ฉบับร่าง:ชิริน เอบาดี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ชิริน เอบาดี (เปอร์เซีย: شيرين عبادى, อักษรโรมัน: Širin Ebādi; เกิดเมื่อ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2490) เป็นนักกฎหมายชาวอิหร่าน นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน และผู้ก่อตั้งกลุ่มศูนย์ปกป้องสิทธิมนุษยชนแห่งอิหร่าน และได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี พ.ศ. 2546[1]

ประวัติ[แก้]

ชิริน อิบาดี เกิดที่เมืองฮะมะดัน (Hamadan) เมืองสำคัญซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอิหร่าน เมื่อ พ.ศ. 2490 บิดาของเธอ มูฮัมหมัด อาลี อิบาดิ (Muhammad Ali Ebadi) เป็นหัวหน้าสำนักงานทะเบียนหนังสือสัญญาของเมืองฮะมะดัน มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และยังเป็นอาจารย์พิเศษด้านกฎหมายในสถาบันการศึกษา มีผลงานตำราวิชาการสาขานี้หลายเล่ม ชิรินมีพี่น้อง 3 คน เป็นหญิง 2 คน ชาย 1 คน ซึ่งล้วนได้รับการศึกษาในระดับสูง มารดาของเธอเป็นแม่บ้านที่อุทิศเวลาเพื่อการดูแลลูกทั้งสี่ ทำให้ชิรินเติบโตมาในครอบครัวที่อบอุ่นท่ามกลางบรรยากาศแห่งการเรียนรู้และภูมิปัญญา

เมื่อเธออายุเพียง 1 ขวบ ครอบครัวของเธอย้ายมาตั้งรกรากในเตหะรานเมืองหลวงของอิหร่าน เธอเข้าศึกษาใน Firuzkuhi primary school จากนั้นศึกษาต่อที่ Anoshiravan Dadgar และ Reza Shah Kabir secondary school ตามลำดับ ด้วยความสนใจด้านกฎหมายเธอจึงสอบเข้าเรียนต่อในคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเตหะรานเมื่อ พ.ศ. 2508 และใช้เวลาศึกษาเพียง 3 ปีครึ่งก็ได้รับปริญญาตรีทางกฎหมาย ต่อมาเธอสอบผ่านเข้ารับราชการในกระทรวงยุติธรรมของอิหร่านและได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าหน้าที่ศาลในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2512 ช่วงที่ทำงานอยู่นั้นเธอยังสมัครเข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยเตหะรานจนกระทั่งสำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาโทในสาขากฎหมายเอกชนจากมหาวิทยาลัยเตหะรานใน พ.ศ. 2514

หลังจากทำงานมาหลายตำแหน่งที่กระทรวงยุติธรรม ใน พ.ศ. 2518 เธอก็ได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าผู้พิพากษาคณะที่ 24 ของศาลประจำกรุงเตหะราน ซึ่งถือเป็นสตรีคนแรกที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสำคัญนี้

แต่หลังจากการปฏิวัติอิสลามในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2522 ชิรินถูกจำกัดบทบาทลงด้วยความเชื่อที่ว่าศาสนาอิสลามไม่อนุญาตให้สตรีมีอำนาจในการตัดสินทางกฎหมาย เธอและบรรดาสตรีที่เคยทำหน้าที่ตุลาการต้องลาออกหรือไม่ก็ย้ายไปทำหน้าที่ในตำแหน่งอื่นอย่างเช่นเป็นเสมียนศาล เธอและเพื่อร่วมงานจึงรวมตัวกันเรียกร้องต่อรัฐบาลและในที่สุดก็มีการจัดตั้งกลุ่มสตรีผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายขึ้นในกระทรวงยุติธรรมโดยมีเธอเป็นประธาน ชิรินดำรงตำแหน่งอยู่ไม่นานนักเพราะเธอลาออกจากราชการและเริ่มหันเหชีวิตมาทำงานด้านให้คำปรึกษากฎหมายเพื่อสาธารณชนและเริ่มเขียนหนังสือและบทความในวารสารวิชาการด้านกฎหมายและสิทธิมนุษยชน ขณะเดียวกันก็พยายามต่อสู้เพื่อให้ได้สิทธิการว่าความ กระทั่งใน พ.ศ. 2535 เธอจึงได้รับใบอนุญาตว่าความและจัดตั้งสำนักงานกฎหมาย พร้อมกับรับว่าความในคดีที่เกี่ยวข้องกับเด็ก สตรี และสิทธิมนุษยชน

