ประวัติกระทรวงการคลังไทย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

กระทรวงการคลัง คือหนึ่งใน 12 กระทรวงของประเทศไทย เป็นกระทรวงที่มีมาตั้งแต่โบราณ ในฐานะหนึ่งในจตุสดมภ์

การคลังของไทย ก่อนรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[แก้]

การบริหารการคลังของไทยได้ดำเนินมาเป็นเวลานาน นับตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นต้นมา แต่ยังมิได้จัดตั้งหน่วยงานเพื่อทำหน้าที่นี้โดยเฉพาะ รัฐบาลมีรายได้จาก ส่วยสาอากร หรือที่เรียกกันในปัจจุบันว่า ภาษีอากร 4 ชนิด ได้แก่ จังกอบ อากร ส่วย และ ฤชา ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ได้มีการจัดระเบียบการปกครองฝ่ายพลเรือนเป็น 4 แผนก เรียกว่า จตุสดมภ์ ซึ่งประกอบด้วย กรมเมือง กรมวัง กรมพระคลัง และ กรมนา โดยกรมพระคลังทำหน้าที่รักษาราชทรัพย์ผลประโยชน์ของบ้านเมือง มีขุนคลังเป็นหัวหน้าบังคับบัญชา และมีพระคลังสินค้าเป็นที่เก็บและรักษาส่วยสาอากร

ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ. 1991–2031) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปรับปรุงแก้ไขระบบราชการวางระเบียบการคลังการส่วยสาอากรและเศรษฐกิจให้รัดกุมทันสมัย ให้ตราพระราชบัญญัติทำเนียบราชการ โดยแบ่งราชการออกเป็นฝ่ายทหารและพลเรือนซึ่งใช้มาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ฝ่ายทหารมีสมุหพระกลาโหม เป็นหัวหน้าดำรงตำแหน่งอัครมหาเสนาบดี ฝ่ายพลเรือนมีสมุหนายกเป็นหัวหน้าดำรงตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีเช่นเดียวกัน และมีตำแหน่งเสนาบดีจตุสดมภ์อีก 4 ตำแหน่ง คือ

  1. พระยายมราช เสนาบดีกรมเมืองบังคับบัญชาการรักษาพระนครและความนครบาล
  2. พระยาธรรมาธิกรณ์ เสนาบดีกรมวัง บังคับบัญชาการที่เกี่ยวกับพระราชสำนักและพิจารณาคดีความของราษฎร
  3. พระยาราชภักดี (พระยาศรีธรรมราช) เสนาบดีกรมพระคลัง บังคับบัญชาเกี่ยวกับการจัดการรักษาพระราชทรัพย์ที่ได้จากส่วยสาอากรและบังคับบัญชากรมท่าซึ่งเกี่ยวกับการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ และยังมีหน้าที่เกี่ยวกับกรมพระคลังสินค้าการค้าสำเภาของหลวงด้วย
  4. พระยาพลเทพ เสนาบดีกรมนา บังคับบัญชาการเกี่ยวกับเรื่องนาและสวน การเพาะปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหาร

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2367–2394) พระองค์ทรงสนพระทัยที่จะปรับปรุงเศรษฐกิจของประเทศ ในยุคนั้นทางราชการมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินมากกว่าในแผ่นดินก่อนๆ ทรงพยายามหาวิธีเพิ่มรายได้แผ่นดินด้วยการให้ผูกขาดการเก็บภาษีอากร โดยอนุญาตให้เจ้าภาษี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวจีนในประเทศไทยเป็นผู้จัดเก็บภาษีอากรจากราษฎรโดยตรง ในแต่ละปีเจ้าภาษีจะเสนอรายได้สูงสุดในการจัดเก็บภาษีอากรแต่ละชนิดให้แก่รัฐบาล เมื่อได้รับอนุญาตจากรัฐบาลแล้ว เจ้าภาษีจัดแบ่งส่งเงินรายได้แก่รัฐบาลเป็นรายเดือนจนครบกำหนดที่ได้ประมูลไว้เป็นการเริ่มระบบเจ้าภาษีนายอากรนับแต่นั้นมา

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2394–2411) เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ โปรดฯตั้งข้าหลวงเดิมยกคุณช้างสัมพันธวงศ์มาเป็นพระยาราชภักดี [1]เป็นจางวางกรมพระคลังมหาสมบัติอยู่ตลอดรัชสมัย และไทยได้เปิดประตูการค้ากับประเทศตะวันตก นับตั้งแต่ได้มีการลงนามใน สนธิสัญญาเบาริง กับประเทศอังกฤษเมื่อปี พ.ศ. 2398 และกับประเทศอื่นๆ บทบัญญัติในสนธิสัญญาบาวริงมีผลให้ไทยต้องยกเลิกการค้าแบบผูกขาด โดยระบบพระคลังสินค้าอย่างเด็ดขาด เลิกล้มการเก็บภาษีเบิกร่องหรือค่าปากเรือ มีการจัดตั้ง ศุลกสถาน (Customs House) หรือ โรงภาษี จัดเก็บภาษีขาเข้าในอัตรา ร้อยชักสาม และภาษีขาออกตามที่ระบุไว้ในท้ายสัญญา ระบบการศุลกากรแบบใหม่ก็นำมาใช้นับแต่ครั้งนั้น

ภายหลังสนธิสัญญาบาวริง การค้าขายระหว่างไทยกับต่างประเทศเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว พ่อค้าชาวต่างประเทศได้นำเงินเหรียญดอลลาร์เม็กซิกันมาขอแลกเป็นเงินไทยมาก จนกระทั่งเงินบาทพดด้วงที่มีอยู่ไม่พอใช้หมุนเวียน ดังนั้นในพ.ศ. 2403 รัชกาลที่ 4 จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง โรงกษาปณ์สิทธิการ ขึ้นในพระบรมมหาราชวัง ผลิตเงินเหรียญด้วยเครื่องจักร มีทั้งที่ทำด้วย ทองคำ เงิน ดีบุก และทองแดงในราคาต่างกัน

การคลังของไทย ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2411–2453)[แก้]

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชสมบัตินั้น มีพระชันษาได้ 16 พรรษาเท่านั้น จึงมีสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ระหว่าง พ.ศ. 2411–2416 ครั้นเมื่อทรงบรรลุนิติภาวะแล้ว ได้ทรงรับมอบอำนาจการปกครองแผ่นดินจากสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ และทรงเริ่มพระราชกรณียกิจในการปรับปรุงแก้ไขการบริหารราชการแผ่นดินให้ทันสมัยทันที ได้มีการเปลี่ยนแปลงการบริหารงานการคลัง ซึ่งนำไปสู่การสถาปนากระทรวงการคลังขึ้นในรัชกาลนี้

การตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ พ.ศ. 2416[แก้]

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า การบริหารการคลังของประเทศประสบปัญหาเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีอากรและการจัดระบบการคลังหลายประการ

