ซินหงี
ซินหงี (เชิน อี๋) | |
---|---|
申儀 | |
ขุนพลเรือหอ (樓船將軍 โหวฉวานเจียงจฺวิน) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 228 – ค.ศ. ? | |
กษัตริย์ | โจยอย |
เจ้าเมืองเว่ย์ซิง (魏興太守 เว่ย์ซิงไท่โฉ่ว) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 220 – ค.ศ. 228 | |
กษัตริย์ | โจผี โจยอย |
ขุนพลสถาปนาความเชื่อมั่น (建信將軍 เจี้ยนซิ่นเจียงจฺวิน) (ภายใต้เล่าปี่) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 219 – ค.ศ. 220 | |
กษัตริย์ | พระเจ้าเหี้ยนเต้ |
เจ้าเมืองเสเสีย (西城太守 ซีเฉิงไท่โฉ่ว) (ภายใต้เล่าปี่) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 219 – ค.ศ. 220 | |
กษัตริย์ | พระเจ้าเหี้ยนเต้ |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | ไม่ทราบ อำเภอจู๋ชาน นครฉือเยี่ยน มณฑลหูเป่ย์ |
เสียชีวิต | ไม่ทราบ |
ญาติ | ซินต๋ำ (พี่ชาย) |
อาชีพ | ขุนนาง, ขุนพล |
บรรดาศักดิ์ | เจินเซียงโหว (真鄉侯) หรือ ยฺเหวียนเซียงโหว (員鄉侯) |
ซินหงี มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า เชิน อี๋ (จีน: 申儀; พินอิน: Shēn Yí) เป็นขุนพลของโจโฉขุนศึกในยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออก เคยแปรพักตร์ไปเข้าด้วยขุนศึกเล่าปี่ ท้ายที่สุดกลับมาเป็นขุนพลของรัฐวุยก๊กในยุคสามก๊ก
รับใช้โจโฉ
[แก้]ซินต๋ำเป็นชาวเมืองเซียงหยง[a] (上庸 ช่างยง) มณฑลเอ๊กจิ๋ว ซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอำเภอจู๋ชาน นครฉือเยี่ยน มณฑลหูเป่ย์ในปัจจุบัน ซินหงีเป็นน้องชายของซินต๋ำ เกิดในตระกูลที่ร่ำรวยและมีอิทธิพลในแถบเมืองเซียงหยงและเสเป๋ง (西平 ซีผิง) ต่อมาในปี ค.ศ. 215 ซินหงีและซินต๋ำร่วมกับเตียวฬ่อยอมสวามิภักดิ์ต่อโจโฉ
รับใช้เล่าปี่
[แก้]ในปี ค.ศ. 219 เล่าปี่ยกทัพโจมตีโจโฉในยุทธการที่ฮันต๋ง ซินหงีและซินต๋ำแปรพักตร์เข้าด้วยเล่าปี่ เล่าปี่แต่งตั้งให้ซินหงีเป็นขุนพลสถาปนาความเชื่อมั่น (建信將軍 เจี้ยนซิ่นเจียงจฺวิน) และเจ้าเมือง (太守 ไท่โฉ่ว) ของเมืองเสเสีย (西城 ซีเฉิง)[2]
ในปี ค.ศ. 220 ซินหงีซึ่งอยู่ใต้บังคับบัญชาของของเล่าฮองขุนพลและบุตรบุญธรรมของเล่าปี่จึงก่อกบฏต่อเล่าฮองและตีเล่าฮองแตกพ่ายไป[3] ซินหงีและซินต๋ำติดตามเบ้งตัดแปรพักตร์เข้าด้วยโจผี
รับใช้วุยก๊ก
[แก้]หลังซินหงีกลับมาเข้าด้วยรัฐวุยก๊ก ซินหงีได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมือง (太守 ไท่โฉ่ว) ของเมืองเว่ย์ซิง (魏興; อยู่บริเวณอำเภอฉือเฉฺวียนในมณฑลฉ่านซีและอำเภอยฺหวินซีในมณฑลหูเป่ย์ในปัจจุบัน) และได้รับบรรดาศักดิ์เป็นเจินเซียงโหว (真鄉侯) หรือยฺเหวียนเซียงโหว (員鄉侯) ให้ไปประจำการอยู่ที่สฺวินโข่ว (洵口)[4] ซินหงีมักจะแกะตราราชการหลายอันและแจกจ่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต
ในรัชสมัยจักรพรรดิโจยอยแห่งวุยก๊ก จูกัดเหลียงอัครมหาเสนาบดีและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งรัฐจ๊กก๊กชักจูงเบ้งตัดให้แปรพักตร์กลับมาเข้าด้วยจ๊กก๊ก เบ้งตัดตอบรับคำจูกัดเหลียงและคิดการจะก่อกบฏต่อวุยก๊ก ซินหงีไม่เห็นด้วยกับเบ้งตัด อีกทั้งเวลานั้นซินหงีก็มีเรื่องขัดแย้งกับเบ้งตัด ซินหงีจึงลอบรายงานไปยังราชสำนักวุยก๊ํกว่าเบ้งตัดกำลังติดต่อกับจ๊กก๊ก[5] ซินหงีนำกำลังไปสกัดทางไปจ๊กก๊กเพื่อไม่ให้ทัพจ๊กก๊กยังมาหนุนช่วยเบ้งตัดได้ ในที่สุดเบ้งตัดจึงถูกสุมาอี้จับตัวมาประหารชีวิตในปี ค.ศ. 228
