กรณีสิ่งบันทึกวีดิทัศน์ศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2553

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาพสรุปเหตุการณ์วิกฤตการณ์การเมืองในประเทศไทย
ภาพสรุปเหตุการณ์วิกฤตการณ์การเมืองในประเทศไทย

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งหรือเกี่ยวข้องกับ
วิกฤตการเมืองไทย พ.ศ. 2556–2557

การเมืองไทยประวัติศาสตร์ไทย

กรณีสิ่งบันทึกวีดิทัศน์ศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2553 เป็นเรื่องอื้อฉาวในประเทศไทยช่วงปลาย พ.ศ. 2553 ระหว่างที่ศาลรัฐธรรมนูญกำลังพิจารณาคดีระหว่างนายทะเบียนพรรคการเมือง กับพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งนายทะเบียนพรรคการเมืองมีคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคประชาธิปัตย์ อันเป็นฝ่ายรัฐบาลอยู่ในเวลานั้น

เหตุการณ์นี้ เริ่มขึ้นเมื่อพรรคเพื่อไทย ฝ่ายค้าน และ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ("นปช.") กลุ่มทางการเมืองที่ต่อต้านฝ่ายรัฐบาล ได้เผยแพร่สิ่งบันทึกวีดิทัศน์อ้างว่าเป็นภาพและเสียงการที่ฝ่ายรัฐบาลชักจูงให้ศาลรัฐธรรมนูญช่วยเหลือในคดีตน เป็นเหตุให้เกิดข้อครหาเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ดี ภายหลังมีการชี้แจงว่า บางส่วนของสิ่งบันทึกวีดิทัศน์ดังกล่าวถูกอุปโลกน์ขึ้น ขณะที่บางส่วนเป็นการนำเหตุการณ์อื่นมาบิดเบือน และมีการดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้อง แต่ก็ส่งผลให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวนหนึ่งขอถอนตัวจากการทำคดี เพื่อเลี่ยงความไม่เหมาะสม

การเผยแพร่สิ่งบันทึกวีดิทัศน์[แก้]

กลางเดือนเมษายน พ.ศ. 2553 อภิชาต สุขัคคานนท์ นายทะเบียนพรรคการเมือง ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้มีคำสั่งยุบพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นฝ่ายรัฐบาลอยู่ในขณะนั้น ต่อมา วันที่ 27 กันยายน 2553 จตุพร พรหมพันธุ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทย อันเป็นพรรคฝ่ายค้าน และสมาชิก นปช. ได้แถลงข่าวว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางคนมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม โดยตนมีหลักฐานเป็นสิ่งบันทึกวีดิทัศน์ ที่ "...เปิดออกมาเมื่อไร เป็นเรื่องใหญ่ที่คนไทยทั้งชาติจะช็อค [ตกตะลึง] กันทั้งประเทศ..."[1]

วันที่ 15 ตุลาคม 2553 พร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ได้เปิดเผยว่า มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นสมาชิกของผู้ถูกร้อง อักษรย่อของชื่อว่า "ว" ได้นัดพบกับคนสนิทของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อักษรย่อของชื่อว่า "พ" เพื่อวิ่งเต้นให้ช่วยเหลือคดีนี้[2] วันถัดมาก็แถลงข่าวว่า วันรุ่งขึ้นตนจะนำสิ่งบันทึกวีดิทัศน์การนัดพบดังกล่าวมาแสดง พร้อมยืนยันว่าไม่ได้อุปโลกน์หรือตัดต่อแต่ประการใด[3] ครั้นวันที่ 17 ตุลาคม 2553 พร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ แถลงข่าว ณ ที่ทำการพรรคเพื่อไทย เปิดสิ่งบันทึกวีดิทัศน์ต่อสื่อมวลชน มีความยาวสิบนาที มีเนื้อหาดังนี้[4] [5]

