นักรบนิรนาม 333

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หน่วยบัญชาการผสม 333
ประจำการพ.ศ. 2503–2518
ประเทศ ไทย
รูปแบบกองกำลัง
บทบาทรักษาพื้นที่ยุทธศาสตร์การป้องกันในเขตหน้า
กำลังรบ39,000+ คน
ที่ตั้ง บก.ค่ายประจักษ์ศิลปาคม, อำเภอเมือง, จังหวัดอุดรธานี, ประเทศไทย[1]
ปฏิบัติการสำคัญสงครามกลางเมืองลาว
ผู้บังคับบัญชา
ผู้บัญชาการพลตรี วิฑูรย์ ยะสวัสดิ์[ก]
รองผู้บัญชาการพลโท ธนดิษฐ์ สิทธิเทศ[ข]
เสนาธิการทหารพลตรี ไพฑูรย์ อิงคะตานุวัฒน์[ค]

นักรบนิรนาม 333 (อังกฤษ: Unknown Warrior 333) หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า หน่วยบัญชาการผสม 333 เป็นกองกำลังผสมต่างชาติของทหารและพลเมืองในนามทหารเสือพราน เพื่อเฝ้าระวังพื้นที่ระวังป้องกันภายนอกประเทศ เรียกกันว่า ยุทธศาสตร์การป้องกันในเขตหน้า ซึ่งเป็นบริเวณทางตะวันออกของประเทศไทยซึ่งติดกับประเทศลาว จากกองกำลังต่างชาติที่สนับสนุนโดยลัทธิคอมมิวนิสต์ อาทิ เวียดนามเหนือ จีน และสหภาพโซเวียต ซึ่งจะบุกยึดประเทศไทยในช่วงปี พ.ศ. 2514-2517 ตามแผนทฤษฎีโดมิโน

ภูมิหลัง[แก้]

ราชอาณาจักรลาวกลายเป็นสมรภูมิลับระหว่างฝ่ายในสงครามเวียดนาม สนธิสัญญาไมตรีและสมาคมฝรั่งเศส–ลาวที่ลงนามในวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2496 ส่งผลให้ฝรั่งเศสถ่ายโอนอำนาจที่เหลือคืนให้กับรัฐบาลลาวในระบอบกษัตริย์ ยกเว้นอำนาจควบคุมการทหาร โดยสนธิสัญญาไม่มีตัวแทนจากขบวนการลาวอิสระ ซึ่งเป็นกองกำลังติดอาวุธซึ่งมีความคิดต่อต้านการล่าอาณานิคมและสนับสนุนแนวคิดชาตินิยมได้ร่วมลงนามด้วย

สนธิสัญญายังสถาปนาให้ลาวเป็นสมาชิกซึ่งมีสถานะเป็นเอกราชในสหภาพฝรั่งเศส หลังจากที่สนธิสัญญาได้รับการลงนาม ก็มีการต่อสู้กันทางการเมืองระหว่างฝ่ายนิยมความเป็นกลาง นำโดยเจ้าสุวรรณภูมา รัตนวงศา, ฝ่ายขวา นำโดยเจ้าบุญอุ้ม ณ จำปาศักดิ์ และฝ่ายซ้าย ในนามแนวร่วมรักชาติลาว นำโดยเจ้าสุภานุวงศ์ และไกสอน พมวิหาน นายกรัฐมนตรีในเวลาต่อมา มีความพยายามหลายครั้งที่จะจัดตั้งรัฐบาลผสม จนกระทั่งสามารถจัดตั้งรัฐบาลสามพรรคได้สำเร็จ โดยจัดตั้งขึ้นที่นครเวียงจันทน์

