงบศึกชั่วคราวแอร์ซินจัน เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม ค.ศ. 1917 [ตามปฎิทินเก่า: 5 ธันวาคม][30] เมื่อการสู้รบได้ยุติลง ในวันที่ 16 มกราคม 1918 [ตามปฎิทินเก่า: 3 มกราคม] นักการทูตออตโตมันได้เชิญชวนให้คณะกรรมาธิการเข้าร่วมในการเจรจาสันติภาพที่เบรสท์-ลีตอฟสก์ ซึ่งเป็นสถานที่เดียวกันกับที่บอลเชวิคได้ทำการเจรจายุติสงครามกับฝ่ายมหาอำนาจกลาง แต่เนื่องด้วยคณะกรรมาธิการไม่ต้องการดำเนินการสิ่งใดโดยอิสระจากรัสเซีย จึงไม่ได้ตอบรับคำเชิญของรัฐบาลออตโตมันและไม่ได้มีส่วนร่วมกับการเจรจาสันติภาพนี้[31] สองวันต่อมา เมื่อวันที่ 18 มกราคม [ตามปฎิทินเก่า: 5 มกราคม] สภาร่างรัฐธรรมนูญรัสเซียได้จัดการประชุมเป็นครั้งแรกและครั้งเดียว ก่อนที่บอลเชวิคจะยุบสภา เพื่อรักษาเสถียรภาพการปกครองเหนือรัสเซีย[32] ถือเป็นการยืนยันว่า คณะกรรมาธิการไม่สามารถร่วมมือกับบอลเชวิคในกิจการที่เกินความสามารถได้ ดังนั้นคณะกรรมาธิการจึงเริ่มก่อตั้งรัฐบาลอย่างเป็นทางการมากขึ้น[33] การสงบศึกระหว่างจัรรรดิออตโตมันและคณะกรรมาธิการยังคงดำเนินต่อไป จนกระทั่งวันที่ 30 มกราคม [ตามปฎิทินเก่า: 17 มกราคม] เมื่อกองทัพออตโตมันได้เข้ารุกรานคอเคซัสอีกครั้ง โดยอ้างว่าการรุกรานครั้งนี้เป็นการตอบโต้การโจมตีประชากรชาวมุสลิมในดินแดนออตโตมันของกองกำลังติดอาวุธชาวอาร์มีเนีย[34] เมื่อกองทัพรัสเซียถอนกำลังออกจากแนวหน้าเป็นส่วนใหญ่ คณะกรรมาธิการเกรงว่าจะไม่สามารถต้านทานการรุกรานของออตโตมันครั้งนี้ได้ ดังนั้น เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ คณะกรรมาธิการจึงเริ่มเจรจาสันติภาพอีกครั้ง[30]
สภาเซย์ม[แก้]

แนวคิดการจัดตั้งสภานิติบัญญัติทรานส์คอเคเซียได้มีการหารือกันตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1917 ถึงแม้ว่าจะไม่ได้มีการดำเนินการในเวลานั้นก็ตาม[35] เมื่อมีการยุบสภาร่างรัฐธรรมนูญในเดือนมกราคม บรรดาผู้นำของคณะกรรมาธิการจึงเล็งเห็นว่าความสัมพันธ์กับรัสเซียต้องถูกตัดขาดออกไปทั้งหมดอย่างแน่นอน เมื่อไม่มีความปรารถนาที่จะปฏิบัติตามผู้นำบอลเชวิค คณะกรรมาธิการจึงตกลงที่จะจัดตั้งสภานิติบัญญัติของตนเอง เพื่อให้ภูมิภาคทรานส์คอเคซัสมีรัฐบาลที่ชอบด้วยกฎหมายและเจรจากับจักรวรรดิออตโตมันได้อย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น ดังนั้นเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ จึงมีการประกาศจัดตั้ง "สภาเซย์ม" ('สภานิติบัญญัติ') ขึ้นในเมืองติฟลิส[36]
ไม่มีการเลือกตั้งอื่นใดสำหรับสมาชิกสภาผู้แทน โดยผู้แทนในแต่ละคนได้รับคัดเลือกจากผลการเลือกตั้งของสภาร่างรัฐธรรมนูญโดยตรง และเกณฑ์การเลือกตั้งถูกลดลงเหลือหนึ่งในสามของผู้แทนในสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ประชาชนได้รับการคัดเลือกเป็นผู้แทนมากขึ้น อีกทั้งยังทำให้พรรคเล็กได้ที่นั่งในสภาเพิ่มขึ้นอีกด้วย[h][37] สมาชิกเมนเชวิคชาวจอร์เจีย นีโคไล ชเฮอิดเซ ได้รับตำแหน่งเป็นประธานสภา[38] ในท้ายที่สุด โครงสร้างของสภาเซย์มจึงประกอบไปด้วยสิบพรรค มีสามพรรคถูกครอบงำ ซึ่งแต่ละพรรคเป็นตัวแทนของกลุ่มชาติพันธุ์หลักหนึ่งกลุ่ม พรรคเมนเชวิคจอร์เจียและพรรคมูซาวาทแห่งอาเซอร์ไบจาน แต่ละพรรคมีจำนวนสมาชิก 30 คน และสหพันธ์ปฏิวัติอาร์มีเนีย (Dashnaktsutyun) มีจำนวนสมาชิก 27 คน[37] บอลเชวิคประกาศคว่ำบาตรสภาเซย์ม โดยอ้างว่ารัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายเพียงแห่งเดียวของรัสเซีย (รวมถึงทรานส์คอเคเซีย) นั้นคือคณะกรรมการราษฎรของบอลเชวิค (หรือที่รู้จักกันในชื่อ "ซอฟนาร์คอม")[i][36]
