ข้ามไปเนื้อหา

ความแพร่หลายของภาษาสเปน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ตัวระบุทางภูมิศาสตร์ของภาษาสเปน
  ประเทศหรือดินแดนที่ภาษาสเปนมีสถานะทางการ
  ประเทศหรือดินแดนที่ภาษาสเปนมีสถานะเป็นทางการร่วมกัน
  รัฐในสหรัฐอเมริกาที่ประชากรมากกว่าร้อยละ 20 ใช้ภาษาสเปน

ภาษาสเปนเป็นภาษาซึ่งใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก โดยเป็นภาษาราชการใน 21 ประเทศ องค์การระหว่างประเทศจำนวนหนึ่ง และมีผู้พูดราว 329-500 ล้านคน คิดเป็นอันดับ 2 หรือ 3 ของโลก

ทวีปอเมริกา

[แก้]

ประเทศในภูมิภาคลาตินอเมริกา

[แก้]

ปัจจุบันมีประเทศในภูมิภาคลาตินอเมริกา 13 แห่งที่ระบุให้ภาษาสเปนหรือภาษาคาสตีล (การเรียกชื่อต่างกันในแต่ละประเทศ) เป็นภาษาราชการอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร ได้แก่ ประเทศโบลิเวีย (ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ผ่านความเห็นชอบเมื่อปี ค.ศ. 2007 หมวด 1 บทที่ 1 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง โดยมีสถานะเป็นภาษาราชการร่วมกับ "ภาษาของเชื้อชาติและชนพื้นเมืองต่าง ๆ ในเขตชนบททุกภาษา"[1] เช่น ภาษาไอย์มารา ภาษากาบีเนญา ภาษากายูบาบา ภาษากวารานี ภาษากวาราซูเว ภาษาเกชัว ภาษาอูรู-ชีปายา และภาษาซามูโก), โคลอมเบีย (ร่วมกับภาษาและภาษาถิ่นของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในพื้นที่ของกลุ่มนั้น ๆ),[2] คอสตาริกา,[3] คิวบา,[4] เอกวาดอร์,[5] เอลซัลวาดอร์,[6] กัวเตมาลา,[7] ฮอนดูรัส,[8] นิการากัว (รัฐธรรมนูญของประเทศ หมวด 2 มาตรา 12 ได้ระบุเพิ่มไว้ว่า "ภาษาของชุมชนต่าง ๆ ที่อยู่ริมฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกของนิการากัวจะมีฐานะเป็นภาษาราชการเช่นกันในกรณีต่าง ๆ ตามแต่กฎหมายจะกำหนด"),[9] ปานามา,[10] ปารากวัย (เป็นภาษาราชการร่วมกับภาษากวารานี),[11][12] เปรู (เป็นภาษาราชการร่วมกับภาษาเกชัว ภาษาไอย์มารา และภาษาของชนพื้นเมืองอื่น ๆ ในพื้นที่ที่ชนกลุ่มนั้นอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก)[13] และเวเนซุเอลา (รัฐธรรมนูญของประเทศได้ระบุเพิ่มไว้ว่า "ภาษาพื้นเมืองต่าง ๆ จะมีสถานะทางการสำหรับชนพื้นเมืองเหล่านั้นด้วย และภาษาเหล่านั้นต้องได้รับความเคารพในทั่วทุกพื้นที่ของสาธารณรัฐ ทั้งนี้เพื่อเสริมสร้างมรดกทางวัฒนธรรมของชาติและของมนุษยชาติ")[14] ส่วนประเทศและดินแดนในภูมิภาคลาตินอเมริกาอีก 6 แห่งที่ไม่ได้ระบุให้ภาษานี้เป็นภาษาราชการอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร แม้จะใช้ภาษาสเปนเป็นภาษาหลักเช่นกัน ได้แก่ อาร์เจนตินา,[15] ชิลี,[16] สาธารณรัฐโดมินิกัน,[17] อุรุกวัย,[18] เม็กซิโก[19] (เป็นภาษาราชการโดยพฤตินัย)[20] และปวยร์โตรีโก[21] ซึ่งเป็นดินแดนของสหรัฐอเมริกา

