การแบ่งโปแลนด์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Partitions of Poland)
การแบ่งโปแลนด์
การปักปันดินแดน
ส่วนแบ่งของดินแดนโปแลนด์ (เครือจักรภพโปแลนด์–ลิทัวเนีย) ทั้งสามส่วน ได้แก่ ส่วนแบ่งของรัสเซีย (สีแดง) ส่วนแบ่งของออสเตรีย (สีเขียว) และ ส่วนแบ่งของปรัสเซีย (สีฟ้า)

การแบ่งโปแลนด์[a] (โปแลนด์: Rozbiory Polski) หมายถึงการแบ่งเครือจักรภพโปแลนด์–ลิทัวเนีย ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 และทำให้เครือจักรภพสิ้นสุดลง ส่งผลให้โปแลนด์และลิทัวเนียสูญเสียอธิปไตยของตนเป็นเวลากว่า 123 ปี ออสเตรีย ราชอาณาจักรปรัสเซีย และจักรวรรดิรัสเซียเป็นผู้ดำเนินการแบ่งโปแลนด์ โดยตกลงควบรวมดินแดนส่วนต่าง ๆ ของเครือจักรภพเป็นของตนเอง ผ่านการยึดครองและการผนวกดินแดน[1][2][3][4]

การแบ่งโปแลนด์ครั้งที่หนึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม ค.ศ. 1772 หลังจากสมาพันธ์บาร์พ่ายแพ้ในสงครามกับรัสเซีย การแบ่งครั้งที่สอง เกิดขึ้นภายหลังจากสงครามรัสเซีย–โปแลนด์และสมาพันธ์ตาร์กอวิตซายุติลง ทหารรัสเซียและปรัสเซียได้เข้ามาในพรมแดนของเครือจักรภพอีกครั้ง ข้อตกลงแบ่งโปแลนด์เป็นครั้งที่สอง ได้รับการลงนามในวันที่ 23 มกราคม ค.ศ. 1793 โดยที่ออสเตรียไม่ได้มีส่วนร่วมในการแบ่งครั้งนี้ การแบ่งโปแลนด์ครั้งที่สามเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ. 1795 เป็นการตอบโต้การลุกฮือกอชชุชกอที่ไม่ประสบความสำเร็จในปีก่อนหน้า การแบ่งครั้งนี้เป็นเหตุให้เครือจักรภพล่มสลายลง[1]

ในภาษาอังกฤษ บางครั้งนิยามศัพท์ "การแบ่งโปแลนด์" ถูกใช้ในทางภูมิศาสตร์ในฐานะภูมินามวิทยา เพื่อหมายถึงดินแดนของเครือจักรภพที่ผู้แบ่งแยกแบ่งออกเป็นสามส่วน ได้แก่ ส่วนแบ่งของออสเตรีย ส่วนแบ่งของปรัสเซีย และส่วนแบ่งของรัสเซีย ในภาษาโปแลนด์มีคำศัพท์สองคำซึ่งมีความหมายต่างกัน ได้แก่รอซบียูร์ (rozbiór) หรือรูปพหูพจน์ว่ารอซบียอรือ (rozbiory) ซึ่งหมายถึงกระบวนการแบ่งแยกและผนวกโปแลนด์อย่างต่อเนื่อง และคำว่าซาบูร์ (zabór) หรือรูปพหูพจน์ว่าซาบอรือ (zabory) ซึ่งหมายถึงส่วนต่าง ๆ ของเครือจักรภพที่จักรวรรดิรัสเซีย ปรัสเซีย หรือออสเตรียผนวกเข้าไปเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของตนระหว่าง ค.ศ. 1772–95 ภายหลังการประชุมใหญ่แห่งเวียนนาที่จัดขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1815 เขตแดนของส่วนที่ถูกแบ่งทั้งสามได้รับการกำหนดขึ้นใหม่ ฝ่ายออสเตรียได้สถาปนากาลิเซีย ขึ้นในดินแดนที่เป็นส่วนแบ่งของตน ในขณะที่รัสเซียได้วอร์ซอจากปรัสเซีย และก่อตั้งหน่วยการเมืองปกครองตนเองนามว่าคองเกรสโปแลนด์ ขึ้นในส่วนดินแดนของตน

ในประวัติศาสตร์นิพันธ์ของโปแลนด์ มีการใช้นิยาม "การแบ่งโปแลนด์ครั้งที่สี่" เพื่อกล่าวถึงการผนวกดินแดนโปแลนด์ครั้งต่อ ๆ มา โดยผู้รุกรานต่างชาติ ขึ้นอยู่กับแหล่งข้อมูลและยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ นิยามดังกล่าวอาจจะหมายถึงเหตุการณ์ใน ค.ศ. 1815 1832 1846 หรือ 1939 นิยาม "การแบ่งโปแลนด์ครั้งที่สี่" ในมุมมองปัจจุบันอาจสามารถหมายถึงชุมชนผู้พลัดถิ่นซึ่งบทบาทสำคัญในทางการเมืองอันนำไปสู่การสถาปนารัฐอธิปไตยโปแลนด์ขึ้นใหม่หลัง ค.ศ. 1918

ประวัติ[แก้]

ภาพอุปมานิทัศน์ เค้กของเหล่ากษัตริย์ ที่มีนัยยะเสียดสีการแบ่งโปแลนด์ครั้งที่หนึ่ง แสดงให้เห็นจักรพรรดินีเยกาเจรีนาที่ 2 แห่งรัสเซีย (ทางซ้าย) จักรพรรดิโยเซ็ฟที่ 2 แห่งออสเตรีย และพระเจ้าฟรีดริชมหาราชแห่งปรัสเซีย (ทางขวา) ทรงโต้เถียงกันเรื่องการยึดครองดินแดน ในขณะที่พระเจ้าสตาญิสวัฟที่ 2 แห่งโปแลนด์ (กลาง) พยายามเอาพระหัตถ์ประคองมงกุฎของพระองค์ไว้
อุปมานิทัศน์มรณกรรมของโปแลนด์ โดย วอลอซเมียร์ เทตมาร์ (Włodzimierz Tetmajer) อาสนวิหารเซนต์นิโคลัส กาลิช

ในรัชสมัยของพระเจ้าววาดึสวัฟที่ 4 (ครองราชย์ ค.ศ. 1632–48) หลักการ ลิเบอรัม วีโต (Liberum Veto) ได้พัฒนาขึ้นเป็นกระบวนการทางรัฐสภาซึ่งตั้งอยู่บนสมมติฐานว่า "ผู้ดี/ขุนนางโปแลนด์" ทุกรายต่างมีสิทธิ์ทางการเมืองเท่าเทียมกัน ดังนั้นก่อนจะกระทำการใด ๆ จะต้องได้รับความยินยอมอย่างเป็นเอกฉันท์เสียก่อน[1] แม้ว่าพระราชบัญญัติดังกล่าวจะได้รับการเห็นชอบแล้วก็ตาม แต่หากสมาชิกสภาแม้แต่เพียงผู้เดียวเชื่อว่าการกระทำดังกล่าวจะส่งผลเสียต่อเขตของตน (โดยทั่วไปแล้วหมายถึงที่ดินซึ่งสมาชิกผู้นั้นถือครอง) กระบวนการดังกล่าวก็สามารถยั้บยั้งพระราชบัญญัตินั้นได้ ดังนั้นจึงเป็นการยากที่จะลงมือกระทำการใด ๆ นอกจากนี้ ลิเบอรัม วีโต ยังเปิดโอกาสให้ทูตต่างชาติเข้าแทรกแซงเครือจักรภพอีกด้วย ผ่านทางการติดสินบนเหล่าขุนนาง[1] อาจจะกล่าวได้ว่าเครือจักรภพโปแลนด์–ลิทัวเนียในช่วงปลาย (กลางคริสต์ศตวรรษที่ 18) ก่อนที่จะเกิดการแบ่งขึ้นนั้นตกอยู่ในสภาวะโกลาหล และมิใช่รัฐอธิปไตยโดยสมบรูณ์ หากแต่มีสถานะใกล้เคียงกับเมืองขึ้นมากกว่า[5] โดยจักรพรรดิรัสเซียทรงเข้าแทรกแซงกระบวนการเลือกพระประมุขของเครือจักรภพได้ ตัวอย่างที่เห็นเด่นชัดที่สุดคือการเลือกตั้งครั้งสุดท้ายซึ่งสตาญิสวัฟ เอากุสตุส ปอญาตอฟสกี อดีตคนรักของจักรพรรดินีเยกาเจรีนาที่ 2 แห่งรัสเซียเป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง

