ข้ามไปเนื้อหา

พระสุนทรราชวงศา (เจ้าคำสิงห์)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระสุนทรราชวงศา (ท้าวคำสิงห์)
เจ้าเมืองยศสุนทร
ครองราชย์พ.ศ. 2357
รัชกาลก่อนหน้าท้าวคำม่วง
รัชกาลถัดไปพระสุนทรราชวงศา (ท้าวสีชา)
พิราลัยพ.ศ. 2366
พระมเหสีไม่ปรากฏพระนาม
พระบุตรท้าวบุตร และท้าวคำ
ราชวงศ์แสนทิพย์นาบัว
พระบิดาพระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราช
พระมารดาไม่ปรากฏพระนาม

พระสุนทรราชวงศา (ท้าวคำสิงห์) ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองยศสุนทรคนแรก (ปัจจุบันคือจังหวัดยโสธรในภาคอีสานของประเทศไทย) นามเดิมว่า ท้าวคำสิงห์ หรือ ท้าวราชวงศ์สิงห์ เป็นพระโอรสในพระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราช (เจ้าฝ่ายหน้า) เจ้าประเทศราชผู้ครองนครจำปาศักดิ์ องค์ที่ 3 และเป็นพระนัดดาพระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (ท้าวคำผง ณ อุบล) เจ้าประเทศราชผู้ครองเมืองอุบลราชธานีศรีวนาไลยประเทศราชองค์แรก สมภพที่นครเวียงจันทน์ สืบเชื้อสายเจ้านายราชวงศ์แสนทิพย์นาบัว อันมีเจ้าอุปราชนอง (เจ้านอง) เป็นปฐมราชวงศ์ผู้สร้างนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน

ประวัติ

[แก้]

พ.ศ. 2314 พระเจ้าสิริบุญสาร เจ้าผู้ครองนครเวียงจันทน์เกิดหวาดระแวงในพระตา และพระวอ จึงยกกองทัพจากนครเวียงจันทน์มาปราบปราม พระตาถูกข้าศึกยิงด้วยอาวุธปืน และฟันด้วยดาบจนถึงแก่พิราลัยในที่สนามรบ ส่วนพระวอ ท้าวคำผง ท้าวฝ่ายหน้า ท้าวทิดพรหม ท้าวก่ำ และท้าวคำสิงห์ได้ยกทัพฝ่าหนีออกจากนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบานลงมาตามลำน้ำชีมาพักกับท้าวคำสูผู้ปกครองบ้านสิงห์ท่าสิงห์โคก ภายหลังต่อมาพระวอดำริว่าหากอยู่กับท้าวคำสูแล้ว ถ้าเวียงจันทน์ยกทัพมาก็จะเป็นการลำบากแก่บ้านสิงห์ท่าสิงห์โคก และจะเกิดศึกสงครามกันต่อไป เมื่อประชุมตกลงกันแล้วจึงได้พาไพร่พลอพยพลงไปตามลำน้ำมูล และสร้างเมืองใหม่ที่เวียงดอนกองเขตนครจำปาศักดิ์ ตามรับสั่งของพระเจ้าองค์หลวงไชยกุมาร เจ้าผู้ครองนครจำปาศักดิ์ โดยพระวอให้สร้างค่ายขุดคูประตูหอรบขึ้นเรียกว่า "ค่ายบ้านดู่บ้านแก"

พ.ศ. 2321 เมื่อพระเจ้าสิริบุญสารทราบเรื่อง จึงได้ยกทัพมาปราบอีกครั้งจนทำให้พระวอถึงแก่พิลาลัยในสนามรบ ท้าวคำผง ท้าวฝ่ายหน้า ท้าวทิดพรหม ท้าวก่ำ และท้าวคำสิงห์จึงพร้อมบริวารจึงได้อพยพต่อไปยังเกาะกลางลำน้ำมูลซึ่งเรียกว่า "ดอนมดแดง" แต่เนื่องจากเป็นที่ต่ำไม่เหมาะสมที่จะสร้างเมืองใหม่จึงอพยพขึ้นมาตามลำน้ำมูลถึงห้วยแจระแม แล้วมาสร้างเมืองขึ้นที่ดงอู่ผึ้ง เมื่อปีกุน พ.ศ. 2322 แล้วมีหนังสือกราบบังคมทูลขอขึ้นอยู่ในขอบขัณฑสีมาของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แห่งกรุงธนบุรี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามเมืองที่ตั้งว่าเมืองอุบล เพื่อเป็นการรำลึกถึงบ้านเมืองเดิมของตนคือเมืองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน (หนองบัวลุ่มภู) จากนั้นเจ้าคำผงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นเจ้าประเทศราชผู้ครองเมืองคนแรก และได้รับพระราชทานพระราชทินนามว่า "พระปทุมสุรราช"