ภาษาสเปนกลับมามีความสำคัญอีกครั้งในประเทศบราซิล เนื่องจากความใกล้ชิดและการค้าที่ขยายตัวขึ้นระหว่างบราซิลกับประเทศเพื่อนบ้านที่ใช้ภาษาสเปน เช่น ในฐานะสมาชิกตลาดร่วมอเมริกาใต้ตอนล่าง[22] ในปี ค.ศ. 2005 รัฐสภาบราซิลได้ผ่านร่างกฎหมายที่กำหนดให้มีการสอนภาษาสเปนเป็นภาษาต่างประเทศในโรงเรียนมัธยมศึกษาทั้งของรัฐบาลและของเอกชน[23] นอกจากนี้ ตามเมืองและหมู่บ้านตามชายแดนหลายแห่งของประเทศ โดยเฉพาะชายแดนที่ติดกับอุรุกวัยและอาร์เจนตินา ยังมีผู้ใช้ภาษาผสมระหว่างภาษาสเปนกับภาษาโปรตุเกสซึ่งเรียกว่า "ปอร์ตูญอล" (portuñol)[24]

ส่วนในประเทศเฮติซึ่งตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกของเกาะฮิสปันโยลา ภาษาฝรั่งเศส และภาษาครีโอลเฮติ (เป็นภาษาผสมที่ได้รับอิทธิพลบางส่วนจากภาษาสเปน) เป็นเพียงสองภาษาที่มีฐานะเป็นภาษาราชการของประเทศ แต่ผู้คนในบริเวณเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านบนเกาะเดียวกัน (คือสาธารณรัฐโดมินิกัน) จะเข้าใจภาษาสเปนในระดับพื้นฐานและนำมาใช้สนทนากันได้อย่างไม่เป็นทางการ

ประเทศนอกภูมิภาคลาตินอเมริกา

[แก้]
ภาษาสเปนในสหรัฐอเมริกา:
สีน้ำเงินเข้ม: ประชากรในรัฐมากกว่าร้อยละ 28 พูดภาษาสเปนที่บ้านของตน
สีน้ำเงิน: ประชากรในรัฐมากกว่าร้อยละ 12.2 พูดภาษาสเปนที่บ้านของตน (ค่าเฉลี่ยของสหรัฐอเมริกา)
สีฟ้า: ประชากรในรัฐมากกว่าร้อยละ 3 พูดภาษาสเปนที่บ้านของตน

ในสหรัฐอเมริกา ภาษาสเปนจะใช้กันมากในรัฐต่าง ๆ ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ เช่น รัฐเท็กซัส นิวเม็กซิโก แอริโซนา และแคลิฟอร์เนีย เป็นต้น เนื่องจากพื้นที่เหล่านี้เคยเป็นส่วนหนึ่งของประเทศเม็กซิโกมาก่อน นอกจากนี้ก็ยังใช้กันตามเมืองใหญ่ที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ไม่ว่าจะเป็นนิวยอร์ก ลอสแอนเจลิส ชิคาโก ไมแอมี ฮิวสตัน แซนแอนโทนีโอ เดนเวอร์ บอลทิมอร์ หรือซีแอตเทิล

ภาษาสเปนมีประวัติความเป็นมาอันยาวนานในสหรัฐอเมริกา จะเห็นได้ว่า ชื่อรัฐ เมือง หมู่บ้าน รวมทั้งสถานที่ภูมิศาสตร์หลายแห่งต่างได้รับการตั้งชื่อเป็นภาษานี้ เช่น โคโลราโด ("ทาด้วยสีแดง") ฟลอริดา ("เต็มไปด้วยดอกไม้") ซานตาเฟ ("ความเชื่ออันบริสุทธิ์") ลาสเวกัส ("ที่ราบอันอุดมสมบูรณ์") ลอสแอนเจลิส ("เหล่าทูตสวรรค์") แซคราเมนโต ("พิธีรับเป็นคริสต์ศาสนิกชน") และเซียร์ราเนวาดา ("ภูเขาที่ปกคลุมด้วยหิมะ") เป็นต้น ผู้ที่ย้ายถิ่นฐานเข้ามาจากประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคลาตินอเมริกาก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับภาษาสเปนในประเทศนี้ ปัจจุบันสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้ใช้ภาษาสเปนเป็นภาษาหลักมากที่สุดเป็นอันดับที่สองของโลก[25] และภาษาสเปนยังเป็นภาษาต่างประเทศที่มีผู้เรียนมากที่สุดในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ของประเทศอีกด้วย[26]