ใน ค.ศ. 1730 ประเทศเพื่อนบ้านของเครือจักรภพโปแลนด์–ลิทัวเนีย (หรือในภาษาโปแลนด์เรียกรัฐของตนอย่างลำลองว่าแชตช์ปอสปอลีตา Rzeczpospolita) อันประกอบไปด้วยปรัสเซีย ออสเตรีย และรัสเซีย ได้ร่วมกันลงนามในสนธิสัญญาลับเพื่อร่วมกันรักษาสถานะเดิม (ละติน: Status quo) หรือหากระบุอย่างเจาะจงก็คือเพื่อทำให้มั่นใจว่ากฎหมายต่าง ๆ ภายในเครือจักรภพจะไม่ได้รับการเปลี่ยนแปลง พันธมิตรของจักรวรรดิทั้งสามกลายมาเป็นที่รู้จักในโปแลนด์ในภายหลังในนาม "พันธมิตรแห่งพญาอินทรีดำทั้งสาม" (หรือ "สนธิสัญญาโลเวนโวลด์", Löwenwolde's Treaty) เพราะรัฐทั้งสามต่างใช้ตรานกอินทรีดำเป็นสัญลักษณ์ (ตรงกันข้ามกับโปแลนด์ซึ่งใช้ตรานกอินทรีขาว) เครือจักรภพจำต้องพึงพารัสเซียในการป้องกันตนเองจากราชอาณาจักรปรัสเซียที่เริ่มเรืองอำนาจ ซึ่งเรียกร้องดินแดนในทางตะวันตกเฉียงเหนือของเครือจักรภพ เพื่อที่จะเชื่อมดินแดนในฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกของตนเอง ข้อเรียกร้องดังกล่าวจะส่งผลให้โปแลนด์–ลิทัวเนียเหลือแนวชายฝั่งทะเลบอลติกในลัตเวียและลิทัวเนียเท่านั้น[1] พระนางเยกาเจรีนาต้องทรงใช้การทูตเพื่อให้ออสเตรียยอมอยู่ข้างพระองค์

โปแลนด์–ลิทัวเนียได้วางตัวเป็นกลางในสงครามเจ็ดปี (ค.ศ. 1756–1763) กระนั้นเครือจักรภพก็เอนเอียงไปทางฝ่ายพันธมิตรฝรั่งเศส–ออสเตรีย–รัสเซีย และอนุญาตให้กองทัพรัสเซียใช้ดินแดนทางตะวันตกของเครือจักรภพเป็นฐานสำหรับเข้าโจมตีปรัสเซีย พระเจ้าฟรีดริชที่ 2 แห่งปรัสเซียจึงทรงตอบโต้ด้วยการมีพระราชกระแสรับสั่งให้ปลอมแปลงเงินตราของเครือจักรภพ เพื่อบ่อนทำลายเศรษฐกิจของโปแลนด์–ลิทัวเนีย พระนางเยกาเจรีนาทรงบีบให้เครือจักรภพยอมรับรัฐธรรมนูญในเหตุการณ์สภาเซย์มเรปนิน แห่ง ค.ศ. 1767 โดยดำเนินการผ่านทางขุนนางโปแลนด์ซึ่งถูกรัสเซียควบคุม และเจ้าชายนิโคไล เรปนิน เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำกรุงวอร์ซอ ผู้เป็นที่มาของชื่อสภาและยังเป็นผู้บงการสภาชุดดังกล่าว (อีกทั้งยังเป็นผู้ออกคำสั่งให้เข้าจับกุมและเนรเทศผู้ไม่เห็นด้วยกับนโยบายของเขาไปยังคาลูกา[5][6][7] รวมไปถึงบิชอปยูแซฟ อันด์แชย์ ซาวุสกี[8] และคนอื่น ๆ) รัฐธรรมนูญใหม่นี้ยกเลิกการปฏิรูปทั้งหมดที่พระเจ้าสตาญิสวัฟที่ 2 ทรงประกาศใช้ใน ค.ศ. 1764 ลิเบอรัม วีโต และกฎหมายที่มีช่องโหวต่าง ๆ อันจะส่งผลเสียต่อเครือจักรภพที่ได้รับการผ่านในรอบ 150 ปีก่อน ได้รับการรับรองว่าเป็นข้อกฎหมายที่ไม่อาจแก้ไขได้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ (เรียกกันว่า ข้อกฎหมายหลัก, Cardinal Laws[7][9]) เรปนินยังเรียกร้องให้รัสเซียสามารถเข้าปกป้องสิทธิของไพร่ในที่ดินส่วนตัวของขุนนางโปแลนด์และลิทัวเนีย เสรีภาพทางศาสนาและการเมืองให้ชาวโปรเตสแตนต์ อีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์ และคาทอลิกตะวันออก รวมถึงสิทธิที่จะดำรงตำแหน่งของรัฐทุกตำแหน่ง รวมไปถึงตำแหน่งทางราชวงศ์ ซึ่งจะทำให้เชื้อพระวงศ์รัสเซียสามารถขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ถัดไปได้ สภาเซย์มเห็นชอบกับข้อเรียกร้องดังกล่าว ส่งผลให้เกิดการโต้ตอบจากคริสตชนโรมันคาทอลิกบางกลุ่มของโปแลนด์ เช่นเดียวกับความไม่พึงพอใจอย่างรุนแรงที่รัสเซียเข้าแทรกแซงกิจการภายในของเครือจักรภพ รวมไปถึงการเนรเทศเหล่าบิชอปนิกายโรมันคาทอลิกระดับสูงไปยังรัสเซีย ซึ่งเป็นสมาชิกของวุฒิสภาโปแลนด์ นำไปสู่สงครามสมาพันธ์บาร์ ระหว่าง ค.ศ. 1768–1777 สมาพันธ์ก่อตั้งขึ้นในเมืองบาร์ โดยชาวโปแลนด์ซึ่งพยายามจะขับไล่กองกำลังรัสเซียออกจากเครือจักรภพ[5][7] กองกำลังฝ่ายโปแลนด์ที่กระจัดกระจายและระเบียบวินัยย่ำแย่ไม่อาจต้านกองทัพรัสเซียได้ และประสบกับความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ ความวุ่นวายมาเพิ่มขึ้นอีกเมื่อไพร่และพวกคอสแซคยูเครนก่อกบฎขึ้นในทางตะวันออก (เรียกว่าคอลลิยูสเซนา [ยูเครน: Коліївщина โปแลนด์: koliszczyzna]) ซึ่งเริ่มขึ้นใน ค.ศ. 1768 และส่งผลให้มีการสังหารหมู่ขุนนางโปแลนด์ (szlachta) ชาวยิว ผู้ถือนิกายคาทอลิกตะวันออก ชนกลุ่มน้อย และนักบวชนิกายโรมันคาทอลิก ก่อนที่จะถูกปราบปรามโดยรัสเซียและทหารโปแลนด์ฝ่ายรัฐบาล การลุกฮือครั้งนี้ทำให้เครือจักรภพถูกจักรวรรดิออตโตมันเข้าแทรกแซง โดยมีฝรั่งเศสและออสเตรียที่นับถือนิกายโรมันคาทอลิกให้การสนับสนุน ฝ่ายสมาพันธ์บาร์และฝรั่งเศสเสนอยกโพโดเลีย และวอยยาเนีย รวมไปถึงการนำเครือจักรภพเข้าเป็นรัฐในอารักขา เพื่อแลกกับการสนับสนุนด้านอาวุธจากจักรวรรดิออตโตมัน

