ปวีณ พงศ์สิรินทร์
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
ปวีณ พงศ์สิรินทร์ | |
---|---|
เกิด | 24 มกราคม พ.ศ. 2501 ประเทศไทย |
สัญชาติ | ไทย, ออสเตรเลีย |
ศิษย์เก่า | โรงเรียนนายร้อยตำรวจ |
อาชีพ | ข้าราชการตำรวจ |
ปีปฏิบัติงาน | 2525–2558 |
มีชื่อเสียงจาก | การดำเนินคดีขบวนการค้ามนุษย์ในปี พ.ศ. 2558 จนตนเองต้องลี้ภัย |
ตำแหน่ง | รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 |
วาระ | 2557–2558 |
พลตำรวจตรี ปวีณ พงศ์สิรินทร์ เป็นตำรวจชาวไทย เขามีชื่อเสียงจากการปราบปรามการค้ามนุษย์ในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย นำไปสู่การดำเนินคดีกับนายทหารและเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงหลายคน ทำให้ตัวเขาถูกคุกคามจนต้องลาออกจากราชการและลี้ภัยไปยังประเทศออสเตรเลียในปี พ.ศ. 2558
ประวัติ
[แก้]ปวีณ พงศ์สิรินทร์ เกิดเมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2501 เข้าศึกษาที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจในปี พ.ศ. 2521 และเริ่มรับราชการตำรวจในปี พ.ศ. 2525[1] โดยเลือกประจำการอยู่ในภาคใต้ของประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2539 เขาจบการศึกษาปริญญาโท พัฒนบริหารศาสตรมหาบัณฑิต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์[2]
โดยดำรงตำแหน่งสำคัญอาทิ ผู้บังคับการอำนวยการตำรวจภูธรภาค 8 รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 และต่อมาในวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2558 ได้รับการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ดำรงตำแหน่ง รองผู้บัญชาการ ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้[3] โดยดำรงตำแหน่งดังกล่าวเพียง 37 วัน ก่อนที่หนังสือลาออกจะมีผล ในวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2558[4]
ภายหลังเขาได้ลี้ภัยไปยังประเทศออสเตรเลีย และต่อมาในวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2565 บีบีซีไทยเปิดเผยว่าเขาได้รับสัญชาติออสเตรเลีย[5]
คดีลอบค้ามนุษย์
[แก้]มกราคม พ.ศ. 2558 มีการพบว่าชาวโรฮีนจาจากพม่ากำลังถูกขนอยู่ในรถบรรทุกที่จังหวัดนครศรีธรรมราช พล.ต.ต. ปวีณ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 ในขณะนั้น ถูกเสนอชื่อเป็นหัวหน้าชุดสอบสวน แต่ถูกคัดค้านโดยรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนหนึ่ง เนื่องจากพล.ต.ต. ปวีณ เคยจับกุมนักการเมืองรายใหญ่คนหนึ่งในพื้นที่ภาคใต้ อย่างไรก็ตาม ในขณะนั้น นานาชาติส่งเสียงกดดันประเทศไทยให้รัดกุมต่อการปราบปรามคดีค้ามนุษย์ พล.ต.อ. เอก อังสนานนท์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ต้องการทำผลงานในการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จึงแต่งตั้งให้พล.ต.ต. ปวีณเป็นหัวหน้าชุดสอบสวน
พล.ต.ต. ปวีณและเจ้าหน้าที่ตำรวจในบังคับบัญชากว่า 80 นาย ต้องรวบรวมข้อมูลและหาด้วยตนเอง เนื่องจากไม่ได้รับการสนับสนุนจากตำรวจภูธรภาค 8 ชุดสอบสวนของพล.ต.ต. ปวีณสามารถรวบรวมหลักฐานแก่ศาล นำไปสู่การออกหมายจับถึง 153 ครั้ง[6] เกี่ยวพันถึงนักการเมืองท้องถิ่น และนักธุรกิจผู้ร่ำรวยในท้องถิ่น ตลอดจนนายทหารบก นายทหารเรือ และเจ้าหน้าที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ภาค 4
ออกหมายจับนายทหาร