ในรัฐนิวเม็กซิโก ภาษาสเปนเป็นภาษาที่ใช้ในการบริหารงานของรัฐ แม้ว่ารัฐธรรมนูญของรัฐจะไม่ได้กำหนดให้ภาษาใดภาษาหนึ่งเป็นภาษาราชการก็ตาม ภาษาสเปนที่ใช้ในรัฐนี้มีต้นกำเนิดในช่วงการล่าอาณานิคมของจักรวรรดิสเปนในคริสต์ศตวรรษที่ 16 และยังคงสามารถรักษาลักษณะดั้งเดิมไว้ได้มากจนถึงปัจจุบัน

ในประเทศเบลีซซึ่งเป็นอดีตอาณานิคมของสหราชอาณาจักร ภาษาสเปนไม่ได้รับการกำหนดให้เป็นภาษาราชการ แต่จากผลการสำรวจสำมะโนประชากรเมื่อปี ค.ศ. 2000 พบว่าชาวเบลีซร้อยละ 52.1 สามารถใช้ภาษาสเปนในการสื่อสารได้ดีมาก[27][28] โดยประชากรส่วนใหญ่ในจำนวนดังกล่าวเป็นผู้สืบเชื้อสายมาจากชาวสเปนซึ่งได้ตั้งรกรากในบริเวณนี้มาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 17 แต่กระนั้น ภาษาอังกฤษก็ยังคงเป็นภาษาราชการเพียงภาษาเดียวของประเทศ[29]

บนเกาะอารูบา (ดินแดนโพ้นทะเลของประเทศเนเธอร์แลนด์ในทะเลแคริบเบียน) มีผู้พูดภาษาสเปนเป็นจำนวนมาก ในทางตรงกันข้าม ในเกาะเพื่อนบ้านอย่างกือราเซาและโบแนเรอกลับมีผู้พูดเป็นจำนวนน้อย เกาะทั้งสามสามารถรับสื่อแขนงต่าง ๆ เป็นภาษานี้จากประเทศเวเนซุเอลาได้โดยเฉพาะช่องโทรทัศน์ เนื่องจากมีที่ตั้งใกล้ชิดกันมาก ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เริ่มมีการสอนภาษาสเปนขั้นพื้นฐานในโรงเรียนต่าง ๆ ทั้งในอารูบาและอดีตเนเธอร์แลนด์แอนทิลลีส เนื่องจากข้อผูกพันทางการค้าและความสำคัญด้านการท่องเที่ยวของประเทศที่ใช้ภาษาสเปนในภูมิภาคแคริบเบียน อย่างไรก็ตาม ดินแดนเหล่านี้ก็ใช้ภาษาดัตช์และภาษาปาเปียเมนโตเป็นภาษาราชการของตนเท่านั้น

สเปนได้เข้ายึดตรินิแดดและโตเบโกเป็นอาณานิคมในปี ค.ศ. 1498 แต่ต่อมาเกาะทั้งสองก็ตกไปอยู่ภายใต้การครอบครองของชาติยุโรปชาติอื่น ๆ และในที่สุดก็ตกเป็นของสหราชอาณาจักรก่อนจะได้รับเอกราช ประเทศนี้จึงใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก อย่างไรก็ตาม การที่มีตำแหน่งที่ตั้งอยู่นอกชายฝั่งทวีปอเมริกาใต้ ทำให้ตรินิแดดและโตเบโกได้รับอิทธิพลจากประเทศเพื่อนบ้านที่ใช้ภาษาสเปนเป็นหลักค่อนข้างมาก ผลสำรวจสำมะโนประชากรครั้งล่าสุดแสดงให้เห็นว่ามีประชากรมากกว่า 1,500 คนที่ใช้ภาษาสเปน[30] ปัจจุบัน รัฐบาลตรินิแดดและโตเบโกได้เริ่มดำเนินการตามแผน "ภาษาสเปนในฐานะภาษาต่างประเทศภาษาที่หนึ่ง" (SAFFL) ตั้งแต่เดือนมีนาคม ค.ศ. 2005[31] เพื่อประโยชน์ทางธุรกิจและการค้าของประเทศเป็นหลัก โดยกำหนดให้มีการเรียนการสอนภาษาสเปนตั้งแต่ระดับประถมศึกษา และวางเป้าหมายไว้ว่า ภายในห้าปี ลูกจ้างภาครัฐร้อยละ 30 จะต้องใช้ภาษาสเปนระดับพื้นฐานได้ดี[30]