ในช่วงเริ่มแรก สภาเซย์มต้องเผชิญกับความท้าทายต่ออำนาจ เนื่องด้วยผู้แทนส่วนใหญ่มีความแตกต่างทางเชื้อชาติและอุดมการณ์ทางการเมืองที่หลากหลาย และสภาก็ไม่ได้มีสถานะของอำนาจที่ชัดเจน ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งทั้งภายนอกและภายในสภาเอง[39] สภาเซย์มยังคงพึ่งพาสภาแห่งชาติ ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบด้วยผู้แทนจากสามกลุ่มชาติพันธุ์หลัก และสภาเซย์มจะไม่สามารถดำเนินการสิ่งใดได้ หากปราศจากความยินยอมจากสภาแห่งชาติ[1] ทางจักรวรรดิออตโตมันได้เสนอให้มีการต่ออายุสัญญาสันติภาพและยินดีที่จะให้มีการเจรจากันในติฟลิส ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งหลักของสภาเซย์ม แต่ทางสภาเซย์มเกรงว่าอีกฝ่ายจะรู้ซึ้งถึงความอ่อนแอภายในสภา จึงมีการตกลงเลือกสถานที่เจรจา ณ เมืองทรับซอนในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอานาโตเลีย[40]
การประชุมสันติภาพทรับซอน[แก้]
คณะผู้แทนของสภาเซย์มมีกำหนดการเดินทางไปที่ทรับซอนเมื่อวันที่ 2 มีนาคม แต่ในวันนั้นได้มีการประกาศว่าการเจรจาสันติภาพที่เบรสท์-ลีตอฟสก์ได้สิ้นสุดลงแล้ว และรัสเซียก็ลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพ[41] ภายในสนธิสัญญาเบรสท์-ลีตอฟสก์กล่าวถึงข้อตกลงที่รัสเซียจะต้องยอมสละดินแดนผืนใหญ่ให้แก่จักรวรรดิออตโตมัน รวมถึงภูมิภาคทรานส์คอเคซัสด้วย ทั้งดินแดนอาร์ดาฮัน แคว้นบาทูม และแคว้นคาร์ส ซึ่งทั้งหมดเคยถูกผนวกโดยรัสเซียหลังสงครามรัสเซีย-ตุรกี ค.ศ. 1877–1878[42] ด้วยเหตุการณ์กระทันหันเช่นนี้ คณะผู้แทนจึงเลื่อนกำหนดการเดินทางออกไป เนื่องด้วยสภาเซย์มต้องพิจารณาจุดยืนของตนใหม่[43] การที่ทรานส์คอเคซัสไม่ได้มีส่วนร่วมในการเจรจาที่เบรสท์-ลีตอฟสก์ ทำให้ทางสภาจำเป็นต้องส่งสารไปยังรัฐบาลหลายแห่งทั่วโลก โดยระบุว่าสภาเซย์มไม่ใช่คณะในการเจรจาสันติภาพ ทางสภาจะไม่เคารพสนธิสัญญาและจะไม่พลัดถิ่นออกจากจากดินแดน[44] ที่สุดแล้วคณะผู้แทนจึงออกเดินทางเมื่อวันที่ 7 มีนาคม และมาถึงทรับซอนในวันถัดมา[45] เมื่อมาถึงยังทรับซอน คณะผู้แทนซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจำนวนสิบคนและทหารอารักขาอีกห้าสิบคนถูกเชิญให้ปลดอาวุธ คณะผู้แทนที่มีขนาดใหญ่ผิดปกตินี้ประกอบไปด้วยบุคคลที่ได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนของกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลายและกลุ่มการเมืองที่ประกอบเป็นสภาเซย์ม[46] เมื่อคณะผู้แทนเดินทางมาถึงที่เจรจา เจ้าหน้าที่ชาวออตโตมันคนหนึ่งได้กล่าวเหน็บแนมว่า "ถ้านี่คือประชากรทั้งหมดของทรานส์คอเคเซีย มันถือว่ามีขนาดเล็กมากจริง ๆ แต่ถ้านี่คือคณะผู้แทน มันคงมีขนาดใหญ่เกินไป"[44]