  1. ตอนหนึ่งเป็นภาพเคลื่อนไหวและเสียงเกี่ยวกับ วิรัช ร่มเย็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดระนอง ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และ วรวุฒิ นวโภคิน ปรึกษากรรมาธิการการส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น สภาผู้แทนราษฎร กำลังรับประทานอาหารและสนทนากับ พสิษฐ์ ศักดาณรงค์ เลขานุการของ ชัช ชลวร ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ร้องขอให้ช่วยเหลือทางคดี
  2. อีกตอนหนึ่ง เป็นภาพเคลื่อนไหวและเสียงบันทึกในห้องประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับการประชุมปรึกษากันของตุลาการในเรื่องคดีนี้ โดยตุลาการที่ปรากฏในตอนดังกล่าว ประกอบด้วย จรัญ ภักดีธนากุล, จรูญ อินทจาร, บุญส่ง กุลบุปผา, สุพจน์ ไขมุกด์ และอุดมศักดิ์ นิติมนตรี
  3. อีกตอนหนึ่ง เป็นภาพเคลื่อนไหวและเสียงเกี่ยวกับ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี นั่งอยู่กับ ชัช ชลวร ประธานศาลรัฐธรรมนูญ แสดงให้เข้าใจว่า พลเอกเปรมร้องขอให้ช่วยเหลือพรรคประชาธิปัตย์ในคดีนี้

สิ่งบันทึกวีดิทัศน์ดังกล่าว ได้รับการเผยแพร่ในเว็บไซต์ยูทูบ และภายในเวลาอันสั้น จำนวนผู้เข้าชมเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว[4]

การชี้แจงและการสอบสวนเกี่ยวกับสิ่งบันทึกวีดิทัศน์[แก้]

"เป็นสถานการณ์ที่น่ากลัวมาก เคยทำงานเป็นผู้พิพากษามาก็พึ่งเจอเป็นครั้งแรก เป็นหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญต้องออกมาเคลียร์ [อธิบาย] เรื่องนี้ให้ชัดว่าเรื่องนี้หลุดออกมาได้อย่างไร แต่เชื่อว่าต้องเป็นคนใน คนนอกคงเข้าไปอัดคลิป [สิ่งบันทึกวีดิทัศน์] ไม่ได้"
สดศรี สัตยธรรม 17 ตุลาคม 2553[6]

ในวันเดียวกัน หลังมีการเผยแพร่สิ่งบันทึกวีดิทัศน์แล้ว วิรัช ร่มเย็น ได้ชี้แจงว่า บุคคลในสิ่งบันทึกวีดิทัศน์เป็นตนจริง แต่เรื่องเกิดขึ้นจากการที่ พสิษฐ์ ศักดาณรงค์ ได้ติดต่อมาทางวรวุฒิ นวโภคิน ว่ามีความประสงค์อยากพบ เพื่อพูดคุยและรับประทานอาหาร ที่ร้านอาหารฟู้ดดี ซอยหมู่บ้านปูนซิเมนต์ไทย ถนนประชาชื่น เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร เวลา 14:00 น. วันที่ 7 ตุลาคม ตนเห็นว่าพสิษฐ์เป็นเลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญ จึงเกรงใจและมาพบตามมารยาท ไม่ได้แจ้งให้ชวน หลีกภัย ประธานคณะทำงานในคดีข้างต้น และไม่ได้แจ้งให้เพื่อนสมาชิกพรรคทราบเลย นอกจากนี้ ยังเชื่อว่ามีการเตรียมกล้องสำหรับแอบถ่ายไว้อยู่แล้ว โดยตอนแรก พสิษฐ์นั่งหันหลังให้กล้อง ทำให้มองภาพไม่ชัด จึงย้ายที่มานั่งที่หัวโต๊ะเนื่องจากรู้มุมกล้องตั้งไว้ ซ้ำในการสนทนา พสิษฐ์ยังใช้คำถามนำด้วย ตนจึงเห็นว่าเป็น "...กระบวนการชั่ว..." อนึ่ง วิรัชยังได้แสดงความมั่นใจว่า สิ่งบันทึกวีดิทัศน์ดังกล่าวจะไม่กระทบต่อคดี[7] [8]