ทวีปยุโรป

[แก้]
อัตราการรู้ภาษาสเปนของประเทศต่าง ๆ ในสหภาพยุโรป

ภาษาสเปนเป็นภาษาราชการของประเทศสเปน และยังใช้กันในยิบรอลตาร์[32] อันดอร์รา (ภาษาสเปนเป็นภาษาแม่ของประชากรจำนวนมากในประเทศนี้เนื่องจากชาวสเปนจำนวนมากย้ายเข้าไปตั้งรกรากที่นั่น แต่ก็ไม่มีฐานะเป็นภาษาราชการเหมือนภาษากาตาลา[33]) รวมไปถึงในชุมชนขนาดเล็กในประเทศอื่น ๆ ในทวีปยุโรป โดยเฉพาะในสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี และสวิตเซอร์แลนด์ (ภาษาสเปนเป็นภาษาแม่ของชาวสวิสร้อยละ 1.7 นับเป็นภาษาของชนกลุ่มน้อยที่ใช้กันมากที่สุดในประเทศรองจากภาษาราชการทั้งสี่ภาษา[34])

ในยิบรอลตาร์ บรรษัทแพร่ภาพกระจายเสียงยิบรอลตาร์ (GBC) ออกอากาศผ่านทางโทรทัศน์และวิทยุเป็นภาษาสเปนและภาษาอังกฤษ[35] ล่าสุดในประเทศรัสเซียกำลังจะเปิดสถานีโทรทัศน์ 24 ชั่วโมงเป็นภาษาสเปน โดยใช้ชื่อว่า Rusia Hoy ("รัสเซียวันนี้")[36]

นอกจากนี้ ภาษาสเปนยังเป็นหนึ่งในภาษาราชการ 23 ภาษาของสหภาพยุโรปอีกด้วย[37] ประชากรในสหภาพยุโรป (นอกเหนือจากชาวสเปน) ที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปเกือบ 19 ล้านคนสามารถพูดภาษาสเปนได้ (นับรวมผู้ที่เรียนภาษาสเปนเป็นภาษาต่างประเทศมาอย่างถูกต้องด้วย)[38]

ทวีปแอฟริกา

[แก้]

ภาษาสเปนเป็นภาษาราชการร่วมกับภาษาฝรั่งเศสและเป็นภาษาที่มีผู้ใช้มากที่สุดในประเทศอิเควทอเรียลกินี[39] นอกจากนี้ยังมีผู้ใช้ภาษานี้ในเมืองต่าง ๆ ของประเทศสเปนริมชายฝั่งแอฟริกาเหนือ (เซวตาและเมลียา) รวมทั้งในกานาเรียสซึ่งเป็นดินแดนของประเทศสเปนในมหาสมุทรแอตแลนติก

ในเมืองทินดูฟ ประเทศแอลจีเรีย มีผู้อพยพลี้ภัยชาวเวสเทิร์นสะฮาราประมาณ 200,000 คนที่สามารถอ่านและเขียนภาษาสเปนได้[40] หลายพันคนจากจำนวนนี้ยังได้รับความช่วยเหลือให้ศึกษาต่อจนถึงระดับอุดมศึกษาในต่างประเทศ (ส่วนใหญ่เป็นคิวบาและสเปน) ส่วนทางภาคเหนือของประเทศโมร็อกโกซึ่งเป็นอดีตรัฐในอารักขาของสเปนและมีความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์กับสเปนด้วยนั้น มีประชากรเกือบ 20,000 คนที่ใช้ภาษาสเปนเป็นภาษาแม่[41] สถานที่อื่นที่มีชุมชนผู้ใช้ภาษาสเปนอาศัยอยู่ได้แก่เมืองลูเอนาในประเทศแองโกลา อันเป็นผลจากการที่ทหารคิวบาจำนวนมากเข้าไปประจำการที่นั่นในช่วงสงครามเย็น