คดีสำคัญซึ่งชิรินมีส่วนผลักดันสู่ศาลคือกรณีการฆาตกรรมดะรุสช์ โฟรุฮาร์ (Dariush Forouhar) นักเขียนและนักรัฐศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงซึ่งถูกสังหารพร้อมภรรยาในบ้านพัก เธอทำหน้าที่ทนายของครอบครัวโฟรุฮาร์ดำเนินการเรียกร้องความยุติธรรมจนทางการสามารถจับตัวฆาตกรได้ อย่างไรก็ตาม ฆาตกรกลับถูกลอบสังหารไปก่อนจะมีการนำตัวขึ้นศาลเพื่อพิจารณาคดี

คดีที่เกี่ยวข้องกับปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนอีกคดีหนึ่งคือกรณีครอบครัวอิบราฮิมนิซาด ที่ขอให้ชิรินเป็นตัวแทนเรียกร้องความยุติธรรมให้กับ อิซซัท อิบราฮิมนิซาด (Ezzat Ebrahimnezhad) ซึ่งถูกสังหารในกรณีการปราบปรามการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยของนักศึกษามหาวิทยาลัยเตหะรานในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2542 เธอได้เปิดเผยถึงเบื้องหลังการโจมตีในครั้งนั้นซึ่งเป็นผลให้มีนักศึกษาเสียชีวิตไปเป็นจำนวนมาก และทำให้สังคมอิหร่านหันมาตระหนักถึงประเด็นความรุนแรงในสังคมและผลกระทบที่มีต่อประชาชนในวงกว้าง

ชิรินให้ความสำคัญกับบุคคลผู้ด้อยโอกาสในสังคมโดยเฉพาะเด็กและสตรี เธอได้ทำคดีที่เกี่ยวกับการทำร้ายเด็กและประสบความสำเร็จหลายคดี และได้ก่อตั้งองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้องกับงานด้านนี้ 2 องค์กรในประเทศอิหร่านคือ Iranian Society for Protecting the Right of the Child และ Center for the Defence of Human Right ชิรินผลักดันให้มีการเสนอกฎหมายเพื่อต่อต้านการทารุณกรรมต่อเด็ก ซึ่งได้รับการเสนอเข้าสู่สภาแห่งชาติของสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน ต่อมาสภาฯ มีมติผ่านร่างกฎหมายดังกล่าว และบังคับใช้ใน พ.ศ. 2545 จากความรู้ความสามารถสาขานิติศาสตร์เธอจึงได้รับเชิญเป็นอาจารย์พิเศษสอนด้านกฎหมายในมหาวิทยาลัยเตหะรานและสถาบันการศึกษากฎหมายอีกหลายแห่ง

ชิรินยังเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนให้มีการศึกษาและตีความกฎหมายอิสลามและสนับสนุนเสรีภาพทางความคิดด้านศาสนาและการเมือง เธอกล่าวว่าเธอเป็นมุสลิม และอิสลามคือศาสนาอันประเสริฐและพิสุทธิ์ แต่เธอไม่ปรารถนาให้มุสลิมเดินไปบนหนทางที่ไม่ถูกต้อง คือการเดินสู่ความรุนแรงและการละเลยเพิกเฉยหรือทำลายสิทธิความเป็นมนุษย์ที่พระเจ้าทรงมอบแด่ทุกชีวิต

