ข้ามไปเนื้อหา

โภชนาการ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาพพีระมิดอาหารซึ่งเผยแพร่ในปี 2548 เพื่อแนะนำปริมาณการบริโภคอาหาร

โภชนาการเป็นการคัดเลือกอาหารและเตรียมอาหาร และการย่อยเพื่อให้ร่างกายดูดซึมสารอาหาร การทานอาหารเพื่อสุขภาพสามารถหลีกเลี่ยงปัญหาสุขภาพได้หลายอย่าง

นักกำหนดอาหารเป็นวิชาชีพสาธารณสุขผู้มีความชำนาญพิเศษในโภชนาการมนุษย์ การวางแผนมื้ออาหาร เศรษฐศาสตร์และการเตรียม พวกเขาได้รับการฝึกเพื่อให้คำแนะนำทางอาหารที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค และการจัดการต่อปัจเจกบุคคล ตลอดจนสถาบัน นักโภชนาการคลินิกเป็นวิชาชีพสาธารณสุขซึ่งมุ่งเจาะจงต่อบทบาทของโภชนาการในโรคเรื้อรัง ซึ่งรวมการป้องกันหรือการรักษาโรคที่เป็นไปได้โดยการจัดการกับการพร่องสารอาหารก่อนพึ่งยา

อาหารไม่ดีอาจมีผลทำร้ายสุขภาพ ทำให้เกิดโรคความพร่อง เช่น ลักปิดลักเปิด, สภาพที่ร้ายแรงถึงชีวิต เช่น โรคอ้วน และโรคเมทาบอลิก และโรคทั่วร่างกายเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจหลอดเลือด เบาหวานและกระดูกพรุน

สารอาหาร

[แก้]

โปรตีน

[แก้]

ร่างกายต้องการกรดอะมิโนเพื่อสร้างโปรตีนขึ้นใหม่และเพื่อแทนที่โปรตีนที่เสื่อมสภาพซึ่งจะถูกขับถ่ายออกทางปัสสาวะ ในร่างกายของสัตว์ ความต้องการกรดอะมิโนชนิดใด ๆ จะขึ้นอยู่กับว่ากรดอะมิโนชนิดนั้น ๆ เป็นกรดอะมิโนที่จำเป็น (ร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นเองได้) หรือกรดอะมิโนที่ไม่จำเป็น (ร่างกายสามารถสร้างขึ้นเองได้จากสารประกอบไนโตรเจน) การบริโภคอาหารที่มีกรดอะมิโนที่จำเป็นในปริมาณที่เหมาะสมจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของสัตว์

วิตามิน

[แก้]

วิตามิน เป็นสารอินทรีย์ที่สิ่งมีชีวิตจำเป็นต้องได้รับในบริมาณเล็กน้อย สำหรับการเติบโต ขยายพันธุ์ และช่วยให้มีสุขภาพดี ถ้าสิ่งมีชีวิตขาดวิตามินตัวใดตัวหนึ่งจะมีอาการป่วยซึ่งมีลักษณะเฉพาะขึ้นกับวิตามินที่ขาด

วิตามินแบ่งออกเป็น 2 จำพวก ได้แก่ วิตามินที่ละลายในน้ำ เช่น B1, B2, B3, B5, B6, B12, H, M, C เป็นต้น และวิตามินที่ละลายในไขมันเช่น A, D, E, K เป็นต้น

ไขมัน

[แก้]

ในทางเคมีโดยเฉพาะอย่างยิ่งชีวเคมี กรดไขมันเป็นกรดคาร์บอกซิลิก (carboxylic acid) ซึ่งมีหางเป็นโซ่แบบ อะลิฟาติก (aliphatic) ยาว มีทั้งอิ่มตัว (saturated) และไม่อิ่มตัว กรดไขมันจะมีคาร์บอน อย่างน้อย 8 อะตอม และส่วนใหญ่จะเป็นจำนวนเลขคู่ เพราะกระบวนการชีวสังเคราะห์ของกรดไขมันจะเป็นการเพิ่มโมเลกุลของอะซิเตต ซึ่งมีคาร์บอน อยู่ 2 อะตอม

