การขนส่งระบบรางในประเทศพม่า
การขนส่งระบบรางในประเทศพม่า มีระบบรางทั้งสิ้น 10,296.01 km (6,398 mi) และมีสถานี 1,225 สถานี[1] ใช้รางส่วนใหญ่เป็นรางขนาด 1 เมตร (มีเตอร์เกจ) ดำเนินการโดยการรถไฟเมียนมา (พม่า: မြန်မာ့ မီးရထား, ออกเสียง: [mjəma̰ míjətʰá]) ภายใต้การดูแลของกระทรวงการรถไฟแห่งพม่า[2]
ประวัติ
[แก้]ระบบการขนส่งทางรางในประเทศพม่าเริ่มขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2420 ได้ตั้งบริษัท The Irrawaddy Valley State Railway ขึ้นมา โดยเส้นทางสายแรกคือ ย่างกุ้ง - แปร ระยะทางทั้งสิ้น 262 กิโลเมตร ทางรถไฟมีขนาดราง 1 เมตร (มีเตอร์เกจ) ถูกสร้างขึ้นในสมัยที่ตกเป็นอาณานิคมของประเทศอังกฤษ ต่อมาในปี พ.ศ. 2427 ได้เปิดเส้นทางย่างกุ้ง ผ่านพะโคจนถึง ตองอู มีระยะทางทั้งสิ้น 267 กิโลเมตร และได้ตั้งบริษัท The Sittang Valley State Railway จากนั้นได้เกิดสงครามอังกฤษ-พม่าครั้งที่สามเมื่อ พ.ศ. 2428 ในพม่าตอนบนโดยอังกฤษเป็นฝ่ายชนะสงครามจึงตกเป็นอาณานิคมของประเทศอังกฤษจึงได้มีการสร้างทางรถไฟส่วนต่อขยายเพิ่มจากตองอู - มัณฑะเลย์เมื่อ พ.ศ. 2432 และได้สร้างต่อขยายไปจากมัณฑะเลย์ - มิตจีนาเมื่อ พ.ศ. 2441 ในระหว่างที่สร้างต่อขยายไปจนถึงมิตจีนาได้ตั้งบริษัท Mu Valley State Railway ขึ้นมา แต่ไม่นานก็ได้มีการควบรวมทั้ง 3 บริษัทมาเป็นบริษัทการรถไฟพม่าเมื่อ พ.ศ. 2439 ต่อมาได้ได้มีการสร้างทางรถไฟต่อลงไปทางใต้จากพะโค - เมาะตะมะเมื่อ พ.ศ. 2450 โดยแยกจากสถานีพะโค
เมื่อ พ.ศ. 2485 ประเทศพม่ามีโครงข่ายทางรถไฟในประเทศรวม 3,313 กิโลเมตร ต่อมาเมื่อเกิดการรุกรานจากประเทศญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศญี่ปุ่นได้สร้างทางรถไฟจากประเทศไทยเชื่อมไปยังประเทศพม่าเพื่อใช้เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ผ่านประเทศพม่า ในการก่อสร้างได้เกณฑ์เชลยศึกจากฝ่ายสัมพันธมิตรและกรรมกรจำนวนมากมาสร้างสายนี้ ในระหว่างการสร้างได้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากจากการสร้าง ในเวลาต่อมาจึงกลายเป็นชื่อที่นิยมเรียกโดยทั่วไปว่าทางรถไฟสายมรณะ และเมื่อสงครามสิ้นสุดลงทางรถไฟในประเทศพม่าได้รับความเสียหายอย่างหนัก ทำให้ทางรถไฟสามารถเปิดใช้งานได้เพียง 1,085 กิโลเมตร
หลังจากสงครามโลกสิ้นสุดลงได้มีความพยายามในการปรับปรุงโครงข่ายเส้นทางรถไฟของประเทศในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1950 ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2504 สามารถกลับมาเปิดใช้งานเส้นทางรถไฟได้ถึง 3,020 กิโลเมตร ต่อมาในเดือนตุลาคม ปี พ.ศ. 2513 ได้เปิดเพิ่มอีก 36 กิโลเมตร ในปี พ.ศ. 2532 ประเทศพม่าได้เปลี่ยนชื่อเป็นประเทศเมียนมา จึงได้เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็นการรถไฟเมียนมา เมื่อรัฐบาลทหารเข้ามามีอำนาจในปี พ.ศ. 2531 ได้มีโครงการก่อสร้างทางรถไฟเพิ่มขึ้นอีกจนกระทั่งเมื่อ พ.ศ. 2543 ประเทศพม่าสามารถมีทางรถไฟเพิ่มมากขึ้นได้ถึง 5,068 กิโลเมตร และมีการก่อสร้างเพิ่มเติมอีกทั้งมีการปรับปรุงเส้นทางเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