เมื่อไม่นานมานี้ โกโกบีช เมืองท่องเที่ยวบริเวณชายแดนของประเทศกาบองได้ทำข้อตกลงกับอิเควทอเรียลกินี ส่งผลให้เมืองนี้กลายเป็นเมืองสองประเทศ ดังนั้น ภาษาสเปนจึงมีสถานะเป็นภาษาราชการของเมืองไปด้วย (นอกเหนือจากภาษาฝรั่งเศส) นอกจากนี้ ภาษาสเปนยังใช้กันในหมู่ชาวอิเควทอเรียลกินีซึ่งหลบหนีออกจากประเทศในช่วงที่ประธานาธิบดีฟรันซิสโก มาซีอัส อึงกูเอมาขึ้นครองอำนาจ ทุกวันนี้พวกเขายังคงอาศัยอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างกาบอง แคเมอรูน และไนจีเรีย[42][43]

ทวีปเอเชีย

[แก้]

แม้ว่าภาษาสเปนจะเคยเป็นภาษาราชการของประเทศฟิลิปปินส์อยู่เป็นเวลากว่าสี่ศตวรรษ แต่ความสำคัญของภาษานี้กลับลดลงในช่วงครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 20 เมื่อสหรัฐอเมริกาได้เข้าครอบครองและบริหารหมู่เกาะแห่งนี้ต่อจากสเปน หลังได้รับเอกราช การนำภาษาอังกฤษมาใช้ในหน่วยงานต่าง ๆ ของฟิลิปปินส์ได้นำจุดสิ้นสุดในการเป็นภาษาราชการมาสู่ภาษาสเปนเมื่อปี ค.ศ. 1987 ซึ่งเป็นช่วงที่นางโกราซอน อากีโนดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของประเทศ ปัจจุบันฟิลิปปินส์ใช้ภาษาอังกฤษและภาษาตากาล็อกเป็นภาษาราชการ จากการสำรวจสำมะโนประชากรในปี ค.ศ. 1990 พบว่ามีชาวพื้นเมือง 2,658 คนที่พูดภาษาสเปน[44] นอกจากนี้ยังมีชาวพื้นเมืองในเมืองกาวีเตและเมืองซัมโบวังกาที่พูดภาษาชาบากาโน (Chavacano) ซึ่งเป็นภาษาครีโอล (ภาษาลูกผสม) ที่มีรากมาจากภาษาสเปนโดยตรง

อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีกลอเรีย มากาปากัล-อาร์โรโยของฟิลิปปินส์ได้กล่าวในระหว่างการเยือนสเปนอย่างเป็นทางการเมื่อปลายปี ค.ศ. 2007 ว่า วิชาภาษาสเปนจะกลับมาเป็นวิชาบังคับในหลักสูตรการศึกษาของประเทศอีกครั้งหนึ่ง[45][46] และรัฐบาลฟิลิปปินส์ยืนยันว่าจะบรรจุวิชาภาษาสเปนเข้าไว้ในการเรียนการสอนระดับมัธยมศึกษาตั้งแต่กลางปี ค.ศ. 2009 เป็นต้นไป[47]

ในประเทศจีน สถานีโทรทัศน์กลางแห่งชาติ (CCTV) เริ่มแพร่ภาพออกอากาศทางช่อง CCTV-E เป็นภาษาสเปนตลอด 24 ชั่วโมงเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 2007

เขตโอเชียเนีย

[แก้]

ในบรรดาประเทศและดินแดนต่าง ๆ ในเขตโอเชียเนีย มีผู้ใช้ภาษาสเปนอยู่มากในเกาะอีสเตอร์ซึ่งเป็นดินแดนในมหาสมุทรแปซิฟิกของประเทศชิลี

นอกจากนี้ในประเทศออสเตรเลีย จากผลการสำรวจสำมะโนประชากรในปี ค.ศ. 2001 พบว่ามีผู้พูดภาษาสเปน 93,593 คน[48][49] และเพิ่มขึ้นเป็น 98,001 คนจากผลการสำรวจในปี ค.ศ. 2006 ส่วนใหญ่ในจำนวนนี้เป็นผู้ตั้งถิ่นฐานอยู่ในเมืองซิดนีย์[50]