ใน ค.ศ. 1769 ราชาธิปไตยฮาพส์บวร์คได้ทำการผนวกดินแดนสปีช ซึ่งเป็นดินแดนขนาดเล็ก และใน ค.ศ. 1770 ก็ได้ผนวกนอวือซอญตช์และนอวือตาร์กเพิ่ม ดินแดนเหล่านี้มีความสำคัญเพราะเป็นพื้นที่ที่มีการเผชิญหน้าระหว่างโปแลนด์และฮังการี ซึ่งเป็นหนึ่งในดินแดนภายใต้การปกครองของราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค อย่างไรก็ตาม ฝ่ายจักรวรรดิออตโตมัน สมาพันธ์บาร์และทหารอาสาชาวฝรั่งเศสและชาติยุโรปอื่น ๆ ก็พ่ายแพ้ต่อกองกำลังรัสเซียและฝ่ายรัฐบาลโปแลนด์โดยมีบริเตนใหญ่ให้ความช่วยเหลือ ในขณะที่รัสเซียกำลังขยับขยายเข้าไปในไครเมียและเหล่าราชรัฐในแถบแม่น้ำดานูบ (ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ราชวงศ์ฮาพส์บวร์คหมายตาไว้มาเป็นระยะเวลานาน) พระเจ้าฟรีดริชที่ 2 แห่งปรัสเซียและจักรพรรดินีมาเรีย เทเรซา ทรงเป็นกังวลว่าการที่จักรวรรดิออตโตมันพ่ายแพ้จะส่งผลเสียต่อสมดุลอำนาจในยุโรปตะวันออกอย่างรุนแรง พระเจ้าฟรีดริชจึงทรงริเริ่มแผนเตรียมการแบ่งโปแลนด์ เพื่อช่วยทำให้ดุลอำนาจในยุโรปตะวันออกกลับมาสมดุลอีกครั้ง

การแบ่งโปแลนด์ครั้งที่หนึ่ง[แก้]

เครือจักรภพโปแลนด์–ลิทัวเนียภายหลังจากการแบ่งโปแลนด์ครั้งที่หนึ่ง ในฐานะรัฐในอารักขาของจักรวรรดิรัสเซีย (ค.ศ. 1773–89)

ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1772 ข้อตกลงเรื่องการแบ่งโปแลนด์ก็ได้รับการลงนามในกรุงเวียนนา เมื่อถึงต้นเดือนสิงหาคม ทหารรัสเซีย ปรัสเซีย และออสเตรียก็เข้ายึดครองพื้นที่ต่าง ๆ ตามที่ตกลงกันระหว่างประเทศทั้งสาม กระนั้น ก็มีการสู้รบและการปิดล้อมเกิดขึ้นหลายครั้งเนื่องจากทหารของฝ่ายสมาพันธ์และเหล่าอาสาสมัครฝรั่งเศสไม่ยอมจำนน (โดยเฉพาะในตือแญตส์ ตแชนสตอคอวาและกรากุฟ) มีการออกคำแถลงการณ์ยึดครองในวันที่ 5 สิงหาคม ค.ศ. 1772 สร้างความประหลาดใจให้แก่ประชากรของเครือจักรภพที่กำลังเหนื่อยล้าจากการปราบปรามสมาพันธ์บาร์ เกินกว่าจะทำการต่อต้านการยึดครองได้อย่างมีประสิทธิภาพ[1] จากนั้นสันธิสัญญาว่าด้วยการแบ่งโปแลนด์จึงได้รับการให้สัตยาบัน (Ratified) โดยประเทศผู้ลงนามในวันที่ 22 กันยายน ค.ศ. 1772 ทำให้พระเจ้าฟรีดริชที่ 2 ทรงยินดีในความสำเร็จของพระองค์เอง ปรัสเซียได้ผนวกพื้นที่ส่วนมากของปรัสเซียหลวง (ยกเว้นเมืองดันท์ซิช) อันเป็นดินแดนของผู้พูดภาษาเยอรมัน ที่คั่นกลางระหว่างราชอาณาจักรปรัสเซียและแคว้นชายแดนบรันเดินบวร์ค ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์โฮเอินท์ซ็อลเลิร์นทั้งคู่ ปรัสเซียยังได้ผนวกดินแดนเอลม์ลันด์ (Ermland; ภาษาโปแลนด์เรียกว่าวาร์เมีย [Warmia]) พื้นที่ทางเหนือของภูมิภาควีแยลกอปอลสกา ตามแนวแม่น้ำโนเตซ (เขตเน็ตเซ) และพื้นที่ส่วนหนึ่งของภูมิภาคกูยาวือ (แต่ไม่รวมตอรุญ) [1] ในด้านของออสเตรียนั้น แม้จักรพรรดินีมาเรีย เทเรซาจะทรงวิพากษ์วิจารณ์การแบ่งโปแลนด์อยู่บ้าง แต่รัฐบรุษเว็นท์เซิล อันโทน เจ้าชายแห่งเคานีท-ไรยแบร์ค ก็มีความภาคภูมิใจที่ออสเตรียได้ส่วนแบ่งเป็นจำนวนมาก อันได้แก่เหมืองเกลืออันอุดมสมบรูณ์ของเมืองบ็อกเนียและเวียลิกซ์กา ออสเตรียยังได้เมืองซาตอร์และเอาช์วิทซ์ (ออชฟีแยญชิม) ส่วนหนึ่งของภูมิภาคมาวอปอลสกา อันประกอบด้วยส่วนหนึ่งของเทศมณฑล (Counties) กรากุฟกับซันดอมีแยช อีกทั้งยังได้ภูมิภาคกาลิเซียทั้งภูมิภาค และได้พื้นที่ของเมืองกรากุฟอีกเล็กน้อยด้วย จักรพรรดินีเยกาเจรีนาที่ 2 แห่งรัสเซีย ก็ทรงพึงพอพระทัยเช่นกัน แม้จะทรงเสียกาลิเซียให้แก่ออสเตรียก็ตาม ด้วย "เอกสารทางการทูต" (Diplomatic document) ฉบับนี้ รัสเซียจึงได้เข้าครองส่วนหนึ่งของภูมิภาคลิโวเนีย ที่ยังคงอยู่ภายใต้การปกครองของเครือจักรภพ และเบลารุสตะวันออก อันประกอบด้วยเทศมณฑลวีเชปสก์ โปลัตสก์ และมชชิสเลา[1]

ไรยตานที่สภาเซย์ม ค.ศ. 1773 (Rejtan at Sejm 1773) ภาพวาดสีน้ำมันบนผืนผ้าใบโดยยัน มาเตย์โก (Jan Matejko), ค.ศ. 1866 จัดแสดงที่ปราสาทหลวงวอร์ซอ

การแบ่งครั้งนี้ทำให้เครือจักรภพโปแลนด์–ลิทัวเนียเสียดินแดนร้อยละ 30 และประชากรครึ่งหนึ่ง[1] (คิดเป็นจำนวน 4 ล้านคน) ของตน ซึ่งโดยส่วนมากแล้วเป็นประชากรที่ไม่มีเชื้อสายโปแลนด์ การที่ปรัสเซียยึดพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของโปแลนด์ ทำให้ปรัสเซียสามารถเข้าควบคุมการค้าขายกับต่างประเทศของเครือจักรภพได้ร้อยละ 80 จากทั้งหมด อีกทั้งยังตั้งภาษีศุลกากรไว้สูงมาก จึงเท่ากับว่าปรัสเซียเป็นผู้เร่งให้เกิดการล่มสลายของเครือจักรภพ[10]

หลังจากที่ได้เข้ายึดครองดินแดนส่วนต่าง ๆ ตามที่ตกลงกันไว้ มหาอำนาจผู้กระทำการแบ่งทั้งสามได้เรียกร้องให้พระเจ้าสตาญิสวัฟที่ 2 และสภาแซย์มรับรองการกระทำของพวกเขา เมื่อเห็นแล้วว่าไม่มีความช่วยเหลือใด ๆ จะมาถึงในระยะเวลาอันใกล้นี้ กอปรกับการที่กองทัพของชาติทั้งสามเข้ายึดครองกรุงวอร์ซอเพื่อบีบบังคับให้มีการเรียกประชุมสภาด้วยกำลัง เครือจักรภพไม่มีทางเลือกอื่นใดอีกนอกจากการยินยอมตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของพวกเขาแต่โดยดี รัฐสภาชุดที่ได้ชื่อว่าสภาแซย์มแบ่งดินแดน (Partition Sejm) ที่สมาชิกฝ่ายค้านถูกกองทัพรัสเซียข่มขู่ จึงลงนามในสนธิสัญญาส่งมอบดินแดนในวันที่ 18 กันยายน ค.ศ. 1773 และสละการอ้างสิทธิ์ของเครือจักรภพในดินแดนที่ถูกยึดครองไปพร้อมกันด้วย