ขณะที่คณะผู้แทนรอเริ่มการประชุมสันติภาพในทรับซอน ทางผู้บัญชาการกองทัพออตโตมันภาคที่ 3 เวฮิป พาชา ได้ส่งคำร้องถึงเอฟเกนี เลเบดินสกี อดีตนายพลรัสเซียที่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมาธิการ เมื่อวันที่ 10 มีนาคม โดยบอกให้คณะกรรมาธิการถอนอำนาจออกจากพื้นที่อาร์ดาฮัน บาตูม และคาร์ส ตามที่กำหนดไว้ในสนธิสัญญาเบรสท์-ลีตอฟสก์ นอกจากนี้เวฮิปยังได้แจ้งกับอีลียา โอดีเชลิดเซ ผู้ซึ่งรับใช้คณะกรรมาธิการอีกว่า เนื่องจากการโจมตีของกองกำลังติดอาวุธอาร์มีเนียต่อประชากรที่อยู่ใกล้เคียงกับแอร์ซูรุม ทางกองทัพออตโตมันจึงจำเป็นต้องเคลื่อนกำลังพลเพื่อรักษาสันติภาพ พร้อมแจ้งเตือนถึงการใช้กำลังในการตอบโต้ศัตรู คำร้องเหล่านี้ได้รับการตอบกลับโดยตรงจากนีโคไล ชเฮอิดเซ ประธานสภาเซย์ม ซึ่งในบันทึกตอบกลับนั้นมีใจความว่า ทรานส์คอเคซัสได้ส่งคณะผู้แทนไปยังทรับซอนเพื่อเจรจาสันติภาพ และสภาเซย์มก็ไม่ได้ยอมรับอำนาจของรัสเซีย ฉะนั้นจึงไม่มีความจำเป็นที่จะยอมรับการลงนามในเบรสท์-ลีตอฟสก์[47][48] เมื่อวันที่ 11 มีนาคม กองทัพออตโตมันเริ่มการโจมตีแอร์ซูรุมโดยไม่มีความหวังที่จะประสบผลสำเร็จ ชาวอาร์มีเนียส่วนใหญ่จึงเริ่มอพยพออกจากแอร์ซูรุมภายในเวลาไม่ถึงยี่สิบสี่ชั่วโมงต่อมา[49]
การประชุมสันติภาพทรับซอนมีขึ้นเมื่อวันที่ 14 มีนาคม สำหรับการประชุมในชุดแรก หัวหน้าคณะผู้แทนของออตโตมัน Rauf Bey ได้ตั้งคำถามแก่คณะผู้แทนทรานส์คอเคเซียว่าพวกเขาเป็นตัวแทนของใคร ทางอะคากี ชเฮนเคลี หัวหน้าคณะผู้แทนทรานส์คอเคเซีย ไม่สามารถให้ตำตอบที่เหมาะสมได้ เนื่องจากความไม่ชัดเจนของตัวเขาและผู้แทนคนอื่นว่าเป็นตัวแทนของใคร เมื่อคำถามเดิมได้ถูกถามในอีกสองวันต่อมานั้น Rauf ยังขอให้ชเฮนเคลีชี้แจงถึงองค์ประกอบของรัฐตน เพื่อพิจารณาว่ามีคุณสมบัติเป็นรัฐหนึ่งภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่ ชเฮนเคลีชี้แจงว่าตั้งแต่การปฏิวัติเดือนตุลาคม อำนาจส่วนกลางได้ถูกระงับลงในทรานส์คอเคเซีย มีการจัดตั้งรัฐบาลอิสระและปฏิบัติหน้าที่เหมือนดังรัฐหนึ่ง และเมื่อรัฐบาลได้รับคำเชิญให้เข้าร่วมการเจรจาสันติภาพที่เบรสท์-ลีตอฟสก์ จึงถือว่าทรานส์คอเคเซียมีคุณสมบัติเป็นรัฐอธิปไตย แม้ว่าจะไม่มีการประกาศเอกราชอย่างชัดเจนก็ตาม[50] Rauf หักล้างข้อโต้แย้งดังกล่าว โดยอ้างว่าซอฟนาร์คอมมีอำนาจเหนือรัสเซียทั้งหมด และแม้ว่าผู้แทนของออตโตมันจะส่งข้อความไปยังคณะกรรมาธิการ เพื่อให้เข้าร่วมการเจรจาที่เบรสท์-ลีตอฟสก์ แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ทรานส์คอเคเซียได้รับการยอมรับ ในท้ายที่สุด Rauf ระบุว่าคณะผู้แทนของออตโตมันอยู่ที่ทรับซอนเพียงเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและการค้าบางอย่างที่ยังไม่ได้รับการตัดสินที่เบรสท์-ลีตอฟสก์เท่านั้น ชเฮนเคลีและเหล่าผู้แทนจึงไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกจากขอเวลาพักในช่วงสั้น ๆ เพื่อส่งข้อความถึงสภาเซย์มว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป[51]
การก่อตั้ง[แก้]
การบุกครองครั้งใหม่ของจักรวรรดิออตโตมัน[แก้]
