ข้ามไปเนื้อหา

พระเจ้าพระบิดา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก พระบิดา)

ภาพวาดพระเจ้าพระบิดาโดย Julius Schnorr ค.ศ. 1860

พระเจ้าพระบิดา[1] (อังกฤษ: God the Father) เป็นคำที่ใช้เรียกพระเจ้าในศาสนาคริสต์ ศาสนายูดาห์เรียกพระเจ้าว่าพระบิดาเพราะเชื่อว่าพระองค์ทรงเป็นผู้สร้าง ผู้บัญญัติธรรม และผู้ปกป้อง[2] ส่วนทางศาสนาคริสต์เรียกพระเจ้าว่าพระบิดาตามเหตุผลเดียวกับศาสนายูดาห์ แต่ก็เป็นเพราะความสัมพันธ์ระหว่างพระบิดาและพระเยซูซึ่งเป็นพระบุตรของพระองค์ด้วย[3]

คำว่า พระบิดา บ่งบอกว่าพระองค์เป็นผู้ทรงสรรพานุภาพ เป็นผู้ปกป้องดูแล เป็นสัพพัญญู และทรงอยู่ทุกหนแห่ง ซึ่งเกินกว่าการที่มนุษย์ธรรมดาจะเข้าใจได้[4] เช่น นักบุญทอมัส อไควนัส นักปราชญ์แห่งคริสตจักรคนสำคัญเขียนสรุปไว้ว่าท่านเองก็ยังไม่เข้าใจพระบิดาเลย[5]

เพศของพระเจ้า

[แก้]
พระพักตร์ของพระเจ้าจากภาพเขียนฝาผนัง ทรงเนรมิตดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ โดยมีเกลันเจโล

มักเข้าใจกันผิดว่าในเมื่อเรียกว่าพระบิดาท่านก็เป็นผู้ชายตามชื่อ ทั้งนี้ก็ด้วยศิลปินนิยมวาดพระเจ้าให้เป็นผู้ชาย และในภาษาอังกฤษเองก็ใช้สรรพนามเรียกพระเจ้าว่า he (ถึงแม้ว่าคำดังกล่าวเป็นเพียงแค่การเรียกชื่อพระเจ้าให้กระชับก็ตาม) แต่ตามหลักเทววิทยาจริง ๆ แล้วถือว่าพระเจ้าไม่มีเพศเพราะทรงเป็นวิญญาณ[6] มนุษย์เท่านั้นที่จะมีเพศชายหญิง แต่พระเจ้าทรงอยู่เหนือกว่านั้นจึงจะทรงมีเพศมิได้ นอกจากนี้ยังมีกล่าวไว้ในคัมภีร์ไบเบิลว่า พระองค์ได้ทรงสร้างมนุษย์ขึ้นตามแบบพระฉายาของพระเจ้า พระองค์ได้ทรงสร้างพวกเขาให้เป็นชายและหญิง[7] ดังนั้นจึงไม่ได้เจาะจงเฉพาะเพศใดเพศหนึ่ง ทั้งในหนังสือคำสอนของคาทอลิก วรรค 239 ก็ระบุว่า "พระเจ้าไม่ใช่ผู้ชาย ไม่ใช่ผู้หญิง พระเจ้าคือพระเจ้า"[8] จึงสามารถเข้าใจได้ว่าพระบิดาเป็นการเรียกเปรียบเทียบคุณลักษณะของพระเจ้ากับมนุษย์ ดังที่อธิบายไว้ข้างต้นแล้ว

ศาสนาเอกเทวนิยม

[แก้]

ในศาสนาเอกเทวนิยม เช่น ศาสนาคริสต์ ศาสนายูดาห์ ศาสนาบาไฮ เรียกพระเจ้าว่า พระบิดา เพราะเชื่อว่าพระองค์ทรงสนพระทัยในกิจการของมนุษย์ เช่นเดียวกับการที่ผู้เป็นพ่อจะสนใจลูกของตน[9] และในฐานะที่เป็นพระบิดา พระเจ้าจะตอบรับคำวิงวอนของนุษย์ผ่านการอธิษฐาน เหมือนกับการที่พ่อช่วยเหลือลูก [10]