ประการแรก การจัดเก็บภาษีอากรไม่มีการจัดระบบให้ถูกต้อง การเงินของประเทศได้ถูกแบ่งไปอยู่ที่เจ้านายและขุนนางผู้มีอำนาจ โดยอำนาจการจัดเก็บภาษีอากรกระจายไปอยู่ตามกรมต่างๆ เช่น กรมพระคลังมหาสมบัติ กรมพระกลาโหม กรมมหาดไทย กรมนา และหน่วยพระคลังสินค้า เป็นต้น แล้วแต่เจ้ากรมผู้บังคับบัญชากรมนั้นๆ จะจัดเก็บตามประสงค์ ไม่เป็นระเบียบแบบแผนอันเดียวกันที่จะพึงปฏิบัติเยี่ยงอารยประเทศ นอกจากนี้ภาษีอากรที่กรมต่างๆ จัดเก็บได้ ซึ่งจะต้องมอบเงินส่วนหนึ่งให้กรมพระคลังมหาสมบัติ ก็ปรากฏว่าให้บ้างไม่ให้บ้าง กรมพระคลังมหาสมบัติเป็นเพียงแต่เจ้าพนักงานรับเงินหลวง ไม่มีอำนาจบังคับหรือเรียกร้องให้กรมต่างๆ ปฏิบัติตามแต่อย่างใดเพราะไม่มีระเบียบบัญญัติกฎหมายวางไว้ให้ทำเช่นนั้นได้ ทำให้เงินผลประโยชน์ของแผ่นดินรั่วไหลไปทางอื่นเสียเป็นอันมาก

ประการที่สอง ระบบเจ้าภาษีนายอากรไม่มีประสิทธิภาพ ตามที่รัฐบาลได้ให้เจ้าภาษีนายอากรรับผูกขาดการเก็บภาษีอากรชนิดต่างๆ และนำเงินส่งรัฐเพื่อเป็นรายได้นำมาทำนุบำรุงประเทศนั้น ปรากฏว่าในระยะแรกเจ้าภาษีนายอากรก็นำเงินส่งราชการเต็มตามจำนวนและตรงเวลา แต่เมื่อนานวันไปเจ้าภาษีนายอากรมักบิดพลิ้วผัดผ่อน ไม่ส่งเงินตามกำหนดและส่งให้ไม่ครบตามจำนวน อีกทั้งยังทำการรีดนาทาเร้นราษฎรให้ได้รับความเดือดร้อน เกิดระบบการยักยอก ฉ้อโกงเงินหลวงของเจ้าหน้าที่และเจ้าภาษีนายอากร จำนวนเงินที่รัฐควรจะได้ก็ไม่ครบตามจำนวนที่พึงได้ เป็นผลกระทบต่อเงินรายจ่ายของแผ่นดิน จนเกือบจะไม่พอใช้ในกิจการต่างๆ

ประการที่สาม การจัดทำบัญชีของกรมพระคลังมหาสมบัติไม่เรียบร้อย นับตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การทำบัญชีรับและจ่ายเงินของกรมพระคลังมหาสมบัติ มิได้มีปรากฏไว้เป็นแบบอย่างและเป็นหลักฐานให้ตรวจสอบได้ จึงไม่ทราบแน่นอนว่าในแต่ละปี รัฐได้รับเงินเท่าไร และจ่ายราชการไปเท่าไร มีกำไรหรือขาดทุน เมื่อพระคลังมหาสมบัติแต่ละคนดับสูญไป บัญชีนั้นก็สูญหายไปหมด ไม่มีการจัดแจงเรียบเรียงบัญชีไว้สำหรับแผ่นดิน เมื่อสิ้นปีก็มิได้งบบัญชีขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายให้ทรงทราบเป็นบัญชีข้างที่ไว้สำหรับทรงตรวจดูตัวเงินแผ่นดินว่ามีเงินมากน้อยเพียงใด

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2411 เป็นต้นมา เงินผลประโยชน์รายได้ของแผ่นดินลดลงไปมาก ในขณะที่การใช้จ่ายในกรมพระคลังมหาสมบัติเพิ่มรายการขึ้นทุกปี จนในที่สุดรายได้ไม่พอจ่ายต้องค้างชำระ รัฐบาลต้องเป็นหนี้สินอยู่เป็นอันมาก ดังปรากฏหลักฐานอยู่ในพระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ 5 ซึ่งทรงมีไปถึงสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ฉบับลงวันที่ 28 ตุลาคม ร.ศ. 122 ความตอนหนึ่งว่า

"…ในเวลาครึ่งปีต่อมา เงินภาษีอากรก็ลดเกือบหมดทุกอย่าง ลดลงไปเป็นลำดับ จนถึงปีมะแม ตรีศก (พ.ศ. 2414) เงินแผ่นดินที่เคยได้อยู่ปีละ 50,000–60,000 ชั่งนั้น เหลือจำนวนอยู่ 40,000 ชั่ง แต่ไม่ได้ตัวเงินกี่มากน้อย แต่เงินเบี้ยหวัดปีละ 11,000 ชั่ง ก็วิ่งตาแตก ได้เงินในคลังมหาสมบัติ ซึ่งเป็นของเจ้าหน้าที่วิ่งมาหาเป็นพื้น นอกนั้นก็ปล่อยค้าง ที่ได้เงินตัวจริงมีประมาณ 20,000 ชั่งเท่านั้น เงินไม่พอจ่ายราชการก็ต้องเป็นหนี้…"

ดังนั้นเมื่อได้เสด็จขึ้นว่าราชการแผ่นดินโดยเด็ดขาด จึงทรงเริ่มทำการปฏิรูปการคลังโดยโปรดเกล้าฯ ให้ ตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2416 ในพระบรมมหาราชวัง ให้เป็นที่ทำการของเจ้าพนักงานพระคลังมหาสมบัติ และให้มีพนักงานบัญชีกลางสำหรับรวบรวมบัญชีเงินผลประโยชน์แผ่นดินและตรวจตราการเก็บภาษีอากรซึ่งกระทรวงต่างๆ เป็นเจ้าหน้าที่เก็บนั้น ให้รู้ว่าเป็นจำนวนเงินเท่าใด และเร่งเรียกเงินของแผ่นดินในด้านภาษีอากรให้ส่งเข้าพระคลังมหาสมบัติตามกำหนด พร้อมกันนั้นได้ทรงตราพระราชบัญญัติสำหรับหอรัษฎากรพิพัฒน์ จุลศักราช 1235 หรือ พ.ศ. 2416

