ข้ามไปเนื้อหา

ต่อมไทรอยด์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ต่อมธัยรอยด์)
ไทรอยด์
ต่อมไทรอยด์ของมนุษย์เมื่อมองจากด้านหน้า ในภาพแสดงหลอดเลือดแดงไว้ด้วย
ต่อมไทรอยด์เมื่อมองจากด้านหลัง
รายละเอียด
คัพภกรรมThyroid diverticulum (an extension of endoderm into 2nd pharyngeal arch)
ระบบระบบต่อมไร้ท่อ
ตัวระบุ
ภาษาละตินGlandula thyreoidea
MeSHD013961
TA98A11.3.00.001
TA23863
FMA9603
อภิธานศัพท์กายวิภาคศาสตร์

ต่อมไทรอยด์ (อังกฤษ: Thyroid gland) เป็นต่อมไร้ท่อที่อยู่ด้านหน้าของลำคอ โดยอยู่ด้านข้างนาเดียร์และใต้ต่อมกระดูกอ่อนไทรอยด์ (thyroid cartilage) และอยู่ลึกลงไปจากกล้ามเนื้อสเตอร์โนไฮออยด์ (sternohyoid) , สเตอร์โนไทรอยด์ (sternothyroid) และโอโมไฮออยด์ (omoyoid) ต่อมนี้มี 2 พู แผ่ออกทางด้านข้างและคลุมพื้นที่บริเวณด้านหน้าและด้านข้างของหลอดลม (trachea) รวมทั้งส่วนของกระดูกอ่อนคริคอยด์ (cricoid cartilage) และส่วนล่างของกระดูกอ่อนไทรอยด์ (thyroid cartilage) ทั้งสองพูนี้จะเชื่อมกันที่คอคอดไทรอยด์ (isthmus) ซึ่งอยู่ที่บริเวณด้านหน้าต่อกระดูกอ่อนของหลอดลม (trachea cartilage) ชิ้นที่สองหรือสาม

หน้าที่ของต่อมไทรอยด์

[แก้]

ทำหน้าที่ในการผลิตฮอร์โมนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย รวมไปถึงมีหน้าที่ในการควบคุมพลังงานในร่างกายและมีผลต่อการทำงานในอวัยวะต่าง ๆ อีกด้วย โดยส่วนมากจะมีผลต่อสมองและหัวใจมากที่สุด ซึ่งฮอร์โมนนี้จะอยู่ในการควบคุมของสมองส่วนไฮโปทาลามัสและต่อมใต้สมอง เนื่องจากฮอร์โมนชนิดนี้มีผลต่อร่างกายมาก หากเกิดความผิดปกติกับต่อมไทรอยด์ก็จะส่งผลต่อภาพรวมของร่างกายตามไปด้วย

ระบบของต่อมไทรอยด์

[แก้]

ระบบหลอดเลือดแดง (Arterial supplies)

[แก้]

หลอดเลือดแดงที่มาเลี้ยงโครงสร้างของต่อมไทรอยด์ จะมาจากหลอดเลือดแดงซุพีเรียร์ลาริงเจียล (Superior laryngeal artery) และหลอดเลือดแดงอินฟีเรียร์ลาริงเจียล (Inferior laryngeal artery)

  • หลอดเลือดแดงซุพีเรียร์ลาริงเจียล (Superior laryngeal artery) เป็นแขนงจากหลอดเลือดแดงเอกซ์เทอร์นัลคาโรติด (external carotid artery) ซึ่งผ่านลงมาทางขอบด้านข้างของกล้ามเนื้อไทโรไฮออยด์ (thyrohyoid muscle) แล้วเข้าสู่ทางด้านบนของต่อม แล้วแยกออกเป็นสองแขนงย่อย คือแขนงทางด้านหน้า (anterior branch) ซึ่งเลี้ยงทางส่วนบนของต่อมและไปรวมกับเส้นเลือดอีกข้างที่บริเวณคอคอดไทรอยด์ ส่วนอีกแขนงคือแขนงทางด้านหลัง (posterior branch) ไปเลี้ยงทางหลังของต่อม และอาจไปรวมกับหลอดเลือดแดงอินฟีเรียร์ลารินเจียล (inferior laryngeal artery)
  • หลอดเลือดแดงอินฟีเรียร์ลาริงเจียล (Inferior laryngeal artery) เป็นแขนงจากหลอดเลือดแดงใหญ่ไทโรเซอร์ไวคอล (thyrocervical trunk) ซึ่งมาจากส่วนแรกของหลอดเลือดแดงใต้กระดูกไหปลาร้า (subclavian artery) โดยจะผ่านเข้ามาจากขอบทางด้านในของกล้ามเนื้อแอนทีเรียร์สคาลีน (anterior scalene muscle) จากนั้นจึงอ้อมไปด้านหลังของกลุ่มหลอดเลือดบริเวณคอ แล้วจึงเข้าสู่ทางด้านล่างของต่อม แล้วแยกเป็นแขนงด้านล่าง (inferior branch) ไปเลี้ยงส่วนล่างของต่อม และแขนงด้านบน (ascending branch) ไปเลี้ยงต่อมพาราไทรอยด์ (parathyroid gland)