ในอุตสาหกรรม กรดไขมันผลิตโดยการไฮโดรไลสิส (hydrolysis) เอสเตอร์ ลิงเกจส์ ในไขมัน หรือน้ำมันในรูปของ ไตรกลีเซอไรด์ (triglyceride) ด้วยการกำจัด กลีเซอรอล ออกไป ดู โอลีโอเคมิคอล (oleochemical)

คาร์โบไฮเดรต

[แก้]

น้ำตาล คือ สารให้ความหวานตามธรรมชาติชนิดหนึ่ง มีเรียกกันหลายแบบ ขึ้นอยู่กับรูปร่างลักษณะของน้ำตาล เช่น น้ำตาลทราย น้ำตาลกรวด น้ำตาลก้อน น้ำตาลปีบ เป็นต้น แต่ในทางเคมี โดยทั่วไปหมายถึง ซูโครส หรือ แซคคาโรส ไดแซคคาไรด์ ที่มีลักษณะเป็นผลึกของแข็งสีขาว น้ำตาลเป็นสารเพิ่มความหวานที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย ในอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขนมหวาน และเครื่องดื่ม ในทางการค้าน้ำตาลผลิตจาก อ้อย (sugar cane) , ต้นตาล (sugar palm) , ต้นมะพร้าว (coconut palm) , ต้นเมเปิ้ลน้ำตาล (sugar maple) และ หัวบีท (sugar beet) ฯลฯ น้ำตาลที่มีองค์ประกอบทางเคมีแบบง่ายที่สุด หรือ โมโนแซคคาไรด์ เช่น กลูโคส เป็นที่เก็บพลังงาน ที่จะต้องใช้ในกิจกรรม ทางชีววิทยา ของเซลล์ ศัพท์ทางเทคนิคที่ใช้เรียกน้ำตาลจะลงท้ายด้วยคำว่า "-โอส" (-ose) เช่น กลูโคส

โภชนาการกับการกีฬา

[แก้]

โภชนาการมีความสำคัญมากในการพัฒนาสมรรถภาพทางด้านกีฬา วิธีพัฒนาสมรรถภาพโดยการบริโภคที่ทำการโดยทั่วไปคือ บริโภคโปรตีนในปริมาณมาก ๆ โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ที่มีสีแดง เพื่อช่วยในการสร้างกล้ามเนื้อ ซึ่งประสิทธิภาพของวิธีดังกล่าวยังไม่แน่ชัด เพราะปริมาณของโปรตีนในอาหารทั่วไปที่บริโภคกันในทุกวันนี้ ก็มีมากกว่าปริมาณของโปรตีนในกล้ามเนื้อที่ร่างกายสังเคราะห์ได้ในแต่ละวัน

ในการเร่งการสังเคราะห์กล้ามเนื้อ นักกีฬาจะมีเป้าหมายในการหาวิธีที่สามารถฟื้นฟูเนื้อเยื่อได้เร็วที่สุด การทำให้กล้ามเนื้อเย็นตัวหรือร้อนขึ้นเพื่อลดอาการบวมและกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด การพักผ่อนอย่างเพียงพอ การบริหารร่างกายอย่างเบา ๆ การนวดผ่อนคลายกล้ามเนื้อ รวมทั้งการบริโภคอาหารอย่างถูกหลักโภชนาการ เป็นหนทางที่ดีสำหรับการฟื้นฟูเนื้อเยื่อของกล้ามเนื้อ และก่อนเล่นกีฬา การดื่มน้ำหรือเครื่องดื่มที่มีสารละลายอิเล็กโทรไลต์ก็จะช่วยป้องกันการสูญเสียน้ำของร่างกายได้

โภชนาการกับอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร

[แก้]

ตั้งแต่ยุคสมัยของการปฏิวัติอุตสาหกรรมเมื่อประมาณ 200 ปีก่อน อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารได้มีเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ช่วยให้เก็บอาหารให้คงความสดได้นานขึ้น และแปรรูปอาหารให้มีสภาพเปลี่ยนไปจากที่เป็นอยู่ตามธรรมชาติ การแช่เย็นเป็นเทคโนโลยีขั้นต้นที่สามารถรักษาความสดได้ ขณะที่เทคโนโลยีอื่น ๆ จะช่วยให้เก็บรักษาอาหารไว้ได้นานที่สุดโดยไม่เน่าเสีย