ในระหว่างการหยุดพักที่ทรับซอน กองทัพออตโตมันได้รุกหน้าเข้าสู่ดินแดนทรานส์คอเคเซียอย่างต่อเนื่อง โดยช่วงปลายเดือนมีนาคม กองทัพข้ามพรมแดนใน ค.ศ. 1914 ของจักรวรรดิรัสเซียเดิม[52] ภายในสภาเซย์มต่างถกเถียงกันถึงแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด ซึ่งผู้แทนส่วนใหญ่เห็นชอบให้ใช้วิธีแก้ปัญหาทางการเมือง เมื่อวันที่ 20 มีนาคม คณะผู้แทนของออตโตมันเสนอว่าสภาเซย์มจะสามารถเข้าร่วมการเจรจาได้อีกครั้ง หากทรานส์คอเคเซียประกาศเอกราชและไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียอีกต่อไป[53] แท้จริงแล้วแนวคิดเรื่องเอกราชได้เกิดขึ้นมาก่อนหน้านั้นแล้ว โดยทางจอร์เจียได้อภิปรายถึงแนวคิดนี้ในเชิงลึกเมื่อหลายปีก่อน แต่สุดท้ายก็ถูกปัดตกเพราะผู้นำจอร์เจียตระหนักว่ารัสเซียจะไม่ยินยอมความเป็นเอกราชของจอร์เจียและอุดมการณ์ทางการเมืองของเมนเชวิคที่เอนเอียงไปทางชาตินิยม[54]
เมื่อวันที่ 5 เมษายน ชเฮนเคลียอมรับสนธิสัญญาเบรสท์-ลีตอฟสก์เพื่อเป็นพื้นฐานในการเจรจาครั้งต่อไปและเรียกร้องให้สภาเซย์มทรานส์คอเคเซียยอมรับในสถานะนี้[55] ในช่วงแรก เขาเรียกร้องว่าบาตูมเป็นส่วนหนึ่งของทรานส์คอเคซัส โดยอ้างว่าบาตูมมีฐานะเป็นเมืองท่าหลักของภูมิภาคนี้ซึ่งมีความจำเป็นต่อเศรษฐกิจ แต่ฝ่ายออตโตมันปฏิเสธข้อเรียกร้องนี้ ทำให้เป็นที่ปรากฏชัดเจนว่าพวกเขายอมรับแค่เนื้อหาของสนธิสัญญาเบรสท์-ลีตอฟสก์เพียงเท่านั้น ซึ่งชเฮนเคลีจำต้องยอมรับตาม[56] เมื่อวันที่ 9 เมษายน ชเฮนเคลีตกลงที่จะเจรจาเพิ่มเติมตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ และเขาได้ร้องของให้ผู้แทนจากฝ่ายมหาอำนาจกลางอื่นเข้าร่วมการเจรจาด้วย แต่ Rauf กล่าวว่าคำร้องขอข้างต้นจะสามารถพิจารณาได้ก็ต่อเมื่อทรานส์คอเคเซียเป็นรัฐเอกราชเท่านั้น[57]
ด้วยความเบื่อหน่ายจากการเจรจาและความตระหนักว่าดินแดนที่ขัดแย้งจะถูกยึดครองโดยกำลัง ทางการออตโตมันจึงยื่นคำขาดแก่กองทหารรักษาการณ์ในบาตูมให้ถอนกำลังภายในวันที่ 13 เมษายน[58] ชเฮนเคลีตระหนักดีถึงความสำคัญของบาตูม แต่จำต้องเต็มใจยอมรับที่จะสละดินแดนส่วนนี้ อันเป็นส่วนหนึ่งตามข้อกำหนดในสนธิสัญญาเบรสท์-ลีตอฟสก์ อย่างไรก็ตาม สมาชิกสภาเซย์มชาวจอร์เจียยังคงยืนกรานที่จะรักษาเมืองแห่งนี้ไว้ เกเกชโครีได้บันทึกว่าการปกป้องเมืองมิใช่เรื่องยากแต่อย่างใด[57][59] อีรัคลี เซเรเตลี สมาชิกเมนเชวิคชาวจอร์เจีย กล่าววาทะอย่างกระตือรือร้นเพื่อเรียกร้องให้ปกป้องบาตูมและร้องขอให้สภาเซย์มประณามสนธิสัญญาเบรสท์-ลีตอฟสก์โดยสิ้นเชิง ทางผู้แทนชาวอาร์มีเนียสนับสนุนการต่อสู้กับจักรวรรดิออตโตมันมาเป็นเวลานานแล้ว อันมีจุดประสงค์เพื่อตอบโต้การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และการข่มเหงพลเมืองอาร์มีเนียใน ค.ศ. 1915 มีเพียงชาวอาเซอร์ไบจานเท่านั้นที่มีจุดยืนต่อต้านสงคราม เนื่องจากพวกเขาไม่ต้องการที่จะต่อสู้กับเพื่อนมุสลิมด้วยกันเอง[60] ผู้แทนชาวอาเซอร์ไบจานแพ้คะแนนเสียงและเมื่อวันที่ 14 เมษายน สภาเซย์มประกาศสงครามต่อจักรวรรดิออตโตมัน[61][62] ทันทีหลังจากการลงคะแนนเสียงเสร็จสิ้น เซเรเตลีและ Jordania จึงเข้าร่วมกับกองทหารรักษาการณ์บาตูม ในขณะที่ผู้แทนที่ยังพำนักอยู่ในทรับซอนได้รับคำสั่งให้เดินทางกลับไปติฟลิสโดยทันที[63] ทั้งนี้ ผู้แทนชาวอาเซอร์ไบจานบางส่วนได้ท้าทายต่อคำสั่งนั้นและยังคงพำนักในทรับซอนต่อไป โดยหวังว่าจะมีโอกาสสําหรับการเจรจา แต่ก็ไร้ผล[64]
การประกาศจัดตั้ง[แก้]