การแบ่งโปแลนด์ครั้งที่สอง[แก้]

เครือจักรภพโปแลนด์–ลิทัวเนีย ภายหลังจากการแบ่งครั้งที่สอง (ค.ศ. 1793)
เหรียญที่ระลึกการทัพของรัสเซีย ค.ศ. 1793

เมือถึง ค.ศ. 1790 เครือจักรภพโปแลนด์–ลิทัวเนียก็อ่อนแอลงอย่างมาก จนถึงขั้นที่ต้องจำยอมเข้าเป็นพันธมิตรกับปรัสเซียผู้เป็นศัตรู กติกาสัญญาโปแลนด์–ปรัสเซีย ค.ศ. 1790 จึงได้รับการลงนาม เงื่อนไขของกติกาสัญญานี้เป็นหนึ่งในสาเหตุที่นำไปสู่การแบ่งโปแลนด์–ลิทัวเนียในอีกสองครั้งถัดมา

รัฐธรรมนูญเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1791 ได้ให้สิทธิทางการเมืองแก่ชนชั้นกระฎุมพี อีกทั้งยังได้ทำการแยกอำนาจของรัฐบาลออกเป็นสามฝ่าย และแก้ไขผลเสียที่ได้รับมาจากเหตุการณ์สภาแซย์มแรปญิน การปฏิรูปเหล่านี้กระตุ้นให้ประเทศเพื่อนบ้านเริ่มทำการเคลื่อนไหวในเชิงก้าวร้าว โดยอ้างว่าโปแลนด์ได้ตกเป็นเหยื่อของลัทธิฌากอแบ็ง (Jacobinism) ลัทธิทางการเมืองหัวรุนแรงที่ได้กำลังได้รับความนิยมอย่างสูงในฝรั่งเศส ณ ขณะนั้น กองกำลังรัสเซียจึงเข้ารุกรานเครือจักรภพใน ค.ศ. 1792

ในสงครามป้องกันรัฐธรรมนูญ ฝ่ายสมาพันธ์ทาร์กอวิตสกาของเหล่าผู้มีอิทธิพล (Magnate) ชาวโปแลนด์ผู้มีแนวคิดอนุรักษนิยมและนิยมรัสเซีย ต่อสู้กับกองกำลังของชาวโปแลนด์ที่สนับสนุนรัฐธรรมนูญ โดยฝ่ายทาร์กอวิตสกาเชื่อว่ารัสเซียจะช่วยพวกตนในการนำหลักเสรีภาพทองคำกลับคืนมา ฝ่ายสนับสนุนรัฐธรรมนูญโปแลนด์ที่ถูกทอดทิ้งโดยปรัสเซียผู้เป็นพันธมิตร และต้องเผชิญหน้ากับกองกำลังของฝ่ายทาร์กอวิตสกาและกองทัพรัสเซียแต่เพียงผู้เดียวจึงประสบกับความพ่ายแพ้ ปรัสเซียได้ลงนามในสนธิสัญญากับรัสเซีย อันมีเนื้อหาว่าปรัสเซียเห็นควรด้วยในการเพิกถอนการปฏิรูปของโปแลนด์ และประเทศทั้งสองจะได้ดินแดนส่วนหนึ่งของเครือจักรภพ ใน ค.ศ. 1793 ผู้แทนในสภาแซย์มกรอดนอ รัฐสภาชุดสุดท้ายของเครือจักรภพโปแลนด์–ลิทัวเนีย ยอมรับข้อเรียกร้องด้านดินแดนของรัสเซีย โดยที่กองทัพรัสเซียได้ทำการล้อมเมืองกรอดนอซึ่งเป็นสถานที่ประชุมอยู่ ในการแบ่งโปแลนด์ครั้งที่สองนี้ รัสเซียและปรัสเซียได้ผนวกดินแดนจำนวนมาก จนทำให้เหลือเพียงหนึ่งในสามของประชากรจากปี 1772 เท่านั้นที่ยังคงอยู่ในดินแดนโปแลนด์ ปรัสเซียตั้งชื่อดินแดนใหม่ที่ได้มานี้ว่าจังหวัดปรัสเซียใต้ โดยมีโพเซ็น (และภายหลังย้ายไปวอร์ซอ) เป็นเมืองหลักของจังหวัดใหม่นี้

ฝ่ายสมาพันธ์ทาร์กอวิตสกา ผู้ไม่ได้คาดว่าจะมีการแบ่งเกิดขึ้นอีกครั้ง และพระเจ้าสตาญิสวัฟที่ 2 เอากุสตุส ผู้ทรงเข้าร่วมกับพวกเขาในช่วงท้ายสงคราม ต่างสูญเสียการสนับสนุนและเกียรติภูมิ (Prestige) ของตนเองเป็นอย่างมาก ในทางตรงกันข้าม ฝ่ายปฏิรูปกลับยิ่งได้รับการสนับสนุนเพิ่มขึ้น และนำไปสู่การลุกฮือกอชชุชกอใน ค.ศ. 1794

การแบ่งโปแลนด์ครั้งที่สาม[แก้]

กองกำลังผู้ก่อการกำเริบของกอชชุชกอได้รับชัยชนะบ้างในช่วงแรก แต่ในท้ายที่สุดแล้วพวกเขาก็พ่ายแพ้ต่อจักรวรรดิรัสเซียผู้มีกองกำลังมากกว่า เมื่อเห็นว่าว่าความไม่สงบเพิ่มขึ้นในดินแดนที่เหลืออยู่ของเครือจักรภพ ชาติมหาอำนาจผู้กระทำการแบ่งจึงตัดสินใจแก้ปัญหาด้วยการขจัดรัฐเอกราชโปแลนด์ออกไปจากแผนที่ ในวันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ. 1795 ผู้แทนของชาติทั้งสามได้ลงนามในสนธิสัญญาแบ่งดินแดนที่เหลืออยู่ของเครือจักรภพระหว่างชาติของตน อะเลคซันดร์ เบซบรอดโค หนึ่งในผู้วางแนวทางนโยบายการต่างประเทศคนสำคัญของรัสเซีย เป็นผู้ถวายคำแนะนำให้กับจักรพรรดินีเยกาเจรีนาที่ 2 ในเรื่องการแบ่งโปแลนด์ครั้งที่สองและครั้งที่สาม[11]

จากการแบ่งครั้งนี้ รัสเซียได้พื้นที่ 120,000 ตารางกิโลเมตร (46,332 ตารางไมล์) ประขากร 1.2 ล้านคน และเมืองวิลนีอัส ปรัสเซียได้พื้นที่ 55,000 ตารางกิโลเมตร (21,236 ตารางไมล์) (ต่อมาได้รับการจัดตั้งเป็นจังหวัดปรัสเซียตะวันออกใหม่และจังหวัดไซลีเซียใหม่) ประชากรจำนวน 1 ล้านคน พร้อมเมืองวอร์ซอ ส่วนออสเตรียได้พื้นที่ 47,000 ตารางกิโลเมตร (18,147 ตารางไมล์) พร้อมประชากร 1.2 ล้านคน และเมืองลูบลินกับกรากุฟ

บทสรุป[แก้]

ในด้านประชากร โปแลนด์เสียประชากรของตนไปสี่ถึงห้าล้านคนจากการแบ่งครั้งที่หนึ่ง (ประมาณหนึ่งในสามจากประชากร 14 ล้านคนก่อนเกิดการแบ่ง) [12] หลังจากการแบ่งครั้งที่สอง โปแลนด์เหลือประชากรในการปกครองของตนประมาณ 4 ล้านคนเท่านั้น เท่ากับว่าโปแลนด์–ลิทัวเนียเสียอีกหนึ่งส่วนสามของจำนวนประชากรก่อนเกิดการแบ่ง หรือครึ่งหนึ่งของประชากรที่เหลือจากการแบ่งโปแลนด์ครั้งที่หนึ่ง[13] การแบ่งครั้งที่สามทำให้ปรัสเซียได้ส่วนแบ่งประชากรประมาณร้อยละ 23 จากจำนวนประชากรทั้งหมดของเครือจักรภพ ในขณะที่ออสเตรียได้ส่วนแบ่งร้อยละ 32 และรัสเซียได้ส่วนแบ่งร้อยละ 45[14]