แต่ในบางครั้งพระเจ้าอาจลงโทษมนุษย์ได้ เช่นเดียวกับที่ผู้เป็นพ่อสามารถลงโทษลูกของตนได้เวลาทำผิด ตอนหนึ่งของคัมภีร์ไบเบิลว่า ถ้าท่านทั้งหลายทนเอาการตีสอน พระเจ้าย่อมทรงปฏิบัติต่อท่านเหมือนท่านเป็นบุตร ด้วยว่ามีบุตรคนใดเล่าที่บิดาไม่ได้ตีสอนเขาบ้าง แต่ถ้าท่านทั้งหลายไม่ได้ถูกตีสอนเช่นเดียวกับคนทั้งปวง ท่านก็ไม่ได้เป็นบุตร แต่เป็นลูกที่ไม่มีพ่อ [11]

ศาสนายูดาห์

[แก้]

ในศาสนายูดาห์นอกจากการที่เรียกพระเจ้าหรือพระยาห์เวห์ว่าพระบิดาเป็นเพราะทรงเนรมิตสรรพสิ่งแล้ว ยังเชื่อว่าชาวยิวเป็นผู้ถูกพระเจ้าเลือก ท่านเป็นผู้ช่วยให้ชาวอิสราเอลอพยพออกจากการเป็นทาสในอียิปต์และตั้งถิ่นฐานในดินแดนแห่งพันธสัญญา [12] จึงเกิดความสัมพันธ์ฉันพ่อลูก

ศาสนาคริสต์

[แก้]
พระเยซูทรงอธิษฐานต่อพระบิดาในสวนเกทเสมนี วาดโดย Heinrich Hofmann, ค.ศ. 1890

ในศาสนาคริสต์นอกจากพระบิดาจะหมายถึงความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับลูกแล้ว เชื่อว่าพระองค์เป็นผู้ส่งพระบุตรองค์เดียวของพระองค์ ซึ่งก็คือพระเยซู ลงมาไถ่บาปมนุษย์ และเชื่อว่าพระบิดาและพระบุตรทรงมีความสัมพันธ์ชั่วนิรันดร์[13]

โดยพระเยซูเคยตรัสว่า "ไม่มีใครรู้จักพระบุตรนอกจากพระบิดา และไม่มีใครรู้จักพระบิดานอกจากพระบุตรและผู้ที่พระบุตรประสงค์จะสำแดงให้รู้" [14] ซึ่งในพันธสัญญาใหม่เรียกพระเจ้าว่า พระบิดา 245 ครั้ง และในบทข้าพเจ้าเชื่อซึ่งเป็นบทอธิษฐานที่สำคัญมากบทหนึ่งของคริสต์ศาสนิกชน ส่วนหนึ่งว่า ข้าพเจ้าเชื่อในพระเยซูคริสตเจ้า พระบุตรหนึ่งเดียวของพระเจ้า ทรงบังเกิดจากพระบิดาก่อนกาลเวลา แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างพระบิดาและพระบุตรไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ใดเหตการณ์หนึ่งและไม่ได้อยู่ภายใต้กาลเวลา

ในศตวรรษที่ 3 นักปรัชญาชาวคาร์เทจนามเทอร์ทัลเลียน[15]ใช้คำว่า "ตรีเอกภาพ" เป็นครั้งแรก[16] และเขียนเกี่ยวกับการที่พระเจ้าเป็นพระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณบริสุทธิ์ ในเวลาเดียวกันและเป็นบุคคลเดียวกัน[17] ซึ่งในปัจจุบันชาวคริสต์ที่นับถือนิกายโรมันคาทอลิก โปรเตสแตนต์สายหลัก และอีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์ ยอมรับหลักดังกล่าว

ศาสนาอิสลาม

[แก้]