ความได้เปรียบทางทหารของกองทัพออตโตมันปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนในทันที[65] เมื่อกองทัพเข้ายึดบาตูมในวันที่ 14 เมษายน ด้วยการต่อต้านเพียงเล็กน้อย อีกทั้งยังเข้าโจมตีคาร์สด้วย แต่กองทัพอาร์มีเนียจำนวน 3,000 นาย สามารถยึดเมืองกลับคืนมาได้จนกระทั่งการถอนกำลังเมื่อวันที่ 25 เมษายน[66] หลังจากกองทัพออตโตมันยึดดินแดนที่อ้างสิทธิ์ส่วนใหญ่สำเร็จแล้ว และไม่เต็มใจที่จะสูญเสียทหารฝ่ายตนเพิ่ม ผู้แทนออตโตมันจึงเสนอการสงบศึกอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 22 เมษายน และรอให้ทางทรานส์คอเคเซียตอบกลับ[67]
เมื่อเผชิญกับกองทัพออตโตมันที่เหนือกว่า สภาแห่งชาติจอร์เจียจึงพิจารณาว่าทรานส์คอเคเซียไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกเหนือจากการประกาศเอกราช[68] มีการอภิปรายถึงแนวคิดนี้ในสภาเซย์มเมื่อวันที่ 22 เมษายน โดยผู้แทนจอร์เจียเป็นผู้นำในการอภิปราย กล่าวว่าผู้แทนออตโตมันยินยอมที่จะเจรจาสันติภาพอีกครั้ง โดยมีเงื่อนไขว่าทรานส์คอเคซัสจะต้องเข้าที่ประชุมในฐานะรัฐเอกราช[69] ทางเลือกดังกล่าวไม่เป็นเอกฉันท์ในตอนแรก โดยสหพันธ์ปฏิวัติอาร์มีเนียเชื่อว่าหนทางที่ดีที่สุด ณ ขณะนี้คือการหยุดยั้งการรุกรานของออตโตมัน แม้พวกเขาจะต้องสละดินแดนจํานวนมากอย่างไม่เต็มใจ ในขณะที่พรรคมูซาวาท (Musavat) ผู้เป็นตัวแทนของชาวอาเซอร์ไบจานยังคงลังเลที่จะต่อสู้กับเพื่อนมุสลิม แต่เห็นด้วยว่าเอกราชเป็นเพียงสิ่งเดียวที่จะรับรองว่าทรานส์คอเคเซียจะไม่ถูกรัฐต่างชาติแบ่งแยก มีเพียงพรรคปฏิวัติสังคมนิยมเท่านั้นที่คัดค้านวิธีการนี้ในสภาเซย์ม ซึ่งหนึ่งในผู้แทนของพรรคเลฟ ตูมานอฟ อ้างว่าประชาชนในทรานส์คอเคเซียไม่ได้สนับสนุนต่อการกระทำนี้ เขายังกล่าวอีกว่าในขณะที่พรรคมูซาวาทอ้างถึงแรงผลักดันของพวกเขาว่าเป็น "มโนธรรมมิใช่ความกลัว" (conscience not fear) แต่แท้จริงแล้วเป็นแค่ "ความกลัวและไม่ใช่มโนธรรม" (fear and not conscience) และในตอนท้ายเขากล่าวสรุปว่าทุกคนที่นี่จะต้องเสียใจกับการกระทำนี้[70]
เมื่อการอภิปรายสิ้นสุดลง ดาวิต โอนีอัชวีลี (Davit Oniashvili) เมนเชวิคชาวจอร์เจียเสนอญัตติให้สภาเซย์ม "ประกาศให้ทรานส์คอเคเซียเป็นสหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตย"[71] ผู้แทนบางส่วนที่ไม่ต้องการลงคะแนนเสียงสนับสนุนเรื่องนี้ต่างพากันออกจากห้องประชุมสภา ทำให้ญัตติผ่านที่ประชุมโดยเกิดความไม่ลงรอยเล็กน้อย[72] สหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยทรานส์คอเคเซีย (TDFR) แห่งใหม่แจ้งต่อเวฮิป พาชา โดยทันทีถึงการประกาศจัดตั้งและแสดงเจตจำนงที่จะยอมรับข้อกำหนดในสนธิสัญญาเบรสท์-ลีตอฟสก์ ทั้งยอมสละดินแดนคาร์สแก่จักรวรรดิออตโตมัน[73] ทางจักรวรรดิออตโตมันให้การรับรองสหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยทรานส์คอเคเซียเมื่อวันที่ 28 เมษายน[74] แม้จะได้รับการรับรอง แต่ออตโตมันยังคงรุกรานดินแดนทรานส์คอเคเซียต่อไปและเข้ายึดครองแอร์เซรุม[j] และคาร์สหลังจากนั้นไม่นาน[76]
รัฐเอกราช[แก้]