ส่วนประเทศนิวซีแลนด์ จากผลการสำรวจสำมะโนประชากรในปี ค.ศ. 2001 พบว่ามีผู้ใช้ภาษาสเปนทั้งหมด 14,676 คน[51][52] และจากผลการสำรวจในปี ค.ศ. 2006 ตัวเลขได้เพิ่มขึ้นเป็น 21,645 คน[53]

ในเกาะกวม หมู่เกาะปาเลา หมู่เกาะนอร์เทิร์นมาเรียนา หมู่เกาะมาร์แชลล์ และหมู่เกาะไมโครนีเซียเคยมีผู้ใช้ภาษาสเปนเช่นกัน เนื่องจากในอดีต หมู่เกาะมาเรียนาและหมู่เกาะคาโรไลน์อยู่ภายใต้ครอบครองของสเปน จนกระทั่งถึงปี ค.ศ. 1898 เมื่อสเปนเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในสงครามกับสหรัฐอเมริกา ภาษาสเปนจึงเริ่มหายไปจากดินแดนเหล่านี้นับแต่นั้น

อ้างอิง

[แก้]
  1. Scribd. Nueva Constitución Política de Bolivia. (สเปน)
  2. Secretaria del Senado. CONSTITUCION POLITICA DE COLOMBIA (Parte 1). เก็บถาวร 2012-01-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (สเปน)
  3. Nacion.com. CONSTITUCION POLITICA DE LA REPUBLICA DE COSTA RICA 1999. เก็บถาวร 2001-03-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (สเปน)
  4. Portal Cuba. Constitución de la República de Cuba, artículo 2.º: «El nombre del Estado cubano es República de Cuba, el idioma oficial es el español y su capital es la ciudad de La Habana». (สเปน)
  5. Corte Constitucional. CONSTITUCION DE LA REPUBLICA DEL ECUADOR 2008. เก็บถาวร 2009-06-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (สเปน)
  6. UNHR. Constitución de la República de El Salvador de 1983. (สเปน)
  7. Organization of American States. Constitución Política de la República de Guatemala. (สเปน)
  8. Honduras.net. CONSTITUCIÓN DE LA REPÚBLICA DE HONDURAS, 1982. (สเปน)
  9. Georgetown University. Constitución de 1987 incluyendo las reformas de 1995. (สเปน)
  10. Asamblea Nacional de Panamá. Constitución Política de la República de Panamá. เก็บถาวร 2012-01-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (สเปน)
  11. D.P.I. & Mercado - Base de datos. Constitución Política del Paraguay. เก็บถาวร 2009-06-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (สเปน)
  12. Ethnologue.com. Languages of Paraguay. (อังกฤษ)
  13. Tribunal Constitucional del Perú. Constitución Política del Perú. เก็บถาวร 2007-03-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (สเปน)
  14. Portal Constitución de la República Bolivariana de Venezuela. Constitución de la República Bolivariana de Venezuela. เก็บถาวร 2010-12-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (สเปน)
  15. Instituto de Investigaciones Jurídicas de la UNAM. CONSTITUCION POLITICA DE LA NACION ARGENTINA. (สเปน)
  16. Biblioteca del Congreso Nacional de Chile. Constitución Política de la República de Chile de 1980. (สเปน)
  17. Georgetown University. Constitución Política de la República Dominicana de 2002. (สเปน)
  18. D.P.I. & Mercado - Base de datos. Constitución Política de la República Oriental del Uruguay de 1967. เก็บถาวร 2009-09-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (สเปน)
  19. The Solon Law Archive. Constitución Política de los Estados Unidos Mexicanos. (สเปน)
  20. Comisión de Asuntos Indígenas. Cámara de Diputados. Iniciativa de Ley de Derechos Lingüísticos. เก็บถาวร 2009-01-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (สเปน)
  21. Caribe.net. CONSTITUCION DEL ESTADO LIBRE ASOCIADO DE PUERTO RICO. เก็บถาวร 2008-05-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (สเปน)
  22. MERCOSUL, Portal Oficial เก็บถาวร 2007-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (โปรตุเกส)
  23. BrazzilMag.com, 2005, Brazil Wants to pay Foreign Debt with Spanish Classes. เก็บถาวร 2008-10-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (อังกฤษ)
  24. Lipski, John M. (2006). "Too close for comfort? the genesis of "portuñol/portunhol"" (PDF). Selected Proceedings of the 8th Hispanic Linguistics Symposium. ed. Timothy L. Face and Carol A. Klee, 1–22. Somerville, MA: Cascadilla Proceedings Project. {{cite journal}}: Cite journal ต้องการ |journal= (help) (อังกฤษ)