จากพระราชบัญญัติสำหรับหอรัษฎากรพิพัฒน์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานอำนาจแก่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ ทรงจัดให้มีเจ้าพนักงานบัญชีกลางรวบรวมพระราชทรัพย์ ซึ่งขึ้นในท้องพระคลังทั้งปวงตั้งสำนักงานอยู่ในหอรัษฎากรพิพัฒน์ในพระบรมมหาราชวัง ให้มีแบบธรรมเนียมที่เจ้าภาษีนายอากรต้องปฏิบัติในการรับประมูลผูกขาดจัดเก็บภาษีอากร ให้มีเจ้าจำนวนภาษีของพระคลังทั้งปวงมาทำงานในสำนักงานเป็นประจำ เพื่อตรวจตราเงินภาษีอากรที่เจ้าภาษีนายอากรนำส่งต่อพระคลังแต่ละแห่ง โดยครบถ้วนตามงวดที่กำหนดให้

การกำหนดหน้าที่ของเจ้าพนักงานหอรัษฎากรพิพัฒน์ และระเบียบข้อบังคับให้เจ้าภาษีนายอากรปฏิบัติโดยเคร่งครัด เป็นการตัดผลประโยชน์ของเจ้าพนักงานทั้งปวง จึงกล่าวได้ว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงวางรากฐานระเบียบการปฏิบัติการภาษีอากรและการเงินของประเทศไว้เป็นครั้งแรก ทำให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มมากขึ้น

ในปี พ.ศ. 2418 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แยกกรมท่าซึ่งอยู่ในบังคับบัญชาของกรมพระคลังมาแต่ครั้งสมัยพระบรมไตรโลกนาถออกจากกรมพระคลังมหาสมบัติ โดยให้กรมท่ามีหน้าที่เกี่ยวกับการต่างประเทศ

พระราชบัญญัติกรมพระคลังมหาสมบัติ จุลศักราช 1237[แก้]

ภายหลังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงวางระเบียบสำหรับปรับปรุงการคลังของประเทศตามพระราชบัญญัติสำหรับหอรัษฎากรพิพัฒน์ไปแล้ว ทรงพระราชดำริว่า การภาษีอากรอันเป็นเงินผลประโยชน์ก้อนใหญ่สำหรับใช้จ่ายในราชการทำนุบำรุงบ้านเมือง และใช้จ่ายเป็นเบี้ยหวัดเงินเดือนข้าราชการฝ่ายทหารและพลเรือนนั้น พระคลังมหาสมบัติยังจัดไม่รัดกุมเป็นระเบียบเรียบร้อย เงินผลประโยชน์ของรัฐบาลยังกระจัดกระจายตกค้างอยู่กับเจ้าภาษีนายอากรเป็นจำนวนมาก เป็นเหตุให้เงินยังไม่พอใช้จ่ายในราชการและทำนุบำรุงบ้านเมืองให้สมดุล จึงทรงปรึกษากับสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน หรือเคาน์ซิลเลอร์ ออฟ สเตด (Councillors of State) พร้อมด้วยคณะเสนาบดี ตราพระราชบัญญัติกรมพระคลังมหาสมบัติ จุลศักราช 1237 ขึ้นเมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2418 ว่าด้วยกรมต่างๆ ซึ่งจะเบิกเงินส่งเงินของทางราชการ

พระราชบัญญัติสำหรับกรมพระคลังมหาสมบัติฉบับนี้ถือได้ว่าเป็นกฎหมายงบประมาณฉบับแรกของเมืองไทย ดังปรากฏอยู่ในมาตราที่ 1 และมาตราที่ 2 ของพระราชบัญญัติ และจากพระราชบัญญัติฉบับนี้ เห็นได้ว่า กรมพระคลังมหาสมบัติมีฐานะเป็นกระทรวงเพราะใช้คำภาษาอังกฤษเพื่อเรียกอธิบดีว่า มินิสเตอร์ ออฟ ฟิแนนซ์ (Ministry of Finance)

เมื่อเปรียบเทียบเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบตามที่ปรากฏในพระราชบัญญัติสำหรับกรมพระคลังมหาสมบัติกับหน่วยงานในกระทรวงการคลังสมัยปัจจุบัน ก็จะเห็นได้ดังนี้

  1. เจ้าพนักงานบัญชีรับเงิน อำนาจและหน้าที่ของเจ้าพนักงานผู้นี้เป็นหน้าที่ของกรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร
  2. เจ้าพนักงานบัญชีจ่ายเงิน และเจ้าพนักงานผู้เก็บเงิน เป็นอำนาจและหน้าที่ของกรมธนารักษ์
  3. ปลัดอธิบดี เทียบเท่ากับ ปลัดกระทรวง และอธิบดีกรมบัญชีกลาง
  4. เจ้าพนักงานใหญ่ ก็คือประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน

กรมพระคลังมหาสมบัติตามที่กล่าวมาแล้วนี้ ก็คือกระทรวงการคลังในปัจจุบันนั่นเอง และโดยที่กรมพระคลังมหาสมบัติได้รับการสถาปนาขึ้น ณ วันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2418 จึงถือเอาวันนี้เป็นวันสถาปนากระทรวงการคลัง นับถึงบัดนี้เป็นปีที่ 120

ประมาณปี พ.ศ. 2431 ได้มีการย้ายศุลกสถานหรือโรงภาษี ซึ่งเป็นที่ทำการของกรมศุลกากรจากปากคลองผดุงกรุงเกษม มาอยู่ที่ริมแม่น้ำ อำเภอบางรัก

ยกฐานะกรมพระคลังมหาสมบัติเป็นกระทรวง พ.ศ. 2433[แก้]

ในปี พ.ศ. 2430 เมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ จะเสด็จเป็นผู้แทนพระองค์ไปช่วยงานฉลองรัชกาลสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย ครบ 50 ปี ณ สหราชอาณาจักร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตรัสสั่งให้ไปพิจารณาดูแบบอย่างการปกครองของประเทศในทวีปยุโรป เมื่อสมเด็จกรมพระยาเทววงศ์วโรปการเสด็จกลับมา ก็ถวายรายงานให้ทรงทราบ ในปี พ.ศ. 2433 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติพระธรรมนูญการปกครองแผ่นดินขึ้น กำหนดการปกครองส่วนกลางเป็นกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นการปฏิรูปการปกครองของไทยให้ทันสมัย กรมพระคลังมหาสมบัติจึงได้รับการยกฐานะเป็นกระทรวง

พระราชบัญญัติพระธรรมนูญหน้าที่ราชการในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ร.ศ. 109[แก้]

ใน พ.ศ. 2433 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า เมื่อกรมพระคลังมหาสมบัติได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นกระทรวงแล้ว ตำแหน่งเจ้าพนักงานต่างๆ ซึ่งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติกรมพระคลังมหาสมบัติ พ.ศ. 2418 ไม่เพียงพอแก่ราชการที่เป็นอยู่ ตำแหน่งและหน้าที่ของผู้จะมารับราชการตามพระราชบัญญัติเดิมนั้น ก็ยังเป็นการบกพร่อง ขาดเกิน ก้าวก่ายไม่เรียบร้อย สมควรจะได้จัดการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติแบ่งกรมและตำแหน่งหน้าที่ ให้เหมาะสมแก่กาลสมัย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ตราพระราชบัญญัติพระธรรมนูญหน้าที่ราชการในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติขึ้น เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2433