[แก้]หนึ่งในผู้ถูกออกหมายจับคือพล.ท. มนัส คงแป้น ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก ซึ่งรับผิดชอบเกี่ยวกับความมั่นคงในภาคใต้ ภายหลังปวีณได้รับหมายจับพล.ท. มนัส คงแป้น จากศาล พล.ต.ต. ปวีณก็ได้รับการติดต่อจากพล.ต.ท. สุรเชษฐ์ หักพาล[7] นายตำรวจคนสนิทพล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นนัยว่าต้องการให้ พล.ท. มนัส คงแป้น ได้รับการประกันตัว[6] แต่พล.ต.ต. ปวีณคัดค้าน เนื่องจากผู้ต้องหาคนอื่นกว่า 60 คนไม่มีใครได้รับการประกันตัว ท้ายที่สุด พล.ท. มนัสก็ไม่ได้รับการประกันตัวและถูกส่งตัวเข้าเรือนจำนาทวี จังหวัดสงขลา
ขณะที่ปวีณเดินหน้าทำคดี เขาได้รับการติดต่อจาก พล.ต. สมศักดิ์ สรไชยเมธา เจ้ากรมจเรทหารบก เพื่อย้ำว่าผู้กำกับดูแลพล.ท. มนัส คงแป้น คือพล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ และพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา และเตือนให้เขาหยุดทำคดี[6] แต่พล.ต.ต. ปวีณยังคงเดินหน้าทำคดีต่อไป และขยายผลจนนำไปสู่การออกหมายจับนายทหารระดับกลางถึงระดับสูงอีกจำนวน 4 นาย เมื่อหมายจับถูกส่งไปยังต้นสังกัดของบรรดานายทหารผู้ต้องหา ก็เกิดความไม่พอใจอย่างรุนแรงจากกองทัพ
กันยายน พ.ศ. 2558 พล.ต.ต. ปวีณได้รับคำเตือนฉันมิตรจาก พล.ต.ต. พชร บุญญสิทธิ์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต ว่าพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังไม่พอใจปวีณ และอาจกระทำบางอย่างเพื่อให้ปวีณหยุดทำคดี ข่าวนี้ทำให้ปวีณรู้สึกเกรงกลัว เพราะขณะนั้นพล.อ. ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
ชุดสอบสวนของปวีณเป็นอันยุติการทำงานภายหลังจากที่พล.ต.อ. เอก อังสนานนท์ ถูกย้ายไปเป็นปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เจ้าหน้าที่ของชุดสอบสวนเฉพาะกิจถูกบังคับให้กลับไปปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ แต่แม้การสอบสวนยุติลงแล้ว ก็ยังมีความโกรธเคืองที่ทับถมจากฝ่ายทหาร ปวีณถูกต่อว่าจากพล.ต.อ. จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่ และถูกด่าทอด้วยคำหยาบจากพล.อ. ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
21 ตุลาคม พ.ศ. 2558[8] ปวีณได้รับคำสั่งย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ในศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้[9] ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดยะลา ซึ่งยังคงมีความไม่สงบทางอาวุธ ปวีณรู้สึกไม่ปลอดภัยในชีวิตจึงอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อ พล.ต.อ. จักรทิพย์ ชัยจินดา แต่ก็ได้รับการปฏิเสธ[9] ท้ายที่สุดปวีณส่งหนังสือลาออกในวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 โดยมีผลในวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2558[10]
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 มีพระบรมราชโองการให้เขาเป็นรองผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2558 เมื่อปวีณเดินทางไปรับตำแหน่งรองผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็พบว่าบ้านพักประจำตำแหน่งของเขามีความใหญ่โตหรูหรา มีอาวุธสงครามประจำตัวมากมายให้เลือกใช้ และมีรถยนต์ให้ใช้ถึงสามคันรวมถึงรถยนต์หุ้มเกราะ ปวีณรู้สึกตกใจและสอบถามผู้ใต้บังคับบัญชาว่าเอาเงินมาจากไหน และได้รับคำตอบว่าเนื่องจากเป็นพื้นที่ไม่สงบ จึงมีงบประมาณมหาศาล และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินจึงไม่ส่งคนลงมาตรวจสอบ[11]
