ส่วนกระจายเสียงต่างประเทศ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ส่วนกระจายเสียงต่างประเทศ
สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย
ประเภทเครือข่ายวิทยุ
ประเทศประเทศไทย
พื้นที่แพร่ภาพระหว่างประเทศ
เจ้าของสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย
วันที่เปิดตัว
20 ตุลาคม พ.ศ. 2481; 85 ปีก่อน (2481-10-20)
สัญญาณเรียกขานHSK9

ส่วนกระจายเสียงต่างประเทศ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย (อังกฤษ: Radio Thailand World Service) เป็นสถานีกระจายเสียงระหว่างประเทศอย่างเป็นทางการของประเทศไทย เปิดตัวเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2481 ภายใต้สัญญาณเรียกขานว่า HSK9[1] ซึ่งเป็นของสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ออกอากาศใน 10 ภาษา[2] ประกอบไปด้วยภาษาไทย, อังกฤษ, จีน, พม่า, ลาว, เขมร, มาเลย์, เยอรมัน, ญี่ปุ่นและเวียดนาม ออกอากาศโดยใช้คลื่นสั้นผ่านสถานีถ่ายทอดวิทยุกระจายเสียงของวิทยุเสียงอเมริกาในอำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี

ประวัติ[แก้]

เริ่มต้นวิทยุคลื่นสั้น[แก้]

จุดเริ่มต้นของวิทยุคลื่นสั้นของประเทศไทยเริ่มต้นขึ้นในปี พ.ศ. 2470 พลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร ได้ริเริ่มในการทดลองออกอากาศวิทยุกระจายเสียง โดยทรงซื้อเครื่องส่งวิทยุโทรศัพท์ใช้ความถี่สูง (คลื่นสั้น) กำลังส่งประมาณ 200 วัตต์ มาทดลองออกอากาศที่วังบ้านดอกไม้ และทดลองส่งด้วยเสียงพูดและเสียงดนตรีในรูปแบบของวิทยุกระจายเสียง ซึ่งต่อมาฝ่ายกองช่างวิทยุ กรมไปรษณีย์โทรเลขก็ได้ทำการทดลองส่งวิทยุกระจายเสียงเช่นกัน ด้วยวิทยุโทรศัพท์ขนาดเล็กกำลังส่งประมาณ 200 วัตต์ ในบริเวณที่ตั้งของกองช่างฯ ปากคลองโอ่งอ่าง หน้าวัดราชบุรณะ และได้ดำเนินการทดลองการออกอากาศเป็นประจำด้วยสัญญาณเรียกขาน HS4PJ (4 พีเจ) ตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2471 ด้วยความถี่สูงประมาณ 8,000 กิโลเฮิรตซ์ (คลื่นสั้น ความยาวคลื่นประมาณ 37 เมตร) กำลังส่ง 200 วัตต์ ต่อมาได้ย้ายที่ออกอากาศไปยังสถานีวิทยุศาลาแดง (ปัจจุบันคือวัน แบงค็อก) และปรับมาใช้ความถี่ประมาณ 10,100 กิโลเฮิรตซ์ (ความยาวคลื่น 29.5 เมตร) มีกำลังส่ง 500 วัตต์ ใช้สัญญาณเรียกขานว่า HS2PJ (2 พีเจ) ซึ่งในช่วงแรกที่ทดลองพบว่าความถี่สูง (หรือคลื่นสั้น) นั้นรับได้ไม่ดีนักในพื้นที่กรุงเทพฯ จึงปรับมาใช้ความถี่ปานกลาง (หรือขณะนั้นเรียกคลื่นยาว) ความถี่ 937.5 กิโลเฮิรตซ์ หรือความยาวคลื่น 320 เมตร กำลังส่ง 1,000 วัตต์ สัญญาณเรียกขานว่า HS11PJ (1 1 พีเจ) พบว่าดีขึ้นกว่าใช้รูปแบบคลื่นสั้น จึงได้ศึกษาเพิ่มเติมและจัดตั้งสถานีวิทยุขึ้นมาบริเวณทุ่งพญาไท ชื่อว่า สถานีวิทยุกรุงเทพฯ ที่พญาไท (Radio Bangkok at Payathai) มีสัญญาณเรียกขานว่า HSPJ (เอช-เอส-พี-เจ) ใช้เครื่องวิทยุจำนวน 2 เครื่องนำเข้ามาจากประเทศเนเธอร์แลนด์ กำลังส่งเครื่องละ 2,500 วัตต์ เครื่องหนึ่งออกอากาศในความถี่ 857 กิโลเฮิรตซ์ (ความยาวคลื่น 350 เมตร) ส่วนอีกเครื่องออกอากาศในระบบความถี่สูง (คลื่นสั้น) แต่เนื่องจากใช้เครื่องแปรรูปคลื่นวิทยุ (มอดูเลเตอร์) เครื่องเดียวกัน ทำให้ออกอากาศพร้อมกันทั้งสองเครื่องไม่ได้ แต่ก็นับว่าเป็นสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งแรกของประเทศไทย และทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2473 ซึ่งตรงกับวันฉัตรมงคลของรัชกาลที่ 7 และถ่ายทอดกระแสพระราชดำรัสในงานพระราชพิธีนั้น[3]

สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย[แก้]

พ.ศ. 2481 หลังจากได้โอนกิจการวิทยุกระจายเสียงจากกรมไปรษณีย์โทรเลขไปให้กับกรมโฆษณาการ และมีการกำหนดสัญญาณเรียกขานสำหรับสถานีวิทยุคลื่นสั้นคือ HSK7 ซึ่งเป็นปีที่เริ่มต้นสงครามโลกครั้งที่สองด้วย นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นจึงได้ใช้วิทยุกระจายเสียงคลื่นสั้นในการเตือนถึงภัยจากสงคราม และออกอากาศในภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส เสนอข่าวสารต่าง ๆ จากการรับฟังวิทยุจากต่างประเทศ[2] โดยเริ่มแรกได้มีการออกอากาศวิทยุคลื่นสั้นจากบริเวณซอยอารีสัมพันธ์ ถนนพหลโยธิน กรุงเทพมหานคร[3] จากนั้นได้ยุติการออกาอากาศเป็นการชั่วคราวเนื่องจากภัยสงคราม ทำให้ขาดแคลนไฟฟ้า จึงต้องย้ายมาตั้งสถานีชั่วคราวในพื้นที่หลักสี่ ในปี พ.ศ. 2485 ได้เพิ่มภาษาในการออกอากาศเป็นภาษาเพื่อนบ้านจำนวน 4 ภาษาคือ ภาษาพม่า ภาษาฮินดี ภาษาญี่ปุ่น และภาษามาเลย์[2] หลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองแล้ว กรมประชาสัมพันธ์ได้ย้ายสถานที่ตั้งเครื่องส่งออกอากาศมายังซอยอารีย์ ถนนพหลโยธินเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2496 และใช้ห้องส่งจากกรมประชาสัมพันธ์บริเวณถนนราชดำเนินกลางถ่ายทอดสัญญาณมายังเครื่องส่ง จากนั้นเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2510 ได้มีการย้ายเครื่องส่งของวิทยุคลื่นสั้นจากที่เดิม ไปติดตั้งร่วมกับสถานีเครื่องส่งวิทยุใหม่ในระบบเอฟเอ็ม ความถี่ 96.55 เมกกะเฮิร์ตซในพื้นที่ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี และใช้สถานีนั้นเป็นสถานีหลักในการออกอากาศคลื่นสั้น[2]

ต่อมาในปี พ.ศ. 2537 กรมประชาสัมพันธ์ได้ปรับวิธีการออกอากาศด้วยการถ่ายทอดสัญญาณเสียงไปออกอากาศยังเครื่องส่งวิทยุคลื่นสั้นของวิทยุเสียงอเมริกา ณ สถานีถ่ายทอดวิทยุกระจายเสียงคลื่นสั้น กรมประชาสัมพันธ์ - เสียงอเมริกา อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี และใช้เป็นสถานีถ่ายทอดสัญญาณมาจนถึงปัจจุบัน

ออกอากาศร่วมกับวิทยุเสียงอเมริกา[แก้]

สถานีถ่ายทอดวิทยุกระจายเสียงคลื่นสั้น กรมประชาสัมพันธ์ - เสียงอเมริกา อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2534

เมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2527 รัฐบาลไทย โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และสหรัฐ โดยเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ได้ทำข้อตกลงร่วมกันในรูปแบบหนังสือแลกเปลี่ยนกันเพื่อการก่อตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงคลื่นสั้นในพื้นที่อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี เนื้อที่ขนาดประมาณ 3,400 ไร่ ซึ่งเป็นอดีตฐานทัพทางทหารของสหรัฐในการปฏิบัติการทางทหารเพื่อต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ที่รุกรานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขณะนั้น[4] โดยได้ติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณวิทยุคลื่นสั้น ขนาดกำลังส่ง 500 กิโลวัตต์ จำนวน 7 เครื่อง สำหรับถ่ายทอดรายการของวิทยุเสียงอเมริกา วงเงินงบประมาณจำนวน 125 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ข้อตกลงมีอายุ 25 ปีนับจากวันแรกที่ได้ออกอากาศ คือวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2537 ซึ่งทั้งสองประเทศสามารถต่ออายุข้อตกลงดังกล่าวได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 10 ปี โดยสถานีทำงานด้วยระบบคอมพิวเตอร์ควบคุมทั้งหมดในการออกอากาศรายการของสถานีวิทยุแห่งประเทศไทย และวิทยุเสียงอเมริกา ตามข้อตกลงที่ได้ทำร่วมกันไว้ โดยออกอากาศไปยังพื้นที่ต่าง ๆ มากกว่า 100 ประเทศทั่วโลก 58 ภาษา โดยสัญญาความร่วมมือมีกำหนดสิ้นสุดในวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2559[5]

ต่อมาในปี พ.ศ. 2560 รัฐบาลไทยได้มีมติคณะรัฐมนตรีในการขยายอายุความตกลงว่าด้วยการขออนุมัติการขยายอายุความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ว่าด้วยสถานีวิทยุกระจายเสียง 1,000 กิโลวัตต์ ของสถานีวิทยุเสียงอเมริกาดังกล่าวออกไปอีกถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2566 โดยที่สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยยังคงดำเนินการออกอากาศในระบบวิทยุคลื่นสั้นต่อไปได้จนกว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกยกเลิกความตกลงฯ ล่วงหน้าอย่างน้อย 18 เดือน โดยอีกเหตุผลในการขยายอายุนั้นเนื่องจากกลุ่มเป้าหมายผู้ฟังในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และบริเวณตอนใต้ของประเทศจีนยังมีความสำคัญในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนความรู้ต่าง ๆ ผ่านรายการสารคดีในภาษาท้องถิ่นของภูมิภาค[4]

รายการ[แก้]

สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ส่วนกระจายเสียงต่างประเทศ ออกอากาศในช่วงคลื่นสั้นจำนวน 14 ช่องสัญญาณ[6]

ภาษา[แก้]

ภาษาหลักที่ใช้ในการออกอากาศมี 10 ภาษา[2][7] ประกอบไปด้วย

อ้างอิง[แก้]

  1. "Radio Thailand World Service HSK9". eqbal.info.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 จันทรา, ธนัชพร (2559). การกำหนดวาระสารการจัดตั้งประชาคมอาเซียนของคลื่น เอฟ เอ็ม ความถี่ 95.5 เมกะเฮร์ตซ์ (PDF). สาขาวิชาการบริหารสื่อสารมวลชน คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. p. 35.
  3. 3.0 3.1 "ประวัติกรมประชาสัมพันธ์". radiothailand.prd.go.th.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  4. 4.0 4.1 "ครม.ต่อสัญญา"วอยซ์ ออฟ อเมริกา"6 ปี 60 ปี IBBวัตถุประสงค์มากกว่าความสัมพันธ์2ประเทศ". mgronline.com. 2017-02-18.
  5. "สำรวจฐานที่มั่นวิทยุคลื่นสั้นของสหรัฐฯ อุดรธานี หมดสัญญากลางปี 2566 การถอนตัวสู่ยุคดิจิตอลการสื่อสารของ US Global Media Agency". THECITIZEN.PLUS (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2022-11-24.
  6. "88 ปีวิทยุกระจายเสียงไทย by อานนท์ บุญแนบ - Issuu". issuu.com (ภาษาอังกฤษ). 2018-02-27.
  7. "Radio Stations in Thailand: External Services". www.asiawaves.net.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]