พระราชบัญญัติฉบับนี้ กำหนดให้กระทรวงมหาสมบัติมีหน้าที่สำหรับ รับ จ่าย และรักษาเงินแผ่นดินทั้งสรรพราชสมบัติพัสดุทั้งปวง กับถือบัญชีพระราชทรัพย์สำหรับแผ่นดินทั้งสิ้น และเก็บภาษีอากรเงินขึ้นแผ่นดินตลอดทั่วพระราชอาณาจักร มีเสนาบดีรับผิดชอบบังคับราชการในกระทรวงสิทธิ์ขาด ประกอบด้วยกรมเจ้ากระทรวงและกรมขึ้น รวมเป็นกรมใหญ่ 13 กรม ดังนี้

  • กรมเจ้ากระทรวง มี 5 กรมย่อย ได้แก่
    1. กรมพระคลังกลาง มีหน้าที่ประมาณการรับจ่ายเงินแผ่นดินว่าด้วยภาษีอากรและบังคับบัญชาราชการในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติทั้งหมด
    2. กรมสารบาญชี มีหน้าที่รับจ่ายเงินแผ่นดินและถือสารบาญชีพระราชทรัพย์ทั้งหมด
    3. กรมตรวจ มีหน้าที่ตรวจบัญชี ตรวจราคา ตรวจรายงานการรับจ่ายเงินแผ่นดิน และสรรพราชสมบัติการภาษีอากรทั้งหมด
    4. กรมเก็บ มีหน้าที่รักษาพระราชทรัพย์ทั้งหมด
    5. กรมพระคลังข้างที่ มีหน้าที่จัดการเงินในพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
  • กรมขึ้น มี 8 กรม แบ่งเป็น 2 แผนก คือ
    • กรมทำการแผ่นดิน มี 3 กรมย่อย คือ
      1. กรมกระสาปนสิทธิการมีหน้าที่ทำเงินตรา
      2. กรมพิมพ์ธนบัตร มีหน้าที่ทำเงินกระดาษและตั๋วตรา
      3. กรมราชพัสดุ มีหน้าที่จัดการซื้อจ่ายของห้างหลวง และรับจ่ายของส่วย
    • กรมเจ้าจำนวนเก็บเงินภาษีอากรมี 5 กรมย่อย คือ
      1. กรมส่วย มีหน้าที่เร่งเงินค่าราชการตัวเลขและค่าธรรมเนียม
      2. กรมสรรพากร มีหน้าที่จัดเก็บเงินอากรต่าง ๆ
      3. กรมสรรพภาษี มีหน้าที่เก็บเงินภาษีต่าง ๆ
      4. กรมอากรที่ดิน มีหน้าที่เก็บเงินอากร ค่าที่ต่าง ๆ
      5. กรมศุลกากร มีหน้าที่เก็บเงินภาษีขาเข้า ขาออก

โดยผลแห่งพระราชบัญญัติพระธรรมนูญหน้าที่ราชการในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ กรมสรรพากรจึงถือเอาวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2433 เป็นวันสถาปนากรมและกรมบัญชีกลางกำหนดให้วันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2433 เป็นวันสถาปนากรมตามลำดับ

การปฏิรูปการปกครองส่วนกลาง พ.ศ. 2436[แก้]

เหมือนหัวข้อ การปฏิรูปการปกครองส่วนกลาง พ.ศ. 2435
เพื่อให้การจัดระเบียบราชการส่วนกลางเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้แบ่งหน่วยราชการส่วนกลางเป็น 12 กระทรวง จัดสรรอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของแต่ละกระทรวงให้เป็นสัดส่วน ไม่ก้าวก่ายในการปฏิบัติราชการ โดยมีพระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งกระทรวงแบบใหม่ ขึ้นเมื่อวันที่ 1 เมษายนพ.ศ. 2435 กระทรวงทั้ง 12 กระทรวงมีดังนี้

  1. กระทรวงมหาดไทย
  2. กระทรวงกลาโหม
  3. กระทรวงการต่างประเทศ
  4. กระทรวงวัง
  5. กระทรวงนครบาล
  6. กระทรวงเกษตราธิการ
  7. กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ
  8. กระทรวงยุติธรรม
  9. กระทรวงยุทธนาธิการ
  10. กระทรวงธรรมการ
  11. กระทรวงโยธาธิการ
  12. กระทรวงมุรธาธิการ

ทรงประกาศตั้งเสนาบดีเจ้ากระทรวงต่าง ๆ ขึ้นให้มีศักดิ์เสมอกันทั้ง 12 กระทรวง ยุบเลิกตำแหน่งอัครมหาเสนาบดี และเสนาบดีจตุสดมภ์

พระบรมราชโองการฉบับนี้ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์ เป็นเสนาบดีกระทรวงการคลังพระมหาสมบัติ แต่เนื่องจากทรงพระประชวร กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ จึงทรงปฏิบัติราชการแทนต่อมาในปีเดียวกัน วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2435 ได้มีประกาศเปลี่ยนแปลงตำแหน่งเสนาบดี โดยให้กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงการคลังมหาสมบัติแทน

ในปี พ.ศ. 2435 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมพระคลังข้างที่ ซึ่งแต่เดิมสังกัดกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ให้มาสังกัดกระทรวงมุรธาธิการ ปัจจุบัน กรมพระคลังข้างที่ได้เปลี่ยนมาเป็นสำนักงานพระคลังข้างที่สังกัดอยู่ในสำนักพระราชวัง

การยกเลิกระบบเจ้าภาษีอากรเปลี่ยนมาเป็นรัฐบาลจัดเก็บภาษีอากรเอง[แก้]

นับตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว การเก็บภาษีอากรจากราษฎรใช้วิธีการประมูลผูกขาด ให้เจ้าภาษีนายอากรรับผูกขาดไปเก็บภาษีจากราษฎรทุกปี ปรากฏว่าวิธีการดังกล่าวนี้ไม่มีประสิทธิภาพรัฐบาลไม่ได้รับเงินผลประโยชน์ครบตามจำนวน ถึงแม้ว่าจะได้มีการปรับปรุงมาตรการต่างๆ เช่น การตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ พ.ศ. 2416 แล้วก็ตาม ในปี พ.ศ. 2436 พันเอกพระยาฤทธิรงค์รณเฉท (สุข ชูโต) สมุหเทศาภิบาลมณฑลปราจีนบุรี ได้เสนอให้เจ้าพนักงานของรัฐบาลจัดเก็บภาษีอากรเอง ในสมัยพี่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีสิทธิธงไชย กรมขุนสิริธัชสังกาศ เป็นเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ แต่ยังไม่ได้ดำเนินการอย่างใด จนกระทั่งเมื่อ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไชยันตมงคล กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย มาเป็นเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ (พ.ศ. 2439–2449) ทรงทราบเรื่องและทรงเห็นว่าเป็นผลดีสมตามความมุ่งหมายของรัฐบาล จึงมีพระประสงค์จะปรับปรุงแก้ไขวิธีการเก็บภาษีอากร และได้กราบทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสนอวิธีการปรับปรุงการเก็บภาษีอากรใหม่ยกเลิกการประมูลผูกขาดเก็บภาษีอากรเปลี่ยนมาเป็นรัฐบาลดำเนินการจัดเก็บเอง ครั้นเมื่อได้รับพระบรมราชานุญาตแล้ว ก็เตรียมการในเรื่องนี้ต่อไป