วันที่ 18 ตุลาคม 2553 บรรดาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ปรากฏในสิ่งบันทึกวีดิทัศน์ได้ร่วมกันแถลงข่าว ณ ศาล ว่า ชัช ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีคำสั่งปลดพสิษฐ์พ้นจากตำแหน่ง และตั้งคณะกรรมการให้สอบสวนผู้เกี่ยวข้องภายในสิบห้าวันแล้ว ในโอกาสนี้ ยังได้ชี้แจงว่า สิ่งบันทึกวีดิทัศน์ตอนที่เกี่ยวกับ พลเอกเปรม ประธานองคมนตรี และชัช ประธานศาลรัฐธรรมนูญ นั้น ความจริงแล้ว เป็นภาพการที่ พลเอกเปรม มอบรางวัลนักกฎหมายดีเด่นของมูลนิธิสัญญาธรรมศักดิ์ แก่ชัช ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์[9] วันเดียวกันนั้น ชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้แสดงความคิดเห็นว่า "เรื่องนี้เป็นการใส่ไคล้กันมากไป เรื่องเหล่านี้วิญญูชนควรพิจารณาให้รอบคอบ นับหนึ่งถึงร้อยก่อนจะเชื่อ...เสียงที่ออกมาก็ไม่เห็นจะมีอะไร เราต้องฟังหูไว้หู...ผมเชื่อมั่นจริยธรรมของตุลาการทั้งเจ็ดคน การจะทำอะไรสองแง่สองมุมคงไม่มี"[10] ขณะที่พรรคเพื่อไทยปฏิเสธว่า สิ่งบันทึกวีดิทัศน์อันเป็นปัญหานี้ มิใช่ผลงานของพรรคแต่อย่างใด[11]

อนึ่ง หลังจากที่ประธานศาลรัฐธรรมนูญสั่งปลดพสิษฐ์พ้นจากตำแหน่งแล้วนั้น สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองรายงานว่า พสิษฐ์ได้ใช้หนังสือเดินทางราชการ เดินทางโดยสายการบินคาเธ่ย์แปซิฟิคไปยังฮ่องกง ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2553 แล้ว และบัดนี้ยังมิได้กลับประเทศไทย[12] ขณะที่ เทพไท เสนพงศ์ โฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แสดงความเห็นว่า "...สงสัยว่าเดินทางไป [ฮ่องกง] ทำไม เพราะฮ่องกงเป็นที่พักพิงของใครบางคน..."[13]

วันที่ 20 ตุลาคม 2553 พรรคประชาธิปัตย์ได้ตั้งคณะทำงานสำหรับสอบสวนในส่วนของตน มีเทอดพงษ์ ไชยนันทน์ สมาชิกพรรค เป็นประธาน เมื่อได้ข้อเท็จจริงเสร็จแล้วจะส่งให้หัวหน้าพรรคพิจารณาโทษผู้เกี่ยวข้องต่อไป[14]

ต่อมาในวันที่ 23 ตุลาคม 2553 จาตุรนต์ ฉายแสง สมาชิกพรรคเพื่อไทย เสนอให้ ชัช ประธานศาลรัฐธรรมนูญ แสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก ขณะที่ชัชกล่าวว่า "...ไม่มีอะไรต้องลาออก เราปฏิบัติหน้าที่อย่างอิสระ เรื่องนี้ไม่มีผลต่อการวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปโดยไม่เกรงกลัวต่ออิทธิพลและการกดดัน"[15]

การดำเนินคดีเกี่ยวกับสิ่งบันทึกวีดิทัศน์[แก้]

วันที่ 26 ตุลาคม 2553 สำนักงานตำรวจแห่งชาติตั้งคณะกรรมการรับผิดชอบสอบสวนเกี่ยวกับการเผยแพร่สิ่งบันทึกวีดิทัศน์ข้างต้น อันเป็นความผิดอาญาแผ่นดินตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ซึ่งความผิดอาญาแผ่นดินนั้น เจ้าพนักงานเริ่มดำเนินคดีได้โดยมิต้องพักให้ผู้เสียหายร้องทุกข์ คณะกรรมดังกล่าวมีพลตำรวจเอกเอก อังสนานนท์ เป็นประธานพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ และเริ่มประชุมเป็นครั้งแรกในวันเดียวกัน[16]

วันที่ 27 ตุลาคม 2553 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวนหนึ่งได้ร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดีแก่พรรคเพื่อไทย ที่ไขข่าวแพร่หลายเกี่ยวกับสิ่งบันทึกวีดิทัศน์เช่นว่า ในประการที่ทำให้ศาลเสียหายแก่ชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง อันเป็นความผิดต่อส่วนตัวตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งความผิดต่อส่วนตัวนั้น จะเริ่มดำเนินคดีได้ก็ต่อเมื่อผู้เสียหายร้องทุกข์ ขณะที่ที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติมอบหมายให้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญแจ้งให้กระทรวงการต่างประเทศเพิกถอนหนังสือเดินทางราชการของพสิษฐ์[17] วันรุ่งขึ้น พลตำรวจตรีปัญญา มาเม่น รองผู้บัญชาการกองปราบปราม ได้ประสานไปยังฮ่องกง เพื่อขอให้ส่งตัวพสิษฐ์กลับประเทศไทยในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน[18]