พ.ศ. 2323 ท้าวคำสิงห์ได้ติดตามท้าวฝ่ายหน้า พร้อมพระประทุมสุรราช เจ้าเมืองอุบล ลงไปช่วยราชการกองทัพกรุงธนบุรีปราบปรามการจราจลเขมร

พ.ศ. 2329 ท้าวฝ่ายหน้า พร้อมกับนางอูสา และท้าวคำสิงห์ ได้นำไพร่พลญาติวงศาอีกส่วนหนึ่งขอแยกตัวกลับมาอยู่ที่บ้านสิงห์ท่าซึ่งท้าวคำสูปกครองอยู่ ตั้งมั่นเป็นกองนอกหวังจะตั้งบ้านเมืองขึ้นให้ใหญ่โตสมฐานะดั่งเมืองอุบล และพระปทุมสุรราช (ท้าวคำผง) ก็เห็นสมควรด้วยกับท้าวฝ่ายหน้า ไม่ขัดข้องประการใด จึงได้แยกย้ายกันไปทำมาหากินที่บ้านสิงห์ท่า ได้ปรับปรุงและสร้างบ้านสิงห์ท่าจนเจริญรุ่งเรืองต่อจากท้าวคำสู

พ.ศ. 2334 เกิดกบฏอ้ายเชียงแก้วได้พาพรรคพวกเข้ายึดนครจำปาศักดิ์ ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) เมื่อครั้งเป็นพระพรหม ยกกระบัตร ยกกองทัพเมืองนครราชสีมา มาปราบกบฏอ้ายเชียงแก้ว ขณะที่กองทัพนครราชสีมายกมาไม่ถึงนั้น พระประทุมสุรราช (ท้าวคำผง) และท้าวฝ่ายหน้า ผู้น้องซึ่งเป็นนายกองนอกที่บ้านสิงห์ท่า พร้อมท้าวคำสิงห์ พระโอรสคนโตได้ร่วมกันยกกำลังไปปราบกบฎอ้ายเชียงแก้วก่อน ทั้งสองฝ่ายได้สู้รบกันที่บริเวณแก่งตะนะ จนกองกำลังอ้ายเชียงแก้วแตกพ่ายไป ท้าวฝ่ายหน้าจับตัวอ้ายเชียงแก้วไว้ได้ และประหารชีวิตที่แก่งตะนะปากด่านแม่น้ำมูล เมื่อกองทัพเมืองนครราชสีมายกมาถึงนครจำปาศักดิ์เหตุการณ์ก็สงบเรียบร้อยแล้ว จึงพากันยกกองทัพไปตีพวกข่า ชาติกระเสงสวาง จะรายระแดร์ ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกแม่น้ำโขง จับพวกข่าเป็นเชลยได้เป็นจำนวนมาก

จากคุณความดีความชอบในการปราบปรามกบฏอ้ายเชียงแก้วครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาให้ท้าวฝ่ายหน้าเป็นพระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราช ดำรงฐานะเป็นเจ้าประเทศราชผู้ครองอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ องค์ที่ 3 แทนพระเจ้าองค์หลวงไชยกุมารที่ถึงแก่พิราลัยไป และตั้งให้ท้าวคำสิงห์เป็นราชวงศ์เมืองโขง (สีทันดอน) พร้อมกันนั้นได้ย้ายไพร่พลส่วนหนึ่งของบ้านสิงห์ท่าลงไปที่นครจำปาศักดิ์ ส่วนทางบ้านสิงห์ท่าตั้งให้ท้าวคำม่วงเป็นผู้ปกครองแทนต่อมา

ปี พ.ศ. 2354 พระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราชได้ถึงแก่พิราลัย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้านู ซึ่งเป็นหลานพระเจ้าองค์หลวงไชยกุมาร เจ้าผู้ครองนครจำปาศักดิ์องค์ก่อน เป็นเจ้าผู้ครองนครจำปาาสักสืบต่อไป จึงทำให้เจ้าราชวงศ์เมืองโขง (ท้าวคำสิงห์) ไม่เป็นที่พอใจที่จะทำราชการกับเจ้าผู้ครองนครจำปาศักดิ์องค์ใหม่ จึงได้พาครอบครัว และไพร่พลอพยพมาอยู่ที่บ้านสิงท่าดังเดิม พร้อมนำอัฐิพระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราชมาก่อเจดีย์บรรจุไว้ข้างองค์พระธาตุอานนท์ที่วัดมหาธาตุ ด้วยเกรงว่าเจ้าผู้ครองนครจำปาศักดิ์องค์ใหม่ จะไม่เคารพอัฐิพระบิดาของตน และได้ปรับปรุงพัฒนาบ้านสิงห์ท่าให้ใหญ่โตรุ่งเรืองขึ้นเป็นอันมาก

