ปาแลเดปัป

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ศูนย์ประวัติศาสตร์อาวีญง *
  แหล่งมรดกโลกโดยยูเนสโก
ปาแลเดปัป
ประเทศธงของประเทศฝรั่งเศส ฝรั่งเศส
ประเภทมรดกทางวัฒนธรรม
เกณฑ์พิจารณา(i) (ii) (iv)
ประวัติการขึ้นทะเบียน
ขึ้นทะเบียน1995 (คณะกรรมการสมัยที่ 19)
* ชื่อตามที่ได้ขึ้นทะเบียนในบัญชีแหล่งมรดกโลก
** ภูมิภาคที่จัดแบ่งโดยยูเนสโก

ปาแลเดปัปดาวีญง (ฝรั่งเศส: Palais des papes d'Avignon, แปล: วังพระสันตะปาปาแห่งอาวีญง) เป็นพระราชวังพระสันตะปาปาที่ตั้งอยู่ที่อาวีญงในประเทศฝรั่งเศส เป็นสิ่งก่อสร้างของสถาปัตยกรรมกอทิกที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในยุโรป

ปาแลเดปัปได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยยูเนสโกในปี ค.ศ. 1995[1]

ประวัติ[แก้]

อาวีญงกลายมาเป็นที่ประทับของพระสันตะปาปาในปี ค.ศ. 1309 เมื่อแบร์ทร็อง เดอ ก็อต ในฐานะสมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ที่ 5 ไม่มีพระประสงค์ที่จะเผชิญกับเหตุการณ์ร้ายต่างในกรุงโรมหลังจากที่ทรงได้รับเลือกในปี ค.ศ. 1305 พระองค์จึงทรงย้ายสภาปกครองของพระสันตะปาปา (Papal Curia) ไปตั้งที่อาวีญงในสมัยที่ต่อมาเรียกกันว่า "สมณสมัยปาปาซี" พระสันตะปาปาเคลเมนต์ประทับเป็นแขกของอารามคณะดอมินิกันในอาวีญง สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์นที่ 22 พระสันตะปาปาองค์ต่อมา ทรงก่อตั้งราชสำนักอันหรูหราขึ้นที่นั่น แต่สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 12 พระสันตะปาปาองค์ต่อมาทรงเป็นผู้ริเริ่มการบูรณปฏิสังขรณ์วังบิชอปเก่าอย่างจริงจัง และกระทำต่อมาในสมัยของสมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ที่ 6

ที่ตั้งของวังอยู่ทางเนินหินทางตอนเหนือของตัวเมืองที่มองไปทางแม่น้ำโรน เดิมวังของบิชอปแห่งอาวีญง การก่อสร้างแบ่งเป็นสองช่วง ช่วงแรกเรียกว่า "วังเดิม" (Palais Vieux) และช่วงที่สองเรียกว่า "วังใหม่" (Palais Neuf) เมื่อสร้างเสร็จเนื้อที่ของวังก็ขยายขึ้นเป็น 11,000 ตาราเมตร การก่อสร้างใช้งบประมาณไปเป็นจำนวนมหาศาลที่มาจากเงินรายได้ส่วนใหญ่ของพระสันตะปาปาในช่วงนั้น

"วังเดิม" ก่อสร้างโดยสถาปนิกปีแยร์ ปัวซ็องตามโองการของสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 12 ผู้ทรงสั่งให้รื้อทั้ง "วังเดิม" ทั้งหมดและสร้างวังใหม่และระเบียงฉันนบถที่ขนาดใหญ่กว่าเดิมเป็นอันมากขึ้นแทนที่ สิ่งก่อสร้างใหม่ได้รับการสร้างเสริมอย่างแข็งแรงเพื่อต่อต้านข้าศึก ที่ประกอบด้วยปีกสี่ปีกที่มีหอสูงประกบ

โบสถ์น้อยใหญ่

ตัววังมาขยายต่อไปในสมัยของสมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ที่ 6, สมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 6 และสมเด็จพระสันตะปาปาเออร์บันที่ 5 ที่กลายมารู้จักกันว่า "วังใหม่" พระสันตะปาปาเคลเมนต์ที่ 6 ทรงจ้างฌาน เดอ ลูฟวร์ให้สร้างหอใหม่, ตึกอีกหลังหนึ่ง และชาเปลที่ยาว 52 เมตร ต่อมาพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ก็ทรงสร้างหอใหม่อีกสองหอ พระสันตะปาปาเออร์บันสร้างลานหลักเสร็จที่เรียกว่า Court d'Honneur) และสิ่งก่อสร้างรอบลาน การตกแต่งภายในทำอย่างหรูหราด้วยจิตรกรรมฝาผนัง, พรมแขวนผนัง, จิตรกรรม, ประติมากรรม และเพดานไม้

พระสันตะปาปาย้ายราชสำนักจากอาวีญงกลับไปโรมในปี ค.ศ. 1377 ที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า "ศาสนเภทตะวันตก" (Western Schism) ที่ฝ่ายอาวีญงพยายามตั้งตนเป็นอิสระโดยการเลือกตั้งพระสันตะปาปาของตนเองที่เรียกว่า "พระสันตะปาปาเท็จ" (antipope) สององค์ที่รวมทั้งสมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ที่ 7 แห่งอาวีญง และสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 13 แห่งอาวีญง อาวีญงจึงเป็นที่ประทับของพระสันตะปาปาเท็จจนกระทั่งปี ค.ศ. 1408 เมื่อพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 13 ทรงถูกจำขังในพระราชวังอยู่สิบปี พระราชวังอาวีญงอยู่ในมือของพระสันตะปาปาเท็จอยู่หลายปี ระหว่างนั้นก็ถูกล้อมระหว่างปี ค.ศ. 1410 ถึงปี ค.ศ. 1411 แต่ต่อมาก็ได้รับคืนไปเป็นของพระสันตะปาปาในปี ค.ศ. 1433