การจ้างที่ปรึกษาชาวต่างประเทศในกิจการคลัง[แก้]

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อจะทรงปรับปรุงประเทศให้ทันสมัย จำเป็นต้องใช้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถ แต่ข้าราชการไทยในเวลานั้นยังขาดความรู้และประสบการณ์ จึงทรงเห็นควรจ้างชาวต่างประเทศที่รู้งานเข้ามารับราชการ และเป็นที่ปรึกษากระทรวงพระคลังมหาสมบัติได้จ้างชาวต่างประเทศที่มีความรู้ในด้านการคลังมาทำงานหลายคน ได้แก่

  • มิสเตอร์ อี.โฟล ริโอ เข้ารับราชการในกรมสารบาญชี เมื่อปี พ.ศ. 2436 ท่านได้วางรูปบัญชีแบบสากลเป็นคนแรก ซี่งใช้ถือปฏิบัติในกรมบัญชีกลางสืบมา
  • มิสเตอร์ เอฟ.เอช. ไยลส์ และ มิสเตอร์ดับเบิลยู เอ. เกรแฮม ชาวอังกฤษจากอินเดีย ช่วยเตรียมวิธีการปรับปรุงให้เจ้าพนักงานของรัฐบาลเป็นผู้จัดเก็บภาษีอากรเอง เมื่อปี พ.ศ. 2440
  • มิสเตอร์ริเวต คาแวค ชาวอังกฤษตำแหน่งที่ปรึกษากระทรวงพระคลังมหาสมบัติใน พ.ศ. 2441 ได้เสนอความเห็นให้แยกการสรรพากรออกจากกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ไปอยู่ในบังคับของกระทรวงมหาดไทย เพื่อมิให้เกิดการทุจริตฉ้อเงินและผลประโยชน์ของแผ่นดิน ซึ่งรัชกาลที่ 5 ทรงเห็นชอบด้วย ใน พ.ศ. 2442 จึงให้ยกกรมสรรพากรนอกมาขึ้นกระทรวงมหาดไทย แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้มิสเตอร์ไยลส์ เป็นเจ้ากรมกรมสรรพากรนอก ส่วนมิสเตอร์เกรแฮมได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้ากรมกรมสรรพากรใน ขึ้นอยู่กับกระทรวงนครบาล และมิสเตอร์คาแวคก็ได้รับแต่งตั้งเป็นอธิบดีกรมบาญชีกลาง (พ.ศ. 2443–2445)

การทำงบประมาณแผ่นดิน[แก้]

เพื่อให้การรับจ่ายเงินของแผ่นดินเป็นไปอย่างรัดกุมใน พ.ศ. 2439 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้มีการจัดทำงบประมาณแผ่นดินขึ้นเป็นครั้งแรก กระทรวงพระคลังมหาสมบัติเริ่มวางระเบียบการจัดงบประมาณรายจ่าย แล้วรวบรวมขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต และจะไม่มีการจ่ายเงินเกินงบประมาณโดยที่มิได้รับความเห็นชอบจากองค์พระมหากษัตริย์เสียก่อน นอกจากนี้ ยังวางระเบียบการควบคุมการใช้จ่ายเงินของกระทรวงและกรมต่างๆ ทั้งหมด การจัดงบประมาณอย่างคร่าวๆนี้ เป็นการกำหนดรายจ่ายมิให้เกินกำลังของเงินรายได้ เพื่อรักษาดุลยภาพและความมั่นคงของฐานะการคลังของประเทศ ใน พ.ศ. 2444 รัฐบาลสามารถจัดพิมพ์งบประมาณรายรับรายจ่ายแผ่นดินขึ้นเป็นครั้งแรก

อนึ่ง ในการจัดทำงบประมาณแผ่นดินนี้ โปรดฯให้แยกการเงินส่วนแผ่นดิน และส่วนพระองค์ออกจากกันอย่างเด็ดขาด พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์นั้น ให้ พระคลังข้างที่ เป็นผู้จัดการดูแล

การคลังของไทย ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จนถึงสมัยการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475[แก้]

ตั้งกรมพระคลังมหาสมบัติ[แก้]

เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติในปี พ.ศ. 2453 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวบรัดพระคลังในท้องที่ต่างๆทั่วพระราชอาณาจักร เข้ามาอยู่ในบังคับบัญชาของกระทรวงมหาสมบัติ กรมพระจันทบุรีนฤนาถก็ได้ดำเนินการตามแนวทางนี้จนสำเร็จ

ในพระราชบัญญัติพระธรรมนูญหน้าที่ราชการในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ พ.ศ. 2433 กรมเก็บในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ทำหน้าที่เป็นพระคลังแผ่นดินสำหรับจ่ายและรักษาพระราชทรัพย์ทั้งปวงในกรุงเทพมหานคร และเป็นต้นเรื่องรับส่งเงินแผ่นดินถึงพระคลังในหัวเมืองทั่วพระราชอาณาจักร แต่ชื่อเรียกกรมเก็บนี้ ไม่เหมาะสมกับขอบเขตหน้าที่การงาน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนามกรมเก็บเป็นกรมพระคลังมหาสมบัติ ตามประกาศ ณ วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2454

สำหรับการรวบรัดคลังหัวเมืองมาอยู่ในบังคับบัญชาของกระทรวงพระคลังมหาสมบัติก็สำเร็จสมบูรณ์ด้วยการโอนคลังในจังหวัดต่าง ๆ แห่งมณฑลกรุงเทพฯ ซึ่งเดิมอยู่ในกระทรวงนครบาลมาขึ้นกับกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2458 เป็นต้นไป

ในปี พ.ศ. 2456 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2456 เพื่อวางระเบียบกำหนดเวลาที่กระทรวงต่าง ๆ จะต้องยื่นงบประมาณต่อกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ เวลาที่จะต้องทูลเกล้าฯ ถวาย กับเวลาที่จะพระราชทานพระบรมราชานุญาตและกำหนดวิธีการจ่ายเงินนอกงบประมาณในระหว่างปี การใช้จ่ายเงินงบประมาณของแต่ละปี กำหนดให้สิ้นสุดในวันที่ 31 มีนาคม ของปีงบประมาณนั้น