พ.ศ. 2357 ราชวงศ์คำสิงห์ได้มีใบกราบบังคมทูลขอยกบ้านสิงห์ท่าขึ้นเป็นเมือง พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะบ้านสิงห์ท่าขึ้นเป็นเมือง พระราชทานนามว่า เมืองยศสุนทร มีฐานะเป็นหัวเมืองขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ ให้ราชวงศ์คำสิงห์เป็นที่พระสุนทรราชวงศา เจ้าเมืองยศสุนทรคนแรก (พ.ศ. 2357-2366) ตั้งท้าวสีชา (บุตรผู้ครองนครจำปาศักดิ์) เป็นอุปราช ตั้งท้าวบุตร (บุตรพระสุนทรราชวงศา) เป็นราชวงศ์ และตั้งให้ท้าวเสน (บุตรพระวอ) เป็นเฝราชบุตร ปกครองเมืองยศสุนทรส่งส่วยบำรุงราชการของหลวงคือ น้ำรักสองเลขต่อเบี้ย ป่านสองเลขต่อขอด

กรณียกิจที่สำคัญ

[แก้]

พระสุนทรราชวงศา (ท้าวคำสิงห์) ได้กอปรกรณียกิจสำคัญ ดังนี้

  1. ศึกนครเวียงจันทน์
  2. ปราบจราจลเขมร
  3. ปราบกบฏอ้ายเชียงแก้ว
  4. ดูแลเก็บส่วยด่านเมืองโขง
  5. ได้ให้ไพร่พลก่อสร้างโฮงคำไว้สำหรับออกว่าราชการบ้านเมือง
  6. ก่อสร้างฉางข้าวหลวงไว้สำหรับเก็บเสบียงสำรองภายในเมือง

พระโอรสและพระธิดา

[แก้]

พระสุนทรราชวงศา (ท้าวคำสิงห์) มีพระโอรสตามพงศาวดารกล่าวไว้เพียง 2 พระองค์ คือ

  1. ท้าวบุตร ต่อมาเป็นที่อุปราชเมืองยศสุนทร และถูกเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) สั่งให้ประหารชีวิตในคุกเพลิง กรณีกบฎเจ้าอนุวงศ์
  2. ท้าวคำ ต่อมาถูกเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) สั่งให้ประหารชีวิตในคุกเพลิง กรณีกบฎเจ้าอนุวงศ์

ถึงเเก่กรรม

[แก้]

พ.ศ. 2566 พระสุนทรราชวงศา (ท้าวคำสิงห์) ได้ถึงแก่กรรม ตลอดสมัยที่ปกครองเมืองยสสุนทร บ้านเมืองสงบร่มเย็นผาสุข และเจริญรุ่งเรืองมาโดยตลอด

พระญาติวงศ์

[แก้]

พระสุนทรราชวงศา (ท้าวคำสิงห์)มีพระอนุชา และพระขนิษฐา รวมทั้งหมด 5 พระองค์ คือ

  1. พระสุนทรราชวงศาฯ (ท้าวฝ่ายบุต) เจ้าเมืองยศสุนทร องค์ที่ 3
  2. ท้าวสุดตา
  3. เจ้านางแดง
  4. เจ้านางไทย
  5. เจ้านางก้อนแก้ว

อาณาเขตเมืองยศสุนทร

[แก้]

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าบริเวณเมืองยศสุนทรในสมัยเริ่มตั้งเมืองนั้นได้มีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่พื้นที่บางส่วนของจังหวัดกาฬสินธุ์ และบางส่วนของจังหวัดร้อยเอ็ดในปัจจุบัน

พงศาวลี

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
ก่อนหน้า พระสุนทรราชวงศา (เจ้าคำสิงห์) ถัดไป
บ้านสิงห์ท่า
เจ้าเมืองยศสุนทร
(พ.ศ. 2357 - พ.ศ. 2366)
พระสุนทรราชวงศา (เจ้าสีชา)
พ.ศ. 2366 (3 เดือน)