โรนัลด์ รอสส์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เซอร์โรนัลด์ รอสส์
เกิด13 พฤษภาคม ค.ศ. 1857(1857-05-13)
อัลมอรา, อินเดีย
เสียชีวิต16 กันยายน ค.ศ. 1932(1932-09-16) (75 ปี)
ลอนดอน, อังกฤษ
สัญชาติสหราชอาณาจักร
ศิษย์เก่าSt. Fratbore Hospital
มีชื่อเสียงจากการค้นพบปรสิตโรคมาลาเรีย
รางวัลรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ (ค.ศ. 1902)
อาชีพทางวิทยาศาสตร์
สาขาแพทยศาสตร์

เซอร์โรนัลด์ รอสส์ KCB (Sir Ronald Ross; 13 พฤษภาคม ค.ศ. 185716 กันยายน ค.ศ. 1932) เป็นแพทย์ชาวอังกฤษ-อินเดีย ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์เมื่อปี ค.ศ. 1902 เนื่องจากการค้นพบวงจรชีวิตของปรสิตโรคมาลาเรีย พลาสโมเดียม (Plasmodium)

ประวัติ[แก้]

วัยเด็ก[แก้]

โรนัลด์ รอสส์ เกิดที่อัลมอรา อินเดีย เขาเป็นบุตรชายคนโตของพลเอก เซอร์แคมป์เบลล์ เคลย์ แกรนท์ รอสส์ (General Sir Campbell Claye Grant Ross) แห่งกองทัพบริติชอินเดีย และมาธิลดา ชาร์ล็อตต์ เอลเดอร์ตัน (Matilda Charlotte Elderton) ปู่ของรอสส์คือพันโทฮิวจ์ รอสส์ (Lieutenant Colonel Hugh Ross)

เมื่อรอสส์อายุได้ 8 ปี เขาถูกส่งไปศึกษาที่อังกฤษ หลังจากสำเร็จการศึกษาชั้นต้นจากโรงเรียนเล็กๆ 2 แห่งในเมืองไรด์ เขาถูกส่งไปยังโรงเรียนประจำที่สปริงฮิลล์ ใกล้กับเมืองเซาท์แธมป์ตันในปี ค.ศ. 1869

รอสส์สำเร็จการศึกษาด้านแพทยศาสตร์จากโรงพยาบาลเซนต์บาร์โธโลมิวในลอนดอนเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม ค.ศ. 1875 เขาผ่านการสอบไล่ใน ค.ศ. 1880 และได้เป็นสมาชิกราชวิทยาลัยศัลยแพทย์ (MRCS) และ Worshipful Society of Apothecaries (LSA) เขาได้เข้าร่วมหน่วย Indian Medical Service ซึ่งเป็นหน่วยในหน่วยแพทย์ทหารของบริติชอินเดียใน ค.ศ. 1881 โดยรับตำแหน่งแรกที่มัทราส

การค้นพบ[แก้]

รอสส์ศึกษาเกี่ยวกับมาลาเรียระหว่าง ค.ศ. 1881 และ 1899 เขาทำงานด้านมาลาเรียในกัลกัตตาที่โรงพยาบาล Presidency General Hospital ที่ซึ่งเขามีผู้ช่วยเป็นนักวิทยาศาสตร์ชาวอินเดียชื่อ Kishori Mohan Bandyopadhyay ในปี ค.ศ. 1883 รอสส์รับตำแหน่งเป็นศัลยแพทย์กองทหารรักษาการณ์ (Acting Garrison Surgeon) ที่เบงคลูรูที่ซึ่งเขาค้นพบการควบคุมยุงโดยการป้องกันไม่ให้ยุงเข้าถึงแหล่งน้ำ

ใน ค.ศ. 1897 รอสส์ได้รับตำแหน่งที่ Ootacamund และป่วยด้วยโรคมาลาเรีย หลังจากนั้นเขาถูกย้ายไปโรงพยาบาลทหารที่ Secunderabad เขาได้ค้นพบเชื้อมาลาเรียภายในยุงก้นปล่อง เขาเรียกชื่อเชื้อในตอนแรกว่า ปีกเป็นจุดด่าง (dapple-wings) และจากสมมติฐานของเซอร์แพทริก แมนสัน (Sir Patrick Manson) ที่ว่าสารก่อโรคมาลาเรียนั่นมีในยุงซึ่งเป็นพาหะ เขาจึงสามารถพบเชื้อมาลาเรียได้จากยุงที่กัดผู้ป่วยมาลาเรียชื่อว่า ฮุสเซน ข่าน (Hussain Khan) หลังจากนั้นเขาได้ศึกษานกที่ป่วยด้วยมาลาเรีย และสามารถสรุปวงชีวิตของเชื้อพลาสโมเดียม ปรสิตโรคมาลาเรียได้อย่างสมบูรณ์ รวมทั้งค้นพบเชื้อในต่อมน้ำลายยุง เขาได้แสดงให้เห็นว่าโรคมาลาเรียสามารถติดต่อจากนกที่ป่วยไปยังนกปกติอีกตัวโดยยุงเป็นพาหะ การค้นพบนี้ทำให้สามารถสรุปกลไกการเกิดโรคในมนุษย์ได้

ในปี ค.ศ. 1902 รอสส์ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์สำหรับการศึกษาด้านมาลาเรีย ส่วนผู้ช่วยชาวอินเดียของเขา Kishori Mohan Bandyopadhyay ได้รับเหรียญทองจากกษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักร

ในปี ค.ศ. 1899 รอสส์ได้กลับไปยังอังกฤษและทำงานที่โรงเรียนเวชศาสตร์เขตร้อนแห่งลิเวอร์พูล (Liverpool School of Tropical Medicine) ในตำแหน่งศาสตราจารย์ด้านเวชศาสตร์เขตร้อน ค.ศ. 1901 รอสส์ได้รับเลือกเป็นสมาชิกราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งอังกฤษ และยังเป็นสมาชิกราชสมาคมซึ่งเขาดำรงตำแหน่งรองประธานตั้งแต่ ค.ศ. 1911 ถึง 1913 รอสส์ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ Most Honourable Order of Bath จากสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 ในปี ค.ศ. 1902 และได้รับบรรดาศักดิ์เป็น Knight Commander of Order of Bath ในปี ค.ศ. 1911

รอสส์ได้อุทิศตนทำงานเพื่อป้องกันโรคมาลาเรียในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นแอฟริกาตะวันตก, บริเวณคลองสุเอซ, กรีซ, มอริเชียส, ไซปรัส และบริเวณรับผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่ 1 เขาได้ตั้งองค์กรเพื่อป้องกันโรคมาลาเรียภายในโรงงานอุตสาหกรรมในอินเดียและศรีลังกา เขาได้อุทิศตนเพื่อศึกษาระบาดวิทยาของมาลาเรียและวิธีการสำรวจและประเมิน แต่ผลงานสำคัญของเขาคือการพัฒนาตัวแบบทางคณิตศาสตร์เพื่อใช้ศึกษาระบาดวิทยา โดยรายงานครั้งแรกที่มอริเชียสในปี ค.ศ. 1908 ซึ่งตัวแบบนี้ช่วยป้องกันโรคมาลาเรียที่มอริเชียสในปี ค.ศ. 1911 และต่อมาได้นำไปใช้ทั่วไปในรายงานซึ่งตีพิมพ์โดยราชสมาคมในปี ค.ศ. 1915 และ 1916

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]