การรวมกรมสรรพากรในและกรมสรรพากรนอกเป็นกรมสรรพากร[แก้]

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้มีกรมราชการขึ้น 2 กรมคือ กรมสรรพากรในและกรมสรรพากรนอก ขึ้นอยู่ในกระทรวงนครบาล และกระทรวงมหาดไทยตามลำดับ

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่าหน้าที่ของกรมสรรพากรในและกรมสรรพากรนอกนี้ ไม่สมควรที่จะอยู่ในกระทรวงฝ่ายปกครอง น่าจะได้มาอยู่ในเสนาบดีที่มีหน้าที่ทางการเงิน เพื่อจะได้จัดการตรวจตราและจัดการให้เป็นประโยชน์งอกงามขึ้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกกรมสรรพากรในและกรมสรรพากรนอกมาขึ้นอยู่ในบังคับบัญชาพระคลังมหาสมบัติ และรวมกรมสรรพากรในและกรมสรรพากรนอกเป็นกรมเดียวกัน เรียกว่า กรมสรรพากร

ตั้งกรมตรวจเงินแผ่นดิน[แก้]

เนื่องจากเงินรายได้และรายจ่ายของประเทศไทยมีจำนวนมากขึ้นโดยลำดับ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า ควรจะมีการตรวจตราการรับจ่ายและการรักษาเงินให้รัดกุมยิ่งขึ้น โดยมีเจ้าหน้าที่เฉพาะสำหรับปฏิบัติการนี้แผนกหนึ่ง จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้ง กรมตรวจเงินแผ่นดิน ขึ้นในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติตามประกาศตั้งกรมตรวจเงินแผ่นดิน ณ วันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2458 ให้ทำหน้าที่ตรวจตราเจ้าหน้าที่ต่าง ๆ ซึ่งทำการรับหรือจ่ายเงินแผ่นดินและเงินอื่น ๆ ที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบ และอาศัยอำนาจแห่งพระราชบัญญัตินี้ เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติได้ออกประกาศระบุหน้าที่การงานต่าง ๆ ซึ่งกรมตรวจเงินแผ่นดินจะต้องตรวจตรา และวิธีการที่จะต้องปฏิบัติ

กรมบาญชีกลาง[แก้]

เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรมตรวจเงินแผ่นดินนั้น เพื่อมิให้กรมใหม่ที่ตั้งขึ้นนี้ มีหน้าที่ปะปนกับกรมตรวจและกรมสารบาญชี ซึ่งมีอยู่แล้วแต่เดิมในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ และทรงพระราชดำริเห็นว่านามกรมและหน้าที่ราชการของกรมตรวจเงินในแผ่นดินจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าปะปนกับกรมตรวจและกรมสารบาญชี จึงเปลี่ยนนามกรมตรวจและกรมสารบาญชีเป็นกรมบาญชีกลาง ตามประกาศวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2458 มีหน้าที่จัดระเบียบการประมวลบัญชีเงินรายได้และรายจ่ายของแผ่นดิน และสอบสวนการเบิกจ่ายเพื่อรักษารูปงบประมาณกับเพื่อให้การเบิกจ่ายได้ปฏิบัติไปตามความมุ่งหมายของการงบประมาณ ทั้งกำหนดหน้าที่ของกรมบาญชีกลางไว้

ตั้งกรมสถิติพยากรณ์[แก้]

การวางนโยบายการปฏิบัติราชการของหน่วยงานต่าง ๆ ย่อมต้องอาศัยความรู้ในความเป็นไปของบ้านเมืองและราษฎร เป็นพื้นฐานแห่งนโยบายนั้น สถิติของบ้านเมือง กระทรวงบางแห่งได้เคยเก็บรักษาไว้ แต่เพื่อจะให้ได้รับประโยชน์ยิ่งขึ้นจากสถิติเหล่านี้ก็สมควรมีเจ้าหน้าที่กองกลาง เป็นผู้รวบรวมข้อความและตัวเลขต่าง ๆ แสดงสถิติของบ้านเมืองขึ้นเป็นพยากรณ์สำหรับประโยชน์ทั่วไป พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จังตั้งกรมสถิติพยากรณ์ขึ้นในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2458 ภายหลังได้รับการยกฐานะเป็นกระทรวงพาณิชย์ในปี พ.ศ. 2463

กรมศุลกากร[แก้]

เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 (พ.ศ. 2457–2461) ประเทศไทยได้ประกาศสงครามเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งเป็นฝ่ายชนะสงครามภายหลังสงครามประเทศไทยถือโอกาสเจรจายกเลิกสัญญาที่ไม่เป็นธรรมกับนานาประเทศ ซึ่งได้ทำไว้ตั้งแต่ครั้งสนธิสัญญาบาวริง โดยเฉพาะในเรื่องพิกัดศุลกากรซึ่งเดิมเราจะเก็บภาษีศุลกากรเกินกว่าร้อยชักสามไม่ได้ ในการนี้รัฐบาลได้ แต่งตั้งให้ ดร.ฟรานซิส บี.แซร์ ที่ปรึกษากระทรวงต่างประเทศ ไปเจรจาแก้ไขสนธิสัญญากับประเทศต่าง ๆ จนประสบความสำเร็จในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยตามสนธิสัญญาฉบับใหม่ ไทยมีอิสระสมบูรณ์ที่จะตั้งพิกัดอัตราศุลกากรได้เต็มที่

ในการเจรจาแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีศุลกากร ปรากฏว่าในสมัยที่พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพร้อมพงษ์อธิราช ทรงดำรงตำแหน่งอธิบดี และ มร.วิลเลียมนันท์ เป็นที่ปรึกษาศุลกากร ทางการได้จัดร่างกฎหมายวางระเบียบวิธีการศุลกากรขึ้นฉบับหนึ่ง โดยอาศัยตามหลักกฎหมายอังกฤษเป็นแบบฉบับ แล้วส่งไปให้นานาประเทศที่มีสัญญาทางพระราชไมตรีกับประเทศไทย พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน หลังจากนั้นจึงประกาศใช้เป็นกฎหมายนั่นคือ พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา กิจการศุลกากรได้ดำเนินไปอย่างกว้างขวางมีอิสระสมบูรณ์ทุกประการ

ส่วนในด้านพิกัดอัตราศุลกากรก็เช่นเดียวกัน ประเทศไทยได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติพิกัดอัตราศุลกากรฉบับปฐมฤกษ์ เมื่อปี พ.ศ. 2469 ปีเดียวกันนี้ด้วย