ผลรวมของดินแดนที่ถูกแบ่งแยกไปจากเครือจักรภพโปแลนด์-ลิทัวเนีย[15]
การแบ่ง (ปี) เสียให้ออสเตรีย เสียให้ปรัสเซีย เสียให้รัสเซีย รวมพื้นที่ที่ถูกผนวก พื้นที่คงเหลือ
จำนวน คิดเป็นร้อยละ จำนวน คิดเป็นร้อยละ จำนวน คิดเป็นร้อยละ จำนวน คิดเป็นร้อยละ จำนวน คิดเป็นร้อยละ
1772 81,900 ตารางกิโลเมตร (31,600 ตารางไมล์) 11.17 36,300 ตารางกิโลเมตร (14,000 ตารางไมล์) 4.95 93,000 ตารางกิโลเมตร (36,000 ตารางไมล์) 12.68 211,200 ตารางกิโลเมตร (81,500 ตารางไมล์) 28.79 522,300 ตารางกิโลเมตร (201,700 ตารางไมล์) 71.21
1793 57,100 ตารางกิโลเมตร (22,000 ตารางไมล์) 7.78 250,200 ตารางกิโลเมตร (96,600 ตารางไมล์) 34.11 307,300 ตารางกิโลเมตร (118,600 ตารางไมล์) 41.90 215,000 ตารางกิโลเมตร (83,000 ตารางไมล์) 29.31
1795 47,000 ตารางกิโลเมตร (18,000 ตารางไมล์) 6.41 48,000 ตารางกิโลเมตร (19,000 ตารางไมล์) 6.54 120,000 ตารางกิโลเมตร (46,000 ตารางไมล์) 16.36 215,000 ตารางกิโลเมตร (83,000 ตารางไมล์) 29.31
ไม่มี
0
รวม 128,900 ตารางกิโลเมตร (49,800 ตารางไมล์) 17.57 141,400 ตารางกิโลเมตร (54,600 ตารางไมล์) 19.28 463,200 ตารางกิโลเมตร (178,800 ตารางไมล์) 63.15 733,500 ตารางกิโลเมตร (283,200 ตารางไมล์) 100

(เปียตรอ วันดิซ เสนอการประมาณการอัตตราร้อยละของดินแดนทั้งหมดที่ถูกผนวกที่แตกต่างออกไปจากตารางด้านบนเล็กน้อย โดยส่วนแบ่งของออสเตรียเป็นร้อยละ 18 ปรัสเซียร้อยละ 20 และรัสเซียร้อยละ 62) [14]

ระหว่างสงครามนโปเลียน และช่วงเวลาที่ตามมาหลังสงครามสิ้นสุด พรมแดนของชาติผู้กระทำการแบ่งมีการเปลี่ยนแปลงอยู่หลายครั้ง ทำให้อัตราร้อยละในตารางด้านบนมีการเปลี่ยนแปลง ท้ายที่สุดแล้ว รัสเซียกลายเป็นผู้ถือครองดินแดนของอดีตเครือจักรภพโปแลนด์–ลิทัวเนียเอาไว้มากที่สุด โดยปรัสเซียและออสเตรียยอมสละดินแดนบางส่วนในส่วนแบ่งของตนให้ หลังจากการประชุมใหญ่แห่งเวียนนา รัสเซียได้ถือครองดินแดนร้อยละ 82 ของโปแลนด์ เมื่อเทียบจากพรมแดนของเครือจักรภพก่อน ค.ศ. 1772 (นับรวมพื้นที่ของคองเกรสโปแลนด์ ซึ่งเป็นรัฐหุ่นเชิดเข้าไปด้วย) ออสเตรียถือครองร้อยละ 11 และปรัสเซียร้อยละ 7[16]

ผลที่ตามมา[แก้]

แผนฉบับหนึ่ง เขียนหัวว่า "แผนที่ของราชอาณาจักรโปแลนด์และแกรนด์ดัชชีลิทัวเนีย รวมไปถึงซาโมกิเทีย (Samogitia) และคูร์ลันด์ แบ่งเขตตามการแบ่งแยก และราชอาณาจักรปรัสเซีย" จาก ค.ศ. 1799

พระเจ้าสตาญิสวัฟที่ 2 เอากุสตุส ผู้อยู่ภายใต้การอารักขาจากกองทัพรัสเซีย เสด็จไปยังกรอดนอ ที่ซึ่งพระองค์กระทำการสละราชสมบัติในฐานะพระมหากษัตริย์แห่งเครือจักรภพโปแลนด์–ลิทัวเนีย เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน ค.ศ. 1795 หลังจากนั้นพระองค์จึงเสด็จไปยังเซนต์ปีเตอส์เบิร์ก เมืองหลวงของจักรวรรดิรัสเซีย สถานที่ที่พระองค์จะประทับอยู่ตลอดพระชนม์ชีพที่เหลือ การกระทำนี้เป็นไปเพื่อช่วยยืนยันว่ารัสเซียจะถูกมองในฐานะชาติผู้มีความสำคัญที่สุดในบรรดาผู้กระทำการแบ่ง

ด้วยผลกระทบจากการแบ่ง ชาวโปแลนด์จึงถูกบีบให้พยายามเสาะหาช่องทางการเปลี่ยนแปลงสถานะเดิม (Status quo) ของทวีปยุโรป[17][18] กวี นักการเมือง ขุนนาง นักเขียน และศิลปินชาวโปแลนด์หลายคนต่างถูกบีบให้ย้ายถิ่นฐาน (เป็นที่มาของศัพท์ "การอพยพครั้งใหญ่") ซึ่งกลายมาเป็นนักปฏิวัติในคริสต์ศตวรรษที่ 19 อีกทั้งยังทำให้ความปรารถนาในเสรีภาพกลายมาเป็นนิยามหนึ่งของแนวคิดจินตนิยมโปแลนด์ (Polish romanticism) [19][20] นักปฏิวัติชาวโปแลนด์ได้เข้าร่วมการก่อการกำเริบในปรัสเซีย ออสเตรีย และรัสเซียอยู่หลายครั้ง[21] กองทหารโปแลนด์ (Polish Legions) ต่อสู้เคียงข้างจักรพรรดินโปเลียน[22][23] ชาวโปแลนด์ยังมีส่วนร่วมในกระแสการปฏิวัติ ค.ศ. 1848 (โดยเฉพาะการปฏิวัติในฮังการี) [21][24] อย่างกว้างขวาง ภายใต้คำขวัญ เพื่อเสรีภาพของเราและของท่าน