หลังการประกาศจัดตั้ง สหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยทรานส์คอเคเซียไม่มีคณะรัฐมนตรีที่จะนำรัฐบาลใหม่ คณะกรรมาธิการทรานส์คอเคเซียก็ถูกยุบไปพร้อม ๆ กับการประกาศเอกราช และเกเกชโครีปฏิเสธที่จะเป็นรับบทบาทผู้นำต่อไปและตระหนักว่าตนอาจสูญเสียการสนับสนุนหากรับตำแหน่ง แม้จะมีการตกลงกันแล้วในระหว่างการอภิปรายในสภาเซย์มว่าตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจะมอบให้กับชเฮนเคลี แต่เขาไม่มีความตั้งใจที่จะรับตําแหน่งชั่วคราว และเต็มใจที่จะเข้ารับตําแหน่งหลังการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่เท่านั้น คณะรัฐมนตรียังคงไม่มีข้อสรุปกระทั่งวันที่ 26 เมษายน ทำให้ทรานส์คอเคเซียดำรงอยู่มาเป็นเวลาสามวันโดยปราศจากฝ่ายบริหารที่มีประสิทธิภาพ[72] ด้วยความต้องการเร่งด่วนในการดูแลสาธารณรัฐใหม่ ชเฮนเคลีจึงได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี เขาสั่งให้กองทัพอาร์มีเนียยุติการต่อสู้และร้องขอเจรจาสันติภาพกับเวฮิป พาชา ที่บาตูม สำหรับการเลือกบาตูมเป็นสถานที่เจรจาเป็นเพราะสะดวกต่อการเดินทางไปยังติฟลิสหากจำเป็น ซึ่งหากเปรียบกับการเจรจาที่ทรับซอนแล้วเป็นไปไม่ได้ที่จะทำเช่นนี้[77]
![]() | ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
หมายเหตุ[แก้]
- ↑ รัสเซีย: Закавказская демократическая Федеративная Республика (ЗДФР), Zakavkazskaya Demokraticheskaya Federativnaya Respublika (ZDFR)[3]
- ↑ รัสเซียและทรานส์คอเคเซียใช้ปฏิทินจูเลียน ซึ่งช้ากว่าปฏิทินเกรกอเรียนที่ประเทศส่วนใหญ่ในยุโรปใช้ 13 วัน อย่างไรก็ตาม ในช่วงต้น ค.ศ. 1918 ทั้งสองประเทศได้เปลี่ยนมาใช้ปฏิทินเกรกอเรียน[4] แต่ยังคงมีการใช้ปฏิทินทั้งสองรูปแบบสลับกันจนกระทั่งเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1918 รัสเซียจึงเปลี่ยนมาใช้เฉพาะปฏิทินเกรกอเรียนเพียงรูปแบบเดียว
- ↑ ก่อน ค.ศ. 1918 โดยทั่วไปแล้วจะรู้จักกันในชื่อ "ชาวตาตาร์" ซึ่งคำนี้ถูกใช้โดยชาวรัสเซีย หมายถึงชาวมุสลิมที่พูดภาษาเตอร์กิก (ชีอะและซุนนี) ในภูมิภาคทรานส์คอเคซัส ต่างจากชาวอาร์มีเนียและชาวจอร์เจีย ชาวตาตาร์ไม่มีอักขระเป็นของตนเองและใช้อักษรเปอร์เซีย-อารบิกเป็นอักขระหลัก ภายหลังการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาธิปไตยอาเซอร์ไบจานใน ค.ศ. 1918 และ "โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคโซเวียต" ชาวตาตาร์ได้ระบุว่าตนเองเป็น "ชาวอาเซอร์ไบจาน"[5][6] ซึ่งก่อนหน้า ค.ศ. 1918 คำว่า "อาเซอร์ไบจาน" หมายถึงเฉพาะจังหวัดอาเซอร์ไบจานของอิหร่านเพียงเท่านั้น[7]
- ↑ ปัจจุบันคือเมืองหลวงของประเทศอาเซอร์ไบจาน
- ↑ รัสเซีย: Особый Закавказский Комитет; Osobyy Zakavkazskiy Komitet[20]
- ↑ เซนต์ปีเตอส์เบิร์กถูกเปลี่ยนชื่อเป็นเปโตรกราดใน ค.ศ. 1914[23]
- ↑ รัสเซีย: Совет หรือ Sovet หมายถึง "สภา"[24]
- ↑ สมาชิกสภาผู้แทนแต่ละคนในสภาร่างรัฐธรรมนูญจะได้รับการเลือกตั้งจากสมาชิกทั้งหมด 60,000 คน โดยเป็นสมาชิกจากสภาเซย์มทั้งหมด 20,000 คน ซึ่งเป็นจำนวนหนึ่งในสามของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญทั้งหมด[36]
- ↑ รัสเซีย: Совнарком; หรือ Совет народных комиссаров, Sovet narodnykh kommissarov[36]
- ↑ ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ "แอร์ซูรุม"[75]
อ้างอิง[แก้]
- ↑ 1.0 1.1 Brisku & Blauvelt 2020, p. 2
- ↑ Javakhishvili 2009, p. 159
- ↑ Uratadze 1956, p. 64
- ↑ Slye 2020, p. 119, note 1
- ↑ Bournoutian 2018, p. 35 (note 25).