ระบบหลอดเลือดดำและระบบน้ำเหลือง (Venous and lymphatic drainage)

[แก้]

สำหรับระบบหลอดเลือดดำที่นำเลือดออกจากต่อมไทรอยด์ จะผ่านทางหลอดเลือดดำไทรอยด์ (thyroid veins) ที่อยู่ด้านบน ตอนกลาง และด้านล่างของต่อม จากนั้นแขนงหลอดเลือดดำทางด้านบนและตอนกลางจะออกไปสู่หลอดเลือดดำใหญ่บริเวณคอ (internal jugular vein) ขณะที่แขนงด้านล่างไปรวมกับหลอดเลือดดำใหญ่บริเวณไหปลาร้า (brachiocephalic vein) ส่วนน้ำเหลืองในบริเวณต่อมไทรอยด์จะเข้าไปยังต่อมน้ำเหลือง (lymph nodes) ที่อยู่ใกล้เคียงคือต่อมน้ำเหลืองรอบหลอดลม (paratracheal nodes) และต่อมน้ำเหลืองในลำคอส่วนลึก (deep cervical nodes) .......

ระบบเส้นประสาท (Nerve supplies)

[แก้]

เส้นประสาทที่อยู่ในบริเวณของต่อมไทรอยด์ คือ เส้นประสาทรีเคอร์เรนท์ลาริงเจียล (recurrent laryngeal nerve) ซึ่งเป็นแขนงของเส้นประสาทเวกัส (vagus nerve) ที่อ้อมรอบหลอดเลือดแดงใต้กระดูกไหปลาร้าด้านขวา (right subclavian artery) และโค้งหลอดเลือดแดงใหญ่จากหัวใจ (aortic arch) ทางด้านซ้าย แล้วขึ้นมาทอดอยู่ระหว่างหลอดลมกับหลอดอาหาร แล้วจึงผ่านขึ้นมาทางด้านหลังของต่อมไทรอยด์ทั้งสองพู ก่อนจะเข้าสู่กล่องเสียง (larynx) ทางขอบล่างของกล้ามเนื้อรอบคอหอยตอนล่าง (inferior constrictor muscle)

การเจริญพัฒนา (Development)

[แก้]

ต่อมไทรอยด์มีต้นกำเนิดมาจากการบุ๋มตัวของของคอหอย (pharynx) ที่บริเวณโคนลิ้น บริเวณที่เริ่มมีการบุ๋มตัวลงไปเรียกว่า ฟอราเมน ซีกัม (foramen caecum) แล้วลงไปตามท่อที่เรียกว่า ท่อไทโรกลอสซัล (thyroglossal duct) ซึ่งปกติจะหายไปเมื่อโตเต็มที่ แต่อาจพบได้ในลักษณะของถุงน้ำ (cyst) หรือช่องเปิดที่ผิดปกติ (fistula) มีส่วนน้อยที่อาจเหลือเป็นเนื้อเยื่อต่อมไทรอยด์ที่โตผิดที่ (ectopic thyroid tissue) ซึ่งความผิดปกตินี้สามารถแก้ไขได้โดยการผ่าตัด

การรักษา

[แก้]

การผ่าตัดต่อมไทรอยด์ (Thyroidectomy)

[แก้]