รัฐโปแลนด์จะถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง โดยมีอาณาเขตที่เล็กลงกว่าเดิม เมื่อจักรพรรดินโปเลียนทรงสถาปนาดัชชีวอร์ซอใน ค.ศ. 1807 หลังจากพระองค์ประสบกับความพ่ายแพ้ และการบังคับใช้สนธิสัญญาการประชุมใหญ่แห่งเวียนนาใน ค.ศ. 1815 ราชอาณาจักรคองเกรสโปแลนด์ที่ถูกรัสเซียครอบงำจึงเข้ามาแทนที่ หลังเสร็จสิ้นการประชุมใหญ่แห่งเวียนนาแล้ว รัสเซียจึงได้ส่วนแบ่งในดินแดนโปแลนด์มากกว่าเดิม (รวมไปถึงเมืองวอร์ซอ) และหลังจากปราบปราม การก่อการกำเริบใน ค.ศ. 1831 สิทธิ์ปกครองตนเองของราชอาณาจักรคองเกรสถูกเพิกถอน และชาวโปแลนด์ต้องเผชิญกับการถูกยึดทรัพย์ การเนรเทศ (Deportation) การถูกบังคับให้รับราชการทหาร และการสั่งปิดมหาวิทยาลัย หลังจาก การก่อการกำเริบใน ค.ศ. 1863 นโยบายแผลงเป็นรัสเซีย (Russification) ถูกนำมาบังคับใช้ในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาของชาวโปแลนด์ ทำให้อัตราการรู้หนังสือลดลงอย่างมาก ในดินแดนโปแลนด์ที่เป็นส่วนแบ่งของออสเตรีย ซึ่งกลายมาเป็นดินแดนชื่อว่ากาลิเซีย ชาวโปแลนด์มีอิสระเสรีกว่า และได้รับอนุญาตให้มีผู้แทนในรัฐสภาและสามารถก่อตั้งมหาวิทยาลัยของตนเองได้ กรากุฟและเล็มแบร์ค (ลวุฟ/ลวิว) กลายมาเป็นศูนย์กลางของการศึกษาและวัฒนธรรมโปแลนด์ ในขณะเดียวกัน ปรัสเซียใช้นโยบายแผลงเป็นเยอรมัน กับระบบการศึกษาทุกระดับชั้นของชาวโปแลนด์ที่อยู่ภายใต้การปกครอง และไม่ได้มีความเคารพต่อวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมของโปแลนด์มากไปกว่าจักรวรรดิรัสเซียเลย ใน ค.ศ. 1916 ราชอาณาจักรโปแลนด์ รัฐบริวารของจักรวรรดิเยอรมันและจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ได้รับการจัดตั้งขึ้นโดยฝ่ายมหาอำนาจกลางในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ภายหลังการการยอมแพ้ของฝ่ายมหาอำนาจกลางต่อฝ่ายสัมพันธมิตรตะวันตก ความโกลาหลจากการปฏิวัติรัสเซียและสนธิสัญญาแวร์ซาย โปแลนด์จึงสามารถกลับมามีเอกราชอย่างเต็มตัวอีกครั้งหลังผ่านไปกว่า 123 ปี

การแบ่งโปแลนด์ครั้งที่สี่[แก้]

การแบ่งโปแลนด์ตามกติกาสัญญาเยอรมัน-โซเวียต การแบ่งดินแดนของโปแลนด์ใน ค.ศ. 1939–1941

ศัพท์ "การแบ่งโปแลนด์ครั้งที่สี่" อาจหมายถึงการแบ่งดินแดนโปแลนด์ครั้งถัด ๆ มา รวมไปถึง:

หากให้ยอมรับเหตุการณ์มากกว่าหนึ่งเหตุการณ์ด้านบนนี้เป็นการแบ่งโปแลนด์ อาจจะสามารถนับจำนวนครั้งการแบ่งได้ถึงห้า หก หรือเจ็ดครั้ง แต่การใช้ศัพท์เหล่านี้ก็ไม่สามารถพบเห็นได้บ่อยนัก (ตัวอย่างเช่น ในหนังสือ ก็อดส์เพลย์กราวด์ ของนอร์แมน เดวียส์ กล่าวถึงการสถาปนาดัชชีวอร์ซอใน ค.ศ. 1807 ว่าเป็นการแบ่งโปแลนด์ครั้งที่สี่ การประชุมใหญ่แห่งเวียนนาใน ค.ศ. 1815 เป็นการแบ่งครั้งที่ห้า การลงนามในสนธิสัญญาเบรสท์-ลีตอฟสก์ เมื่อ ค.ศ. 1918 เป็นการแบ่งครั้งที่หก การแบ่งโปแลนด์ระหว่างนาซีเยอรมนีและสหภาพโซเวียตใน ค.ศ. 1939 เป็นการแบ่งครั้งที่เจ็ด) [26]

ศัพท์ "การแบ่งโปแลนด์ครั้งที่สี่" ยังถูกใช้ในคริสต์ศตววรรษที่ 19 และ 20 เพื่อกล่าวถึงชุมชนผู้พลัดถิ่น ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมากในความพยายามกอบกู้เอกราชโปแลนด์[27] บางครั้ง คนกลุ่มนี้ถูกเรียกว่าโพโลเนีย ชุมชนนอกประเทศเหล่านี้มักจะทำหน้าที่ช่วยสนับสนุนทางด้านการเงินหรือการทหารให้กับความพยายามฟื้นฟูรัฐชาติโปแลนด์ การเมืองภายในชุมชนผู้พลัดถิ่นได้รับผลกระทบอย่างมากจากความเป็นไปในและรอบ ๆ แผ่นดินเกิด และการเมืองในแผ่นดินโปแลนด์ก็ได้รับผลกระทบจากชุมชนผู้พลัดถิ่นเช่นกัน เหตุการณ์เช่นนี้ดำเนินไปเป็นเป็นเวลาหลายทศวรรษ[28]

ในทางประวัติศาสตร์นิพนธ์[แก้]

การค้นคว้าเมื่อไม่นานมานี้อ้างว่าการแบ่งโปแลนด์เกิดขึ้นในขณะที่เริ่มมีสิ่งบ่งชี้ว่าเครือจักรภพกำลังเริ่มฟื้นตัวเองอย่างช้า ๆ และมองว่าการแบ่งสองครั้งหลังเป็นสิ่งที่ช่วยส่งเสริมการปฏิรูปในเครือจักรภพ อีกทั้งยังเป็นการสื่อว่าประเทศเพื่อนบ้านมองว่าเครือจักรภพอาจกลายเป็นภัยคุกคามต่อพวกตนในภายหลัง[18][29][30][31][32][33][34]

ดังเช่นที่นักประวัติศาสตร์นอร์แมน เดวียส์ได้กล่าวไว้ว่า เป็นเพราะหลักสมดุลแห่งอำนาจ ถูกถือปฏิบัติอยู่ในขณะนั้น ผู้สังเกตการณ์ที่อยู่รวมสมัยกับการแบ่งจึงยอมรับ "คำแก้ต่างอันทรงภูมิธรรม" ของรัฐผู้กระทำการแบ่ง[35][29] นักประวัติศาสตร์สมัยคริสต์ศตวรรษที่ 19 จากเหล่าประเทศที่กระทำการแบ่งโปแลนด์ เช่น เซียร์เกย์ โซโลยอฟ นักวิชาการชาวรัสเซีย และกลุ่มนักวิชาการในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ซึ่งได้รับอิทธิพลทางความคิดจากเขา ได้แย้งว่าการแบ่งโปแลนด์เป็นการกระทำที่มีเหตุผล อันเนื่องมาจากการที่เครือจักรภพโปแลนด์–ลิทัวเนีย ได้เสื่อมโทรมลงจนทำให้ถูกแบ่งนั้น เป็นเพราะหลักการที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ของ ลิเบอรัม วีโต ทำให้การตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องที่ต้องการความเด็ดขาด เช่น การปฏิรูปทางสังคมเป็นวงกว้าง แทบเป็นไปไม่ได้เลย โซโลยอฟยังเน้นย้ำอย่างเจาะจงถึงความแตกต่างในด้านวัฒนธรรม ภาษา และศาสนา ระหว่างชนชั้นสูงและชนชั้นล่างของสังคมในพื้นที่ทางตะวันออกของเครือจักรภพ ที่ซึ่งเกษตรกรชาวเบลารุสและชาวยูเครนผู้เป็นทาสติดที่ดิน นับถือนิกายออทอดอกซ์ นักเขียนชาวรัสเซียหลายรายมักเน้นย้าถึงความเกี่ยวโยงกันทางประวัติศาสตร์ของเบลารุส ยูเครน และรัสเซีย ในฐานะที่ต่างก็เคยเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิรุสเคียฟ อาณาจักรรัสเซียโบราณในสมัยกลางที่ปกครองโดยราชวงศ์รูลิค[36] ดังเช่นที่เห็นได้จากข้อเขียนของนีโคไล คารามซิน ที่ว่า: "ให้พวกต่างชาติประณามการแบ่งโปแลนด์ไปเถิด: เราเพียงแค่นำสิ่งที่เป็นของของเราคืนมา"[37] นักประวัติศาสตร์ชาวรัสเซียมักเน้นว่ารัสเซียทำการผนวกเฉพาะพื้นที่ที่มีชาวยูเครนและเบโลรัสเซีย (เบลารุส) ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธ์สลาฟตะวันออกอาศัยอยู่เป็นหลักเท่านั้น[38] แม้ชาวรูทีเนีย (ชื่อที่ชาวต่างชาติใช้เรียกกลุ่มชาติพันธ์สลาฟตะวันออก) จะไม่ได้มีความยินดีที่พวกตนได้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของรัสเซีย มากไปกว่าเมื่อครั้งที่อยู่ภายใต้การปกครองของโปแลนด์เลย คำอ้างดังกล่าวยังละเลยการผนวกพี้นที่ที่มีชาวโปแลนด์และลิทัวเนียอาศัยอยู่เป็นหลักในการแบ่งโปแลนด์ครั้งหลังด้วย อีกเหตุผลหนึ่งสำหรับแบ่งโปแลนด์ได้รับการเสนอขึ้นมาโดยเหล่านักเขียนชาวรัสเซียในยุคเรืองปัญญา เช่น กาวิลลา เดอชาวิน เดนิส ฟอนวิซิน และอะเลคซันดร์ พุชกิน นักเขียนเหล่านี้ต่างเน้นย้ำถึงความเสื่อมโทรมของรัฐคาทอลิกโปแลนด์ และมีความจำเป็นที่จะต้องถูก "ทำให้ศิวิไลซ์" โดยบรรดาประเทศเพื่อนบ้าน[30]