- ↑ Tsutsiev 2014, p. 50.
- ↑ Bournoutian 2018, p. xiv.
- ↑ Saparov 2015, p. 20
- ↑ Saparov 2015, pp. 21–23
- ↑ Marshall 2010, p. 38
- ↑ King 2008, p. 146
- ↑ King 2008, p. 150
- ↑ Kazemzadeh 1951, p. 3
- ↑ King 2008, p. 154
- ↑ Marshall 2010, pp. 48–49
- ↑ Suny 2015, p. 228
- ↑ Kévorkian 2011, p. 721
- ↑ King 2008, pp. 157–158
- ↑ Kazemzadeh 1951, pp. 32–33
- ↑ Hovannisian 1969, p. 75
- ↑ Hasanli 2016, p. 10
- ↑ Swietochowski 1985, pp. 84–85
- ↑ Reynolds 2011, p. 137
- ↑ 24.0 24.1 Suny 1994, p. 186
- ↑ Kazemzadeh 1951, p. 35
- ↑ Kazemzadeh 1951, pp. 54–56
- ↑ Kazemzadeh 1951, p. 57
- ↑ Swietochowski 1985, p. 106
- ↑ Kazemzadeh 1951, p. 58
- ↑ 30.0 30.1 Mamoulia 2020, p. 23
- ↑ Kazemzadeh 1951, p. 84
- ↑ Swietochowski 1985, p. 108
- ↑ Kazemzadeh 1951, p. 85
- ↑ Engelstein 2018, p. 334
- ↑ Hovannisian 1969, p. 124
- ↑ 36.0 36.1 36.2 36.3 Hovannisian 1969, p. 125
- ↑ 37.0 37.1 Kazemzadeh 1951, p. 87
- ↑ Bakradze 2020, p. 60
- ↑ Swietochowski 1985, p. 110
- ↑ Hovannisian 1969, pp. 128–129
- ↑ Hovannisian 1969, p. 130
- ↑ Forestier-Peyrat 2016, p. 166
- ↑ Kazemzadeh 1951, p. 91
- ↑ 44.0 44.1 Kazemzadeh 1951, p. 93
- ↑ Hovannisian 1969, p. 131
- ↑ Swietochowski 1985, p. 121
- ↑ Hovannisian 1969, p. 132
- ↑ Kazemzadeh 1951, pp. 93–94
- ↑ Hovannisian 1969, p. 135
- ↑ Kazemzadeh 1951, pp. 94–95
- ↑ Hovannisian 1969, p. 140
- ↑ Hovannisian 1969, p. 137
- ↑ Kazemzadeh 1951, p. 96
- ↑ Brisku 2020, p. 32
- ↑ Reynolds 2011, p. 203
- ↑ Hovannisian 1969, pp. 150–151
- ↑ 57.0 57.1 Hovannisian 1969, p. 152
- ↑ Kazemzadeh 1951, pp. 98–99
- ↑ Kazemzadeh 1951, p. 99
- ↑ Kazemzadeh 1951, pp. 99–100
- ↑ Swietochowski 1985, p. 124
- ↑ Kazemzadeh 1951, p. 101
- ↑ Hovannisian 1969, p. 155
- ↑ Kazemzadeh 1951, p. 100
- ↑ Taglia 2020, p. 50
- ↑ Marshall 2010, p. 89
- ↑ Kazemzadeh 1951, p. 103
- ↑ Kazemzadeh 1951, pp. 103–104
- ↑ Hovannisian 1969, pp. 159–160
- ↑ Hovannisian 1969, pp. 160–161
- ↑ Kazemzadeh 1951, p. 105
- ↑ 72.0 72.1 Hovannisian 1969, p. 162
- ↑ Kazemzadeh 1951, p. 106
- ↑ Kazemzadeh 1951, p. 108
- ↑ de Waal 2015, p. 149
- ↑ Hovannisian 2012, pp. 292–294
- ↑ Hovannisian 1969, p. 163
บรรณานุกรม[แก้]
- Bakradze, Lasha (2020), "The German perspective on the Transcaucasian Federation and the influence of the Committee for Georgia's Independence", Caucasus Survey, 8 (1): 59–68, doi:10.1080/23761199.2020.1714877, S2CID 213498833
- Bournoutian, George (2018), Armenia and Imperial Decline: The Yerevan Province, 1900–1914, Milton Park, Abingdon, Oxon: Routledge, ISBN 978-1-351-06260-2
- Brisku, Adrian (2020), "The Transcaucasian Democratic Federative Republic (TDFR) as a "Georgian" responsibility", Caucasus Survey, 8 (1): 31–44, doi:10.1080/23761199.2020.1712902, S2CID 213610541
- Brisku, Adrian; Blauvelt, Timothy K. (2020), "Who wanted the TDFR? The making and the breaking of the Transcaucasian Democratic Federative Republic", Caucasus Survey, 8 (1): 1–8, doi:10.1080/23761199.2020.1712897
- de Waal, Thomas (2015), Great Catastrophe: Armenians and Turks in the Shadow of Genocide, Oxford: Oxford University Press, ISBN 978-0-19-935069-8
- Engelstein, Laura (2018), Russia in Flames: War, Revolution, Civil War 1914–1921, Oxford: Oxford University Press, ISBN 978-0-19-093150-6
- Forestier-Peyrat, Etienne (2016), "The Ottoman occupation of Batumi, 1918: A view from below" (PDF), Caucasus Survey, 4 (2): 165–182, doi:10.1080/23761199.2016.1173369, S2CID 163701318, เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-07-19, สืบค้นเมื่อ 2021-08-06
- Hasanli, Jamil (2016), Foreign Policy of the Republic of Azerbaijan: The Difficult Road to Western Integration, 1918–1920, New York City: Routledge, ISBN 978-0-7656-4049-9