ส่วนศาสนาอิสลามซึ่งเป็นศาสนาเอกเทวนิยมที่ไม่เหมือนเอกเทวนิยมอื่น คือไม่แบ่งแยกระหว่างพระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณบริสุทธิ์ (ปฏิเสธทฤษฎีตรีเอกภาพ) และมองว่าพระเจ้ามีเพียงพระองค์เดียว ไม่สามารถแบ่งภาคได้ [18]

ศาสนาพหุเทวนิยม

[แก้]

ในศาสนาพหุเทวนิยมเชื่อว่าจะมีผู้นำของเทพเจ้าต่าง ๆ เป็นบิดาของมวลมนุษย์หรือประมุขของบรรดาเทพ เช่น เทพซูสของชาวกรีกโบราณ เทพจูปิเตอร์ของชาวโรมันโบราณ เป็นต้น[19]

ในศิลปะตะวันตก

[แก้]

ไม่มีการพยายามในการเขียนภาพพระบิดาในรูปของมนุษย์ในคริสต์สหัสวรรษแรก เพราะชาวคริสต์ยุคแรกถือตามพระคัมภีร์อย่างเคร่งครัดว่า พระองค์จึงตรัสว่า "เจ้าจะเห็นหน้าของเราไม่ได้ เพราะมนุษย์เห็นหน้าเราแล้วจะมีชีวิตอยู่ไม่ได้" [20] และ ไม่มีใครเคยเห็นพระเจ้าเลย [21]

อย่างไรก็ดีความจำเป็นที่จะต้องสื่อสารแก่บรรดาคริสต์ศาสนิกชนผ่านทางภาพในภายหลัง จึงต้องวาดภาพพระบิดาในรูปมนษุย์ ซึ่งเริ่มมีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 10[22] จนกระทั่งในศตวรรษที่ 12 สามารภพบภาพพระหัตถ์ของพระเจ้าได้ในหนังสือภาษาฝรั่งเศสบางเล่ม และในงานกระจกสีตามโบสถ์บางแห่งในประเทศอังกฤษ และมีการวาดรูปพระบิดามาโดยตลอดนับแต่บัดนั้น

ตัวอย่างภาพวาด

[แก้]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. กาลาเทีย 1:1, พระคริสตธรรมคัมภีร์ไทย ฉบับมาตรฐาน
  2. Gerald J. Blidstein, 2006 Honor thy father and mother: filial responsibility in Jewish law and ethics ISBN 0881258628 หน้า 1
  3. Thomas Weinandy, Jesus the Christ OSV Press ISBN 1931709688 หน้า 41
  4. Lawrence Kimbrough, 2006 Contemplating God the Father B&H Publishing ISBN 0805440836 หน้า 3
  5. Thomas W. Petrisko, 2001 The Kingdom of Our Father St. Andrew's Press ISBN 1891903187 หน้า 8
  6. ทิโมธี 1 ทิโมธี 1:17
  7. ปฐมกาล 1:27
  8. คำสอนคาทอลิก จากเว็บไซต์สันตะสำนัก (อังกฤษ)
  9. Diana L. Eck (2003) Encountering God: A Spiritual Journey from Bozeman to Banaras. ISBN 978-0807073032 หน้า 98
  10. Floyd H. Barackman, 2002 Practical Christian Theology ISBN 0825423805 หน้า 117
  11. ฮีบรู 12:7 -8
  12. โฮเชยา 11:1
  13. ยอห์น 17:
  14. มัทธิว 11:27
  15. ดู IPA จากfreedictionary.com
  16. Doctrine of the Trinity (อังกฤษ)
  17. Critical Terms for Religious Studies. Chicago: The University of Chicago Press, 1998. ISBN 978-0226791579
  18. Hans Köchler, 1982 The concept of monotheism in Islam and Christianity ISBN 3700303394 หน้า 38
  19. "ซีอุส เทพเจ้าแห่งขุนเขาโอลิมปุส". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-10-28. สืบค้นเมื่อ 2011-01-29.
  20. อพยพ 33:20
  21. ยอห์น 1:18
  22. James Cornwell, 2009 Saints, Signs, and Symbols: The Symbolic Language of Christian Art ISBN 081922345X หน้า 2

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]