วันที่ 28 ตุลาคม 2553 คณะกรรมการสอบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ขอให้ศาลอาญาสั่งสกัดกั้นการเข้าถึงบันทึกวีดิทัศน์ในเว็บไซต์ยูทูบในประเทศไทย และศาลอาญาได้อนุมัติตามคำขอ[19]

วันที่ 14 พฤศจิกายน 2553 สวนดุสิตโพลเปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเกี่ยวกับกรณีสิ่งบันทึกวีดิทัศน์ โดยผู้ตอบร้อยละ 36.28 เห็นว่า เนื้อหาในสิ่งบันทึกวีดิทัศน์ผิดกฎหมายและจริยธรรม, ร้อยละ 25.53 เห็นว่า เป็นการแข่งขันทางการเมือง และมีการเตรียมการล่วงหน้า เพื่อลดความน่าเชื่อถือของคู่แข่ง, ร้อยละ 14.60 เห็นว่า เป็นการนำเสนอความจริงที่ผู้เกี่ยวข้องปฏิเสธไม่ได้, ร้อยละ 12.93 เห็นว่า เนื้อหาของสิ่งบันทึกวีดิทัศน์นั้น มีทั้งจริงและไม่จริง ต้องใช้วิจารณญาณ ส่วนร้อยละ 10.66 เห็นว่า ผู้เกี่ยวข้องควรรีบชี้แจงต่อสังคม[20]

ต่อมาวันที่ 18 พฤศจิกายน 2553 คณะกรรมการสอบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้สรุปสำนวนและส่งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติรับทำคดีต่อ เนื่องจากผู้ถูกกล่าวหา คือ พสิษฐ์ ได้กระทำความผิดใยขณะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยเบื้องต้น เป็นที่แน่ชัดว่า ชุติมา แสนสินรังสี ผู้ช่วยของนายพสิษฐ์ เป็นผู้ทำสิ่งบันทึกวีดิทัศน์เจ้าปัญหานี้ขึ้น และฝ่ายตำรวจได้ประสานงานกับตำรวจสากลเพื่อตามล่าตัวพสิษฐ์อีกทางหนึ่ง เนื่องจากหนังสือเดินทางของพสิษฐ์ถูกเพิกถอนแล้ว ทำให้เขามีสถานะเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองในสถานที่ที่เขาอยู่[21]

วันที่ 27 พฤศจิกายน 2553 ศาลอาญาได้ออกหมายจับพสิษฐ์และชุติมา ตามที่พันตำรวจเอกสุพิศาล ภักดีนฤนาถ รักษาการผู้บัญชาการกองปราบปราม มอบหมายให้ พันตำรวจโทเกรียงไกร ขวัญไตรรัตน์ พนักงานสอบสวนของกองปราบปราม นำพยานหลักฐานมายื่นขอหมายเมื่อวาน[22]

การถอนตัวของตุลาการ[แก้]

วันที่ 27 พฤศจิกายน 2553 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย จรูญ อินทจาร, เฉลิมพล เอกอุรุ, วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ และสุพจน์ ไข่มุกด์ ได้แถลงต่อที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ขอถอนตัวจากคดี เนื่องจากได้ฟ้องคดีความผิดต่อส่วนดังกล่าวแล้ว อันเป็นเหตุที่อาจถูกตั้งรังเกียจได้ ตาม ข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ. 2550 ข้อ 10-14 ซึ่งที่ประชุมอนุญาตให้จรูญ, นุรักษ์ แลวสันต์ ถอนตัวได้ ส่วนสุพจน์นั้น เห็นว่าไม่เป็นเหตุจำเป็นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตามข้อกำหนดดังกล่าว จึงไม่อนุญาต ยังผลให้องค์คณะตุลาการที่จะดำเนินคดีนี้ต่อไป เหลือตุลาการหกคนจากทั้งหมดเก้าคน ที่เหลือคือ ชัช ชลวร, จรัญ ภักดีธนากุล, นุรักษ์ มาประณีต, บุญส่ง กุลบุปผา, สุพจน์ ไข่มุกด์ และอุดมศักดิ์ นิติมนตรี โดยลำดับ[23] ซึ่งทั้งหกคนนี้ ได้ออกนั่งบัลลังก์วินิจฉัยผลแห่งคดีระหว่างนายทะเบียนพรรคการเมือง กับพรรคประชาธิปัตย์ในวันที่ 29 ธันวาคม 2553 เป็นอันสิ้นสุดคดี