และในปี พ.ศ. 2559 ได้เปิดเส้นทางรถรางใหม่ในเมืองย่างกุ้ง โดยรถรางนั้นมีทั้งหมด 3 คันเป็นรถรางมือสองนำเข้ามาจากฮิโรชิม่า ประเทศญี่ปุ่น โดยใช้รางขนาด 1.435 เมตร (สแตนดาร์ดเกจ) แต่เปิดได้เพียงไม่นานก็ปิดให้บริการไปเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2559
โครงข่าย
[แก้]มีสถานีรถไฟที่เปิดใช้งานอยู่ 960 สถานีในพม่า โดยมีสถานีรถไฟย่างกุ้งและสถานีรถไฟมัณฑะเลย์เป็นสถานีศูนย์กลาง
พม่าตอนล่าง
[แก้]สาย | เส้นทาง | หมายเหตุ |
---|---|---|
ย่างกุ้ง-มัณฑะเลย์ | ย่างกุ้ง-พะโค-ตองอู-เนปยีดอ-ตาซี-มัณฑะเลย์ | 620 กิโลเมตร (390 ไมล์), รถด่วนไม่จอดสถานีพะโค |
ย่างกุ้ง-เมาะลำเลิง | ย่างกุ้ง-พะโค-Theinzayat-ไจโท-สะเทิม-เมาะตะมะ-เมาะลำเลิง | 296 กิโลเมตร (184 ไมล์) |
ย่างกุ้ง-พุกาม | ย่างกุ้ง-ตองอู-Leway-ตอง-ดวี่นจี้-เจาะปะด้อง-พุกาม | 625 กิโลเมตร (388 ไมล์) |
ย่างกุ้ง-ปะโคะกู | ย่างกุ้ง-ตองอู-Leway- ตอง-ดวี่นจี้-เจาะปะด้อง-พุกาม-ปะโคะกู | 652 กิโลเมตร (405 ไมล์) |
ย่างกุ้ง-อองลาน-พุกาม | ย่างกุ้ง-Letbadan-ป้องเด-อองลาน-เจาะปะด้อง-พุกาม | 676 กิโลเมตร (420 ไมล์) |
ย่างกุ้ง-แปร | ย่างกุ้ง-แปร | 259 กิโลเมตร (161 ไมล์) |
สายตะนาวศรี | เมาะลำเลิง-เย-ทวาย | 339 กิโลเมตร (211 ไมล์) กำลังก่อสร้างเส้นมะริด |
พม่าตอนบน
[แก้]สาย | เส้นทาง | หมายเหตุ |
---|---|---|
มัณฑะเลย์-มิตจีนา | มัณฑะเลย์-สะกาย-ชเวโบ-มิตจีนา | 361 กิโลเมตร (224 ไมล์) |
เส้นรัฐฉาน | มัณฑะเลย์-ปยีนอู้ลวีน-Kyaukme-สี่ป้อ-ล่าเสี้ยว | 441 กิโลเมตร (274 ไมล์) |
มัณฑะเลย์-ตาซี | มัณฑะเลย์-Thedaw-Dahuttaw-Hanza-Ywapale-ตาซี | 500 กิโลเมตร (310 ไมล์) |
โมนยวา-ปะโคะกู | โมนยวา-Khinnu-มัณฑะเลย์-ปะโคะกู | 729 กิโลเมตร (453 ไมล์) |
รถไฟวงแหวนย่างกุ้ง
[แก้]เป็นระบบรถไฟชานเมืองในเขตย่างกุ้งและปริมณฑล มีระยะทาง 81 กิโลเมตร (50 ไมล์) จำนวน 39 สถานี มีผู้ใช้ราว 150,000 คนต่อวัน และมีขบวนรถไฟ 300 ขบวนวิ่งวนรอบทุกวัน[3][4]
แผนการพัฒนา
[แก้]แผนการพัฒนาภายในประเทศ
[แก้]เส้นทางการเดินรถไฟภายในประเทศพม่าในปัจจุบันนั้นมีสภาพที่ทรุดโทรมลงไปมาก ปัจจุบันพม่าจึงมีโครงการพัฒนาปรับปรุงเส้นทางรถไฟให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยมีทั้งหมด 4 โครงการ
- โครงการพัฒนาทางรถไฟ ย่างกุ้ง-มัณฑะเลย์ เป็นการปรับปรุงเส้นทางรถไฟ และสะพาน ตลอดเส้นทาง พร้อมติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณใหม่ และที่สำคัญที่สุดคือ ซี้อรถไฟชุดดีเซลราง (DEMU) จากญี่ปุ่นมาให้บริการ แบ่งแผนพัฒนาออกเป็น 2 ช่วง คือ ย่างกุ้ง-ตองอู ระยะทาง 267 กิโลเมตร และ ตองอู-มัณฑะเลย์ ระยะทาง 353 กิโลเมตร ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากญี่ปุ่น