ออกจากราชการและลี้ภัย
[แก้]ภายหลังการส่งหนังสือลาออก ปวีณได้รับการติดต่อจาก พล.ต.ท. ฐิติราช หนองหารพิทักษ์ ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง[12] เพื่อแจ้งว่าข่าวการลาออกของปวีณทราบแล้วถึงสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และพระองค์ไม่ต้องการให้ปวีณลาออก[6] และในวันต่อมา พล.ต.ต. ปวีณได้รับการติดต่อจาก พล.อ.อ. สถิตย์พงษ์ สุขวิมล ราชเลขานุการในพระองค์ และได้รับข้อเสนอทางเลือก ระหว่างตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง รับผิดชอบคดีลอบค้ามนุษย์ หรือตำแหน่งในหน่วยงานในพระองค์[2] ปวีณยังคงอยากเป็นตำรวจ จึงแจ้งต่อพล.อ.อ. สถิตย์พงษ์ ว่า "ต้องการทำงานเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ต่อไป"[6]
12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 พล.ต.ต. ปวีณเดินทางไปสำนักงานตำรวจแห่งชาติและลงนามในเอกสารเพิกถอนใบลาออก แต่ในวันต่อมาเมื่อเขาไปพบพล.ต.อ. จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กลับได้รับคำบอกกล่าวให้ลาออกและอยู่เงียบ ๆ และได้รับคำบอกในทำนองเดียวกัน[6] จากพล.ต.อ. จุมพล มั่นหมาย ผู้ใกล้ชิดสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ในขณะนั้น พล.ต.ต. ปวีณมึนงงจึงพยายามติดต่อ พล.อ.อ. สถิตย์พงษ์ สุขวิมล แต่ก็ติดต่อไม่ได้อีกต่อไป
พล.ต.ต. ปวีณกังวลว่าเขาอาจถูกยัดข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เนื่องจากไม่ยอมเลือกทำงานภายใต้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ปวีณจึงรีบเดินทางกลับภูเก็ต และเดินทางออกจากประเทศไทยไปยังประเทศสิงคโปร์ในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2558 และเดินทางถึงประเทศออสเตรเลียในฐานะผู้ลี้ภัยในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2558[6]
เกียรติคุณ
[แก้]รางวัล
[แก้]ระหว่างรับราชการตำรวจ
[แก้]- พ.ศ. 2537 - ข้าราชการพลเรือนดีเด่น ได้รับเข็มเชิดชูเกียรติข้าราชการพลเรือนดีเด่น (ครุฑทองคำ) จากชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี[13]
- พ.ศ. 2554 - ปราบปรามยาเสพติดดีเด่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2554[13]
- พ.ศ. ไม่ปรากฏ - พนักงานสอบสวนดีเด่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 3 ปีติดต่อกัน[13][14]
ระหว่างลี้ภัย
[แก้]- พ.ศ. 2565 - รางวัลจิตร ภูมิศักดิ์ ด้านสิทธิมนุษยชน ประจำปี พ.ศ. 2565[15] โดย สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมูลนิธิจิตร ภูมิศักดิ์
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2555 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.)[16]
- พ.ศ. 2552 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์มงกุฎไทย (ป.ม.)[17]
- พ.ศ. 2530 – เหรียญราชการชายแดน (ช.ด.)[18]
- พ.ศ. 2548 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นที่ 6 เหรียญทองดิเรกคุณาภรณ์ (ร.ท.ภ.)[19]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "สรุปเส้นทางชีวิต 'พล.ต.ต.ปวีณ' จากหัวหน้าทีมสืบสวนคดีค้ามนุษย์ สู่ผู้ลี้ภัยในต่างแดน". The MATTER (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2022-04-25.
- ↑ 2.0 2.1 โรม, รังสิมันต์ (2022-02-18). "ตำรวจเลวได้ดี ตำรวจดีต้องลี้ภัย". พรรคก้าวไกล. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-06-10. สืบค้นเมื่อ 2023-02-02.