กระนั้น บุคคลในคริสต์ศตวรรษที่ 19 แสดงความกังขาต่อการแบ่งมากกว่า ยกตัวอย่างเช่น เซอร์โรเบิร์ต พิลลิมอร์ นักกฎหมายชาวบริติช ให้ความเห็นว่าการแบ่งโปแลนด์เป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ[39] ไฮน์ริช เบิร์นฮาร์ท อ็อพเพินไฮม์ นักกฎหมายชาวเยอรมัน ก็มีมุมมองที่คล้ายกัน[40] นักประวัติศาสตร์ในยุคก่อนหน้านั้นที่ทำการแย้งเหตุผลดังกล่าวของการแบ่งโปแลนด์ยังรวมไปถึง ฌูล มีเชอเล นักประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ทอมัส บาบิงตัน แม็คอูเลย์ นักประวัติศาสตร์และนักการเมืองชาวบริติช และ เอ็ดมันด์ เบิร์ก ผู้วิพากษวิจารณ์ความผิดทำนองคลองธรรม (Immorality) ของการแบ่ง[29][41]

นักวิชาการหลายคนให้ความสนใจเกี่ยวกับแรงจูงใจทางเศรษกิจของชาติผู้ทำการแบ่ง แยชือ ตชาแยฟสกี (Jerzy Czajewski) เขียนไว้ว่า ชาวรัสเซียในแถบชนบทได้ทำการหลบหนีมายังเครือจักรภพโปแลนด์–ลิทัวเนีย เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 และเป็นจำนวนมากพอจนกลายเป็นปัญหาสำคัญสำหรับรัฐบาลรัสเซีย และส่งผลต่อการตัดสินใจแบ่งเครือจักรภพด้วย[42] การแบ่งโปแลนด์ช่วยยุติปัญหานี้ลง กองทัพรัสเซียทำการรุกล้ำเข้ามาในพื้นที่ของเครือจักรภพ เหตุผลอย่างเป็นทางการคือเพื่อจับกุมผู้หลบหนี แต่ในความเป็นจริงแล้วกลับลักพาตัวประชากรท้องถิ่นหลายรายกลับไปด้วย[42] ฮาโจ โฮลบอร์น ตั้งข้อสังเกตว่าปรัสเซียหมายจะเข้าควบคุมการค้าธัญพีชในแถบบอลติกที่ได้กำไรมาก ผ่านทางเมืองดันท์ซิช (กดัญสก์) [43]

นักวิชาการบางรายใช้ศัพท์ 'ภาค' (Sector) เพื่อกล่าวถึงพื้นที่ที่ประกอบไปด้วยมรดกวัฒนธรรมและเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของโปแลนด์ (ไม่ใช่โปแลนด์-ลิทัวเนีย) ซึ่งสามารถอาจสืบย้อนไปไกลได้ถึงช่วงแรก ๆ ของรัฐชาติโปแลนด์[44]

ปฏิกิริยาจากรัฐอื่น[แก้]

จักรวรรดิออตโตมัน เป็นหนึ่งในสองรัฐที่ปฏิเสธที่จะยอมรับการแบ่งโปแลนด์[45] (อีกรัฐหนึ่งคือจักรวรรดิเปอร์เชีย) [46] และสงวนที่ในพิธีต้อนรับคณะทูตานุทูตไว้เพื่อรอการมาถึงของเอกอัครราชทูตจากเลคิสถาน (โปแลนด์)

"อิลกันโตเดลยีอีตาเลียนี" เพลงชาติของประเทศอิตาลี มีการกล่าวถึงการแบ่งโปแลนด์ด้วย[47]

ใน เดอะเฟเดอราลลิสต์เปเปอร์ส การแบ่งโปแลนด์ (ซึ่งกำลังดำเนินอยู่ในขณะนั้น) เป็นหัวข้อสำคัญที่ถูกนำมาอภิปราย โดยมีการอ้างถึงโครงสร้างของรัฐบาลโปแลนด์ และการที่มันถูกเข้าแทรกแซงโดยอิทธิพลของต่างชาติในข้อเขียนหลายฉบับ (เช่น เฟเดอราลลิสต์ หมายเลข 14 เฟเดอราลลิสต์ หมายเลข 19 เฟเดอราลลิสต์ หมายเลข 22 และเฟเดอราลลิสต์ หมายเลข 39 เป็นต้น) เพื่อเป็นอุทาหรณ์ให้แก่เหล่าผู้ร่างรัฐธรรมนูญสหรัฐ

ดูเพิ่ม[แก้]

หมายเหตุ[แก้]

  1. ถึงแม้รัฐผู้ถูกแบ่งแยกจะมีชื่ออย่างเป็นทางการว่าเครือจักรภพโปแลนด์–ลิทัวเนีย แต่เมื่อกล่าวถึงการแบ่งดินแดนทั้งสามครั้ง แหล่งข้อมูลส่วนใหญ่มักจะนิยมใช้ศัพท์ว่า "การแบ่งโปแลนด์" มิใช่ "การแบ่งเครือจักรภพโปแลนด์–ลิทัวเนีย" เนื่องจากโปแลนด์เป็นชื่อเรียกอย่างลำลองของรัฐข้างต้น นิยามศัพท์ "การแบ่งเครือจักรภพโปแลนด์–ลิทัวเนีย" จึงไม่ค่อยเป็นที่นิยมใช้ในงานเขียนที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวนัก

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 1.7 1.8 "Partitions of Poland". สารานุกรมบริแทนนิกาออนไลน์. 2008. สืบค้นเมื่อ 8 June 2011.
  2. Bideleux, Robert; Jeffries, Ian (1998). A History of Eastern Europe: Crisis and Change. Routledge. p. 156.
  3. Batt, Judy; Wolczuk, Kataryna (2002). Region, State and Identity in Central and Eastern Europe. Routledge. p. 153.
  4. Sinkoff, Nancy (2004). Out of the Shtetl: Making Jews Modern in the Polish Borderlands. Society of Biblical Literature. p. 271.
  5. 5.0 5.1 5.2 Scott, Hamish M. (2001). The Emergence of the Eastern Powers, 1756–1775. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด. pp. 181–182. ISBN 0-521-79269-X.
  6. H. Wickham Steed, A Short History of Austria-Hungary and Poland เก็บถาวร 2007-09-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 1914, Encyclopædia Britannica, Inc. Retrieved on 3 August 2007.
  7. 7.0 7.1 7.2 Seton-Watson, Hugh (1967). The Russian Empire, 1801–1917. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด. p. 44. ISBN 0-19-822152-5.
  8. Various, The Story of My Life, Penguin Classics, 2001, ISBN 0-14-043915-3, Google Print, p. 528
  9. Butterwick, Richard (1998). Poland-Lithuania's Last King and English Culture: Stanisław August Poniatowski, 1732–1798. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด. p. 169. ISBN 0-19-820701-8.
  10. von Guttner, Darius (2015). The French Revolution. Nelson Cengage. p. 139.
  11. "Alexander Bezborodko". สารานุกรมบริแทนนิกา.
  12. Jerzy Lukowski; W. H. Zawadzki (2001). A Concise History of Poland: Jerzy Lukowski and Hubert Zawadzki. Cambridge University Press. pp. 96–98. ISBN 978-0-521-55917-1. สืบค้นเมื่อ 8 January 2013.
  13. Jerzy Lukowski; W. H. Zawadzki (2001). A Concise History of Poland: Jerzy Lukowski and Hubert Zawadzki. Cambridge University Press. pp. 101–103. ISBN 978-0-521-55917-1. สืบค้นเมื่อ 8 January 2013.
  14. 14.0 14.1 Piotr Stefan Wandycz (2001). The Price of Freedom: A History of East Central Europe from the Middle Ages to the Present. Taylor & Francis Group. pp. 133–. ISBN 978-0-415-25490-8. สืบค้นเมื่อ 8 January 2013.
  15. Davies, Norman (2005). God's Playground. A History of Poland. The Origins to 1795. Vol. I (revised ed.). สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด. p. 394. ISBN 978-0-19-925339-5.
  16. "Po przyłączeniu do obwodu białostockiego w 1807 roku do cesartwa i utworzeniu osiem lat później Królestwa Polskiego wnuk Katarzyny zjednoczył pod swoim berłem około 82% przedrozbiorowego terytorium Rzeczypospolitej (dla porównania – Austria 11%, Prusy 7%). "[in:] Basil Kerski, Andrzej Stanisław Kowalczyk. Realiści z wyobraźnią. มหาวิทยาลัยมาเรีย กูว์รี-สกวอดอฟสกา. 2007 page. 318 ISBN 978-83-227-2620-4
  17. Johnson, Lonnie R. (1996). Central Europe: Enemies, Neighbors, Friends. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด. pp. 127–128. ISBN 0-19-510071-9.
  18. 18.0 18.1 Piotr Stefan Wandycz (2001). "percent+of+the+population"&pg=PA133 The Price of Freedom: A History of East Central Europe from the Middle Ages to the Present. Routledge. p. 133. ISBN 0-415-25491-4.
  19. Zawadzki, W. H. (1993). A Man of Honour: Adam Czartoryski as a Statesman of Russia and Poland, 1795–1831. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด. p. 330. ISBN 0-19-820303-9.
  20. Auer, Stefan (2004). Liberal Nationalism in Central Europe. Routledge. p. 60. ISBN 0-415-31479-8.
  21. 21.0 21.1 Dowe, Dieter (2001). Europe in 1848: Revolution and Reform. Berghahn. p. 180. ISBN 1-57181-164-8. While it is often and quite justifiably remarked that there was hardly a barricade or battlefield in Europe between 1830 and 1870 where no Poles were fighting, this is especially true for the revolution of 1848/1849.
  22. Pachonski, Jan; Wilson, Reuel K. (1986). Poland's Caribbean Tragedy: A Study of Polish Legions in the Haitian War of Independence 1802–1803. East European Monographs/Columbia University Press. ISBN 0-88033-093-7.
  23. Fedosova, Elena I. (1998). "Polish Projects of Napoleon Bonaparte". Journal of the International Napoleonic Society.
  24. Gods, Heroes, & Legends
  25. Brecher, Michael; Wilkenfeld, Jonathan (1997). A Study of Crisis. University of Michigan Press. p. 255. ISBN 0-472-10806-9.
  26. Norman Davies. God's Playground: A History of Poland: 1795 to the Present. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด. 2005. pp. 218, 225, 284, 321.
  27. Cygan, Mary (1998). "Inventing Polonia: Notions of Polish American Identity, 1870–1990". Prospects. 23: 209–246. doi:10.1017/S0361233300006335.
  28. Lopata, Helena Znaniecka (1994). Polish Americans. Transaction.
  29. 29.0 29.1 29.2 Norman Davies, Europe: A History, สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด, 1996, ISBN 0-19-820171-0, Google Print, p.661
  30. 30.0 30.1 Nowak, Andrzej (1997). "The Russo-Polish Historical Confrontation". Sarmatian Review. XVII (1).
  31. The Army of Grand Duchy of Warsaw เก็บถาวร 2005-12-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  32. Hon. Carl L. Bucki, University of Buffalo's History of Poland series, The Constitution of May 3, 1791 เก็บถาวร ธันวาคม 5, 2008 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  33. Paul W. Schroeder, The Transformation of European Politics 1763–1848, สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด, 1996, ISBN 0-19-820654-2, "constitutional+monarchy"&sig=VDTkfWKi5PAqIlCIKlGa6tha6lw Google print p.84
  34. Geoffrey Russell, The Making of Modern Europe, 1648–1780, Routledge, 2003, ISBN 0-415-30155-6, Google Print, p.548
  35. Norman Davies, God's Playground: A History of Poland in Two Volumes, สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด, 2005, ISBN 0-19-925339-0, Google Print, p.283
  36. ตัวอยางเช่น История падения Польши (ประวัติศาสตร์การล่มสลายของโปแลนด์ พิมพ์ที่มอสโก ค.ศ. 1863) ของเซียร์เกย์ โซโลยอฟ
  37. Н.М. Карамзин. Записка о древней и новой России в ее политическом и гражданском отношениях
  38. Riasanovsky, Nicholas V. (1952). "Old Russia, the Soviet Union and Eastern Europe". American Slavic and East European Review. 11 (3): 171–188. doi:10.2307/2491975. JSTOR 2491975.
  39. เซอร์โรเบิร์ต พิลลิมอร์Commentaries Upon International Law, 1854, T. & J. W. Johnson, Google Print, p.819
  40. Sharon Korman, The Right of Conquest: The Acquisition of Territory by Force in International Law and Practice, สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด, 1996, ISBN 0-19-828007-6, "partitions+of+Poland"&as_brr=3&sig=qHZN8Xd2pXnHITuIR1csI5Rwj38 Google Print, p.101
  41. The First Partition
  42. 42.0 42.1 Jerzy Czajewski, "Zbiegostwo ludności Rosji w granice Rzeczypospolitej" (การอพยพของประชากรรัสเซียเข้ามาในเครือจักรภพโปแลนด์–ลิทัวเนีย), Promemoria journal, October 2004 nr. (5/15), ISSN 1509-9091, Table of Content online, Polish language
  43. Hajo Holborn (1 December 1982). A History of Modern Germany: 1648–1840. Princeton University Press. p. 256. ISBN 978-0-691-00796-0. สืบค้นเมื่อ 16 February 2012.
  44. Nuria Sanz, Dominik Maczynski (2002). The Prussian Sector In: Guidelines for a Common Inventory. Living Wooden Culture Throughout Europe. Council of Europe. p. 99. ISBN 9287148821. สืบค้นเมื่อ 25 March 2013.
  45. Prazmowska, Anita (2010). Poland: A Modern History. I. B. Tauris. p. 25.
  46. "History of Polish-Iranian relations". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-01-22. สืบค้นเมื่อ 2019-11-12.
  47. "L'Inno nazionale". Quirinale.it. สืบค้นเมื่อ 2013-11-17.

อ่านเพิ่ม[แก้]

  • Lewitter, L. R. "The Partitions of Poland" History Today (Dec 1958) 8#12 pp 813–820.
  • Lewitter, Lucjan R. "The Partitions of Poland" in A. Goodwyn, ed. The New Cambridge Modern History: vol 8 1763–93 (1965) pp. 333–59.
  • Lord, Robert. The second partition of Poland; a study in diplomatic history (1915) online
  • Lukowski, Jerzy. The Partitions of Poland 1772, 1793, 1795 (1998) ; online review
  • McLean, Thomas. The Other East and Nineteenth-Century British Literature: Imagining Poland and the Russian Empire (Palgrave Macmillan, 2012) pp. 14–40.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

  • Krzysztof Wroński, Rozbiory Polski w XVIII w. " ich uwarunkowania i skutki (ในภาษาโปแลนด์)
  • Where Is Poland? สื่อมัลติมีเดียสร้างโดยเว็บไซต์ Culture.pl เป็นการแนะแนวเกี่ยวกับโปแลนด์ในช่วง 123 ปีที่ถูกแบ่งดินแดน (ในภาษาอังกฤษ)