ใน พ.ศ. 2471 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติเงินตรา พุทธศักราช 2471 ในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติกำหนดให้มีกรมราชการกรมหนึ่งเป็นกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ เรียกว่า กรมเงินตรา มีหน้าที่กระทำกิจทั้งปวงอันเกี่ยวแก่การจำหน่ายและถอนคืนธนบัตร ต่อมาทรงพระราชดำริว่า กิจทั้งปวงซึ่งกรมเงินตราจะพึงปฏิบัติดังกล่าวมานี้ กรมธนบัตรซึ่งตั้งขึ้นตามบทบัญญัติในพระราชบัญญัติธนบัตรสยาม รัตนโกสินทร์ศก 121 ได้ปฏิบัติอยู่แล้วจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนามกรมธนบัตรว่า "กรมเงินตรา" และให้อธิบดีกรมบาญชีกลางเป็นผู้บังคับบัญชากรมเงินตรา ตามประกาศเปลี่ยนนามกรมธนบัตรเป็นกรมเงินตรา ณ วันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2471

ในปี พ.ศ. 2473 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ยุบกรมกระษาปณ์สิทธิการลงมามีฐานะเป็นโรงงานขึ้นกับกรมฝิ่นหลวงหรือกรมสรรพสามิตในปัจจุบัน ทั้งนี้เนื่องมาจากเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรง ด้วยเหตุนี้โรงกษาปณ์ไทยจึงหยุดการผลิตเหรียญกษาปณ์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

การสรรพากรในสมัยที่พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพากร (พ.ศ. 2473–2478) ได้มีการรวมกรมสุราเข้ามาอยู่ในกรมสรรพากร เนื่องจากพิจารณาเห็นว่ากรมทั้งสองมีหน้าที่และกิจการพิจารณาเห็นว่ากรมเกี่ยวพันกันอยู่ แต่การรวมนี้เป็นไปได้เพียงปีเดียว ก็มีประกาศพระบรมราชโองการแยกกรมสุราออกจากกรมสรรพากรไปตั้งเป็นอีกกรมหนึ่งต่างหาก และโดยที่ทรงพิจารณาเห็นว่า ต่อไปภายหน้าจะมีกิจการอื่นเพิ่มขึ้นอีก สมควรเปลี่ยนนามกรมนี้ให้เหมาะแก่หน้าที่ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนามกรมสุรา เป็นกรมสรรพสามิตต์

การคลังของไทยตั้งแต่สมัยการเปลี่ยนแปลงการปกครองถึงปัจจุบัน[แก้]

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 คณะราษฎรซึ่งประกอบด้วยทหารบก ทหารเรือ และพลเรือนได้ร่วมกันทำการปฏิวัติ โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยโดยมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดและมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ ในแถลงการณ์ของคณะราษฎรได้กล่าวถึงการปรับปรุงประเทศทางด้านเศรษฐกิจอยู่ด้วย เมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรี ก็ได้ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติด้วย

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง คณะกรรมการราษฎรได้ผลักดันให้มีการแก้ไขโครงสร้างของระบบภาษีอากรเพื่อให้ความเป็นธรรมแก่สังคมยิ่งขึ้น แต่เดิมมาภาระภาษีตกอยู่แก่คนกลุ่มเดียวคือกสิกร เมื่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศตกต่ำลง ก็เกิดความอัตคัดฝืดเคืองทั่วไป ราษฎรประสบความยากลำบากในการประกอบอาชีพและการเสียภาษีให้รัฐ ดังนั้นเพื่อเฉลี่ยภาระแห่งภาษีออกไปในลักษณะที่เป็นธรรม จึงให้ยกเลิกภาษีอากรเก่าๆ ให้มีการจัดเก็บภาษีขึ้นใหม่ให้เหมาะสมแก่ความเจริญของบ้านเมือง ในปี พ.ศ. 2475 ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติภาษีต่าง ๆ ขึ้น การปรับปรุงกฎหมายภาษีอากรครั้งนี้ นับว่าเป็นรากฐานของกฎหมายประมวลรัษฎากรในปัจจุบัน

นอกจากนี้ คณะกรรมการราษฎรได้พิจารณาปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับกาลสมัย ในการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2476 ได้มีการประกาศใช้กฎหมาย 2 ฉบับ กฎหมายฉบับแรกได้แก่ พระราชบัญญัติว่าด้วยธรรมนูญราชการฝ่ายพลเรือน พ.ศ. 2476 โดยมีสาระสำคัญว่า ให้แบ่งการบริหารราชการแผ่นดินเป็นกระทรวง มีรัฐมนตรีเป็นผู้ว่าการ ในกระทรวงหนึ่งอาจแบ่งราชการออกเป็นกรมเลขานุการรัฐมนตรี กรมปลัด และกรมอื่น ๆ ตามความจำเป็น กฎหมายอีกฉบับหนึ่ง คือ พระราชบัญญัติจัดตั้งกระทรวงและกรม พ.ศ. 2476 ให้มีกระทรวงรวม 7 กระทรวง โดยกระทรวงพระคลังมหาสมบัติมีกรมขึ้นรวมทั้งกรมเลขานุการรัฐมนตรีและกรมปลัดเป็น 8 กรม ตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ ได้เปลี่ยนนามกระทรวงพระคลังมหาสมบัติเป็นกระทรวงพระคลัง และในวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2476 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีประกาศพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบกรมในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงดังนี้

1. แยกหน้าที่กรมพระคลังมหาสมบัติซึ่งเดิมรวมอยู่ในกรมบาญชีกลาง ไปตั้งเป็นกรมใหม่ขึ้นอีกกรมหนึ่งพร้อมกับได้รวมกรมพระคลังมหาสมบัติ กรมเงินตรา กรมรักษาที่หลวงและกัลปนา และกรมกระษาปณ์สิทธิการเข้าด้วยกัน เรียกชื่อกรมใหม่นี้ว่ากรมพระคลัง กองกระษาปณ์เริ่มทำการผลิตเหรียญกษาปณ์ออกให้ประชาชนจ่ายแลกตามปกติ 2. เปลี่ยนนามกรมบาญชีกลางเป็นกรมบัญชีกลาง 3. รวมกรมสรรพสามิตต์และกรมฝิ่นเป็นกรมเดียวกัน แยกออกจากรมสรรพากร เรียกชื่อว่า กรมสรรพสามิตต์และฝิ่น

ต่อมาในวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 พระยาพหลพลพยุหเสนาได้ทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศและจัดตั้งคณะรัฐบาลชุดใหม่ขึ้น ได้มีการจัดระเบียบราชการบริหารประเทศอีกครั้งหนึ่ง

ในวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2476 ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2476 และพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบกรมในกระทรวงการคลัง พ.ศ. 2476

4. แก้ไขนามกระทรวงพระคลัง เป็นกระทรวงการคลัง 5. แก้ไขนามกรมพระคลัง เป็นกรมคลัง 6. แก้ไขนามกรมสรรพสามิตต์และฝิ่น เป็นกรมสรรพสามิตต์

จากพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2476 กระทรวงการคลังได้แบ่งส่วนราชการเป็น 8 กรม ได้แก่

  1. สำนักงานเลขานุการรัฐมนตรี
  2. สำนักงานปลัดกระทรวง
  3. กรมคลัง
  4. กรมบัญชีกลาง
  5. กรมพัศดุ
  6. กรมศุลกากร
  7. กรมสรรพสามิตต์
  8. กรมสรรพากร

ในระหว่างที่พระวรวงค์เธอพระองค์เจ้าวิวัฒนไชยทรงดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมศุลกากร (พ.ศ. 2478–2481) ได้ทรงปรับปรุงงานด้านศุลกากรเพื่อให้เป็นกรมที่มีประสิทธิภาพและทันสมัย ผลงานสำคัญคือ การตราพระราชบัญญัติพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2478 เปลี่ยนการเก็บภาษีศุลกากรจากหลักการเก็บตามราคามาเป็นตามสภาพ นับเป็นแม่บทในการเรียกเก็บภาษีอากรของไทยตามแบบอารยประเทศ และยังได้ขยายประเภทของสินที่ต้องเสียภาษีจาก 30–40 ประเภทเป็น 198 ประเภท

นอกจากนี้ยังมีรับสั่งให้จัดรวบรวมประมวลคำสั่ง ระเบียบและกฎหมายต่าง ๆ ที่เจ้าพนักงานศุลกากรต้องปฏิบัติ เข้าเป็นหมวดหมู่ เป็นคู่มือของข้าราชการเรียกว่า "ประมวลข้อบังคับศุลกากร พ.ศ. 2481" ซึ่งข้าราชการกรมศุลกากรได้ยึดถือเป็นคู่มือการปฏิบัติราชการตลอดมา

เมื่อนายปรีดี พนมยงค์ ได้ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (พ.ศ. 2481–2484) ได้แถลงนโยบายต่อสภาผู้แทนราษฎรข้อหนึ่งว่า "จะจัดการปรับปรุงภาษีอากรให้ยุติธรรมแก่สังคม" จึงได้มีการปรับปรุงระบบการภาษีอากรครั้งใหญ่ โดยการออกพระราชบัญญัติประมวลรัษฎากร ประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2482 ได้ยกเลิกกฎหมายเก่าที่เกี่ยวกับภาษีอากรที่ล้าสมัย

ธนาคารแห่งประเทศไทย[แก้]

สืบเนื่องจากการส่งออกมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของไทยมากขึ้น ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2535–2539) ประเทศไทยมีนโยบายส่งเสริมการส่งออก ดังนั้นการให้ความช่วยเหลือผู้ส่งออกทางด้านการเงิน และการให้บริการอื่นจึงมีความจำเป็น ใน พ.ศ. 2536 ได้มีพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เพื่อดำเนินการจัดตั้งธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า (ธสน.) หรือเอ็กซิมแบงก์ ธสน.ได้เริ่มเปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2537 เกี่ยวกับนโยบายการเงินของประเทศไทย สำหรับปี พ.ศ. 2537 เป็นเรื่องของการเปิดเสรีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยได้กำหนดทิศทางและเป้าหมายไว้ 5 ประการ ดังนี้

  1. ส่งเสริมการพัฒนาตลาดเงินระยะสั้น ด้วยการให้ธุรกิจเอกชนและรัฐวิสาหกิจ ออกตราสารในประเทศให้มากขึ้น
  2. ผ่อนคลายการควบคุมปริวรรตเงินตราให้มากขึ้น ขยายขอบเขตการค้าชายแดน และให้นำเงินออกไปลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้น
  3. จัดตั้งกองทุนเพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนในกลุ่มประเทศอินโดจีน และประเทศพม่า
  4. ให้สถาบันการเงินขยายธุรกิจสู่ภูมิภาค และกระจายเงินทุนให้กับลูกค้ารายย่อยมากขึ้น
  5. สนับสนุนการขยายบริการทางการเงินไปต่างจังหวัดให้มากขึ้น เช่นการขยายสาขา ของธนาคารไทยพาณิชย์ และธุรกิจวิเทศธนกิจ (BIBF) รวมทั้งการตั้งสำนักงานสินเชื่อของบริษัทเงินทุนในต่างจังหวัด

จากนี้ต่อไปในระยะ 5 ปีข้างหน้า กระทรวงการคลังได้วางนโยบายการคลังด้วยการรักษาวินัยด้านการคลังอย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง วิธีการคือ รักษาฐานะดุลการคลังไม่ให้ลดต่ำมากไปกว่านี้ และจะต้องรักษางบประมาณให้สมดุลสำหรับนโยบายการเงิน ได้วางกรอบที่จะรักษาเสถียรภาพทางการเงินให้มั่นคง ด้วยการสร้างระบบการเงินที่ทันสมัยภาพของโครงสร้างระบบการเงินไทยต่อไปจะมีความหลากหลาย และเกิดสถาบันการเงินในรูปแบบใหม่เพิ่มขึ้น

กระทรวงการคลัง เป็นหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ดูแลรับผิดชอบเกี่ยวกับการบริหารการเงินการคลังของแผ่นดิน การจัดเก็บภาษีอากร และกิจการอื่น ๆ อันเกี่ยวข้องกับการหารายได้ของประเทศ ตลอดจนควบคุมดูแลระบบงานด้านเศรษฐกิจและการคลัง ให้ดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ การบริหารงานการคลังได้เริ่มมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย สืบต่อมาจนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการในกรมพระคลังมหาสมบัติขึ้นเมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2418 โดยมีพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ทรงเป็นเสนาบดีกรมพระคลังมหาสมบัติ และในปี พ.ศ. 2476 จึงเปลี่ยนเป็นกระทรวงการคลังจนถึงปัจจุบัน

การดำเนินงานของกระทรวงการคลัง ได้ผ่านปัญหาอุปสรรค และวิกฤตการณ์ทางการเงินการคลังหลายครั้งแต่ก็สามารถแก้ไขสถานการณ์ต่าง ๆ จนประสบความสำเร็จเรียบร้อยตลอดมา ขณะเดียวกันกระทรวงการคลัง ได้พัฒนาปรับปรุงระบบงานของหน่วยงานในสังกัดให้ทันสมัย และทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของโลกที่จะมีผลกระทบต่อประเทศไทย ทำให้การเงินการคลังของประเทศมีเสถียรภาพ และมีความเจริญรุ่งเรืองในทางเศรษฐกิจ อย่างเห็นได้ชัดเจนจนถึงบัดนี้

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

กรมธนบัตร: ประวัติศาสตร์ธนบัตรไทยสมัยใหม่และรัฐกิจการเงินสมัยรัชกาลที่ 5

  • ประวัติของกระทรวงการคลัง จากเว็บไซต์กระทรวงการคลัง