หลังเบ้งตัดเสียชีวิต ซินหงีรู้สึกวิตกกังวล ขณะนั้นขุนนางคนอื่น ๆ หลายคนในภูมิภาคมอบของกำนัลให้สุมาอี้เพื่อแสดงความยินดีกับชัยชนะของสุมาอี้ในการปราบกบฏเบ้งตัด สุมาอี้ส่งคนถือหนังสือไปตามซินหงี ซินหงีจึงมาพบสุมาอี้ สุมาอี้ถามซินหงีเรื่องการแจกจ่ายตราประทับที่ไม่ได้รับอนุญาต จากนั้นจึงให้คุมตัวซินหงีไปเมืองหลวง ภายหลังมีการย้ายตำแหน่งให้ซินหงีไปเป็นขุนพลเรือหอ (樓船將軍 โหลวฉวานเจียงจฺวิน)[6][7] หลักฐานทางประวัติศาสตร์ไม่มีการบันทึกถึงซินหงีอีกหลังจากนั้น
ในนิยายสามก๊ก
[แก้]ในนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่องสามก๊กในศตวรรษที่ 14 ซึ่งเล่าเรื่องเหตุการณ์ก่อนและระหว่างยุคสามก๊ก ซินหงีเดิมเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของโจโฉ ต่อมาเล่าฮองและเบ้งตัดยกกำลังทหารมาตีเมืองเซียงหยง ซินหงีจึงยอมสวามิภักดิ์ต่อเล่าปี่พร้อมกับซินต๋ำ ภายหลังเบ้งตัดมีความผิดต่อเล่าปี่ฐานไม่ไปช่วยกวนอู ซินหงีจึงชักชวนให้เบ้งตัดแปรพักตร์ไปเข้าด้วยวุยก๊ก ในระหว่างการบุกขึ้นเหนือของจูกัดเหลียง เบ้งตัดคิดกลับไปเข้าด้วยจ๊กก๊กและก่อกบฏต่อวุยก๊ก ซินหงีและซินต๋ำแสร้งทำเป็นเข้าด้วยเบ้งตัดแต่ขณะเดียวกันก็ลอบช่วยเหลือกองทัพวุยก๊กที่ยกกำลังมาปราบกบฏจนสามารถกำจัดเบ้งตัดได้สำเร็จ ต่อมาซินหงีและซินต๋ำไปเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของสุมาอี้ในยุทธการที่เกเต๋ง
ในซีรีส์ละครโทรทัศน์เรื่องสามก๊กในปี พ.ศ. 2537 มีการเล่าว่าหลังการเสียชีวิตของเบ้งตัด ซินหงีและซินต๋ำถูกสั่งประหารโดยสุมาอี้เพราะทั้งคู่ไว้ใจไม่ได้ เป็นเรื่องราวเฉพาะในละครชุดนี้ ไม่ปรากฏในนวนิยายสามก๊กต้นฉบับและหลักฐานทางประวัติศาสตร์อย่างเป็นทางการ
หมายเหตุ
[แก้]- ↑ ในสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) มักเรียกซ่างยง (上庸) ว่า "ซงหยง" เหมือนกับชื่อ "ซงหยง" ที่ใช้เรียกเมือง "เซียงหยาง" (襄陽) ในที่นี้จึงเรียก "ซ่างยง" ว่า "เซียงหยง" ตามชื่อที่ปรากฏการเรียกใน สามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 62[1]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ (ครั้งนั้นแฮเฮาเซียงกับซิหลงทหารโจผี ๆ ใช้ให้มาอยู่เมืองยังหยง ให้มาเกลี้ยกล่อมทหารเมืองเซียงหยง) "สามก๊ก ตอนที่ ๖๒". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ September 27, 2023.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ (以耽弟儀為建信將軍、西城太守) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 40.
- ↑ (申儀叛封,封破走還成都。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 40.
- ↑ (儀魏興太守,封(真鄉侯)〔員鄉侯〕,屯洵口。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 40.
- ↑ (諸葛亮聞之,陰欲誘達,數書招之,達與相報答。魏興太守申儀與達有隙,密表達與蜀潛通,帝未之信也。司馬宣王遣參軍梁幾察之,又勸其入朝。達驚懼,遂反。) อรรถาธิบายจากเว่ยเลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 3.
- ↑ (初,申儀久在魏興,專威疆埸,輒承制刻印,多所假授。達既誅,有自疑心。時諸郡守以帝新克捷,奉禮求賀,皆聽之。帝使人諷儀,儀至,問承制狀,執之, ...) จิ้นชู เล่มที่ 1.
- ↑ (達死後,儀詣宛見司馬宣王,宣王勸使來朝。儀至京師,詔轉拜儀樓船將軍,在禮請中。) อรรถาธิบายจากเว่ยเลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 40.
บรรณานุกรม
[แก้]- ตันซิ่ว (ศตวรรษที่ 3). จดหมายเหตุสามก๊ก (ซันกั๋วจื้อ).
- เผย์ ซงจือ (ศตวรรษที่ 5). อรรถาธิบายจดหมายเหตุสามก๊ก (ซานกั๋วจื้อจู้).
- ฝาง เสฺวียนหลิง (648). พงศาวดารราชวงศ์จิ้น (จิ้นชู).
- ล่อกวนตง (ศตวรรษที่ 14). สามก๊ก (ซันกั๋วเหยี่ยนอี้).