เชิงอรรถ[แก้]

  1. โพสต์ทูเดย์, 27 กันยายน 2553 : ออนไลน์.
  2. โพสต์ทูเดย์, 15 ตุลาคม 2553 : ออนไลน์.
  3. โพสต์ทูเดย์, 16 ตุลาคม 2553 : ออนไลน์.
  4. 4.0 4.1 โพสต์ทูเดย์, 17 ตุลาคม 2553 ("เสื้อแดงแพร่คลิปคดียุบพรรค ปชป.") : ออนไลน์.
  5. โพสต์ทูเดย์, 17 ตุลาคม 2553 ("พร้อมพงศ์เปิดคลิปโชว์อ้าง 2 ฝ่ายรู้เห็นกัน") : ออนไลน์.
  6. โพสต์ทูเดย์, 17 ตุลาคม 2553 ("สดศรีแนะตุลาการเคลียร์คลิปฉาว") : ออนไลน์.
  7. โพสต์ทูเดย์, 17 ตุลาคม 2553 ("วิรัชโต้พท.สร้างคลิปดิสเครดิต") : ออนไลน์.
  8. โพสต์ทูเดย์, 18 ตุลาคม 2553 ("ซัดแผนทำลายศาลรธน.") : ออนไลน์.
  9. โพสต์ทูเดย์, 18 ตุลาคม 2553 ("สั่งปลดพสิษฐ์พ้นเลขาฯปธ.ศาลรัฐธรรมนูญ") : ออนไลน์.
  10. โพสต์ทูเดย์, 18 ตุลาคม 2553 ("'ชัย' เชื่อ คลิปศาลรธน.ไม่กระทบคดียุบปชป. ") : ออนไลน์.
  11. โพสต์ทูเดย์, 19 ตุลาคม 2553 ("อภิวันท์ ปัดคลิปฉาวเป็นฝีมือพท.") : ออนไลน์.
  12. The Nation, 18 October 2010 : Online.
  13. โพสต์ทูเดย์, 19 ตุลาคม 2553 ("จรัญชี้คลิปฉาวเป็นอาญาแผ่นดิน ") : ออนไลน์.
  14. โพสต์ทูเดย์, 20 ตุลาคม 2553 : ออนไลน์.
  15. โพสต์ทูเดย์, 23 ตุลาคม 2553 : ออนไลน์.
  16. โพสต์ทูเดย์, 26 ตุลาคม 2553 : ออนไลน์.
  17. โพสต์ทูเดย์, 27 ตุลาคม 2553 : ออนไลน์.
  18. โพสต์ทูเดย์, 28 ตุลาคม 2553 ("ตร.ประสานฮ่องกงส่ง พสิษฐ์ กลับไทย") : ออนไลน์.
  19. โพสต์ทูเดย์, 28 ตุลาคม 2553 ("เล็งออกหมายจับมือปล่อยคลิปฉาวปชป.") : ออนไลน์.
  20. ไทยรัฐ, 14 พฤศจิกายน 2553 : ออนไลน์.
  21. ไทยรัฐ, 18 พฤศจิกายน 2553 : ออนไลน์.
  22. โพสต์ทูเดย์, 16 พฤศจิกายน 2553 : ออนไลน์.
  23. ไทยรัฐ, 27 พฤศจิกายน 2553 ("ตุลาการรธน.ถอนตัว") : ออนไลน์.