การสู้รบในประเทศลาวเป็นการสู้รบระหว่างกองทัพเวียดนามเหนือ กับกองทัพสหรัฐในนามหน่วยสกายของสำนักข่าวกรองกลางสหรัฐ, กองทัพไทยในนามทหารเสือพราน และกองทัพเวียดนามใต้ ซึ่งทำการสู้รบทั้งทางตรงและผ่านทหารกองโจร โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อครอบครองด้ามขวานของลาว กองทัพเวียดนามเหนือสามารถเข้าควบคุมพื้นที่นี้ได้ และนำพื้นที่ดังกล่าวมาใช้เป็นเส้นทางเสบียงโฮจิมินห์ และเป็นที่มั่นในการระดมกำลังเพื่อรุกเข้าไปยังเวียดนามใต้ จุดที่สองที่เกิดการสู้รบกันอย่างหนักที่ทุ่งไหหินและบริเวณโดยรอบ

ประวัติ[แก้]

เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2503 ในช่วงการปฏิวัติและเข้ายึดเวียงจันทร์ไว้ ทำให้ราชอาณาจักรลาวได้ทรุดลงตามลำดับ คณะที่ปรึกษาทางทหารของไทย (คท.) ได้สังเกตการณ์โดยใกล้ชิดมาตลอด โดยมีความเห็นว่าหากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้อยู่ ความมั่นคงของประเทศไทยจะต้องได้รับผลกระทบแน่นอนอ จึงจำเป็นต้องช่วยเหลือราชอาณาจักรลาว โดยไม่ให้เกิดความขัดแย้ง และทำให้ลัทธิคอมมิวนิสต์ไม่เผยแพร่มายังประเทศไทยโดยตรง

ต่อมา ในปลายปี พ.ศ. 2503 ได้มีมติในการจัดตั้งหน่วยงานชื่อว่า คณะที่ปรึกษาทางทหารในราชอาณาจักร (คท.) โดยมีกองบัญชาการตั้งอยู่เมืองเวียงจันทร์ ซึ่งเป็นหน่วยงานตรงของคณะที่ปรึกษาทางทหาร ได้มีกิจการขยายเพิ่มขึ้น แต่ผ่านไป กองกำลังไม่สามารถทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ได้ เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2504 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงได้สั่งให้ย้ายข้ามกลับมาอยู่ที่ฝั่งจังหวัดหนองคาย และในวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2505 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้สั่งให้เปลี่ยนชื่อองค์การเป็น กองบัญชาการ 333 (บก.333) จากชื่อว่ากองบัญชาการคณะที่ปรึกษาทางทหารในราชอาณาจักร (บก.คท.) และวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2506 กองกำลังได้ย้ายมาสู่จังหวัดอุดรธานี ด้วยเหตุความปลอดภัยและเฝ้าระวังศัตรู

ในวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2507 โครงการสกายที่ดำเนินการโดยหน่วยสืบราชการลับแห่งสหรัฐได้แปรสภาพเป็นกองบัญชาการผสม 333 (บก.ผสม 333) และตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2507 ได้จัดตั้งหน่วยงานที่เป็นชื่อว่า หน่วยผสม 333 ระหว่างประเทศไทยกับสหรัฐ เป็นหน่วยปฏิบัติการณ์ในสนาม โดยได้รับความช่วยเหลือจากมิตรประเทศอย่างใกล้ชิด มีหน้าที่และความรับผิดชอบช่วยรักษาความมั่นคงแห่งประเทศไทย ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับราชอาณาจักรลาว

กำลังรบ[แก้]

ในปี พ.ศ. 2503 กองกำลังติดอาวุธช่วงแรกที่จัดตั้งในกองบัญชาการผสม 333 เป็นกำลังพลจากกองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ หรือรู้จักกันในนาม "ตำรวจพลร่ม" หรือ "พารู" (Paru) ร่วมกับกำลังพลจากหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน และศูนย์สงครามพิเศษของกองทัพบก[2] โดยปฏิบัติการทางยุทธการและการข่าวกรอง และฝึกประกอบกำลังรบท้องถิ่นเพื่อหาวิธีบ่อนทำลายกำลังฝ่ายข้าศึก ส่วนสำนักข่าวกรองกลางสหรัฐ (CIA) ปกปิดสถานภาพบุคลากรโดยแปรสภาพเป็บบริษัทเอกชน "สกาย" (Sky) เพื่อประสานงานกำลังรบของฝ่ายไทยและฝ่ายสหรัฐ โดยมีบริษัทเอกชน "แอร์ อเมริกา" (Air America) เป็นหน่วยงานจัดตั้งเพื่อสนับสนุนทางอากาศ การลำเลียงขนส่ง และการโจมตีทางอากาศ[3]

ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2504 ภูมี หน่อสวรรค์ รองนายกรัฐมนตรีลาวเข้าพบปะกับสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีไทย เพื่อขอรับการสนับสนุนทหารปืนใหญ่จากรัฐบาลไทย สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทยสนับสนุนแนวคิดการส่งกองร้อยทหารปืนใหญ่เพื่อไม่ให้รัฐบาลลาวฝ่ายขวาเสียเปรียบลาวฝ่ายซ้าย[4] วันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2504 สฤษดิ์ ธนะรัชต์อนุมัติให้กองทัพบกจัดกองร้อยปืนใหญ่ 2 กองร้อย; กองร้อยปืนใหญ่สตาร์ไชน์ 1 (Star Shine 1; SS1) โดยจัดกำลังพลจากกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 11 และกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 31 จังหวัดลพบุรี และกองร้อยปืนใหญ่สตาร์ไชน์ 2 (Star Shine 2; SS2) โดยจัดกำลังพลจากกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 21 กรุงเทพมหานครเคลื่อนกำลังพลไปที่แขวงสุวรรณเขตและแขวงคำม่วน[5] เสร็จสิ้นภารกิจในวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2504[6]

ต่อมา เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2507 กองทัพบกได้ส่งมอบกองร้อยทหารปืนใหญ่ผสมเฉพาะกิจ; กองร้อยปืนใหญ่ซันไลส์ (Sun Rise; SR) มีทั้งหมด 8 รุ่น มีระยะการปฏิบัติการแต่ละรุ่น 8 เดือน เสร็จสิ้นภารกิจในปี พ.ศ. 2513[7] กับหน่วยปฏิบัติการพิเศษสงครามกองโจร อาทิ หน่วยเอสจียู (Special Guerilla Unit), ชุดเอที (Action Team; AT), ชุดเฝ้าถนน (Road Watch Team; RWT), และชุดปฏิบัติการพิเศษ "แซด" (Z)[8]

หน่วยบินของกองทัพอากาศสนับสนุนเมื่อปี พ.ศ. 2504–2505 คือ หน่วยบินไฟร์ฟลาย (Fire Fly) ประกอบด้วยนักบินชุดละ 4 นาย และอากาศยาน เอที-6 (บฝ.6) จำนวน 4 ลำ เพื่อใช้โจมตีทางอากาศสนับสนุนกองทัพแห่งชาติลาวในภาคพื้นดิน มีระยะการปฏิบัติการแต่ละรุ่น 8 เดือน ครั้นเมื่อปี พ.ศ. 2507 กองทัพอากาศจัดชุดหน่วยบินอากาศยานโจมตี ที-28 (บ.จฝ.13) ประกอบด้วยนักบินชุดละ 7 ถึง 10 นาย มีระยะการปฏิบัติการแต่ละรุ่น 6 เดือน เสร็จสิ้นภารกิจในปี พ.ศ. 2513[9]

หมายเหตุ[แก้]

  1. นามลับ: เทพ หรือหัวหน้าเทพ; ต่อมา ได้รับพระราชทานยศ "พลโท" ของกองทัพบก และยศ "พลตำรวจเอก" ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
  2. นามลับ: ทน
  3. นามลับ: เพชร

อ้างอิง[แก้]

  1. คุกลับกับ "ค่ายรามสูร"
  2. ศนิโรจน์ น.63–64
  3. ศนิโรจน์ น.65
  4. ศนิโรจน์ น.60
  5. ศนิโรจน์ น.61
  6. ศนิโรจน์ น.66
  7. ศนิโรจน์ น.66
  8. ศนิโรจน์ น.66–67
  9. ศนิโรจน์ น.67

บรรณานุกรม[แก้]