- Hovannisian, Richard G. (1969), Armenia on the Road to Independence, 1918, Berkeley and Los Angeles, California: University of California Press, OCLC 175119194
- Hovannisian, Richard G. (2012), "Armenia's Road to Independence", ใน Hovannisian, Richard G. (บ.ก.), The Armenian People From Ancient Times to Modern Times, Volume II: Foreign Dominion to Statehood: The Fifteenth Century to the Twentieth Century, Houndmills, Basingstoke, Hampshire: MacMillan, pp. 275–302, ISBN 978-0-333-61974-2
- Javakhishvili, Nikolai (2009), "History of the Unified Financial system in the Central Caucasus", The Caucasus & Globalization, 3 (1): 158–165
- Jones, Stephen F. (2005), Socialism in Georgian Colors: The European Road to Social Democracy 1883–1917, Cambridge, Massachusetts: Harvard University Press, ISBN 978-0-67-401902-7
- Kazemzadeh, Firuz (1951), The Struggle for Transcaucasia (1917–1921), New York City: Philosophical Library, ISBN 978-0-95-600040-8
- Kévorkian, Raymond (2011), The Armenian Genocide: A Complete History, Bloomsbury Publishing, ISBN 978-0-85771-930-0
- King, Charles (2008), The Ghost of Freedom: A History of the Caucasus, Oxford: Oxford University Press, ISBN 978-0-19-539239-5
- Mamoulia, Georges (2020), "Azerbaijan and the Transcaucasian Democratic Federative Republic: historical reality and possibility", Caucasus Survey, 8 (1): 21–30, doi:10.1080/23761199.2020.1712901, S2CID 216497367
- Marshall, Alex (2010), The Caucasus Under Soviet Rule, New York City: Routledge, ISBN 978-0-41-541012-0
- Reynolds, Michael A. (2011), Shattering Empires: The Clash and Collapse of the Ottoman and Russian Empires 1908–1918, Cambridge: Cambridge University Press, ISBN 978-0-521-14916-7
- Saparov, Arsène (2015), From Conflict to Autonomy in the Caucasus: The Soviet Union and the making of Abkhazia, South Ossetia and Nagorno Karabakh, New York City: Routledge, ISBN 978-1-138-47615-8
- Slye, Sarah (2020), "Turning towards unity: A North Caucasian perspective on the Transcaucasian Democratic Federative Republic", Caucasus Survey, 8 (1): 106–123, doi:10.1080/23761199.2020.1714882, S2CID 213140479
- Suny, Ronald Grigor (1994), The Making of the Georgian Nation (Second ed.), Bloomington, Indiana: Indiana University Press, ISBN 978-0-25-320915-3
- Suny, Ronald Grigor (2015), "They Can Live in the Desert but Nowhere Else": A History of the Armenian Genocide, Princeton, New Jersey: Princeton University Press, ISBN 978-0-691-14730-7
- Taglia, Stefano (2020), "Pragmatism and expediency: Ottoman calculations and the establishment of the Transcaucasian Democratic Federative Republic", Caucasus Survey, 8 (1): 45–58, doi:10.1080/23761199.2020.1712903, S2CID 213772764
- Swietochowski, Tadeusz (1985), Russian Azerbaijan, 1905–1920: The Shaping of National Identity in a Muslim Community, Cambridge, United Kingdom: Cambridge University Press, ISBN 978-0-521-52245-8
- Tsutsiev, Arthur (2014), "1886–1890: An Ethnolinguistic Map of the Caucasus", Atlas of the Ethno-Political History of the Caucasus, New Haven, Connecticut: Yale University Press, pp. 48–51, ISBN 978-0-300-15308-8
- Uratadze, Grigorii Illarionovich (1956), Образование и консолидация Грузинской Демократической Республики [The Formation and Consolidation of the Georgian Democratic Republic] (ภาษารัสเซีย), Moscow: Institut po izucheniyu istorii SSSR, OCLC 1040493575
- Zolyan, Mikayel (2020), "Between empire and independence: Armenia and the Transcaucasian Democratic Federative Republic", Caucasus Survey, 8 (1): 9–20, doi:10.1080/23761199.2020.1712898, S2CID 216514705