- โครงการพัฒนาทางรถไฟวงแหวนย่างกุ้ง โครงการนี้เป็นเส้นทางหลักของขนส่งมวลชนในเมืองย่างกุ้ง เป็นเส้นทางรอบเมืองย่างกุ้งและปริมณฑล ระยะทางประมาณ 46 กิโลเมตร ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากญี่ปุ่น เป็นการปรับปรุงเส้นทางพร้อมงานอาณัติสัญญาณและตัวรถไฟดีเซลราง (DEMU)
- โครงการปรับปรุงเส้นทาง มัณฑะเลย์-มิตจีนา เป็นทางรถไฟเชื่อมเมืองติดทางรถไฟที่อยู่เหนือสุดของพม่า ระยะทางทั้งหมด 547 กิโลเมตร เป็นทางเดี่ยวตลอดเส้นทาง ทางรถไฟสายนี้มีปัญหาความชัน และรัศมีโค้งที่แคบ ทำให้ใช้ความเร็วไม่ได้ แบ่งแผนการพัฒนาเป็น 3 ช่วงคือ มัณฑะเลย์-Kawlin , Kawlin-Moenyin และ Mownyin-มิตจีนา จะเริ่มปรับปรุงเส้นทางช่วงที่ 2 Kawlin-Moenyin ระยะทาง 42 กิโลเมตร เป็นช่วงแรก เงินทุนอยู่ระหว่างการเจรจาเงื่อนไขเงินกู้ จากเกาหลี (EDCF)
- โครงการพัฒนาทางรถไฟ ย่างกุ้ง-แปร เป็นเส้นทางรถไฟสายแรกของประเทศพม่า มีระยะทาง 148 กิโลเมตร ในแผนมีการปรับปรุงทางรถไฟ สะพาน สถานี และอาณัติสัญญาณใหม่ทั้งหมด
แผนการพัฒนาการเชื่อมต่อรถไฟระหว่างประเทศ
[แก้]ประเทศพม่ายังไม่มีเส้นทางที่เชื่อมต่อระหว่างประเทศ ปัจจุบันมีแผนในการเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน 3 ประเทศคือไทย จีน และอินเดีย
- เส้นทาง พม่า-จีน โดยจะปรับปรุงเส้นทางเดิม และก่อสร้างทางใหม่ เส้นทาง มัณฑะเลย์-มูเซะ ชายแดนจีน ระยะทาง 431 กิโลเมตร เป็นทางรถไฟขนาดราง 1 เมตร ออกแบบความเร็ว 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง
- เส้นทาง พม่า-อินเดีย โดยจะปรับปรุงเส้นทางเดิม และก่อสร้างทางใหม่ เส้นทาง มัณฑะเลย์-Tamu ชายแดนอินเดีย ซึ่งมีการศึกษาความเป็นไปได้หลายเส้นทาง
- เส้นทาง พม่า-ไทย พม่ามองความเป็นไปได้ในการเชื่อมต่อกับไทยเราไว้ 3 เส้นทางคือ
- ทวาย-กาญจนบุรี (พุน้ำร้อน) เชื่อมต่อเส้นทาง E-W Corridor เส้นใต้ของไทย
- ตาน-พยูซะยะ-กาญจนบุรี (เจดีย์สามองค์) เส้นทางรถไฟสายมรณะเดิม
- เมียวดี-แม่สอด เชี่อมต่อเส้นทาง แม่สอด-ตาก-นครสวรรค์ E-W Corridor เส้นเหนือของไทย [5]
ดูเพิ่ม
[แก้]แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ Developing a Myanma’s Rail Network that meet demand (PDF), Ministry of Rail Transportation, Myanma Railways, 23 November 2015
- ↑ Brown, Pat (30 January 2008). "Railway Bazaar". The Irrawaddy. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-02-08. สืบค้นเมื่อ 2013-08-19.
- ↑ Yeni (30 January 2008). "The Railway Bazaar". The Irrawaddy. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-08-19. สืบค้นเมื่อ 2020-06-23.
- ↑ "Third Regional EST Forum: Presentation of Myanmar" (PDF). Singapore: Ministry of Transport, Myanmar. 17–19 March 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2009-02-26. สืบค้นเมื่อ 2020-06-23.
{{cite journal}}
: Cite journal ต้องการ|journal=
(help) - ↑ https://www.facebook.com/Thailand.Infra/posts/1071811936590618