การผ่าตัดต่อมไทรอยด์ หรือ Thyroidectomy เป็นวิธีการทางศัลยกรรมที่ค่อนข้างพบได้ทั่วไป โดยปกติจะเป็นการผ่าตัดเอาบางส่วนของต่อมออก ซึ่งการผ่าตัดนี้มักจะใช้ในการรักษาเนื้องอกของต่อมไทรอยด์ แต่บางครั้งก็อาจใช้ในการรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์ด้วย เนื่องจากตำแหน่งของต่อมไทรอยด์มีความสัมพันธ์กับโครงสร้างต่างๆ คือ ต่อมพาราไทรอยด์ (parathyroid glands) และเส้นประสาทต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของกล่องเสียงและคอหอย จึงต้องระมัดระวังในการผ่าตัดเป็นพิเศษ ผลข้างเคียงของการผ่าตัดอาจทำให้เกิดอาการเสียงแหบ (hoarseness) หรืออาการกลืนลำบาก (dysphagia) เนื่องจากเส้นประสาทในบริเวณต่อมไทรอยด์ได้รับความเสียหายบางส่วน

ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาเทคนิคการผ่าตัดไทรอยด์ผ่านกล้อง ซึ่งในปัจจุบันมีความนิยมมากขึ้น เนื่องจากแผลเล็ก ซ่อนแผลไว้ได้ เจ็บน้อยฟื้นตัวเร็ว แต่ข้อเสียคือ ต้องอาศัยศัลยแพทย์ที่มีความชำนาญในเรื่องการผ่าตัดผ่านกล้อง ในประเทศไทยมีทำได้ไม่ถึง 20 คน การผ่าตัดผ่านกล้องทำเพื่อหลีกเลี่ยงแผลเป็นที่คอ โดยจะเปิดแผลเล็กๆที่บริเวณอื่นแทน เช่น รักแร้ หน้าอก ลานหัวนม หลังหู หลังผ่าตัดคนไข้จะไม่มีเป็นแผลเป็นที่คอ แต่จะเป็นแผลเป็นที่อื่นแทน เช่น รักแร้ หน้าอก เป็นต้น โดยขนาดแผลก็มีตั้งแต่ 5mm - 3cm แล้วแต่ชนิดการผ่าตัด (ในประเทศไทยที่แพร่หลาย ก็คือ ผ่าตัดผ่านกล้องผ่านทางรักแร้ และรักแร้-หน้าอก)

เทคนิคล่าสุดของการผ่าตัดไทรอยด์คือ คือ การผ่าตัดไทรอยด์ผ่านกล้องผ่านทางช่องปาก โดยจะเปิดแผลเล็กๆในช่องปาก ขนาด 5mm และ 10mm สอดกล้อง+เครื่องมือเข้าไปผ่าตัด คีบต่อมไทรอยด์ออกมา แผลจะถูกซ่อนไว้ในช่องปากแทน โดยที่หลังผ่าตัดคนไข้ไม่มีแผลเป็นที่ผิวหนังแม้แต่นิดเดียว แผลในปากจะสมานแผลเร็วมาก 2 วันก็ทานได้ตามปกติ และหายเจ็บแผล การผ่าตัดผ่านช่องปากจะเจ็บน้อยกว่าแบบอื่น และในแง่ของความสวยงามจะดีที่สุดเมื่อเทียบกับวิธีอื่น ทั่วโลกในตอนนี้มีทำการผ่าตัดแบบนี้ที่เยอรมนี ญี่ปุ่น จีน และที่เมืองไทยมีทำที่แรกและที่เดียวที่ กลุ่มงานศัลยกรรม โรงพยาบาลตำรวจ

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  • Drake, RL., Vogl, W. and Mitchell, AWM. Gray's anatomy for students. Philadelphia : Elsevier/Churchill Livingstone, 2005.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
  • Agur, AMR and Dalley, AF. Grant’s Atlas of Anatomy. 11th edition, Lippincott Williams Wilkins, 2005.
  • Netter, FH. Atlas of Human Anatomy. 3rd edition. Icon Learning Systems, 2003.
  • Moore, KL and Agur, AMR. Essential Clinical Anatomy. 3rd edition, Lippincott Williams & Wilkins, 2007.