  25. La Voz de Barcelona, 2008, 45 millones de hispanohablantes en Estados Unidos, más que en España. (สเปน)
  26. MLA Fall 2002. Foreign Language Enrollments in United States Institutions of Higher LearningPDF (129 KiB). (อังกฤษ)
  27. Central Statistical Office, Ministry of Budget Management, Belize (2000). "Population Census 2000, Major Findings" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2007-06-21. สืบค้นเมื่อ 2007-12-20.{{cite web}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์) (อังกฤษ)
  28. Belize Population and Housing Census 2000. (อังกฤษ)
  29. CIA.- The World Factbook. Belize. เก็บถาวร 2013-05-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (อังกฤษ)
  30. 30.0 30.1 Williams, Carol J. (2005-08-30). "Trinidad Says It Needs Spanish to Talk Business". Los Angeles Times. p. A3. สืบค้นเมื่อ 2009-09-10. (อังกฤษ)
  31. The Secretariat for The Implementation of Spanish, Government of the Republic of Trinidad and Tobago เก็บถาวร 2010-11-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (อังกฤษ)
  32. CIA - The World Factbook. Gibraltar. เก็บถาวร 2018-04-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (อังกฤษ)
  33. Govern d'Andorra. Enquesta d'usos lingüístics a Andorra 2004. เก็บถาวร 2009-10-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (กาตาลา)
  34. BBC Education — Languages (อังกฤษ), Languages Across Europe — Spanish. all-about-switzerland.info (2007-09-19). "Switzerland's Four National Languages". (อังกฤษ)
  35. Gibraltar Broadcasting Corporation. (อังกฤษ)
  36. Satellite CATV News. Rusia tendrá televisión en español. เก็บถาวร 2009-08-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (สเปน)
  37. European Commission. Official EU languages. (อังกฤษ)
  38. European Commission. 2006. Special Eurobarometer: Europeans and their Languages (Summary). (อังกฤษ)
  39. CIA - The World Factbook. Equatorial Guinea. เก็บถาวร 2020-08-31 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (อังกฤษ)
  40. El refuerzo del español llega a los saharauis con una escuela en los campos de Tinduf. (สเปน)
  41. Morocco.com The Languages of Morocco. (อังกฤษ)
  42. Las ecuatoguineanas en el Estado español. เก็บถาวร 2009-08-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (สเปน)
  43. Diario Cultura: Guinea Ecuatorial. (สเปน)
  44. "Ethnologue". Ethnologue Report for the Philippines (ภาษาอังกฤษ).
  45. "Typicallyspanish.com". Philippines President announces obligatory teaching of Spanish in landmark visit to Spain (ภาษาอังกฤษ). 2007-12-04. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-01-09. สืบค้นเมื่อ 2007-12-27.
  46. "Gulfnews.com". Arroyo wants Spanish language in schools (ภาษาอังกฤษ). 2007-12-05. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-12-07. สืบค้นเมื่อ 2010-05-02.
  47. Noticias de "La Vanguardia". เก็บถาวร 2010-07-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  48. Australian Bureau of Statistics เก็บถาวร 2013-12-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ผลสำรวจสำมะโนประชากรปี 1991, 1996 และ 2001. (อังกฤษ)
  49. Global Opportunities Program (อังกฤษ)
  50. Australian Bureau of Statistics เก็บถาวร 2009-05-31 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ผลสำรวจสำมะโนประชากรปี 2006. (อังกฤษ)
  51. Language Planning - Te Taura Whiri i te Reo Māori - Māori Language Commission เก็บถาวร 2009-08-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ผลสำรวจสำมะโนประชากรปี 2001.
  52. Statistics New Zealand เก็บถาวร 2008-11-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ผลสำรวจสำมะโนประชากรปี 1996 และ 2001. (อังกฤษ)
  53. Statistics New Zealand. เก็บถาวร 2007-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ผลสำรวจสำมะโนประชากรปี 2006. (อังกฤษ)