เป็นเวลาเกือบ 30 ปีที่ชิรินได้ช่วยให้เกิดความยุติธรรมในสังคมบ้านเกิดเมืองนอนและต่อสู้กับอิทธิพลหลายรูปแบบ เธอกล่าวว่า “บุคคลผู้แสวงหาสิทธิความเป็นมนุษย์ในอิหร่านต้องอยู่อย่างหวาดกลัวตั้งแต่เกิดจนตาย แต่ฉันได้เรียนรู้ที่จะเอาชนะความกลัวของฉันเอง” จากความพยายามและทุ่มเทอย่างหนักนี้เองคณะกรรมการพิจารณาตัดสินรางวัลโนเบลจึงได้ลงมติมอบรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี พ.ศ. 2546 แก่เธอ ชิริน อิบาดีเข้ารับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2546 เธอกล่าวถึงการได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ว่า “รางวัลนี้จะช่วยให้บุคคลผู้ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในอิหร่านมีกำลังใจมากขึ้นเพราะมันทำให้ตระหนักว่าพวกเขาได้ทำในสิ่งที่ถูกต้องแล้ว”

หลังได้รับรางวัลอันทรงเกียรติ ชิรินยังคงมุ่งมั่นต่อสู้เพื่อผู้ด้อยโอกาสต่อไปในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2546 หลังจากรับรางวัลได้เพียงเดือนเดียวเธอได้รับแต่งตั้งเป็นทนายเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับซาห์รา คะเซมี (Zahra Kazemi) ช่างภาพอิสระชาวอิหร่านสัญชาติแคนาดาซึ่งกำลังทำข่าวเกี่ยวกับสงครามในอิรักและเหตุการณ์ในตะวันออกกลางรวมทั้งอิหร่าน คะเซมีถูกจับขณะกำลังถ่ายภาพที่หน้าทัณฑสถาน อิวิน (Evin Prison) ซึ่งเคยเป็นที่กุมขังนักโทษกรณีการปราบปรามนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยเตหะราน หลังจากนั้นอีก 19 วัน เธอก็เสียชีวิตในโรงพยาบาลทั้งๆ ที่ยังอยู่ภายใต้การอารักขาของเจ้าพนักงาน ชิรินใช้ความพยายามในการเรียกร้องความยุติธรรมให้กับคะเซมิร่วมกับองค์กรต่างๆ ประกอบกับแรงกดดันจากหลายประเทศทำให้มีการลงโทษผู้บริหารระดับสูงในทัณฑสถานที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าวหลายคน

ชิรินในวัยใกล้ 60 ปี ยังคงมุ่งมั่นต่อสู้กับความอยุติธรรมทุกรูปแบบ เธอยังคงใช้กฎหมายและสันติวิธีเป็นแนวทางในการเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับคนในสังคมของเธอ กำลังใจสำคัญจากสามีซึ่งประกอบอาชีพวิศวกรและบุตรสาว 2 คน คนโตกำลังศึกษาระดับปริญญาเอกด้านวิศวโทรคมนาคม และคนสุดท้องซึ่งดำเนินรอยตามอย่างมารดาด้วยการศึกษากฎหมายในมหาวิทยาลัยเตหะราน คือแรงกระตุ้นให้เธอพยายามช่วยเหลือเพื่อนร่วมชาติที่เป็นคนรุ่นลูกหลาน คนเหล่านี้คือหน่อพันธุ์ใหม่ที่จะเติบโตเป็นพืชพันธุ์แห่งสันติภาพที่หยั่งรากในสังคมอิหร่านและช่วยสานความพยายามของเธอให้ดำรงอยู่อย่างมั่นคงสืบต่อไป[2]

รายการอ้างอิง[แก้]

หนังสืออ่านเพิ่ม[แก้]

  • Kim, U.; Aasen, H. S. & Ebadi, S. (2003). Democracy, human rights, and Islam in modern Iran: Psychological, social and cultural perspectives. Bergen: Fagbokforlaget. ISBN 978-82-7674-922-9.