อ้างอิง[แก้]

  • ไทยรัฐ.
    • (2553, 14 พฤศจิกายน). โพลชี้คลิปฉาวศาล รธน. เป็นเกมการเมือง. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์>. (เข้าถึงเมื่อ: 27 พฤศจิกายน 2553).
    • (2553, 18 พฤศจิกายน). ตำรวจส่งสำนวนคลิปศาลรธน.ให้ปปช.แล้ว. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์>. (เข้าถึงเมื่อ: 27 พฤศจิกายน 2553).
    • (2553, 27 พฤศจิกายน).
      • ตุลาการรธน.ถอนตัว. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์>. (เข้าถึงเมื่อ: 27 พฤศจิกายน 2553).
      • มาร์คมึนศาลรธน. 3-3เสียง ยกคำร้องหรือไม่. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์>. (เข้าถึงเมื่อ: 27 พฤศจิกายน 2553).
  • โพสต์ทูเดย์.
    • (2553, 27 กันยายน). ตู่ฟุ้งมีคลิปลับตุลาการศาลรธน. . [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์[ลิงก์เสีย]>. (เข้าถึงเมื่อ: 27 พฤศจิกายน 2553).
    • (2553, 15 ตุลาคม). พท.ปูดอักษรย่อ"ว-พ"วิ่งเต้นยุบพรรค. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์[ลิงก์เสีย]>. (เข้าถึงเมื่อ: 27 พฤศจิกายน 2553).
    • (2553, 16 ตุลาคม). พท.แฉคลิปลับปชป.วิ่งเต้นคดียุบพรรคพรุ่งนี้. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์ เก็บถาวร 2010-10-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน>. (เข้าถึงเมื่อ: 27 พฤศจิกายน 2553).
    • (2553, 17 ตุลาคม).
      • พร้อมพงศ์เปิดคลิปโชว์อ้าง 2 ฝ่ายรู้เห็นกัน. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์[ลิงก์เสีย]>. (เข้าถึงเมื่อ: 27 พฤศจิกายน 2553).
      • วิรัชโต้พท.สร้างคลิปดิสเครดิต. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์[ลิงก์เสีย]>. (เข้าถึงเมื่อ: 27 พฤศจิกายน 2553).
      • สดศรีแนะตุลาการเคลียร์คลิปฉาว. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์ เก็บถาวร 2010-10-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน>. (เข้าถึงเมื่อ: 27 พฤศจิกายน 2553).
      • เสื้อแดงแพร่คลิปคดียุบพรรคปชป. . [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์[ลิงก์เสีย]>. (เข้าถึงเมื่อ: 27 พฤศจิกายน 2553).
    • (2553, 23 ตุลาคม). ชัช ลั่นไม่ทิ้งเก้าอี้. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์[ลิงก์เสีย]>. (เข้าถึงเมื่อ: 27 พฤศจิกายน 2553).
    • (2553, 25 ตุลาคม). มีอะไรอยู่ในคลิป. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์[ลิงก์เสีย]>. (เข้าถึงเมื่อ: 27 พฤศจิกายน 2553).
    • (2553, 18 ตุลาคม).
      • 'ชัย' เชื่อ คลิปศาลรธน.ไม่กระทบคดียุบปชป. . [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์[ลิงก์เสีย]>. (เข้าถึงเมื่อ: 27 พฤศจิกายน 2553).
      • ซัดแผนทำลายศาลรธน. . [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์[ลิงก์เสีย]>. (เข้าถึงเมื่อ: 27 พฤศจิกายน 2553).
      • สั่งปลดพสิษฐ์พ้นเลขาฯปธ.ศาลรัฐธรรมนูญ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์[ลิงก์เสีย]>. (เข้าถึงเมื่อ: 27 พฤศจิกายน 2553).
    • (2553, 19 ตุลาคม).
      • จรัญชี้คลิปฉาวเป็นอาญาแผ่นดิน. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์[ลิงก์เสีย]>. (เข้าถึงเมื่อ: 27 พฤศจิกายน 2553).
      • อภิวันท์ ปัดคลิปฉาวเป็นฝีมือพท. . [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์[ลิงก์เสีย]>. (เข้าถึงเมื่อ: 27 พฤศจิกายน 2553).
    • (2553, 20 ตุลาคม). ปชป.เอาผิดพท.แพร่คลิปฉาว. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์[ลิงก์เสีย]>. (เข้าถึงเมื่อ: 27 พฤศจิกายน 2553).