{{cite web}}
: ระบุ|accessdate=
และ|access-date=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ|archivedate=
และ|archive-date=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ|archiveurl=
และ|archive-url=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help) - ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ
- ↑ 'พล.ต.ต.ปวีณ' ลาออกจากตำรวจแล้ว
- ↑ ปวีณ พงศ์สิรินทร์ 7 ปีที่ลี้ภัย ราคาที่ต้องจ่ายของมือปราบค้ามนุษย์
- ↑ 6.0 6.1 6.2 6.3 6.4 6.5 6.6 กรมอัยการ. เครือรัฐออสเตรเลีย. 13 มกราคม 2016. Statutory Declaration of Paween Pongsirin
- ↑ รางวัลของคนทำงานคือการลี้ภัย
- ↑ โรม, รังสิมันต์ (2022-02-18). "ตำรวจเลวได้ดี ตำรวจดีต้องลี้ภัย". พรรคก้าวไกล. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-06-10. สืบค้นเมื่อ 2023-02-02.
{{cite web}}
: ระบุ|accessdate=
และ|access-date=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ|archivedate=
และ|archive-date=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ|archiveurl=
และ|archive-url=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help) - ↑ 9.0 9.1 "ปม (ลึก) 4 ปี "พล.ต.ต.ปวีณ" ลี้ภัยหนีจากไทย เจอตอใหญ่ "ใคร" ค้ามนุษย์". www.thairath.co.th. 2019-04-18.
- ↑ พึ่งเนตร, สุเมธ ปานเพชร, ปกรณ์ (2015-11-07). ""รองฯปวีณ"อยู่ไม่ไหว ตัดสินใจลาออกจากราชการ!". สำนักข่าวอิศรา.
- ↑ การให้สัมภาษ์ณ์ทางวิดีโอคอลเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2566
- ↑ "สรุปเส้นทางชีวิต 'พล.ต.ต.ปวีณ' จากหัวหน้าทีมสืบสวนคดีค้ามนุษย์ สู่ผู้ลี้ภัยในต่างแดน". The MATTER (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2022-04-25.
- ↑ 13.0 13.1 13.2 ""ปวีณ"อาสาจุดไม้ขีดไฟฝ่าความมืด!? เผยประวัติจากเด็กวัด มาถึงตำรวจน้ำดี". mgronline.com. 2015-11-09.
- ↑ ""อย่าร้องเป็นหมาแล้วกัน ถ้าวันหลังผมเอามาแฉ" พลตำรวจตรี ปวีณ พงศ์สิรินทร์". The Momentum (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2022-05-06. สืบค้นเมื่อ 2023-02-02.
- ↑ "สภานิสิตจุฬาฯ มอบรางวัล 'จิตร ภูมิศักดิ์' ด้านสิทธิมนุษยชน ให้ พล.ต.ต. ปวีณ อดีตหัวหน้าทีมสอบสวนคดีค้ามนุษย์โรฮิงญา". THE STANDARD. 2022-10-29.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก และเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๕๕ เก็บถาวร 2023-02-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๙ ตอนที่ ๓๕ ข หน้า ๕๖, ๓ ธันวาคม ๒๕๕๕. สืบค้นเมื่อ 2023-05-10
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก และเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๕๒, เล่ม ๑๒๖ ตอนที่ ๑๖ ข หน้า ๑ (เล่มที่ ๑), ๔ ธันวาคม ๒๕๕๒. สืบค้นเมื่อ 2023-05-10
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญราชการชายแดน, เล่ม ๑๐๕ ตอนที่ ๑๖ ฉบับพิเศษ หน้า ๑๗๕, ๒๗ มกราคม ๒๕๓๑. สืบค้นเมื่อ 2023-05-10
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ประจำปี ๒๕๔๘, เล่ม ๑๒๒ ตอนที่ ๒๓ ข หน้า ๑๗๙, ๓ มกราคม ๒๕๔๙. สืบค้นเมื่อ 2023-05-10