วังพระสันตะปาปาแห่งอาวีญง

แม้ว่าวังพระสันตะปาปาจะได้รับคืนให้อยู่ภายใต้การปกครองของพระสันตะปาปาอีกเป็นเวลา 350 ปีต่อมา แต่สภาพของวังก็ค่อย ๆ เสื่อมโทรมลงแม้ว่าจะมีการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นในปี ค.ศ. 1516 ก็ตาม เมื่อการปฏิวัติฝรั่งเศสปะทุขึ้นในปี ค.ศ. 1789 วังพระสันตะปาปาก็ถูกยึดโดยนักปฏิวัติแม้ว่าสภาพของวังจะอยู่ในสภาพที่เสื่อมโทรมอยู่แล้วก็ตาม ในปี ค.ศ. 1791 วังพระสันตะปาปาก็กลายเป็นที่เกิดเหตุการสังหารหมู่ของฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปฏิวัติ ร่างของผู้ที่ถูกสังหารถูกโยนลงไปใน Tour des Latrines ของ "วังใหม่"

ต่อมาวังก็ถูกยึดโดยรัฐบาลของนโปเลียนเพื่อใช้เป็นค่ายทหารและคุก ตัววังก็ได้รับความเสียหายเพิ่มขึ้นอีกระหว่างการถูกยึดโดยเฉพาะจากฝ่ายที่ต่อต้านนักบวชของสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 3 เมื่อสิ่งตกแต่งภายในและงานไม้ต่างๆ ถูกขนย้ายออกไปเพื่อทำเป็นโรงม้า จิตรกรรมฝาผนังถูกฉาบทับและถูกทำลายไปเป็นส่วนใหญ่ วังเป็นสถานที่ราชการของรัฐบาลฝรั่งเศสมาจนถึงปี ค.ศ. 1906 เมื่อมาเปลี่ยนฐานะเป็นพิพิธภัณฑ์ และตั้งแต่นั้นมาวังก็ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์มาโดยตลอด

ในปัจจุบันวังส่วนใหญ่เปิดให้ประชาชนเข้าชมได้ และเป็นสถานที่ที่ใช้ในการประชุมสัมมนา และเก็บเอกสารสำคัญของฝรั่งเศส

สถาปัตยกรรม[แก้]

การมีเนื้อที่ใช้สอยถึง 15,000 ตารางเมตรทำให้วังพระสันตะปาปาแห่งอาวีญงเป็นสิ่งก่อสร้างแบบกอทิกที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป[2]

หอ[แก้]

1- หอ Trouillas
2- หอ Latrines หรือ Glacière
3- หอครัว
4- หอนักบุญยอห์น
5- หอ l'Étude
6- หอพระสันตะปาปา
7- หอสวน
8- หอยาม
9- หอนักบุญลอว์เรนซ์
10- หอ la Gache
11- หอผู้มีเกียรติ
12- หอ Campane

ห้องพระสันตะปาปาเคลเมนต์ที่ 6[แก้]

รายละเอียดของภาพเขียนภายในห้องพระสันตะปาปาคลีเมนต์ที่ 6

ห้องพระสันตะปาปาคลีเมนต์ที่ 6 เป็นห้องที่สำคัญที่สุดในวังเป็นที่ที่มีจิตรกรรมฝาผนังบนเพดานและผนัง

โบสถ์น้อยแซ็ง-มาร์เซียล[แก้]

ภายในโบสถ์น้อยแซ็ง-มาร์เซียล

โบสถ์น้อยแซ็ง-มาร์เซียลตั้งอยู่บนชั้นสองของหอเซนต์จอห์น ที่มีจิตรกรรมฝาผนังที่เป็นฉากชีวิตของนักบุญมาร์เซียล (Sain Martial) ที่เขียนโดยมัตเตโอ โจวันนี (Matteo Giovanetti) ระหว่างปี ค.ศ. 1344 ถึงปี ค.ศ. 1345 โดยดูเรื่องได้จากข้างล่างขึ้นไปข้างบน[3]

โบสถ์น้อยนักบุญยอห์น[แก้]

ภายในโบสถ์น้อยนักบุญยอห์น

ระหว่างปี ค.ศ. 1347 ถึงปี ค.ศ. 1348 มัตเตโอ โจวันนี ก็เขียนจิตรกรรมฝาผนังภายในชาเปลเซนต์จอห์นที่ตั้งอยู่ภายใต้โบสถ์น้อยแซ็ง-มาร์เซียล[4]

อ้างอิง[แก้]

  1. UNESCO: Papal Palace
  2. "presentation page, official website". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-06-24. สืบค้นเมื่อ 2009-05-31.
  3. (FR) the Saint-Martial chapel
  4. (FR) the Saint-Jean chapel

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ ปาแลเดปัป

ระเบียงภาพ[แก้]