    • (2553, 26 ตุลาคม). สตช.เริ่มสอบคลิปฉาวล็อบบี้ยุบปชป. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์[ลิงก์เสีย]>. (เข้าถึงเมื่อ: 27 พฤศจิกายน 2553).
    • (2553, 27 ตุลาคม). ศาลรธน.เอาผิดแพร่คลิป. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์[ลิงก์เสีย]>. (เข้าถึงเมื่อ: 27 พฤศจิกายน 2553).
    • (2553, 28 ตุลาคม).
      • จตุพรท้าชัชรับคลิปฉาว. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์[ลิงก์เสีย]>. (เข้าถึงเมื่อ: 27 พฤศจิกายน 2553).
      • ตร.ประสานฮ่องกงส่ง พสิษฐ์ กลับไทย. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์[ลิงก์เสีย]>. (เข้าถึงเมื่อ: 27 พฤศจิกายน 2553).
      • ปชป.ยื่นคำแถลงปิดคดียุบพรรค. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์[ลิงก์เสีย]>. (เข้าถึงเมื่อ: 27 พฤศจิกายน 2553).
      • เล็งออกหมายจับมือปล่อยคลิปฉาวปชป. . [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์[ลิงก์เสีย]>. (เข้าถึงเมื่อ: 27 พฤศจิกายน 2553).
    • (2553, 29 ตุลาคม).
      • ปชป.ยันไม่ป้องวิรัชเอี่ยวคลิปฉาว. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์[ลิงก์เสีย]>. (เข้าถึงเมื่อ: 27 พฤศจิกายน 2553).
      • ปชป. วอนหยุดกดดันศาลรธน. . [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์[ลิงก์เสีย]>. (เข้าถึงเมื่อ: 27 พฤศจิกายน 2553).
    • (2553, 31 ตุลาคม).
      • บัญญัติชี้คลิปฉาวมุ่งทำลายศาล. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์[ลิงก์เสีย]>. (เข้าถึงเมื่อ: 27 พฤศจิกายน 2553).
      • ปชป.จี้รัฐล่าตัวพสิษฐ์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์[ลิงก์เสีย]>. (เข้าถึงเมื่อ: 27 พฤศจิกายน 2553).
      • โผล่อีกคลิปขย้ำศาลรธน. . [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์[ลิงก์เสีย]>. (เข้าถึงเมื่อ: 27 พฤศจิกายน 2553).
    • (2553, 1 พฤศจิกายน).
    • (2553, 2 พฤศจิกายน). ศาลรธน.แจ้งกองปราบเอาผิดคลิปชุด 2. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์[ลิงก์เสีย]>. (เข้าถึงเมื่อ: 27 พฤศจิกายน 2553).
    • (2553, 4 พฤศจิกายน).
      • นายกฯแจงกระทู้ไม่เพิกเฉยคลิปฉาว. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์[ลิงก์เสีย]>. (เข้าถึงเมื่อ: 27 พฤศจิกายน 2553).
    • วิสุทธิ์ไม่ห่วงพท.ถูกยุบขอเพียงกฎหมายเป็นธรรม. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์[ลิงก์เสีย]>. (เข้าถึงเมื่อ: 27 พฤศจิกายน 2553).
    • (2553, 5 พฤศจิกายน). คลิปฉาวศาลรธน.ถ่ายมุม"พสิษฐ์". [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์[ลิงก์เสีย]>. (เข้าถึงเมื่อ: 27 พฤศจิกายน 2553).
    • (2553, 16 พฤศจิกายน). ศาลอนุมัติหมายจับ"พสิษฐ์ - ชุติมา". [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์[ลิงก์เสีย]>. (เข้าถึงเมื่อ: 27 พฤศจิกายน 2553).
    • (2553, 23 พฤศจิกายน). วิรัชถูกถอดพ้นคดียุบปชป. . [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์[ลิงก์เสีย]>. (เข้าถึงเมื่อ: 27 พฤศจิกายน 2553).
    • (2553, 24 พฤศจิกายน). พร้อมพงศ์เมินตุลาการรธน.ฟ้อง. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์[ลิงก์เสีย]>. (เข้าถึงเมื่อ: 27 พฤศจิกายน 2553).
    • (2553, 27 พฤศจิกายน). บัญญัติ ชี้"จรูญ" ถอนตัว ไม่กระทบตัดสินยุบพรรค. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์[ลิงก์เสีย]>. (เข้าถึงเมื่อ: 27 พฤศจิกายน 2553).
  • The Nation. (2010, 18 October). Embattled Pasit not in town. [Online]. Available: <link เก็บถาวร 2010-10-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน>. (Accessed: 27 November 2010).